‘Subculture’ ที่ตอบโจทย์คนทุกภูมิภาค
ในช่วงนี้เราอาจจะเห็นกระแสของความเป็น ‘อีสาน’ ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย แม้ว่าความเป็นอีสานจะถูกยอมรับมาหลายทศวรรษแล้วว่าสามารถกลายเป็นที่นิยมในคนหมู่มากได้ เมื่อไหร่ที่มีผลงานหรือสื่อที่โดดเด่นก็กลายเป็นปรากฏการณ์ได้เสมออย่างเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ภาพยนตร์เรื่อง “สัปเหร่อ” ภาพยนตร์สายเลือดอีสานขนานแท้สามารถทำรายได้ถึง 700 ล้าน ซึ่งเป็นที่ฮือฮาอย่างมากว่าภาพยนตร์จากค่ายเล็ก ๆ ที่มีทุนสร้าง 15 ล้านบาท เป็นที่พูดถึงและเข้าถึงผู้ชมได้ล้นหลามขนาดนี้ ส่งผลให้ ผู้สร้าง ผู้กำกับ นักแสดง และเพลงประกอบภาพยนตร์ ได้รับการยอมรับในวงกว้างมากขึ้น
แน่นนอนว่าความสำเร็จของภาพยนตร์สายเลือดอีสานเรื่องนี้ยังทำให้หลายคนต้องตั้งคำถามว่า ‘ทำไม’ ภาพยนตร์แนวท้องถิ่นของภูมิภาคอื่น ๆ ถึงไม่เป็นที่พูดถึงอย่างภาพยนตร์อีสาน หรือในอีกมุมก็มีการตั้งคำถามที่ว่าทำไมวัฒนธรรมของภาคอื่นถึงไม่เป็นที่นิยมเท่าอีสาน ซึ่งก็สามารถตีความได้หลายแง่มุม ทั้งความหลากหลายของภาษา ลักษณะวัฒนธรรม วิถีชีวิต บริบททางสังคม และจำนวนประชากรแต่ละภูมิภาค
แต่อะไรคือสิ่งที่ช่วยส่งให้ความเป็น ‘อีสาน’ กลายเป็น ‘Subculture’ ที่ตอบโจทย์คนทุกภูมิภาค The Active ได้พูดคุยกับ จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ นักศึกษาปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเจ้าของวิทยานิพนธ์ รถแห่อีสาน: มหรสพสัญจรข้ามพรมแดนวัฒนธรรม เกี่ยวกับที่มาของการถ่ายเทวัฒนธรรมอีสานสู่พื้นที่วัฒนธรรมกระแสหลัก รวมถึงทบทวนวาทกรรมความเป็น ‘ไทบ้าน’ และความสำเร็จของภาพยนตร์อีสานอย่าง ‘สัปเหร่อ’
ทุกพื้นที่ย่อมมีความหลากหลาย
เมื่อพูดถึงความเหมือนและความต่างของวัฒนธรรมแต่ละภูมิภาค จารุวรรณ ได้ให้คำตอบว่า จริง ๆ แล้วทุกพื้นที่มีความหลากหลาย ทั้งสำเนียงภาษา และวิถีชีวิตที่ต่างกันออกไปแต่ละจังหวัด มีการถ่ายเทผู้คน เมื่อผู้คนกระจายตัวก็ทำให้วัฒนธรรม มหรสพ อาหารการกิน ถูกเผยแพร่ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคไหนก็ย่อมเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน
จารุวรรณ กล่าวว่า ภาคอีสานอาจได้เปรียบตรงที่จำนวนประชากรที่เยอะ รวมถึงการที่คนอีสานมีการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนเยอะพอสมควร ประกอบกับช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดการพัฒนาในอีสานเยอะมาก โดยเฉพาะช่วงสงครามเวียดนาม มีทหารอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพ มีทุนจากรัฐเข้ามาจัดการเรื่องการเมืองในอีสาน สิ่งเหล่านี้เลยส่งผลให้อีสานค่อนข้างจะเติบโตในช่วงนั้น
อีกส่วนหนึ่งที่อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนอีสานต้องเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน ก็คือ พื้นที่ของพวกเขาไม่สามารถทำการเกษตรได้หลากหลาย อาชีพหลักของชาวอีสานคือการทำนา แต่จำนวนผลผลิต รายได้ ก็ไม่ค่อยเอื้อต่อการเลื่อนสถานะทางสังคมของคนอีสานมากนัก ดังนั้น คนอีสานจึงต้องดิ้นรนเพื่อไปทำงานในพื้นที่อื่น โดยเฉพาะการเข้ามาเป็นแรงงานในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ พื้นที่อุตสาหกรรมอย่างภาคตะวันออก รวมถึงการเคลื่อนย้ายไปต่างประเทศ เช่น การเป็นแรงงานในตะวันออกกลาง เป็นต้น
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นผลผลิตของคนอีสาน เพราะเป็นการรับอิทธิพลจากพื้นที่ข้างนอกเข้ามาและนำวัฒนธรรมของตนไปเผยแพร่นอกพื้นที่ เช่น การแสดงหมอลำที่หมอชิต จากมหรสพสำหรับความบันเทิงของคนอีสาน กลายเป็นความบันเทิงของคนภูมิภาคอื่นด้วย เกิดเป็นกระแสเที่เข้าถึงผู้คนหลากหลายกลุ่ม
การเคลื่อนย้ายของแรงงานอีสาน มีสาเหตุมาจากการถูกกดทับจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจ มีจุดร่วมเดียวกัน คือ ‘ความแร้นแค้น’ จึงต้องปรับตัวเพราะสถานะทางสังคมบังคับ นำไปสู่การกระจายตัวของวัฒนธรรม และมีคนอีสานจำนวนมากที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานตามภูมิภาคต่าง ๆ ดังนั้น อาจไม่แปลกที่ความเป็นอีสานจะเป็นที่พูดถึงในทุกยุคสมัยและทุกพื้นที่
เมื่อสังคมซับซ้อนขึ้น เราจึงได้กลับไปทบทวนวาทกรรม ‘ไทบ้าน’
‘ไทบ้าน’ เป็นภาษาอีสานที่หลายคนคงเคยได้ยิน ซึ่งก็สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์บางอย่างของคนอีสานได้จากคำนี้ จารุวรรณให้ความเห็นว่า ‘ไทบ้าน’ เป็นคำที่เลื่อนไหล ซึ่งอีกความหมายหนึ่งก็คือ ‘ความเป็นคนพื้นถิ่น’ สะท้อนภาพสังคมความออกมา และมีความซับซ้อนตามบริบทที่ถูกใช้งาน
จากเมื่อก่อนมักถูกใช้เป็นคำเชิงลบ เป็นคำเหยียด แต่ในกระแสปัจจุบันกลับถูกยกขึ้นมาให้คุณค่า รวมถึงสะท้อนได้ว่าคนอีสานนั้นมีโอกาสที่จะผลันตัวมาเป็นผู้ผลิตวาทกรรมของตนเองได้
ด้วยกระแสภาพยนตร์ในจักรวาลไทบ้าน ก่อนหน้าเรื่องสัปเหร่อ ก็มีการหยิบยกคำว่าไทบ้านขึ้นมาปัดฝุ่นให้กลายเป็นจุดเด่น เสียดสีความเป็นจริงของสังคม โดยการพยายามชูวิถีชีวิตของคนไทบ้านมาเล่าผ่านภาพยนตร์และบทเพลง ยิ่งทำให้คำว่า ‘ไทบ้าน’ เริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างไม่แปลกแยกเหมือนอดีต
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะผลักดันให้วัฒนธรรมอีสานกลายเป็นที่นิยมได้ แม้ว่าผลงานของชาวอีสานจะเป็นที่ยอมรับเรื่อยมาตั้งแต่ทศวรรษ 2500 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังสามารถสร้างปรากฏการณ์ใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งตัว จารุวรรณ เองในฐานะผู้ศึกษาด้านนี้ก็ไม่คาดคิดว่ากลุ่มคนทำหนังแนวอีสานจะประสบความสำเร็จมากขนาดนี้
เรื่องราวสังคมอีสานตอบโจทย์สังคม
จากความสำเร็จของ ‘สัปเหร่อ’ ที่เหนือความคาดหมาย ซึ่งถือว่าช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่เงียบเหงามาหลายปีจากสถานการณ์โควิด-19 ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จากกลุ่มคนที่เติบโตมาจากการเป็น ‘native digital’ อาจได้ก้าวเข้ามาเป็นกลุ่มคนสร้างภาพยนตร์ที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ
จารุวรรณ มองว่า พวกเขาเข้าใจการใช้สื่อในการประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดียที่สามารถหยิบยกประเด็นเล็ก ๆ ขึ้นมาทำเป็น content ได้ พอผ่านการรับรู้ของผู้คนมาก ๆ ก็กลายเป็นกระแส และบอกว่าการประสบความสำเร็จของ ‘สัปเหร่อ’ อาจเป็นเพราะเรื่องราวในภาพยนตร์นั้นตอบโจทย์สังคมที่ต้องการเสพวัฒนธรรมย่อยที่นอกเหนือไปจากวัฒนธรรมหลัก โหยหาภาพความเป็นสังคมชนบทที่มีความจิกกัดวิถีชีวิตจริงของคนอีสาน ซึ่งในอนาคตพวกเขาอาจจะกลายเป็นกลุ่มผู้ผลิตสื่อในกระแสหลักก็ได้ เมื่อได้รับความสนใจจากรัฐและผู้ชม
แต่ก็มีบางแง่มุมที่จารุวรรณอยากฝากถึงรัฐว่า ไม่ควรรีบนำคำว่า “soft power” ไปแปะป้ายให้กับภาพยนตร์ หากรัฐยังไม่ได้เข้าใจบริบทที่ภาพยนตร์ต้องการจะสื่อออกมาอย่างแท้จริง
“สิ่งที่รัฐไปดู คือต้องไม่ได้ไปดูแค่ความสนุก คุณต้องมองให้เห็นว่าความเป็นไทบ้านนั้นถูกกดทับทางสังคมมาอย่างไร แล้วเขาแสดงออกกันอย่างไร ถ้าจะผลักดันในผลงานเติบโตจริง ๆ ควรจะทำอย่างไร”
จารุวรรณยังเชื่อว่า การไม่มีกรอบมาครอบวัฒนธรรม ยิ่งทำให้วัฒนธรรมเติบโต และไปได้ไกลกว่าที่คิด และเกิดกระแสได้โดยธรรมชาติ ซึ่งรัฐไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป
“การไม่ถูกกรอบมาดึงหรือครอบวัฒนธรรม มันทำให้วัฒนธรรมมันไกลออกไป”
โดยสรุปแล้ว กลิ่นอาย ตัวตน ความเป็น ‘อีสาน’ ก็ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ และอาจมีปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นมาอีกในอนาคต ดังบทสรุปของหนังสือ ‘สู่วิถีอีสานใหม่’ โดย พัฒนา กิติอาษา ว่า “วิถีชุมชนหมู่บ้านของอีสานใหม่เปรียบเสมือนเรือนกายของมนุษย์ที่ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา” เป็นวิถีชีวิตที่เคลื่อนไปข้างหน้า เช่นเดียวกับวัฒนธรรมอีสานที่ลื่นไหลไปตามพื้นที่ต่าง ๆ และหวังว่าวัฒนธรรมของภูมิภาคอื่น ๆ ก็จะสามารถทำหน้าที่ได้แบบเดียวกัน