เงียบ ≠ ไม่รู้สึก สดับเสียงเงียบ จากผู้สูญเสียเหตุการณ์ตากใบ

หากมองผ่านแว่นของประวัติศาสตร์และความขัดแย้งของสังคมไทย ‘ตุลาคม’ น่าจะเป็นหนึ่งในเดือนที่เราพบว่าเคยเกิดเหตุความขัดแย้ง ที่นำไปสู่ความรุนแรง มากที่สุดเดือนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์ มีการเก็บรวบรวมข้อมูล ทั้งในแง่ข้อเท็จจริงและความรู้สึกของผู้สูญเสีย และเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้ของผู้คนในสังคม

แต่กับกรณีเหตุการณ์ตากใบ ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งแม้จะมีข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณะว่าเกิดอะไรขึ้น แต่หลายเรื่องราวและความรู้สึก ยังคงเงียบสงัดไม่ถูกรับฟัง

หากการแบ่งปันความรู้สึก และสร้างความเข้าอกเข้าใจ เป็นกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง การรับฟังเรื่องราวที่เก็บอยู่ในใจตลอด 19 ปี ของผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบก็คงมีส่วนช่วยได้บ้าง

“สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547”

หลังม่านประตูสีขาว คือพื้นที่ประมาณ 60 ตารางเมตร ของห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รายรอบห้อง มีข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ภาพถ่ายสถานที่และวัตถุ ถูกจัดวางอยู่ สิ่งของเหล่านี้ คือตัวแทนความทรงจำถึงผู้สูญเสียในเหตุการณ์ตากใบ ส่วนป้ายคำบรรยายที่วางไว้คู่กัน ก็ช่วยถ่ายทอดเรื่องราวและความทรงจำ ของครอบครัวต่อบุคคลอันเป็นที่รัก การถ่ายทอดเสียงและความรู้สึกที่ไม่ค่อยมีใครได้ยิน คือวัตถุประสงค์ของนิทรรศการ “สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547”

ชานบ้านกับ ‘รอสือไมย์’ รอสือไมย์เป็นลูกชายคนโต มีน้องชายสามคน และน้องสาวหนึ่งคน แม้จะอยู่ในครอบครัวยากจนแต่สำหรับพ่อกับแม่ รอสือไมย์เป็นเด็กดี ขยันไฝ่เรียน ค่อยช่วยงานทุกอย่างในบ้าน ตอนมีชีวิตอยู่เค้ามักออกมานั่งเล่นและใช้เวลากับครอบครัวที่ชานบ้าน ทำให้ทุกครั้งเมื่อมองไปที่ชานบ้าน ก็ทำให้ผู้เป็นพ่อหวยคิดถึงลูกชาย

กระเป๋าสตางค์ที่ ‘อาดูฮา’ เคยใช้เป็นประจำ ถูกจัดวางไว้คู่กับภาพใบมรณบัตร และสูติบัตร แม้จะผ่านมานานกว่า 19 ปี แต่ครอบครัวก็ยังเก็บรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้อย่างดี เพื่อยืนยันว่าลูกชายเคยมีชีวิตอยู่ อาดูฮาเสียชีวิตตอนอายุ 20 ปี เขาออกจากบ้านโดยบอกว่าแม่ว่าจะไปละหมาดฮายัตกับเพื่อนในหมู่บ้านที่ตากใบ แต่สุดท้ายลูกชายก็ไม่ได้กลับบ้าน

แก้วใสแบบมีหูจับ ที่ใครเคยไปนั่งร้านน้ำชาในภาคใต้ก็คงจะคุ้นเคย แต่สำหรับครอบครัวของ ‘รอยะ’ แก้วใบนี้คือตัวแทนความทรงจำที่ทุกคนในบ้านมีต่อพ่อ เพราะเป็นแก้วน้ำชาประจำตัวที่รอยะใช้เป็นประจำทุกวัน แม้รอยะจะเสียชีวิตไปแล้วแต่แก้วไปเดิมก็ยังคงถูกเก็บไว้ในตู้พร้อมกับแก้วใบอื่น ๆ โดยไม่ได้เอาออกมาใช้ รอยะเสียชีวิตตอนลูกสาวเรียนอยู่ชั้น ป.4 หลังจากนั้นครอบครัวต้องคอยขึ้นลงศาลหลายครั้ง กว่าจะได้รับเงินเยียวยาวลูกสาวก็เรียนในระดับปริญญาแล้ว

เสื้อโต๊ปสีน้ำเงินเข้มถูกจัดแสดงไว้กลางห้อง เสื้อตัวนี้เป็นตัวเดียวกับที่ ‘บาบอแม’ คณะกรรมการกลางอิสลามจังหวัดนราธิวาส ใส่ในวันทำพิธีฝังศพ ให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบมากกว่า 50 ศพ ที่กูโบร์ตะโละมาเนาะ ภาพของศพจำนวนมากที่ถูกทิ้งให้นอนเรียงรายตากแดดอยู่กลางสนามยังติดอยู่ในความทรงจำ ทุกวันนี้บาบอแมก็ยังมีข้อสงสัยว่าการส่งตัวคนจากตากใบถึงปัตตานี ทำไมจะต้องใช้เวลานานถึง 6 ชั่วโมง และสิ่งที่บาบอแมเคยได้ยินจากผู้รอดชีวิต คือเขาได้ยินเสียงคนร้องให้ช่วยตลอดทาง

เดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็นครั้งที่ 2 ของการจัดแสดงนิทรรศการ “สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547” หลังเปิดตัวและจัดแสดงครั้งแรกเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร นิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งผู้จัดตั้งใจว่าในอนาคต จะนำนิทรรศการชุดนี้ ลงไปจัดแสดงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

แม้จะดูเป็นเรื่องราวธรรมดาสามัญ แต่วัตถุสิ่งของ กลับอัดแน่นไปด้วยความเจ็บปวด ความคิดถึง ที่ต้องสูญเสียคนในครอบครัว และความรู้สึกเหล่านี้แทบไม่เคยเป็นที่รับรู้ ตลอด 19 ปีที่ผ่านมา

ณรงฤทธิ์ สมคิด นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ชั้นปีที่ 4 เป็นคนหนึ่งที่เข้าชมนิทรรศการ “สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547” เขาบอกว่า ตอนเกิดเหตุการณ์ตนเองอายุแค่ 8 ขวบ แม้จะเคยได้ยินคนพูดถึงเหตุการณ์ตากใบอยู่บ้าง แต่ก็ไม่รู้รายละเอียด พอได้เข้าไปดูนิทรรศการแล้วก็ทำให้รู้สึกว่า ได้ยินเสียงของผู้คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่ผ่านมาหากไม่ใช่คนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อาจจะไม่เข้าใจในความต่าง แต่ปัจจุบันควรจะต้องตระหนักในประเด็นนี้ และร่วมกันหาทางแก้ไข

ธนภัทร ไหมบุญแก้ว นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ชั้นปีที่ 1 เป็นอีกคนที่เข้าชมนิทรรศการ ด้วยความเป็นเด็กในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้เขารับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบมาตลอด แต่เขาบอกว่าก็ยังไม่รู้ปัญหาจริง ๆ หรือความรู้สึกของคนในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร หลังได้รับฟังเรื่องราวและสิ่งของที่นำมาจัดแสดง “จุกอยู่ที่คอ” คือนิยามความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวเขา เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมมนุษย์ถึงทำกับมนุษย์ด้วยกันได้ถึงขนาดนี้ โดยเฉพาะผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นรัฐ ที่ควรจะมีหน้าที่ดูแลประชาชน แต่กลับเป็นคนทำร้ายประชาชน

เกิดอะไรขึ้นที่ตากใบ ก่อนคดีจะหมดอายุความในปีหน้า

ตากใบ เป็นอำเภอเล็ก ๆ ติดชายแดนไทยมาเลเซีย ในหวัดนราธิวาส แต่ในเช้าวันที่ 25 ตุลาคม 2547 พื้นที่ด้านหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ เต็มไปด้วยชาวมลายูมุสลิมกว่าพันคนที่ทยอยมารวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัว ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คน ที่ถูกควบคุมตัวไว้นานกว่าสัปดาห์ เพราะเจ้าหน้าที่สงสัยว่าพวกเขาพัวพันกับเหตุยักยอกอาวุธปืนของราชการ ในจำนวนชาวบ้านที่ไปรวมตัวกัน มีทั้งคนที่ตั้งใจเพื่อไปชุมนม มีชาวบ้านบางส่วนที่ตั้งใจเดินทางมาเพื่อละหมาดฮายัต และมีชาวบ้านอีกหลายคนที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นในฐานะไทยมุง

การเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมไม่เป็นผล สถานการณ์เริ่มตรึงเครียด กระทั่งช่วงบ่ายก็มีคำสั่งให้สลายการชุมนุม ด้วยการใช้รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา และกระสุนจริง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันที 7 ศพ ผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัว 1,370 คน พวกเขาถูกสั่งให้ถอดเสื้อและจับมัดมือไพล่หลัง ก่อนผู้ชุมนุมทั้งหมดจะถูกเคลื่อนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ที่อยู่ห่างออกไป 150 กิโลเมตร ด้วยรถบรรทุก 24-28 คัน โดยเจ้าหน้าที่ให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัว นอนซ้อนทับกัน 3-4 ชั้น อยู่ที่ด้านหลังรถบรรทุก รถแต่ละคันใช้เวลาเดินทางนานกว่า 6 ชั่วโมง และเมื่อถึงปลายทาง ก็พบว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 78 ศพ จากสาเหตุการกดทับ ขาดอากาศหายใจ ขาดอาหารและน้ำ มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

หลังเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม 59 คน ในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย ที่ภายหลังมีการถอนฟ้อง ส่วนคดีที่สอง ญาติผู้เสียชีวิต ฟ้องกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศาลนัดไกล่เกลี่ย โดยกองทัพบกยอมจ่ายสินไหมชดเชย 42.2 ล้านบาท แลกกับการประนีประนอมยอมความ ขณะที่ผลการสอบหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ พบว่า ผู้บัญชาการเหตุการณ์ในครั้งนั้นขาดวิจารณญาณในการปฏิบัติหน้าที่ แต่บทลงต่อผู้รับผิดชอบ คือแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น มีเพียงการสั่งย้าย และงดจ่ายบำเหน็จบำนาญเพียงเท่าน้ั้น

ถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว 19 ปี ก่อนที่คดีตากใบจะหมดอายุความในปีหน้า ยังไม่มีผู้ที่เกี่ยวข้องรายใด ได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม

บอกเล่าความเจ็บปวดอันยาวนาน กับการทำให้ตากใบไม่ถูกลืม

ผศ.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ในฐานะนักวิชาการที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ เล่าว่า โดยปกติแล้วการทำหอจดหมายเหตุหรือพิพิธภัณฑ์ ที่เกี่่ยวกับเรื่องราวความรุนแรง มักทำหลังสิ้นสุดเหตุความรุนแรงแล้ว แต่ของจังหวัดชายแดนใต้ความรุนแรงยังไม่สิ้นสุด ขณะที่การเก็บข้อมูลก่อนหน้านี้ว่าคนในพื้นที่คิดเห็นอย่างไร หากมีการต้ังหอจดหมายเหตุ พบว่า คนในพื้นที่ชายแดนใต้ ไม่อยากให้มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ เพราะพวกเขารู้สึกว่า จะมาเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดของพวกเขาซ้ำ ๆ ทำไมในพื้นที่ คนที่ต้องรับรู้ความเจ็บปวดของพวกเขาคือคนอื่น ๆ ในประเทศต่างหาก แต่เราก็ยังดื้อ เพราะคิดว่ากระบวนการเก็บข้อมูล จะช่วยให้ข้อมูลที่อยู่ในภาวะปัจจุบันที่ยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง ไม่สูญหายไป

ส่วนเหตุผลที่เลือกตากใบ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่มีการสูญเสียมากที่สุด รวมทั้งสิ้น 84 ศพ ได้รับบาดเจ็บอีกนับร้อย และถูกดำเนินคดีมากกว่า 50 คน ถือเป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐและนำไปสู่ความรุนแรง โดยมีการกระทำจากรัฐต่อประชาชนแล้วทำให้เกิดการสูญเสียมากที่สุด

กระบวนการเก็บข้อมูล เราตั้งใจอย่างมากว่าจะไม่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ เพราะพวกนี้เราสามารถสืบค้นได้ สิ่งที่เราอยากรู้คือเขาจดจำคนที่เขารัก ที่เสียชีวิตที่ตากใบอย่างไร โดยขอให้เขาหยิบสิ่งของที่เป็นตัวแทนความทรงจำของเขา ต่อคนที่จากไปมาเล่าให้เราฟัง โดยในนิทรรศการจะเล่าถึง ชีวิตประจำวัน ชีวิตสามัญ ของคนที่จากไปเท่านั้น เพราะเราตระหนักว่าถ้าไม่ใช่คนมลายู ไม่ใช่คนในพื้นที่ หากไม่เล่าผ่านวัตถุสิ่งของจะถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกนี้ยาก แล้วที่ต้องเป็นเสียงเงียบ เพราะเสียงในชีวิตประจำวันของคนที่ต้องอยู่กับความเจ็บปวด มาตลอด 18-19 ปี ไม่เคยถูกเล่าออกมาเลย แต่กระบวนการเก็บข้อมูลก็มีข้อจำกัด เพราะเราเป็นคนนอกการจะเข้าถึงข้อมูลจึงไม่ง่าย เลยต้องขอให้คนพื้นที่เป็นคนเก็บข้อมูล

นิทรรศการเป็นเรื่องเล่าจากความทรงจำของ 17 คน แต่จริง ๆ เราเก็บข้อมูลมากกว่า 100 คน แต่เขาไม่อนุญาต เขาอนุญาตที่จะเล่าให้เราฟังแต่ไม่อนุญาติให้เราไปสื่อสาร และในนิทรรศการก็ได้รับการข้อร้องให้ใช้ชื่อสมมุติ แทนการชื่อจริง เพราะในพื้นที่ยังมีความกลัวยังอยู่มาก พร้อม ๆ กับความเจ็บปวด

ความตั้งใจของทีมทำนิทรรศการ ไม่ได้ต้องการเล่าเรื่องอะไรยิ่งใหญ่ หรือวิพากษ์รัฐ แค่ต้องการบอกเล่าให้เห็นพื้นที่อันยาวนาน 19 ปี ที่ยังมีความเจ็บปวดของผู้คนที่นั่น หลายคนบอกว่า มันเพิ่งเกิดเมื่อวานนี้เอง เขาไม่ได้รู้สึกว่ามันผ่านมา 19 ปี สำหรับคนที่เขารักต้องจากไป เขาบอกว่ามันอาจจะยาวนานในความรู้สึกของคนอื่น แต่มันไม่เคยยาวนานสำหรับเขา และความรู้สึกของเขาไม่เคยถูกเล่าออกมา เพราะฉะนั้นเสียงเงียบอันนี้ คือการเล่าความรู้สึก

“ถ้าหากเสียงเงียบเท่ากับการลืม เราก็กำลังทำให้ตากใบ ไม่ถูกลืม”

เรื่องเล่าของปัจเจก ที่สะท้อนภาพของจังหวัดชายแดนใต้

ด้าน วลัย บุปผา ภัณฑารักษ์นิทรรศการ “สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547” เริ่มต้นอธิบายถึงที่มานิทรรศการ ด้วยการตั้งคำถามว่า เราเคยได้ยินเรื่องความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ ในแง่ของการครบรอบต่าง ๆ เราเคยได้ยินเรื่องยอดผู้เสียชีวิต เคยได้ยินว่างบประมาณจังหวัดชายแดนใต้ใช้ไปแล้วกี่แสนล้าน ได้ยินว่า พรก.ฉุกเฉิน ถูกต่ออายุออกไป แล้วเราได้ยินเสียงของผู้สูญเสียบ้างหรือยัง จึงกลายมาเป็นนิทรรศการที่เรากำลังจะเล่าว่ามันยังมีเรื่องนี้อยู่ มีผู้สูญเสียจริง แต่เสียงของครอบครัวและคนที่อยู่เบื้องหลังผู้สูญเสียเหล่านั้นยังไม่ค่อยถูกได้ยิน

“มีผู้ที่เขียนมาว่า คนที่อยู่บนรถบรรทุก เค้าได้ยินเสียงร้อง แต่ถ้าใครร้องก็จะถูกตีแล้วทำให้เงียบ เสียงนั้นมันถูกทำให้เงียบตั้งแต่ต้นทางบนรถบรรทุก ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 นั้นแล้ว”

ข้อมูลที่ได้มา จากบทสนทนาระหว่างผู้หญิงด้วยกัน เลยเหมือนการเล่าชีวิตประจำวันง่าย ๆ จึงทำให้เรื่องราว และวัตถุสิ่งของที่เราได้มา มีความเป็นชีวิตประจำวันอยู่มาก แน่นอนเมื่อคุณนึกถึงคน ๆ หนึ่ง ก็มักเป็นของที่มองเห็นได้ง่ายใกล้ตัว กลายเป็นว่าเราเห็นความทรงจำที่เป็นปัจเจกของแต่ละบุคคล ขณะที่วัตถุก็ไม่ส่งเสียง แต่เรื่องราวที่บรรจุในวัตถุนั้นส่งเสียงออกมา ประเด็นก็คือเราจะทำอย่างไร ให้ความทรงจำของปัจเจกเหล่านั้นส่งถึงผู้ชม ซึ่งก็เป็นปัจเจกเหมือนกันด้วย กลายเป็นว่าเรื่องราวทั้งหมดนี้มันใกล้ตัวมาก มันเชื่อมโยงผู้คน เรารู้สึกว่าในแต่ละเรื่อง ในแต่ละวัตถุสิ่งของ อาจจะทำให้ผู้ชมนึกถึงตัวเองกับวัตถุนั้น ๆ ในฐานะภัณฑารักษ์ วัตถุทรงจำเหล่าน้ัน แม้จะเป็นปัจเจก แต่มันสะท้อนภาพของมลายูมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เช่น ผ้าโสร่ง เขาบอกว่านี่คือชุดที่ลูกชายใส่ไปละหมาด แก้วน้ำของพ่อแม้จะเป็นปัจเจก แต่ถ้าคุณไปร้านน้ำชาใน 3 จังหวัด คุณจะได้กินน้ำชาจากแก้วทรงนี้ ฉะนั้นวัตถุอันเป็นปัจเจกนี้ มันเลยสะท้อนภาพความเป็น 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ชัดเจน

วลัย บุปผา ขยายความถึงแนวคิดในการเล่าเรื่อง ของตัวนิทรรศการว่า สิ่งที่ได้จากทีมวิจัยแล้วนำมาถอดความ พบว่า ไม่ว่าวัตถุใด ๆ ก็ตาม สิ่งที่เขานึกถึงวนเวียนอยู่ในบ้าน แน่นอนว่าบ้านมันบรรจุความทรงจำ เพราะบ้านคือความเป็นครอบครัว การสื่อสารเรื่องราวออกมา จึงเป็นการเล่าเรื่องที่อธิบายหนึ่งชีวิต หรือหลายชีวิตนั้นที่อยู่ในครอบครัว และครอบครัวนั้นบรรจุอะไรไว้บ้าง โดยออกแบบให้วัตถุสิ่งของที่จัดแสดงสร้างบทสนทนากับผู้ชม

โดยเริ่มจากเรื่องราวความสูญเสีย นาฬิกาตายที่ถูกนำมาแขวนไว้สะท้อนว่าที่ต้นทางทุกอย่างหยุดหมดแล้ว หลังจากนั้นคือความรู้สึกของแต่ละครอบครัว ที่มีต่อคนอันเป็นที่รัก และที่กลางห้องจัดแสดงชุดของบาบอ ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาที่เป็นคนประกอบพิธีศพในเหตุการณ์ครั้งนั้น โดยข้างกันจัดวางกรงนก ซึ่งหลังการเสียชีวิตของสามี ภรรยาได้ปล่อยนกในกรงที่สามีเลี้ยงไว้ให้เป็นอิสระ อันหมายถึงการยอมรับถึงการจากไป ท้ายที่สุด เรื่องราวจบลงที่กรือโป๊ะ ซึ่งเจ้าของเรื่องเล่าเสียใจฟูมฟายในตอนแรก แต่หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ลุกขึ้น ร่วมกับคนในชุมชนตั้งเป็นสหกรณ์ข้าวเกรียบปลาอัลฟาลัส ทำกรือโป๊ะขาย อันหมายถึงการที่ชีวิตยังดำเนินต่อไป

เสียงเงียบจากตากใบ จริง ๆ ก็คงไม่ได้เงียบหรอก แต่มันอยู่ในความถี่ที่ต่ำกว่า ระดับที่รัฐกำลังจะบอกให้ผู้คนได้ยิน ถ้ารัฐบอกว่าเสียงที่คุณได้ยินอยู่ที่ความถี่เท่าไหร่ ๆ เสียงของตากใบก็อาจอยู่ต่ำกว่านั้น นิทรรศการจึงพยายามดึงบาร์ของรัฐลงมา เพื่อให้ผู้คนได้ยินบ้าง เพราะฉะนั้นเสียงที่ดังเบา ๆ จากตากใบ เดินทางมา 18-19 ปี แต่สิ่งของยังมีร่องรอย เสื้อผ้ามีรอยพับ ถูกเก็บในตู้ ฉนั้น 19 ปี มันคือเมื่อวาน ดังนั้น เสียงเงียบ คือเสียงที่ถูกทำให้เงียบหรือป่าว ก็เป็นคำถามที่นิทรรศการอยากทิ้งไว้ ให้ผู้ชมตอบตัวเอง

บริบทของความเงียบ

รศ.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นต่อนิทรรศการ “สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547” ว่า ขนาดของความรุนแรงกรณีตากใบ เป็นเรื่องน่าตกใจมาก เพราะตากใบเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ซึ่งผมคิดว่าน้อยคนมากที่จะเคยไป แต่เกิดความรุนแรงขนาดนี้ สเกลของความรุนแรงหากเราเทียบกับเหตุการณ์อื่น เราอาจจะต้องนึกหน่อยว่า มันคือความรุนแรงของอะไร ใครเป็นคนทำ ใครเป็นคนถูกกระทำ มันไม่ใช่ความรุนแรงแบบภัยพิบัติ ซึ่งความรุนแรงที่มีขนาดใกล้ที่สุดที่เทียบเคียงกันได้ ก็คือการปราบคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ และถนนดินสอ เมื่อปี 2553 มีคนเสียชีวิตรวมกันมากกว่า 90 คน บาดเจ็บอีกเป็นพันคน อันนี้คือสเกลความรุนแรงถ้าจะเทียบกัน

นิทรรศการ “สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547” ทำให้ผมนึกถึงเนื้อหาในหนังสือ Moment of Silence ของ อ.ธงชัย วินิจจะกูล ที่พูดถึงเรื่อง Silence (ความเงียบ) ว่าเป็นทั้ง Act of violence (การกระทำความรุนแรง) และเป็น Victim of violence (เหยื่อของความรุนแรง) ด้วย การทำให้เงียบ หรือการเลือกที่จะเงียบ มันเป็นได้ทั้งการถูกบังคับหรือความตั้งใจได้ด้วย เห็นได้จากผู้ให้ข้อมูลหลายคนไม่อยากให้ข้อมูลและเลือกที่จะเงียบ หรือก็คือให้ข้อมูลแต่ไม่อยากให้เล่าต่อ

แต่ทั้งหมดทั้งมวล Act of Silence (การทำให้เงียบ) มันขึ้นอยู่กับบริบท ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ และขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นรัฐบาล สิ่งเหล่านี้เรียกว่าบริบทของความเงียบ อย่างการจัดนิทรรศการที่นี้ก็มีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยม ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของความเงียบเหมือนกัน แต่เราก็ไม่รู้หรอกว่าเขาต้องการจัดการอะไรกับความเงียบ

ประเด็นต่อมาคือว่า นิทรรศการ ถือเป็น Soft Power ของประชาชน ซึ่งมันสำคัญ แต่อยากให้มองภาพใหญ่ด้วย ในแง่ที่ว่าเวลาเราพูดถึงเหตุการณ์ความรุนแรงของมนุษยชาติ คนกระทำกับคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนกลุ่มหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจ และเป็นรัฐเองด้วยที่ต้องดูแลประชาชน แต่กลับทำร้ายประชาชนจนบาดเจ็บล้มตาย สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นทั่วโลก ในภาพใหญ่การจัดการกับความทรงจำมันอยู่ในกระบวนการของการเปลี่ยนผ่านสังคม ถึงจุดหนึ่ง รัฐจำนวนมากผ่านตรงนี้ไปด้วยวิธีที่รัฐต้องรู้สึก โดยรัฐและผู้มีอำนาจที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อการ จะต้องเป็นคนที่รู้สึกและรับผิดชอบต่อผู้มีอำนาจในอดีต ในฐานะที่ตนเองเป็นตัวแทนของผู้มีอำนาจเช่นกัน นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐที่เขาจะก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้ คือรัฐที่เปลี่ยนผ่านไปแล้ว

แต่สังคมไทย มักไม่ค่อยพูดเรื่องนี้ ทั้งที่มันมีเหตุการณ์เลวร้ายเหล่านี้เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดเวลา โจทย์ยาก ๆ เช่น การลอยนวลพ้นผิด สิ่งเหล่านี้จะต้องขจัดไป มันมีทางออกของมันอยู่ เพียงแต่ว่าต้องศึกษาเพิ่มเติม แล้วทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นสาธารณะให้มากขึ้น

การเยียวยาในระยะเปลี่ยนผ่าน จากรอยบาดแผล สู่ไมตรีจิต

รศ.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา อธิบายถึงหลักของความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน (transitional justice) ต่อกรณีตากใบไว้ว่า การเปลี่ยนผ่านในความหมายนี้ คือการเปลี่ยนจากรัฐบาลเผด็จการสู่ระบอบประชาธิปไตย แม้การเปลี่ยนผ่านในประเทศไทยยังครึ่ง ๆ กลาง ๆ แต่ก็ได้พ้นจากอำนาจของฝ่ายทหารที่ทำการรัฐประหารในปี 2557 ไปบ้างแล้ว รัฐบาลใหม่จึงมีภาระหน้าที่ในการตรวจสอบเหตุการณ์ย้อนหลังเพื่อคืนความยุติธรรม ซึ่งควรใช้ในกรณีที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ การทรมาน การลักพาตัว กรณีตากใบและการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ น่าจะเข้าข่ายการคืนความยุติธรรม โดยเฉพาะอาจถือว่ากรณีตากใบคือการสังหารหมู่นั่นเอง

หลักสี่ข้อของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านคือ

  1. สืบสวน ดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด
  2. เปิดเผยความจริงแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสังคมโดยรวม
  3. ช่วยเหลือและชดเชยแก่ผู้สูญเสียอย่างเหมาะสม
  4. คัดกรองเจ้าหน้าที่รัฐที่มีประวัติเลวร้ายในการละเมิดสิทธิมนุษยชนออกจากหน่วยงานของรัฐ

ในกรณีตากใบ รัฐบาลได้ดำเนินการตามหลักของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านในบางเรื่องแล้ว แต่กระนั้น ยังควรพิจารณาว่า รัฐบาลได้นำหลักดังกล่าวมาใช้มากน้อยเพียงใด สำหรับหลักข้อแรก เป็นที่ชัดเจนว่า รัฐบาลบกพร่องที่จะปฏิบัติตาม โดยละเว้นที่จะดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด

ส่วนหลักข้อที่สอง หลังเหตุการณ์ใหม่ ๆ หน่วยงานของรัฐในพื้นที่ได้พยายามกระทำในทางตรงกันข้าม พยายามปกปิดให้เหตุการณ์เลือนหายไปจากความทรงจำ ถึงกับมีการข่มขู่คนในพื้นที่มิให้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะภาพ และวีดิทัศน์ และการบอกเล่าเหตุการณ์ให้สื่อทั้งในและนอกประเทศ ต่อมา รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการสืบหาความจริง แต่ก็ไม่เปิดเผยรายงานของคณะกรรมการฯ อย่างไรก็ดี มีแต่องค์กรภาคประชาสังคมที่ยังพยายามรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ การจัดนิทรรศการและการเสวนาเรื่อง “สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547” เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเผยแพร่ข้อมูลโดยภาคประชาสังคม

หลักข้อสาม รัฐบาลได้เยียวยาด้วยเงินที่มากเป็นประวัติการ แต่อีกทางที่สามารถทำได้คือการทำให้เกิดการเยียวยาทางสังคม ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนจากรอยบาดแผลสู่ไม่ตรีจิต ส่วนข้อสุดท้าย คงยากที่จะคัดกรองผู้มีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชนออกจากหน่วยงานของรัฐ แต่ข่าวดีก็คือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ปี 2565 มีผลบังคับใช้แล้ว จึงหวังว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างจริงใจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิผลต่อไป

ในช่วงเวลาที่ผ่านมานานถึง 19 ปี พื้นที่ตากใบมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง สนามหน้า สภ.ตากใบ ถูกปรับปรุงจนไม่เหมือนในอดีต เจ้าหน้าที่ทหารไม่ใช่คนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น แม้แต่ตำรวจ สภ.ตากใบ ก็ไม่ใช่ชุดเดียวกับในปี 2547 แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ช่วยลดทอนความโกรธของผู้สูญเสียจนเจือจางลงไปมาก แต่อีกหลายความรู้สึกทั้งเสียใจ เจ็บปวด และหวาดกลัว ยังคงชัดเจนในความทรงจำของผู้คน แต่กลับไม่ถูกพูดออกมามากนัก เสียงของความรู้สึกเหล่านี้จึงยังต้องการพื้นที่ให้ได้เปล่งเสียงออกมา