ทำอย่างไรให้เมือง “เท่าเทียม” และ “เป็นธรรม”
วาทกรรมที่ว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นี่หมายถึงใคร?
คำตอบที่มักพูดถึงบ่อยๆ คือ ‘คนเปราะบาง’ เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ และคนจนเมือง ที่มักถูกกีดกันจากระบบโครงสร้างทางสังคมอย่างไม่ตั้งใจ คำถามคือ กรุงเทพฯ ที่มียุทธศาสตร์ หนึ่งคือ ความเป็นเมืองที่ “เป็นธรรม” แต่ที่ผ่านมาเมืองของเราพร้อมโอบกอดคนเหล่านี้มากแค่ไหน และจะทำอย่างไรให้เท่าเทียมเที่ยงธรรมมากขึ้น
ความเป็นธรรมอย่างแรก คือด้านโครงสร้างพื้นฐาน
สาธารณูปโภคต่างๆ ควรถูกออกแบบเพื่อทุกคน แบบ universal design สิ่งนี้จำเป็นมากสำหรับคนพิการ และผู้สูงอายุ แต่เมื่อดูข้อมูลของเพจ accessibility is freedom เพื่อการเข้าถึงและเท่าเทียม สำรวจกรณีความคืบหน้าการติดตั้งลิฟท์ของ BTS จำนวน 23 สถานี ที่เคยเรียกร้องจนถึงฟ้องร้องกัน และคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ระบุให้กทม. ไปจัดสร้างให้ครบ แต่ถึงวันนี้ ผ่านมา 7 ปีแล้ว ทั้งลิฟท์ ห้องน้ำและพื้นผิวต่างสัมผัสสำหรับคนพิการ ก็ยังติดตั้งไม่ครบอยู่ดี
อีกกรณีตัวอย่างสะท้อนปัญหาการเดินทางในเมืองของคนพิการ ข้อมูลจากเว็บไซต์ this able me สำรวจการเดินทางด้วยวีลแชร์ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พบว่า คนพิการนั่งวีลแชร์สามารถเข็นรถสัญจรไปได้แค่ 2 เกาะ จากพื้นที่ทั้งหมด 4 เกาะกลางถนน แม้ว่าอนุสาวรีย์ จะเรียกว่าเป็นศูนย์กลางการสัญจรแล้วก็ตาม
“ผมไม่ต้องการความช่วยเหลือนะครับ เราอยากเลือกทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง อยากจะไปกินข้าวที่ไหนก็ได้ไป กาแฟร้านไหนอร่อยก็อยากไปทาน ระบบขนส่งสาธารณะ อยากขึ้นแท็กซี่ก็กระโดดขึ้นง่าย ๆ รถเมล์ รถไฟฟ้า เครื่องบิน มันก็เป็นเรื่องปกติไม่ใช่หรอ ที่คนร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงทำได้เป็นปกติแต่ว่าพวกผมยังทำไม่ได้ คนพิการถูกทิ้งไว้ข้างหลังหรือเปล่า สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานต่างๆ สำหรับคนพิการมีกำหนดไว้ในกฎหมายชัดเจนแล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังสร้างผิด”
มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักเรียกร้องสิทธิเพื่อคนพิการ
หากคนพิการยังเข้าถึงการเดินทางได้ยาก ผู้สูงอายุก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เรื่องนี้สำคัญมากเพราะ ปี 2565 ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ
ความเป็นธรรมด้านสวัสดิการ การเดินทาง และที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง
การสำรวจพบว่า ราคาคาเดินทางโดยสารในกรุงเทพฯ ยิ่งสะดวกสบาย และรวดเร็วมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีราคาแพง ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI พบว่า ประเทศไทยมีค่าเดินทางเฉลี่ยต่อ 1 กิโลเมตรแพงที่สุดในโลก ผู้มีรายได้น้อยจ่ายไม่ไหว ก็ขาดโอกาสในการเข้าถึง เช่น รถไฟฟ้า หรือเท็กซี่
ในเรื่อง ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ยังพบว่า มีชุมชนคนจนเมืองที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ กทม. อีกอย่างน้อยๆ 1,000 หลังคาเรือน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของชุมชนขึ้นทะเบียนทั้งหมดของกรุงเทพฯ ราวๆ 2,000 ชุมชน ส่วนหนึ่งเพราะอยู่นอกกรรมสิทธิ์ที่ดิน ไม่มีทะเบียนบ้าน หรืออีกส่วนคือเป็นชุมชนขนาดเล็ก ที่มีไม่ถึง 100 หลังคาเรือน เช่น ชุมชนบ้านมั่นคง ทำให้ไม่สามารถรวมตัวกันไปจดทะเบียนกับสำนักงานเขตได้ ส่งผลให้พวกเขาขาดโอกาสในการได้รับสวัสดิการทางสังคมจากรัฐทุกกรณี
“ตั้งแต่ไฟฟ้า น้ำประปา หรือการช่วยเหลือในสถานการณ์วิกฤต เช่น อุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ชุมชนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรเลย ไม่เหมือนอย่างชุมชนอื่นๆ ที่สำนักงานเขตจะมีโควต้าเข้ามาให้ความช่วยเหลือ เราก็ต้องช่วเหลือกันเองกับเครือข่าย”
จำนงค์ หนูพันธ์ ชุมชนริมทางด่วนบางนา
และยังมีอีกหลายชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ดินของหน่วยงานรัฐ ทำให้ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย เช่น ชุมชนบุญร่มไทร เขตราชเทวี ชุมชน กม.11 เขตจตุจักร ชุมชนริมทางรถไฟบางซื่อ เขตบางซื่อ
“บางคนเขามีบ้านอยู่มาเป็นร้อยปีแล้ว แต่ผังเมืองเพิ่งจะมาขีดสีแดงให้เขา กลายเป็นให้เขาต้องรื้อบ้านแล้วเอาที่ดินไปสร้างคอนโด อันนี้ถูกเหรอคะ คนที่เข้ามาค้าแรงงานในกรุงเทพฯ มาอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะมีบ้านเพราะราคาที่ดินแพง ดังนั้นควรจะมีการกำหนดราคาที่เป็นธรรม ให้คนเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ มีความปลอดภัย และได้รับการจดทะเบียน ให้การช่วยเหลือทุกชุมชน เราอยากให้กรุงเทพฯเป็นเมืองของทุกคน เพราะคนทุกคนต้องเท่ากัน”
เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ : เวทีเมืองปลอดภัย
“เมืองเป็นธรรม” วาระขับเคลื่อนในแผนยุทธศาสตร์ กทม.
เมืองเป็นธรรม เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ การพัฒนากรุงเทพฯ 20 ปี (พ.ศ.2556-2575) ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนด้วยว่า ทุกคนควรได้รับสวัสดิการทางสังคม สาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน และสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในเมืองได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
ในทางเศรษฐศาสตร์ ยืนยันได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร ทุกคนที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจกันทั้งนั้น ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กทม. พบว่า รายรับกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท หรือ 33% ของรายรับทั้งหมดของ กทม. มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ได้มาจากกระเป๋าของทุกคนในกรุงเทพฯ ที่จับจ่ายใช้สอย ทั้งประชากรกรุงเทพฯ 5 ล้านคน และประชากรแฝงนอกทะเบียนราษฎร์ทั้งหมด อีกเกือบ 6 ล้านคน
ดังนั้น ทุกคนจึงควรจะมีสิทธิ์ในการร่วมกำหนดแนวทางการเติบโตการพัฒนากรุงเทพฯ แม้ว่าพวกเขาอาจจะไม่มีสิทธิ์ได้หย่อนบัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้เท่านั้น หรือหากไม่ได้พูดถึงแค่คนจน แม้คนรวย คนมีเงิน ที่อยู่ในหมู่บ้านนิติบุคคล บางครั้งก็ห่างไกลจากสวัสดิการ การประสานงานกับสำนักงานเขต หรือกลไกทางการเมืองเชิงพื้นที่ ในการร่วมกำหนดนโยบายกับภาครัฐ
เมืองที่เป็นธรรม จึงหมายถึงว่า ไม่ว่าจะเป็นคนรวยจน เปราะบางหรือไม่อย่างไร ทุกคนควรได้รับความเป็นธรรมเท่าเทียมกัน