หากพระองค์ทรงประสงค์ : Inshallah
- การแสดงเดี่ยวเรื่อง ‘ฮิญาบ’ เป็นการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ ‘ฟารีดา จิราพันธุ์’ นับตั้งแต่วันที่เธอได้เป็นนักแสดง จนกระทั่งถึงวันที่เธอตัดสินใจคลุม ‘ฮิญาบ’ ตามความศรัทธาทางศาสนา สำหรับผู้หญิงคนหนึ่งนี่คือการเปลี่ยนหน้ากระดานชีวิตครั้งใหญ่ ต่อให้เป็นประสงค์จากพระเจ้า ก่อนหน้านี้เป็น ‘นักแสดง’ สวมบทบาทได้ทุกตัวละคร ทว่า เมื่อสวม ‘ฮิญาบ’ แล้ว กลับไม่สามารถเป็นตัวละครใดได้เลยจริงหรือ
- เหนืออื่นใด ‘ฟารีดา’ เธออยากชวนทุกคนมองทะลุ ‘ฮิญาบ’ ให้เห็นความเป็นมนุษย์ที่เหมือนกันทุกคน และชวนสังคมไทยตั้งคำถามว่า “เรามักเห็นผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่และช่วงเวลาใด อย่างไร คุณเห็นผู้หญิงมุสลิมจริงหรือไม่ กล่าวให้ถึงที่สุด ผู้หญิงมุสลิมมีตัวตนอยู่จริงหรือ?”
- เมื่อ ‘ฟารีดา’ มีผ้าคลุมเป็นผมทรงใหม่ รศ.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนตั้งคำถามถึงสารัตถะของการแสดงมีคุณค่าความหมายอย่างไร รวมทั้งการใช้ชีวิตกับผมหรือกับหัว (ศรีษะ) นั้นก็มีวิธีคิดของสังคมกำกับอยู่ โดยที่เราอาจจะละเลยในการตั้งคำถามความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เข้ามาควบคุมเนื้อตัวร่างกายของเรานั่นเอง
การแสดงเดี่ยวของ ‘ฟารีดา จิราพันธุ์’ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ณ โรงละคร GalileOasis หลังจากเคยสร้างความฮือฮาในเทศกาลละครกรุงเทพฯ เมื่อปีก่อนมาแล้ว ครั้งนี้, เธอปรากฏตัวในชุดเสื้อกางเกงดำทั้งตัว คลุมฮิญาบสีดำเข้าชุด ทว่า ผ้าคลุมนั้นปิดบังใบหน้าเหลือเพียงดวงตาให้เราได้สื่อสารระหว่างกัน กระนั้นยังสังเกตเห็นความมีชีวิตชีวาที่แสดงออกผ่านดวงตาดำขลับคู่นั้น หากละครคือการแสดงเรื่องราวชีวิตของคน ๆ หนึ่ง วันนี้, เธอกำลังแสดงเป็น ‘ฟารีดา’ หญิงสาวที่ตัดสินใจคลุมผ้าตามหลักศาสนาอิสลามทำให้เรื่องราวและตัวตนเปลี่ยนไปจากเดิม และต้องปะทะกับความไม่เข้าใจของคนนอกศาสนาหลายครั้งหลายครา นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า เมื่อเธอรู้ตัวตนของเธอแล้ว เธอจัดวางความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไรในกาลต่อมา
เกริ่นนำ : ผ้าคลุมกลายเป็นผ้าศักดิ์สิทธิ์และแบ่งแยกผู้คนตั้งแต่เมื่อใด
เรื่องราวเริ่มต้นจาก ‘ฟารีดา’ หยิบสารพัดผ้าคลุมหลากหลายสีที่แขวงเรียงรายอยู่บนราวแขวนผ้าด้านหลัง ดึงขึ้นมาเป็น “ตัวเอก” หรือ “ตัวเดินเรื่อง” ชวนผู้ชมร่วมให้ความหมาย
“ถ้านำผ้าพันคอ เราเรียกผ้าพันคอใช่ไหมคะ”
“ถ้านำผ้ามาม้วน ๆ และพันคอเราก็ยังเรียกว่าผ้าพันคอใช่ไหมคะ”
“ถ้านำผ้ามาเช็ดหน้าเราก็เรียกว่าผ้าเช็ดหน้า”
“ถ้านำผ้ามาใช้อรรถประโยชน์อื่นเราก็เรียกผ้าตามการใช้งานใช่ไหมคะ”
“นำผ้าไปเช็ดโต๊ะเราก็เรียกว่าผ้าเช็ดโต๊ะ พอสกปรกเราก็ไปทำความสะอาดหรือเขวี้ยงทิ้งไป”
แต่ถ้านำผ้า มาคลุมผม จากนั้น, ‘ฟารีดา’ แสดงตัวอย่างการคลุมผม 3 แบบที่นิยมในประเทศไทย ไม่ว่าจะวิธีคลุมผ้าโดยชายผ้าไม่เท่ากันและใช้ด้านที่ยาวกว่าพันทบอีกครั้งมีเข็มหมุดเล็ก ๆ กลัดให้อยู่ทรง หรือการคลุมผ้าลักษณะจับจีบปลายคางปล่อยชายผ้าทิ้งไว้ รวมทั้งการใช้ผ้าคลุมผมสำเร็จรูปก็ดี ทุกวิธีที่สาธิตมีลักษณะเหมือนกัน, คือปกปิดไม่ให้เส้นผมเผยออกจากผ้าคลุม ล้อมกรอบเหลือแต่ใบหน้า และถ้าใครนิยมคลุมผ้าแบบซาอุดีอาระเบีย ผ้าคลุมนั้นจะปิดบังใบหน้าเหลือเพียงนัยตา ที่เป็นผัสสะเชื่อมต่อระหว่างโลกของศรัทธากับความสามัญของโลกที่เป็นไป วิธีการคลุมผมเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติอิสลามเมื่อต้นทศวรรศ 1980 เป็นต้นมา ‘ฮิญาบ’ จึงกลายเป็นผ้าคลุมผมและตัวตนสตรีมุสลิมที่ต้องสวมใส่ทุกครั้งเมื่อต้องออกสู่โลกสาธารณะ แต่ใช่ว่าผู้หญิงมุสลิมทุกคนในโลกจะสวมฮิญาบกันหมด เพราะอะไร
นี่คือคำถามแรกของ ‘ฟารีดา’ “ผ้าคลุมผมธรรมดากลายเป็นผ้าศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร?”
เธอบอกว่า “ฮิญาบคลุมไม่ยาก, แต่การจะหยิบมาคลุม อาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิต”
คือจุดตั้งต้นของเรื่องราวและคำถามที่เกิดขึ้นสารพัน
‘ฮิญาบการเดินทางสำรวจตัวตนใหม่จากเธอคนเดิม’
“ฟาเป็นนักแสดงที่ชอบจัดการอุปกรณ์เองทั้งหมด ว่ามันเรียงตรงฉากไหม, มันเรียงตรงฉากแล้ว”
การจัดฉากการแสดงเสมือนเปิดฉากเข้าสู่โลกของเรื่องเล่า ฟารีดา จิราพันธุ์ เธอแสดงเป็น ‘ฟารีดา’ หญิงสาวมุสลิมที่มีความฝันเป็นนักแสดงตั้งแต่วัยเด็กและปัจจุบันก็ยังยึดอาชีพนักแสดงอยู่ เรื่องราวชีวิตการแสดงของเธอเริ่มจากชั้นอนุบาล เคยร้องเพลงเต้นจินตลีลา การได้เล่นมากกว่าการเรียนทำให้โลกของเธอสว่างไสว มีชีวิตชีวาจนกลายเป็นความฝัน ต่อมาเธอเข้าเรียนโรงเรียนคาทอลิกพระแม่มารี แถวสาทร
“ฟังไม่ผิดค่ะ ฟาเป็นมุสลิมแต่เรียนโรงเรียนคาทอลิก” เธอเป็นมุมลิมที่เติบโตท่ามกลางพหุวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร วัยเด็กนั้นเธออ้อนวอนขอครูให้ได้เล่นละครโรงเรียน จนจบมหาวิทยาลัย ความใฝ่ฝันนี้ยังเต็มเปี่ยม เธอไม่ได้ร่ำเรียนมาสายการแสดงโดยตรง แต่เรียนวิสามัญเหมือนเด็กส่วนใหญ่ของประเทศ ที่เด็กคนหนึ่งจะตามหาความฝันได้ยาก จนกระทั่งทราบว่า โรงละครของศูนย์ศิลปวัฒนธรรมสานแสงอรุณ เปิดรับสมัครนักแสดง เธอก็ไปสมัคร ทว่า การไม่ได้เรียนการแสดงหรือมีประสบการณ์มาก่อน เธอจึงเริ่นต้นเข้าวงการโดยทำทุกอย่างที่เป็นเบื้องหลังการแสดงทั้งหมด รวมทั้งชงกาแฟ ส่งแฟกซ์ ฯลฯ จนวันหนึ่งผู้กำกับให้ขึ้นอ่านบทกวีในวันรุ่งขึ้นแทนนักแสดงที่ติดภารกิจด่วน นั่นคือก้าวแรกอาชีพของเธอ
‘ฟารีดา’ ในชุดคลุมฮิญาบเดินอ่านบทกวี “ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง” ของอัศศิริ ธรรมโชติ ด้วยเสียงก้องกังวานแต่สั่นเครือ มีจังหวะจะโคลนสลับกับเสียงลมหายใจระรวย ทว่าจับจิตใจของผู้ชมเหลือเกิน เธอสื่อสารอารมณ์ผิดหวังของแม่ที่รอคอยลูกกลับบ้านหลังจากหนีเข้าป่าจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แต่ลูกก็ไม่กลับมา “บางคนบอกว่าเข้าขุนทองตายแล้ว แต่ไม่มีใครพบศพเขา” ทั้งโรงละครเงียบ มีแต่เสียงหัวใจของผู้ชมที่เต้นระส่ำไม่เป็นจังหวะ
จากบทกวีบทหนึ่ง เธอตัดเข้าสู่เรื่องเล่าหลักอย่างฉับพลัน “ฟาได้เป็นนักแสดงแล้วค่ะ” เธอให้รายละเอียดว่าการอ่านบทกวีนี้เล่นที่ไหนกี่รอบ ช่วงปีไหน แต่ความจุกใจของผู้ชมคือเรื่องราวที่ตามมา
มีคนถามว่า “เป็นมุสลิมเล่นละครไม่บาปหรือ” ‘ฟารีดา’ ไม่ตอบและไม่คิดหาคำตอบด้วย เธอให้เหตุผลว่า บางคำถามอย่าไปหาคำตอบเลย เพราะจะอยู่ยากขึ้น ในเมื่อที่บ้าน ครอบครัว พ่อแม่ไม่ว่า แถมสนับสนุนด้วย ส่วนอาเป็นกรรมการมัสยิด เธอเคยทำละครทั้งที่มัสยิด และที่ปอเนอะ โรงเรียนสอนศาสนา แต่เมื่อโลกการแสดงสัมพันธ์กับโลกของศาสนา นั่นเอง, เคยมีคนตั้งคำถามกับเธอ “ทำไมละครมุสลิมมีแต่ตัวละครที่เป็นเด็กและตัวละครที่เป็นผู้ชาย แล้วตัวละครที่เป็นมุสลิมหญิงอยู่ที่ไหน ฟาไม่ได้ตอบคำถามนี้ ในวันนั้น”
แต่คำถามนั้น อยู่ในหัวใจของฟารีดาจนถึงทุกวันนี้ และเธอกำลังใช้ชีวิตหาคำตอบนั้น “เราคงต้องใช้เวลาทั้งชีวิตในการหาคำตอบ หรืออาจไม่มีคำตอบในโลกนี้” เธอแสดงถึงการครุ่นคิดในใจ แต่เสียงดังให้ผู้ชมได้ยินด้วย
กลับมาที่โลกของ ‘ฟารีดา’, ทุกครั้งเธอจะเปลี่ยนผ้าคลุมสีสันใหม่ ๆ คลุมทับฮิญาบที่เธอสวมใส่เพื่อเป็นการเปลี่ยนบท (ละคร) ชีวิตในแต่ละช่วงสำคัญ เธอเล่าว่า ละครเวทีเรื่องแรก ‘คือผู้อภิวัฒน์ 2475’ เป็นเรื่องแรก เกี่ยวกับชีวประวัติของปรีดี พนมยงค์ ในปี 2542 แสดงในวาระ 100 ปีชาตกาลปรีดี ทีสถาบันปรีดี พยนมยงค์ คนเขียนบทคือครูในวงการละคร ‘คำรณ คุณะดิลก’ และ ‘นิมิต พิพิธกุล’ เป็นผู้กำกับ เล่นเกือบร้อยรอบทั้งในและต่างประเทศ เป็นช่วงเวลาที่เปิดโลกการละครอย่างแท้จริง ทำให้ ‘ฟารีดา’ ได้โอกาสเล่นละครเวทีอีกหลายเรื่องในเวลาต่อมา
ในโลกของ ‘ฟารีดา’ นักแสดงมุสลิม มีคนถามว่า “ทำไมมุสลิมต้องคลุมหัวด้วย?” เธอเล่าว่าตอนที่เขาถาม เป็นช่วงที่ยังไม่คลุมผม เธอชอบใส่กระโปร่งชุดแซค สั้นบ้างยาวบ้าง บางครั้งแขนสั้น บางครั้งแขนยาว และมีนิสัยชอบสูบบุหรี่ เป็นหญิงสาวทันสมัยของมหานคร บางคนที่รู้ว่าเธอเป็นมุสลิมก็ยังตามมาถามอีก “ไม่คลุมหัวที่บ้านไม่ว่าเหรอ” เหมือนคำถามจี้ใจ ทำให้หงุดหงิด ขึงโกรธ เสียอาการและตัวตนอย่างมาก เธอถึงกับสบถด่าคนถามทีเดียว ผู้ชมก็สังเกตเห็นว่าเธอมีปฏิกริยากับคำถามนี้อย่างมาก
เสียงเงียบและความมืดคั่นฉาก, เพื่อให้เรื่องราวดำเนินต่อไป
“วันที่ฟาตัดสินใจคลุมหัวเหมือนได้รับบททดสอบจากพระเจ้า” เสียงลมหายใจของเธอเปิดฉากใหม่ให้เราชม
‘ฟารีดา’ แสดงต่อโดยเล่าว่า ก่อนหน้านี้ ไม่ค่อยมีงานแสดงเท่าใดนัก ต้องทำงานหารายได้อื่น เพื่อมีเงินสำรองสำหรับการเก็บตัวฝึกซ้อมเล่นการแสดง แต่ครั้งเมื่อตัดสินใจคลุมผม เย็นวันนั้นก็มีคนติดต่องานเข้ามาทันที คนแรก ส่งข้อความชวนเล่นละครเป็นสารคดีเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นภรรยาผู้ป่วย เธอรับปากทันควันและให้ข้อมูลว่าตอนนี้เป็นมุสลิมมะห์คลุมผมเล้วนะ คนติดต่อก็ปฏิเสธทันทีเช่นกันว่าคงไม่ได้แล้ว ทั้งยังขอให้ช่วยแนะนำคนอื่นให้ด้วย ถึงจุดนี้ ‘ฟารีดา’ แสดงออกถึงความขำขื่น “ไม่เข้าใจว่า ทำไมเป็นมุสลิมเล่นละครไม่ได้ ในเมื่อมุสลิมติดโควิดเยอะแยะเลย แค่สงสัยเฉย ๆ แสดงไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร”
‘ฟารีดา’ พยายามแสดงประสบการณ์ชีวิตให้เป็นเรื่องตลกเช่นนี้อีก 2-3 เรื่อง แม้แต่คนดูที่สวมบทเป็นผู้ชมก็ขำไม่ออกไปด้วย “อีกงานหนึ่ง ฟาถูกชวนไปเล่นละครซีรีส์ บทอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ พอบอกว่าคลุมผมแล้วนะ คนติดต่อก็ขอโทษและปฏิเสธงานอีก เราก็เข้าใจได้ คนคลุมฮิญาบ แต่ไปสอนประวัติศาสตร์ชาติไทย ก็คงไม่ได้ใช่ไหม”
“ภาพผู้หญิงมุสลิมคงมีอยู่ได้แค่มิวสิควิดีโอหลังเพลงชาติเท่านั้น” ‘ฟารีดา’ ประชดประชัน “ไม่เป็นไร เราไม่ได้หิวเงิน” เธอยังเล่าอีกว่า อีกงานหนึ่งส่งข้อความมาชวนไปถ่ายโฆษณา ผู้กำกับอยากได้คนที่บุคลิกขี้โวยวาย เป็นเครื่องจักรด่าคน เราก็บอกว่าคลุมผมแล้วนะ เรื่องถึงหูผู้กำกับเขาก็ว่าแปลกดี ๆ คือทำให้เราเหมือนเป็นคนแปลก ๆ กรณีหลังเราก็ปฏิเสธเองเพราะทัศนคติไม่ตรงกัน การคลุมผมทำให้เธอถูกปฏิเสธการแสดงบ่อยครั้งเริ่มและเริ่มไม่สนุกแล้ว “เราไม่ได้หิวเงินนะ แต่เราหิวข้าว”
“นี่หรือคือบททดสอบจากพระองค์!” ฟารีดารำพัน
ฮิญาบ: หากพระองค์ทรงประสงค์ (Inshallah)
ณ วันที่ ‘ฟารีดา’ ตัดสินใจคลุมฮิญาบ เธอแอบกังวลว่า เส้นทางการเป็นนักแสดงอาจจบลงนับตั้งแต่เธอถูกปฏิเสธจากละครทุกเรื่อง รวมถึงงานแสดงทุกงาน จนแทบไม่มีอะไรที่ทำให้เชื่อได้ว่า เธอจะได้เล่นละครอีก และเริ่มคุยกับตัวเอง ก่อนหน้านี้เป็นนักแสดงสวมบทบาทได้ทุกตัวละคร ทว่า เมื่อสวมฮิญาบแล้ว กลับไม่สามารถเป็นตัวละครใดได้เลยจริงหรือ
นี่คือที่มาของการแสดง ฮิญาบ: หากพระองค์ทรงประสงค์ การแสดงเดี่ยว ด้วยการโต้กลับโดยสวมบทบาทที่เคยแสดงในขณะที่สวมฮีญาบอยู่
‘ฟารีดา’ พาเรากลับมาสู่การแสดงอีกครั้งผ่านผ้าคลุมสีต่าง ๆ เธอเล่นบทบาทที่เคยเล่นซ้ำอีกครั้ง เช่น ตาดูดาวเท้าเหยียบเธอ, แอนธิโกเน่, สุดทางที่บางแคร์ รวมทั้งเรื่องมนต์แห่งจันทราจงสำแดงฤทธา ณ บัดนี้ ฯลฯ ระหว่างการตีความบทละครและเล่าใหม่ด้วยตัวเธอที่คลุมฮิญาบแต่ละเรื่อง เธอจะแวะมาสนทนากับคนดูเป็นระยะ ให้ประสบการณ์คนดูและเรื่องราวของเธอเชื่อมถึงกัน
มีคนถามฟาว่า “เคยกินหมูไหม”
“แบบตั้งใจเลย ฟาไม่เคยนะ”
“แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง ฟาไปร้านอาหารตามสั่งและสั่งข้าวเปล่ากับต้มยำกุ้งที่หนึ่ง ด้วยความอร่อยก็ซดน้ำต้มยำจนหมดถ้วย ทันใดนั่นเอง ฟากับกระดูกหมูได้แต่มองหน้าและสบตากัน ใครจะคิดว่าน้ำซุบต้มยำกุ้งทำจากกระดูกหมู”
สิ่งที่ไม่เข้าใจเลยคือ ทำไมคนทั่วไปรวมทั้งนักกิจกรรมมักคิดว่า อาหารของคนมุสลิมมีแค่ข้าวหมกไก่ ทุกครั้งที่ทำกิจกรรมหรือซ้อมละคร คนเตรียมอาหารจะนึกออกแค่ข้าวหมกไก่ มีอยู่วันหนึ่ง ฟาถามน้องในกองละครว่า ซื้อข้าวหมกไก่ที่ไหน น้องบอกว่าซื้อมาจากร้านข้าวขาหมู “ไอ้สัส มึงเก็บไว้แดกเองเลย” เธอฉุนเฉียวจริงจัง
มาถึงจุดนี้ คุณยังหัวเราะกับเรื่องราวของเธอไหม?
คุณกำลังคิดอะไรอยู่?
‘ฮิญาบ’ ผ้าผืนหนึ่งยังเป็นตัวละครสำคัญชี้ชวนให้ค้นหาความหมายทั้งจากตัวเธอและการนึกคิดของผู้ชมอย่างต่อเนื่อง ผ่านตัวละครต่าง ๆ ที่ ‘ฟารีดา’ หยิบขึ้นมาเสียดสี เธอเป็นมุสลิมที่เคยเล่นได้ทุกบทบาท แต่ทำไมเมื่อคลุมผมแล้วทุกบทบาทเธอเล่นไม่ได้ เธอยังชวนคนดูร่วมค้นหาคำตอบไปพร้อมกัน
มีคนถามฟาว่า “ที่เป็นมุสลิมนี้ เพราะนับถือตามที่บ้านใช่ไหม?
“ไม่ใช่” ที่ฟาเป็นมุสลิมทุกวันนี้ เพราะผ่านการตั้งคำถามว่าพระเจ้ามีจริงหรือ?
ก็ยังมีคนหวังดีกับ ‘ฟารีดา’ บอกว่า “ระวังนะศิลปะทำให้เราหลงลืมพระเจ้า”
แต่ไม่ใช่สำหรับ ‘ฟารีดา’ โลกแห่งการละครกลับทำให้เธอพบกับพระเจ้า
จังหวะนี้, เธอหลับตา ใช้ร่างกายส่งสัญญาณให้คนทั้งโรงละครขนาดเล็กเบาเสียงลง เบาเสียงลง และเบาเสียงลง ภาษากายของเธอชวนให้พวกเราหลับตาพร้อมกัน และเงี่ยหูฟังเสียงที่พริ้วลอยมาตามลม เสียงที่ไกลก็เหมือนจะใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ ช่างอัศจรรย์ในชั่วเวลานี้เรากลับได้ยินเสียงสวดอาซาน – เสียงเรียกร้องสู่การละหมาด เป็นชั่วขณะหนึ่ง ที่ทั้ง ‘ฟารีดา’ และผู้ชมมากหน้าหลายตาสงบต่อเสียงนั้น
เป็นเรื่องน่าฉงนใจมาก เสียงจากภายนอกกลายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงใน “โลกฟารีดา” ด้วย
‘ฟารีดา’ ดึงพวกเรากลับสู่การแสดงอีกครั้ง โดยอธิบายว่า เมื่อได้ยินเสียงอาซาน เราต้องละหมาดทุกครั้ง แต่ไม่ต้องละหมาดทันที เพราะการละหมาดมีเวลา ถึง 5 ครั้งในหนึ่งวัน เสียงอาซานไม่ได้บังคับให้เราหยุดยืนตรงเหมือนเคารพธงชาติ แต่เป็นมารยาทที่เราจะสงบในช่วงนั้น พระเจ้าให้เวลาเราเสมอ
มาถึงจุดนี้ เราเข้าใจโครงเรื่อง ‘ฮิญาบ’ มากขึ้น สำหรับ ‘ฟารีดา’ ชีวิตคือการแสดง และการแสดงคือชีวิต ไม่ว่าบทละครใดเข้ามาเธอจะตัดสลับเล่าไปกับชีวิตประจำวันที่เธอต้องเผชิญกับคนที่ไม่เข้าใจวิถีศรัทธาของเธอ ระหว่างเล่นละครคอยโกโด ที่เธอสวมบทเป็นผู้ถูกกดขี่ขี้โวยวาย พูดไม่หยุด จนตัวละครอื่นต้องเอาเก้าอี้มาฟาดให้หยุดและรุมกระทืบให้เธอหุบปาก ถึงจุดนี้ ‘ฟารีดา’ หัวเราะเย้ยหยันตัวเอง “ฮิญาบไม่ได้เป็นอุปสรรคเท่ากับกาลเวลาที่ทำให้เราเปลี่ยนแปลง หรือถ้าเราพูดเรื่องการเมืองก็มักจะลืมเรื่องส่วนตัวของเราไป แต่เมื่อเราเริ่มพูดเรื่องส่วนตัวก็กลายเป็นปัญหาเชิงการเมืองทั้งสิ้น” และย้ำว่า
“การคลุมฮิญาบใช้เวลาไม่นาน, แต่การตัดสินใจคลุมฮิญาบของผู้หญิงคนหนึ่งอาจใช้เวลาเกือบทั้งชีวิต”
“เรามีผ้าอยู่บนศรีษะจึงถูกมองว่าเป็นผู้หญิงมุสลิม แต่ผู้หญิงมุสลิมก็ไม่ได้แตกต่างจากผู้หญิงอื่น ๆ บนโลกนี้” ทำกิจกรรมอะไรได้เหมือนคนอื่น วิ่งออกกำลังสวนลุมได้ ชอบร้องคาราโอเกะ และเธอก็สวมบทเป็น ‘สินจัย’ ตัวละครมนต์แห่งจันทราจงสำแดงฤทธา ณ บัดนี้ ในคืนที่พระจันทร์ส่องแสงสว่าง เราอาจกลายเป็นคนบ้า หมาป่า หรืออะไรสักอย่าง เธอจึงวางแสงไฟหลากสี่เปลี่ยนฉากโรงละครเป็นร้านคาราโอเกะ ให้สินจัยที่คลุมฮิญาบร้องเพลงอย่างมีความสุข
จากตัวละครที่มีบทแสดงเธอตัดเข้าเรื่องของ ‘ฟารีดา’ อีกแล้ว มีคนถามอีกว่า “ฟาจะเล่นละครไปถึงเมื่อไหร่?” “ก็คิดว่าจะเล่นไปจนแก่ ถ้าความตายไม่พรากไปเสียก่อน”
ช่วงท้าย ‘ฟารีดา’ ยอมรับว่า คนที่เรียกเธอไปเล่นละครมีจำนวนน้อยกว่านิ้วมือรวมกันทั้งหมด กว่าจะเป็นละครเรื่องนี้เธอเดินผ่านคำถามมากมาย และยังเล่าว่า ‘พี่กั๊ก’ – ‘วรรณศักดิ์ ศิริหล้า’ หนึ่งในศิลปาธรด้านการแสดงที่มาช่วยให้คำปรึกษาละคร ‘ฮิญาบ’ นี้บอกว่า “นี่คือผมทรงใหม่ของฟา” ประโยคสุดท้ายนี้ เธอเสียงสั่นเครือจับหัวจิตหัวใจของคนดูโดยพลัน
‘ฮิญาบ’ ไม่ใช่ละครที่เรียกร้องให้เราเข้าใจผู้หญิงมุสลิม หรือวิถีวัฒนธรรมของคนนับถือศาสนาอิสลาม แต่เล่าเรื่องการเปลี่ยนผ่านตัวตนของผู้หญิงคนหนึ่งที่ตัดสินใจคลุมฮิญาบ เท่ากับการเปลี่ยนกระดานชีวิตใหม่ และการต่อรองระหว่างเส้นทางการแสดงกับโลกแห่งศรัทธา และเหนืออื่นใด ‘ฟารีดา’ เธออยากชวนทุกคนมองทะลุฮิญาบให้เห็นความเป็นมนุษย์ที่เหมือนกันทุกคน และชวนสังคมไทยตั้งคำถามว่า “เรามักเห็นผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่และช่วงเวลาใด อย่างไร คุณเห็นผู้หญิงมุสลิมจริงหรือไม่ กล่าวให้ถึงที่สุด ผู้หญิงมุสลิมมีตัวตนอยู่จริงหรือ?”
ท้ายเรื่อง: คำถามที่ยังไม่คลี่คลายและคำถามที่ไม่เคยถูกถาม
หลังการแสดงเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 นับเป็นวันพิเศษเนื่องจากมีวงคุยแลกเปลี่ยนทัศนะ ซึ่งหนึ่งในหลาย ๆ บทสนทนาที่เกิดขึ้น รศ.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นที่น่าสนใจต่อละครเรื่อง คือ ‘ฟารีดา’ ใช้ ‘ฮิญาบ’ ตั้งคำถามกับการคลุมผม แง่หนึ่งเป็นสิ่งพิเศษที่มีความหมายทางศาสนา แต่อีกแง่หนึ่งสำหรับคนต่างวัฒนธรรมและต่างศาสนาก็อาจกลายเป็นคนแปลก หรือกลาย ‘เป็นคนอื่น’ ตั้งแต่ฉากแรก เธอค่อย ๆ อธิบายจากผ้าธรรมดาผืนหนึ่งถูกใส่ความหมายทางสังคมเมื่อผ้านั้นถูกใช้ในบริบทที่แตกต่างกัน ผ้าผืนเดียวกันอาจเป็นผ้าคลุมผม ผ้าพันคอ ผ้าผูกเอว ผ้าเช็ดโต๊ะ ฯลฯ และในบางยุคหนึ่งผ้าคลุมผมกลับกลายเป็นแฟชั่นก็ได้ แต่เมื่อผ้าผืนเดียวกันนี้ใส่รหัสของมิติทางศาสนาบทบาทหน้าที่ของผ้าจึงเปลี่ยนและมีความหมายต่อตัวตนของคนคลุมผม
รศ.ยุกติ เชื่อมโยงการคลุมผมในมติวัฒนธรรมอื่นด้วย เช่น ชาวไทดำ ที่นับถือผีแถนในเวียดนาม ผู้หญิงจะให้ความสำคัญกับการคลุมผมตั้งแต่วัยเด็ก การแต่งงาน หรือเมื่อสามีเสียชีวิตลักษณะการคลุมผ้าของผู้หญิงหม้ายก็ต่างออกไป การคลุมผมจึงบ่งบอกสถานะทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างมีนัยสำคัญ หรือการใส่หมวกของชาวตะวันตก หมวกนั้นก็เป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน หรือมารยาททางสังคมที่แสดงถึงความเรียบร้อยและการแสดงความเคารพต่อคนอื่นเช่นกัน
“ผ้าที่คลุมผมนั้นกลายเป็นเส้นแบ่งบาง ๆ ของ ‘การมีทรงผม’ หรือ ‘การไม่มีทรงผม’ คือการจัดการ ควบคุมร่างกายในลักษณะหนึ่ง หรือกล่าวได้ว่า การใช้ชีวิตกับผมหรือกับหัว (ศรีษะ) นั้นก็มีวิธีคิดของสังคมกำกับอยู่ โดยที่เราอาจจะละเลยในการตั้งคำถามความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เข้ามาควบคุมเนื้อตัวร่างกายของเรานั่นเอง เช่น การตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีการออกกฎระเบียบให้ตำรวจถึงต้องตัดผมเกรียม 3 ด้าน ทำไมนักเรียนต้องไว้ผมทรงที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด จนกระทั่งเด็กยุคปัจจุบันต้องลุกมาตั้งคำถามที่มิใช่แค่ทรงผม แต่เลยไปถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่กดทับพวกเขาด้วย”
“เราเคยถามตัวเองไหมว่าว่าทำไมเราไว้ผมทรงนี้ ไม่ว่าผมทรงอะไรล้วนมีวิธีคิดของสังคมกำกับและให้ความหมายอยู่ทั้งสิ้น”
ละคร ‘ฮิญาบ’ ชวนให้คิดถึงอะไรบ้าง? แน่นอนว่า, ไม่ได้ตั้งคำถามเฉพาะผู้หญิงมุสลิมว่าทำไมถึงคลุมผม ทว่า คำถามนั้นเลยไปไกลถึงความสัมพันธ์การใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมและย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเราเองมากที่สุด ว่าเราให้ความหมายต่อผม หรือต่อหัวของเราอย่างไร หรือไม่? และน้ำเสียงการแสดงออกของ ‘ฟารีดา’ ทั้งเจ็บช้ำและเจ็บใจกับโลกของการละคร นักแสดงหญิงต้องเห็นใบหน้าและผมอย่างชัดเจนเท่านั้นหรือ? การแสดงคืออะไรกันแน่?
ขณะเดียวกัน ‘ฟารีดา’ ก็แสดงให้เราประจักษ์ว่า ละครหรือการแสดงนั้นประกอบไปด้วย พื้นที่ แสง เวลา เสียงรูปแบบต่าง ๆ ที่ทะลุ “พื้นที่” ของละครคือเสียงอาซานจากมัสยิดใกล้ ๆ ได้เข้ามาเป็นฉากหนึ่งของตัวละครซ้อนทับกับเรื่องราวที่กำลังเล่าอย่างทรงพลัง
โดย รศ.ยุกติ ขยายความว่า พื้นที่ของโรงละคร GalilaOasis นี้อยู่ใกล้ ๆ กับชุมชนมุสลิมบ้านครัว ซึ่งมีมัสยิดอยู่ใกล้ ๆ กันถึง 3 แห่ง ซึ่งชุมชนมุสลิมบ้านครัวนี้ ถูกกวาดต้นมาจากอาณาจักรจามปา หรือเวียดนาม ตั้งแต่สมัยอยุธยา พื้นที่การแสดงที่ถูกเลือกใช้เชื่อมโยงกับเรื่องราว ทั้งยังสัมพันธ์กับเวลาของมุสลิมที่จะต้องทำศาสนกิจ ซึ่งไม่ได้สัมพันธ์กับคนทั่วไปนัก จึงไม่ใช่ทุกคนที่เสียงอาซานเข้าหูแล้วจะเข้าใจความหมายทางวัฒนธรรมได้ทันที
กล่าวถึงที่สุดแล้ว ‘ฮิญาบ’ ตั้งคำถามสำคัญกับสารัตถะของการแสดงมีคุณค่าความหมายอย่างไร ‘ฟารีดา’ ใช้ชีวิตและประสบการณ์ตั้งคำถามอย่างแสบสันต์และเจ็บช้ำน้ำใจ ด้วยวิธีการที่แยบยลแต่ตรงไปตรงมา คือ (หนึ่ง) มองย้อนไปในอดีตครั้งเป็นักแสดงที่ยังไม่คลุมผม เธอสามารถสวมบทบาทได้ทุกตัวละคร และ (สอง) เธอเล่นซ้ำในทุกตัวละครที่เคยแสดงด้วยการใส่ฮิญาบและแสดงใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นการใส่ฮิญาบทับฮิญาบ ประหนึ่งว่า ตัวตนที่สวมฮิญาบอันเป็นอัตลักษณ์ของเธอนั้นว่างเปล่าอยู่จึงสามารถสวมใส่ฮิญาบทับซ้อนลงไปเป็นอีกตัวละครหนึ่งซ้อนเข้าไปอย่างเป็นธรรมชาติ ขณะเดียวกัน รศ.ยุกติ ยอมรับว่าไม่สามารถวิเคราะห์เรื่องที่ใหญ่กว่านั้นได้ ซึ่ง ‘ฟารีดา’ ทิ้งคำถามไว้ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างการแสดงกับศาสนาอิสลามที่ต้องการคำอธิบายจากผู้รู้มาคลี่คลายในระดับที่เข้มข้นกว่านี้
กระนั้น รศ.ยุกติ ทิ้งท้ายว่า ฮิญาบยังชวนให้คนนอกศาสนาอิสลามตั้งคำถามที่ไม่ควรเพิกเฉย คือ ศาสนาและชีวิตประจำวันจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร เช่น ทำไมสวมฮิญาบแล้วแสดงละครไม่ได้ สวมฮิญาบรับปริญญาไม่ได้ สวมฮิญาบขึ้นศาลไม่ได้ หรือกรณีฝรั่งเศสประเทศที่เป็นเสรีนิยม เชื่อว่าทุกคนเท่าเทียมกัน แต่ไม่อนุญาตให้มีการคลุมฮิญาบหรือแสดงสัญลักษณ์ศาสนาในพื้นที่สาธารณะ
รายชื่อทีมงาน ‘ฮิญาบ’:
นักแสดง-ผู้กำกับ: ฟารีดา จิราพันธุ์
ผู้ช่วยผู้กำกับ: คอลิด มิดำ
โปรดิวเซอร์: ปานรัตน กริชชาญชัย
อาร์ตไดเรคเตอร์: ณิชา บูรณสัมฤทธิ์
สเตจเมเนเจอร์: ปุณิกา หรั่งฉายา
ออกแบบแสง: ปาลิตา สกุลชัยวานิช
ออกแบบโปสเตอร์: สุรชัย เพชรแสงโรจน์
ถ่ายภาพ: ธีระพงษ์ สีทาโส
ประชาสัมพันธ์: นภัค ไตรเจริญเดช