เปิด 3 ฉากทัศน์ กรุงเทพฯ-ปริมณฑลเสี่ยงจมน้ำ

ไทยจะรอดจากน้ำท่วมหรือไม่ ? ยังเป็นข้อถกเถียงในสังคม แต่หากมองสถานการณ์ปัจจุบัน หลายเมืองใหญ่ในโลก เผชิญกับน้ำท่วมหนักรุนแรงจากความแปรปรวนสภาพอากาศ ทำให้เราต้องตระหนัก และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

ประเทศไทยเองก็เผชิญภัยพิบัติทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง ตามมาด้วยความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันประเทศไทยติดอันดับ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ที่มีความเสี่ยงจะเกิดภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศที่แปรปรวนมากที่สุด แม้ไทยจะยังอยู่ในปรากฎการณ์เอลนีโญ 2566-2569 ที่ต้องเผชิญกับภัยแล้ง แต่ก็ประมาทไม่ได้เพราะปี 2570 เป็นต้นไป อาจต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมใหญ่ที่คล้ายๆ 2554 หรือหนักกว่าที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้

มองสถานการณ์หลายประเทศทั่วโลก

น้ำท่วมเกาหลีใต้

หากมองสถานการณ์หลายประเทศทั่วโลก จากกรณีที่เกิดขึ้นที่เกาหลีใต้ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 ก.ค.66 ) ฝนถล่มน้ำท่วมหนัก ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 40 คน ขณะที่โศกนาฏกรรมน้ำท่วมอุโมงค์ทำให้มีผู้เสียชีวิตในอุโมงค์มากกว่า 10 คน จากเหตุการณ์ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องนานกว่า 4 วันทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูง ส่งผลให้ทำนบกั้นน้ำพังและน้ำในแม่น้ำเอ่อล้นทะลักไหลเข้าอุโมงค์ใต้ดินเมืองโอซง จังหวัดชุงชองเหนือ ซึ่งมีความยาวประมาณ 685 เมตร รถหลายคันจึงไม่สามารถออกมา ขณะที่มีประชาชนกว่า 9 พันคน จาก 14 เมือง กระทบหนักจากน้ำท่วมครั้งนี้

แม้เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาถึงการป้องกันและตอบสนองต่ออุทกภัยของทางการจังหวัดชุงชองเหนือที่ไม่สามารถห้ามไม่ให้รถขับเข้าอุโมงค์ได้ทันเวลา ด้านสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ออกแถลงการณ์ระบุว่ามีหญิงไทย 1 คน เสียชีวิตเนื่องจากน้ำป่าไหลหลากที่บ้านพักในจังหวัดคยองซังเหนือ ด้านผู้นำเกาหลีใต้ตั้งเป้ายกเครื่องกลไกในการรับมือสภาพอากาศสุดขั้ว เนื่องจากสภาพอากาศลักษณะนี้มีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้นในอนาคต

น้ำท่วมอินเดีย

ส่วนที่ประเทศอินเดีย ก็เกิดเหตุฝนตกหนักทำให้เกิดเหตุดินถล่มในพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 20 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่ต้องระงับการปฏิบัติภารกิจกู้ภัยชั่วคราว เนื่องจากสภาพอากาศย่ำแย่ ด้านกองกำลังรับมือภัยพิบัติแห่งชาติของอินเดีย คาดว่าตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากคาดว่ามีผู้ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังและดินโคลนอีกจำนวนมาก

ประเทศอินเดียเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุมเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้หลายพื้นที่เผชิญฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน ดินถล่ม รวมทั้งอุบัติเหตุต่างๆ จากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น โดยจนถึงตอนนี้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 100 คน

น้ำท่วมจีน

ขณะที่สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของจีน เผยภาพเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินในมณฑลกานซู เร่งช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในรถยนต์ท่ามกลางน้ำท่วมสูง หลังจากพายุฝนที่พัดถล่มส่งผลให้หลายพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือและทางตะวันออกของจีนเผชิญเหตุน้ำท่วมรุนแรง ซึ่งบางจุดมีปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่า 100 มิลลิเมตร

ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางน้ำท่วมขังเช่นกัน หลังคาดว่าฝนที่ตกลงมาตั้งแต่วันพุธ จะตกต่อเนื่องไปอีก 3 วัน โดยเมืองหนึ่งในมณฑลเหอหนานมีปริมาณน้ำฝนสะสมมากถึง 259.4 มิลลิมตรในชั่วข้ามคืน กระทรวงทรัพยากรน้ำจีน เตือนว่า ฝนที่อาจตกหนักต่อเนื่องในหลายภูมิภาคในช่วง 2-3 วันข้างหน้านี้ อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเหตุน้ำท่วมและดินถล่มมากขึ้น

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต 

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต  กล่าวว่า ภายหลังจากคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้เปิดเผยข้อมูลรหัสแดง (Code red) ในปี 2564-2565 จากรายงานฉบับที่ 6 (IPCC-AR6) ในฐานะเป็นคนไทยคนเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้เขียนนำ (Lead author) และประเมินรายงานในบทที่ 4 (Chapt. 4 Water) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของน้ำ โดยหนึ่งในรหัสแดงดังกล่าว คือภัยคุกคามจากน้ำทะเลที่สูงขึ้น ประกอบกับผมกำลังทำวิจัยโดยละเอียดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณผ่านโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่อาจกระทบได้

กรุงเทพฯ และปริมณฑลจมน้ำ ?

ล่าสุดมีศูนย์วิจัยต่างๆทั่วโลกตีพิมพ์ผลงานเรื่องกรุงเทพฯ และปริมณฑลจมน้ำ โดยผมได้รวบรวมเฉพาะผลงานที่เกี่ยวข้อง 3 ผลงานกล่าวคือ

1) Flood Delta City Index (TuDelt, 2017) มีการประเมิน 38 เมืองริมชายฝั่งทะเลทั่วโลก รวมทั้งกรุงเทพมหานคร โดยใช้ฐานข้อมูล IPCC-AR5 โดยพบว่าความเสี่ยงของกรุงเทพมหานคร อยู่ในลำดับที่ 7

มูลค่าความสูญเสีย จากปัจจุบัน 10,700 ล้านบาทต่อปี (ในปี ค.ศ. 2015) เพิ่มเป็น 32,700 (205 %) ล้านบาทต่อปี (ในปี พ.ศ. 2573 ภายใต้ฉากทัศน์ RCP4.5) และ เพิ่มเป็น 48,000 (346 %) ล้านบาทต่อปี (ภายใต้ฉากทัศน์ RCP8.5)

2) Hydrological Res. Letter, 2020 ใช้ฐานข้อมูล IPCC-AR5 กับข้อมูลระดับความสูงต่ำของพื้นที่โดย Lidar

โดยพบว่ากรณีน้ำขึ้นถึงระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 1.11 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มีพื้นที่จมน้ำประมาณ 2,520 ตร.กิโลเมตร ประชาชนกว่า 3.9 ล้านคนได้รับผลกระทบ ในอนาคตหากระดับน้ำเพิ่มขึ้นอีก 1.10 เมตร ฉากทัศน์ RCP8.5 จะมีพื้นที่จมน้ำเพิ่มเป็น 6,140 กิโลเมตร และประชากรจะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นเป็น 7.2 ล้านคน โดยมีขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมรุกล้ำในแผ่นดินประมาณ 80 กิโลเมตร

3) Hooijer & Vernimmen (Nature Communications, 2021) มีการใช้ข้อมูล ​Global Lidar ประเมินพื้นที่น้ำท่วมชายฝั่งทะเลบริเวณประเทศแถบโซนร้อน รวมทั้งปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยทั้งสามผลงานบ่งชี้ความเสี่ยง และความเปราะบาง รวมทั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยคุกคามน้ำท่วมชายฝั่งทะเลบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างมีนัยสำคัญ

หากสถานการณ์เลวร้ายที่สุด จากการคาดการณ์ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จะพบว่าที่สถานีป้อมพระจุลฯ ในปี ค.ศ. 2030 จะสูง 39 เซนติเมตร และในปี ค.ศ.2050 จะสูง 76 เซนติเมตร ขณะที่ปี ค.ศ. 2100 จะสูง 1 เมตร 89 เซนติเมตร

ภัยคุกคามประเทศไทย 3 น้ำ ?

ล่าสุดหน่วยงานอิสระ Climate Central ได้พัฒนา Web. Application (https://coastal.climatecentral.org) โดยใช้ฐานข้อมูลล่าสุดจาก IPCC-AR6 ให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปดูความรุนแรงของน้ำท่วมชายฝั่งทะเลทั่วโลก ในอนาคตตั้งแต่ปี ค.ศ. 2030-2150 โดยเฉพาะชายฝั่งทะเลปากแม่น้ำเจ้าพระยา จากผลงานวิจัยทั้งหมดที่กล่าวข้างต้นใช้วิธีการ Bathtub เป็นการซ้อนทับระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้นในอนาคตกับข้อมูลระดับพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยการใช้ฐานข้อมูลจากรายงาน IPCC ฉบับที่ 5 (IPCC-AR5-2012) ทำให้พื้นที่น้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้าง เนื่องจากวิธีการดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงพฤติกรรมการไหล หรือการดันของน้ำทะเลจากการยกตัวเข้าไปยังชายฝั่งที่มีระดับความสูงแตกต่างกันตามทฤษฎีทาง Hydrodynamics

ดังนั้น ผมจึงได้ศึกษาเรื่องนี้โดยคำนึงถึงภัยคุกคามทั้ง 3 น้ำ (น้ำเหนือ น้ำฝน และน้ำทะเลหนุน) ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ลงมายังชายฝั่งทะเลกรุงเทพฯ และปริมณฑล (กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสมุทรปราการ) โดยการใช้ฐานข้อมูลล่าสุดจากรายงานฉบับที่ 6 (IPCC-AR6-2021)

ซึ่งพบว่าในอนาคตอันใกล้ และไกล เราไม่สามารถรอดพ้นจากภัยคุกคาม 3 น้ำได้เลย อิทธิพลน้ำเหนือหลากจะส่งผลให้มีน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างทั้งลุ่มเจ้าพระยาเป็นรายฤดูกาล (ประมาณ 2 เดือน) ส่วนพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลจะหายไปอย่างถาวรเพิ่มขึ้นประมาณ 2, 5, 8, และ 20 กิโลเมตร ในปี พ.ศ. 2573, 2593, 2613, และ 2643 ตามลำดับ หากไม่มีมาตรการรองรับ

ทางรอดประเทศไทย

ทางรอดของเรามีทางเดียวคือการปรับตัวให้อยู่กับน้ำให้ได้ การหาที่ให้น้ำอยู่ (Room for the river) เริ่มจากมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง (Nature-based solutions) และมาตรการเชิงโครงสร้าง (Flood dike) โดยต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับภัยคุกคามรหัสแดง https://theactive.net/read/climate-code-red/ จากบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง รศ.เสรี ระบุว่า ขณะนี้กำลังร่วมกับภาคเอกชนในการเตรีมความพร้อม และสนับสนุนการออกแบบ ศึกษา วิจัย เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหาทางตอบโจทย์เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับพื้นที่ชายฝั่งที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพอากาศ

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

  • ชุมชนริมชายฝั่งอาจต้องมีความเข้มแข็งและสร้างชุมชนปรับตัวควบคู่กับการบริหารจัดการเชิงนโยบายจากรัฐ เช่นการขุดบ่อขุดสระหาที่ให้น้ำอยู่ลดผลกระทบ ปลูกป่าเพิ่ม สร้างพื้นที่สีเขียว
  • ขณะเดียวกันรัฐก็ต้องลงทุนโครงสร้างสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยหน่วยงานรัฐอาจต้องเริ่มคิด และทำทันที เพราะต้องสร้างการมีส่วนร่วมที่หลากหลายกับทุกภาคส่วน และใช้เวลา เพราะหากไม่จัดการหรือไม่ทำอะไรเลยอาจไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ที่สำคัญการทำนโยบายรัฐควรเน้นวิเคราะห์งานวิจัย นวัตกรรม เพื่อเพิ่มทางเลือกทางรอด
  • และรัฐต้องสื่อสารให้ประชาชนตระหนักไปพร้อมกับการปรับตัวอยู่กับธรรมชาติเพราะภัยพิบัตินอกการป้องกัน การปรับตัวจะทำให้ประชาชนรอดพ้นและสูญเสียน้อยกว่า

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์