“ข้อมูลโกลาหล” วิกฤตซ้อนวิกฤตโรคระบาด | สุภิญญา กลางณรงค์

คุยกับ “สุภิญญา กลางณรงค์” ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) และอดีต กสทช. มองปัญหา Information Disorder แนะรัฐ เร่งทำ Open Data บูรณาการข้อมูล แก้วิกฤตโควิด-19

“เลื่อนฉีดวัคซีน” สำหรับผู้ลงทะเบียนผ่าน “ไทยร่วมใจ”
หากมีการจัดสรรวัคซีนใหม่จะแจ้งนัดหมายภายหลัง 

…นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการเปลี่ยนแปลง หากนับจากสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงวันนี้ ประเทศไทยเจอกับการสื่อสารและข้อมูลที่สับสน โกลาหล หรือที่เรียกว่า “Information Disorder” ตลอดเวลา

โดยเฉพาะรอบนี้ ที่รัฐบาลประกาศเลื่อนฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอาการของโรคที่รุนแรงมากกว่าช่วงวัยอื่น

ยังไม่นับรวมผลกระทบทางจิตใจของลูกหลาน ที่ต้องใช้ความพยายามจูงใจให้ผู้สูงอายุเข้ารับวัคซีนเข็มแรก… นี่จึงเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาขอโทษประชาชนโดยพร้อมเพรียง

The Active พูดคุยกับ “สุภิญญา กลางณรงค์” ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค หรือ Collaborative Fact Checkin (ประเทศไทย) และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ​โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มองว่า “Information Disorder” คือ สิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในสังคมไทย แต่ที่น่าสนใจ คือ จนถึงการระบาดระลอกที่ 3 แต่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกลับยังไม่มีใครออกมาสรุปบทเรียนและแก้ปัญหา ทั้งที่ควรจะเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อคืนความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

สุภิญญา ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มมีสถานการณ์โควิด-19 ปลายปี 2562 ประเด็นการสื่อสารเป็นสิ่งที่รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื่อง เพราะมีความโกลาหลของข้อมูลข่าวสาร “Information disorder” เช่น ในช่วงแรก ๆ บางสถานการณ์ที่ประชาชนตื่นตระหนกตกใจ รัฐบาลกลับไม่ตื่นตระหนก แต่พอสถานการณ์เริ่มตึงเครียด กลับมีความเชื่องช้าและไม่มีความชัดเจน

เช่น จุดแรกที่เห็นชัดเรื่องความสับสนและโกลาหล คือ ช่วงสงกรานต์ ที่คนเตรียมตัวกลับบ้าน รัฐบาลประกาศเชิงขอร้องไม่ให้คนกลับบ้าน (ไม่ได้บังคับ) ประชาชนก็ทยอยซื้อตั๋วเดินทางกลับบ้านกันหมด อยู่ ๆ กทม. ก็ประกาศล็อกดาวน์สถานที่ ปิดห้างสรรพสินค้า โดยประกาศผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก สร้างความสับสนให้กับประชาชน ว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร จึงจะปลอดภัยและลดความเสี่ยงได้ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็จะมีความขัดแย้งเป็นระยะ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

ส่วนเรื่องสำคัญที่ประชาชนควรจะรับรู้อย่างเท่าเทียม รัฐก็ไม่ทำ แต่ใช้วิธีการเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์แทน ทำให้ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงประชาชนไม่เท่ากัน กระทั่งสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องการเทวัคซีน ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตศรัทธาขนาดหนัก เพราะหลายโรงพยาบาล ทยอยประกาศเลื่อนฉีดวัคซีนประชาชน และยังเป็นการประกาศล่วงหน้าเพียง  1 วันเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงหากข้อมูลเหล่านี้มีการประสานกันก่อน ก็จะช่วยลดความโกลาหลของข้อมูลได้

สุภิญญา ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมารัฐไม่เคยสรุปบทเรียนของปัญหา และมักโทษสื่อว่าปล่อยเฟกนิวส์ ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ทั้งที่ความเป็นจริง มีหลายครั้งที่เป็นความผิดของหน่วยงานรัฐเอง แต่น้อยครั้งจะได้รับฟังคำขอโทษ

จนครั้งล่าสุดที่ทุกคนต้องออกมาขอโทษอย่างพร้อมเพรียงกัน เพราะมันเป็นความผิดจริง ๆ ทั้งที่ปรากฏการณ์ลักษณะนี้สะสมมาอย่างต่อเนื่องและไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่ทำไมยังไม่สรุปบทเรียน ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องถอดบทเรียน

“จะเป็นแบบนี้อีกนานเท่าไร แล้วประชาชนจะเชื่อมั่นได้อย่างไร น่าจะต้องเป็นโจทย์วาระแห่งชาติ และแก้ไขปัญหาโดยด่วน”

แนะรัฐทำ Open Data และใช้ Air time สื่อสารในภาวะวิกฤต

กสทช. เปิดช่องให้รัฐสามารถใช้การประกาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยและใช้ตัววิ่ง (แถบอักษรข่าววิ่งบริเวณด้านล่างของจอโทรทัศน์) เพื่อสื่อสารประชาชนได้หากมีวิกฤตร้ายแรง ซึ่งกรณีของโรคระบาด เทียบเท่ากับโรคฉุกเฉินร้ายแรกที่รัฐสามารถประกาศได้ โดยเฉพาะเรื่องที่ประชาชนจำเป็นต้องรับรู้ และต้องการคำอธิบายที่ชัดเจนจากรัฐ 

สุภิญญา บอกว่า แม้ที่ผ่านมารัฐจะใช้ air time เป็นระยะ แต่มักจะมีเสียงวิจารณ์ จากสังคมว่า สิ่งที่รัฐพูดไม่ใช่สิ่งที่อยากรู้ เพราะส่วนใหญ่เรื่องที่รัฐใช้ประกาศผ่านรวมการเฉพาะกิจ จะเป็นเรื่องของการแสดงความคิดเห็น เป็นเรื่องของการขอกำลังใจ มากกว่าสิ่งที่ประชาชนต้องการจะรู้จริง ๆ ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น รัฐทำอย่างไร และประชาชนต้องทำอย่างไร 1 2 3 4

เธอย้ำว่าต้องการให้รัฐใช้พื้นที่ตรงนี้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้การประกาศรายวันของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นที่ทำงานเรื่องโควิด-19 อยู่แล้ว เช่น กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดปัญหาข้อมูลที่ขัดแย้งกันเองอีกด้วย

“ถ้าทุกคนแย่งกันสื่อสาร ประชาชนก็ไม่รู้จะฟังใคร สับสนจริง ๆ ภาวะภัยพิบัติแบบฉุกเฉิน รัฐใช้แอร์ไทม์ได้ แต่ต้องมีประสิทธิภาพ ตรงประเด็น ไม่ใช้เพื่อการหาเสียงหรือประชาสัมพันธ์ แต่ควรให้เชิงข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นถึงหูประชาชนโดยพร้อมเพรียงกัน เพราะหลายเรื่องที่ประกาศผ่านเพจ บางทีประชาชนรับสารไม่พร้อมกัน มันก็เลยทำให้เกิดความสับสน…”

สอดคล้องกับ องค์กรสื่อ เธอสะท้อนว่า ที่ผ่านมา รัฐเองก็ขาดการประสานงานกับสื่อเช่นกัน ทำให้ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านหลางช่องท่าง เช่น ศบค. สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กรมควบคุมโรค ฯลฯ สุภิญญา จึงมีข้อเสนอ ควรจัดการประชุมแบบบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านทางออนไลน์ เช่น โปรแกรม Zoom เพื่อตอบคำถามสื่อโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อให้การสื่อสารในภาวะวิกฤตเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะถ้าต่างคนต่างแถลง ต่างรายงาน ก็จะทำให้เกิดความไร้ระเบียบของข้อมูล หรือ Information disorder และที่สำคัญ คือ ความจริงใจของรัฐบาลที่ต้องบอกความจริง และตรงประเด็น เพื่อเป็นข้อมูลที่รอบด้านให้ประชาชนตัดสินใจ

ดังนั้น หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหา คือ แก้ที่คนกุมข้อมูล นั่นก็คือ รัฐ แม้สังคมและโครงสร้างทางการเมืองไทยจะไม่ชินกับวัฒนธรรมการเปิดเผยข้อมูล และปัญหาคลาสิกในประเทศที่มีธรรมาภิบาลอ่อนแอ แต่หากไม่แก้ ไม่เพียงรัฐจะแก้ปัญหาผิดทิศผิดทางเท่านั้น แต่ปัญหาอาจลุกลาม และกลายเป็นต้นตอของการเกิดเฟกนิวส์ที่สร้างความโกลาหลของข้อมูล

“หากก้าวข้ามผ่านเรื่องนี้ไม่ได้ รัฐไทยก็ยังคงเป็นรัฐบาลแอนะล็อก ที่ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ โลกยุคดิจิทัลที่ประชาชนกรโลกส่วนใหญ่ อยู่ในโลกออนไลน์”

ข้อเสนอรัฐไทย กับความหวังการเป็น  Gov Tech

สุภิญญา เล่าว่า ตอนนี้เมื่อประชาชนจะหาข้อมูลเรื่องฉีดวัคซีน มักจะค้นหาเจอข่าวหลายสำนัก แต่ไม่ได้เจอแหล่งข้อมูลส่วนกลางของรัฐที่น่าเชื่อถือ เธอจึงมีข้อเสนอแนะถึงรัฐ ในสองประเด็นใหญ่

1 รัฐควรรีบใส่ข้อมูลในระบบ จัดทำ Open Data ประสาน กับ Search Engines (โปรแกรมค้นหาเว็บ) เช่น Facebook Google ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล และข้อความเหล่านี้ เช่น ขอความร่วมมือ Google ให้การเสิร์ชหาข้อมูลหรือคีย์สำคัญของสถานการณ์การระบาด ขึ้นเว็บไซต์ที่เป็นทางการของรัฐไทยให้อยู่ในอันดับแรก

2 เสนอประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ให้เป็นหน่วยงานหลัก บูรณาการข้อมูลของทุกหน่วยงาน และทำงานแบบเรียลไทม์ ตอบทุกข้อสงสัยของประชาชน โดยยกตัวอย่างการทำงานอย่างเป็นระบบแบบในสหรัฐอเมริกา ซึ่งประชาชนในประเทศจะมุ่งหาข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (US CDC) ที่นี่จะมี FAQ (คำถามที่พบบ่อย) ที่คอยตอบคำถามให้กับประชาชน ซึ่งต่างกับไทยที่ข้อมูลยังคงกระจัดกระจายอยู่ตามเพจต่าง ๆ หรือให้องค์กรที่มีศักยภาพช่วยบูรณาการข้อมูลอย่างมีส่วนร่วม

สุภิญญา ทิ้งท้ายว่า ปัญหาสารพัดการลงทะเบียน ไทยชนะ หมอชนะ และอีกหลายแอปพลิเคชันของภาครัฐ เพราะไม่มี One stop service เข้าใจว่าราชการไทยทำงานแบบแยกส่วน ทำงานแบบประสานกันไม่ได้ ขัดขวางการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ คำถามคือ จะทำอย่างไรที่จะข้ามผ่านตรงนี้ไปได้ ภาครัฐอาจจะต้องเปิดใจกว้าง แม้จะมีความหวังน้อยเพราะเจอปัญหาซ้ำซาก แต่เชื่อมั่นว่าในหน่วยงานภาครัฐยังมีคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะช่วยกัน 

เพราะการใช้ข้อมูล ต้องทำหน้าที่เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส คนรุ่นใหม่ต้องออกมาช่วยกันวางแผน…


อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Thailand Plus เช็กความพร้อม เปิดประเทศ | สุนิตย์ เชรษฐา

Big Data หน้าตาคนจน | แมน ปุโรทกานนท์

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์