ผู้ใหญ่ตอบยังไง เมื่อเด็กถูกสอนให้ “เอ๊ะ”

(in)quiry based Learning การเรียนรู้แบบสืบเสาะ

“ใครมีอะไรสงสัย ถามครูได้นะ” ประโยคในความทรงจำของใครหลายคน ที่คุณครูมักจะถามขึ้นช่วงท้ายของชั่วโมงเรียน

แต่เมื่อมีนักเรียนบางคนรวบรวมความกล้าถามคำถาม กลับมีสายตาชวนขนลุกและถามกลับจากคุณครูว่า “นี่ไม่ตั้งใจเรียนใช่ไหม” หรือ “ครูสอนไปแล้วนะ” แทนที่คำตอบที่ควรจะได้ กลายเป็นความกลัวที่ทำให้เด็กไม่อยากและไม่กล้ายกมือขึ้นถามคุณครูอีกต่อไป

สิ่งที่ไม่เอื้อให้ความสามารถในการวิเคราะห์และวิพากษ์ของผู้เรียนเกิดขึ้นกับระบบการศึกษาไทย อาจเป็นเพราะ ระบบอำนาจนิยมในโรงเรียน ฉะนั้น หากจะสร้าง “การตั้งคำถาม” และ “การให้คำตอบ” ที่มีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยบรรยากาศ ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ไม่ใช่การมองว่าเด็กช่างถาม คือ เด็กดื้อ หรือ คุณครูที่มักแสดงสีหน้าบึ้งตึงสวมบทคุณครูแสนโหดอยู่ตลอดเวลา เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ส่งผลต่อการคิดและการแสดงความคิดเห็นในทุกระดับ

Inquiry-based Learning หรือการเรียนรู้แบบสืบเสาะ การสงสัยใคร่รู้ หรือไม่ว่าจะนิยามคำนี้กันอย่างไรก็ตาม Inquiry-based Learning เป็นหนึ่งในวิธีการเรียนรู้ที่แวดวงการศึกษาให้ความสนใจ เนื่องจากการเรียนรู้เช่นนี้คือการฝึกให้ผู้เรียนหรือผู้สอนเองมีการคิดแบบลึกซึ้งและซับซ้อนมากขึ้น เป็นการเรียนรู้เพื่อหาคำตอบที่ไม่มีวันจบ 

การสงสัย นับเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ ความสงสัยใคร่รู้ เป็นอาการอย่างหนึ่ง เป็นอาการที่อยากจะเข้าใจประสบการณ์ที่แปลกประหลาด เมื่อเราหยุดสงสัย ปัญญาไม่เกิด ปัญญาจะเกิดตอนที่เราร้อง อ๋อ รู้แล้วว่าทำไม

เอ๊ะ (inquiry)

ครูภาคิน นิมมานนรวงศ์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง กล่าวถึงสิ่งที่ครูทำได้และควรทำในบริบทของห้องเรียน เน้นไปที่สังคมศึกษาเป็นหลัก ด้วยการสอนให้เด็ก เอ๊ะ (inquiry) หรือ การสอนให้สงสัย โดยแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ เอ๊ะแบบไม่ดี และ เอ๊ะแบบดี 

เอ๊ะที่ไม่ดี หากยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างในชั้นเรียน คือครูเข้ามาในห้องแล้วเปิดหนังสือสอน แล้วอ่านตามทุกคำในหนังสือให้เราฟัง แล้วนักเรียนก็ เอ๊ะ! ว่า ได้หรือวะ?

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ (ภาพจาก TK Park)

“ครูสั่งงานที่ไม่เกี่ยวกับวิชาเรียน นักเรียนทำส่ง ๆ ไป ส่งไปแล้วกลับกลายเป็นว่าไม่ได้รับฟีดแบ็กกลับคืนมา และเราก็ไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร แต่ได้คะแนน หรือเพื่อนบางคนเป็นที่รักของครู ไม่รู้ว่าไปทำยังไงได้เกรด 4 ตลอด ได้คะแนนดีตลอด แต่ไม่เห็นมันจะตั้งใจเรียนเลย ประสบการณ์ เอ๊ะ! แนวนี้ ไม่แน่ใจว่าเป็นการสงสัยที่ดีนัก ด้วยเหตุผลว่าไม่ได้วางแผนให้เอ๊ะ”

ตรงกันข้าม ครูภาคิน มองว่าการตั้งคำถาม เอ๊ะที่ดี จำเป็นจะต้องวางแผน หมายความว่า ต้องเข้าใจธรรมชาติของเอ๊ะมีข้อดีอย่างไร ทำไมต้องวางแผน การศึกษาหรือการเรียนรู้ไม่ว่าด้วยวิชาอะไรมันควรต้องเริ่มด้วยการเอ๊ะ การตั้งคำถาม หรือความสงสัยเสมอ แล้วมันจะดีอย่างไร

“สำหรับคนที่เชื่อในความสงสัยนี้ เราจะต้องเชื่อตรงกันว่าความรู้ไม่ได้มีอยู่แค่ในห้องเรียน ไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น การสอนให้เขารู้โดยที่เขาไม่เอ๊ะเลย นั่นหมายความว่าทุกอย่างจะจบในห้องเรียน เมื่อออกไปข้างนอก การเรียนรู้ไม่ไปไหน ไม่เกิดขึ้นในสถานที่ ๆ อยู่ในชีวิตจริง ทั้ง ๆ ที่ในชั้นเรียนเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งในชีวิตนักเรียนเท่านั้น”

ครูภาคิน บอกอีกว่า ถ้าเราทำให้เขาเอ๊ะได้ เราจะทำให้เขารู้ว่าจริง ๆ แล้วครูไม่ใช่คนที่รู้ดีที่สุด หนังสือเรียนไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดและถูกต้องที่สุด ความรู้ยังมีอยู่ข้างนอกห้องเรียน อาจจะดีกว่าหรือแย่กว่า แต่เป็นหน้าที่หรือภารกิจของเขาที่จะต้องเดินทางออกไปเรียนรู้ เพราะฉะนั้น เอ๊ะที่ดี มีประโยชน์ เพราะทำให้นักเรียนไปไกลกว่าห้องเรียน วางอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ความรู้มีมากกว่าที่ครูรู้ ความรู้มีมากกว่าในเอกสาร ความรู้อยู่ข้างนอก และมันคือหน้าที่ของนักเรียนที่จะต้องออกไป 

ถ้าเราจับปลาให้เขา เขาจะมีปลากินหนึ่งวัน แต่ถ้าเราสอนเขาทำเบ็ด เขาก็จะมีปลากินไปทั้งชีวิต” คือ คำเปรียบเปรย ที่ครูภาคิน นำมายกตัวอย่างไม่ว่าจะในสังคมไทยหรือสังคมโลก ซึ่งเมื่อเราได้ฟังก็จะพยักหน้าเห็นด้วย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เราใช้คำเปรียบเปรยนี้โดยที่ไม่ได้มีการตั้งคำถามต่อ ทั้งด้านการศึกษาและเศรษฐกิจ คำถามนั้นคือ “มีแค่ปลาหรือเปล่าที่กินได้ เขากินอย่างอื่นที่ไม่ใช่ปลาได้หรือไม่” หรือมีวิธีการจับปลาแบบอื่นไหม เรามีความสัมพันธ์กับปลานอกจากการกินได้หรือไม่ แล้วในท้องทะเลมีอะไรอีกบ้าง 

ครูภาคิน มองว่า ความเอ๊ะคือสิ่งนี้ คือการที่ไม่ใช่แค่สอนว่าความรู้ที่ถูกต้องมีชุดเดียวคือ ปลา และไม่ใช่การสอนว่าวิธีการหาความรู้ที่ถูกต้องก็มีวิธีเดียวคือ เบ็ด

“2 ขั้นตอนนี้ ขั้นตอนที่ 2 ดูดีกว่าขั้นตอนแรก แต่ยังไม่ใช่ความเอ๊ะที่เราควรจะสร้าง และหลายครั้งเราติดอยู่ตรงนี้ คือการให้เครื่องมือไปกับเขา ไปหาความรู้ แต่ความรู้ที่เขาต้องหา คือความรู้ที่เราเห็นแล้วสบายใจ ตราบที่เขาจับปลาแล้วเรามีความสุข แต่ถ้าเขารู้สึกว่าปูมันน่ากินกว่า เขาอยากกินกุ้ง หรือว่าชอบกั้ง นาน ๆ ทีจะได้กิน เพราะว่าไม่ได้อยู่ติดทะเล เราจะเริ่มรู้สึกหวั่นไหวว่า เอ๊ะ! สังคมเราให้เด็กกินปลา ถ้าเขาไม่กินปลา แล้วสังคมเราจะอยู่อย่างไร เรากินปลามา 60 ปี 100 ปี บรรพบุรุษเรากินแต่ปลามาตลอด

น่าสนใจว่า วันหนึ่งถ้าเขาออกเรือเอง ถ้าเขารู้ว่าน่านน้ำนี้มันมีสิ่งมีชีวิตอื่น ไปเจอเกาะอื่นที่มันอุดมสมบูรณ์ เริ่มมีมะพร้าว เริ่มมีคนทำการเกษตร จะทำอย่างไรดี ถ้าตัวของครูเชื่อว่าความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่ในมือเราในฐานะครู ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนเท่านั้น ไม่ได้อยู่ในแบบเรียนและหลักสูตรเท่านั้น แต่ความรู้มีตลอด ความรู้เปลี่ยน โลกเปลี่ยน และเราควบคุมการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้ เราต้องเชื่อว่าสักวันเด็กจะต้องออกไปจากเกาะนี้เพื่อหาคำตอบเองว่าอะไรคืออาหารที่เขาอยากกิน

หากมองอีกมุม ถ้าเราตอบคำถามทางสังคมได้ง่ายมาก ถามปุ๊บ เด็กตอบปั๊บ ถูกต้อง เราให้คะแนน 100 เปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่า “เราควรจะต้องถามตัวเอง ว่าเราสอนอะไรอยู่” ครูภาคิน เล่า

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราถามเด็กว่า ชีวิตของคุณเป็นของคุณหรือเปล่า แล้วเด็กตอบว่า เป็นของผมแน่นอน หรือไม่เป็นของผมแน่นอน โดยไม่ต้องคิดอะไรเลย ผมว่าเริ่มน่าสงสัย เพราะในทางสังคม ตั้งคำถามได้เยอะมาก

ถ้าเราถามคนในวงสัมมนาว่า ที่ทุกท่านนั่งอยู่ตรงนี้ เป็นเพราะความตั้งใจเจตนาของเราที่จะมานั่งอยู่ตรงนี้ หรือจริง ๆ มีปัจจัยอื่น เช่น องค์กรส่งมา มีภารกิจที่เราต้องทำ เป็นเรื่องความรู้ที่เราอยากจะเปลี่ยน เรื่องของความจำเป็นทางการเงิน มันมีปัจจัยอื่นมากมายในประสบการณ์ชีวิตที่หล่อหลอมให้เรามาถึงตรงนี้ ที่ไม่ใช่เรื่องของเราเองทั้งนั้น

ตกลงชีวิตของเราเป็นของเราหรือเปล่า ความฝันของเราเป็นของเราไหม การที่เราฝันว่าอยากเป็นอะไร เป็นความฝันของเราจริงไหม ถ้าเราเกิดเมื่อ 100 ปีก่อนหน้านี้ เรายังฝันเหมือนเดิมไหม ถ้าเราเกิดประเทศอื่นในวันนี้ เรายังฝันเหมือนเดิมไหม 

เพราะถ้าไม่ ความฝันของเรายังเป็นของเราไหม อะไรบ้างคือสิ่งที่ดีและถูกต้อง นี่เป็นคำถามที่ยากมากของวิชาสังคม คนไม่มีศาสนาเป็นคนดีได้ไหม ถ้าเราบอกว่าได้เลย โดยที่ไม่ต้องคิด น่าสงสัย พูดว่าไม่ได้เลย โดยไม่ต้องคิด ยิ่งน่าสงสัยเข้าไปอีก มันเต็มไปด้วยข้อถกเถียง อันนี้คือธรรมชาติของความรู้ แต่ถ้าเราไปนั่งดูในหลักสูตรการศึกษา เราก็จะพบว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยปรากฏ ส่วนใหญ่หลักสูตรการศึกษามันจะถูกจำกัดด้วยตัวชี้วัดมากมาย ซึ่งจะมีการถกเถียงในวงการศึกษามากมาย ฝั่งหนึ่งจะบอกว่าตัวชี้วัดจริง ๆ เขาก็จะเปิดกว้าง ครูทำอะไรได้เยอะ แต่ในทางกลับกัน ตัวชี้วัดที่มีอยู่มากมายกลายเป็นกรอบในการทำงานของครู 

เช่น ถ้าใครสอนศาสนาจะพบว่ามีตัวชี้วัดอยู่ 100 ตัว ซึ่งแต่ละตัวมีรายละเอียดมากมาย และสมมติว่า ครูคนนั้นเป็นคนที่มีความสงสัยใคร่รู้ และอยากให้เด็กตั้งคำถามกับความรู้ แล้วครูเองก็ต้องสอนหลักธรรมคำสอนทั้งหมด 100 ตัวใน 3 ปี ลองดูว่าจะใคร่รู้ได้ขนาดไหน 

ฉะนั้น มองว่าอุปสรรคหนึ่งในแง่ระบบมีแน่นอน ก็คือ ธรรมชาติของความรู้มีหลากหลาย ซับซ้อนตอบยาก แต่หลักสูตรเราทำให้มันต้องตอบให้ได้ ต้องตอบให้ง่าย และต้องตอบให้จบ สำคัญคือต้องตอบให้จบ หมายความว่า จะต้องมีคำถามที่วัดว่าคุณรู้เรื่องนี้อย่างถูกต้องแบบที่เขาเขียนใช่ไหม ซึ่งสุดท้ายคลี่คลายในข้อสอบ

ในกระบวนการของการศึกษาสังคมศึกษามันมีกระบวนการเรียนรู้เยอะ แต่พอเราเน้นว่า มันต้องตอบให้ได้ ต้องตอบให้ง่าย และต้องตอบให้จบ เลยกลายเป็นว่ากระบวนการเรียนรู้มันถูกโยนทิ้งไป กลายเป็นว่าไม่เห็นจะต้องให้เขาเรียนรู้เพื่อจะคิด เพื่อจะตอบเลย ในเมื่อมันมีคำตอบที่เบ็ดเสร็จอยู่แล้ว แล้วสุดท้ายเขาตอบผิด ก็ไปบอกว่าเขาผิด และเขาต้องเชื่อตามนี้

ฉะนั้น การเรียนรู้ทั้งหมดมันหายไป พอการเรียนรู้มันหายไปหมด inquiry ก็ไม่จำเป็น สุดท้ายก็นำไปสู่การเอ๊ะ แต่เอ๊ะแบบไม่ดี เพราะเป็นการเอ๊ะแบบไม่วางแผน เด็กจะถามว่าจริงหรอ แต่เราก็ตอบเขาไม่ได้หรอก เพราะเราไม่รู้ เราไม่เคยคิด นั่นคือประสบการณ์ในชั้นเรียนที่หลายคนน่าจะเคยเจอ 

Inquiry-based Learning ทำงานอยู่บนตรรกะ 2 ชุด 

หนึ่ง ในแง่ของการออกแบบรายวิชา มันทำได้ง่ายมาก ถ้าเราคิดในสิ่งที่เราสอนด้วยคำถามเสมอ ถ้าเราอยากให้เด็กสงสัยผู้ใหญ่ที่อยู่ล้อม เขาจะต้องสงสัยก่อน คำถามคือ แล้วครูจะสร้างความสงสัยนั้นได้อย่างไร ครูภาคิน ยกตัวอย่างว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่เราจะสอนนักเรียนบนแบบเรียนที่มีอยู่แล้ว แต่เริ่มจากตั้งคำถามที่ว่าทำไมเขาจะต้องรู้เรื่องนี้ เขารู้เรื่องนี้แล้วมีประโยชน์อย่างไร แล้วทำอย่างไรเพื่อที่เขาจะรู้เรื่องนี้ เมื่อเราออกแบบการสอนบนฐานของคำถาม เวลาเราไปอยู่ในชั้นเรียนโดยมากมันจะไม่ใช่การตอบเขา แต่มันเป็นการชวนให้เขาคิดไปบนคำถามที่เราอยากให้เขารู้ โดยคำถามมักจะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว การเริ่มด้วยคำถาม จบด้วยคำถามเป็นเรื่องที่ง่ายในการ Inquiry-based  

สอง ควบคุม ในความหมายว่าเราให้คำถาม เราให้เครื่องมือ แต่ให้เขาไปวิเคราะห์สถานการณ์เอง เช่น การสอนเรื่องศาสนาและความขัดแย้ง ปัจจุบันเรามีภาพของศาสนาเป็นเรื่องตรงข้ามกับเหตุผล อาจจะเป็นเรื่องของความเชื่อ แต่ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์ เช่น ช่วงต้นของศาสนา ศาสนาเป็นเครื่องมือของคนที่มีอำนาจน้อยในสังคม ที่พวกเขาท้าทายสังคมที่กดขี่พวกเขาอยู่ ศาสนาพุทธเกิดขึ้นในบริบทที่ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูเชื่อในชนชั้นวรรณะ

ศาสนายิว ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ย้อนไปดูประวัติศาสตร์ เริ่มต้นจากบริบทที่มีใครสักคนที่เชื่อในศาสนาที่มีพระเจ้าหลายองค์ กำลังกดขี่คนกลุ่มนี้อยู่ และเขาก็ปรับเอาความเชื่อใหม่ในศาสนานั้นสร้างความเท่าเทียมกัน คำถามคือทำไมศาสนาซึ่งแต่เดิมที่เขาสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน แต่ปัจจุบันมันนำไปสู่ความขัดแย้ง หรืออย่างน้อยถูกใช้เพื่อสนับสนุนความขัดแย้ง  

“ในที่นี้ ผมพาไปดูความขัดแย้งในสังคมโลกบนฐานศาสนา 3 – 4 อัน ให้เครื่องมือในการวิเคราะห์ไป ให้บทความไป แต่ให้เขาไปคิดและสรุปเองว่าอะไรคือสาเหตุและข้อสรุปจากการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ 3-4 อัน หรือเราอาจจะใช้วิธีการให้เฉพาะคำถาม แล้วให้เขาไปลุยเอง เช่น สอนประวัติศาสตร์ พาร์ทหนึ่งที่สนุก คือการให้ทำประวัติศาสตร์ครอบครัว เราสอนเครื่องมือประวัติศาสตร์ สอนวิธีการ สอนหลักฐาน และให้คำถาม แต่เราวัดผลจากอะไร ตั้งคำถามเลยครับ ทุกคนกลับไปทำประวัติศาสตร์ครอบครัว ให้เวลา 1 เดือน สรุปมาภายใน 1-2 หน้ากระดาษ เครื่องมือไม่จำเป็นว่าต้องเหมือนกัน เราให้เครื่องมือกว้าง ๆ บางคนไปคุยกับพ่อแม่ บางคนไปดูรูป บางคนมีไดอารี่ เขาได้เข้าไปสู่ปรากฏการณ์การเรียนรู้ผ่านเครื่องมือที่เขาหาเอง เราตั้งคำถามให้” 

สุดท้ายคืออิสระไปเลย หมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องตั้งคำถาม เราให้เขาตั้งคำถามเอง เช่น ข้อสอบ ที่ครูเข้าใจว่าจะต้องเป็นผู้ออกข้อสอบเท่านั้น เพราะเชื่อว่าคำตอบที่ถูกมีเพียงน้อยนิด แต่ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งที่เราต้องหาในตัวเด็กไม่ใช่คำตอบที่ถูก แต่คือกระบวนการคิดที่ถูก เด็กที่คิดที่ถูก น่าจะต้องตั้งคำถามเพื่อแสดงวิธีการคิดที่ถูกได้

ถ้าเราสอนให้เขาสงสัยและเราสนใจว่าเขาสงสัยและหาคำตอบได้ไหม เราไม่ต้องตั้งคำถามให้เขาตอบ แต่เราให้เขาตั้งคำถามเอง เราเป็นคนคุยกับเขา ระหว่างตั้งคำถาม และเราเป็นคนตรวจคำตอบให้เขาผ่านการเรียนรู้ของเขาเอง 

ระหว่างตั้งคำถาม คำตอบ มีเวลา 1 เดือน มานั่งคุยกับครู คำถามไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องตั้ง กระบวนการไม่ใช่สิ่งที่เราต้องไปดูแล ปรากฏการณ์เป็นสิ่งที่เขาพยายามทำความเข้าใจ แต่เรามีจุด Inquiry-based ได้จากการที่เราสอนให้เขาเชื่อว่าไม่ใช่คำตอบที่คุณมีเหมือนผมเท่านั้นที่ถูก ความรู้ยากจะตาย คุณถามผมวันนี้ผมก็ไม่รู้ว่าถูกไหม แต่ผมรู้ว่ามันต้องคิดอย่างไร และเราหากระบวนการคิดนั้น 

โดยสรุปคือ Inquiry-based Learning สำหรับครูภาคิน ให้ความเห็นว่าสามารถทำได้ โดย หนึ่ง ครูต้องเลิกเชื่อว่า คำตอบที่ครูมีอยู่ หรือแบบเรียนที่ครูใช้ เป็นคำตอบเดียวของโลก อย่างน้อยในวิชาสังคมศึกษาและประวัติศาสตร์ 

สอง กระบวนการเริ่มต้นด้วยคำถามและจบด้วยคำถาม เราไม่จำเป็นต้องสรุปทุกอย่างบนโลกนี้ เพราะเราไม่ได้รู้ดีที่สุด 

สาม ความสัมพันธ์ระหว่างคำถาม เครื่องมือ ปรากฏการณ์ ครูสามารถเล่นกับกระบวนการนี้ได้โดยเราตั้งคำถามให้ปรากฏการณ์ ให้เครื่องมือ, เราตั้งคำถาม ให้เครื่องมือ ให้เขาไปศึกษาประสบการณ์, เราตั้งคำถาม ให้เขาไปหาเครื่องมือเอง ให้เขาไปหาปรากฏการณ์เอง หรือเราให้เขาตั้งคำถามเอง เราทำแบบนี้ได้โดยเชื่อว่าคำตอบที่ถูกที่สุดไม่ใช่เนื้อหา แต่เป็นกระบวนการในการคิด 

สุดท้าย ทั้งหมดนี้ควรเป็นสิ่งที่ครูควรทำในโรงเรียน  แต่ผมคิดว่ากระบวนการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ และไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ถ้าคนที่สอนครูในระดับอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่สงสัยใคร่รู้และไม่สร้าง Inquiry-based Learning การศึกษาที่ดี ไม่ควรจะอยู่ในห้องเรียน และถ้าเราเชื่อแบบนั้นไม่ใช่แค่หน้าที่ครูในห้องเรียนเท่านั้น แต่คิดว่าสังคนต้องตั้งคำถามเยอะ ๆ กับคนที่ผลิตครูให้มากกว่านี้ ว่าเขาเป็นคนที่เป็นผู้ใหญ่ที่ใคร่รู้ พอที่จะสร้างผู้ใหญ่ที่ใคร่รู้เพื่อที่จะไปอยู่กับนักเรียนแล้วหรือยัง 

ครอบครัวหลายเจเนอเรชัน พื้นที่ท้าทายของการตั้งคำถามและหาคำตอบ

นอกจากในโรงเรียนแล้ว การสร้างสิ่งแวดล้อมในครอบครัวก็นับว่าสำคัญไม่แพ้กัน เมื่อความต่างของเจเนอเรชันเป็นอีกหนึ่งข้อท้าทายของการตั้งคำถามและหาคำตอบ เพราะประสบการณ์ร่วมคนละชุด ฉะนั้น การตั้งคำถามของคนรุ่นลูกอาจไม่ถูกใจคนรุ่นพ่อแม่ หรือคำตอบของคนรุ่นพ่อแม่ อาจไม่ใช่คำตอบที่คนรุ่นลูกอยากได้ แล้วในสถานการณ์แบบนี้ จะทำอย่างไร เพื่อให้การตั้งคำถามมีประสิทธิภาพทั้งกับคนถามและคนตอบ

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ บรรณาธิการ Mutual เล่าผ่านประสบการณ์ในฐานะของสื่อที่ทำงานด้านการศึกษาไม่ต่ำกว่า 7-8 ปี ที่พบว่าเรื่องของการเรียนรู้ วนลูป และที่ผ่านมาคำว่าเรียนรู้เกิดขึ้นเยอะมาก ทิพย์พิมล ยอมรับว่าจากคนที่สนใจทำประเด็นนั้นเอง ก็มีช่วงเวลาที่รู้สึกเหนื่อย

“เราเห็นการสืบเสาะในชีวิตประจำวันในร้านกาแฟ ในร้านเสริมสวย เราจะเห็นว่ามีพฤติกรรมการสืบเสาะเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นนักสืบ การสืบเสาะมันมีอยู่ในตัวเรา ไม่ว่าจะใช้คำว่า เสือก หรือคำว่า เผือก”

ที่มารูปภาพ TK Park 

ประสบการณ์ที่คนรอบข้างผ่านการเรียนรู้แบบสืบเสาะมา ทำให้เห็น ผลข้างเคียงของการเรียนรู้ที่ไม่สนับสนุนให้เราสืบเสาะ ที่ส่งผลกับคน บรรยากาศและสังคม คำถามต่อมา ทำไมเราทำความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้กันเยอะมาก เพราะผลข้างเคียงจาก กระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ มันถูกตัดตอน มันถูกขวางทาง หรือไปเจอตอต่าง ๆ หรือเปล่า ทำให้การเรียนรู้ไปไม่สุดทาง

“นั่นเพราะเขาอยากรู้ ทำให้การเรียนรู้ไปไม่ถึงธง แล้วมันส่งผลอย่างไรกับคนรุ่นใหม่ เราได้คุยกับเด็ก เขาไม่ได้บอกหรอกว่าเขาเหนื่อยจากการเรียนรู้ แต่มีหลายอย่างที่มาขัดขวางทำให้เขาไปได้ไม่ไกลอย่างตั้งใจ”

เมื่อมองมาที่สถาบันเล็ก ๆ ของสังคมอย่างสถาบันครอบครัว ที่ล้วนรวมคนหลายรุ่นไว้ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งเรื่องของช่วงอายุที่ต่างกันก็มีผลกับการเรียนรู้และตั้งคำถามที่สืบเสาะ ทิพย์พิมล เล่าว่า ภายในครอบครัว รุ่นพ่อรุ่นแม่ หรือที่เรียกกันว่า BABY BOOMER มักมีการตั้งคำถามน้อย หรือแทบไม่มีคำถามเลยเกี่ยวกับความเชื่อ หรือสิ่งที่ได้รับสืบทอดกันมา เช่น การเลี้ยงลูก การให้ลูกกินกล้วย ทำตามโดยที่ไม่มีการอธิบาย เพียงแต่บอกว่าเขาทำตามกันมา เราก็ทำตาม ๆ ไป เพราะว่าที่ผ่านมาก็ไม่ได้เกิดอันตรายอะไรกับลูก ซึ่งจะมีคำเปรียบเปรยที่ว่า ‘เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด’ แต่ในปัจจุบันก็เริ่มพูดน้อยลงแล้ว

“อันนี้เป็นสิ่งที่สัมผัสได้ในรุ่นพ่อรุ่นแม่เรา คือทำ ๆ ไปเถอะ มันดีแหละ แต่มันไม่ค่อยมีคำอธิบาย นอกจากบอกว่าเขาทำกันมาแบบนี้ ทำกันต่อไปเถอะ แต่ไม่ได้บอกว่าเขาผิดหรือเขาถูก จนมาถึงรุ่นเรามันอยู่ในช่วงที่ยุคข้อมูลข่าวสารจากหลากหลายสื่อ เราก็เหมือนคนตรงกลางระหว่างรุ่นแก่ กับรุ่นเด็ก พ่อแม่เราไม่ต้องการคำอธิบาย แต่ลูกเราต้องการคำอธิบาย” 

แต่สุดท้ายนอกจากการอธิบายให้ลูกฟัง เราอาจจะต้องนึกถึงวิธีการอธิบายกับพ่อกับแม่ด้วย เธอมองว่าความต่างของเจเนอเรชันเท่ากับการอธิบายซึ่งคิดว่าเป็นต้นทางสำคัญในการเปิดบทสนทนา และจะต้องทำความเข้าใจแต่ละเรื่องด้วยว่าเขาโตมากันอย่างไร บางกลุ่มเขาไม่ต้องการคำอธิบาย แต่บางกลุ่ม เขาต้องการคำอธิบาย บางทีเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ความรู้อะไรที่ซับซ้อน แต่เป็นเรื่องประสบการณ์และการเรียนรู้ และสิ่งสำคัญจะต้องให้ความสำคัญกับการอธิบาย 

การสืบเสาะเริ่มต้นจากตัวเองไม่ใช่คนอื่น

ทิพย์พิมล อธิบายให้เห็นการเรียนรู้ภายในครอบครัว โดยตัวเธอเองได้ชวนลูกสาวคุยถึงตำแหน่งหน้าที่ในงานกีฬาสี ที่ผ่านมาลูกสาวของเธอจะได้รับตำแหน่งเชียร์ลีดเดอร์หรือไม่ก็ดรัมเมเยอร์ แต่เมื่อเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย ลูกสาวของเธอได้รับหน้าที่ในการเป็นนักกีฬาวิ่ง ซึ่งนั่นหมายถึงว่า ลูกของเธอจะไม่ได้แต่งตัว แต่งหน้า ใส่ชุดสวย ๆ อย่างที่ผ่านมา ตรงกันข้าม ลูกสาวของเธอต้องใส่ชุดกีฬาและไม่ได้แต่งหน้า ก่อนวันงาน เธอจับสัญญานของลูกสาวได้ว่ามีความรู้สึกเสียดาย กระทั่งวันงานกีฬาสี ทิพย์พิมล ตัดสินใจคุยกับลูกสาวในเรื่องนี้ ด้วยคำถามสั้น ๆ 2 – 3 คำถาม 

หนึ่ง ถ้างานกีฬาสี ไม่มีเชียร์ลีดเดอร์ หนูว่าจัดได้ไหม 

เธอก็ตอบพร้อมเสียงสั่นเครือร้องไห้ว่า ได้ค่ะ 

สอง ถ้างานกีฬาสีไม่มีขบวนพาเหรด หนูว่าจัดได้ไหมลูก

ลูกสาว ก็ตอบว่า ได้ค่ะ 

สุดท้าย เธอถามว่าถ้างานกีฬาสี ไม่มีนักกีฬา อย่างหนู หนูว่างานกีฬาสีจัดได้ไหมลูก  

ลูกสาวเธอก็ตอบว่า ไม่ได้ค่ะ 

หลังจากนั้น ตัวของเธอไม่ด่วนสรุป แต่เป็นบทสนทนาคำตอบอยู่ในหัวลูก เป็นคำตอบสุดท้าย โดยเธอยอมรับว่าไม่รู้ว่าสิ่งที่เธอทำไปเป็นวิธีการสอนที่ถูกหรือผิด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนั้นเป็นการเรียนรู้ ที่สอนเขาเรื่องตวามแตกต่างหลากหลาย สิ่งที่เขาทำและตัดสินใจจะสะท้อนกลับไปที่ตัวของเขา การเรียนรู้แบบสืบเสาะตั้งต้นจากเรื่องที่เราสนใจ ตัวของแม่เป็นแค่ผู้สนับสนุนและตั้งคำถามว่าหากสถานการณ์เป็นแบบนี้ลูกจะตัดสินใจอย่างไรต่อ

ความขัดแย้งและความไม่เข้าใจในคำถาม และไม่พอใจในคำตอบมักเป็นปัญหาพื้นฐานของครอบครัว แต่เธอเล่าว่าสิ่งนี้อาจเกิดจากประสบการณ์ที่ต่างกัน โทษใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้สักทีเดียว  เธอเองก็ยอมรับว่าไม่ได้เข้าใจลูกทั้งหมด แต่เธอกล่าวว่า ณ ขณะนั้นยังไม่ต้องเข้าใจก็ได้ แต่ต้องยอมรับ รวมถึงวิธีการแสดงออกอาจจะแตกต่างกัน หลายรอบครัวเมื่อไม่ได้ดังใจ ก็จะปิดประตูใส่อีกฝ่ายเพื่อตัดปัญหา 

“พ่อแม่เราอาจจะมีประสบการณ์กับปู่ย่ามาอีกแบบหนึ่ง คือไม่ต้องอธิบายหรอก เพราะเขาก็เชื่อพ่อ เชื่อแม่มาอีกทีหนึ่ง ฉะนั้น เชื่อว่าพ่อแม่ที่ไม่ได้มีคำอธิบายที่เหมาะสม หรือที่ลูกอยากฟัง เขาเองก็อึดอัด แต่ว่าเขาอาจไม่มีวิธีการที่จะพาลูกไปหาคำตอบด้วยกัน พี่เองก็ทำไม่ได้ตลอด ”

นอกเหนือจากสิ่งที่เธอเล่ามาข้างต้น เรื่องของเวลาก็เป็นตัวสำคัญ ซึ่งเวลาตรงนี้ทำให้เห็นถึงโครงสร้างใหญ่ คือ ช่วงชีวิต เศรษฐกิจ ที่ไม่ได้อนุญาตให้พ่อกับแม่สร้างบทสนทนา หรือสืบเสาะกับลูกได้ขนาดนั้น

อย่างไรก็ตาม เธอมองว่า การเรียนรู้แบบสืบเสาะ กระบวนการระหว่างทางสำคัญ ยิ่งได้ใช้เวลากับสิ่งที่สนใจ ได้เรียนรู้ระหว่างทางจะทำให้การเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพ และสิ่งที่จะเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ได้อีกอย่างคือเรื่องของบรรยากาศและสิ่งแวดล้อม ณ ที่นี้ไม่ได้หมายถึงตัวของสิ่งของแต่หมายถึงผู้คนที่อยู่รอบข้าง ที่จะไม่ทำให้บรรยากาศมันน่ากลัว น่าอึดอัดใจ จนอีกฝ่ายไม่กล้าตั้งคำถาม หรือทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าคำถามเขาโง่ 

“คำพูดต้องห้ามของเราในฐานะผู้ใหญ่ คือ ถามมาได้ยังไงวะ โง่ว่ะ แค่นี้ไม่รู้หรอ อาจเป็นคำชินปาก หรือความรู้สึกอาจจะไม่เข้ากับคำพูดที่ออกมา แต่เราไม่รู้เลยว่าคนฟังเขาคิดอย่างไร หรือเครื่องมือสื่อการสอนก็เป็นสิ่งแวดล้อมที่จำเป็น แต่ว่าหลัก ๆ เลย คือคนที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขากล้าถาม ตอบได้ไม่ได้ไม่รู้ แต่ต้องให้เขาถามก่อน ทำให้เขารู้ว่าไม่มีเรื่องไหนเลยไร้สาระสำหรับเรา”

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ