เช็กชื่อ ‘ศิลปิน’ นับถอยหลังสู่งาน “เสียงชาติพันธุ์ ลือลั่นทั่วสยาม”
สำหรับงาน “เสียงชาติพันธุ์ ลือลั่นทั่วสยาม” ที่กำลังจะมาถึงนี้เป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของศิลปินชาติพันธุ์จากทั่วประเทศไทยมาจับคู่ร่วมกับศิลปินรุ่นใหม่ แล้วเล่นให้ฟังกันแบบสด ๆ กลางลานสยามสแควร์ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินชาติพันธุ์อย่าง อาจารย์ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ วงดนตรีพื้นบ้านลีซู Yoov Muas (โหย่งหมัว) วงดาราอั้ง และ คณะพรสวรรค์ ภูเก็ต รำร็องเง็ง
จับคู่กับศิลปินรุ่นใหม่อย่าง NIMMAN Street Orchestra และ Sir Popa กับ Jayrun 2 แร๊พเปอร์แห่งยุค TUSO วงดุริยางค์ซิมโฟนีธรรมศาสตร์ Proud วง cover ขวัญใจคนรุ่นใหม่ และ Queen on Steet ราชินีท้องถนนภูเก็ต ศิลปินรุ่นใหม่สายสตรีท
The Active ขอชวนไปทำความรู้จักกับเหล่าศิลปินชาติพันธุ์และที่มาของการจัดงานนี้
“เวลาเราพูดถึงดนตรีชาติพันธุ์ คนอาจติดภาพจำว่า ดนตรีของชนเผ่าคือเพลงแบบจารีต ต้องเป็นดนตรีพื้นบ้านดูเชย เก่า ล้าหลัง แต่จริง ๆ แล้วภาษาดนตรีมันคือภาษาสากล ดนตรีแบบพื้นบ้านก็นำมาประยุกต์เล่นกับดนตรีสมัยใหม่ได้แม้กระทั่งกับวงออเคสตรา”
อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เล่าให้เราฟังถึงที่มาของการจัดงานเราอยากให้เห็นว่าการนำดนตรีที่แตกต่างกันมาเล่นด้วยกัน มันเกิดเป็นบทเพลงเพราะ ๆ ได้ เหมือนกับที่บทเพลงหนี่งจะเกิดขึ้นได้ มันต้องมาจากเครื่องดนตรีหลายตัว ไม่ต่างจากในสังคมที่มีคนแตกต่างหลากหลาย แต่ถ้าหากเข้าใจกันก็ไม่เป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกัน และนี่เป็นความงดงามและต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
“หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ฉบับแรกผ่านสภาฯ เราเลยอยากสื่อสารให้สังคมรับรู้ว่าตอนนี้บ้านเรามีกฎหมายชาติพันธุ์แล้ว เราอยากสื่อสารออกไปว่ากลุ่มชาติพันธุ์เขามีปัญหาเหมือนภาพจำของคนทั่วไป แต่เขามีศักยภาพและมีชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป แต่ไม่ได้อยากให้ดูเชย น่าเบื่อ การใช้เสียงดนตรี จึงเป็นสิ่งที่น่าจะเชื่อมกับคนรุ่นใหม่ได้”
- อ่าน สภาฯ ไฟเขียว ‘ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์’ เดินหน้าคุ้มครองสิทธิ-เสมอภาค
- อ่าน นโยบายการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ : Policy Watch
สำหรับทั้งศิลปินชาติพันธุ์และศิลปินรุ่นใหม่จะใช้วิธีการจับคู่กันเอง โดยเริ่มจากการให้แต่ละวงฟังเพลงวงอื่น เมื่อเลือกได้แล้วว่าสนใจหรืออยากเล่นร่วมกับวงไหนก็จะมาซ้อมด้วยกัน จนเกิดเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้นึกคิดกันผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ภาษาดนตรี”
อาจารย์ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ – ศิลปินปกาเกอะญอ ผู้พาเสียงเตหน่ากู ดังไกลทั่วโลก
ศิลปินพื้นบ้านปกาเกอะญอ ที่เคยพา ‘เตหน่ากู’ เครื่องดนตรีพื้นบ้านที่เคยได้ออกบรรเลงขับขานให้ผู้คนได้รู้จักมาแล้วทั่วโลกกับเรื่องเล่าวิถีคนกับป่า อาจารย์ชิเป็นนักดนตรีผู้ใช้ภาษาแม่ได้ยอดเยี่ยมและเป็นผู้ขับเคลื่อนสังคม ไม่ว่าจะเป็น ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์ หรือโปรเจกต์ข้าวแลกปลา ที่เชื่อมระหว่างชาวเลราไวย์กับชาวปกาเกอะญอในการแลกเปลี่ยนผลผลิตข้าวกับปลาเพื่อแก้วิกฤตอาหารในช่วงการระบาดของโควิด-19
ปัจจุบัน อาจารย์ชิ เป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย สาขาการจัดการภูมิวัฒนธรรม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นักเขียน คอลัมนิสต์ ที่เดินทางบรรยายและถ่ายทอดวิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอในหลากหลายมิติมาแล้วทั่วประเทศ
วงดนตรีพื้นบ้านลีซู
บทเพลงจะมีความโดดเด่นเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของหนุ่มสาวชาวลีซู ผสานกับอัตลักษณ์การแต่งการและเครื่องดนตรีอย่าง “ซือบือ” ที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าลีซู ผ่านการถ่ายทอดของ พ่อครู “อะหมี่มะ” และแม่ครู “อาหลู” สองผู้เฒ่าปราชญ์ดนตรีลีซูพื้นบ้านวัย 60 ปี ที่จะเดินทางมาพร้อมกับผู้สืบทอดรุ่นใหม่
Yoov Muas (โหย่งหมัว)
ศิลปินป๊อปชาวม้ง รุ่นใหม่ ที่กำลังมาแรงที่สุด ด้วยเพลง LUB NEEJ PLUAG มียอดเข้าชมกว่า 1.4 ล้านครั้ง โหย่งหมัว มักถ่ายทอดเรื่องราวของความรักและความเจ็บปวดของคนหนุ่มสาวผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน และด้วยลีลาการร้องเพลงที่บาดลึกพร้อม และเมื่อขึ้นเวทีครั้งใด เขามักปรากฏตัวพร้อมชุดชนเผ่าม้ง โดยเฉพาะในเชียงใหม่จนทำให้กลายเป็นขวัญใจของคนหนุ่มสาวตอนนี้
วงดาราอั้ง
วงดาราอัง โดดเด่นด้วยบทเพลงที่ถ่ายทอดเรื่องราวการอพยพ การกดขี่ ขับไล่ออกจากพื้นที่ของบรรพบุรุษ ผ่านเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่าง “ติ่ง” มีลักษณะคล้ายซึ้งของภาคเหนือ ผสมผสานกับพิณของภาคอีสาน
คณะพรรสวรรค์ ภูเก็ต รำร็องเง็ง
กลุ่มเด็กรุ่นใหม่ 12 คน ที่สืบบทอดขนบดนตรีแบบชาว “อูรักลาโว้ย” จนกลายเป็นตำนานของเมืองภูเก็ต เล่าเรื่องราวของวิถีชาวเลผ่านภาษาไทยและยาวี ร่ายรำด้วยจังหวะร๊องแง็งของภาคใต้ ขอกระซิบบอกว่าวงนี้จะอยู่เป็นวงสุดท้ายให้และให้ผู้เขาชมได้ปล่อยจอย ร่ายรำไปกับคณะพรสวรรค์จนบจบงานด้วย
“เราให้ความหมายของชื่องาน ‘เสียงชาติพันธุ์ ลือลั่นทั่วสยาม’ ว่าเป็น ‘เสียง’ สะท้อนออกมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ ให้ผู้คนรับรู้การมีตัวตนอยู่ของพวกเขาในสังคม ส่วน ‘ลือลั่นทั่วสยาม’ เราไม่ได้เหมือนถึงแค่สยามสแควร์ที่จัดงานเท่านั้น แต่หมายถึงสยามประเทศ เราอยากส่งให้เสียงของพวกเขาให้ได้ยินไปถึงทุกคน”
อภินันท์ ทิ้งท้าย
มาร้องเล่นเต้นรำ และปล่อยให้ “เสียงของชาติพันธุ์ ลือลั่นไปทั่วสยาม” ไปด้วยกัน ที่กลางสยามสแควร์ (ลาน Block i) วันที่ 16-17 มีนาคม 2567 ตั้งแต่ 4 โมงเย็นเป็นต้นไป หรือติดตามบรรยากาศงานได้ทางเพจ The Active และ Thai PBS