ปล่อยใจ ปล่อยจอย ไปลงจาน

เสน่ห์ตลาดพลู สัมผัสพหุวัฒนธรรมผ่าน ‘อาหาร’

ตอนเด็ก ๆ หลายคนน่าจะเคยมีกิจกรรมวาดรูป เต้นรำ เล่นดนตรี สะสมแสตมป์ ต่อจิ๊กซอว์ ใช้เวลาในวันหยุดเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ แต่พอเราโตขึ้น เหมือนกับว่าเราจะหยุดลองทำอะไรใหม่ๆ ไปโดยไม่รู้ตัว และให้เวลากับความสนใจในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับงานกันน้อยลง ทั้งที่จริงงานอดิเรกสำคัญกับชีวิตคนเราไม่น้อยไปกว่างานหลัก แต่ปัจจัยของเมืองก็เป็นส่วนสำคัญที่จะเป็นตัวผลักดันให้ผู้คนมีงานอดิเรก เปิดประตูไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

The Active ชวนเปิดประสบการณ์ Workshop ทัวร์ลงจาน สะท้อนเสน่ห์ตลาดพลู สัมผัสพหุวัฒนธรรมผ่านการจัดจาน กับ ผศ.อานนท์ พรหมศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการออกแบบเชิงวัฒนธรรม และ เสียงสะท้อนว่า “งานอดิเรกและเทศกาล” จะช่วยพัฒนาย่าน-เชื่อมคนได้อย่างไร?

ก่อนที่จะได้ไปสนุกสนานกับกิจกรรม  อาจารย์น็อต ผศ.อานนท์ พรหมศิริ ได้เล่าถึงการออกแบบเชิงวัฒนธรรม ว่าเป็นการผสานศาสตร์และศิลป์เพื่อพัฒนาวัฒนธรรมผ่านการสร้างสรรค์ด้วยศิลปะการออกแบบ

เนื่องจากจบมาทางสายสถาปัตย์ สายศิลปะ และการออกแบบภายใน ในระยะเวลาที่สอนอยู่ในคณะสถาปัตย์ จะมีช่องทางที่เราไปสัมผัสกับการออกแบบ งานศิลปะ ค่อนข้างเยอะ ทั้งงานในหลักสูตรและงานออกแบบสายวิชาชีพด้วย แต่ด้วยอุปนิสัยที่ชอบท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชอบเสพงานศิลป์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เข้ามาศึกษา อีกทั้งยังมองว่าการออกแบบเชิงวัฒนธรรมเป็นเรื่องน่าสนใจ เป็นสิ่งที่ผู้คนได้สัมผัสในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมไทย หรือวัฒนธรรมร่วมของชนชาติต่าง ๆ อย่างตัวตลาดพลูเองเป็นพื้นที่ พหุวัฒนธรรม มีการผสมผสานกันระหว่าง ไทย จีน อิสลาม มอญ ทั้งเรื่องวัฒนธรรมอาหาร การดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ ตั้งแต่สมัยก่อน  ฉะนั้น สิ่งที่เราสนใจเลยกลายเป็น Passion มาตลอด

ตอนนี้กำลังพยายามสร้างวัฒนธรรมร่วมสมัย ให้ระหว่างคนเก่ากับคนใหม่อยู่ร่วมกันได้ จากงานวิจัยที่ได้ทำอยู่ในหัวข้อ “คนกับเหี้ย: มิติทางสังคมและภูมิทัศน์วัฒนธรรม ของพื้นที่บางเหี้ยจากอดีตปัจจุบันสู่ความยั่งยืนในอนาคต” เพราะว่าอยู่ในพื้นที่ คลองด่าน สมุทรปราการ ที่เมื่อก่อนเรียกว่า บางเหี้ย ซึ่งที่นี่ก็เป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรมเช่นกัน เพราะเป็นพื้นที่เริ่มต้นจากการอยู่ของคนมอญ คนจีน เกิดเป็นพหุวัฒนธรรม เป็นพื้นที่น่าสนใจและเป็นบ้านเกิด จึงนำเอามิติการออกแบบเชิงวัฒนธรรมเข้ามาพัฒนาพื้นที่ ทั้งการสร้างศิลปะ การพัฒนาชุมชน เรื่องของการออกแบบ เข้าไปในมิติต่าง ๆ ของชุมชนที่สามารถจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้

อาหารผสานศิลป์ เมื่ออาหารไม่ได้กินแค่ให้อิ่มแต่ยังสะท้อนเรื่องราวของพื้นที่ได้ด้วย

อาหาร เรียกว่าเป็น Soft Power คนสัมผัสได้ง่าย การเอาของดีในพื้นที่ รวบรวมแล้วกลายเป็นงานออกแบบ กลายเป็นว่าเราไปโพรโมตให้กับย่าน ทำให้คนที่อยู่นอกพื้นที่ได้มารู้จักอาหารในรูปแบบเชิงศิลปะ เพราะการที่จะรู้จักพื้นที่ ก็อาจจะมาจากการรีวิว หรือ social platform มองว่าเมื่อเรามีความเชี่ยวชาญในเรื่องของงานศิลปะ เลยอยากทำให้ศิลปะอยู่ใกล้ตัวคนมากที่สุด อย่างศิลปะอาหาร ที่จะทำให้คนรับรู้ได้ง่ายที่สุด และก็ถือเป็น Soft Power ของพื้นที่

ทัวร์ลงจานเป็นการออกแบบเชิงวัฒนธรรมเพราะการจัดองค์ประกอบของตัวจาน เราพยายามทำให้ทุกคนได้สัมผัสกับวัฒนธรรม ทั้งไทย จีน ตัวของอาหารจะแสดงให้เห็นตัวตนออกมา หากมองเชิงวัฒนธรรม อาหารเป็นเรื่องใกล้ตัวคนมากที่สุด เพราะอาหารต้องรับประทานทุกวัน การที่มาบริโภคอาหารก็เหมือนการเรียนรู้วัฒนธรรมไปในตัว ทั้งเมนูที่รังสรรค์ขึ้นมา รวมถึงเมนูที่หยิบจากความโดดเด่นของพื้นที่ตลาดพลู ให้ผสมผสาน แล้วปรากฎอยู่ในจาน

กรุงเทพฯ เมืองน่าเที่ยว ที่ (ยังไม่ค่อย) น่าอยู่

หาก ‘ความน่าอยู่’ ของเมืองวัดจากประสบการณ์การใช้ชีวิตประจําวัน เชิงกายภาพ จิตใจ และสังคม ความเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทั้งวัฒนธรรมท้องถิ่นของเมือง ความเชื่อมโยงผู้คนที่หลากหลาย Bangkok Design Week การออกแบบเมือง ที่จะทําให้กรุงเทพฯ เป็น ‘เมืองที่น่าอยู่’ กว่าที่เคยได้อย่างไร

อาจารย์น็อต มองว่า Bangkok Design Week ภายใต้ธีม ‘Livable Scape คนยิ่งทํา เมืองยิ่งดี’ คือการออกแบบ ศิลปะ ที่ทำให้ความงามของเมืองเกิดขึ้น สุนทรียภาพของเมืองเกิดขึ้น หรือความรกร้างของเมืองที่ถูกกลบไปด้วยการไม่ได้ดูแลเอาใจใส่ การมีคนมองเห็นและเข้าไปมีการส่วนร่วมกับคนในชุมชน เชื่อว่า ศิลปะ สามารถที่จะทำให้ทุกอย่างมีสุทรียภาพได้ แต่คงตอบไม่ได้ว่า การมีหรือไม่มี Bangkok Design Week จะส่งผลอะไรหรือเปล่า?  ซึ่งหากยกตัวอย่างตลาดพลูก็ดังในเรื่องของอาหารอยู่แล้ว เมื่อ Bangkok Design Week เข้ามาในพื้นที่ ก็เหมือนเมื่อศิลปะเข้ามาในพื้นที่ แน่นอนทัศนคติของคนย่อมเปลี่ยนไป คนในพื้นที่ได้มีประสบการณ์ในการมีส่วนร่วมกับการออกแบบ วิสัยทัศน์ของทั้งคนในพื้นที่เอง หรือคนที่เข้ามาสัมผัส ในระหว่างที่มีงาน มิติของการมองของเมืองจะเปลี่ยนไป จากการมองเรื่องอาหาร ก็อาจจะมามองมิติทางสังคม วัฒนธรรม ศิลปะ ชีวิตความเป็นอยู่ของคน เชื่อว่าส่วนหนึ่งของ Bangkok Design Week กำลังเล่าเรื่องพวกนี้ให้กับพื้นที่

กิจกรรม “ทัวร์ลงจาน” เริ่มต้นด้วย Welcome Drink น้ำสมุนไพร 3 สหาย ประกอบด้วยกระเจี๊ยบ พุทราจีน และมะตูมแห้ง รสชาติ ไม่หวานมาก แม้จะมีน้ำผึ้ง แต่รสหวานได้จากพุทราจีนเชื่อม

“ทัวร์ลงจาน เป็นกิจกรรมที่ร่วมสนุกไปกับการจัดจาน เพิ่มประสบการณ์ และสร้างอรรถรสในการรับประทานอาหาร สิ่งที่เราจะได้เรียนรู้กันในวันนี้ เป็นสิ่งที่สามารถทำเองได้ที่บ้าน มีอุปกรณ์เพียงเล็กน้อย บวกกับความคิดสร้างสรรค์ สามารถนำสิ่งที่อยู่ในครัว หรือสิ่งรอบตัวนำมาสร้างประสบการณ์ในการรับประทานอาหารได้ โดยสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีมูลค่ามาก ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถหยิบสิ่งเหล่านี้มาผสมผสานไปกับความคิดสร้างสรรค์สู่สุนทรีย์ได้อย่างไร”

อาจารย์น็อต ผศ.อานนท์ พรหมศิริ

โดยนำเมนูชั้นนำ เมนูขึ้นชื่อของย่านตลาดพลู ซึ่งการจัดจานในวันนี้เป็นการผสมผสานวัตถุดิบ และความเป็นพหุวัฒนธรรม ที่เกิดขึ้นในตลาดพลู เป็นอาหารขึ้นชื่อตามวัฒนธรรมไทย-จีน

กุยช่ายดอกไม้ที่ลงมือทำ โดยถ้าพูดถึงตลาดพลู หลายคนนึงถึงกุยช่ายเป็นอันดับต้น ๆ สิ่งที่จะได้ทดลองทำคือกุยช่ายแฟนซีพิมพ์ดอกโบตั๋น ให้เข้ากับวัฒนธรรมจีนในย่านตลาดพลู

หมี่กรอบจีนหลีที่มีประวัติยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2435) ขณะที่พระองค์เสด็จ ผ่านมาที่ คลองบางหลวง หอมกลิ่นหมี่กรอบที่กำลังทอด หอมฟุ้งไปทั้งคุ้งน้ำ เมื่อได้เสวยแล้วทรงโปรดมาก จนพระราชทานนามให้ว่า หมี่กรอบเสวยสวรรค์ ในการจัดจานเลือกทำกรวยจากใบตอง ให้มีความเป็นไทย ตำนานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องเสวย จึงเลือกใช้วัตถุดิบละมุนละไมความเป็นไทยโดยจัดใบตองม้วนให้เป็นกรวย กลัดด้วยไม้ ตกแต่งด้วยดอกรัก ใส่เครื่องเคียง อย่าง กุยช่าย ใส่หมี่กรอบจินหลี ตกแต่งด้วย ถั่วงอก พริกแดง ขิงดอง ส้มซ่า

ขนมจีบแต้จิ๋ว นิวเหลียงสุน เจ้าเก่าแก่ของตลาดพลู ที่สืบทอดความอร่อยยาวนานมากว่า 50 ปี โดย ตกแต่งผักชี และนำไม้เสียบขนมจีบ

• เข้าสู่ของหวาน ขนมเบื้องไทยสูตรโบราณ ที่สืบทอดกันมากว่า 115 ปี

บ้าบิ่น ร้านแม่เจ็งขนมหวานตลาดพลูที่เปิดขายมากว่า 25 ปี ตกแต่งด้วยทองคำเปลว

• รับประทานกับน้ำชา โดยรังสรรค์น้ำชา เป็นชาใบเตยผสมชาเขียว ลอยด้วยดอกไม้ อย่างกุหลาบและมะลิสด ให้มีความหอมละมุน อบอวลไปกับตัวชา

โดยอาหารทุกอย่างเลือกจากรสชาติที่ค่อย ๆ ไต่ระดับ และสื่อถึงวัฒนธรรมผสมผสานในย่านตลาดพลู

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการเปิดประสบการณ์ สานงานอดิเรก นั่นคือเรื่องของพื้นที่ สิ่งสำคัญของพื้นที่สาธารณะคือการมีพื้นที่ให้ผู้คนออกมาใช้เวลานอกบ้านมากขึ้น เกิดเป็นพื้นที่รวมกลุ่มของคนในเมือง ทำให้เมืองมีสีสันและขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา

คุณเปิ้ล เจ้าของพื้นที่ “ประชา” เล่าให้ฟังว่าเดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นบ้านเก่าของอากง เป็นโรงพิมพ์ ชื่อโรงพิมพ์แสงประชา ตอนที่เป็นโรงพิมพ์ก็เปิดมาประมาณ 71 ปี แต่ว่าปิดตัวไปช่วงโควิดเมื่อประมาณ 2 ปี ก่อน พอปิดแล้วรุ่นคุณพ่อก็รู้สึกว่าบ้านเงียบเหงา ก็เลยคิดไอเดียกันแล้วเปิดเป็น Community Space หลัก ๆ คือการให้เช่าจักรยานวินเทจ เพื่อขี่ไปชมวัดพระใหญ่ เพราะเดินก็อาจจะเหนื่อยเกินไป กลับมาก็จะได้เครื่องดื่มฟรี 1 แก้ว  อีกอย่างคือเปิดพื้นที่ให้ Workshop โดยจะเชิญปราชญ์ หรือกิจกรรมสร้างสรรค์ อยากให้พื้นที่ตรงนี้ได้ทำให้คนในพื้นที่เข้ามาใช้

ก่อนที่จะเริ่มทำได้คุยกันกับครอบครัวว่า หากพูดถึงพื้นที่มันกว้างมาก เพราะหลังจากที่ปิดโรงพิมพ์ เครื่องพิมพ์ ลังกระดาษหายไป ก็กลายเป็นที่โล่ง ๆ อยากให้คนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ แต่พอเปิดแล้วก็ได้ผล เพราะคนในพื้นที่เข้ามาใช้ เข้ามาทักทาย ซึ่งมองเห็นการใช้พื้นที่มากกว่าการเป็นคาเฟ่ อีกทั้งแถวนี้ของดีเยอะ คนนอกเข้ามาใช้ มารู้จักย่าน เลยเป็นไอเดียของ Public space

แม้ว่าจริง ๆ ตลาดพลูจะดังอยู่แล้ว แต่ก็ดังเส้นรอบนอก แต่ถ้าดั้งเดิมคือตรงนี้ ถนนนี้ถัดไปจะเป็นคลองบางหลวง การสัญจรจะอยู่ด้านหลัง แต่พอเปิดถนน การสัญจรคลองก็เงียบลง จริง ๆ เส้นนี้จะไปทะลุวัดปากน้ำ ก็เป็นไอเดียของการขี่จักรยานไปที่วัดปากน้ำ เสน่ห์ของย่านนี้คือ Old town old culture เป็นเมืองเก่า เป็นที่ที่เต็มไปด้วยอาหาร พื้นที่ผสมผสานระหว่างคนไทยกับคนจีน ตั้งแต่ยุคพระเจ้าตากสิน เพราะเส้นนี้คือเส้นกรุงธนบุรี เสน่ห์จริง ๆ คือความแตกต่างจากกรุงเทพฯ เหมือนต่างจังหวัด อาหารราคาถูก อร่อย คนในท้องถิ่น ทักทาย อัธยาศัยดี

คุณเปิ้ล เจ้าของพื้นที่ “ประชา”

“Bangkok Design Week ทำให้คนในย่านได้กลับมามองเห็นคุณค่าของตัวเองและพื้นที่มากขึ้น พอเห็นคนเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น หากอยู่ในพื้นที่ มองเห็นทุกวันก็อาจจะไม่ได้รู้สึกอะไร แต่พอคนเข้ามาอาจจะเห็นว่า บ้านนี้สวยจัง ย่านนี้น่าสนใจ อย่างตรงนี้ที่มีอยู่กว่า 71 ปี คนในย่านเห็นตลอดรู้สึกเฉย ๆ แต่พอมีคนภายนอกเข้ามา มองเห็นความสวยงามของบ้าน เห็นการออกกแบบ เห็นวัดที่มีศิลปะสวยงาม เห็นเสน่ห์ที่มองข้ามไป”

คุณเปิ้ล เจ้าของพื้นที่ “ประชา”

เทศกาล ช่วยขับเคลื่อนย่านได้ จริงหรือ?

Workshop ทัวร์ลงจาน ครั้งนี้เราได้พบผู้เข้าร่วมอย่าง แก้ว หยก  น้ำฝน  น้ำผึ้ง คนรุ่นใหม่ คนในพื้นที่

น้ำผึ้ง คนในย่านตลาดพลู อยากสนับสนุนคนในพื้นที่ อีกทั้งกิจกรรมนี้อยู่ใกล้บ้าน เห็น Bangkok Design Week จากการแชร์เพจร้านค้าของย่านนี้ การมีกิจกรรมแบบนี้ทำให้ชุมชนคึกคักขึ้น เป็นโอกาสที่คนจากนอกพื้นที่ได้เข้ามาทำความรู้จักกับย่าน

แก้ว มองว่า Workshop ครั้งนี้เป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ หากไม่มีกิจกรรม คงไม่ได้มาลอง หรือเข้ามาย่านนี้ เพราะถ้าไม่มีกิจกรรมคงคิดว่า จะมาย่านนี้ทำไม? อยากมาเที่ยวด้วย แต่หากไม่มี Bangkok Design Week ก็คงไม่ได้มาตลาดพลูอีกแล้ว เพราะอาจจะด้วยระยะทาง ที่ไกล และเป้าหมายคือการเปิดประสบการณ์ไปกับงาน Bangkok Design Week

ส่วนหยกมองว่า Bangkok Design Week ไม่ได้ช่วยย่านขนาดนั้น เพราะทุกที่ที่จัดคือที่ ๆ คนไปอยู่แล้ว ยกตัวอย่างตลาดพลู คนนอกอาจจะมาเปิดประสบการณ์ที่นี่ เพราะว่ามีงาน แต่ตลาดพลูก็ดังอยู่แล้ว Bangkok Design Week ก็เลือกย่านที่ดัง อย่างสุขุมวิท เกษตร ฯ ไม่ได้มีอะไรที่ต้องไปเปิดประสบการณ์ใหม่ หากอยากจะขยาย Population ไปทางอื่น ก็นึกว่าจะไปย่านอื่น ๆ  อย่างบางพลัด บางยี่ขัน  ที่ที่ไม่ได้มีคนไป ถ้ามองเรื่องเมือง สิ่งนี้กลับคืนสู่ท้องถิ่นจริง ๆ หรือ? เป็นประโยคคำถามที่อยากถามกลับเหมือนกัน เพราะมาทำกิจกรรม ก็มาตรงนี้เลย พุ่งตรงมาจุดนี้แล้วก็กลับ ได้ได้เยี่ยมชมย่าน และคนที่อยู่ในชุมชนจริง ๆ ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับงานเขารู้หรือเปล่าว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้น

คนมีงานอดิเรก คือคนว่าง?

“ก็ไม่ผิดนะ เพราะว่าถ้ามีอะไรทำก็คงไม่มาทำกิจกรรมแบบนี้ ไม่มีเวลามามีงานอดิเรกหรอก แต่บางคนก็ไม่ได้ว่างขนาดนั้น แต่ก็อยากมาเปลี่ยนมุมมอง พนักงานเงินเดือนที่เหนื่อยกับงานแล้ว มีกิจกรรมให้ได้ relax บ้าง จะให้ชีวิตเคร่งเครียดไปซะทีเดียวก็คงจะไม่ได้”

หยก

“สามารถมองต่างแตกต่างกันได้ หากมองในมิติของนักออกแบบ เรามองว่าเป็นงานอดิเรกเป็นสิ่งที่จะทำให้คนเข้ามาในพื้นที่ และการที่มีคนเข้ามาในพื้นที่ คนต้องกิน ต้องใช้ ต้องซื้อ ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งในการดึงคนเข้ามา และอาจจะส่งต่อในแง่ของเศรษฐกิจของคนในชุมชนก็ได้”

อาจารย์น็อต ผศ.อานนท์ พรหมศิริ

การนำแนวคิดและวิธีสร้างประสบการณ์แบบเทศกาลมาใช้ในการขับเคลื่อนเมือง เป้าหมายคือสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนหลังจบเทศกาล โดยไม่ใช่เพียงอีเวนต์รายครั้งที่จัดแล้วจบไป แต่ช่วยจุดประกายให้ผู้คนและย่านเกิดการขับเคลื่อนต่อในระยะยาว และช่วยผลักดันให้ผู้คนออกมาใช้ชีวิต ออกมามีงานอดิเรกมากขึ้น เพราะงานอดิเรกคือสิ่งที่เราชื่นชอบ เป็นการผ่อนคลายความเครียด เปิดประสบการณ์ใหม่และยังได้พบปะผู้คน อาจนำไปสู่การสร้างสมดุลชีวิต (ชีวิตจะได้ไม่เครียดเกินไป)

Author

Alternative Text
AUTHOR

ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์

ผู้ประสาน 10 ทิศ ชอบการติดต่อ-สื่อสารเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยการ "ติ่ง"

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล