แผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไทย เดินหน้าไปถึงไหนแล้ว


การลดภาวะก๊าซเรือนกระจก คือบทบาทสำคัญของประเทศไทยที่ต้องทำ หลังนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ว่าไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ความท้าทายนี้ มีผลทำให้เกิดความร่วมมือกันในหลายภาคส่วน ซึ่งหากไม่เร่งเริ่มเดินหน้าก็อาจถูกกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศในอนาคต

ภาวะเรือนกระจกกระทบกับโลกอย่างไร

นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ชั้นบรรยากาศของโลกเหมือนกระจก ที่ยอมให้รังสีคลื่นสั้นผ่านลงมายังผิวโลกได้ แต่จะดูดกลืนรังสีคลื่นยาวช่วงอินฟราเรดที่แผ่ออกจากพื้นผิวโลกเอาไว้ จากนั้นก็จะคายพลังงานความร้อน ให้กระจายอยู่ภายใน ชั้นบรรยากาศและพื้นผิวโลก เปรียบเสมือนกระจกที่ปกคลุมผิวโลกให้มีภาวะสมดุลทางอุณหภูมิ และเหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิตบนผิวโลก

แต่ในปัจจุบันมีก๊าซบางชนิดสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมากเกินสมดุล ซึ่งก๊าซเหล่านี้สามารถดูดกลืนรังสีคลื่นยาวช่วงอินฟราเรดและคายพลังงานความร้อนได้ดี พื้นผิวโลกและชั้นบรรยากาศ จึงมีอุณหภูมิสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลก และสิ่งมีชีวิตพื้นผิวโลกอย่างมากมาย เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่บางส่วนถูกปล่อยมาจากการเผาของกิจกรรมมนุษย์ ก๊าซมีเทน ที่บางส่วนมาจากนาข้าวหลังมีการย่อยอินทรีย์วัตถุและซากสัตว์ และการเผา ส่วนก๊าซไนตรัสออกไซด์ มาจากอุสาหกรรม และก๊าซคลอโรฟลูออโรคาร์บอน มาจากอุปกรณ์เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น ก๊าซเหล่านี้นับเป็นก๊าซที่เป็นตัวการหลักของการเกิดภาวะเรือนกระจก

แผนภาพแสดงการรับและคายรังสีจากดวงอาทิตย์ของผิวโลกและชั้นบรรยากาศ
ที่มา “Radiative Forcing of Climate Change” The 1994 Report of the Scientific Assessment Working Group of IPCC

ผลกระทบของก๊าซเรือนกระจกต่ออุณหภูมิของผิวโลก

ก๊าซเรือนกระจกสามารถส่งผลกระทบโดยตรงทำให้โลกมีพลังงานความร้อนสะสมอยู่บนผิวโลกและชั้นบรรยากาศมากขึ้น อันเป็นต้นเหตุให้พื้นผิวโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ผลที่ตามมาก็คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม การผันแปรของสภาพภูมิอากาศของโลกและท้องถิ่น

จากรายงานของ IPCC หรือ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change)  ระบุว่า ผลการตรวจวัดอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วพื้นผิวโลก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1860 จนถึงปัจจุบัน พบว่าอุณหภูมิผิวพื้นเฉลี่ยทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นมาตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา และสูงขึ้นชัดเจนในปลายศตวรรษนี้ประมาณ 0.3 – 0.6 องศาเซลเซียส โดยเฉลี่ย

ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยใช้แบบจำลองภูมิอากาศ โดยอาศัยสมมุติฐานที่ว่าถ้าหากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของโลกในปี ค.ศ.2100 เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากระดับปัจจุบัน พบว่าอุณหภูมิผิวพื้นทั่วโลกสูงขึ้นประมาณ 1 ถึง 3.5 องศาเซลเซียส และระดับน้ำทะเลสูงขึ้นประมาณ 15 ถึง 95 เซนติเมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบหลายด้าน เช่น

อุณหภูมิในรอบวันบนพื้นทวีปมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเมฆในท้องฟ้า ทำให้ช่วงกลางวันมีอุณหภูมิลดลงและอุณหภูมิในช่วงกลางคืนสูงขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น หรือการเกิดพายุ และคลื่นซัดฝั่ง จะส่งผลให้เกิดการกัดเซาะ การพังทลาย และเกิดน้ำท่วมบริเวณชายฝั่งมากขึ้น ความเค็มของน้ำในบริเวณปากแม่น้ำและในชั้นน้ำจืดใต้ดินจะเพิ่มขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลง ของระดับน้ำขึ้น-น้ำลง ในแม่น้ำและอ่าวต่าง ๆ

เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกระทบอย่างไร ?

การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอากาศและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น จะมีผลกระทบในทางลบต่อการพลังงาน การอุตสาหกรรม การขนส่ง การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ การประกันทรัพย์สิน และการท่องเที่ยว ภัยที่เห็นได้ชัดเจนคือ ประชากรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง ซึ่งได้มีการประมาณการว่าจะมีประชากรประมาณ 46 ล้านคนต่อปีในปัจจุบันที่เสี่ยงต่อภัยน้ำท่วม เนื่องจากคลื่นพายุซัดฝั่งและหากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 50 เซนติเมตร จำนวนประชากรที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมจะเพิ่มขึ้นเป็น 92 ล้านคน และถ้าระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 1 เมตร จำนวนผู้เสี่ยงต่อภัยน้ำท่วมจะสูงถึง 118 ล้านคน โดยประชากรของประเทศที่เป็นเกาะเล็ก ๆ หรือประเทศด้อยพัฒนาจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่า เนื่องจากระบบป้องกันชายฝั่งไม่ดีเพียงพอ และประเทศที่มีประชากรหนาแน่นกว่าก็ย่อมได้รับผลกระทบมากกว่าทำให้เกิดการอพยพทั้งภายในประเทศ และข้ามประเทศ

จากการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 1 เมตร ซึ่งเป็นค่าสูงสุดตามที่ประมาณการสำหรับปี ค.ศ. 2100 พบว่าเกาะเล็ก ๆ และพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำเป็นบริเวณที่เสี่ยงภัยสูง โดยได้ประเมินการสูญเสียแผ่นดินของประเทศต่าง ๆ ถ้าระบบป้องกันภัยมีอยู่เช่นปัจจุบันดังนี้ ประเทศอุรุกวัย จะสูญเสียร้อยละ 0.05 อียิปต์ร้อยละ 1 เนเธอร์แลนด์ร้อยละ 6 บังคลาเทศร้อยละ 17.5 และประมาณร้อยละ 80 สำหรับเกาะปะการังมาจูโร (Majuro) ในหมู่เกาะมาร์แชล และประชากรที่ได้รับผลกระทบจะมีมากประมาณ 70 ล้านคนในจีนและบังคลาเทศ เป็นต้น

I

ผลกระทบจากภัยพิบัติจะรุนแรงมากขึ้น !

สำหรับประเทศไทยเมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งของประเทศไทยจะมีการเกิดน้ำท่วมเพิ่มพื้นที่ขึ้น และความรุนแรงมากขึ้นอัตราการกัดเซาะและการพังทลายของพื้นที่ชายฝั่ง จะเพิ่มขึ้นน้ำทะเลจะรุกเข้ามาในแผ่นดิน และแม่น้ำมากขึ้นทำให้ความเค็มในดิน และบริเวณตอนล่างของแม่น้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบในทุก ๆ ด้าน เช่น ด้านที่อยู่อาศัย การเกษตรกรรม การจัดหาน้ำจืด การประมง การท่องเที่ยว เป็นผลให้กระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก

ตามรายงานล่าสุดขององค์การพลังงานระหว่างประเทศนั้น เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า การที่ประเทศต่าง ๆ จะสามารถร่วมกันควบคุมไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส นั่นหมายความว่า บรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้

ที่ผ่านมาประเทศสหรัฐอเมริกามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดประมาณ 33% รองลงมาคือ จีน อินเดีย บราซิล ซึ่งที่ประชุมได้พยายามจะนำประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก เข้ามาอยู่ในกลุ่ม ประเทศพัฒนาแล้วที่จะต้องลดการปล่อยตามเป้าหมายด้วย สำหรับประเทศไทยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อยู่ที่ 0.8 ถือว่าน้อยมาก และประเทศไทยมีแนวทางการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทน ที่สอดคล้องกับนโยบายของไอพีซีซี

รายงานการศึกษาของ IPCC กล่าวว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ทศวรรษหน้า หากไม่มีการกำหนดนโยบายเพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือมีนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 25-90 ในปี ค.ศ. 2030 เมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยในปี ค.ศ. 2000 และหากการพึ่งพา เชื้อเพลิงฟอสซิล ยังดำเนินต่อไปหลังปี ค.ศ. 2030 คาดว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละร้อยละ 40-110

ล่าสุด รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2566 (Global Risks Report 2023) The World Economic Forum จากนี้ไปอีก 10 ปี โลกจะเผชิญความเสี่ยง 10 เรื่อง ทั้งความเสี่ยงระยะสั้นและระยะยาว ขณะที่ พบ 1 ใน 5 เรื่อง เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ และในปี ที่ 11 ไปจนถึง ปีที่ 20  นั้นจะไม่ใช่เพียง 5 ข้อ แต่อาจมากถึง 10 ข้อที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง

ผลกระทบภัยพิบัติทั่วโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้นแล้ว ช่วง (2565-2566)

โดยที่ผ่านมาทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ย้อนไปเมื่อ กลางปี 2565 สนามบินลูตันในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนอย่างหนัก หลังจากที่พื้นผิวของรันเวย์ที่ทำจากยางมะตอยร้อนจัดจนละลาย ทำให้ไม่สามารถนำเครื่องบินโดยสารทำการบินขึ้นและลงจอดได้ ขณะที่ประเทศอังกฤษก็ประกาศเตือนภัยสภาพอากาศรุนแรงในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศครั้งแรก หลังเผชิญคลื่นความร้อน

อย่างเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2565 สำนักข่าวต่างประเทศ ท้องถนนในพื้นที่ทางตะวันตกของรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เผชิญพายุหิมะพัดถล่มอย่างหนัก ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่แคนาดาไปจนถึงพรมแดนเม็กซิโก โดยถือเป็นสภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 45 ปีที่พื้นที่ดังกล่าวต้องเผชิญ และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต มีรายงานว่าเที่ยวบินทั้งในและระหว่างประเทศร่วม 2,085 เที่ยวบินถูกยกเลิก โดยเซาท์เวสต์แอร์ไลน์ ยกเลิกเที่ยวบินไปกว่า 1,253 เที่ยวบิน คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของทั้งหมด และมากกว่าสายการบินใหญ่รายอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ถึง 5 เท่า

ขณะที่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เกิดเหตุพายุไซโคลนในนิวซีแลนด์ ฝนตกหนักและลมกระโชกแรง จนทำให้เกิดน้ำท่วมขังสูงเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้ถนนหลายสายถูกตัดขาดและเที่ยวบินหลายร้อยเที่ยวต้องถูกยกเลิก ขณะที่ถนนหลายสายมีน้ำท่วมขังสูงจนไม่สามารถสัญจรผ่านไปได้ โดยเฉพาะเมืองโอ๊คแลนด์ ถูกน้ำท่วมหนัก ขณะที่ภาพรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพายุ ยังทำให้ประชาชนอีกราว 2,500,000 คนยังคงไม่มีไฟฟ้าใช้ และประชาชนอีกราว 35,000 คนได้รับผลกระทบหลังจากเที่ยวบินมากกว่า 600 เที่ยวต้องยกเลิกไปก่อน

ไม่ต่างจากประเทศไทยในช่วง ฤดูฝน 2565 ก็เผชิญกับภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่อีกครั้ง จนทำให้หลายจังหวัดของไทยได้รับผลกระทบบางแห่งมากกว่า ปี 2554 ที่เกิดความเสียหาย ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ สังคม ประชาชนที่มีความเปราะบาง เด็ก สตรี คนชรา คนพิการจำนวนมาก

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในงานพลิกวิกฤตมหัตภัยโลกร้อน หลังสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรจัดขึ้นว่า สำหรับประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 0.8 ของโลกใบนี้ เป็นอันดับที่ 19 ของโลก โดย จีน ปล่อยมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

แต่อีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยกลับเป็น 1 ใน 10 ประเทศแรกของโลก ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง ขณะที่ปีนี้ (2566) ไทยจะเผชิญภัยแล้งต่อเนื่องไป 3 ปีข้างหน้าเพราะเป็นช่วงปรากฏการณ์เอลนีโญ หลังจากนั้นก็จะเกิดน้ำท่วมที่ต่อเนื่องเป็น ช่วง ๆ ด้วยลานีญาอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์ของไทยในช่วงปลายปี 2564 ว่าไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 และจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 และด้วยการสนับสนุนจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้ กรอบอนุสัญญาฯ ไทยจะยกระดับ NDC (Nationally Determined Contribution) หรือ เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยมีทั้งแผนระยะสั้น และระยะยาว

จากแผนดังกล่าว คาดการณ์ว่าภายในปี 2025  หรือ อีก 2 ปี ต่อจากนี้ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด ซึ่งเราจะปล่อย 388 ล้านตัน  ในปี พ.ศ. 2525 และถัดไปอีก ปี 2030 เราจะต้องลดไป 40%  ตามแผนระยะสั้นหรือ NDC  โดยภาคพลังงานและภาคขนส่ง ต้องลดให้ได้ 266 ล้านตัน จากที่ปล่อยออกมา ภาคอุตสาหกรรม ต้องลดให้ได้ 2.25 ล้านตัน ภายในปี 2030  ภาคของเสียต้องลดก๊าซเรือนกระจกนั้น ประมาณ 2.6 ล้านตัน ภาคที่ท้าทายกับประเทศไทยอย่างยิ่ง คือภาคการเกษตร ต้องลดให้ได้ 1 ล้านตัน

สำหรับกลไกคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ที่รัฐบาลพยายามผลักดัน 3 ปีที่ผ่านมา  วันนี้ไทยมีกลไกในการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตแล้ว มีระเบียบหลักเกณฑ์ว่าด้วยการขึ้นทะเบียน การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ออกมาแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงกับสำนักนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันตลาดคาร์บอนเครดิต และโครงการ T-VER คือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของ ประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) เป็นกลไกที่ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้พัฒนาขึ้นมาตามแนวทางมาตรฐานสากล (ISO 14064-2] และเหมาะสมกับ บริบทของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลด ก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ เพื่อเป็นการประเมินว่าองค์กร มี คาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) เท่าไหร่

สำหรับคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) คือปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas emissions and removals) ที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์หรือบริการตลอดวัฏจักรชีวิต หรือจากกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กร วัดรวมอยู่ในรูปของตัน (กิโลกรัม) ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ปัจจุบันมีหลายโครงการที่มา ประเมินกับโครงการ T-VER มี 141 โครงการ ทั้งภาคพลังงาน พลังงานทางเลือก การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ภาคป่าไม้ ภาคจัดการของเสีย รวมถึงภาคพลังงานจัดการของเสีย โครงการต่าง ๆ เหล่านี้จะขอมาประเมิน ว่ามีคาร์บอนฟุตพรินต์อยู่ประมาณเท่าไหร่หรือว่าลดคาร์บอนฟุตพรินต์ ประมาณเท่าไหร่

ตลาดซื้อขายคาร์บอน (Carbon Market) เป็นอย่างไร

ก่อนหน้านี้ “ตลาดคาร์บอน” ซึ่งเปิดซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านการติดต่อกันโดยตรง ตั้งแต่ปี 2559 มาจนถึงวันนี้ พบการซื้อขายกันไปแล้วประมาณ 2 ล้านกว่าตัน  รวมมูลค่าในการซื้อขายอยู่ประมาณ 153 ล้านบาท ซึ่งถ้าเทียบต่อตันจะตกอยู่ที่ประมาณ 75 บาทต่อตัน ถูกแสนถูกในประเทศไทย  ในขณะที่ประเทศในแถบยุโรปซื้อขายกันกันตันละ 80 ยูโร   

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 ปีที่แล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำงานคู่กับทางสภาอุตสาหกรรมปิดตัวการซื้อขายพลังงานสะอาดคาร์บอนเครดิตหรือ FTIX หรือ การแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต  บนตารางนี้ก็มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตไปแล้วกว่า 3 พันตัน ได้ซื้อจากนี้ซึ่งไม่ได้ซื้อจากเพียร์ทูเพียร์อีกต่อไป

นอกจากนี้ ต่อไปจะมีการพัฒนาโครงการ T-VER เป็น Premium T-VER โดยถ้าย้อนกลับมาที่ ภาคการเกษตร ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามส่งเสริม การทำนาเปียกสลับแห้ง เพราะปกติแล้วเวลาทำนามันเกิดก๊าซมีเทน บ้านเราเวลาทำนาปกติ ส่วนใหญ่นิยมให้มีน้ำอยู่ในนาไว้ 3-4 เดือน ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้เกิดการหมักหมมของสารจุลินทรีย์และอินทรียวัตถุ หรือ สิ่งที่ได้จากการย่อยสลายของซากพืชซากสัตว์ต่าง ๆ หรือ เช่น มูลสัตว์ เศษใบไม้ เศษตะกอนต่าง ๆ ก็ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนขึ้นมา

การทำนาแบบเปียกสลับแห้งเพื่อขายคาร์บอนเครดิตลดโลกร้อนอย่างไร

จนกระทั่งวันนี้มีเทคนิคใหม่ คือการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งปรับกระบวนการผลิตระหว่างที่ข้าวกำลังออกรวงตั้งท้องชาวนาก็จะเอาน้ำออกจากนาให้หมดเลย หลายคนอาจสงสัยข้าวจะตายหรือไม่ ในทางตรงกันข้าม นอกจากข้าวไม่ตายแล้ว ได้ประโยชน์หลายทาง คือใช้น้ำน้อยลงร้อยละ 50 พลังงานที่จะสูบน้ำเข้านาก็ลดไปอีกร้อยละ 50 แถมผลผลิตต่อไร่ จาก 1 ไร่ ได้ข้าว 700 กิโลกรัม แต่สามารถเพิ่มมามากถึง 800-900 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นมาร้อยละ 20-30 สิ่งที่สำคัญมันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดไปได้ ร้อยละ 70-80  

ปัจจุบันมีแปลงทดลองแบบเปียกสลับแห้งในไทย 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี แนวทางนี้มันเกิดขึ้นแล้ว เพราะอย่างชาวบ้านที่ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี สามารถขายคาร์บอนเคดิต เพราะเปลี่ยนเทคนิคในการทำนาเปียกสลับแห้งพอก๊าซมีเทนหายไป เขาขายคาร์บอนเครดิต ได้ 250 บาทต่อ 1 ครั้งในฤดูกาลทำนา โดยใน 1 ปี ชาวนาจะทำนา 2 ครั้งต่อปี นาปีและนาปรัง แปลว่าข้าว 1 ไร่จะได้ 500 บาท/ปี/ไร่ มันเกิดขึ้นแล้วมีบริษัทมารับซื้อแล้ว ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มกัน เรียกว่ากลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่เกษตรรุ่นใหม่เดิมบางนางบวช ขายได้ เปลี่ยนแปลงวิธีการทำนาได้แล้วจริง ๆ

นอกจาก 6 จังหวัดนี้แล้วไทยก็กำลังของบประมาณจากต่างประเทศ เรียกว่ากองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) เป็นกลไกทางการเงินภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการที่จะขยายผลให้เป็น 21 จังหวัดที่จะเปลี่ยนแปลงการทำนาของประเทศไทย เพราะภาคเกษตรไทยของอาจต้องลดให้ได้ 1 ล้านตันภายในปี 2030

การเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก

อีกแนวคิดที่สำคัญคือการเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก โดย เมื่อปี 2565 ทางกระทรวงทรัพย์ฯ จัดพื้นที่ 6 แสนไร่ ในการที่จะให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม ทั้งป่าชายเลนและป่าปกติ ในปี 2566 นี้เราเร่งหาพื้นที่เพิ่มเติมอยู่ ที่ผ่านมา มี กฟผ. ปตท.สผ.ได้เข้ามารวมในปี 2565 ที่ผ่านมา

โดยใน โครงการ T-VER ภาคป่าไม้รับรองคาร์บอนเครดิตแล้ว 5 โครงการ โดยการปลูกป่าเพิ่มคาร์บอนเครดิต บ้านโค้งตาบาง จ.เพชรบุรีป่าชุมชนแห่งแรก สู่ตลาดคาร์บอนเคดิต

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีเพื่อการดักจับและการใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ(CCUF) ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกระทรวงพลังงาน ศึกษาศักยภาพของเทคโนโลยี คาดว่าจะนำมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2040 (share service) ต้องอาศัยร่วมือหลายฝ่าย เริ่มจาก

  1. การสำรวจพื้นที่ศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนของประเทศไทย
  2. การปรับปรุงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  3. การคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมและการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี
  4. รูปแบบการลงทุน
  5. มูลค่าเพิ่มของคาร์บอนเครดิตและสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ตอนนี้มีโครงการนำร่องกับ ปตท.สผ. ในโครงการนำร่องดักจับกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์(CCS) โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทย โดยบริษัท ปตท.และสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)(อยู่ระหว่างการพิจารณาการลงทุน ) ตั้งเป้า 0.7-1 ล้านตัน

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ ข้อ 6.2 ความตกลงปรารีส ซึ่งเป็นกลไกตลาดในรูปแบบของความร่วมมือโดยสมัครใจภายใต้แนวทางความร่วมมือที่มีการใช้ผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่ถ่ายโอนระหว่างประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ NDC

แนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ข้อ 9-16

เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่(2565)แล้วไทยได้ลงนามโครงการความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความพยายามครั้งใหญ่ของมนุษยชาติในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะซื้อขายคาร์บอนเครดิตกัน เช่น เปลี่ยนรถเมล์ จากเครื่องยนต์ดีเซล วันนี้จะได้เปลี่ยนเป็น E-Bus ขณะที่เบื้องต้นตั้งเป้า  E-Bus จะทำให้ได้ทั้งหมด ตั้งเป้าแรก ๆ 500 คัน รถก๊าซเรือนกระจกได้ 5 พันตัน ในระยะยาวจะเปลี่ยนเป็น E-Bus ทั้งหมด

ที่ผ่านมาในช่วงเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เราได้ไปลงนามกับสวิส ในการทำ Bangkok E-Bus รถโดยสารประจำทางๆฟฟ้า ไทย -สวิส (สผ.ลงนาม LoA เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2566)

  • สามารถลดก๊าซเรือนกระจก 500,000 ในปี 2030
  • ลดมลพิษฝุ่น PM2.5

เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังกระทบทั้งการลงทุนการท่องเที่ยว  ธุรกิจต่าง ๆ ยังไม่รวมถึงภาษีที่เกิดขึ้น โดยปัจจุบัน ทางสหภาพยุโรป มีสินค้า อยู่ 4-5 ชนิดที่มีการควบคุมภาษี ที่เรียกว่า Carbon Border Adjustment Mechanism -CBAM ซึ่งตอนแรกเขาคุมสินค้า อยู่ 4-5 ชนิด เหล็ก เหล็กหล้า อลูมิเนียม  ปุ๋ย ไฟฟ้า และซีเมนต์ เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ได้เพิ่มแก้ว ยิปซัม กระดาษ ซึ่ง จำนวนสินค้าที่อยู่ภายใต้ภาษีสิ่งแวดล้อมนับวันมีแต่เพิ่มขึ้น ๆ

วันนี้ถ้าเราไม่เปลี่ยนต่างชาติอาจจะตั้งกำแพงภาษีกับเราได้ อย่างข้าวไทยอีกหน่อยถ้าไปเจอกำแพงภาษีต่างประเทศ แล้วเราอาจสูญเสียโอกาส ดังนั้นหากไม่เร่งเปลี่ยนอะไรเลย อย่างของอเมริกา เขาปรับตันละ 55 เหรียญ หรือยุโรปเขาปรับ ตันละ 85 ยูโร สุดท้ายแล้วเราต้องมาพิจารณาว่าเราจะให้เขาเปลี่ยนเราหรือเราจะเปลี่ยนตัวเราเองวันนี้

ด้านกฎหมาย กำลัง(ร่าง)พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จริงร่างนี้ทำเสร็จปีที่แล้วแต่พอสถานการณ์เปลี่ยนไป ตอนแรกที่เราร่างเราพูดถึงการมีส่วนร่วมโดยสมัครใจ จากแนวโน้มโลก ทำให้เป็นภาคสมัครใจไม่ได้แล้วจึงต้องหันมาเปลี่ยนเป็นภาคบังคับ แต่ละอุตสาหกรรม แต่ละธุรกิจปล่อยก๊าซออกมามากน้อยเพียงใด ซึ่งกฎหมายนี้จะต้องรอเสนอคณะรัฐมนตรี ชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง

สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้จะกำหนดรายละเอียด ทั้ง

  • คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ
  • แผนแม่บท แผนลดก๊าซเรือนกระจก แผนการปรับตัว
  • ฐานข้อมูลกลางด้านภูมิอากาศ
  • ฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
  • การสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อม การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon pricing)

ความคืบหน้า “กรม Climate Change”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังกล่าวถึงการจัดตั้ง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยเงื่อนไขสำคัญจะต้องไม่จ้างคนเพิ่ม ต้องไม่ใช้งบฯเพิ่ม ซึ่งกรมนี้มีการปรับเปลี่ยน จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่ 511 คน จากงบประมาณปี 2565 งฯ 434 ล้านบาท รวมกับ กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สผ. เจ้าหน้าที่ 34 คน งบประมาณ ปี 2565 งบฯ 26 ล้านบาท  รวม จะมีเจ้าหน้าที่ 545 คน งบประมาณ 460 ล้านบาท

ขณะที่บทบาท ของ กรม Climate Change มีภารกิจหลักและหน้าที่ คือ การจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการเกี่ยวกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ และลดก๊าซเรือนกระจก ประเมินความเสี่ยง และผลกระทบจากการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ ดำเนินการและเสนอแนวทางตามพันธกรณีของอนุสัญญา พิธีสาร และความตกลงระหว่างประเทศ และระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน องค์กรในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ รวมถึงวิจัย พัฒนา ถ่ายทอด และส่งเสริมเทคโนโลยีการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคาดว่าหลังจากได้รัฐบาลชุดใหม่อาจมีการเสนอพิจารณาจัดตั้งต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์