“ความสิ้นหวัง เป็นบาป” 19 ปี เหตุสลด ตากใบ …ชีวิตยังเดินต่อได้ แม้เจ็บปวด

 

ไม่มีใครคาดคิด ว่าการออกไปรวมตัวชุมนุมของพี่น้องมุสลิมนับพันคน ด้านหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัว ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คน เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 คือวันสุดท้ายของหลายชีวิตในเหตุการณ์วันนั้น  

7 ศพแรกเกิดขึ้นภายหลังเหตุสลายการชุมนุม ที่ถูกสื่อสารมาจนถึงวันนี้ ว่ามีทั้งแก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำ ไม่เว้นแม้แต่ กระสุนจริง  

1,370 คือ จำนวนผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัว ทั้งชายและหญิงถูกจับแยกกัน ผู้ชุมนุมชายถูกสั่งให้ถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง นอนซ้อนทับกันในท้ายรถบรรทุกหลายคัน เป้าหมายคือนำตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี  

78 ศพคือความสูญเสียครั้งร้ายแรงของเหตุการณ์ เมื่อเหตุสลดถูกสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นจากวิธีการขนย้ายผู้ชุมนุม ระยะทางเกือบ 150 กิโลเมตร จากตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธฯ แต่กลับใช้เวลานานกว่า 6 ชั่วโมง ส่งผลให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัว ถูกกดทับ ขาดอากาศหายใจ ขาดน้ำ ถึงขั้นไตวายเฉียบพลัน ผู้รอดชีวิตบางคนต้องแลกมาด้วยความพิการ 

19 ปีผ่านไป แม้รัฐเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ แต่คำถามที่ยังวนเวียนอยู่ตลอด คือ การกระทำเช่นนี้สมควรหรือไม่ ? ที่จะเกิดขึ้นกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน 

ขณะที่ปีหน้า (ปี 2567) เหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบ กำลังจะหมดอายุความ โดยที่ยังไม่พบผู้กระทำผิดจากเหตุความสูญเสียครั้งใหญ่ จนถูกทำให้เชื่อว่านี่คือหนึ่งในชนวนเหตุของความไม่สงบชายแดนใต้มาถึงทุกวันนี้…

เรื่องราวความทรงจำตลอด 19 ปี อาจค่อย ๆ เลือนหายไปจากการรับรู้ของผู้คน แต่สำหรับครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ คงยากจะลืม หลักศาสนาจึงถูกนำมาเป็นตัวช่วยเพื่อเยียวยาความเจ็บปวด พร้อมกับสร้างความหวังให้ชีวิตเดินหน้าต่อเพราะ “ความสิ้นหวัง เป็นบาป” 

มัสยิด 300 ปี ประตูกลับบ้าน ศพไร้ญาติเหตุการณ์ตากใบ

ครั้งแรกที่ The Active ลงพื้นที่ จ.นราธิวาส พร้อมทั้งมีโอกาสเดินทางไปยัง “มัสยิดวาดีลฮูเซ็น” ที่คนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อ “มัสยิด 300 ปี” ที่บ้านตะโละมาเนาะ ตำบลลุโบะสาวอ ความเก่าแก่ ความโดดเด่นของมัสยิดที่สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง รูปทรงแบบไทยพื้นเมืองประยุกต์เข้ากับศิลปะจีนและมาลายู  หออาซานมีลักษณะเป็นเก๋งจีน ตั้งบนหลังคา ภายในเป็นที่เก็บรักษาพระคัมภีร์อัลกุรอาน เขียนด้วยลายมือของ “วันฮุซซานาวี” อิหม่ามคนแรกของมัสยิด  ทำให้มัสยิด 300 ปี ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวมุสลิม ทั้งในไทย และเพื่อนบ้านมาเลเซีย  

เรามีโอกาสได้เยี่ยมชมโดยรอบมัสยิด ฝั่งซ้ายเป็นพื้นที่สุสาน หรือ “กุโบร์”  หากเป็นผู้ชาย มีหินประดับบนหลุมฝังศพเป็นทรงกลม  ส่วนผู้หญิง เป็นหินเพียงซีกเดียว  

อีกเรื่องที่ได้เรียนรู้ คือ ชาวมุสลิมอยู่ร่วมกับกุโบร์อย่างไม่หวาดกลัว เด็ก ๆ วิ่งเล่น มีสนามฟุตบอล ชุมชน และพื้นที่สาธารณะใกล้กับกุโบร์ นั่นอาจเป็นเพราะมุสลิม มีหลักสำคัญไว้เตือนใจในคัมภีร์อัลกุรอาน ว่า “ทุกชีวิตย่อมลิ้มรสความตาย” อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงยืนยันว่า “ทุก ๆ คนต้องตาย ทุก ๆ สิ่งมีชีวิตต้องตาย จึงถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทำให้ไม่หวั่นกลัวกับความตาย”

จากกุโบร์ เราเดินไปตามทางลูกรัง ผ่านสวนเงาะ สวนลองกอง  จนไปพบป้ายสลักชื่อเป็นภาษามาลายู  

ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ตรงนี้ฝังศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ 22 ศพ ทั้งหมดคือ “ศพไร้ญาติ”  ไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนว่าเป็นใคร และถูกนำมาฝังไว้ที่นี่ เมื่อ 19 ปีก่อน

ดูเหมือนเรื่องราวในอดีตถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง จากปากคำของชาวบ้านอีกคน ที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ พร้อมออกตัวก่อนเล่า ว่านี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ยังไร้ซึ่งข้อสรุป และไม่มีคนรับผิดชอบ แต่ยืนยันว่า อยู่ในเหตุการณ์ ระหว่างที่ศพถูกขนมาฝังที่นี่ เขาเล่าย้อนความหลังให้เราฟัง ว่า วันนั้นมีผู้คนเดินทางมาจำนวนมากทั้งคนใน และนอกพื้นที่ เพื่อมาติดตามการขนย้ายศพจากค่ายอิงคยุทธฯ บางคนมาดูว่าใช่ญาติตัวเองหรือไม่บางคนไม่กล้าดู เพราะศพ 3 วัน ทั้งอืด ทั้งบวม 

“ตอนนั้นมาที่นี่ 24 ศพ มีคนแสดงตัวเป็นญาติขอรอรับ 2 ศพ กลับไป แต่ได้ยินว่าพอนำศพกลับถึงบ้าน พบว่าไม่ใช่ญาติตัวเอง ก็เลยทำพิธีให้ ไม่ได้นำกลับมา จึงเหลือฝังที่นี่เพียง 22 ศพ” 

เมื่อเราถามถึงอารมณ์ความรู้สึกผู้คนในเวลานั้น เขาบอกว่า ทุกคนต่างหดหู่ เพราะมองว่าเป็นความรุนแรงที่ประชาชนถูกกระทำ เหมือนไม่ใช่คน

“คนที่อยู่ในเหตุการณ์ตากใบ บางคนเป็นเพียงคนสัญจรผ่านไปมา ก็กลับโดนจับ บางคนกลับมาจากไปทำงานมาเลเซีย เห็นคนเยอะ ก็แวะเข้าไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นก็โดนไปด้วย โดนโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แต่ถ้าโดนกับคนที่พิสูจน์ว่าก่อกวนจริง ๆ อันนี้ก็ไม่ได้หดหู่อะไร นี่หดหู่กับคนที่เขาจะกลับบ้าน กลับไปหาลูกเมีย ซึ่งจริง ๆ เวลาตอนนั้นปกติเขาต้องกลับบ้าน คนที่บ้านก็รอเขาอยู่ จึงเป็นความสูญเสียที่ไม่น่าเกิดกับคนที่ไม่เกี่ยวข้อง” 

แล้วทำไม 22 ศพไร้ญาติ ถูกนำมาฝังไว้ที่กุโบร์ มัสยิด 300 ปี ชาวบ้านก็เชื่อว่า เป็นเพราะกรรมการที่พิจารณาตอนนั้น อาจเป็นคนละแวกนี้ ซึ่งตรงนี้มีพื้นที่กว้างขวาง มีมัสยิดเก่าแก่ คนที่มาศึกษาเรียนรู้ศาสนา จะได้รับรู้ย้อนทบทวนบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย 

จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน หากมองในทางประวัติศาสตร์ พื้นที่แห่งนี้ ถือเป็นอนุสรณ์ ย้อนเตือนความทรงจำถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญ แต่มุมของนักวิชาการที่ลงพื้นที่ติดตามเรื่องนี้ และมีโอกาสพูดคุยกับผู้นำศาสนา บอกถึง เหตุผลการตัดสินใจนำศพไร้ญาติ มาฝังใกล้ ๆ มัสยิดตะโละมาเนาะ เพราะเป็นพื้นที่เก่าแก่ และอาจหมายถึง “ประตูกลับสู่นราธิวาส“

“ไม่รู้ว่าศพเหล่านี้ จริง ๆ เขาเป็นคนที่บาเจาะ คนตากใบ หรืออำเภอไหน นี่จึงถือเป็นประตูกลับบ้านของพวกเขา แต่ก็มีความพยายามตั้งคำถามในเชิงโจมตีว่า บาบอ (ผู้นำศาสนา) ต้องการจะสู้อัตลักษณ์มาลายูหรือไม่ เลยเลือกที่เก่าแก่ที่สุด แต่บาบอยืนยันว่า ต้องเป็นที่นี่ ไม่มีเหตุผลอื่นใด นอกจากเป็นประตูกลับบ้านของพวกเขา“  

“ศพไร้ญาติ” เสียงเงียบที่สุด จากเหตุการณ์ตากใบ

ยังคงมีหลายคำถามที่วนเวียนในหัวจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ เพราะเชื่อว่ายังมีเสียงจากอีกหลายครอบครัวที่สูญเสีย ไม่มีแม้แต่โอกาสได้สื่อสาร แต่เสียงที่น่าจะเงียบที่สุดจากเหตุสลด ก็คงหนีไม่พ้นศพไร้ญาติทั้ง 22 ศพ 

ในฐานะที่ศึกษาเรื่องราวตากใบมาต่อเนื่อง ผศ.แพร  ศิริศักดิ์ดำเกิง จากภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่า จริง ๆ แล้วนอกจาก 22 ศพ ที่ไม่สามารถบอกได้ว่าเขาคือใคร ครอบครัวผู้สูญหายก็ไม่สามารถรู้ได้เช่นกันว่าลูกหลานของพวกเขาไปไหน 

จากที่เคยลงพื้นที่เก็บข้อมูล นำไปสู่การจัดแสดงในนิทรรศการ “สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547” มีหนึ่งเรื่องราวที่อาจเชื่อมโยง คือ  “กระเป๋าสตางค์ของอาดูฮา” โดยคำบอกเล่าจากแม่ ที่ในเวลานั้นอาดูฮา อายุ 20 ปี เขาหายไปจากเหตุการณ์ตากใบ  ซึ่งแม่ได้เก็บกระเป๋าตังค์ที่ลูกใช้ พร้อมทั้งใบสูติบัตร และ มรณบัตร ที่เอาไว้ข้าง ๆ กัน เพราะแม้จะหาลูกไม่เจอ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ย้ำเตือนว่าลูกของเธอเคยมีชีวิตอยู่

กระเป๋าสตางค์ของอาดูฮา สูติบัตร และมรณบัตร ที่แม่เก็บไว้

“แม่เชื่อว่า ลูกน่าจะเป็น 1 ใน 22 ศพ ที่กุโบร์ตะโละมาเนาะ การสูญหายไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นหลักฐานการมีชีวิตอยู่ของอาดูฮา เท่ากับสูติบัตร และมรณบัตร การเก็บสองอย่างนี้ไว้เพื่อบอกว่า ลูกเขาเคยเป็นคนที่มีชีวิตอยู่จริง นี่ก็คือเสียงที่เงียบมาก ๆ เลยใช่ไหมคะ คือต้องการหลักฐาน ต้องการการยืนยัน ว่า คน ๆ หนึ่งเคยมีชีวิตอยู่  แต่เขาไม่รู้อยู่ไหน 

ถ้าถามว่านี่เป็นเสียงที่เงียบที่สุดไหม ก็คงเป็นเสียงที่เงียบที่สุด ในบรรดาทั้งหมด เพราะคนที่สูญเสียอื่น ๆ ยังบอกว่าได้ว่า สามีเขา ลูกเขา พ่อเขา ตายในเหตุการณ์ตากใบ ถูกฝังอยู่ที่กุโบร์ใกล้ๆบ้าน เป็นการยืนยันว่าเขาเคยมีชีวิตในหมู่บ้านแห่งนี้ แต่คนที่สูญหายไปนี่ ไม่รู้อยู่ที่ไหน” 

22 ศพไร้ญาติ สะท้อนการจัดการรัฐ ไร้ซึ่งสิทธิความเป็นมนุษย์ และศาสนา

ผศ.แพร ยังสะท้อนถึงกระบวนการจัดการศพของเจ้าหน้าที่รัฐ ว่า ไม่รู้ในวัฒนธรรม หรือถ้ารู้ ก็ไม่ได้เคารพความเป็นมนุษย์ของผู้เสียชีวิต เพราะไม่ใช่แค่ 22 ศพไร้ญาติ แต่พบว่าผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ ถูกจัดการโดยไม่ได้คำนึงถึงหลักศาสนา และความเป็นมนุษย์เลย 

เธอย้ำว่า จากที่เคยคุยกับ “บาบอแม” ผู้นำศาสนาที่นราธิวาส และเป็นกรรมการกลางอิสลามในตอนนั้น เล่าย้อนถึงวันเกิดเหตุ วันนั้นบาบอแมอยู่กรุงเทพฯ กำลังประชุมอยู่แถวรามคำแหง ก็มีโทรศัพท์ บอกให้ช่วยด้วยมีคนตายเยอะมากที่ค่ายอิงคยุทธฯ ทุกคนที่ประชุมอยู่ตอนนั้นก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น จนมารู้ว่าเกิดเหตุการณ์ที่ตากใบ จึงปรึกษากันในที่ประชุม ให้บาบอแม เดินทางมาที่ค่ายอิงคยุทธฯ วันรุ่งขึ้น คือวันที่ 26 ตุลาคม 2547 ทันที  พอมาถึงค่ายอิงคยุทธฯ บาบอแม บอกว่า กลัวมาก เพราะเป็นเหตุการณ์ที่มีปัญหากับชาวมุสลิม เลยโทรคุยกรรมการอิสลาม 3 จังหวัด และเข้าไปด้วยกัน จนได้เห็นสภาพศพวางเกลื่อนอยู่กลางสนาม  

“สำหรับคนมุสลิมเขาสะเทือนใจมาก เพราะศพถูกวางกลางแจ้ง ตามหลักศาสนา ศพมีความอายแม้เป็นศพแล้วก็ตาม ไม่ควรทิ้งไว้กลางแจ้ง บาบอแม บอกว่า การปฏิบัติกับหมู กับหมา ยังทำดีกว่านี้ แต่ทำไมถึงไม่มีโลงใส่ให้ศพ หลายคนเข้าไปเห็นต่างก็ร้องไห้  และพยายามต่อรองทำพิธีก็ไม่ได้ จนพอวันที่ 3 ตัดสินใจมาฝังที่ตะโละมาเนาะ หรือมัสยิด 300 ปี เป็นที่เก่าแก่ และมองเป็นประตูสู่นราธิวาส” 

ผศ.แพร  ศิริศักดิ์ดำเกิง ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 
เสื้อของ “บาบอแม” ใส่ประกอบพิธี 22 ศพไร้ญาติ

บาบอแม ยังคงย้อนความทรงจำได้เป็นอย่างดี ว่า จริง ๆ แล้วเขากลัวเลือด ไม่ชอบเห็นศพ แต่วันนั้นเป็นศรัทธาพระเจ้า ที่ทำให้เขาเข้มแข็ง ช่วยดูแล 24 ศพ มาจนถึงมัสยิด 300 ปี กลิ่นศพคละคลุ้งไปหมด บาบอแมมีเสื้อสีน้ำเงินยาว เสื้อตัวนี้ประกอบพิธีศพ กลิ่นศพยังติดอยู่ และยังเก็บไว้มาจนถึงตอนนี้ 

ถึงตรงนี้ เราจึงได้เรียนรู้ว่าทุกขั้นตอนของการจัดการเรื่องราวในเหตุการณ์ตากใบ ล้วนเป็นบทเรียนการจัดการกับกลุ่มคนที่เห็นต่างจากรัฐ กลุ่มคนที่เขามาชุมนุม กันอย่างตั้งใจ ไม่ตั้งใจ คนที่แค่แวะมาดู คนที่เดินทางผ่านมา คนที่มาตลาดแล้วแวะเข้ามา หรือคนที่ได้รับทราบข่าวที่อาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น ว่า  รวมตัวกันละหมาดฮายัต เราควรจะทำอย่างไร กับวิธีการที่รัฐเข้าไปจัดการจนนำไปสู่ความรุนแรง นี่คือสิ่งที่ต้องกลับมาตั้งคำถาม 

แม้วันนี้อาจเดินหน้าถึงการเยียวยาแล้ว แต่การเยียวยาด้วยเงิน สามารถชดเชยความเจ็บปวดนั้นได้หรือไม่ หากยังไม่มีแม้กระทั่งคำขอโทษ หรือการยอมรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  และเพียงพอหรือไม่ ที่จะชดเชยความรู้สึกของครอบครัวผู้สูญเสีย 

“ความสิ้นหวัง เป็นบาป” คำสอน เดินหน้าต่อได้ แม้เจ็บปวด 

แล้วสังคมไทยมีกระบวนการเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้หรือยัง ? เป็นคำถามที่ ผศ.แพร ชวนคิด ว่า วันนี้ผ่านมา 19 ปี สำหรับคนนอกอาจลืมเลือนไปแล้วกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ครอบครัวผู้สูญเสียไม่เคยลืม ความโกรธอาจเยียวยาให้หายไปได้บ้าง ด้วยหลักศาสนา ถามว่าสิ่งเหล่านี้ใครควรเรียนรู้ ซึ่งต้องไม่ใช่คนที่ถูกกระทำ แต่คือคนในสังคมไทย และคนที่กระทำความรุนแรงต่างหากที่ควรเรียนรู้  

คำถามต่อมา คือ เราพร้อมหรือยังที่จะป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก เพราะหลายครั้งหลายเหตุการณ์ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้น เช่น การสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง 

“เราเรียนรู้ที่จะเห็นความเป็นมนุษย์ของเพื่อนที่เห็นต่างจากเราบ้างหรือยัง”  นี่เป็นพื้นฐานที่สุดของการเคารพผู้อื่น ก็คือการเรียนรู้ที่จะจัดการกับผู้ที่เห็นต่างกับเราด้วยสันติวิธี 

“สิ่งเหล่านี้จะเป็นความหวังได้ไหม มันจะเป็นความหวังได้เสมอ ถ้าหากเราทุกคน เรียนรู้ว่า จะไม่ทำให้มันเกิดขึ้นอีก ส่วนตัวรู้สึกว่าความหวังอยู่ที่ ถ้าวันหนึ่งเสียงของตากใบ ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของสังคมไทย ที่จะไม่ยอมให้ความรุนแรง กระทำต่อผู้ที่เห็นต่างขนาดนี้ ทำให้เขาสูญเสียชีวิต อันนี้เป็นความหวังมาก ที่จะต้องทำให้เกิดให้ได้” 

ผศ.แพร  ศิริศักดิ์ดำเกิง ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 
ผศ.แพร  ศิริศักดิ์ดำเกิง ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

คำพูดหนึ่งจากครอบครัวผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ ย้ำเตือนอยู่เสมอ แม้ยอมรับเป็นเรื่องยากจะก้าวผ่านความเจ็บปวด แต่สิ่งที่ยังพอทำให้ชีวิตเดินหน้าไปได้บ้าง ก็เพราะหลักสำคัญทางศาสนาอิสลาม ไว้คอยเตือนตัวเอง ว่า  “ความสิ้นหวัง เป็น บาป”  จึงต้องอยู่กับปัจจุบัน และมองความหวังข้างหน้า นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ศาสนาช่วยทำให้ชีวิตเดินหน้าต่อไปได้ เพราะฉะนั้นถามว่า ความหวังอยู่ตรงไหน ก็คงต้องบอกว่า ความหวังอยู่ที่การเรียนรู้บทเรียน เพื่อไม่ทำให้เกิดขึ้นอีก  

“อีกเรื่องสำคัญคือต้องยุติความรุนแรง ต้องยอมรับก่อนว่า ใครเป็นผู้กระทำ สิ่งใดที่ผิด สิ่งใดที่พลาด ก็ควรจะออกมายอมรับ อย่าง เหตุการณ์ตากใบกระทำผิดพลาดอย่างไร เพื่อให้คนรู้สึกว่า เขามีความพยายามยอมรับผิด ถ้าเราพูดในแง่นี้มันเป็นเรื่องของการพยายามลอยนวลพ้นผิดจากสิ่งที่เกิดขึ้นใช่หรือไม่  ยังไงเหตุการณ์นี้ก็ต้องมีอะไรบางอย่างที่ผิดพลาด ที่ทำให้คน 78 คน ในรถเสียชีวิต  ทุกวันนี้ยังไม่มีคำอธิบายเหล่านั้นออกมา แม้มีคณะกรรมการพิสูจน์แล้วว่าทำเกินหลักสิทธิมนุษยชน หรืออะไรก็ตาม ก็ไม่มีคำขอโทษใด ๆ เลย จนคดีจะสิ้นสุดแล้วในปีหน้า (ปี 2567) ถ้าสังคมเห็นว่านี่เป็นปัญหา อย่างน้อยนะคะ คิดว่าถ้าอยากให้เกิดความหวัง สังคมต้องเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ไม่ควรยอมรับได้ เพราะเป็นความรุนแรงที่กระทำต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างที่ไม่สามารถยอมรับได้” 

ผศ.แพร  ศิริศักดิ์ดำเกิง ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 

แค่สังคมรู้สึกว่าต้องมีคำตอบบางอย่างจากผู้ปฏิบัติการ หรือผู้กระทำ น่าจะเป็นก้าวแรก ที่ทำให้เห็นว่า ทุกคนสามารถช่วยกันหยุดไม่ให้เกิดความรุนแรง จนนำไปสู่เหตุสลดซ้ำรอย “ตากใบ” เกิดขึ้นอีก 

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ