สวัสดิการ 2 ระบบ ปิดช่องว่างเหลื่อมล้ำทุกมิติ

การแก้ปัญหาโดยเริ่มจาก “เด็กปฐมวัย” เป็นนโยบายที่คุ้มค่า

แม้ตัวเลขอย่างเป็นทางการจะสะท้อนว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเหลื่อมล้ำไม่สามารถวัดจากความต่างกันของรายได้ และการถือครองทรัพยากรเพียงอย่างเดียว สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำที่แทรกตัวอยู่ในทุกช่วงวัย ตั้งแต่ครรภ์มารดา-เชิงตะกอน

ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส-ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้-ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง จึงมีความเกี่ยวโยงกันโดยไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และไม่สามารถใช้มาตรการเฉพาะหน้าแก้ปัญหาได้

การลดเหลื่อมล้ำระยะยาว จำเป็นต้องแก้เชิงโครงสร้าง และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาทุนมนุษย์ ให้เข้าถึงทรัพยากร และการประกอบอาชีพไปพร้อมกัน The Active สัมภาษณ์พิเศษ นฎา วะสี สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฉายภาพความเหลื่อมล้ำ และทางออกของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

อุดช่องว่างเหลื่อมล้ำโอกาส เริ่มต้นที่ “เด็กปฐมวัย”

นฎา วะสี สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ มองว่า รากปัญหาสำคัญของความเหลื่อมล้ำมาจากโอกาสที่ไม่เท่ากันในช่วงวัยเด็ก จากงานวิจัยที่เคยทำ ความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีเพียง “ความมั่นคง และรายได้” แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำมิติของโอกาสที่เกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กด้วย

หากย้อนไปในวัยเด็ก การเข้าถึงการศึกษาที่ต่างกัน ก็เริ่มสร้างความเหลื่อมล้ำในมิติโอกาส แล้ว และความเหลื่อมล้ำก็ยังมีแนวโน้มที่จะสั่งสมเพิ่มขึ้นตลอดช่วงชีวิตของบุคคล อย่างเป็นวัฎจักรที่ส่งผ่านกันไปแบบรุ่นสู่รุ่น อ.นฎา ย้ำว่า ความเหลื่อมล้ำเริ่มตั้งแต่ยังอยู่ใน “ครรภ์มารดา-เชิงตะกอน” โดยเด็กแรกเกิดจะมีความเท่ากันมากที่สุด แต่จากนั้นก็จะค่อยๆ ต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในบทความหนึ่งของ อ.นฎา เรื่อง “โอกาส กับ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” ย้ำว่า การลดความเหลื่อมลํ้าไม่ได้หมายความว่า ต้องทําให้ทุกคนเท่ากัน แต่ควรทําให้ทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน การลดความเหลื่อมลํ้า จึงต้องไม่ใช่การลดโอกาสของคนที่มีโอกาสดีอยู่แล้วให้ลงมาเท่าเทียมกับคนที่ขาดโอกาส แต่ต้องเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับคน ที่ขาดแคลนให้สูงขึ้น

โดย อ.นฎา ได้สมมุติตัวอย่าง เด็ก 3 คน ที่เกิดมามีความคล้ายกันทุกมิติ จากนั้นจึงค่อยๆ แตกต่างเมื่อเติบโตขึ้น เวลานี้คนที่เข้าถึง และเป็นเจ้าของทรัพยากรได้มากกว่า ก็มีโอกาสที่จะทำมาหากิน สร้างรายได้ และเพียงพอที่ใช้อุปโภค-บริโภค เก็บออม และลงทุนเพิ่ม ทำให้คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะมั่งคั่งมากกว่าอีกกลุ่มที่เหลื่อมล้ำตั้งแต่มิติของโอกาส ส่งผลต่อการทำงาน เก็บออมรายได้ กู้หนี้ยืมสิน และกลายเป็นความไม่มั่นคงในชีวิตต่อไป

ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ เราควรให้โอกาสเท่ากันตั้งแต่เด็ก และให้พวกเขาไปแข่งกันเองในอนาคต การลดความเหลื่อมลํ้าไม่ใช่การลดโอกาสของคนที่มีโอกาสดีอยู่แล้วให้เท่าเทียมกับคนที่ขาดโอกาส แต่ต้องเพิ่มโอกาสให้คนที่ขาดแคลนมากขึ้น”

นฎา วะสี สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถานการณ์เหลื่อมล้ำเด็กเกิดน้อย-สูงวัยเพิ่มขึ้น

อ.นฎา ยกตัวอย่างปรากฎการณ์แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในต่างประเทศ พบว่า การเอาเบี้ยผู้สูงอายุออกไป มีผลทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น แต่ก็ยังส่งผลน้อยกว่าเงินอุดหนุนเด็กเล็ก การแก้ปัญหาโดยเริ่มจาก “เด็กปฐมวัย” เป็นนโยบายที่คุ้มค่า ต่างกับ นโยบายอื่น เช่น การเก็บภาษีที่อาจจะกระทบกับกลุ่มคนรวย ชนชั้นกลาง และลดแรงจูงใจในการทำงานของคนเก่ง ซึ่งได้ผลน้อยกว่าหากเทียบกับนโยบายที่จะทุ่มเทให้กับเด็ก แม้การศึกษาจะมีส่วนช่วยให้รายได้ดีขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมา ตัวเลขของคนที่จบการศึกษาสูงขึ้นมีชัดเจน แต่รายได้กลับไม่สอดคล้องกับระดับที่จบมา เช่น จบมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้การันตีว่า รายได้จะเพิ่มขึ้น เพราะหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้งค่าจ้างไม่ได้เติบโต และไทยอาจจะต้องเจอกับการผลิตคนที่ไม่ตรงกับที่ตลาดต้องการ

ภาพความเหลื่อมล้ำที่สภาพัฒน์วัดจากการบริโภควัด ทางรายได้ สินทรัพย์ งานที่เคยศึกษาช่วงก่อนโควิดในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เทรนด์ความเหลื่อมล้ำลดลง แต่หากมองไปถึงไส้ในของความเหลื่อมล้ำ สังคมไทยยังมีความน่าเป็นห่วง ช่วงโควิด-19 เป็นช่วงการเติบโตของอุตสาหกรรม มีคนวัยแรงงาน ย้ายเข้ามาทำงานในเมืองและส่งเงินกลับต่างจังหวัด แต่ถ้ามองกันในระยะยาวแล้ว ยังเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ยั่งยืน ปัจจุบันคนไทยมีลูกน้อยลง ขณะที่คนสูงวัยมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น ขณะที่การเติบโตของอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ดีเหมือนอย่างที่ผ่านมา เพราะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่คน ส่วนวัยแรงงานก็จะลดลง มีคนอายุในช่วง 55-60 ปี ที่มักจะออกจากงาน เป็นช่วงเวลาที่จะมีแรงงานมาจ่ายภาษีน้อยลง ขณะที่ระบบรองรับอย่างบำเหน็จ บำนาญ ยังคงแยกส่วน

“ปัจจุบัน มีคนที่โตขึ้น แก่ลง และทำอะไรไม่ได้มาก คนส่วนนั้นรัฐจะต้องช่วยอยู่ แต่ในระยะยาวก็ยังไม่ควรทิ้งความสำคัญการสนับสนุนเด็กเล็ก เช่น การสนับสนุนให้มีโอกาสทางการศึกษาที่ดี

เช่น ใน USA มีระบบที่สามารถทำนายผลการสอบของเด็ก 5 ขวบได้เลยว่าโตขึ้น เด็กเหล่านั้นจะไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอะไร? การลงทุนมนุษย์ไม่ต้องแลกอะไรเลย มีทั้งประสิทธิภาพ และคุณภาพ

ขณะที่นโยบายอื่น เช่น เรื่องภาษี อาจจะไปลดแรงจูงใจคนเก่ง ทำให้เขาอยากทำงานน้อยลง…”

นฎา วะสี สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ทางออกลดเหลื่อมล้ำตามช่วงวัย แนะทำ 2 ระบบสวัสดิการพุ่งเป้า และถ้วนหน้า

อ.นฎา ชวนคิดต่อว่า ถ้าไทยตั้งโจทย์ “อยากช่วยให้ทุกคนมีพอกินพอใช้ ไม่ลำบาก ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ก็ค่อยมาพิจารณากันต่อถึงทางเลือก…” เช่น ทางเลือกรัฐสวัสดิการ มี 2 ฝ่ายที่มองว่า งบประมาณไม่พอ ไม่มีแรงจูงใจให้กับคนที่ตั้งใจทำงาน อีกฝ่ายอาจจะบอกว่า ไม่พอกินพอใช้ แต่ถ้าเราตั้งโจทย์ว่าทุกคนพอกินพอใช้ อาจจะเริ่มจากระบบเล็ก ๆ เช่น เลิกกีดกันทางอายุ เพศ ฯลฯ ในการทำงาน แต่เราควรประเมินที่ทักษะมากกว่าหรือไม่ หรืออาจจะเป็นเรื่องระบบการออม ปัจจุบันที่มักจะแยกแรงงานในระบบ ออกจากแรงงานนอกระบบอย่างชัดเจน ถ้าดูข้อมูลในความจริงแล้วคนส่วนหนึ่งไม่ได้อยู่ในและนอกระบบไปตลอดชีวิต

  • คนสูงวัย : อนาคตถ้าเรื่องบำเหน็จบำนาญไม่ดีกว่านี้ หลายครัวเรือนก็จะพึ่งพาลูกหลานไม่ได้ ปรับคนที่ยังปรับตัวได้ เกษียณมาแล้ว 10 ปี คงต้องช่วยเหลือ
  • คนทำงาน : สร้างแรงจูงใจให้ออมด้วยตัวเอง ก็น่าจะมีพอกินพอใช้ ให้โอกาสทำงานประเมินทักษะเป็นหลัก
  • เด็กเล็ก : ก่อนจะเข้ามาที่ตลาดแรงงาน จะได้รายได้มากน้อยต่างกันแค่ไหน ทำการศึกษาให้ใกล้เคียงมากที่สุด ทุนมนุษย์ของประเทศ

อ.นฎา ย้ำว่าโดยส่วนตัวแล้ว ต้องการเห็นการสร้างโอกาสให้เท่ากันตั้งแต่วัยเด็ก จึงควรเป็นงบประมาณแบบถ้วนหน้า เมื่อสูงวัยมากขึ้นก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างคนรวย-จน จึงน่าจะมี สวัสดิการแบบพุ่งเป้า (Target) ให้สังคมสูงวัย ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับข้อมูล และระบบว่าไทยมีความพร้อมแค่ไหน โดยในต่างประเทศพยายามเชื่อม 2 ระบบนี้เข้าด้วยกัน และนำข้อมูลมาเชื่อมกันให้ได้มากที่สุด

ปัจจุบันนี้เรายังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ คนรายได้สูง-มีงานประจำแทบจะไม่มีผลกระทบ แต่อีกกลุมที่เทคโนโลยีไม่พร้อม งานก็ไม่พร้อม กลุ่มนี้ก็ยังกลับมาตั้งตัวได้ไม่เต็มที่ ตรงนี้ก็จะต้องช่วยเหลือ และปรับตัวในอนาคต.. คนส่วนหนึ่งอาจจะยังไม่เห็นปัญหา เช่น สังคมสูงวัย เป็นระเบิดเวลา ถ้าไม่เร่งทำตอนนี้ เราอาจจะมีความลำบากยากขึ้นในอนาคต คนส่วนมากไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพยากร เรียกร้องว่า ต้องมีสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น

ทุกคนอาจจะต้องมองภาพใหญ่ ไม่ใช่ แค่ตัวเราเท่านั้น แต่มองถึง ระบบที่ทุกคนอยากเห็น เอาส่วนหนึ่งมาช่วยสร้างคนข้างล่าง ขณะที่ คนข้างล่างก็ไม่ควรรอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำมากจนเกินไป…”

นฎา วะสี สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน