June หรือ มิถุนายน เดือนสำคัญของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะเป็นเดือน Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ที่เต็มไปด้วยสีสัน
เมืองส่วนใหญ่ทั่วโลก มีการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจในช่วงฤดูร้อนของทุกปี ในเดือนมิถุนายน และบางครั้งก็ขยายไปจนถึงเดือนสิงหาคม
การเดินขบวน การเฉลิมฉลอง ขบวนพาเหรด และอีกหลายกิจกรรม เป็นสัญลักษณ์ของการรับรู้และยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกัน รวมถึงการคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับคู่รักและครอบครัวที่เป็นเกย์
แต่กว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ ต้องแลกมาด้วยการก่อเหตุจลาจลครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน
พาย้อนเวลากลับไปทำความเข้าใจถึงต้นกำเนิด Pride Month ในช่วงทศวรรษที่ 1960s มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการออกกฎหมายห้ามไม่ให้ประชาชนแต่งกายผิดกับเพศสภาพ รวมถึงห้ามมีการเปิดบาร์เกย์ให้บริการ
ส่งผลให้กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศถูกกดดันจากสังคมอย่างหนัก ชาว LGBTQIA+ ในนิวยอร์กสมัยนั้น จึงมีสถานที่ลับ ๆ ไว้ปลดปล่อยตัวตน และแสดงออกถึงความชอบและตัวตนที่แท้จริง ซึ่งสถานที่แห่งนั้น มีชื่อว่า “Stonewall Inn”
กระทั่งเช้าตรู่ของวันที่ 28 มิถุนายน 1969 (หรือ พ.ศ. 2512) เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจ Stonewall Inn และใช้กำลังเข้าจับกุมกลุ่มผู้ใช้บริการ ซึ่งรวมถึงบุคคลหลากหลายทางเพศ แต่มีการขัดขืนการปฏิบัติงานของตำรวจจากกลุ่มหลากหลายทางเพศที่อยู่ในเหตุการณ์
และตอนนั้นเองที่พวกเขาตัดสินใจลุกขึ้นมาต่อสู้และตอบกลับการจู่โจมของตำรวจ ก่อให้เกิดการปะทะกันขึ้น การตัดสินใจครั้งนั้นก็หวังต่อสู้กับความอยุติธรรมเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ
จากหย่อมเล็ก ๆ ก็ลุกลามใหญ่โต มีการชุมนุมกันข้ามคืน อีกทั้งผู้ที่มาร่วมชุมนุมก็เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จนกลายเป็นเหตุการณ์การจลาจลขนาดใหญ่ จนถูกขนานนามในภายหลังว่า เหตุจลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) และการจลาจลนั้นได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุด ที่นำไปสู่ขบวนการปลดปล่อยเกย์ และเป็นการต่อสู้ในยุคใหม่เพื่อสิทธิบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในสหรัฐฯ
อีกทั้งเหตุการณ์ครั้งนั้น กลายเป็นจุดเปลี่ยนของชาว LGBTQIA+ กล้ายืดหยัดต่อสู้ และประกาศความเป็น LGBTQIA+ ครั้งแรกผ่านสื่อในสมัยนั้น นำมาสู่การเดินขบวนเรียกร้องสิทธิสำหรับกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT Pride March) ช่วยปลุกกระแสการรณรงค์เรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมกัน และการเคารพเสรีภาพของเกย์ในวงกว้าง และเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่ส่งผลมาจนปัจจุบัน
หากในช่วงที่สถานการณ์โลกปกติ แต่ละมุมโลก รวมถึงไทย จะมีการเดินพาเหรด งานรำลึก และเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของชาว LGBTQIA+ ในเดือนนี้
ต้องบอกว่าบางเมืองในต่างประเทศ เทศกาลนี้ถือเป็นเทศกาลที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมหลายล้านคนในแต่ละปี เช่น Madrid Gay Pride ประเทศสเปน และ San Francisco Gay Pride ประเทศสหรัฐอเมริกา
แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ระบาดกินเวลานานข้ามปี ขณะนี้ ส่งผลให้หลายเมืองที่เคยจัดกิจกรรม Pride Month ต้องยกเลิกไป แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีผู้จัดงาน บางรายยังเลือกที่จะจัดงานนี้อยู่ อย่าง Brooklyn Pride โดยผู้จัดงานกล่าวว่า จะไม่มีขบวนพาเหรดในปีนี้ แต่จะจัดงานแสดงสดและกิจกรรมเสมือนจริงขึ้น 1 สัปดาห์ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 นี้
และ ขบวนพาเหรด Denver Pride ก็จะมีการสตรีมสดบน Facebook ที่ DenverPride.org เช่นกัน โดยเว็บไซต์ www.the-sun.com ระบุ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ว่า เมื่อปีที่แล้วงานเสมือนจริงของ Denver Pride ดึงดูดผู้ชมบนโซเชียลมีเดียและในการออกอากาศ มากกว่า 400,000 คนเลยทีเดียว ซึ่งกำหนดการจัดกิจกรรมปีนี้ สามารถติดตามได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Denver Pride
แม้ว่าในปีนี้จะไม่มีขบวนพาเหรดเดินขบวนสร้างสีสันให้เห็นอย่างที่ผ่านมา แต่การเคลื่อนไหวเพื่อเฉลิมฉลอง Pride Month ก็ถูกปลุกกระแสในโลกโซเชียล โดยบุคคลที่เรียกได้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลต่อคนจำนวนมาก เช่น อแมนด้า ออบดัม Miss Universe Thailand2021 เองก็เคลื่อนไหวผ่าน เฟซบุ๊กแฟนเพจ Amanda Obdam เริ่มต้นเดือนนี้ด้วย Pride Month พร้อมระบุข้อความว่า…
Let’s celebrate PRIDE MONTH by being proud of who you are.
Know that everybody is free to love.
Love is Love.
I am with you all the way
เป็นตัวเอง มีความสุขที่สุด
#HappyPrideMonth #PrideMonth2021 #PrideMonth ”
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายกลุ่มเคลื่อนไหว ทั้งประเด็นสิทธิ ความเท่าเทียม และประเด็นอื่น ๆ รวมถึงนักการเมืองไทย ที่ร่วม สวัสดีเดือนมิถุนายน ในวันนี้เช่นกัน
- อ่านเพิ่ม โซเชียลสีรุ้ง รับวันแรก #pridemonth2021
สำหรับ ประเทศไทย นั้น มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ในพื้นที่การชุมนุมทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง ที่ไม่ใช่เพียงแค่ในเดือนมิถุนายนเท่านั้น และไม่ใช่เพียงแค่การเรียกร้องในเรื่องของการยอมรับเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเรียกร้องไปถึงนโยบาย เช่น พ.ร.บ.คู่ชีวิต และการสมรสเท่าเทียมด้วย แม้จะยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมจากภาครัฐ แต่การเคลื่อนไหวของประชาชนยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
หากผู้อ่านสนใจติดตามกิจกรรม ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ทั่วโลก สามารถติดตามได้ที่ th.travelgay.com