Greener Bangkok Hackathon 2022 l ทุกคนทำให้เมืองเขียวกว่านี้ได้

‘สวนสาธารณะ’ ไม่ได้เป็นแค่สถานที่ออกกำลังกาย

แต่เป็นยุทธศาสตร์พัฒนาเมือง

พื้นที่สีเขียวของเมือง เป็นองค์ประกอบสำคัญของนโยบายการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน มีส่วนสำคัญในการสร้างสุขภาวะที่ดีแก่คนเมืองและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมยังมีส่วนช่วยบรรเทาวิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในมหานครของโลกที่ประสบปัญหาขาดแคลนพื้นที่สีเขียว แต่ปัจจุบันมีนโยบายหลายประการพยายามจะทำให้เมือง “เขียวมากขึ้น”

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC) และภาคีเครือข่าย จึงจัดโครงการ Greener Bangkok Hackathon 2022 ในหัวข้อ “แฮกกรุงเทพเพื่อเมืองที่เขียวกว่า” เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเมืองสีเขียว โดยใช้นวัตกรรมข้อมูลเมืองแบบเปิด (open urban data) สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

ภารกิจสำคัญคือการ ค้นหาพื้นที่ศักยภาพของเมือง นำเสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่สีเขียว และกิจกรรมการใช้งาน การบริหารจัดการที่มีความสร้างสรรค์และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงผ่านการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ

The Active ชวนอ่านที่มาที่ไป กับโอกาสที่กรุงเทพฯ จะเขียวมากกว่าที่เคย กับบทสัมภาษณ์ของ ผศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ผู้มากับโจทย์สำคัญว่า…

พื้นที่ใดที่มีศักยภาพนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวได้
จะออกแบบอย่างไรให้สอดรับกับความต้องการ
บริหารจัดการอย่างไรให้มีความยั่งยืน

ผศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

พื้นที่สีเขียว คือสิ่งจำเป็น ที่เมืองต้องมี

ผศ.นิรมล กล่าวว่า โครงการ Greener Bangkok Hackathon 2022 เกิดขึ้นโดยมีโจทย์สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้คนกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงสวนได้ในระยะใกล้บ้าน ซึ่งมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ “สวนที่เข้าถึงได้ง่าย ๆ ใน 15 นาที” ซึ่งเป็นโจทย์ที่สอดรับกับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่กิจกรรมในครั้งนี้ไม่ได้เดินหน้าหวังผลทางการเมือง หรือเวทีประชันความคิดของนักผังเมืองเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการหนึ่งของงานวิจัยที่ UddC ที่ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2017 ชื่อโครงการ Open Data for a more Inclusive Bangkok เป็นการจัดทำข้อมูลเปิดของเมืองเพื่อ ‘เมืองที่นับรวมคนทุกคน‘ จากการสนับสนุนของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ในการจัดทำข้อมูลเปิด เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ของเมือง ด้วยกระบวนการ data technology รวมถึงการเก็บข้อมูลด้วยการพูดคุย และการสังเกตพฤติกรรมของผู้คนในกรุงเทพฯ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

จากข้อมูลสะท้อนปัญหาใหญ่ของพวกเขาคือ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณะของเมือง และการเข้าไม่ถึงพื้นที่สีเขียว ทั้งสำหรับออกกำลังกาย ผ่อนคลายความเครียด หรือการทำกิจกรรมเชิงสังคม เรื่องนี้จึงเป็นความเร่งด่วนที่คนในกรุงเทพฯ เห็นว่า “ควรที่จะแก้ไข” ในระดับสากลก็อาจได้ยินบ่อยครั้งโดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ระบาด กับคำถามว่า จะทำอย่างไรให้ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้ในระยะเวลา 15 นาที ด้วยการเดินเท้าหรือจักรยาน ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ ร้านสะดวกซื้อ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ย้ำความสำคัญของการมีพื้นที่สีเขียวที่เข้าถึงได้ใน 15 นาที

“เป้าหมายเมือง 15 นาที มีฐานคิดมาตั้งแต่รีพอร์ทของ IPCC ที่นำเสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และความท้าทายในการลดคาร์บอนภายในเมืองสู่ชั้นบรรยากาศ ครอบคลุมทั้งเรื่องการเดินทางของคนในเมือง ทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนจากเมืองที่ใช้รถยนต์เดินทางอันยาวนาน สามารถเดินทางได้ในระยะ 15 นาทีละแวกบ้าน และเข้าถึงบริการต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ เพราะฉะนั้นสวน 15 นาที จึงมีที่มาที่ไป และเราจะเห็นว่าวันนี้เกิดความร่วมมือของหลายเมืองทั่วโลกที่จะขับเคลื่อนในประเด็นเดียวกัน ซึ่งแต่ละเมืองมีบริบทที่ต่าง ก็ต้องอาศัยการมียุทธศาสตร์ที่ต่างกันออกไป”

ผศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

ผศ.นิรมล กล่าวต่อไปว่า เมื่อพบปัญแล้ว ต้องมีทางออก ต้องมีวิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วยไอเดียที่ดี ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้ประกอบการพิจารณาในหลายด้าน ทั้งความรู้ด้านผังเมือง เศรษฐศาสตร์ การจัดการที่ดิน การเงิน กฎหมาย สิ่งแวดล้อม นำมาสู่การจัดกิจกรรม Greener Bangkok Hackathon 2022 เพื่อเชิญชวนทุกคนในเมืองเข้ามาช่วยกันคิดหาวิธีแก้โจทย์การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ทั่วถึงต่อการใช้งาน ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ในย่านละแวกที่อยู่ของตัวเอง ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนทั้งกรุงเทพมหานคร สถาบันการศึกษา องค์กรภาคประชาสังคม เช่น ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) we!park สมาคมรุกขกรรมไทย และอีกหลายองค์กร รวมถึงภาคเอกชนด้วย เช่น ธนาคารกสิกรไทย MQDC และอื่น ๆ

“หลังจากเปิดรับสมัครไม่นาน มีผู้สนใจเข้าประกวดการประลองไอเดียมากถึง 90 ทีม ไม่ใช่แค่คนในกรุงเทพฯ แต่ยังมีผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่เมืองอื่น ๆ ทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่นิสิตนักศึกษา แต่มีมืออาชีพ จากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน ก็สมัครเข้ามาร่วมกิจกรรม โดยพบว่าผู้ที่มีอายุน้อยที่สุด กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เป็นสิ่งสะท้อนว่า ผู้คนต่างเห็นว่า การมีพื้นที่สีเขียวที่เข้าถึงระยะใกล้เป็นเรื่องสำคัญ พวกเขาอยากให้มีการแก้ไข และทุกคนอยากมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ร่วมเสนอไอเดียในเรื่องนี้”

ผศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

ผศ.นิรมล ย้ำว่า เห็นได้ชัดว่ายุคสมัยนี้ ประชาชนอยากจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง มีส่วนร่วมเสนอทางออกของเมือง เพราะพวกเขาคือคนที่อยู่ใกล้กับปัญหามากที่สุด และเห็นปัญหาได้ชัดที่สุด อาจจะมากกว่าคนออกนโยบายด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันก็ยังเห็นกำลังใจของประชาชนที่พยายามจะส่งแนวคิดการพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะของตัวเองเข้ามา ด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครในปัจจุบันมีแนวทางทำงานที่เปิดกว้างมากขึ้น มีแนวทางที่จะเปิดรับข้อมูล ข้อเสนอ ความคิดเห็นของประชาชน สองส่วนนี้สำคัญ ทำให้เห็นโอกาสในการพัฒนาเมือง การขับเคลื่อนเมืองของเรามากยิ่งขึ้น

“ที่สำคัญคือเห็นว่า ผู้คนหันมาใช้ประโยชน์จากข้อมูลมากขึ้น เมื่อก่อนเวลาเราเปิดข้อมูลเมือง อาจจะมีคนบางกลุ่มเท่านั้นที่เข้ามาให้ความสนใจ ศึกษา สอบถาม แต่ตอนนี้คิดว่าคนกลุ่มนี้ขยายฐานมากขึ้น data literacy หรือ urban literacy จึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น เมื่อก่อนคนจะบอกว่าอยากให้เมืองเขียว แต่ถ้าถามว่าอยากให้เขียวแค่ไหน อาจจะตอบไม่ถูก แต่ตอนนี้ตอบกันได้เลยว่าควรจะมีพื้นที่สีเขียวต่อประชากรเท่าไหร่ สะท้อนว่าพวกเขาเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น มีองค์ความรู้ดีขึ้นมาก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงเมือง”

ผศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

โจทย์คือการทำให้สวน 15 นาที ไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ออกกำลังกาย

สวน 15 นาที เป็นแค่สวนสาธารณะเหรอ แล้วจะมีแค่ต้นไม้หรือเปล่า หรือว่าจริง ๆ มีแค่พื้นที่สีเขียว หรือจะผสมผสานกับการเป็นพื้นที่ซับน้ำ พื้นที่ออกกำลังกาย หรือการเป็นที่จะแบ่งพื้นที่รองรับรถพยาบาลให้เข้าถึงชุมชนได้ง่ายขึ้นด้วย และบริการสาธารณะอื่น ๆ อีกล่ะ? ผศ.นิรมล ตั้งคำถาม เธอมองว่า จริง ๆ แล้วสวนสาธารณะสามารถออกแบบให้ตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลายได้มากกว่าที่คิด แต่ต้องขึ้นอยู่กับบริบท และความต้องการของคนในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย เพราะกรุงเทพมหานครมีเนื้อที่กว้าง ประกอบด้วย 50 เขต แต่ละพื้นที่มีเงื่อนไข และโจทย์ที่ต่างกัน เช่น ความหนาแน่นของประชากรที่มากน้อยต่างกัน สัดส่วนของผู้สูงอายุ หรือการเป็นพื้นที่แหล่งงาน แหล่งอาศัย องค์ประกอบเหล่านี้จำเป็นต้องถูกคำนึงไปพร้อมกับการออกแบบพื้นที่สวน 15 นาที

“ผู้เข้าแข่งขัน หรือแฮกเกอร์ จะต้องนำเสนอวิธีการออกแบบพื้นที่ต้นแบบ ว่าในแต่ละ 50 เขตจะเป็นอย่างไร ดังนั้นการผสมผสานระหว่างโปรแกรม รายละเอียดการพัฒนาพื้นที่ จะต้องขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่ค่อนข้างเยอะ ซึ่งน่าจะเปิดกว้างเพื่อให้ระดมความคิดเห็นกัน รวมถึงการคิดไปถึงว่าเมื่อสวนเสร็จแล้วใครจะดูแลสวน จะเป็นภาครัฐที่รับผิดชอบ หรือเราเองที่ต้องดูแล ในฐานะผู้ใช้งาน และให้ความรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของมัน เราอยากจะช่วยดูแลให้มันดี แปลว่าตั้งแต่การออกแบบก็ต้องตอบโจทย์ว่าสวนแบบไหนทำให้คนอยากมาใช้งาน สะดวกปลอดภัยกับทุกช่วงวัย และการคิดเรื่องกลไกจัดการหลังจากนั้น เพราะถ้ามีสวน 15 นาที เกิดขึ้นอีกจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ กทม. ที่มีจำนวนเท่าเดิมอาจจะดูแลไม่ไหว คนในพื้นที่ชุมชนสามารถช่วยได้ไหม อาจจะฟังดูอุดมคติแต่มันเกิดขึ้นได้”

ผศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

ผศ.นิรมล ยกตัวอย่างกรณีการดูแลพื้นที่สวนโดยชุมชนในเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่า พื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญช่วง 5 ปีหลัง คือสวนผักคนเมือง ที่ถูกออกแบบให้พื้นที่มีทั้งสวนผัก ลานอเนกประสงค์ของชุมชน วันเสาร์อาทิตย์มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น ตลาด ลานปาร์ตี้ ส่วนการดูแลเกิดขึ้นโดยสมาคมสวนผักในระดับย่าน ระดับชุมชน มีการจัดตารางแบ่งหน้าที่รับผิดชอบดูแล ซึ่งตอนนี้ในปารีสมีสวนผักรวมกว่าร้อยแห่ง ทั้งที่ปารีสเป็นเมืองที่เต็มไปด้วย “ความเป็นเมือง” (ชุมชน ผู้คน แหล่งงาน) “การแฮกโจทย์ครั้งนี้จึงต้องแฮกไปถึงการออกแบบ การดูแลรักษา กลไกทางสังคมที่จะช่วยดูแลสวนให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว”

กลไกการได้มา และการบริหารจัดการ “ที่ดิน”

จากนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สวน 15 นาที ทาง UddC ได้วิเคราะห์ข้อมูลแล้วพบว่า ที่ดินภาครัฐ ที่ดินกึ่งรัฐ เป็นที่ดินยุทธศาสตร์ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับนโยบายของทาง กทม. ด้วย คือการที่ กทม. สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ไม่ว่าจะเป็นการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวงชนบท ที่เกิดขึ้นแล้วอย่างโมเดลสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา เป็นการเอาพื้นที่ว่างมาพัฒนาร่วมกัน เปิดให้ผู้คนใช้งานได้ หรือแม้แต่สถานที่ราชการ หลังเวลาราชการ หลังเลิกเรียน สามารถเปิดพื้นที่เหล่านี้ให้เป็นพื้นที่สีเขียวให้คนเข้ามาใช้งานได้ไหม แม้แต่วัด ซึ่งมีจำนวนกว่า 500 แห่ง หรือถ้ารวมทุกศาสนาจำนวน 700 กว่าแห่ง เป็นพื้นที่สร้างการเปลี่ยนแปลงของเมืองได้มาก

ปัจจุบันพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ มีจำนวนน้อยต่ำกว่ามาตรฐาน และยังอยู่ไกลจากระยะเข้าถึง เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในกรุงเทพฯ กว่าจะเข้าถึงสวนได้ต้องเดินทางอย่างน้อย 4.5 กิโลเมตร หรือเป็นเวลา 60 นาที ดังนั้นหากจะลดระยะการเดินทางประหยัดเวลาเหลือ 15 นาที ต้องหาพื้นที่เพิ่ม เมื่อคำนวนว่า หากนำที่ดินภาครัฐ กึ่งรัฐมาใช้ประโยชน์จะช่วยกระจายพื้นที่สีเขียว ลดระยะการเข้าถึงได้เร็วขึ้น เหลือเพียงระยะ 20 นาที ถ้าจะไปให้ถึงเป้าหมาย 15 นาที จึงต้องนำพื้นที่ของเอกชนที่ยังไม่ได้พัฒนาเข้ามาร่วมพัฒนาด้วย

แล้วจะมีแรงจูงใจอย่างไร เช่น ตอนนี้มีการยกเว้นภาษีที่ดิน หรือการคิดแนวทางจูงใจอื่น ๆ เพราะการยกเว้นภาษีที่ดินอย่างเดียวก็อาจจะไม่เพียงพอ อาจจะต้องอาศัยมาตรการเชิงบวกอื่น ๆ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้ การยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอน หรือ มาตรการเชิงลบด้วย เช่น การเพิ่มภาษีที่ดินประเภทเกษตรกรรมให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตามต้องวางมารการที่จะสร้างความสมดุลและสมประโยชน์ เพราะหากมีเอกชนจำนวนมากเอาที่ดินมาเข้าร่วมโครงการเข้าโปรมแกรมสวน 15 นาทีจำนวนมาก แล้วได้รับการลดหย่อนภาษีทั้งหมดเท่ากับว่ารายได้ที่จะมาจากการเก็บภาษีที่ดินก็จะลดน้อยลงไปด้วย และงบประมาณรวมของ กทม. ที่จะเข้าไปใช้อำนวยการด้านสาธารณะก็จะลดน้อยลงด้วย

“ทำยังไงที่จะมีงบประมาณ กองทุนต่าง ๆ เป็นไปได้หรือไม่ การออกแบบให้มันสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ การดูแลรักษาโดยระยะยาวด้วย หรือถ้าสมมติคุณพ่อเอาที่ดินมาเข้าโปรแกรมแล้ว แต่พอเวลาผ่านไปที่ดินอยู่ในมือคุณลูกอยากจะยุติการเข้าโครงการ จะทำอย่างไร มีโจทย์รายละเอียดเยอะมาก ที่แฮกเกอร์จะต้องหาคำตอบมา”

ผศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

ประลองไอเดีย ใครจะเป็นผู้ชนะในเวทีนี้…

ข้อคำถาม และความท้าทาย ในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะ นำมาสู่โจทย์การแข่งขันทั้ง 2 สาขาการประกวด คือ

  1. ประเภท A เน้นผลลัพธ์ด้านการออกแบบ
  2. ประเภท B เน้นผลลัพธ์ด้านกลไกและการบริหารจัดการ

โดยแต่ละประเภท จะแบ่งเป็น 2 คือ กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และกลุ่มบุคคลทั่วไป ผู้เข้าประกวดในทุกรอบ จะอยู่ภายใต้เกณฑ์การตัดสิน 5 ข้อ คือ 1. การวิเคราะห์บริบทของพื้นที่และผู้ใช้งาน เสนอแนวทางแก้ไข ปรับปรุง พัฒนา 2. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความเหมาะสมต่อบริบทพื้นที่ ศักยภาพการเข้าถึงของคน และชุมชนโดยรอบ 3. การบริหารจัดการพื้นที่ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ 4. สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของผู้คน และสิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่าในเชิงสังคม และ 5. การนำเสนอด้วยเทคนิควิธี ที่มีความน่าสนใจสื่อสารเนื้อหาได้อย่างชัดเจน

“ผลงานที่เกิดขึ้นจากโครงการ Greener Bangkok Hackathon 2022 อย่างแรกคือการทำให้เห็นแปลงที่ดินที่มีศักยภาพเป็นฐานข้อมูล ไอเดียการออกแบบพื้นที่ รวมถึงกลไกมาตรการ ปลุกพลัง Green Citizen หรือพลเมืองขับเคลื่อนเมืองสีเขียว ที่สำคัญคือเราพยายามผลักดันให้ข้อเสนอนี้ถูกดำเนินการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง”

ผศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

โครงการ Greener Bangkok Hackathon 2022 เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน ผ่านการคัดเลือกผู้เข้าประกวด และมีการนำเสนอผลงานของผู้ที่ผ่านเข้ารอบทุกทีม ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก UDDC – Urban Design and Development Center คุณผู้อ่านสามารถเข้าไปรับชมย้อนหลังได้ และสามารถมีส่วนร่วมเปิดให้ร่วมโหวตรางวัล Popular ในระหว่างวันที่ 11 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน นี้ ก่อนที่จะประกาศผลรางวัลผู้ชนะเลิศ Greener Bangkok Hackathon พร้อมด้วยการจัดแสดงนิทรรศการผลงานของผู้เข้าประกวด

กิจกรรม Green Matching ผสมผสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกวดที่มีการเสนอแนวคิดการพัฒนาที่หลากหลาย​ กับนักพัฒนาที่จะสามารถสร้างความร่วมมือสู่การปฏิบัติจริง ทั้งเรื่องของไอเดีย การสนับสนุนงบประมาณ และเครือข่ายการทำงาน ในวันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายนนี้

“สิ่งที่รองผู้ว่าราชการกล่าวไว้ว่า โครงการนี้จะตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง ยุทธศาสตร์ 20 ปี กรุงเทพมหานคร และตอบโจทย์ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับการสนับสนุนจาก กทม. ในอนาคต สำหรับไอเดียที่มีความเป็นไปได้ ทั้งส่วนที่ทำได้เลยไม่ต้องรองบประมาณ กับส่วนที่ต้องใช้งบประมาณก็ต้องพิจารณาต่อไป”

ผศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้