“ลดความเหลื่อมล้ำ” ในระบบ “กองทุนหลักประกันสุขภาพ”
โจทย์ใหญ่… ที่ยังไม่มีพรรคไหนพูดถึง
ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 หลายพรรคการเมืองชูนโยบายหาเสียงอย่างเข้มข้น นอกจากนโยบายปากท้องแล้ว นโยบายด้านสุขภาพ เป็นอีกนโยบายที่หลายพรรคให้ความสำคัญ เพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัว วิถีการใช้ชีวิต ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คนเจ็บป่วยกันง่าย
หลังจากมีนโยบาย บัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคเมื่อปี 2545 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบบริการสุขภาพ และสะท้อนว่าการเลือกตั้งมีส่วนอย่างมากในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุข
ขยายบริการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง, ให้บริการเครื่องฉายรังสีทุกจังหวัดและศูนย์ฟอกไตทุกอำเภอ, พัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งให้บริการดูแลสุขภาพจิตทั้งที่สถานพยาบาลใกล้บ้านและผ่านระบบการแพทย์ทางไกล และผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ คือตัวอย่างนโยบายด้านสุขภาพ ที่พรรคการเมืองนำเสนอ ในเวลานี้
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI นำเสนอบทความก่อนหน้านี้ระบุว่าแม้การขยายบริการและเพิ่มสิทธิต่าง ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ก็มีต้นทุนทางการคลังในระดับที่สูง
จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทย มีแนวโน้มภาระงบประมาณด้านสาธารณสุข ที่สูงขึ้นทุกปี ตัวอย่างเช่นงบประมาณบัตรทอง วงเงิน ปี 2563 อยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นทุกปี คาดว่าปี 2567 จะมีการเสนอวงเงินบัตรทองที่สูงถึง 2.1 แสนล้านบาท
อีกประเด็นสำคัญ คือเตรียมโครงสร้างการสั่งการเพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ ตลอดจนอุบัติภัยทางสุขภาพต่าง ๆ โดยพัฒนา องค์กรเจ้าภาพที่ติดตามปัญหาเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง และสามารถสั่งสมความรู้ทั้งด้านวิชาการและนโยบาย ทำให้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น องค์กรดังกล่าวจะสามารถยกระดับขึ้นมาเป็นศูนย์กลาง โดยไม่ต้องตั้งโครงสร้างใหม่ เช่น ศบค. ซึ่งแม้มีอำนาจมาก แต่ก็ขาดความพร้อมในการรับมือปัญหาในเชิงรุก
เช็กลิสต์นโยบายสาธารณสุขพรรคการเมือง
สรุปภาพรวมนโยบายสาธารณสุขที่พรรคการเมืองใช้หาเสียง เลือกตั้ง 66 นโยบายที่แทบทุกพรรคกล่าวถึงคือการยกระดับ สิทธิ์บัตรทอง (แต่ไม่ได้พูดถึงสิทธิ์ประกันสังคม) รักษาทุกที่ นโยบายรองรับสังคมสูงวัย ผู้ป่วยติดเตียง แต่นโยบายที่ถูกพูดถึงน้อยคือ นโยบายด้านสุขภาพจิต ท่ามกลางสังคมที่มีคดีอาชญกรรมแปลก ๆ เกิดขึ้นเพราะการเข้าไม่เข้าจิตแพทย์ทั้งยังมีค่าใช้สูง และที่สำคัญคือมีเพียง 2 พรรคการกล่าวถึงการแก้ปัญหาบุคคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่มีแต่จะเพิ่มจำนวนอุปสงค์ แต่ไม่เพิ่มอุปทาน ไม่แก้ปัญญาคอขวดในระบบสาธารณสุข
เปรียบเทียบเคสสิทธิ์บัตรทอง-ประกันสังคม
การลดความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายสาธารณสุขยังไม่ได้พูดถึง แม้เราจะเห็นการยกระดับบัตรทอง แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงคนใช้สิทธิ์ประกันสังคม สิทธิ์ประโยชน์ต่าง ๆ จึงไม่เท่ากัน นี่ยังไม่นับรวมสิทธิ์การรักษาของข้าราชการ
ตัวอย่าง ชายวัย 59 ปี กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หลังประสบอุบัติเหตุหกล้มในบ้านพักเมื่อ 2 ปีก่อน ชุติมา รัตนสินทรัพย์ ผู้เป็นพี่สาวต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ครอบครัวนี้อาศัยอยู่ที่ ชุมชนตำบลรอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย จะมีแพทย์สหวิชาชีพ และ อสม. มาลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเป็นประจำทุกสัปดาห์ ประชากรที่นี่ส่วนใหญ่ ใช้สิทธิ์บัตรทอง รวมชายคนนี้
ชุติมา บอกว่า รู้สึกสะดวกมากขึ้น เพราะจะมีคนมาคอยให้คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัว การกินยาให้ เมื่อมีปัญหาก็จะโทรหาโรงพยาบาล ก็จะส่งทีมมาดูแลเช่น มาเปลี่ยนสายยาง เปลี่ยนอุปกรณ์ หลอดอาหาร แนะนำอาหารที่ป้อน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สวนทางกับ ใช่ฮั้ว แซ่เง้ง ผู้ป่วยติดเตียง สิทธิ์ประกันสังคม อาศัยอยู่ในเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร เขาเป็นผู้พิการ หลังประสบอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ เมื่อหลายสิบปี ที่ต้องรับการเปลี่ยนสายปัสสาวะเป็นประจำทุกเดือน เขาต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะไม่ได้ใช้สิทธิ์บัตรทอง
แต่ใช้ฮั้วก็มีเหตุผลให้ต้องรักษาสิทธิ์ประกันสังคม เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเมื่อเจ็บป่วยอาการหนักจะมีเตียงในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน
ความแตกต่าง ของการสิทธิ์บัตรทอง และประกันสังคม ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพอย่างชัดเจน ซึ่งมีข้อดี ข้อเสีย ต่างกันไป นำมาสู่คำถามว่า จะดีกว่าหรือไม่ หากนำข้อดีของทั้ง 2 สิทธิ์สุขภาพมารวมกับได้
ข้อเสนอแฮกกองทุนประกันสังคม
ที่มาที่ไปของข้อเสนอแฮกกองทุนประกันสังคม มาจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม HackThailand 2575 เป็นความพยายามลดความเหลื่อมล้ำของผู้ประกันตน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ต้องจ่ายเงินเพื่อสิทธิ์ในการรักษาสุขภาพ ขณะที่สิทธิ์บัตรทองและข้าราชการไม่ต้องจ่ายเงิน ทำให้ผู้ใช้สิทธิ์รักษาสุขภาพในระบบประกันสังคมเสียเปรียบเมื่อเทียบกับผู้ใช้สิทธิ์การรักษาอื่น
ขณะที่บัตรทองพัฒนาสิทธิประโยชน์ไปมากกว่าผู้ประกันตนแล้ว และมีข้อจำกัดในการรักษาน้อยกว่าประกันสังคม ซึ่งต้องไปรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ์ในขณะที่บัตรทองพัฒนาไปสู่การรักษาพยาบาลทุกที่
ด้านเสียงตอบรับจากพรรคการเมืองมากที่สุด พรรคประชาธิปัตย์ ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เห็นด้วยกับการลดความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพแต่ตั้งคำถามว่าจะรับมือกับงบประมาณการรักษาสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่หลังช่วง โควิด-19 ที่ผ่านมาอย่างไรในยุคปัจจุบันที่ทั้งค่ายาและค่าเวชภัณฑ์มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
นพ.พรเทพ โชติชัยสุวัฒน ผู้เชี่ยวชาญ สปสช. เขต 2 พิษณุโลก หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม HackThailand ชี้แจงว่าการรวมข้อมูลผู้ป่วยจะทำให้ทราบปริมาณการใช้ยา และเพิ่มอำนาจการต่อรองเจราจาซื้อขายในจำนวนมากให้ราคาลดลงได้
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ กล่าวว่าในช่วง โควิด-19 ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นระหว่างคนสิทธิ์บัตรทองรับประกันสังคมซึ่งเห็นด้วยที่จะต้องมีการปรับแก้กฎหมายดังกล่าว
สุขภาวะ ควรเป็นเป้าหมายของประเทศ
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เชื่อว่าเรื่องสุขภาพ เชื่อมโยงไปยังทุกมิติของสังคม การสร้างสุขภาวะที่สมบูรณ์ของคนไทย จึงควรเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาประเทศ ที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งฝ่ายการเมือง และภาคประชาชนทำงานร่วมกัน
นอกจากพรรคการเมืองที่มีบทบาทขับเคลื่อนนโยบายผ่านการเลือกตั้งแล้ววงการสาธารณสุขยังมีหน่วยงานที่รับฟังความต้องการ วิจัยปัญหา และพัฒนาการระบบสาธารณสุข ผ่านองค์กรตระกูล ส. ที่ขับเคลื่อนสังคมได้เลยโดยไม่ต้องรอพรรคการเมือง
ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานกรรมการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) บอกว่า การสร้างสุขภาวะไม่ใช่งานของกระทรวงสาธารณสุขเพียงกระทรวงเดียว แต่เกี่ยวพันทุกกระทรวง เป็นสาเหตุที่เราต้องตั้งเป้าหมายสูงสุด คือการสร้างสุขภาวะ แบบองค์รวม สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การศึกษา ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ไม่ทำแบบแยกส่วน จึงอยากให้ทุกพรรคการเมืองมีเป้าหมายสูงสุดเหมือนคือการสร้างสังคมสุขภาวะ จะช่วยให้คนไทยมีสุขภาพดีไม่เจ็บป่วย