เสริมพัฒนาการให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ด้วย ‘พลศึกษา’

เลิกปิดกั้น สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน

เคยได้ยินไหมว่า… สิ่งมีชีวิตต้องการการเคลื่อนไหว กระตุ้นการทำงานอย่างสัมพันธ์กันของระบบข้อต่อ กล้ามเนื้อ และระบบ ประสาทในร่างกาย ทั้งนี้เพื่อที่จะได้เรียนรู้วิธีการเคลื่อนไหว จำเป็นที่จะต้องเข้าใจร่างกาย หรือได้รับคำแนะนำ เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือไม่เกิดอันตรายกับร่างกาย

ประเทศไทยมีการสอนวิชา ‘พลศึกษา’ ที่หวังให้ผู้เรียนใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย การเล่นเกมและกีฬา เป็นเครื่องมือในการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา แต่เครื่องมือนี้กลับไม่ถูกนำไปใช้กับผู้ที่เป็นนักเรียนทุกคน

ทำไมถึงกล่าวเช่นนี้ ก็เพราะว่ามีหลายโรงเรียนที่ยังคงปิดกั้น เด็กที่มีความต้องการพิเศษโดยเฉพาะด้านปัญญา ด้วยลักษณะการเรียนรู้ที่ช้า ทำให้การเคลื่อนตัวช้าตามไปด้วย บ่อยครั้งจึงทำให้เด็กกลุ่มนี้ ถูกปิดกั้นการเรียนโดย ครู ที่ไม่เข้าใจการทำงานของวิชาพลศึกษาจริง ๆ แล้วแยกเด็กออกไป

ทั้งที่จริง ๆ แล้ว หากเข้าใจและสอนเขาอย่างถูกวิธี นอกจากจะทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านร่างกายแล้ว ยังช่วยให้พวกเขาเกิดการพัฒนาทางด้านสติปัญญาอีกด้วย

  

 ยังจำบรรยากาศการเรียนชั่วโมงพละในโรงเรียนได้ไหม

พอถึงชั่วโมงพละปุ๊บจะต้องวอ์มร่างกายด้วยการวิ่งให้เหนื่อย ก่อนจะเล่นกีฬาในชั่วโมงนั้น ๆ โดยไม่มีคำอธิบายให้เข้าใจว่าการวอร์มนั้นเป็นไปเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อม ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ภาพจำของเหล่านักเรียนเท่านั้น แต่ผู้ปกครองหลายคนก็มีภาพจำต่อวิชาพละศึกษาแบบนั้นเช่นกัน  

แต่อาจจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกับ ศาสตร์ตราจารย์เจริญ  กระบวนรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่อธิบายไว้ว่า  พลศึกษา คือการใช้กล้ามเนื้อในการพัฒนาโครงสร้างระบบร่างกายและสติปัญญา ซึ่งโดยปกติเด็กได้ทำกิจกรรมทางกายและได้เคลื่อนไหว พลศึกษาจึงเป็นศาสตร์ที่ให้ความรู้และออกแบบกิจกรรมที่ไม่ใช่เพียงแค่ว่าปล่อยให้เด็กเล่น เพราะฉะนั้นครูพลศึกษาที่มีความรู้ความเข้าใจก็จะมีลำดับวิธีการสอนการให้ความรู้และความรู้ที่เด็กได้ไปก็จะถูกนำไปใช้ ติดตัวตลอดไปเพื่อที่จะนำไปใช้ในการเคลื่อนไหว 

ครูพลศึกษาลดลง ระบบการศึกษาไม่ให้ความสำคัญมากนัก

แต่ปัญหา ณ ตอนนี้คือ ประเทศไทยมีครูสอนพละที่จบตรงสายลดลงจากเดิม ด้วยระบบการจัดสรรหาครู หรืออาจเป็นเพราะว่า ระบบการศึกษาไม่ได้ให้ความสำคัญกับศาสตร์นี้มากเท่ากับ ศาสตร์ของวิชาวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์หรือเปล่า หลายโรงเรียนเลือกที่จะใช้ครูสอนรวบบางคนสอน 3-5 วิชา ซึ่งวิชาที่ครูมักถูกมัดรวมคือ ศิลปะและพลศึกษา ศิลปะสอนวาดรูป พลศึกษาให้เล่นกีฬา ขณะที่หลัง ๆ อัตราการรับครูสายนี้ก็ลดลงด้วย 

นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ศาสตราจารย์เจริญ มองว่า นี่คือปัญหาใหญ่ของการศึกษาไทย รวมไปถึงการจัดหลักสูตร ซึ่งทุกวันนี้ ข้ามขั้นตอนไปหมด “กีฬา” ทุกชนิดต้องใช้ “การเคลื่อนไหว” แต่เด็กไม่เคยเรียนรู้ “การเคลื่อนไหว” ไม่เคยผ่านการฝึก โดยเข้าใจว่า เดินได้ วิ่งได้ กระโดดได้ แล้วทำไมมีเด็กที่วิ่งช้ากว่าคนอื่น ทำไมเราสู้คนที่ฝึกการวิ่งไม่ได้

วิชาพลศึกษา พื้นฐานเพื่อการต่อยอดพัฒนา

บ้านอาคารที่ไม่มีเสาเข็มหรือตอม่อเป็นที่รองรับถ้าเราจะต่ออาคารมันก็ทรุด เพราะฉะนั้นพื้นฐานการเคลื่อนไหวเป็นเหมือนเสาเข็มที่รองรับการต่อยอดเพื่อพัฒนาให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อรองรับความสามารถ เพราะฉะนั้นวิชาพละศึกษาเป็นวิชาของการใช้ชีวิตที่เราจะใช้ในการเดินการวิ่งและการเคลื่อนไหวต่าง ๆ

“ถ้าเรามีความสามารถในการเคลื่อนไหว และเคลื่อนที่ได้ดี จะทำให้เราสามารถทำงานได้ดี พลศึกษาจึงเป็น หัวใจสำคัญของบุคลากรที่จะพัฒนาตัวเองและต่อยอดตัวเองไปในการทำอาชีพต่าง ๆ ถ้าจะบอกว่าถ้าเรามีสุขภาพที่ดี ก็จะทำงานได้ดี ก็ไม่ผิด”

ศ.เจริญ ให้ความเห็นว่า คนที่ไม่เข้าใจหลักการทำงานศาสตร์พละ ก็จะมองพลศึกษาว่า คือ การให้เด็กมาเล่นกัน ซึ่งจริง ๆ พลศึกษาไม่ได้ให้เด็กมาเล่นกัน แต่ต้องคิดไปถึงผล ว่าเขาได้เอาทักษะที่เขาได้เรียนรู้ เช่น การวิ่ง การกระโดด มาใช้ในกิจกรรมที่เขาเล่นได้ไหม ทีนี้หากครูที่ไม่ได้เรียนพลศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความเข้าใจว่าพลศึกษาคือการเล่น ก็จะปล่อยให้เด็กเล่น 

แต่การเล่นของเด็กเรากำลังวัดและประเมินผลว่าเขาเอาทักษะที่เรียนรู้ในแต่ละขั้นตอนมาใช้ ได้หรือไม่ เช่น การกระโดด หยิบจับ การใช้เท้าในการเตะ รับส่งต่าง ๆ ได้เอามาใช้ในกีฬาที่จำเป็นต้องใช้ทักษะเหล่านี้หรือไม่ ใช้ได้ดีแค่ไหนและถูกต้องหรือไม่ ตัวของเด็กจะเรียนรู้เองเพราะเขาเข้าใจ ผู้ปกครองที่ไม่รู้และไม่ได้ศึกษาทำความเข้าใจจะมองไม่ออกและเข้าใจว่าพลศึกษาคือการให้เด็กเล่นอีกแล้ว แต่ที่จริงไม่ใช่

“การเรียนรู้และเอาสิ่งที่เรียนรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์นั่นคือการวัดประเมินผลทางด้านพลศึกษา เด็กจะเข้าใจว่าหากเขาทำไม่ได้เพราะอะไร และถ้าเขาจะทำให้ได้ต้องทำอย่างไร นี่คือกระบวนการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ว่าสิ่งที่เขาเรียนรู้จะเอามาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันยังไง”

กระตุ้นการเคลื่อนไหวให้เด็กที่มีพัฒนาการช้า

ถ้าเราศึกษาพลศึกษาจริง ๆ จะรู้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของสมองโดยตรง เด็กจะต้องถูกกระตุ้นในทุกวัน วัยนี้จะต้องเดิน วัยนี้จะต้องเคลื่อนไหวแบบไหน เด็กพวกนี้ก็จะได้รับการเสริมสร้าง ให้ถูกต้องเค้าก็อาจจะได้รับการพัฒนาที่เร็วกว่าความสามารถในการใช้ร่างกายก็จะสูงกว่าคนอื่น และสามารถใช้ร่างกายและความสามารถที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและสังคมได้มากขึ้น

“พลศึกษาเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาและยกระดับความสามารถของบุคคลและสามารถสร้างโครงสร้างร่างกายให้ดูสง่างามและได้สัดส่วนเหมาะสมและสามารถใช้ในการเคลื่อนไหวและปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์นี่คือบทบาทของศาสตร์ พลศึกษา”

เด็กบางคนมอเตอร์ดีเลย์จะมีพัฒนาการที่ช้าในการเคลื่อนไหวและการรับรู้สั่งงานช้า ถ้าเราไม่กระตุ้นเขาด้วยกิจกรรมการเคลื่อนไหวหรือไม่มีการออกแบบกิจกรรมให้เขาได้ทำและศึกษา สมองก็จะช้าไปเรื่อย ๆ การพัฒนาในแต่ละวันก็จะเริ่มช้าและจะทิ้งห่างไปเรื่อย ๆ จนไม่ทันกับคนในวัยเดียวกัน

ครูพลศึกษาจะต้องเข้าใจเงื่อนไขของแต่ละกิจกรรม

กิจกรรมพลศึกษาจึงเข้ามาเป็นตัวช่วยเสริมกระตุ้นในสิ่งที่ช้าอยู่ให้เขาปรับตัวให้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้นการออกแบบกิจกรรมหรือใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหวทางพลศึกษา ครูที่เข้ามาทำและนำกิจกรรมเหล่านี้จะต้องมีความรู้ความเข้าใจว่าแต่ละกิจกรรมไม่ใช่เพียงแค่การให้เด็กเล่นกันแต่ต้องรู้เงื่อนไขว่าทำเพื่ออะไร

ดังนั้นตัวเงื่อนไขของกิจกรรมคือสิ่งที่สำคัญ ลำดับขั้นตอน วิธีการปฏิบัติ ทักษะที่จะนำมาใช้มันเกี่ยวพันกับการทำงานของสมองทั้งนั้น ที่จะมีการถ่ายโอนข้อมูล และนำไปสู่การเชื่อมโยงประสาทของข้อมูลที่จะรู้และต่อยอดให้เด็กเกิดการพัฒนา

ในเด็กที่เรียนรู้ช้าถ้าเกิดมีการส่งเสริมกิจกรรมเหล่านี้เข้ามา กระแสประสาทจะสร้างเส้นทางเดินให้กระแสประสาทและเชื่อมโยงกันให้มีการต่อยอดได้เร็วขึ้น การเรียนรู้ของเด็กก็จะเริ่มพัฒนาการที่เร็วแทนที่จะปล่อยไปให้เป็นไปตามธรรมชาติ

เพราะฉะนั้นตัวพลศึกษาที่จะเข้ามาช่วยเหลือเด็กพิเศษหรือเด็กที่เรียนรู้ช้าจะช่วยให้สมองได้รับการทำงาน มีกิจกรรมให้เชื่อมโยงกันพัฒนาสมองและต่อยอดไปยังเซลล์ประสาทให้สามารถสร้างเส้นทางประสาทที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าหากเส้นประสาทเหล่านี้ไม่ได้ถูกใช้งานสุดท้ายก็จะถูกตัดทิ้งด้วยตัวของมันเอง นั่นคือการเสื่อมสภาพไปโดยอัตโนมัตินี่จึงเป็นปัญหาที่เกิดกับสิ่งที่คนไม่เข้าใจพลศึกษาแล้วมองพลศึกษาไม่กระจ่าง 

ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ช่วยพัฒนาอารมณ์และสติปัญญา

ด้าน นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา เผยว่า กรมพลศึกษากำลังพยายามผลักดันการส่งเสริมให้มี “การเรียนร่วม” กับเด็กที่มีความบกพร่อง เด็กที่มีความพิการ(เด็กมีความต้องการพิเศษ) ซึ่งปกติครูที่ไม่ได้จบพลศึกษามาโดยตรงไปสอน ก็จะสอนแต่กีฬา บางครั้งไม่ได้มีความเข้าใจจริง ๆ บางครั้งเจอเด็กที่พิการ และบกพร่องโดยเฉพาะทางปัญญา เด็กกลุ่มนี้ก็จะถูกจัดแยกให้นั่งดูเฉย ๆ ซึ่งนั่นเหมือนการปิดโอกาส ปิดกั้นทำให้เด็กที่สมควรได้รับการพัฒนา โดยเฉพาะทางร่างกายที่มากขึ้นเป็นพิเศษถูกปิดกั้นดังนั้นยิ่งเป็นการผลักเขาออกไปเรื่อย ๆ

เมื่อเขาไม่ได้รับโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาตรงนี้จะทำให้พัฒนาการเจริญเติบโตทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และที่สำคัญส่งผลด้านสติปัญญาลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ นั่นคือสิ่งที่สำคัญ 

ณ ตอนนี้ถึงเวลา และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรกีฬาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ  โดยที่เราจะเริ่มจากกลุ่มบกพร่องทางด้านสติปัญญาเป็นตัวแรกอันนี้คือสิ่งที่ เราได้ดำเนินการ 

“ในอดีตเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านสติปัญญาจะถูกให้นั่งดูเฉย ๆ แต่ไม่ได้มามีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน แต่พอเค้ามีกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อนมากขึ้นเพื่อนก็จะมีความเข้าใจมากขึ้น เราจะได้เห็นเด็กมีปฏิสัมพันธ์กันและจะได้เห็นสังคม และสังคมก็จะนำมาสู่อารมณ์สติปัญญาก็จะค่อย ๆ พัฒนา นั่นคือ สิ่งที่เราดำเนินการ”

พลศึกษา เครื่องมือให้ครูไม่เลือกปฏิบัติ สร้างการเรียนรู้และพัฒนาการที่เท่าเทียม

อธิบดีกรมพลศึกษา เล่าต่อว่า ณ ปัจจุบัน มีหลักสูตรที่เหมาะสำหรับให้คุณครูหรือผู้ฝึกสอนแล้ว และกำลังจะทำหลักสูตรสำหรับผู้ปกครอง ซึ่งได้มีการทดสอบระบบโครงการนำร่องที่จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากนั้นก็จะเอามาทบทวนว่ามีจุดบกพร่องตรงไหนและจะทำข้อมูลดังกล่าวเพื่อไปเจรจา ผลักดันกับกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. กรมการศึกษาพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทางโรงเรียนเทศบาล สังกัด อปท. หรือ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนในระดับประถมศึกษา

การเริ่มในโรงเรียนระดับประถมศึกษาเพราะโรงเรียนประเภทนี้ จะรับเด็กทั้งหมดและไม่สามารถที่จะคัดกรองได้แต่หากเป็นมัธยมก็จะสามารถคัดกรองได้ว่าโรงเรียนไหนที่จะรับเด็กเรียนร่วมอาจจะต้องเฉพาะ เช่นโรงเรียนนี้รับเฉพาะคนพิการทางหู โรงเรียนนี้พิการตา แต่โรงเรียนประถมคัดกรองไม่ได้เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่สำคัญที่จะเร่งดำเนินการ

นิวัตน์ ระบุว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำอย่างไรที่เราจะเปลี่ยนทัศนคติเปลี่ยนความคิดของคนในสังคมโดยเฉพาะผู้ปกครองผู้บริหารคุณครูในโรงเรียนและเด็ก ๆ ในชั้นเรียน ก่อนจะเล่าปิดท้ายว่า

“เด็กพิการ เด็กที่มีความบกพร่องด้านสติปัญญา ไม่ใช่เด็กที่มีปัญหา แต่คนเหล่านี้ต้องการโอกาสในการที่จะเข้าร่วมกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางกาย ทางสังคม หรือกิจกรรมทางการเรียน เพราะฉะนั้นโอกาสจากเพื่อนที่ให้เขาได้เข้าร่วมตรงนั้นคือสิ่งที่สำคัญ”

ว่ากันง่าย ๆ คือเปรียบ พลศึกษา คือสิ่งที่เป็นเครื่องมือให้ครูไม่เลือกปฏิบัติกับเด็ก เพื่อสร้างการเรียนรู้และพัฒนาการที่เท่าเทียมในโรงเรียนของเด็กปกติและเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้านสติปัญญา 

แต่อย่างที่ว่า ปัจจุบันกลับพบว่าปัญหาที่เจอคือครูในโรงเรียนประถมส่วนใหญ่มักไม่มีครูพละศึกษา และตัวของสังคมเองก็ยังเข้าใจว่ากีฬาคือพละศึกษา แต่จริง ๆ กีฬาคือส่วนหนึ่งของพละศึกษา  เด็กก่อนปฐมวัย หรือเด็กที่กำลังจะเริ่มเรียน คือกลุ่มที่ต้องได้รับกิจกรรม สมัยก่อนมีวิชายืดหยุ่น วิชาเรียนแบบการต่อตัว ตอนนี้ไม่มีเลย  ซึ่งการหายไปของทักษะบางอย่างในวิชาพลศึกษา อาจทำให้พัฒนาการของเด็กเสียหายไปด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ