Hell Day: ด่านนรก พิชิตยอดเขาด้วยนวัตกรรม

สรรค์สร้างนวัตกรรม ค้นหานวัตกร กับ WEDO Young Talent Program 2023

ภารกิจค้นหาคนรุ่นใหม่ผ่านการคิดค้นนวัตกรรม ท่ามกลางความกดดันภายใน 24 ชั่วโมง ใต้โจทย์ EVEREST (N)EVEREST เป้าหมายสำคัญ คือ ดึงศักยภาพ ผ่านการทำงานจริง

EVEREST เปรียบเหมือนยอดเขาไม่ได้อยู่ที่ “เขา” แต่อยู่ที่ “เรา” หลายคนคิดว่าเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้นั้นสูงเกินไป แต่ Hell Day อาจเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้พิสูจน์ตัวเองว่าถ้าเรามีความพยายามและความต้องการเพียงพอก็ไม่มีอะไรที่มนุษย์ทำไม่ได้

นี่คือความท้าทาย ที่เกิดขึ้นในงาน WEDO Young Talent Program 2023 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้ามาทำงานจริงแบบ Micro Enterprise เป็นเวลา 13 สัปดาห์ กับ WEDO

นวัตกรรม

โจทย์ของ Hell Day คือ “ทีมผู้พิชิตได้เดินทางผ่าน Everest Basecamp เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ทีมอยู่ที่ The Gateway To Everest ซึ่งก็คือ Death Zone ทั้งนี้ ทีมจะต้องสร้างสรรค์อุปกรณ์และวิธีการที่สามารถนำทั้ง 3 คนร่วมเดินทางไปถึงยอดเขาได้อย่างปลอดภัย โดยอุปกรณ์และวิธีการเหล่านั้นจะต้องเหมาะสมกับการใช้งานระหว่างเดินทางผ่าน Death Zone”

ทั้ง 3 คน เป็นผู้ที่ต้องการพิชิตยอดเขา Everest พวกเขาแตกต่างกันในเรื่องอายุและสุขภาพ แต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือความต้องการพิชิตยอดเขา คือ คุณศรัณย์ อายุ 78 ปี, Mr.Tomson อายุ 40 ปี และ น้องแพรวา อายุ 17 ปี ซึ่งผู้เข้าร่วมภารกิจต้องตีโจทย์เพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมที่ช่วยทั้ง 3 คนได้สำเร็จ

การสร้างสรรค์นวัตกรรมของผู้เข้าร่วมภารกิจ จะช่วยดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ออกมา และอาจช่วยให้ค้นพบว่าตัวเองชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร ในสภาวะการทำงานที่เร่งรีบ โหด และกดดัน

เป้าหมายของ WEDO ตามหา mindsets ที่นวัตกรต้องมี

‘อภิรัตน์ หวานชะเอม’ Chief Digital Officer แห่ง SCG Cement-Building Materials จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ ได้พูดถึงกิจกรรมใน Hell Day ว่าแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ การทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อจะได้เห็นความสามารถในการทำงานร่วมกันแบบกลุ่ม ส่วนที่สอง เป็นการทดสอบเชิงเดี่ยว เพื่อทดสอบคุณสมบัติที่คิดว่าคนที่เป็นนวัตกรต้องมี โดยยเฉพาะการมี mindsets เหมาะสม

mindset 8 ด้าน ที่ทาง WEDO มองว่าหาในตัวผู้เข้าร่วมภารกิจ ได้แก่  

  • Outward Mindset เข้าใจผู้อื่น ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
  • Collaborative Mindset ความร่วมมือกัน
  • Leadership Mindset ความเป็นผู้นำ
  • Inclusive Mindset
  • Assertive กล้าแสดงออก
  • Resilience ความยืดหยุ่น
  • Optimist การมองโลกในแง่ดี และมองเห็นโอกาส
  • Go the Extra Mile มีความพยายาม

และส่วนที่สาม คือ การสร้างความสับสน ความเหนื่อยล้า ความสงสัย เพื่อให้สองส่วนแรกดูยากขึ้น เพราะการทำงานจริง ๆ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแน่นอน ดังนั้น ภายใน 24 ชั่วโมง ทั้ง 3 ส่วนนี้จะเกิดขึ้นพร้อมกันเพื่อให้ผู้คิดค้นนวัตกรรมทดสอบความอดทน และเป็นสิ่งที่ทาง WEDO จำลองออกมาเสมือนสถานการณ์การทำงานจริง ๆ

“อาจจะถ่ายทอดออกมา เป็นในมุมของความสนุกบ้าง คือบางครั้งน้อง ๆ อาจจะคิดว่าเป็นฐานเล่นเกม แต่จริง ๆ มันอาจกำลังวัดคุณสมบัติบางอย่างที่เราเชื่อว่าสำคัญกับการทำนวัตกรรมอยู่”

อภิรัตน์ หวานชะเอม

สิ่งสำคัญคือต้องพยายามให้ผู้เข้าร่วมมีความลังเล ในระหว่าง 24 ชั่วโมง อยากให้ทุกคนตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลาว่า “หยุดดีไหม พอเถอะ ทำไปทำไม เราจะทำได้ไหม” เพราะสิ่งที่ท้าทายที่สุดของการเป็นนวัตกร คือ การที่เราไม่มั่นใจในตัวเอง การที่ถามตัวเองตลอดว่าจะทำได้ไหม มันเสี่ยงเกินไปไหม การตั้งคำถามแบบนี้ส่งผลให้ไม่เกิดนวัตกรรม

“เราอยากจะรู้ว่าน้อง ๆ เหล่านี้ เขาสามารถเอาชนะความกังวลเหล่านี้ได้ไหม ความไม่แน่ใจเหล่านี้ได้ไหม ความลังเลเหล่านี้ได้ไหม โดยที่เราเอากิจกรรมทั้ง 3 แทร็กมารวมกัน จุดประสงค์เพื่อจะสร้างความลังเลในจิตใจน้อง ๆ ให้ได้มากที่สุด”

อภิรัตน์ หวานชะเอม

แม้ผู้เข้าร่วม Hell Day ครั้งนี้บางคนจะไม่ได้ไปต่อใน Hell Week แต่ประสบการณ์ที่ได้ในกิจกรรมต่าง ๆ ก็สามารถช่วยให้หลายคนเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์กับกิจกรรมที่ทาง WEDO ต้องการ ถ้าผู้เข้าร่วมได้นำประสบการณ์จากกิจกรรมนี้ไปต่อยอดได้ก็อาจเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาได้เช่นกัน

สร้างประสบการณ์ ก้าวสู่การเป็นนวัตกรรุ่นใหม่

WEDO Young Talent Program ได้สร้างประสบการณ์ในการทดลองทำงานเสมือนจริงให้กับเยาวชนมาแล้ว 2 รุ่น ซึ่งที่ผ่านมาก็มีรุ่นพี่ที่ได้นำประสบการณ์ไปต่อยอดกับการทำงานและธุรกิจของตัวเอง อีกทั้งนวัตกรรมที่พวกเขาได้คิดค้นขึ้นในโครงการยังได้มีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

นี่จึงไม่ใช่เพียงการเข้าค่ายหรือการร่วมกิจกรรมแล้วจบลง แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เติบโตไปกับองค์กร การสร้างพื้นที่การทำงานให้กับคนรุ่นใหม่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสังคมและตัวผู้เข้าร่วม ที่จะได้ก้าวมาส่วนหนึ่งและกำลังสำคัญในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่ง WEDO ได้มองหาคนที่มีคุณสมบัติรอบด้าน ทั้งทักษะและความคิดที่ดี มีองค์ความรู้แบบ T-Shape ทั้งในด้าน Design, Business และ Technology

“ฝึกงานที่ไม่ใช่ฝึกงาน แต่ทำงานจริง เจ็บจริง” คือประโยคที่ทำให้หลายคนเลือกที่จะมาเข้าร่วมกับโครงการนี้ เช่นเดียวกับ ‘ชามิล มันยา’ และ ‘มะปราง – ศุภรดา จริงจิตร’ WEDO Young Talent Program รุ่นที่ 2 ตัวอย่างรุ่นพี่ที่เคยได้ทดลองทำงานกับโครงการนี้ ซึ่งทั้งสองคนก็ได้นำทักษะที่ได้ไปต่อยอดกับการทำงานของตัวเอง

ชามิล เป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อยากทำงานประจำ และอยากเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจของตัวเอง และเลือกเดินในสายผู้ประกอบการ

“คือเวลาเราจะทำธุรกิจ มันไม่เหมือนกับการทำงานประจำ คือต้องออกไปเจอคน ออกไปหาโอกาส”

ชามิล มันยา – WEDO Young Talent Program รุ่นที่ 2

ในโครงการฯ ชามิลและเพื่อนร่วมทีมได้คิดค้นนวัตกรรมภายใน 3 เดือน กับ Hell Week หัวข้อ Smart Energy Anywhere คิดค้นจุดส่งไฟให้กับสายชาร์จรถ EV ในคอนโดมิเนียม เจอจุดที่ว่ารถไฟฟ้ามีสายชาร์จที่แถมมากับรถ แต่ในพื้นที่คอนโดมิเนียมก็ไม่ยอมให้เสียบชาร์จ หรือถ้ายอมให้เสียบก็ไม่แน่ใจว่าจะปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งทางทีมเห็นช่องโหว่ตรงนี้เลยคิดค้นนวัตกรรมนี้ขึ้นมา

จากการคิดค้นนวัตกรรมนี้ ยังต่อยอดให้ชามิลได้ร่วมงานกับ SCG และเป็น Internal Startup อีกด้วย ชามิล บอกว่า สิ่งที่ได้จาก WEDO Young Talent Program คือได้ประโยชน์ ความรู้ในการทำนวัตกรรม รู้ว่าการเริ่มต้นทำนวัตกรรมจะต้องทำอย่างไร สิ่งแรก คือ ต้องออกแบบตัวสินค้าและบริการออกมาให้ตอบโจทย์ลูกค้า สิ่งที่สอง คือ การทำให้ออกมาได้จริง และสิ่งที่สาม คือ ทำอย่างให้ทำเงินได้

มะปราง – ศุภรดา จากผู้เข้าร่วมโครงการ WEDO Young Talent Program ก้าวสู่การเป็นส่วนหนึ่งของ WEDO โดยปัจจุบันอยู่ในตำแหน่ง Associate Digital Content and Campaign Specialist ตอนที่เข้าร่วมโครงการ มะปรางและทีมได้คิดค้นนวัตกรรม VR Go สำหรับทำกายภาพ เพื่อตอบโจทย์การทำกายภาพในกิจวัตรประจำวัน ซึ่งอาจมีความน่าเบื่อสำหรับผู้ป่วย และอยากให้ผู้ป่วยทำกายภาพที่สนุกขึ้น โดยในแว่น VR ก็จะใส่ภาพพิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะหรือทะเล ให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าการทำกายภาพจะไม่น่าเบื่ออีกต่อไป เหมือนได้ไปเที่ยวด้วยทำกายภาพไปด้วย

ปัจจุบันมะปรางได้นำองค์ความรู้มาปรับใช้ในการทำงาน คือ การเขียนเนื้อหา Content ว่าจะนำเสนออย่างไรให้เนื้อหามีความน่าสนใจ จุดดึงดูดอยู่ตรงไหน ต้องเล่าอย่างไร ซึ่งเป็นทักษะที่จะติดตัวต่อไปในอนาคต ไม่เพียงแต่การคิดค้นนวัตกรรม แต่เป็นการทำงานในสายอื่นด้วย

“ตอนนี้ก็ได้นำความรู้ส่วนนั้น มาใช้ในการเขียน Content ตั้งแต่เริ่มเลย ว่าเราจะ present อย่างไรให้น่าสนใจ จุดดึงดูดตรงไหน ต้องเล่าอย่างไร”

ศุภรดา จริงจิต – WEDO Young Talent Program รุ่นที่ 2

นวัตกรรมที่จะช่วยพิชิตยอดเขา Everest

“Everest เป็นเทือกเขาที่ยากจะพิชิต แต่ก็มีความหวังอยู่เสมอ ถ้าเรามุ่งมั่นพอ”

หลังจาก 24 ชั่วโมงใน Hell Day การค้นหากลุ่มนวัตกรรุ่นใหม่กับนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพิชิตยอดเขา Everest ก็เสร็จสิ้น มีทีมผู้เข้าร่วมหลายทีมที่มีนวัตกรรมที่โดดเด่น แต่รางวัลชนะเลิศก็ตกเป็นของกลุ่ม 10 ทีมที่คิดค้นนวัตกรรม “VR SIMULATION ROOM & AR ON PROGRAM” ซึ่งเป็นเหมือนห้องฝึกซ้อมก่อนขึ้นเขาจริง บรรยากาศของห้องจะมีอุณหภูมิที่เย็นยะเยือก มีอุณหภูมิ ความกดดันอากาศ เหมือนกับสภาพแวดล้อมจริงบนเขา Everest

นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ AR Trakking Glass ที่ช่วยเชื่อมต่อกับร่างกายเพื่อวัดค่าต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น การเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ เป็นต้น การได้จำลองสภาพแวดล้อมเสมือนนี้จะช่วยให้ร่างกายคุ้นชินเพื่อเตรียมความพร้อมกับการขึ้นเขาจริง และ AR ก็เป็นเทคโนโลยีที่มาช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยในระหว่างการปีนเขา

โดยการตีโจทย์ของทีมเกี่ยวกับความต้องการของผู้อยากพิชิตยอดเขา Everest ทั้ง 3 คน คือ เรื่องสุขภาพ คุณศรัณย์ มีปัญหาเรื่องข้อเข่า Mr.Tomson มีปัญหา Long Covid และน้องแพรวา สุขภาพไม่แข็งแรงพอ เพราะยังไม่ได้ฝึกซ้อมร่างกาย แม้ทุกคนต่างมีร่างกายที่ยังไม่พร้อม แต่จุดที่สำคัญคือพวกเขาไม่ได้ต้องการแค่ไปถึงยอดเขา แต่ต้องการพิชิตยอดเขาด้วยตนเอง

“เราตีโจทย์ใหม่ตรงที่ยอดเขา Everest อาจจะไม่ใช่เขา Everest จริง ๆ อาจจะเป็นเขา Everest ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน เราก็จะสร้างเทคโนโลยีที่มาตอบโจทย์ตรงนี้ นั่นคือ AR กับ VR”

ทีมที่ชนะยังบอกว่าประสบการณ์ในการเข้าร่วมโครงการครั้งนี่เป็นเหมือนความรู้นอกมหาวิทยาลัย ที่เหมือนได้ทำงานจริง ๆ ถ้าทำงานผ่านจุดนี้ไปได้โดยเวลาที่จำกัด ภายใน 24 ชั่วโมง คิดว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์อย่างมากในการเพิ่มการรับรู้ และได้รู้จักว่าตัวเองถนัดอะไร

“ยอดเขาที่สูงสุด ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นยอดเขา Everest แต่ถ้าเป็นยอดเขาอื่นที่สามารถเติมเต็มความอยากที่จะปีนเขาได้ ก็เหมือนได้พิชิตยอดเขา Everest แล้ว”

แม้ Hell Day จะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ Hell Week กำลังรอผู้เข้ารอบทั้ง 50 คนอยู่ การค้นหานวัตกรคนรุ่นใหม่ยังคงดำเนินต่อไป และความเข้มข้นที่เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน หลังการพิชิตยอดเขา Everest ภารกิจในครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไร และเหล่านวัตกรคนรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้อะไรอีกบ้างต้องคอยติดตามกันต่อไปใน Hell Week

Author

Alternative Text
AUTHOR

เมธาวี ทวีผล

เรียนมานุษยวิทยา สนใจเรื่องราวทางสังคม อยากปล่อยใจสู่เสรี