“รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดํารงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตราย ต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย”
บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 70 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจน สิ่งนี้เป็นความหวังและนำมาสู่การผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์ อันจะเป็นตัวชี้วัดการให้ความสำคัญและยอมรับสังคมพหุวัฒนธรรม ของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีอยู่กว่า 6 ล้านคนทั่วประเทศ
ยื่น 16,599 รายชื่อ เสนอร่างกฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์ ฉบับประชาชน
ผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ภาคประชาชนในนาม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ และเครือข่ายชาติพันธุ์จากทั่วประเทศ ได้นำรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 16,599 รายชื่อ เสนอต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. …. หรือ ร่างกฎหมายฉบับประชาชน
ร่างฯ นี้ มีเจตนารมณ์ให้เป็นกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ให้มีสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
มีหลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ 1. หลักการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม ได้แก่ สิทธิทางวัฒนธรรมและการศึกษา, สิทธิในที่ดินและทรัพยากร, สิทธิในการกำหนดตนเอง, สิทธิในความเสมอภาค ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ, สิทธิการมีส่วนร่วม และ สิทธิบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ
2. หลักการส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อปรับหลักคิดจากการมองชาติพันธุ์เป็นเพียงผู้ด้อยโอกาส ช่วยเหลือด้วยการสงเคราะห์ เป็นการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์, เชื่อมั่นในองค์ความรู้ และศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ เปลี่ยนเป็นพลัง มีส่วนร่วมต่อการพัฒนาและสร้างความมั่นคงให้ประเทศ
และ 3. หลักการสร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ลดความเหลื่อมล้ำจากอคติทางสังคมและวัฒนธรรม ที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญกับปัญหาที่หลากหลายในปัจจุบัน
ร่างฯ นี้ ยังถือเป็นร่างกฎหมายฉบับที่ 4 เพราะก่อนหน้านี้มีอีก 3 ฉบับที่เสนอแล้ว คือ 1. (ร่าง) พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เสนอโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ , 2. (ร่าง)พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำโดยพรรคก้าวไกล และ 3. (ร่าง)พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดยคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร และที่กำลังผลักดันอีก 1 ฉบับ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ของกระทรวงวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน ) มีสถานะเป็นร่างกฏหมายของรัฐบาลตามแผนปฏิรูปประเทศ และคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ที่ระบุไว้ในเอกสารคำแถลงนโยบายว่าเป็นกฎหมายเร่งด่วนที่ต้องตราขึ้นภายในรัฐบาลชุดนี้ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบของกฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี
การเสนอร่างกฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์หลายฉบับ ในมุมหนึ่งก็สะท้อนว่าทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ แต่ในแง่หนึ่งก็สะท้อนว่า ที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์ยังไม่ได้รับการดูแลคุ้มครองสิทธิส่งเสริมวิถีชีวิตวัฒนธรรม หรือการยอมรับความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ทั้งที่กฎหมายสูงสุด อย่างรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ว่า “รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดํารงชีวิต ในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตราย ต่อความมั่นคงของรัฐ หรือ สุขภาพอนามัย“
กฎหมายสูงสุดกำหนดไว้ชัด แต่ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ยังเผชิญอยู่บนความเปราะบาง ความเสี่ยงหลุดจากศักยภาพและความมั่นคงในวิถีวัฒนธรรม
มุกดา พงษ์สมบัติ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร มองว่า ถ้าทุกคนมองว่ารัฐธรรมนูญคือสิ่งสูงสุดในการบริหารประเทศ หากให้ความสำคัญตรงนี้ ปัญหาต่าง ๆ จะได้รับการแก้ไข แต่ปัจจุบัน ยังเหมือนซุกไว้ใต้พรม เขียนไว้สวยหรู แต่สิ่งที่เดือดร้อนกลับยังอยู่ใต้พรมที่สวยงาม มีรัฐธรรมนูญจริง แต่คำถามคือปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ ได้รับการแก้ไขจริงแล้วหรือไม่
“ถ้าเขาได้รับการแก้ไขจริง เขาคงไม่ต้องเดินทางไกลจากบ้านมาเรียกร้อง จึงฝากผู้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เป็นเรื่องใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ต้องถูกให้ความสำคัญ คือรัฐธรรมนูญคุณตราไว้แล้ว ผู้ปฎิบัติทำได้ตรงไหม ให้ความสำคัญขนาดไหน ไม่ใช่แค่เขียนสวย ๆ ไว้ เพราะฉะนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญเขียนไว้ เป็นความหวังของกลุ่มชาติพันธุ์ เขาจะได้รับการดูแลแก้ไขสวัสดิการ สิทธิต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ฝากถึงผู้ร่างหรือผู้มีอำนาจในการแก้ไข ระดับเบื้องสูงให้มองความสำคัญ ความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคให้มากที่สุด อย่าเขียนเฉพาะในกระดาษหรือรูปเล่ม ปฏิบัติแต่การปฎิบัติให้สอดคล้องความเป็นจริง ให้เรื่องนี้ ปัญหานี้ ได้รับการแก้ไขอย่างสมบูรณ์“
สุริยันต์ ทองหนูเอียด ที่ปรึกษาพีมูฟ ในฐานะภาคประชาชนผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง กล่าวถึงปัญหาและภัยคุกคามที่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองยังเผชิญอยู่ มาจากหลายภาคส่วน ทั้งกฎหมายนโยบาย กฎหมายการจัดสรรทรัพยากรป่าไม้ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เหล่านี้เป็นเงื่อนไขให้ชุมชนชาติพันธุ์ ชุมชนดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตป่าได้รับผลกระทบ ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร
ประการต่อมาคือนโยบายการท่องเที่ยว นโยบายการจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ล้วนไปกระทบและทำให้กลุ่มชาติพันธุ์กลายเป็นอื่น ซึ่งเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่สามารถดำรงอยู่ในวิถีในสังคมพหุวัฒนธรรม ตามวิถีความเชื่อของตนเองได้
“นี่จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นำไปสู่เงื่อนไขการทำงานร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ใน 2 เดือนที่ผ่านมา ในการเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยจะมีการคุ้มครอง 6 ด้าน มีกลไกคณะกรรมการ มาคุ้มครอง กรรมการด้านข้อมูล และมีสภาชนเผ่า สภาผู้อาวุโส และก็พื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ที่จะเข้าสู่เงื่อนไขการคุ้มครอง ที่ทำ MOU กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ ก็เป็นเบื้องต้นเป็นหลักขั้นพื้นฐานว่า เมื่อผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมา พี่น้องจะมีกลไกมาสนับสนุน ตามกลไกที่ได้รับการดูแลตามหลักรัฐธรรมนูญที่ปรากฏอยู่“
รัฐธรรมนูญมาตรา 70 เป็นโอกาสและความหวังกลุ่มชาติพันธุ์ ที่จะได้รับการคุ้มครองวิถีวัฒนธรรม การผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์ให้เกิดความสำเร็จ คือ หนึ่งตัวชี้วัดสำคัญ
มานพ คีรีภูวดล ส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง กล่าวว่า กฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์หลายฉบับที่ร่างขึ้น มีเนื้อหาตามเจตนารมณ์ที่ระบุและรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 รวมถึงที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ในกับนานาอารยประเทศ ในข้อตกลงว่าด้วยชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองและสิทธิมนุษยชน การผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์ที่เสนอเข้ามาหลายฉบับ จึงเป็นความท้าทายและตัวชี้วัดการให้ความสำคัญและยอมรับสังคมพหุวัฒนธรรม
“ถ้าการผลักดันกฎหมายฉบับนี้เป็นจริง การยอมรับตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่มีอยู่จริงในสังคมไทยก็จะบรรลุผล และเกิดการบรรจุและรับรองในกฎหมายโดยชอบ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทั่วประเทศมีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ไม่น้อยกว่า 56 กลุ่มชาติพันธุ์ ที่พวกเขาจะสามารถดำรงเอกลักษณ์ ความเป็นอัตลักษณ์เอาไว้ได้ ความท้าทายต่อสังคมไทยจากสภาผู้แทนราษฎรคือว่า จะผ่านให้เกิดการยอมรับการเป็นพหุวัฒนธรรม การเป็นพหุสังคมตรงนี้ได้อย่างไร ถือเป็นโจทย์สำคัญ “
อังคาร คลองแห้ง ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็น อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี บอกว่าชาวบ้านในชุมชนต่างมีความคาดหวังต่อการผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์ เพราะตอนนี้แม้พื้นที่บ้านภูเหม็นจะถูกสถานปนาเป็นพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม แต่ผ่านมา 1 ปี กลับยังไม่มีความคืบหน้าโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศป่าสงวนแห่งชาติทับพื้นที่เมื่อปี 2535 ที่จำกัดและห้ามทำกินในระบบเกษตรดั้งเดิมอย่างไร่หมุนเวียน ที่ทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษมายาวนานเกือบ 30 ปี แต่กลับส่งเสริมให้ทำเกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยว ทำให้ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกเช่นสารเคมี เกิดหนี้สิน และยังส่งผลต่อทรัพยากรเสื่อมโทรม ป่าและความหลากหลายทางธรรมชาติลดน้อยลง
“ถ้ามีกฎหมายใช้ได้จริง มีวิถีชีวิตอย่างมั่นคง หลายอย่างห ลายรูปแบบ เช่น ทำไร่ข้าว ไร่หมุนเวียน หรือว่าเรามีอาหาร หาอยู่ หากินอย่างปกติ อย่างไม่ต้องหวาดระแวง ไม่มีความเหลื่อมล้ำ การถูกเบียดขับจากพื้นที่ และอนาคตข้างหน้าก็จะดีกับลูกหลานได้เรียนรู้วัฒนธรรม“
ข้อมูลจากศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน) พบว่าประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า มากกว่า 60 กลุ่มชาติพันธุ์ กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ โดยสามารถแบ่งกลุ่มชาติพันธุ์ตามการตั้งถิ่นฐานได้ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในป่า เช่น มานิ มลาบรี, กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอบู่บนพื้นที่สูง เช่น กะเหรี่ยง ม้ง อาข่า, กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบ เช่น ไทดำ ไทลื้อ ภูไท ชอง กูย กะเลิง และ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกาะแก่งและชายฝั่ง เช่น อูรักลาโว้ย มอแกน มอแกลน
ขณะที่จำนวนประชากรของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำรวจไว้ในปี 2545 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ประมาณ 6,100,000 คน หรือร้อยละ 9.68 ของประชากรในประเทศ