ข้อจำกัดที่สกัดไทยไปไม่ถึง “ประเทศนวัตกรรม”
นวัตกรรม หรือ Innovation คือ สิ่งที่สร้างใหม่ หรือ ความคิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อาจหมายถึงสิ่งที่มีอยู่แล้วถูกนำมาต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพ ในปัจจุบันที่สังคมไทยเต็มไปด้วยปัญหา นวัตกรรมน่าจะเป็นคำตอบของโลกยุคปัจจุบัน ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาสังคมได้จริง The Active สัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ในแวดวงการสร้างสรรค์นวัตกรรม 2 ท่าน คือ อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer SCG, Cement and Building Materials และ พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวนการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่มองเห็นความสำคัญของการสร้างนวัตกร และนวัตกรรมเชิงนโยบาย เพื่่อแก้ปัญหาเมืองที่มีความซับซ้อน มากขึ้นเรื่อย ๆ
“นวัตกรรม” ไม่ใช่ตัวเลือก แต่เป็นคำตอบ…
อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer SCG, Cement and Building Materials ผู้เรียนจบสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ และปริญญาโทวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ สหรัฐอเมริกา เส้นทางการศึกษาทำให้ปัจจุบัน คุณอาร์ท-อภิรัตน์ เข้ามาทำงานเกี่ยวกับนวัตกรรมอยู่ที่ บริษัท SCG Cement-Building Materials จำกัด(SCG-CBM)
มากกว่าการเข้าใจธุรกิจ ผู้คนในองค์กร คือ การเข้าใจว่าทั่วโลกกำลังแข่งขันกันสร้างนวัตกรรม มากกว่า อุตสาหกรรม เพราะโลกกำลังเปลี่ยนผ่านอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการมองเข้ามาที่ประเทศไทยซึ่งพบข้อจำกัดด้านการแข่งขันยิ่งฉายภาพชัดว่า “นวัตกรรม” ไม่ใช่ตัวเลือก แต่เป็นทางออก และคำตอบของประเทศนี้ด้วยเช่นกัน
“โลกยุคนี้เปลี่ยนผ่านจากสังคมอุตสาหกรรม สู่ สังคมนวัตกรรมแล้ว
แปลว่าโลกเริ่มแข่งขันกันด้วยนวัตกรรม ไม่ใช่ เรื่องอุตสาหกรรมอีกต่อไป…ประเทศไทยแก่ตัวลงไม่สามารถแข่งด้วยแรงงานได้อีก จึงต้องแข่งกันด้วยสมอง และนี่คืออุตสาหกรรมเชิงนวัตกรรม เช่น creative economy, soft power, digital economy ฯลฯ ทั้งหมดที่รวมตัวกันเป็น ระบบอุตสาหกรรมใหม่… นวัตกรรมจึงไม่ใช่แค่ตัวเลือก แต่ นวัตกรรม คือ คำตอบ”
อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer SCG, Cement and Building Materials
คุณอาร์ท-อภิรัตน์ ย้ำว่า ระบบอุตสาหกรรมใหม่ เหมาะกับประเทศแบบไทยเพราะเป็นประเทศที่เล็กลงเรื่อย ๆ ต้องการรายได้เพิ่มสูงขึ้น ประชากรน้อยลง ดังนั้นนวัตกรรมจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่คือ คำตอบของอนาคตประเทศไทย
ข้อจำกัดที่สกัดไทยไปไม่ถึง “ประเทศนวัตกรรม”
ถ้าพูดกันอย่างจริงจัง อย่างน้อย 3 ปีที่ผ่านมา เราตระหนักเรื่องนวัตกรรมอย่างกว้างขวาง ทุกองค์กรทั้งรัฐ เอกชน ภาคการศึกษา มีการสอน และทำโครงการนวัตกรรมกันแล้ว แต่ถามว่าเราทำได้อย่างรูปธรรม และตามโลกทันหรือไม่ก็ต้องตอบตามตรงว่า ยังอีกไกล… คุณอาร์ท-อภิรัตน์ ในฐานะที่ทำงานด้านนวัตกรรมมาหลายปี คิดว่าสาเหตุแรกที่ทำให้ก้าวตามไม่ทัน คือ ไทยไม่เชื่อว่าเราเองสามารถสร้างนวัตกรรมเองได้ ถ้าพูดถึงอะไรที่ทันสมัยก็มักจะซื้อมาจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, ยุโรป, จีน โดยไทยจะไม่สามารถเป็นประเทศนวัตกรรมได้เลยหากยังมีแนวคิดในลักษณะนี้
ประเทศนวัตกรรม คือ ต้องทำสิ่งใหม่ขึ้น การซื้อสิ่งใหม่ยังไม่สามารถเรียกว่าเป็นประเทศนวัตกรรมได้ ดังนั้นอย่างแรกต้องเปลี่ยน กรอบคิด (mindset) คนไทย จากกรอบคิดการเป็นผู้ใช้ (user mindset) ให้เป็นกรอบคิดของผู้สร้าง (creator mindset) ให้ได้ก่อน ถัดมาคือการส่งเสริมนวัตกรรม เวลานี้มีกลุ่มคนหลากหลายที่ปลูกฝังการสร้างนวัตกรรมอย่างเป็นล่ำ เป็นสัน แต่หลังจากนี้คงต้องมีนโยบายเชิงนวัตกรรม ที่ออกมารองรับ ผลักดันประเทศ และกรุยทางให้อย่างจริงจัง ประเทศไทยจึงจะมีหวังการเป็นประเทศนวัตกรรมได้จริง
คุณอาร์ท-อภิรัตน์ ยังเปรียบเทียบให้เห็นภาพการขับรถเก๋ง รถหรู แต่กลับไม่มีถนน เหมือนการไม่มีนโยบาย (Policy) หรือการมองภาพรวมจึงเปรียบเหมือนโครงสร้างขั้นพื้นฐาน (infrastructure) ที่จะสนับสนุนให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่ได้ นวัตกรรมเชิงนโยบายจึงมีความสำคัญและเป็นคำตอบที่จะช่วยผลักดันให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าสร้างนวัตกรรมได้ เวลานี้ลำพังแค่การผลักดันของแต่ละภาคส่วน เช่น ภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เราเป็นประเทศส่งออกนวัตกรรมได้ จึงจำเป็นต้องมีนโยบายช่วยกรุงทางและผลักดันรองรับไว้ด้วย ซึ่งหากระดับนโยบายไม่เกิด ระดับเอกชน ระดับล่างลงมาก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน
ความสำคัญของการสร้าง “นวัตกร” และ “นวัตกรรมเชิงนโยบาย”
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวนการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ผู้ร่วมก่อตั้ง และพัฒนาพูดถึงหลักสูตรพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรม สำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ภาครัฐ และเอกชน ว่าเป็นหลักสูตรที่มีเป้าหมาย เปลี่ยนชุดความคิด และวิธีการพัฒนากระบวนการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด และเป็นนวัตกรรม ให้เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้บริหารระดับกลางและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้นำในระดับสูง เพื่อให้มีทักษะ มีแนวคิดวางรากฐานการคิดแบบนวัตกรรมเชิงนโยบาย (Policy innovation) ในบริบทของสาธารณะที่เป็นการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคประชาสังคม ตลอดจนผู้นำจากภาคเอกชน
โดยมองว่า ส่วนใหญ่คนจะมองเรื่องนำเทคโนโลยี มาแปลงเป็นโครงการนวัตกรรม หรือใช้เทคโนโลยีพัฒนาเป็นตัวสินค้า บริการในรูปแบบของสิ่งประดิษฐ์ แต่จริง ๆ แล้ว นวัตกรรมเชิงนโยบายมีความสำคัญสูงมาก เพราะเวลานี้หลายปัญหาของสังคมที่ยังแก้ไม่ตก เพราะมีสามารถแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ หรือถ้าไปถึงการปฏิบัติแล้วจะวัดผล ประเมินผลอย่างไร เพราะฉะนั้นกระบวนการเชิงนโยบายสาธารณะ หรือนโยบายในระดับองค์กร ก็ควรใส่นวัตกรรมเข้าไปในกระบวนการเหล่านี้ด้วย
ดังนั้น หลักสูตรเพื่อพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ภาครัฐและเอกชน โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ Public and Private Chief Innovation Leadership (PPCIL) จึงเป็นหลักสูตรที่รวมผู้คนจากทุกภาคส่วนเข้ามาเพื่อตอบคำถามว่า หากเราใส่กระบวนการทางนวัตกรรมเข้าไปในนโยบาย ไม่ว่าจะเป็น นโยบายสาธารณะ หรือ นโยบายระดับองค์กร จะมีหน้าตากลไกเป็นอย่างไร และจะนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้อย่างไร โดยหลักสูตรนี้ยังเน้นผู้เรียนที่เป็นคนรุ่นใหม่ มาจากทุกแวดวงผู้ใช้นโยบาย ทั้งภาคการเมือง ทหาร ตำรวจ เอกชน สื่อมวลชน รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย เพราะเชื่อว่าในที่สุดแล้วการสื่อสารเชิงนโยบาย ต้องมีนวัตกรรมเกิดขึ้น
“ปัจจุบันจะเห็นว่า นโยบายสาธารณะหลายส่วน ขับเคลื่อนไปไม่ได้ ติดขัด
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวนการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
เห็นต่าง-เห็นแย้ง มีการชักเย่อกันในรูปแบบของทรัพยากรตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น คำว่า นวัตกรรมเชิงนโยบาย หรือ นวัตกรรมที่นำไป สู่ กระบวนการทางนโยบาย มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก…”
กลไกการสร้างหลักสูตรพัฒนานวัตกรรม เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ เยาวชนรุ่นใหม่ และอีกกลุ่ม คือ ผู้ประกอบการ ผู้บริหารระดับกลาง – ระดับสูงในองค์กรทุกภาคส่วน หลังจบหลักสูตรทุกคนจะได้นำเสนอผลงานนวัตกรรมเชิงนโยบาย เพื่อต่อยอดไปสู่การใช้งานได้จริง
คุณพันธุ์อาจ ย้ำว่า เวทีการสร้างนวัตกรแบบนี้มีความจำเป็น เพราะปกติแล้วสังคมไทยมองไปที่กระบวนการดึงเอาเทคโนโลยีมาใช้ก็บอกว่าเป็นประเทศเติบโตได้ด้วยนวัตกรรมแล้ว แต่จริง ๆ แล้วจำเป็นต้องมีนวัตกร อยู่ในทุกภาคส่วน และต้องเข้าใจว่า อนาคตถ้าไม่ทำสิ่งนี้ อีก 50 ปี เราจะไม่สามารถแข่งขัน หรือเปลี่ยนเปลงในเชิงโครงสร้างทางสังคมได้เลย ซึ่งอันตรายมาก… เพราะฉะนั้นการที่จะสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบาย จำเป็นต้องสร้างนวัตกร ที่นำมาสู่การสร้างนวัตกรรม ดังนั้นผู้สร้างจึงสำคัญมากที่สุด
“นวัตกร ไม่ใช่นักประดิษฐ์ นวัตกร คือ คนที่มีความสามารถในการดึงเอา pain point สิ่งที่เป็นโอกาสในอนาคต แปลงมาเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง เราต้องการนวัตกรในทุกภาคส่วน เยอะมาก
ถ้าไม่ทำสิ่งนี้ อีก 50 ปี เราจะไม่สามารถแข่งขัน หรือเปลี่ยนเปลงในเชิงโครงสร้างทางสังคมได้เลย ซึ่งอันตรายมาก…”
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวนการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)