ฟาสต์แฟชั่น ปรากฏการณ์ใหม่ ทำลายโลก

แค่ชอบเอฟเสื้อผ้า แต่รู้หรือไม่ว่าเรากำลังร่วมทำลายโลก? เพราะการช็อปปิงที่เกินความพอดี สูบทรัพยากรของโลกมหาศาล สุดท้ายเสื้อผ้าที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ก็ยังกลายเป็นภูเขาขยะที่ไร้ค่า ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมวนไป

บทความนี้จะชวนทำความเข้าใจว่าทำไมเราควรพิจารณาใหม่ในการจะซื้อเสื้อผ้าแต่ละครั้ง แล้วจะมีวิธีอย่างไรบ้างที่ทำให้สายช็อปสายแฟยังคงอินเทรนด์แบบคนก็สวยโลกก็สวยด้วย ผ่านเนื้อหาในนิทรรศการ “ช็อปล้างโลก” ที่จัดแสดงอยู่ในมิวเซียมสยามเวลานี้ พร้อมคุยกับ พาฉัตร ทิพทัส ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม มิวเซียมสยาม

“Fast Fashion หรือ แฟชั่นจานด่วน คือการผลิตในปริมาณมาก ในเวลาอันรวดเร็ว และขายในราคาถูก สามารถออกแบบ ตัดเย็บ และวางขายได้ในอาทิตย์เดียว แม้จะสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจมหาศาล แต่กระบวนการนี้ถูกตีตราว่าเป็นตัวทำลายล้างโลก เพราะเป็นสาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยพบว่าอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 8”

พาฉัตร ทิพทัส ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม มิวเซียมสยาม
ฟาสต์แฟชั่น

ซื้อเสื้อผ้าเพียง 1 ตัว ก็สะเทือนถึงชั้นบรรยากาศ

พาฉัตร ทิพทัส ให้ข้อมูลว่า คนหนุ่มสาวซื้อเสื้อผ้าใหม่เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของเสื้อผ้าที่มีอยู่เดิม ปริมาณการสั่งซื้อเสื้อผ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้น 60% เนื่องจากการขยายตัวของชนชั้นกลาง โดยเฉพาะที่ประเทศจีน และอินเดีย ทำให้ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 90 ล้านล้านบาทต่อปี แต่กลับพบว่ามีการสูญเสียมูลค่าทางการเงินถึง 175 หมื่นล้านบาท จากการผลิตเสื้อผ้าออกมาแล้วไม่ถูกใช้งาน ไม่ว่าจะขายออกหรือไม่ หรือแม้แต่ขายได้ก็อาจจะซื้อแล้วไม่ได้ใส่

ถ้าปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ ต้องใช้เวลาร่วมร้อยปี ทางที่มักใช้ในการกำจัดคือฝังกลบ ทั่วโลกพบเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว 73% ส่งไปยังหลุมฝังกลบ หรือเผาเป็นพลังงานนับเป็นจำนวนมากถึง 10 ล้านตันในแต่ละปี (เทียบเท่าขวดพลาสติด 5 หมื่นล้านขวด) ซึ่งประเทศด้อยพัฒนาต่าง ๆ มักกลายเป็นสถานที่สำหรับการทิ้งขยะเสื้อผ้าของโลก เช่น ประเทศเฮติ ในทวีปแอฟริกา ส่วนที่เป็นตำนานเล่าขานคือทะเลทรายอาตากามา (atacama) หนึ่งในทะเลที่แห้งแล้งที่สุดในโลก อยู่ที่ประเทศชิลี ทวีปอเมริกาใต้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือภูเขาเสื้อผ้าจำนวนมหาศาลไกลสุดลูกหูลูกตา แม้แต่เสื้อผ้าที่ผลิตในโรงงานจีน หรือบังกลาเทศ ที่ขายไม่ออก ตกรุ่นยังถูกขนส่งมาทิ้งที่ประเทศชิลี ตกราว ๆ ปีละ 5.9 หมื่นตัน

“สิ่งทอ 1 กิโลกรัม ถ้านับตั้งแต่กระบวนการผลิตจนทิ้งเป็นขยะ จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 20 กิโลกรัมคาร์บอน ทำให้ถ้านับรวมทั้งอุตสาหกรรมเสื้อผ้าจะเท่ากับว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 3.3 พันล้านตันต่อปี สูงเท่ากับอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทวีปยุโรปทั้งทวีปในแต่ละปี หรือเทียบเท่ากับการปล่อยการขับรถยนต์ 372 ล้านคัน ใน 1 ปี และมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเที่ยวบินระหว่างประเทศ และการขนส่งทางเรือรวมกัน ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากแบบนี้นเท่ากับเป็นการซ้ำเติมปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือ ภาวะโลกร้อน”

พาฉัตร ทิพทัส ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม มิวเซียมสยาม

ฟาสต์แฟชั่น เน้นผลิตไว ไม่สนอะไรทั้งนั้น

ธุรกิจเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นคำนึงถึงกำไรเป็นหลัก แต่ละแบรนด์ต่างแข่งขันกดต้นทุนให้ต่ำ เลือกใช้วัตถุดิบราคาถูก จ้างแรงงานราคาถูก เพื่อให้สามารถขายได้ในราคาถูก แม้ว่าสินค้าจะคุณภาพแย่ก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการคือ ให้เป็นสินค้าซื้อง่ายยอดขายพุ่ง ด้วยราคาที่ถูกนี่เอง กระตุ้นให้ผู้บริโภคกระหายที่จะซื้อเสื้อผ้าตัวใหม่อยู่ตลอดเวลา โดยไม่รู้สึกเสียดายเงิน และไม่เสียดายหากจะต้องทิ้งเสื้อผ้าชุดเก่าไปแม้จะใส่ไม่กี่ครั้ง หรือไม่เคยใส่เลยก็ตาม

สำหรับฐานการผลิตฟาสต์แฟชั่นมักจะอยู่ในพื้นที่ประเทศด้อยการพัฒนา เนื่องจากสามารถจ้างแรงงานราคาถูกได้ เพื่อลดต้นทุนของสินค้า นอกจากนี้ยังพบว่าในบางกรณีแรงงานถูกกดราคาค่าจ้างให้น้อยกว่าแรงงานขั้นต่ำด้วยซ้ำเป็นการกดขี่ และคุณภาพชีวิตของแรงงานในโรงงานก็ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือจะเรียกว่า โรงงานนรกก็ได้

“ปัจจุบันไทยมีบริษัทด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ มากกว่า 2,000 บริษัท มีคนงานรวมกว่า 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ไร้สวัสดิการทางสังคม บ้างเป็นแรงงานต่างด้าว ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำของไทย โดยโรงงานมักตั้งขึ้นที่แนวชายแดน เพื่อให้แรงงานต่างด้าวข้ามมาทำงานได้ ย้อนกลับไปช่วงทศวรรษที่ 2520-2530 เป็นช่วงที่อุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยเติบโตมาก แต่พอมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทำให้ฐานการผลิตย้ายไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านแทน”

พาฉัตร ทิพทัส ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม มิวเซียมสยาม

ทรัพยากรมหาศาลถูกใช้เพื่อการผลิตเสื้อผ้า

เสื้อผ้าทั่วไปในท้องตลาด 26% ผลิตจากฝ้าย 63% ผลิตจากโพลีเอสเตอร์ และ 1% เป็นวัสดุอื่น ๆ อย่างไรก็ตามพบว่า กระบวนการผลิตเสื้อผ้าหรือสิ่งทอ ใช้ทรัพยากรของโลกจำนวนมาก สำหรับเสื้อผ้าที่ใช้วัสดุจากต้นฝ้ายแม้เป็นเส้นใยธรรมชาติแต่การปลูกแบบไม่ธรรมชาติก็ทำให้เกิดการสูบน้ำไปใช้จำนวนมาก โดยพบว่าทุ่งฝ้ายทั่วโลกซดน้ำมากถึง 93 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือเท่ากับปริมาณน้ำ 57% ของน้ำที่ใช้ในการเกษตรทั่วโลก หรือน้ำดื่มที่คน 5 ล้านคนใช้ดื่มใน 1 ปี แค่เพียงเสื้อยืดตัวเดียวยังต้องใช้น้ำมากถึง 2,700 ลิตร หากไม่รอน้ำฝนธรรมชาติ ก็ต้องไปสูบน้ำมารดต้นฝ้ายให้เติบโต โดยพบว่าทะเลสาบใหญ่อย่าง ‘อารัล’ ในแถบเอเชียกลาง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกฝ้ายในประเทศคาซัคสถาน และอุซเบกิสถาน แห้งผากเพราะว่าถูกซูบไปรดต้นฝ้ายหมด

“ฝ้ายที่ใช้ผลิตเสื้อยืด 1 ตัว จะใช้น้ำในการปลูกมากถึง 2,700 ลิตร คือปริมาณน้ำในขวด 600 มิลลิลิตร จำนวน 4,500 ขวด เป็นปริมาณน้ำที่เราใช้ดื่มได้ถึง 1,350 วัน หรือ 3 ปี 8 เดือน แต่นั่นคือปริมาณน้ำที่ใช้ปลูกต้นฝ้ายสำหรับผลิตเสื้อยืดเพียง 1 ตัวเท่านั้น”

พาฉัตร ทิพทัส ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม มิวเซียมสยาม

หากประเมินกระบวนการผลิตเสื้อเชิ้ตผ้าฝ้าย 1 ตัว ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกฝ้ายไปจนถึงการตัดเย็บ สามารถวัดคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาทั้งสิ้น 4.3 กิโลกรัมคาร์บอน ในขณะที่เสื้อเชิ้ตผ้าโพลีเอสเตอร์ 1 ตัว มีรอยเท้าคาร์บอน 5.5 กิโลกรัมคาร์บอน เสื้อผ้าฝ้าย ปล่อยคาร์บอนประมาณ 2 กิโลกรัมคาร์บอน ส่วนชุดเดรสผ้าโพลีเอสเตอร์ ปล่อยคาร์บอนประมาณ 17 กิโลกรัมคาร์บอน แม้ว่าเสื้อผ้าจากโพลีเอสเตอร์จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเส้นใยโพลีเอสเตอร์อยู่มาก แต่ฝ้ายหิวน้ำและสร้างผลกระทบต่อแหล่งน้ำทั่วโลก

ใส่สบายแต่กลายเป็นไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำ

สำหรับเสื้อผ้าและสิ่งทอที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ (เส้นใยพลาสติกทำจากน้ำมันปิโตรเลียม) เส้นใยประเภทนี้มีความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เพราะมีน้ำหนักเบา ยืดหยุ่น ไม่ยับง่าย ทำความสะอาดง่าย ราคาถูก แต่มีคุณภาพต่ำใช้ไม่กี่ครั้งก็เปื่อย เมื่อซักด้วยเครื่อง เกิดแรงเหวี่ยง แรงบิด แรงกระแทกที่รุนแรง จะทำให้ไมโครไฟเบอร์หลุดออกมาจากเสื้อผ้าลอยมากับน้ำทิ้ง เล็ดลอดสู่แหล่งน้ำและท้องทะล หากซักเสื้อผ้าในถังขนาด 7 กิโลกรัม จะปล่อยไมโครไฟเบอร์มากถึง 31.5 ล้านชิ้น ขนาดเล็กกว่า 500 ไมครอน บางกว่าเส้นผม และมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อีกทั้งยังไม่ย่อยสลายในน้ำด้วย

“เมื่อถูกปล่อยออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เส้นใยไมโครพลาสติกเหล่านี้จะดูดซับสารพิษที่อยู่ในระบบระบายน้ำ เช่น ผงซักฟอก ยาฆ่าแมลง กลายเป็นอาหารของแพลงก์ตอน สู่กุ้ง ปลา จนถึงวาฬ ในที่สุดก็วนกลับมาสู่ผู้บริโภคอาหารทะเล มีการประเมินว่า 1 ใน 4 หรือ 25% ของอาหารทะเลที่เรากินล้วนมีไมโครพลาสติกผสมอยู่”

พาฉัตร ทิพทัส ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม มิวเซียมสยาม

ทางเลือกแฟชั่นยั่งยืน

พาฉัตร ยกตัวอย่างว่า แฟชั่นเพื่อความยั่งยืนมีหลายแนวทาง เช่น การอุดหนุนเสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ลินิน กัญชง หรือฝ้าย ที่มีกระบวนการผลิตแบบธรรมชาติ เช่น ใช้น้ำฝน ใช้กระบวนการทอมือ ย้อมสีธรรมชาติ เพื่อลดสาเหตุของการเกิดน้ำเสีย และสารตกค้างในธรรมชาติ

“ไม่ใช่ว่าคุณต้องปฏิบัติธรรมะหรือไม่ซื้ออะไรเลย เราออกแบบการนำเสนอออกมาเป็นเหมือนวินโดว์ของร้านเสื้อผ้าในห้าง นำเสนอเนื้อหาของการสนับสนุนแฟชั่นยั่งยืน เช่น การ ReWEAR&RePAIR ReUsed UpCycle ReSell ReCycle โดยแบ่งเนื้อหานำเสนอเป็นกลุ่มต่าง ๆ ตามวินโดว์ เพื่อสนับสนุนการใช้ทรัพยากรเดิมให้เต็มศักยภาพ สร้างกระแสการใช้เสื้อผ้าซ้ำจนหมดอายุขัยของเสื้อผ้า หรือหากเสื้อผ้าผุพัง ก็นำมาซ่อมแซมใหม่ ออกแบบทำใหม่ให้เหมือนใหม่ ซึ่งป้า ๆ ลุง ๆ ที่รับซ่อมแซมเสื้อผ้าจริง ๆ ก็คือหน่วยปฏิบัติการซ่อมโลก เราก็จำลองการทำงานของเขามานำเสนอเพื่อชวนสังคมให้นึกถึงคนสำคัญกลุ่มนี้”

หรือองค์กรบริจาคเสื้อผ้าสิ่งทอเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การรับบริจาคเสื้อผ้าสภาพดีของมูลนิธิกระจกเงา เพื่อขายต่อเป็นการระดมทุนช่วยเหลือผู้ยากไร้ หรือนำไปให้ผู้ที่ต้องการได้ใช้งานต่อ การส่งเสริมตลาดเสื้อผ้ามือสอง ทำให้เห็นว่าการใช้ของมือสองไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย เพราะการยืดอายุขัยของเสื้อผ้าลดการใช้น้ำในการผลิตเสื้อผ้าได้ถึง 65 ลดรอยเท้าคาร์บอน หรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้เกือบ 7 เท่า ซึ่งปัจจุบันร้านเสื้อผ้ามือสองมีทั้งในออนไซด์และในออนไลน์ เช่น ตลาดโรงเกลือ ร้านปันกัน เอ็ฟออนไลน์ looper.shop

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างของธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมในการทำเสื้อผ้ามาผลิตเป็นของใหม่ เช่น มูลนิธิโอกาสที่สองแห่งชีวิต ที่มีการ upcycle สินค้าใหม่โดยชุมชนคลองเตย แบรนด์วิชชุลดาที่นำเครื่องแบบพนักงานธนาคารมาทำเป็นกระเป๋าที่มีเอกลักษณ์ใหม่ เพื่อคืนชีวิตใหม่ให้กับเสื้อผ้าสิ่งทอแฟชั่น แม้แต่บริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าสิ่งทอหลายแห่งก็เริ่มคิดเรื่องการนำเศษผ้า หรือม้วนด้ายเหลือทิ้งมาผลิตเป็นสิ่งใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างเรื่องราวของการรักษ์โลกบางทีเสื้อผ้าที่ผลิตใหม่ด้วยนวัตกรรมเพื่อลดการใช้ทรัพยากรของโลกจะมีราคาสูงบ้าง แต่ว่าก็เป็นทางเลือกของผู้ที่มีทุนทรัพย์ และอยากจะมีส่วนในการสนับสนุนแฟชั่นยั่งยืน

“อย่างไรก็ตามในส่วนสุดท้ายของนิทรรศการ เรามีแบบสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม ว่าเมื่อได้รับชมแล้วมีความคิดที่อยากจะเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองอย่างไรบ้าง อาจจะไม่ถึงกับการตัดสินใจว่าจะเลิกซื้อเสื้อผ้าแล้ว แต่เพียงแค่ว่าจากที่เคยซื้อเสื้อผ้าออนไลน์ทุกสัปดาห์ก็อาจจะนึกถึงทางเลือกอื่นบ้าง เช่น ไปซื้อเสื้อผ้ามือสองดีไหม หรือดูไปดูมาของเก่าก็ยังมีมากและยังใส่ได้อยู่ แม้จะเป็นการเปลี่ยนทิศทางเล็ก ๆ แต่สำหรับความร่วมมือของทุกคนในสังคมก็จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมของสังคมได้”

พาฉัตร ทิพทัส ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม มิวเซียมสยาม

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้