จับตา ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย | ปรกชล อู๋ทรัพย์

หนึ่งประเด็นร้อนที่ถูกจับตาช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา กับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 30 มิถุนายน หลังเกิดกรณีสภาล่ม ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญ เพราะฝ่ายรัฐบาล ใช้เทคนิคยื้อการโหวตร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ออกไปก่อน 

หากดูจากจำนวน ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลที่แสดงตนตอนนั้น น้อยกว่าจำนวนของฝ่ายค้าน หากเดินหน้าโหวตไปแล้ว ร่างกฎหมายไม่ผ่าน ความรับผิดชอบนี้จะตกไปเป็นของรัฐบาลทันที เพราะอาจนำไปสู่การยุบสภาหรือลาออก เพราะเป็นกฎหมายทางการเงิน

แต่หากดูจำนวนผู้แสดงตนในสภาฯ ไปถึงรายพรรค จะเห็นว่า มีเพียงพรรคเดียวที่มีผู้แสดงตน ใกล้เคียงกับจำนวนผู้เข้าประชุมจริง นั่นคือ “พรรคพลังประชารัฐ” สัญญาณนี้ค่อนข้างสอดคล้องและพอจะตอบคำถามได้ว่า หากร่างฯ นี้ ไม่ครอบคุลมและไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาวัตถุอันตราย อย่างที่แกนนำพรรคภูมิใจไทยให้เหตุผล เหตุใด จึงผ่าน “คณะรัฐมนตรี” มาได้?

ส่วนของภาคประชาชนที่จับตาเรื่องนี้ มองว่ารัฐบาลต้องไม่เพียงแค่ยื้อเวลา แต่จะต้องแสดงความจริงใจทบทวนร่างกฎหมายนี้ ไม่ควรเร่งนำมาพิจารณา เพราะยังมีปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์ประเทศชาติและประชาชน

The Active พูดคุยเรื่องนี้กับ ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว

“การจะแก้ไขกฎหมายใด ๆ ต้องนึกถึงผลประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติ  ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน”

แม้ว่าจุดเริ่มต้นการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ครั้งนี้ ที่เสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข จะชี้แจงว่า เป็นการปรับแก้เพื่อให้กระบวนการพิจารณารวดเร็วและเหมาะสมกับสถานการณ์ และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและความปลอดภัยของประชาชน แต่เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายกลางที่เกี่ยวข้องกับ 6 หน่วยงาน คือ 1) องค์การอาหารและยา ( อย.) กระทรวงสาธารณสุข 2) กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม 3) กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน 4) กรมวิชาการเกษตร 5) กรมประมง และ 6) กรมปศุสัตว์ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งต้องใช้เกณฑ์การพิจารณาแบบเดียวกัน นั่นหมายรวมถึงวัตถุอันตรายทางการเกษตร คือ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วย

“อย. อาจจะชี้แจงได้ในส่วนที่ อย. ดูแล แต่การแก้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มันก็จะกระทบ ส่งผลให้การควบคุมหรือพิจารณาอนุญาตของ 5 กรมที่เหลือ ต้องใช้เกณฑ์แบบเดียวกัน ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะส่วนที่เราห่วงกังวล คือ วัตถุอันตรายทางการเกษตร ดังนั้น หาก อย. ต้องการจะปรับแก้แค่หน่วยงานเดียว ก็ควรจะไปออกเป็นประกาศของ อย. ไม่จำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ.ฉบับใหญ่ ”

ที่ถกเถียงและกังวลกันอย่างมาก มีการให้ความเห็นของกรรมาธิการและมีกรรมาธิการส่วนหนึ่ง รวมทั้งตนเอง ที่สงวนความเห็น เพราะกังวลเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน กรณีมาตรา 6 ของร่างแก้ไข พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ที่เปิดทางให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบ ให้ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ร่วมเป็นกรรมการและทำหน้าที่ประเมินเอกสารทางวิชาการ ตรวจวิเคราะห์ ตรวจสถานประกอบการ หรือตรวจสอบกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย

“ในตัวเนื้อหามันไปเพิ่มมาตรา กระบวนการพิจารณาอนุญาตวัตถุอันตราย ซึ่งในกระบวนการพิจารณาอนุญาต เขาจะไปอนุญาตให้มีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะมาจากหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ อันนี้แหละที่ทำให้เรากังวล เพราะเราไม่รู้เลยว่ามันจะมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่”

และการพิจารณาอนุญาต มันหมายรวมถึงการประเมินความถูกต้องของเอกสารวิชาการ พูดถึงการตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการ การตรวจทุกอย่าง ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาเลย ซึ่งการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ คือ Outsource เอกชนที่ได้รับการรับรองอาจไม่มีปัญหา แต่การตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารวิชาการนั้นต้องการความเป็นกลางมาก ๆ ต้องการคนที่เข้าใจสถานการณ์ มองเห็นปัญหาจริง ๆ และต้องคำนึงถึงหลักการคุ้มครองสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

“ถ้าหน่วยงานของรัฐไม่รู้จักสารตัวนั้น จนกระทั่งไม่สามารถประเมินความถูกต้องทางวิชาการได้ด้วยตัวเอง หน่วยงานของรัฐจะควบคุมสารนั้นอย่างไร”

กระบวนการแก้กฎหมายที่มีปัญหาตั้งแต่ต้นทาง กลายเป็นปัญหาสะสม ด้านสุขภาพประชาชน

ผู้ประสานงาน Thai-PAN ยกตัวอย่างการยกเลิกสารพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต เป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานมาก ที่สำคัญในการขับเคลื่อนจะเห็นว่า มีการแทรกแซงของบรรษัทสารเคมีระดับโลกจากต่างประเทศมาโดยตลอด ที่ชัดคือ กรณีการขอให้ยกเลิกสารไกลโฟเซต และสุดท้ายไม่สามารถยกเลิกได้ เป็นเพียงการจำกัดการใช้ เมื่อการแก้ไขกฎหมาย มาดำเนินการแบบนี้  เปิดช่องเช่นนี้ มันเป็นไปได้อยู่แล้วที่จะทำให้มีปัญหาลักษณะเดียวกัน

“ทำให้มีปัญหาในกระบวนการพิจารณาอนุญาต เปิดช่องจากคำว่าองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เราไม่รู้ว่ามีใครบ้าง กระบวนการนี้มันต้องโปร่งใส ซึ่งหากเปรียบเทียบที่ผ่านมา ในการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เราเข้าไม่ถึงกระบวนการการควบคุมของเขาได้โดยง่ายเลย  แม้กระทั่งรายงานการประชุมยังยาก มีการขีดฆ่าด้วยซ้ำว่าใครให้ความเห็นว่าอย่างไร  ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นการตัดสินใจที่กระทบกับสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศ เราคิดว่าเรื่องแบบนี้มันควรทำให้โปร่งใส ควรจะมีการจัดตั้งองค์กรวิชาการที่มาทำหน้าที่โดยเฉพาะ”

ต้องไม่เปิดช่องเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และไม่ลืมเจตนารมณ์ที่สภาฯ มีมติร่วมกัน

เธอบอกว่า พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เก่าไปแล้วจริง ๆ มันไม่เอื้อให้เกิดการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน แล้วก็ไม่ได้เอื้อให้เกิดการติดตามสารเคมีทั้งวงจร มีรูรั่วจำนวนมาก ก็ถึงเวลาแล้วต้องปรับแก้ แต่การปรับแก้กฎหมายใหญ่ที่มีผลกระทบหลายหน่วยงาน ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ที่สำคัญต้องไม่ลืมเจตนารมณ์ที่สภาฯ มีมติเห็นชอบร่วมกัน

“เพราะฉะนั้น อย่าลืมว่ามีการกำหนดทิศทางประเทศร่วมกัน ก็คือมีมติเอกฉันท์ของสภาผู้แทนราษฎร ว่าประเทศไทยต้องมุ่งไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืนในปี 2573 แล้วก็ควรจะมีการปรับแก้กฎหมายในการควบคุมสารเคมีเกษตร และพูดถึงเรื่องการลดใช้สารเคมีเกษตร  แต่ว่าการปรับร่างกฎหมายครั้งนี้ กลับไม่เกี่ยวข้องอะไรเลย ไม่ได้นำสิ่งเหล่านี้มาพูดถึง เป็นการปรับแก้โดยไม่ได้นำเจตนารมณ์ที่สภาฯ เห็นร่วมกันไปในทิศทางนั้นเลย”

จับตาเจรจาวิป 3 ฝ่าย หาทางออกร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย  วัดใจรัฐบาล-พรรคร่วม

หากเลือกเดินหน้าโหวตร่างฯ นี้ต่อ ถ้าดูทิศทางการเมือง และยังต้องการรักษารัฐบาลเอาไว้ อย่างไรทิศทางก็น่าจะผ่านร่างกฎหมายนี้ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าพูดถึงทิศทาง ในฐานะที่รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลประกาศร่วมกันมาโดยตลอด ถึงเรื่องผลประโยชน์ของประชาชน ก็คิดว่าเนื้อหาควรจะต้องถูกนำไปพิจารณาอีกครั้งให้รอบคอบ โดยไม่จำเป็นต้องรีบร้อนในการพิจารณา

“โดยสรุปเลยเราคิดว่า ถ้าเห็นประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ไม่จำเป็นต้องรีบดันร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มาพิจารณา สามารถให้ทางกรรมาธิการ กลับไปพิจารณา เพื่อที่จะปรับแก้ หรือเพิ่มเนื้อหาที่จะไปตอบโจทย์ ที่เป็นปัญหาสำคัญจริง ๆ กับการควบคุมวัตถุอันตรายต่าง ๆ โดยเฉพาะวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้วย เราคิดว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องดันสู่สภาโดยเร็ว แต่หากรัฐบาลดึงดัน นั่นอาจสะท้อนว่านึกถึงผลประโยชน์ตนและพวกพ้อง มากกว่าผลประโยชน์ชาติอยากให้สังคมติดตามและร่วมกันจับตาเรื่องนี้”

ปรกชล ยังย้ำช่วงท้ายสั้น ๆ ว่าหากร่างกฎหมายจะถูกตีตกไปก่อน ก็ไม่ได้ทำให้กระบวนการพิจารณาอนุญาตวัตถุอันตรายมันสะดุดไป ไม่ได้มีปัญหาอะไร จึงไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ เพื่อผลประโยชน์ประเทศและประชาชน สภาฯ ควรดำเนินการอย่างรอบคอบ


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สภาฯ ล่ม ส.ส.เข้าประชุมไม่ถึงครึ่ง ชวดโหวตร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย

“ชวน” ชี้แจงสภาฯ ล่ม เหตุ กมธ.พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ขัดแย้งกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์