โลกเดือด-น้ำแข็งขั้วโลกละลาย-น้ำทะเลสูงขึ้นสัญญาณอันตรายภัยพิบัติโลก

นักวิทยาศาสตร์นานาชาติ คาดการณ์ว่าปัญหาโลกร้อนมีผลทำให้น้ำแข็งขั้วโลกมีปริมาณลดลงและอาจหายไปหมดในอีก 100 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ระบบนิเวศได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะเมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำจืดจะเพิ่มขึ้น การไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทรจะเปลี่ยนไป ซึ่งนำมาสู่ภัยพิบัติในอนาคตที่อาจรุนแรงกว่าเดิม

โดยนักวิทยาศาสตร์ NASA พบว่า น้ำแข็งในขั้วโลกเหนืออย่างกรีนแลนด์ และขั้วโลกใต้แอนตาร์กติกา ละลายเร็วขึ้นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายไวขึ้น 6-7 เท่า เมื่อเทียบกับ 25 ปีก่อน และ น้ำแข็งกรีนแลนด์ได้หายไปถึง 4,700 ล้านตัน มีส่วนทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 1.2 เซนติเมตร

สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งฝั่งทะเลจีนใต้และทะเลอันดามัน ก็มีผลกระทบเช่นกัน เช่นปัจจุบันมีงานวิจัยพบว่า ลมมรสุมที่มีกำลังแรงขึ้น และทำให้ระดับน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนจะทำให้มวลอากาศชื้นจากทะเลสูง และพัดเข้าชายฝั่งมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณฝนตกสูง

มีการคาดการณ์กันว่า จะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นกว่า 40 เซนติเมตร ในอีก 100 ปีข้างหน้า ซึ่งประชากรในภูมิภาคนี้ร้อยละ 10 ที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล ประมาณร้อยละ 70 ของประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก มีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาน้ำท่วมและไร้ที่อยู่อาศัยหรือแม้แต่ เกาะขนาดเล็กเสี่ยงจมใต้ทะเล ซึ่งอาจทำให้คนประมาณ 200 ล้านคน ในภูมิภาคนี้ต้องหาที่อยู่ใหม่ในอีกไม่เกิน 50 ปีข้างหน้า ขณะที่ กทม. เป็น 1 ใน 7 เมืองเสี่ยงจะจมน้ำในอีกไม่กี่ปีด้วย

จากข้อมูลของ กรีนพีซ พบว่า 7 เมืองในเอเชีย ที่อาจได้รับผลกระทบ จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล หรือมีความเสี่ยงจมน้ำ ภายในปี 2573 สำหรับ 3 อันดับแรก เสี่ยงสุด คือ กรุงเทพมหานคร คือ ร้อยละ 96 อาจถูกน้ำท่วมจากอุทกภัยใน 10 ปี มีการคาดการณ์ถึงพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบ 1,512.94 ตารางกิโลเมตร ซึ่งอาจมีประชากรที่จะได้รับผลกระทบ 10.45 ล้านคน รองลงมาเป็นกรุงจาการ์ตา จะได้รับผลกระทบ 109.38 ตารางกิโลเมตร ประชาชนอาจได้รับผลกระทบ 1.80 ล้านคน ถัดมา เป็น กรุงโตเกียว ที่อาจะได้รับผลกระทบ 79.28 ตารางกิโลเมตร กระทบประชากร 0.83 ล้านคน ถัดมาเป็น ไทเป มะนิลา ฮองกง และโซล ตามลำดับ

ผลกระทบภัยพิบัตินานาประเทศ

ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกที่เรากำลังเจอจากโลกร้อน น้ำทะเลสูงขึ้น น้ำท่วม ภัยแล้ง ต่างโจมตีมนุษยชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา จีน และญี่ปุ่นกำลังได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นทกซูรี และพายุไต้ฝุ่นขนุน ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ก็ยังต้องเผชิญกับสภาพที่เลวร้าย ทั้งท่วม และอากาศร้อนจัด จากคลื่นความร้อนอีกด้วย

นี่เป็นภาพที่ถ่ายจากกล้องตรวจจับความร้อน บันทึกภาพนักท่องเที่ยวภายในสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังในกรุงโซลของเกาหลีใต้ ที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางคลื่นความร้อน ที่แผ่ปกคลุมมานานกว่าสัปดาห์

ไม่ต่างจากอีกฟากฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างอิหร่าน ที่เมื่อช่วงวันที่ 3-4 สิงหาคม 2566 ได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการเพิ่ม 2 วัน เมื่อเผชิญกับสภาพอากาศร้อนทุบสถิติ เพราะต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาบางวัน วัดอุณหภูมิได้สูงสุดที่ 51 องศาเซลเซียส อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นเพียง 1-2 องศา หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่า เป็นภัยคุกคามที่รุนแรง ทำให้อากาศแปรปรวน ทั้งน้ำท่วมหนัก แล้งจัด คลื่นความร้อน และน้ำทะเลสูงขึ้น

“ยุคโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และยุคโลกเดือด ได้มาถึงแล้ว”

นอกจากนี้ ปรากฎการณ์ “โลกกำลังเดือด” กำลังเป็นกระแสที่น่าสนใจหลังจาก มีการกล่าวว่า “ยุคโลกเดือด ได้มาถึงแล้ว” สร้างความกังวลกับหลายฝ่าย เพราะนี่ถือเป็นการเน้นย้ำตามที่นักวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันก่อนหน้านี้ ว่าเดือนกรกฎาคม 2023 นี้เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลก โดยกว่า 50 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มสภาพภูมิอากาศ โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก

ข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ความถี่ของสถานการณ์ภัยพิบัติจะเริ่มทวีความรุนแรงต่อเนื่อง หลังอุณหภูมิโลกสูงขึ้น กว่า 1.1 องศา และคาดการณ์ว่า จะเพิ่มสูงขึ้นอีก 1.5-4.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100

อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ หรือ UN

อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ หรือ UN กล่าวในการแถลงข่าวว่า “ยุคโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และยุคโลกเดือด ได้มาถึงแล้ว” เป็นการเน้นย้ำตามที่นักวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันก่อนหน้านี้ ว่าเดือนกรกฎาคม 2023 นี้เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลก โดยรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ของสหประชาชาติ และโครงการสังเกตการณ์ Copernicus Earth ของสหภาพยุโรประบุว่า อุณหภูมิโลกในเดือนกรกฎาคมปีนี้ ทำลายสถิติอุณภูมิโลกสูงสุดตลอดกาล และ ดร.คาร์สเทน เฮาสไตน์ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยไลป์ซิก กล่าวว่า เดือนกรกฎาคม 2023 มีแนวโน้มว่าเป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุดในรอบ 120,000 ปี

การส่งสัญญาณจากเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ว่าเราเข้าสู่ยุคโลกเดือดแล้ว ต้องถือเป็นเหมือนการออกมาเตือนทุกคนในโลกดัง ๆ ว่า สิ่งที่เรากำลังเจอกันตอนนี้ อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ถ้าเรายังไม่สามารถจำกัดการสูงขึ้นของอุณหภูมิโลก ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ อาจส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นเพราะสภาพอากาศหลายพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาเหนือ เอเชีย แอฟริกา หรือ ยุโรป เวลานี้ได้เกิดภัยพิบัติรุนแรงแล้ว

น้ำแข็งขั้วโลกละลายมากน้อยแค่ไหน ?

นักวิทยาศาสตร์นานาชาติมีการคาดการณ์กันว่าน้ำแข็งที่มีปริมาณลดลงและจะหายไปหมดในอีก 100 ปีข้างหน้า จะส่งผลให้ระบบนิเวศบนพื้นที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะเมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำจืดเพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อการไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทร จะลองเปรียบเทียบการละลายของน้ำแข็งในขั้วโลกให้ดูกันว่า มันจะส่งผลกระทบต่อระดับน้ำทะเลอย่างไร

จากภาวะโลกร้อน อุณหภูมิสูงขึ้น นักวิทยาศาสตร์ น่าซ่าพบว่า น้ำแข็งในขั้วโลกเหนืออย่างกรีนแลนด์ และขั่วโลกใต้แอนตาร์กติกา ละลายเร็วขึ้นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายไวขึ้น 6-7 เท่า เมื่อเทียบกับ 25 ปีก่อน

กรกฎาคม ปีที่แล้ว อุณหภูมิของกรีนแลนด์ได้พุ่งไปสูงถึง 15 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าปกติถึง 5 องศา เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ๆ และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 เป็นต้นมา น้ำแข็งกรีนแลนด์ได้หายไปถึง 4,700 ล้านตัน มีส่วนทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 1.2 เซนติเมตร

ปริมาณน้ำแข็งละลายเทียบให้เห็นภาพ พอที่จะท่วมทั้งสหรัฐฯ ในระดับความสูงครึ่งเมตร นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศประเมินว่า ถ้าแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ทั้งหมดละลาย จะทำให้เพิ่มระดับน้ำทะเลได้มากกว่า 7 เมตร เพราะก้อนน้ำแข็งที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มีพื้นที่เกือบ 1.8 ล้านตารางกิโลเมตร รองจากทวีปแอนตาร์กติกา

ไทยได้รับผลกระทบจากโลกร้อนและน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างไร

ปัญหาน้ำทะเลสูงขึ้นเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เว้นประเทศไทยชายฝั่งไทยทั้งหมด 2,815 กิโลเมตรกรมทรัพยากรธรณี พบว่า ระดับน้ำทะเลของไทยสูงขึ้นประมาณ 5.8 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะเร็วขึ้น มีชายฝั่งทะเลครอบคลุม 23 จังหวัด แบ่งเป็นชายฝั่งทะเลอ่าวไทย และชายฝั่งทะเลอันดามัน ที่มีทั้งหาดหิน หาดทราย หาดเลน

สยาม ลววิโรจน์วงศ์ โฆษก GISTDA และ ผอ.สำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ

สยาม ลววิโรจน์วงศ์ โฆษก GISTDA และ ผอ.สำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ ให้ข้อมูลว่า จากการเก็บข้อมูลดาวเทียม โดยย้อนดูพื้นที่ได้มากกกว่า 50 ปี พบมีการกัดเซาะบริเวณชายฝั่งของไทยต่อเนื่อง โดยพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะสูงสุด ลึกเข้าไปในพื้นดินมากกว่า 1 กิโลเมตร

“สภาพปัญหารุนแรงต่างกันออกไป จากหลายปัจจัย ทั้ง ฝีมือมนุษย์ การพัฒนาชายฝั่ง การทำลายป่าชายเลน พร้อมทั้งปัจจัยธรรมชาติ ลม กระแสน้ำ คลื่นทะเล และสภาพอากาศแปรปรวน จากปัญหาโลกร้อน โลกเดือด”

โดยเฉพาะบริเวณอ่าว ก ไก่ หรือ อ่าวไทยตอนบน ที่มีความเปราะบางเรื่องการกัดเซาะค่อนข้างมากเพราะเป็นหาดโคลน โดยจุดที่มีการกัดเซาะมากที่สุด คือ ตำบล แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ระยะทางกัดเซาะประมาณ 1,200 เมตร หรือมากกว่า 1 กิโลเมตร และยังมีแนวโน้มการกัดเซาะต่อเนื่อง

ถัดมาจุดที่ 2 เป็นบริเวณเขตท่าข้าม แขวงบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ระยะทางกัดเซาะประมาณ 900 เมตร

สำหรับจุดที่ 3 อยู่ที่ต.บางกระเจ้า อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ระยะทางกัดเซาะประมาณ 800 เมตร ซึ่งปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของไทย แม้จะมีการวางนโยบายแก้ปัญหา ในการให้องค์ความรู้ท้องถิ่น การส่งเสริม การใช้โครงสร้าง หรือแม้แต่การปลูกป่า แต่ก็พบว่าปัญหาการกัดเซาะก็ยังแก้ไม่ได้ทั้งหมด

เกษตรกรนาเกลือ เผชิญความแปรปรวนของสภาพอากาศรุนแรงขึ้น คาดการณ์ฤดูไม่ได้


นอกจากพืชและสัตว์ตามแนวชายฝั่งแล้ว เกษตรกร อย่าง ชาวนาเกลือในจังหวัดสมุทรสงคราม ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย เพราะจากสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้เกษตรกรหลายคน ยอมรับคาดการณ์สภาพอากาศยากขึ้นและมีผลกระทบต่อผลผลิต ทำให้หลายคนที่ทำนาเกลือท้อ เลิกทำไปก็ไม่น้อย

บุญปรอด เจริญฤทธิ์ ผอ.ศูนย์เรียนรู้โรงเรียนคนทำนาเกลือ จ.สมุทรสงคราม

บุญปรอด เจริญฤทธิ์ ผอ.ศูนย์เรียนรู้โรงเรียนคนทำนาเกลือ จ.สมุทรสงคราม บอกว่า ถ้าจะทำนาเกลือต้องมีพื้นที่อย่างต่ำ ๆ 10 ไร่ขึ้นไป เพราะต้องมี 3 ขั้นตอน เริ่มขึ้นตอนแรก คือ นาวัง เข้าสู่นาตาก และนาเชื้อ ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ผมทำนาเกลือมาเป็นรุ่นที่ 7 แล้ว เมื่อก่อนคนทำกันเยอะค่ะ แต่เดี๋ยวนี้ ลดลง เพราะท้อกับสภาพอากาศ อย่างใน 2 ตำบลเหลือประมาณ 160 ราย ในพื้นที่ 5,800 ไร่ ชาวบ้านที่ยังทำอยู่ ก็ต้องใช้หลากหลายเครื่องมือ ทั้งฟังพยากรณ์ ทั้ง ดูสภาพอากาศ เพื่อลดความเสี่ยง

ปัจจุบันนี้อากาศมันร้อนจัดและมีความแปรปรวนสูง หลายคนถามว่ายิ่งร้อนยิ่งดีต่อการทำนาเกลือหรือไม่ ผมบอกเลยว่าไม่ใช่เพราะอากาศร้อนจัดในทุกวันนี้ มันเป็นแบบนั้น ถ้าร้อนมันต้องร้อนชื้น แต่ร้อนแบบปัจจุบันนี้ ไม่มีลม ไม่มีความชื้น เกลือจะใม่ค่อยตก เกลือจะด้าน หรือจะเป็นเหลือเม็ดเล็กไม่มีคุณภาพ ในช่วง 2-3 ปี การทำนาเหลือทำยากขึ้น บางครั้งใน 1 วันมี 3 ฤดู ร้อน ฝน หนาว คาดคะเนได้ยาก

บุญปรอด บอกอีกว่า ปีที่แล้วฝนตกน้ำท่วมและน้ำทะเลสูงขึ้นส่งผลให้มีน้ำเข้าท่วมนาเกลือ เลยแก้ปัญหาด้วยการทำคันกั้นน้ำ น้ำขึ้นทุกปี ยุ้งเก็บเกลือคิดว่าสูงแล้ว แต่ปีที่แล้ว 2565 น้ำเข้า เกลือในยุ้งเสียหาย กว่า 30-40 ตัน ถ้าคิดเป็นเงิน ตกตันละ 5 พันกว่าบาท
สำหรับที่นี้เราก็ปรับตัวสูงขึ้นกว่าในอดีต ยอมรับสภาพอากาศส่งผลกระทบทำให้การทำนาเกลือลำบากกว่าเดิม

ศูนย์เรียนรู้โรงเรียนคนทำนาเกลือ จ.สมุทรสงคราม

สำหรับที่นี่ได้จัดเป็น ศูนย์เรียนรู้โรงเรียนคนทำนาเกลือ จ.สมุทรสงคราม โดยคาดหวังว่าจะเป็นสถานที่ที่เผยแพร่ความรู้สำหรับทุกคน อย่างน้อย ๆ อาชีพนี้ก็ยังต้องอนุรักษ์ไว้ เพราะมันคืออาชีพของคนไทยที่มีมาช้านาน แต่เมื่อสภาพอากาศแปรปรวนมากกว่าเดิมน้ำทะเลสูงขึ้นและถูกกัดเซาะหากไม่มีการอนุรักษ์และการป้องกัน อนาคตคงจะหมดไปในที่สุด

ศ.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย มูลนิธินภามิตร

ศาสตราจารย์ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย มูลนิธินภามิตร บอกว่า ปัญหาน้ำทะเลสูงขึ้นและปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ก็ได้รับผลพวงจากภาวะโลกร้อนเช่นกัน ปกติต่างประเทศที่อยู่ตามแนวชายฝั่ง จะถูกกัดเซาะมากถึงร้อยละ 35-40 ขณะที่ไทย อยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 30 ซึ่งก็ไม่น้อย

สำหรับไทยมีชายฝั่งยาวกว่า 3 พันกิโลเมตร ในช่วงปี 2549 แม้ไทยมีความพยายามในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ใช้งบประมาณไปกว่า 12,000 ล้านบาท แต่ปรากฎว่าปัญหาการกัดเซาะก็ยังเพิ่มขึ้น จากเดิมร้อยละ 22 กลายมาเป็นร้อยละ 30 ประกอบกับปัญหาโลกร้อน ยังเป็นปัญหาที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น

“อย่างมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว ทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นและทิศทางเปลี่ยนไป เช่น ฝั่งอ่าวไทย ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่ทำให้เกิดการกัดเซาะสมัยก่อนทำให้เกิดคลื่นอยู่ประมาณ 2 เมตร ปัจจุบันที่มันอยู่แถวตะลุมพุก แถวสงขลา อยู่ที่ประมาณ 4 เมตร แล้วฝั่งอันดามันลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ยอยู่ประมาณ 3 เมตร เดี๋ยวนี้บางปี แถว ๆ หาดแม่ขาวสูงมาก 6 เมตร ซึ่งเพิ่มความรุนแรงต่อเนื่อง ขณะที่อ่าวไทยก็มีความเปราะบางกับการกัดเซาะสูง โดยเฉพาะ สมุทรปราการ กทม.”

การปรับตัวและออกแบบนโยบาย เพื่อลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

ศ. ธนวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า แม้ทุกประเทศไม่สามารถระดมทุนระดมภาษีไปแก้ไขปัญหาการกัดเซาะในทุกตารางเมตรได้ แต่หากมีการวางนโยบายที่เหมาะสม ใช้ชุดข้อมูลที่ถูกต้องจากนักวิจัยที่รู้จริง ก็จะทำให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งลดลงได้ แต่ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐยังคงบริหารจัดการปัญหาเรื่องนี้ คนละทิศละทาง ต่างคนต่างทำ แบบไม่ใช้องค์รวม และใช้งานวิจัยน้อย จึงส่งผลให้การกัดเซาะมันเพิ่มขึ้นอีก

“การจัดการภัยต้องเลือกให้เหมาะสม กับบริบทที่ต้องการแก้ วางแผนแม่บทบนทิศทางเดียวกัน วางความสำคัญก่อนหลัง วางแผนชัดเจน และแก้ปัญหาไปในทิศทางเดียวกันจากองค์ความรู้ข้อมูลที่มากพอ สิ่งที่ต้องคิดเสมอคือ การใช้โมเดลออกแบบแก้ปัญหาการกัดเซาะแบบเสื้อโหล เพราะแก้ปัญหาทั้งหมดไม่ได้ แต่หากเลือกใช้งานวิจัยศึกษาสังคม บริบทสิ่งแวดล้อม และหาวิธีที่ลดผลกระทบจะส่งผลให้ปัญหาการกัดเซาะดีขึ้น หรือลดผลกระทบได้จริง ๆ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์