“จักรยานคันแรก” เปลี่ยนกรุงเทพฯ เมืองนักปั่น

น่าสงสัยไหมว่า ทำไมหลายประเทศที่ผลิตรถยนต์
คนในประเทศเขาหันมาขี่จักรยานกันหมดแล้ว…

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ กระแสการปั่นจักรยานในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ตื่นตัวมากขึ้น ในช่วงหนึ่งมีกิจกรรม เทศกาลเกี่ยวกับจักรยานที่ได้รับความสนใจจำนวนมาก แต่ต้องยอมรับว่าอันตรายที่เกิดขึ้นกับจักรยานก็ไม่น้อย เป็นหนึ่งในเหตุผลที่การใช้จักรยานปั่นในเมือง แทนการสัญจรด้วยวิธีการอื่น ๆ ยังไม่แพร่หลายมากนัก ถ้าโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมให้คนขี่จักรยานได้สะดวกขึ้น ปลอดภัยขึ้น และมีแรงจูงใจให้จักรยานได้รับความสำคัญเป็นหนึ่งในทางเลือกการเดินทาง บรรยากาศของเมืองน่าจะเปลี่ยนไปไม่น้อย

The Active ชวนคุยกับ ธีรเมศร์ เลิศเศวตพงศ์ หรือ พี่เป้ ผู้ร่วมก่อตั้ง คาเฟ่เวโลโดม (Cafe’ Velodome) ร้านคาเฟ่ของคนรักจักรยาน ที่ไม่ได้มีบทบาทแค่คนขายของว่าง แต่เป็นหนึ่งในนักปั่น ที่ฝันเห็นกรุงเทพฯ เป็น ‘เมืองนักปั่น’ ด้วยเชื่อว่าการเดินทางด้วยพาหนะ 2 ล้อ แก้ปัญหารถติด ลดภาวะโลกร้อน ส่งเสริมสุขภาพ และทำให้เมืองดูน่าอยู่มากขึ้น และวันนี้พี่เป้ ก็เป็นหนึ่งในทีมช่วยสำรวจเส้นทางเสนอแนวคิดการพัฒนาสังคมของนักปั่น ถึงผู้ว่าฯ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ’

จักรยาน
ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก Cafe’ Velodome

‘จักรยาน’ อยู่ตรงไหน ในใจของคนเมือง

พี่เป้ บอกว่า จากการประเมินด้วยสายตา เมืองของเราเป็นมิตรต่อจักรยานมากขึ้น เมื่อก่อนขี่จักรยานก็จะโดนบีบแตรไล่ แต่ว่าตอนนี้รถยนต์ ผู้คนในเมืองรับรู้การมีอยู่ของจักรยานมากขึ้น ส่วนตัวคิดว่า ดีขึ้นเยอะ เมื่อบรรยากาศของเมืองสดชื่นคึกครื้นกับจักรยาน ก็จะเห็นได้ว่ามีนักปั่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประกอบกับกระแสความนิยม อย่างเทรนด์จักรยานฟิกเกียร์ (fixed gear-จักรยานแบบไม่มีเกียร์) แต่ถ้าจะเทียบกับต่างประเทศ ที่คนเขาใช้จักรยานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เรายังไม่ไปถึงจุดนั้น

“อาจารย์ปริญญา (เทวานฤมิตรกุล) บอกว่ามันเป็นเรื่องของไก่กับไข่ ผู้อยากใช้ก็เรียกร้องความปลอดภัย ความสะดวก แต่ในขณะเดียวกัน ภาครัฐก็บอกว่า ถ้าคนใช้จักรยานน้อย จะต้องทำอะไรให้ทำไม นโยบายที่ผ่านมาจึงไปส่งเสริมการใช้รถยนต์เสียมาก ทำทางด่วน อุโมงค์ทางลอด เพราะมองว่ารถยนต์เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งนโยบายแบบนั้นดีต่อคนใช้รถซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้รถติดน้อยลง ดังนั้น ถ้าถามว่าแรงจูงใจที่จะให้คนหันมาขี่จักรยานมันยังไม่เป็นรูปธรรมพอ”

พี่เป้ เล่าว่า เทรนด์ตอนนี้คนหันมาขี่จักรยานไฟฟ้ามากขึ้นคือ E-Bike  (Electric Bicycle) เพราะขี่สบาย และช่วยแก้ปัญหาการขี่จักรยานในกรุงเทพฯ ได้ดี เพราะการขี่ในกรุงเทพฯ อาจจะต้องขี่ไปหยุดไปมีชะลอตัว ซึ่งการออกตัวแต่ละครั้งกินแรง ใช้พลังงานเยอะ แต่พอมีระบบไฟฟ้าเข้ามา มันก็ช่วยออกแรงตอนออกตัวทำให้เหนื่อยน้อยลง สะดวกมากขึ้น เป็นนวัตกรรมที่ดี ซึ่งหากรัฐบาลหาแนวทางสนับสนุนการใช้งานตรงนี้บ้าง จะเป็นแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่ คือคนที่ยังพอมีกำลังที่จะขี่จักรยาน มองเห็นทางเลือกอื่น ๆ ในการสัญจรที่มากกว่าการโดยสารด้วยรถยนต์

เมืองนอกให้ความสำคัญแค่ไหน

พี่เป้ เล่าว่า ไม่กี่วันที่ผ่านมาประเทศฝรั่งเศสเพิ่งออกนโยบายว่า ถ้าประชาชนที่ใช้รถยนต์แล้วจะเปลี่ยนเป็นรถจักรยานไฟฟ้า จะสนับสนุนเงินทุนให้สูงสุด 100,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งหากใช้จักรยาน ค่าน้ำมันก็ไม่ต้องจ่ายอยู่แล้ว แต่ยังได้รับเงินสนับสนุนเหลือเก็บอีกก็เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้คนเปลี่ยน แต่สำหรับประเทศไทย ถ้าจะบอกให้เปลี่ยนทันที คงมีคำถาม เช่น จะสามารถขี่บนถนนได้จริง ๆ เหรอ อากาศมันร้อน รถยนต์ก็ยังมีค่าใช้จ่าย แรงจูงใจในเชิงนโยบายภาพใหญ่ก็ยังไม่ชัดเจน ทำให้ความรู้ของคนที่อยากจะเอาจักรยานออกไปขี่ในเมืองมันยังไม่เป็นแบบนั้น แต่ก็มีบ้างที่เห็นเอาจักรยานใส่ท้ายรถไปปั่นที่ต่างจังหวัด

“ในเมื่อคุณยังเคยมีรัฐบาลที่จูงใจให้คนซื้อรถคันแรก ทำให้ยอดรถยนต์เพิ่มขึ้นมหาศาล ในทางตรงข้ามถ้ามีนโยบายจักรยานคันแรกหละ เรียกว่า e-bike ก็ได้ การสนับสนุนไม่ได้หมายถึงต้องให้ฟรี แต่ถ้าสมมติซื้อ 10,000 บาท รัฐช่วยออก 2,500 บาท ได้ไหม ก็ทำให้คนเริ่มคิดแล้ว และมันจะทำให้สังคมของคนขี่จักรยานเติบโตขึ้น ช่วยลดพื้นที่การใช้สอย เพราะที่จอดรถยนต์ 1 คันเท่ากับจักรยานตั้ง 8 คัน ในพื้นที่นิดเดียว แต่พาคนเดินทางได้เยอะ ยิ่งคนปั่นเยอะก็ได้ออกกำลังเยอะ หัวใจแข็งแรง ก็เป็นการส่งเสริมเรื่องสุขภาพด้วย ช่วยประหยัดพลังงาน คาร์บอนเป็นศูนย์ เดิมพันได้เลยว่าถ้ารถยนต์หายไปล้านคัน เปลี่ยนเป็นจักรยานแทน อากาศในเมืองดีขึ้นแน่นอน”

ต่อให้มี e-bike แต่ถ้าขี่ไปบนถนนแล้วมีอุปสรรคเยอะมาก เช่น หลุมบ่อ หรือ ฝาท่อบางอันที่อาจทำให้ยางล้อจักรยานแตกได้ บางพื้นที่ เช่น คลองแสนแสบ แม้ว่าเส้นทางจะอยู่ในโลเคชันที่ดีมาก สามารถขี่จักรยานเลียบคลองได้เลย แต่ก็มีอุปสรรคคือทุกระยะราว 500 เมตร จะมีสะพานเหล็กสูงชัน ประมาน 70% ที่ไม่สามารถขี่ได้ ต้องยกจักรยานขึ้นลง ซึ่งทำไว้ดักมอเตอร์ไซค์ แต่ก็เป็นอุปสรรคของการขี่จักรยานด้วย

“หากปัญหาเหล่านี้ถูกแก้ไข ปรับเปลี่ยนให้การขี่จักรยานสะดวกมากขึ้น สบายมากขึ้น แม้จักรยานแม่บ้าน จักรยานเด็ก จักรยานผู้หญิงทั่วไป ก็ขี่ได้ในรัศมี 2-3 กิโลเมตร ออกจากบ้านอย่างปลอดภัย นับว่าเป็นความสำเร็จแล้ว เราไม่ต้องไปมองถึงขนาดอัมสเตอร์ดัม เมืองจักรยานโลกขนาดนั้น เอาแค่เปลี่ยนใจคนให้หันมาขี่จักรยานให้ได้ก็ดีมากแล้ว”

จักรยาน
ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก Cafe’ Velodome

9 นโยบาย ส่งเสริมกรุงเทพฯ เป็นเมืองนักปั่น ของ ‘ชัชชาติ’

9 นโยบายจากทั้งหมด 216 ข้อ นโยบายที่ถูกใช้หาเสียงตั้งแต่ช่วงลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นแนวคิดที่โดนใจนักปั่นหลาย ๆ คน

  1. เสริมศักยภาพสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา หาความเป็นไปได้เพิ่มสะพานใหม่ เพื่อทำให้การเดินทางข้ามฝั่งพระนคร-ฝั่งธนบุรี มีความคล่องตัวมากขึ้น
  2. ถนนซอย มีทางเดิน-ปั่นสะดวก เชื่อมขนส่งสบาย ลดการใช้รถ เช่น สะพานข้ามคลองพร้อมสงเสริมทางเดินเชื่อมต่อ และสร้างตัวเลือกในการเดินทางอื่น ๆ เพิ่มเติม
  3. ทางสัญจรเลียบคลองเดินได้ ปั่นจักรยานปลอดภัย สว่างอย่างมีคุณภาพ พัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐาน แผนที่นำทาง เสริมศักยภาพพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ห้องน้ำ และดูแลทำความสะอาดให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
  4. จุดจอดจักรยานคุณภาพ ปลอดภัย ทุกจุดเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะหลักได้ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในการใช้จักรยานเป็นส่วนหนึ่งในการเดินทางในเมือง รวมถึงการติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เช่น มีหลังคาคลุม มีที่สูบลมจักรยาน
  5. สะพานลอยปลอดภัยมั่นคงแข็งแรง ติดตั้งแสงสว่าง และกล้องวงจรปิด พิจารณาการออกแบบร่องรางให้สามารถจูงจักรยานข้ามได้ ติดตั้งลิฟต์รอไฟฟ้า บริเวณทางข้ามที่ต้องเป็นสะพานลอย
  6. สร้างจุดเชื่อมต่อการเดินทาง (hub) เพื่อการเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สะดวกสบาย เชื่อมต่อจากจักรยานสู่ขนส่งสาธารณะ รถสองแถว รถเมล์ รถไฟฟ้า เรือ แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ ให้การจอดรถรับ-ส่งของรถส่วนตัวไม่รบกวนจราจร
  7. เปิดข้อมูลการเดินทางในกรุงเทพฯ ให้เป็นสาธารณะ ประสานความร่วมมือ Google Map โดยครอบคลุมในเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่ต่อเนื่องทั้งระบบรถ จักรยานยนต์ จักรยาน รถ เรือ ทางข้าม พร้อมรับรองระบบการเดินทางใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  8. น้ำดื่มสะอาด ปลอดภัย ฟรีทั่วกรุง พิจารณาติดตั้งเสริมในจุดจอดจักรยาน และชุมชนต่าง ๆ โดยวิธีการจ่ายน้ำเป็นแบบเติมลงขวด มีการทำความสะอาดสม่ำเสมอ และไม่กีดขวางเส้นทาง ทางเท้าสัญจร
  9. สร้างย่านจักรยานเดินทางได้ทั่วด้วยการปั่น (Bicycle Corridor) เพิ่มจุดตัดระหว่างทางจักรยานและทางรถยนต์ ด้วยทางม้าลาย ยกระดับเป็นเนินชะลอความเร็วแบบผิวบนแบนราบ ปรับปรุงผิวทาง

พี่เป้ มองว่า นโยบายของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ คือโอกาสที่จะสร้างสังคมนักปั่นจักรยานให้กว้างขวางมากขึ้น เขายกตัวอย่างว่า ถ้าหากบ้านอยู่ในรัศมี 3-4 กิโลเมตร จากสถานีรถไฟฟ้า ก็ให้ปรับแนวทางที่จะใช้เดินทางให้ปั่นได้สะดวกมากขึ้น ถ้าหากเป็นรถจักรยานพับได้ สามารถนำขึ้นรถไฟฟ้าได้เลย แต่ถ้าไม่ได้ ก็จัดให้มีที่จอดรถจักรยานด้านล่างสถานีแทน พร้อมติดกล้อง CCTV รักษาความปลอดภัย ก็นับเป็นอีกแรงจูงใจหนึ่งที่ชวนคนขี่จักรยาน และเป็นนโยบายที่จับต้องได้จริง ช่วยสร้างโครงข่ายเส้นเลือดฝอยคนส่วนใหญ่เข้าถึงได้

“ผมก็ขี่จักรยานจากบ้านไปสถานีรถไฟฟ้าอารีย์ พอกลับมาผมก็ขี่จักรยานเข้าบ้าน แต่ถ้าหากผมขับรถแล้วทำงานสีลม ก็ต้องขับรถ 4 ที่นั่ง ไปถึงสีลมคนเดียว ซึ่งข้าง ๆ ผมไม่มีใครนั่งเลยนะ คือแค่นี้มันก็ต่างกันแล้ว”

ในฐานะนักปั่น และผู้ที่มีความสนใจด้านการพัฒนาเมือง ทำให้พี่เป้ เป็นหนึ่งในทีมสำรวจเส้นทางปั่นจักรยานในเมือง และนำเสนออุปสรรคในการเดินทางผ่านคณะทำงานของ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

“ช่วงนี้กำลังสำรวจพื้นที่กันอยู่ พอเราเสนอข้อมูลไปทั้งรองศานนท์ และคุณชัชชาติก็ให้ความสนใจอย่างมาก ในปีนี้คาดว่าจะทำเท่าที่ทำได้ก่อน แต่ปีงบประมาณหน้ามีอำนาจในการบริหารเต็มจำนวนน่าจะทำอะไรได้มากขึ้น ผมก็รอด้วยความหวัง ผมและทีมนักปั่นทุกคน เห็นตรงกันว่าอยากให้ทางปั่นมันสะดวกขึ้น และคิดว่าผู้คนก็จะสนับสนุนท่านในเรื่องนี้”

จักรยาน
ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก Cafe’ Velodome

เส้นทางจักรยานอยู่ตรงไหนบ้างในเมืองกรุง

ศักยภาพในการปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ มีหลายเส้นทาง จากข้อมูลพบว่า กรุงเทพฯ ดำเนินโครงการก่อสร้างทางจักรยานรวม 48 เส้นทาง ระยะทาง 298 กิโลเมตร โดยแบ่งออกเป็นพื้นที่การใช้งาน 1) เส้นทางบนผิวจราจร 2) เส้นทางรวมบนทางเท้า 3) เส้นทางบนผิวจราจรร่วมกับบนทางเท้า 4) เส้นทางจักรยานบนไหล่ทาง 5) เส้นทางจักรยานโดยเฉพาะ 6) เส้นทางจักรยานในสวน

แต่ในความเป็นจริง พื้นที่เหล่านี้ไม่ได้ถูกใช้งานเท่าที่ควร จึงต้องวางแผนการปรับปรุงใหม่อย่างเป็นระบบ

สำหรับนักปั่นนักสำรวจเส้นทางอย่างที่เป้ สะท้อนว่าการมีฐานข้อมูลชุมชน ความต้องการของคนในพื้นที่ ร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมออกแบบโดยเห็นประโยชน์ร่วมกัน คือสิ่งจำเป็นที่ต้องพิจารณาร่วมในการวางระบบทางจักรยาน ด้วยโจทย์ว่าจะทำให้ทางจักรยานอยู่ร่วมกับชุมชน และเป็นการพัฒนาพื้นที่ย่านด้วยความเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะทำให้ระบบการสัญจรโดยจักรยานเกิดขึ้นและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ผมคิดว่าวิธีที่เวิร์กคือทำให้คนที่อยู่ในแต่ละท้องถิ่น ที่ใช้ทางอยู่ทุกวัน เขาทราบดีว่าเส้นทางเชื่อมต่อเป็นอย่างไร ให้ได้มาร่วมเสนอ นี่คือสิ่งที่ทำอยู่ในเพจ Bangkok Bicycle Campaign และเพจ Bike in the City ปั่นรักษ์พิทักษ์เมือง เรานำเสนอเส้นทางจักรยานต้นแบบคือเส้นคลองแสนแสบและเส้นเลียบด่วนประดิษฐ์มนูญธรรม วิธีการทำงานคือเอาคนพื้นที่ลงไปลุย รายงานอุปสรรค เพื่อให้ราชการที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและประสานงานกันแก้ปัญหาที่เกิด เมื่อโมเดลนี้สำเร็จผมคิดว่ามันสามารถ ปรับใช้กับทุกเขตของกรุงเทพฯ”

สิ่งสำคัญคือต้องนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องรอบด้านด้วย เพราะถ้ามองแต่ในมุมผู้ขี่จักรยาน ก็จะเป็นเพียงมุมมองเดียว แต่เส้นทางจักรยานอาจจะผ่านไปยังชุมชน ผ่านบ้านคนจำนวนมาก แค่เส้นแสนแสบเท่าที่สังเกต ผ่านสำนักงานเขตถึง 6 เขต ซึ่งแต่ละเขตก็มีชุมชน ดังนั้น ทางจักรยานที่เสนอเข้าสู่ผู้บริหารจะต้องรับฟังชุมชนด้วยว่าเขาเห็นดีด้วยหรือไม่ การเข้าไปของทางจักรยานควรทำให้ชุมชนมีชีวิตชีวามากขึ้น ไม่ใช่เข้าไปแล้วไปทำความเดือดร้อนรำคาญ

“ถ้าคนที่เขาอยู่ตรงนั้นเขาเห็นดีเห็นงานกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น และเขามีสิทธิเสนอความคิดเห็น เขาเห็นว่าการมาของทางจักรยานจะทำให้เขาได้ผลประโยชน์ร่วม มันจะดีกว่า เพราะอย่างทางจักรยานที่เกาะรัตนโกสินทร์เราก็ได้รับบทเรียนว่า ทางจักรยานทำให้แม่ค้าชาวบ้านค้าขายแย่ลงเพราะรถจอดซื้อของไม่ได้ ซึ่งจะไปว่าเขาก็ไม่ได้ แต่เราต้องฟังเขาก่อน เราต้องเอาประโยชน์ของทุกคนมาวางบนโต๊ะอย่างจริงใจ และหาทางออกทางแก้ให้ทุกคนได้รับประโยชน์ร่วมกัน ถ้าสร้างร่วมกันได้ ผมว่าเจ๋ง”

ชวนผู้นำประเทศมาใช้ระบบขนส่งมวลชนดูบ้าง

พี่เป้ ตั้งข้อสังเกตว่า หลายประเทศที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนว่าทำไมอยู่ ๆ เมืองเขาถึงเปลี่ยนเป็น ‘เมืองจักรยาน’ ง่าย ๆ สมมติว่าเดิมผู้นำประเทศจากเดิมนั่งรถหรู มีรถนำหน้า-ท้ายขบวน ซึ่งไม่เคยสัมผัสเลยว่ารถติดคืออะไร อยากให้ลองเปลี่ยนมาขี่จักรยาน ขี่สกู๊ตเตอร์ รถเมล์ ขึ้นเรือ หรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะทั่วไป แล้วไม่ใช่ทำแค่วันเดียวแต่ทำสัก 40-50 วันต่อปี ให้ประชาชนเกิดความตระหนักว่าผู้นำก็เป็นคนที่เข้าอกเข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งการหล่อหลอมความคิดแบบนี้ใช้ต้นทุนต่ำมาก ขสมก. มีรายได้เพิ่มขึ้น ประเทศประหยัดน้ำมัน

“ถ้าเริ่มด้วยความเข้าใจของผู้นำก่อน ความเข้าใจในที่นี้หมายถึงว่าเข้าใจมันจริง ๆ แล้วการจัดสรรงบประมาณในระดับนโยบายมันจะเกิดความเปลี่ยนแปลงเอง มันจะเกิดคำถามว่าทำไมคุณเอาเงินไปสร้างทางด่วนเป็นแสนล้าน ทางจักรยานร้อยล้าน การปรับปรุงทางเท้า การปรับปรุงเส้นทางวีลแชร์มันแค่สิบล้านเอง ผมไม่ได้ต่อต้านเรื่องนั้น แต่ผมว่าการกระจายงบประมานมันอยู่ในมือภาครัฐ ถ้ารัฐจะมีใจและเห็นความสำคัญของมันจริง ๆ แล้วจัดงบประมาณมาทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง มันก็จะเปลี่ยนแปลง”

หากลองทำเส้นทางจักรยานให้ใช้งานได้ดีสักแห่งหนึ่ง ก็อาจจะเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่น ๆ ได้เอาไปเป็นแบบอย่าง คนในพื้นที่ต่าง ๆ อาจจะเรียกร้องให้ทำแถวบ้านเขาบ้าง พี่เป้มองว่าอาจจะคล้ายกับรถไฟฟ้า เมื่อก่อนที่มีเพียง 2 เส้นทาง แต่พอคนใช้บริการแล้วประทับใจ ก็ขยายโครงข่าย (แต่ถ้าขยายแล้วไม่ตัดสินใจให้ดี อันนี้ก็ทำให้ต้องจ่ายแพงอีก)

“จักรยานเป็นการสัญจรที่ถูกที่สุดอย่างหนึ่ง รองจากการเดิน แต่จักรยานก็ต้องเสียเงินไปซื้อจักรยาน แต่เราเสียเงินกันหลักพัน ถ้าโชคดีได้หลักร้อยด้วยที่เป็นมือสอง แล้วมันพาคุณไปได้ไกล วันละสิบกิโลฯ ก็ยังได้”

จักรยาน
ธีรเมศร์ เลิศเศวตพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง คาเฟ่เวโลโดม กับกิจกรรมชวนคนปั่นจักรยานในเขตพระนคร

พื้นที่ปันสุข ของสังคมนักปั่น

The Active เชื่อว่านักปั่นหลาย ๆ คน ที่เคยแวะเวียนมาเขตพระนคร น่าจะรู้จักและมีโอกาสไปใช้บริการ Cafe’ Velo Dome คาเฟ่ของคนรักจักรยาน เปิดให้บริการมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ตั้งอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ด้วยประสงค์ให้เป็นพื้นที่สร้างสังคมนักปั่น และทำกิจกรรมขับเคลื่อนเมืองด้วยจักรยาน

ที่ข้างร้านมีแผนที่แนะนำเส้นทางการปั่นจักรยานทั่วเขตพระนคร แขกไปใครมาทั้งคนไทยและชาวต่างชาติแวะเวียนกันมานัดพบปะพูดคุย บางคนใช้ที่นี่เป็นจุดนัดพบก่อนเริ่มทริปปั่นจักรยานในเมือง บางคนที่ไม่เคยปั่นจักรยานสัญจรมาก่อน ก็มีที่นี่เป็นประตูสู่วงการนักปั่น จึงเปรียบเหมือนพื้นที่แห่งโอกาสของผู้คนให้ได้แลกเปลี่ยนเรื่องรู้เรื่องจักรยานกับเมือง

“แฟนเพจคาเฟ่เวโลโดมยังถูกใช้เป็นพื้นที่สื่อสาร โดยมีการนัดหมายจัดทริปปั่นจักรยานในพื้นที่ต่าง ๆ ชวนให้คนออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน จักรยานที่ถูกปั่นจากการชักชวน เดินทางไปในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ผ่านเขตเมือง ชานเมือง สวนสาธารณะ และพื้นที่อื่น ๆ มากมาย หลายครั้งที่ประกาศนัดในเวลาอันใกล้ แต่มีคนมาร่วมทริปจำนวนมาก ทำให้เราเห็นพลังของนักปั่นจริง ๆ”

เสียงสะท้อนจากผู้ให้บริการคาเฟ่เวโลโดม

“ในช่วงที่พระบรมมหาราชวังเปิดให้ประชาชนได้เดินทางมาถวายความอาลัยในหลวงรัชกาลที่ 9 คาเฟ่เวโลโดม เป็นหนึ่งในทีมงานจัดตั้งอาสาสมัครลาดตระเวนสนามหลวง เพื่อสอดส่องดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนที่เดินทางมาอยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวังในช่วงเวลากลางคืน เป็นความร่วมมือของตำรวจ และประชาชนจิตอาสา ในการทำหน้าที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ที่นี่จึงไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่ร้านขายกาแฟและขนม แต่เป็นจุดรวมพลของคนรักจักรยาน และกิจกรรมดี ๆ ให้สังคม”

เสียงสะท้อนจากผู้ใช้บริการคาเฟ่เวโลโดม

โดยทั่วไปเราไม่ค่อยเห็นพื้นที่คาเฟ่จักรยานสักเท่าไหร่ แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือวันนี้ คาเฟ่เวโลโดม ได้ปิดตัวลงแล้ว นอกเหนือจากนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานในการส่งเสริมการสัญจรด้วยจักรยาน พื้นที่สร้างสรรค์ส่วนกลางที่เปิดกว้างให้กับคนชอบจักรยานมารวมตัวกัน ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในเมือง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้