ปืน – ตำรวจ ช่องว่างอาชญากรรมร้ายแรง ?

โอกาส ‘การเข้าถึง’ และ ‘พกพา’ ปืน
สู่…ความเสี่ยงของประชาชน

จากเหตุการณ์อาชญากรรมร้ายแรง ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ทำให้สังคมเกิดความหวั่นวิตก และไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น พร้อมทั้งตั้งคำถามถึงสาเหตุของอาชญากรรมดังกล่าว ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และควรป้องกันเรื่องนี้อย่างไรในอนาคต

The Active พูดคุยกับ พันตำรวจเอก วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อวิเคราะห์สาเหตุฆาตกรรมหมู่ศูนย์เด็กเล็กหนองบัวลำภู โดยเฉพาะมุมมองโอกาสการเข้าถึง และ พกพาอาวุธ ของอดีตคนมีสี ที่นำมาสู่การเร่งหาทางป้องกันความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นซ้ำ ไปจนถึงโจทย์ใหญ่อย่างการปฏิรูปตำรวจและทหาร

ตัวบุคคล – องค์กร สองปัญหาสำคัญ สู่ความสูญเสีย

ในภาพรวม วิรุตม์ ในฐานะอดีตตำรวจ มองว่าปัญหาสำคัญ ที่ส่งผลให้เกิดอาชญากรรมดังกล่าวขึ้น มีปัญหาทั้งที่ตัวบุคคล และองค์กร ในส่วนของผู้ก่อเหตุ เราต้องตั้งคำถามว่า คนที่เป็นคนมีจิตใจเหี้ยมโหดขนาดนี้ ก่อเหตุกับเด็กตัวเล็ก ๆ แบบนี้ อาจเกิดจากปัญหาทางจิต และข้อเท็จจริงที่มีประวัติเสพยาเสพติด ส่งผลให้เกิดการลงมือที่รุนแรงเช่นนี้ ในขณะเดียวกัน เนื่องจากผู้ก่อเหตุเป็นอดีตตำรวจ ก็เป็นปัจจัยส่วนบุคคลที่สร้างความรุนแรง เพราะถ้าเกิดจากประชาชนทั่วไป อาจไม่ร้ายแรงเท่าตำรวจ ทหาร โดยเฉพาะเหตุการณ์รุนแรง 2 ครั้งหลัง ทั้งที่โคราช และหนองบัวลำภูนี้ ผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น 

เพราะเขามีอาวุธปืนที่มีประสิทธิภาพไว้ในครอบครอง อย่างกรณีนี้ ปืนที่คนร้ายใช้ก่อเหตุ คือ 9mm sig sauer เป็นปืนที่คนร้ายมีในครอบครองตั้งแต่สมัยยังเป็นตำรวจ ซึ่งทันสมัย และไม่ใช่ปืนเถื่อน แต่ถ้าเกิดจากประชาชนทั่วไป อาจเป็นอาวุธที่หาได้ใกล้มือ ความรุนแรงอาจจะไม่เท่านี้ ประกอบกับความสามารถในการเข้าถึงอาวุธปืน หรือแม้กระทั่งอาวุธสงคราม อย่างกรณีทหารที่โคราช ที่เข้าไปเอามาจากหน่วยทหารก็เช่นกัน ทำให้การยับยั้งจะยากกว่า เหตุที่เกิดจากคนธรรมดาทั่วไป 

ในกรณีเช่นนี้ เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ไม่พูดถึงตัวระบบเอง ในฐานะอดีตตำรวจ วิรุตม์ ทราบว่ากระบวนการการคัดกรองคนเข้าเป็นตำรวจ ไม่ได้รัดกุมเพียงพอ ก็ทำแค่ตรวจประวัติอาชญากรรมเท่านั้นเอง ถ้าหากว่าไม่เคยถูกจับถูกดำเนินคดีมาก่อน ก็เข้ามาเป็นตำรวจได้ทั้งหมด ซึ่งนี่ก็เป็นจุดอ่อนสำคัญ จำเป็นต้องมีกระบวนการในการทดสอบ ทัศนคติ ความประพฤติ และต้องกล้าหาญในการปฏิเสธการรับบุคคลที่มีความเสี่ยงทางจิต ที่ไม่ชัดเจนขนาดวิปริต หรือวิกลจริต เพียงแค่บ่งชี้ว่าออาจจะไม่รักความยุติธรรม หรือไม่เคารพในศักดิ์ศรีเพื่อนมนุษย์ ก็ควรปฏิเสธแล้ว แต่แน่นอนว่าสิ่งนี้เป็นเชิงหลักการ วิรุตม์ยอมรับว่า ในทางปฏิบัติ เป็นไปได้ยากมาก

‘ปืน’ อาวุธที่เจ้าหน้าที่ เข้าถึงง่ายกว่าคนทั่วไป

“ประเทศเราก็แปลก ส่งเสริมให้ ตำรวจซื้อปืน มาเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ต้องเป็นหนี้ เป็นสิน  ทั้งที่รัฐต้องจัดหาให้ และในคลังมันก็มีเพียงพอ แต่ไม่เบิกมาใช้… เพราะ มันมีผลประโยชน์ในเรื่องนี้ด้วย”

วิรุตม์ เชื่อมโยงปัจจัยในการก่อเหตุไปที่ “อาวุธ” ที่คนร้ายมีมาตั้งแต่ยังปฏิบัติหน้าที่เป็นตำรวจ ว่านี่ก็เป็นอีกหนึ่งช่องโหว่สำคัญ เมื่อพูดถึง “ปืน” นั้น ในความเป็นจริงถือเป็นอุปกรณ์ในการปฏิบัติราชการ ในการป้องกันตัวของเจ้าพนักงาน รัฐต้องจัดหาให้ และพบว่ามี “เพียงพอ” ทั้ง รุ่นเก่า รุ่นใหม่ รุ่นทันสมัย มีอยู่ในคลังมากมาย แต่ไม่เบิกมาใช้ สนับสนุนให้ตำรวจ ต้องไปซื้อปืนส่วนตัว ที่สั่งมาจากต่างประเทศ แล้วนำมาขายให้ตำรวจในราคาถูกกว่าท้องตลาดมาก เช่น เขาซื้อกัน 80,000 – 90,000 บาท แต่เวลามาขายตำรวจ ก็ขายแค่ 30,000 บาท เป็นต้น 

ที่ราคาถูก และเข้าถึงได้ง่าย วิรุตม์ กล่าวว่า เพราะ มีการยกเว้นภาษีให้ ซึ่งเขามองว่า เรื่องนี้ไม่ถูกต้อง การมีมติ ครม. เปิดทางให้สามารถขายได้ในราคาถูก ทำให้มีเป็นสมบัติส่วนตัวจำนวนมาก และเมื่อตำรวจถูกไล่ออกจากราชการ พ้นจากราชการไปแล้ว ก็มีปืนส่วนนี้ในครอบครองแทบทั้งสิ้น ส่วนจะนำไปใช้ทำอะไร มีใบพกพาหรือไม่ กลับไม่มีการตรวจสอบ

ก่อนจะเล่าย้อนว่า สมัยก่อนมีไม่มากเท่าไหร่นัก แต่ระยะหลัง ทำกันเอิกเกริกมากขึ้น คือ ทำสัญญาสั่งอาวุธปืนมาจากต่างประเทศ แล้วไปขอมติ ครม. ให้ยกเว้นภาษีของตำรวจ ทำให้ปืนมีราคาถูกซึ่ง “ผิดกฎหมาย” เมื่อซื้อมาเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล ไม่ได้ซื้อเป็นทรัพย์สินของราชการ จะทำให้ราคาถูกได้อย่างไร ทำให้ตำรวจแม้จะเดือดร้อนเรื่องเงิน เงินเดือนไม่พอใช้ แต่ก็ต้องไปซื้อ เพราะ หวังจะเอาไปไปขายต่อ มาภายหลังกระทรวงมหาดไทย สลักหลังไว้เป็นมรดกอย่างเดียว ไม่สามารถโอนได้ จึงทำให้ตำรวจเป็นหนี้สิน บางคนไม่ได้อยู่ในหน่วยที่ต้องทำหน้าที่ป้องกันอาชญากรรม ก็ซื้อเอาไว้อย่างไม่มีมาตรฐาน 

ลึก ๆ จึงเป็นเรื่องผลประโยชน์แอบแฝง ที่ทราบกันดีในวงการตำรวจ เพราะจำนวนปืนที่มาขายมีเยอะมาก เป็นหมื่น ๆ กระบอก ช่วงแรกเป็นหลักแสนกระบอกด้วยซ้ำ เพราะมีราคาถูก หวังว่าเอามาใช้ 2 – 3 ปี ก็มาขายต่อ เพื่อให้ได้กำไร มองเผิน ๆ เหมือนจะหวังดี ให้ปฏิบัติหน้าที่ง่ายขึ้น ราคาถูก แต่นี่เป็นการส่งเสริมให้ข้าราชการเป็นหนี้ เป็นสิน ทำให้อาวุธปืน มีปริมาณมากเกินความจำเป็น เราต้องเข้าใจว่าปืนไม่ใช่อุปกรณ์ทำครัว มีไว้ยิงอย่างเดียว อันตรายต่อคนทุกคน 

ตำรวจ หาปืนง่าย – ได้ใบอนุญาตเสมอ

นอกจากการซื้ออาวุธปืนของตำรวจ จะทำได้ง่ายแล้ว วิรุตม์ กล่าวว่า การออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน หรือ ใบ ป.4 ก็เป็นปัญหาสำคัญ คือ ตำรวจทุกคนที่ยื่นขอ ส่วนใหญ่ได้ทั้งหมด เพราะ ถ้าไม่ให้ ก็มีปัญหาระหว่างหน่วยงาน เนื่องจาก ฝ่ายปกครอง เป็นผู้ออกใบอนุญาต เมื่อตำรวจอ้างว่ามีหน้าที่ แต่ไม่ได้รับในอบุญาต ก็จะมีปัญหาในทางปฏิบัติทั้งที่ควรพิจารณาตามหลักเกณฑ์ และความจำเป็น สิ่งนี้ไม่มีใครคิดแก้ไข ว่าการมีอาวุธปืน และการขออนุญาตนั้น ควรมีการควบคุมอย่างเคร่งครัด แต่เวลานี้มีกันมากมาย และตำรวจที่ถูกไล่ออก ถูกดำเนินคดีอาญา ก็ยังมีอาวุธปืนอยู่ ซึ่งควรจะมีหลักเกณฑ์ ในการยึดอาวุธ หรือถอนใบอนุญาตหรือไม่ วิรุตม์ ตั้งคำถาม 

ยังไม่รวมถึงการพกพาอาวุธปืน ? วิรุตม์ กล่าวเสริม เพราะ เป็นที่ทราบกันดีว่าตำรวจนั้น โดยส่วนใหญ่พกปืนโดยที่ไม่มีใบอนุญาตพกพาปืน เนื่องจาก ถือว่าตัวเองทำหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ ต้องสามารถพกพาได้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ผิด พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ ที่ทุกคนซึ่งไม่ได้อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้สวมใส่เครื่องแบบตำรวจ ไม่มีสิทธิในการพกพาอาวุธปืน แต่ในข้อเท็จจริงพกพาแบบนี้กันมากมาย แม้ไม่อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ออกเวรไปกินเหล้า ไปงานสังสรรค์ ก็พกปืนกันไป นี่เป็นความเสี่ยงของประชาชน ที่เราพบเห็นเสมอ ทำให้คนไม่สบายใจ และหลายครั้งก็เกิดความสูญเสียด้วย

“ส่วนใหญ่ที่ตำรวจพกปืน ไม่มีใบอนุญาตพกพากันหรอก ถือซะว่าตำรวจด้วยกัน ไม่จับกัน ควรพูดกันว่าความจำเป็นในการพกพาอาวุธปืนเป็นอย่างไร และต้องเป็นคนที่มีหน้าที่ในการป้องกันอาชญากรรมเท่านั้น นี่เป็นความเสี่ยงที่ประชาชนพบเจอเสมอ…”

วิรุตม์ กล่าวต่อว่า สำหรับชาวบ้าน คนทั่วไป ถือว่ากว่าจะได้ใบอุญาตได้ ก็ยากพอสมควร แต่สำหรับเจ้าหน้า โดยเฉพาะ ทหาร ตำรวจ ไม่ยากมากนัก แค่มีเงิน ไม่มีประวัติอาชญากรรม ส่วนใหญ่ก็จะได้ แต่ที่ยากกว่า คือ ใบอนุญาตการพกพาอาวุธปืน ซึ่งในต่างจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัดออกให้ ถ้าจะพกพาทั่วราชอาณาจักร ต้องอาศัยอำนาจ ผบ.ตร. เป็นคนเซ็นให้ ซึ่งยาก จึงทำให้ตำรวจไม่เลือกที่จะขอกัน

เนื่องจาก ใบอนุญาตพกพาอาวุธปืนนั้น มีอายุแค่ 1 ปี ต้องยื่นคำขอใหม่ทุกปี เวลายื่นคำขอก็ใช้เวลาอย่างน้อย 3 – 4 เดือนแล้ว ใช้ได้อีกไม่กี่เดือนก็หมดอายุ วิรุตม์ จึงบอกว่า ส่วนใหญ่ไม่ค่อยขอกัน แต่ใช้ความเป็นตำรวจด้วยกันเอง เป็นช่องว่างที่ควรนำมาพูดกัน ว่าความจำเป็นในการพกพาอาวุธปืน ควรเป็นอย่างไร เพราะ จริง ๆ แล้ว ตำรวจควรจะเบิกปืนเวลาเข้าเวร และเมื่อออกเวร ก็ควรคืนปืน แล้วกลับมาเป็นประชาชนคนหนึ่ง ที่รัฐจะต้องคุ้มครองดูแล คนทั่วไปเขาไม่พกไปไหน มาไหนกัน การที่เราปล่อยให้ตำรวจ ทหารพกพาอาวุธปืน ทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตในการพกพา ก็เป็นความเสี่ยงของประชาชนเช่นกัน

เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันตรายสำหรับชีวิตผู้คน ถ้าไม่มีการควบคุมอาวุธปืน แล้วเกิดการใช้ที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จะอันตรายมาก แม้กระทั่งการนำไปใช้ผิดๆ หลายครั้งเกิดปืนลั่น ยิงขู่ หากเราย้อนไปดูปืนสวัสดิการตำรวจประเภทนี้ อัตราการนำไปใช้ในการปฏิบัติราชการจริง ๆ คือ ยิงคนร้าย หรือป้องกันเหตุ เมื่อเทียบกับยิงตัวตาย หรือก่ออาชญากรรมเอง วิรุตม์ ประเมินว่ามีจำนวนไม่ต่างกันเท่าไหร่เลย

อุปถัมภ์ – เอื้อพวกพ้อง วัฒนธรรมองค์กรที่ต้องปฏิรูป

นอกจากนั้น เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่าผู้ก่อเหตุมีพฤติกรรมเสพยาเสพติด ก่อความรุนแรงด้วยอาวุธปืนหลายครั้ง ในระหว่างที่ยังเป็นตำรวจ และเพิ่งถูกไล่ออกจากราชการเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนหนึ่ง วิรุตม์ มองว่าเป็นเพราะระบบข้างในเอง ในการจัดการกับคนผิด ส่วนใหญ่จึงเป็นการแก้ปัญหาแบบ “ลูบหน้าปะจมูก” และโดยเฉพาะ การเข้าถึงยาเสพติด ตำรวจมีโอกาสที่จะเข้าถึงได้ง่ายกว่ามาก เนื่องจาก มีช่องทางรู้จักผู้ค้า ผู้เสพ ที่ตัวเองไปจับกุมตรวจสอบมาระหว่างทำงานนั่นเอง

“เป็นตำรวจเข้าง่าย แต่ออกยากกว่า…” วิรุตม์ อธิบายการอยู่ในตำแหน่งราชการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากไม่ทำผิดร้ายแรง มีหลักฐานชัดเจนจริง ๆ ส่วนใหญ่ก็ยังคงได้ทำหน้าที่ต่อไป เป็นระบบเจ้าขุน มูลนาย ที่มีการเลี้ยงดูอุปถัมภ์กัน ซึ่งนี่ก็ทำให้ การจัดระเบียบ และคัดกรองบุคลากรเป็นไปได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ

วิรุตม์ จึงมองว่า การปฏิรูปองค์กรนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก นอกจากการแสดงความเสียใจ หรือประณามผู้ก่อเหตุ ไม่สำคัญเท่ากับการ วิเคราะห์สาเหตุ ว่าแท้จริงเกิดขึ้นที่ตัวบบุคคล หรือระบบด้วย เข้ามาเป็นตำรวจได้อย่างไร หรือเข้ามาแล้ว จะทำอย่างไร ให้ตำรวจมีความหวัง มีความสุขในการทำหน้าที่ กระจายอำนาจ และลดขนาดองค์กร ให้ไปสังกัดในจังหวัดนั้นๆ เพราะเมื่อเป็นคนในพื้นที่ เติบโตมาจากที่นั่น มีเหตุผลที่อาจจะไม่กล้าทำผิด ทำชั่ว การตรวจสอบควบคุมทำได้ง่ายมากกว่า ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ควรรีบปฏิรูปองค์กรตำรวจโดยเร็วที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์