‘จักรยาน’ หัวใจของการเปลี่ยนเมือง

Bangkok Car Free 2023

22 กันยายน World Car Free Day ที่มากกว่า 50 องค์กรในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ร่วมกันกำหนดขึ้นมาเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันมาใช้ขนส่งมวลชนและรถจักรยานเพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศและเสียง ปัญหาการจราจรและลดการเกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนลดการใช้พลังงาน ด้วยการชวนทุกคน “จอดรถไว้บ้าน ลดการใช้พลังงาน ลดมลพิษ”

หลายประเทศในโลกนี้ทำได้ แต่การใช้จักรยานในไทยยังเป็นความท้าทายอย่างมาก

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กระแสการปั่นจักรยานในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครตื่นตัวมากขึ้น ในช่วงหนึ่งมีกิจกรรมและเทศกาลเกี่ยวกับจักรยานที่ได้รับความสนใจจำนวนมาก ภาครัฐเองก็มีโครงการสร้างทางจักรยานรองรับ โดยพบว่า กรุงเทพมหานครมีเส้นทางจักรยานทั้งหมดอย่างน้อย 48 เส้นทาง รวมระยะทาง 230 กิโลเมตร

แต่ต้องยอมรับว่ามีอันตรายเกิดขึ้นกับจักรยานจำนวนไม่น้อย รวมถึงอุปสรรคนานัปการที่นักปั่นในเมืองต้องประสบพบเจอ ตั้งแต่รถยนต์จอดทับทางจักรยาน รถมอเตอร์ไซค์เข้ามาใช้ทางด้วย พ่อค้าแม่ค้าตั้งหาบเร่แผงลอย จนถึงชาวบ้านนำสิ่งกีดขวางมาจับจองที่จอดรถ เมื่อจักรยานลงถนนวิ่งบนเลนรถยนต์ ก็ต้องเผชิญกับผู้ขับขี่ที่ไม่มีวินัยจราจร และทำให้เกิดอันตราย

…นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดมา และทำให้กระแสการปั่นจักรยานลดน้อยลงทุกที

กระทั่งยุคของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ปั่นจักรยานตั้งแต่ตอนหาเสียง ปั่นจักรยานมาศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พร้อม ๆ กับนโยบายส่งเสริมสนับสนุนเพื่อรื้อฟื้นกระแสการปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ โดยพยายามทำงานร่วมกับอาสาภาคประชาชน เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่วมเสนอแนวทางพัฒนาเส้นทางปั่นสะดวก 

The Active ชวนสำรวจความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ แนวคิดเชิงนโยบาย ที่จะสนับสนุนให้การใช้จักรยานเป็นทางเลือกที่ยั่งยืน ไม่ใช่แค่กระแสฮิตและแผ่วไปเหมือนในอดีต ไม่ทำให้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะ Car Free Day แต่เป็น Bangkok Car Free ในทุก ๆ วัน

ภาพจาก หวังสร้างเมือง

ทริปสองล้อพาตื่นเต้น สำรวจย่านวิภาวดีฯ-หลักสี่

เราเพิ่งจะนัดกับอาสาภาคประชาชนอย่าง “พี่เป้” ธีรเมศร์ เลิศเศวตพงศ์ ตัวแทนผู้ใช้จักรยาน กลุ่มปั่นต่อ และ “พี่ฝ้าย” ศิลป์ ไวยรัชพานิช กรรมการมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ชวนกันไปทดลองลองปั่นที่ย่านวิภาวดีรังสิต ทั้งในฐานะคนในย่าน และเป็นย่านที่มีความน่าสนใจ เพราะอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมถนนวิภาวดีรังสิตโดยกรมทางหลวง ประกอบด้วยการทำทางเดินและทางจักรยาน นอกจากนั้นพื้นที่นี้ยังมีรถไฟฟ้าตัดผ่านถึง 3 สาย คือ สายสีชมพู ตัดผ่านถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมแคราย-มีนบุรี สายสีแดง อยู่ริมถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก ไปได้ถึงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต และ สายสีเขียว เชื่อมตั้งแต่หมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ เป็นโอกาสที่คนในย่านนี้จะสามารถเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาใช้ระบบขนส่งมวลชน หากมีการสนับสนุนเส้นทางการปั่นจักรยานให้เป็นการสัญจรทางเลือก เชื่อมต่อการเดินทาง

สำหรับเส้นทางการปั่นจักรยาน เริ่มจากซอยวิภาวดีฯ 62 ผ่านสโมสรตำรวจ ไทยพีบีเอส โรงแรมรามา การ์เด้นส์ เพื่อสำรวจจุดแรกที่ รถไฟฟ้าสายสีแดง บริเวณสถานีทุ่งสองห้อง ระหว่างการปั่นพบว่าไม่มีไหล่ทาง (หรืออาจจะมีบ้างแต่ไม่ต่อเนื่อง) ทำให้ต้องปั่นร่วมเลนกับรถใหญ่ และมีความเสี่ยงอันตราย สำหรับสะพานลอยที่พาดผ่านถนนวิภาวดีฯ ขาเข้า-ขาออก หลายแห่งมีทางลาดทำให้จักรยานข้ามฟากได้สะดวก และพื้นที่ริมทางบางจุดยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงก่อสร้าง ทำให้ต้องเข็นจักรยานผ่านอิฐ หิน ปูน ทรายในบางช่วง

พี่เป้ และพี่ฝ้าย ตั้งข้อสังเกตระหว่างสำรวจว่า เมื่อมาถึงสถานีรถไฟฟ้า แม้ว่าจะมีการทำทางลาดให้ แต่ไม่มีที่จอดฝากจักรยาน ส่วนลิฟต์ที่ติดตั้งยังไม่เปิดให้บริการ และลิฟต์มีขนาดเล็ก จักรยานแม่บ้านที่มีขนาดใหญ่ใช้สอยลำบาก หมายความว่า แม้แต่ตอนนี้รถไฟฟ้าจะอนุญาตให้นำจักรยานแม่บ้านขึ้นไปยังขบวนรถได้ แต่การเข้าถึงชานชาลาก็เป็นเรื่องยากอยู่ดี

จากจุดแรกปั่นต่อไปยังถนนเลียบคลองบางบัว หรือที่คนในย่านเรียกว่าซอยยาคูลท์ เป็นถนนตัดผ่านใหม่เชื่อมเส้นทางระหว่างวิภาวดีรังสิต-ถนนพหลโยธิน ซึ่งบริเวณนี้มีสวนสาธารณะสร้างใหม่เลียบคลองบางบัวตลอดเส้นทาง โครงสร้างพื้นฐานถูกออกแบบไว้อย่างสวยงาม สะดวกต่อการใช้งาน และเข้าถึงได้ง่าย จัดทำโดยสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร แต่ยังมีบางจุด เช่น คอสะพานเชื่อมเส้นทางริมคลองไปยังจุดที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ยังมีตะปูที่ไม่ถูกจัดการให้เรียบร้อย เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและความเสียหายต่อจัดรยาน ในฐานะอาสาภาคประชาชน จึงแจ้งเหตุผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์) เพื่อให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องรับเรื่องไปดำเนินการ จากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีบางบัว

พี่เป้ และพี่ฝ้าย สรุปกิจกรรมสำรวจเส้นทางจักรยานย่านวิภาวดีฯ ว่า บริเวณสวนสาธารณะและทางเท้าริมถนนเลียบคลองบางบัว เป็นทางต่อเนื่อง มีขนาดกว้าง มีต้นไม้ให้ความร่มรื่น เฉพาะบางบัวให้คะแนน 8 เต็ม 10 หักสองคะแนนเนื่องจากเป็นทางตรงโล่งทำให้รถวิ่งเร็ว ส่วนถนนวิภาวดีรังสิต เต็ม 10 ให้ไม่ถึง 5 เนื่องจากงานถนนจำนวนมากยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็เห็นถึงความตั้งใจ อย่างไรก็ตาม ถ้าคนยังไม่ชำนาญ ไม่แนะนำให้ปั่นบริเวณนี้ มีความอันตรายสูง

ทั้งนี้ การสัญจรด้วยการเดินและจักรยานจะได้เปรียบกว่าการใช้รถยนต์ ต่อเมื่อมีทางลัดทางตัดผ่านย่นระยะเวลาการเดินทาง เส้นทางเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นตรอกเล็ก ๆ คนในพื้นที่เท่านั้นที่รู้ จึงชวนคนในพื้นที่ต่าง ๆ ร่วมสำรวจเส้นทางใกล้บ้าน เพื่อเป็นข้อเสนอการปรับปรุงพื้นที่นำร่อง โดยสามารถส่งข้อเสนอไปยังเพจ หวังสร้างเมือง ของ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นช่องทางการทำงานร่วมกันของภาคประชาชน-หน่วยงานรัฐ

สำรวจเส้นทางจักรยาน พัฒนา First mile-Last mile

การทำงานสำรวจพื้นที่ของอาสาสมัครภาคประชาชน เกิดขึ้นทั่วกรุงเทพฯ ผ่าน 50 สำนักงานเขต ซึ่งในวันที่ 22-24 กันยายน 2566  กรุงเทพมหานคร ยังได้จัดกิจกรรม Bangkok Car Free 2023 เพื่อสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการรณรงค์ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล พร้อมประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน การเดิน การปั่นจักรยาน และสัญจรทางเลือกอื่น ๆ

แม้ว่าวัน Car Free Day จะเป็นวันที่ทั่วโลกจัดกิจกรรมกันทุก ๆ ปี แต่ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ มองว่า หัวใจของ Car Free Day คงไม่ได้มีแค่วันเดียว แต่จะทำอย่างไรให้เป็น Car Free every Day หรือทำอย่างไรให้ดีขึ้นทุกวัน ซึ่ง Car Free Day ควรจัดอยู่ในหมวดการพัฒนาเพื่อสามารถตอบโจทย์ “เส้นเลือดฝอย” ที่เกี่ยวกับการสัญจรจริง ๆ ได้ รวมทั้งเป็นโอกาสสำคัญที่จะผลักดันนโยบาย เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนให้เมืองนี้มีความเหมาะสมกับการเดินทางด้วยวิธีการอื่น ที่ไม่ใช่รถยนต์ส่วนตัว

ภาพจาก หวังสร้างเมือง

สำหรับภารกิจของ กรุงเทพมหานคร เกิดขึ้นภายใต้เป้าหมาย 3 เรื่อง เป้าหมายแรก คือ ทำอย่างไรให้ Car Free Day 2023 ปีนี้สามารถผลักดันนโยบาย ด้วยการประกาศเจตนารมณ์ว่าจะมี First mile / Last mile ทั้ง 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งจะมีการพัฒนาปรับปรุงถนนและทางเท้า ให้สามารถใช้ร่วมกับการสัญจรทางเลือก ทั้งการเดิน การปั่นจักรยาน หรือวีลแชร์

เป้าหมายที่สอง คือ สร้างการมีส่วนร่วมจากภาครัฐและภาคประชาสังคม ซึ่งมีทั้งคนเดินเท้า ปั่นจักรยาน หรือการสัญจรด้วยวิธีการที่ไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัว ต้องเข้ามามีส่วนร่วม จึงเป็นที่มาของเครือข่ายอาสาสมัครทั้ง 50 เขต และ เป้าหมายสุดท้าย คือ ต้องเกิดรูปธรรมของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง 

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ยังมองว่าการเดินระยะแรกจากบ้านมารถไฟฟ้า และระยะสุดท้ายจากรถไฟฟ้ากลับบ้าน เป็นช่วงระยะสำคัญที่จะผลักดันก่อนเพื่อให้คนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม หรือเรียกว่าเป็น หัวใจของการเปลี่ยนเมือง กิจกรรมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่หน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญกับประชาชนผู้ใช้เส้นทางสัญจรเป็นทางเลือกในชีวิตประจำวัน ได้มีส่วนร่วมในการแบ่งปันประสบการณ์ที่เห็นแต่ละวัน  ให้ปัญหาแต่ละพื้นที่ไปสู่การปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

“จะไม่ใช่แค่การจัดกิจกรรมตามที่ทั้งโลกเขาจัด แต่เรามีเจตนาที่จะปรับปรุงให้ได้จริง ๆ Car Free Day ครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ทุกคนจะผลักดันนโยบาย เพื่อเปลี่ยนให้เมืองมีความเหมาะสมกับการเดินทางด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัว และการสร้างเมืองที่ทำให้การเดินทางดีขึ้น คือการสร้างเมืองที่มีระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นระบบ กรุงเทพมหานครวางเส้นทางหลักเพียงแค่รถไฟฟ้า รถประจำทาง แต่หัวใจหลักจริง ๆ คือ First mile / Last mile  ที่ผู้ว่าฯ กทม. เรียกว่าเส้นเลือดฝอย แต่หลายคนไม่ค่อยพูดถึง”   

ศานนท์ หวังสร้างบุญ
ภาพจาก หวังสร้างเมือง

โคเปนเฮเกน นครแห่งจักรยาน

สำหรับประเทศที่มีวัฒนธรรมการปั่นจักรยานที่น่าสนใจ มีหลายประเทศในยุโรป หนึ่งในนั้นคือประเทศเดนมาร์ก อย่างเมืองโคเปนเฮเกน ที่มีผู้ที่ปั่นจักรยานไปทำงานหรือเรียนหนังสือคิดเป็น 45 เปอร์เซ็นของผู้สัญจรทั้งหมด ทุกวันนี้ย่านใจกลางเมืองมีผู้ใช้จักรยานมากกว่าใช้รถยนต์ และ 63 เปอร์เซ็นต์ ของสมาชิกรัฐสภาเดนมาร์กปั่นจักรยานไปทำงานทุกวัน โดยเฉลี่ยชาวเดนมาร์กปั่นจักรยานวันละ 1.5 กิโลเมตร และถ้านับรวม ๆ กันแล้วเป็นระยะทางกว่า 1.2 ล้านกิโลเมตรในแต่ละวัน ซึ่งทางจักรยานในโคเปนเฮเกนมีระยะทางรวมกันกว่า 450 กิโลเมตร

จักรยานที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน ยังทำให้มีการตั้งสถานทูตการปั่นจักรยานแห่งเดนมาร์กขึ้นมาโดยเฉพาะ และมีแนวทางจัดการเมืองที่เอื้อต่อการปั่นจักรยาน เช่น ถังขยะที่เอียงไว้เพื่อให้นักปั่นทิ้งถ้วนกาแฟได้โดยไม่พลาดเป้าเมื่อปั่นด้วยความเร็ว และมีที่พักเท้าสำหรับนักปั่นระหว่างรอสัญญาณไฟจราจร หรือหลังจากหิมะตก เจ้าหน้าที่ก็จะกวาดทางจักรยานก่อนรถยนต์

INCLUSIVE CITY ความเท่าเทียมในการสัญจร

ผศ.ณพงศ์ นพเกตุ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์พื้นที่-พัฒนาเมือง และอาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) บอกว่า Inclusive city เมืองกระชับ ที่เอื้อต่อการเข้าถึงการใช้งานของคนทุกกลุ่ม อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อ 11 ข้อหนึ่งระบุว่า เมืองที่ครอบคลุมปลอดภัย ส่งเสริมสังคมเป็นธรรม เพราะการเดิน การใช้จักรยานไม่มีค่าใช้จ่าย ดังนั้น คนที่มีรายได้น้อยหรือมากก็มีสิทธิเท่ากันที่จะใช้ทาง ประการถัดมาคือสุขภาพก็จะดีขึ้น การสัญจรที่ทำให้ได้เคลื่อนไหวร่างกาย มีงานวิจัยรองรับว่า คนสูงวัยที่อายุเยอะอย่างมีความสุข จะต้องเดินวันละหมื่นก้าว ถ้าอยู่แต่ในอาคารจะไม่ได้ระยะแน่นอน นอกจากนี้ การเดินบนทางเท้า หรือใช้จักรยาน ที่เรียกว่าเป็น Slow mobility ยังช่วยส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจรายทาง เพราะหากขับรถยนต์แล้วไม่มีที่จอดรถ ก็ไม่สามารถที่จะชะลอเพื่อซื้อของได้ ซึ่งเศรษฐกิจริมถนนช่วยทำให้เงินสะพัดมาตั้งแต่ในอดีตก่อนที่จะมีห้างสรรพสินค้าอย่างทุกวันนี้ การส่งเสริมการสัญจรแบบนี้ก็จะช่วยฟื้นคืนเศรษฐกิจรายย่อยให้กลับมาฟื้นตัวได้

ส่วนผลพลอยได้ทางอ้อมคือ สิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่ต้องพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงจากการใช้เครื่องยนต์ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนตัว รถแท็กซี่ หรือมอเตอร์ไซค์ ที่แม้จะเป็นขนส่งมวลชนแต่ก็ปล่อยคาร์บอน และฝุ่นขนาดเล็ก สรุปคือได้ประโยชน์ ทั้งสังคมเป็นธรรม สุขภาพ สุขภาวะดีขึ้น ชีวิตยืนยาวขึ้น มีความสุขมากขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น และสิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้นด้วย

ขณะที่ประเทศไทย ยังมีความคิดว่าการปั่นจักรยานบนถนนเป็นเรื่องที่ไม่เข้าท่า เพราะเป็นเรื่องที่อันตราย แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ย้ำว่าการพัฒนาเมืองที่ดีต้องอาศัยผู้ใช้ทางที่มีใจเปิดกว้าง เคารพกฎจราจร เคารพผู้ใช้ทาง ผู้ใช้ถนนในทุกรูปแบบ ภาครัฐฝ่ายปกครองเองต้องมองเห็นความต้องการของกลุ่มคนที่หลากหลายในเมืองโดยไม่ละทิ้งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้เบื้องหลัง เป็นการสร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะได้อย่างเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภค พื้นที่สาธารณะ และระบบขนส่งมวลชน ทั้งหมดนี้เรียกว่า Inclusive cities


อ้างอิง

  • Meik Wiking (ไมก์ วิกิง), ลุกกะ : วิถีความสุขจากทุกมุมโลก, แปลโดย ลลิตา ผลผลา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้