ภายใต้ความตลก ‘ผู้บ่าวไทบ้าน’ กำลังเปิดแผลชนบทในยุคทุนนิยมของรัฐไทย

ภาพยนตร์เรื่อง “ผู้บ่าวไทบ้าน” หนังฉายโรงสายเลือดลาวอีสาน ที่ฉายภาพของชนบทอีสานกับการคืบคลานของทุนนิยม ที่กำลังกลืนกินกลิ่นอายท้องถิ่นไปอย่างน่ากังวล เชื่อได้เลยว่าผู้ใดที่หลุดเข้าไปนั่งอยู่หน้าจอฉายหนังเรื่องนี้ จะถูกตอกย้ำจุดเจ็บปวดอยู่ตลอดเรื่อง โดยเฉพาะคนชนบทที่ต้องโยกย้ายอพยพเข้าเมืองไปหาความหวังในเมืองใหญ่ ฉากภาพวิถีชีวิตและเสียงหัวเราะที่กลบภาพความลำบากของชีวิตจริงที่เจ็บปวดไว้ เหมือนมีดคม ๆ ที่ค่อย ๆ กรีดเนื้อเราอย่างนิ่มนวล จนเราไม่รู้ตัว กว่าจะรู้มันก็ถึงจุดลึกสุดของแผล แล้วเราก็เจ็บปวด

กว่า 10 ปี ของการเดินทางของจักรวาลผู้บ่าวไทบ้าน (ทองคำ+ปราณี) ก็ได้เดินทางมาสู่ตอนอวสาน ในภาพยนตร์เรื่อง ผู้บ่าวไทบ้าน อวสานอินดี้ 

ผู้บ่าวไทบ้าน
อุเทน ศรีริวิ ผู้กำกับภาพยนตร์ ‘ผู้บ่าวไทบ้าน’

อุเทน ศรีริวิ ผู้กำกับ ใช้ประสบการณ์จากการอาศัยอยู่ในอีสาน เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชนบาท ประกอบกับตนเป็นหนึ่งคนที่ต้องผลักตัวเองออกจากชุมชนชนบทมาเรียนในกรุงเทพฯ เพื่อไขว่คว้าหาโอกาสในชีวิต และหยิบประเด็นการอพยพของคนต่างจังหวัด มาเขียนบทภาพยนตร์ฉายโรงเรื่องแรก คือ “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้” ภาพยนตร์เลือดอีสาน ที่สร้างตัวละครขึ้นมาให้เป็นตัวตั้งคำถามกับโครงสร้างที่เปลี่ยนไปของชนบทอีสาน โดยเล่าผ่านเส้นความรักของ ทองคำและปราณี

จากจุดเริ่มต้น สู่จุดอวสาน  “ความอินดี้”

ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้ จุดเริ่มต้น เกิดขึ้นจากตัวละคร ‘ปราณี’ และ ‘ทองคำ’ เป็นหนุ่มสาวที่เติบโตมาในชนบทอีสาน ทั้ง 2 เป็นคู่รักและใช้ชีวิตแบบคนอีสานมาตลอด กระทั่งวันหนึ่ง ปราณีจำต้องเดินทางไปเมืองนอกเพื่อไปทำงาน หาเงิน หวังหาโอกาสสร้างชีวิตที่ดี ตอนนั้นทองคำก็รอปราณีกลับมา หวังแต่งงานสร้างฐานะที่บ้านเกิด 

ทองคำยังอยู่ที่ชนบท ทำตามฝันอย่างการเป็นผู้กำกับหนัง ซึ่งหลายคนก็มองว่าเป็นความฝันลม ๆ แล้ง ๆ เพราะขัดกับความคาดหวังของสังคมชนบทเสียเหลือเกิน เพราะสังคมอีสานในยุคนั้น หนุ่มสาวไม่มีเงิน จะต้องออกไปทำงานที่เมืองกรุง คนที่อยู่หมู่บ้านไม่มีงานทำ มักถูกมองว่าเป็นคนไม่เอาไหน ไม่มีอนาคต

ขณะที่ปราณีก็ได้พบรักกับแฟนชาวต่างชาติ ซึ่งถือว่าเป็นหน้าเป็นตา เป็นความภูมิใจของครอบครัว เพราะนั่นหมายถึงการมีหน้ามีตาทางสังคมและมีฐานะที่ดีขึ้น ฝ่ายแม่ของปราณีก็ดีใจที่ลูกได้สามีต่างชาติ เพราะเธอเชื่อว่า ชาวต่างชาติมีเงิน รวย สามารถสร้างบ้าน ซื้อรถ ซึ้งสร้อยทองให้ตัวเองได้

หนึ่งในบทสนทนาที่น่าจะสะท้อนหัวใจของหนังเรื่องนี้ได้ดี คือตอนที่ปราณีกลับมาที่บ้าน แล้วไปหาทองคำ เพื่อถามข่าว แต่ด้วยบทสนทนาทำให้ทุกอย่างดูอึดอัดไปหมด 

ปราณี บอกว่า “บ้านเฮาเจริญขึ้นหลายเนาะ”

ไม่ทันจะได้เอ่ยประโยคต่อไป ทองคำสวนกลับว่า “เจ้าฮู้ได้จั่งใด๋ว่ามันเจริญ มันจะเจริญได้จั่งใด๋ บ่มีคนมาสร้าง มาแปลง เรียนสูงได้ดีแล้วลืมบ้านเกิด หอบผ้าหอบของหนีไปเบิด”

“ถ้าคนเหล่านั้นเลือกอนาคตเขาได้ เขาบ่หนีกันดอก มันก็คือสุ่มผู้บ่าวไทบ้านนั่นแหละ กินแต่เหล้าเมาแต่ยามีความสุขหลาย แต่บ่มีอนาคต” ปราณีตอบกลับทองคำ ก่อนเปลี่ยนการสนทนาไปเรื่องอื่น 

นั่นหมายความว่า ทองคำไม่ใช่คำตอบของปราณี และด้วยความฝังใจที่สาวคนรักต้องจากถิ่นฐานบ้านเกิด ทองคำจึงต่อต้านไทบ้านที่ไปทำงานหาเงินต่างถิ่น

ผู้บ่าวไทบ้าน อวสานอินดี้ จุดอวสานของ ‘ทองคำ’ ผู้บ่าวไทบ้านที่ใช้ชีวิตอินดี้อยู่ชนบท เมื่อเวลาผ่านไปราว 3 ปี หลังจากปราณีไปทำงานกับแฟนชาวต่างชาติ ทองคำเฝ้ารอ หวังว่าปราณีจะกลับมาหาเขา ขณะที่เขารอปราณี ก็ได้พบกับ ‘เพ็ญ’ ตัวละครใหม่ปรากฏขึ้น เพ็ญเป็นสาวไทบ้านที่ได้ไปร่ำเรียนที่กรุงเทพฯ จนจบปริญญาตรีกลับมา เธอเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต่อต้านการไปเรียนและการทำงานต่างบ้านเช่นกัน จึงทำให้เพ็ญและทองคำมีจุดเชื่อมกัน และความสัมพันธ์ดูเหมือนจะเป็นไปได้ดี กระทั่งปราณีกลับบ้านเพื่อมาดูแลแม่ที่ไม่สบาย หลายความชุลมุนเกิดขึ้นในหนัง ระคนกลิ่นอายของอีสานที่ยังมีความดั้งเดิมมาก ๆ หนังเรื่องนี้จะขังเราให้หวนคิดถึงชวนเวลาในอดีตอย่างอบอวลทั่วโรงหนัง 

อุเทน ผู้กำกับ เล่าว่า หนังเรื่อง ผู้บ่าวไทบ้าน อวสานอินดี้ เป็นภาคต่อของผู้บ่าวไทบ้าน แม้เป็นจุดจบของความอินดี้ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของทองคำ จากผู้บ่าวไทบ้าน ทองคำจะต้องขยับตัวเองเป็นผู้ใหญ่เพื่อความมั่นคงของชีวิต เขาจะต้องเผชิญกับโครงสร้างสังคมที่เขาต่อต้านมาตลอด ชีวิตทองคำในตอนอวสานจะเป็นอย่างไร และการเริ่มต้นใหม่ของเขาจะเป็นอย่างไร ตัวละครเพ็ญศรีจะเข้ามาทำให้ความเป็นไปของเรื่องดำเนินไปอย่างไร หนังเรื่องนี้ก็ได้ดำเนินไปตามวิถีอีสาน ขณะเดียวกันก็แฝงสัญญะมากมายไว้ให้ผู้ชมได้ตีความ

กับดักความเจริญที่เกิดจริงทั้งในหนังและเรื่องจริง 

หนึ่งตัวละครที่มีความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่น้อย ‘แม่ใหญ่แดง’ แม่ของปราณี ผู้เห็นดีเห็นชอบกับการส่งลูกสาวอย่างปราณีไปทำงานที่เมืองใหญ่ และยังภูมิใจเอามาก ๆ ที่ลูกได้แฟนชาวต่างชาติ เพราะในอีสาน การได้แฟนเป็นชาวต่างชาตินั้นเป็นหน้าเป็นตาทางสังคมมาก ๆ  

ประโยคที่ ‘แม่ใหญ่แดง’ คุยกับปราณีว่า “ฝรั่งน่ะมันรวย ให้มันซื้อบ้านซื้อรถ ซื้อสร้อยเส้นเท่าแขนให้แม่ก่อน จั่งเลิกกันกับมัน” แน่นอนว่าประโยคเหล่านี้ทำให้เห็นเหตุและผลของการเดินทางไปต่างแดนของปราณี 

ขณะที่แม่ใหญ่แดงส่งเสริมให้ลูกไปทำงานต่างบ้าน ดีใจที่มีลูกเขยเป็นชาวต่างชาติ เพราะคิดว่านี่คือทางรวย และทางรอดของครอบครัว เพราะเธอไม่อยากให้ลูกจะต้องมาทำไร่ทำนา และลำบากอยู่ที่บ้าน

แต่ปราณี กลับสารภาพกับแม่ว่า ตนไม่มีความสุขและตนอยากกลับมาอยู่ที่บ้านตายที่บ้าน เพราะเธอเห็นแล้วว่าแม้จะหนีตายจากบ้านไปโหยหาความเจริญในต่างแดน แต่สุดท้ายมันก็ยังคงมีความยากและดิ้นรนไม่ต่างกัน 

“แม่ขอโทษ แม่ขอโทษลูกหลาย ๆ ไปอยู่นำเขาเบิ่งสาก่อน อยู่บ้านเฮามันทุกข์ มันยาก แม่บ่อยากให้ลูกมาเฮ็ดไร่ เฮ็ดนา อยู่ทางนี้ไม่ต้องห่วงหรอก แม่ยังแข็งแรงอยู่ ถ้าความจนมันไม่มาบังคับ แม่บ่ให้ลูกไปแบบนั้นหรอก ไปอยู่กับเขาอีกสักครั้งก่อน เผื่อว่าเฮาจะลืมตาอ้าปากได้ แม่ก็จะบ่บังคับลูกอีก”

นี่คืออีกบทสนทนาที่เราเห็นการจำนนต่อความจน แม้ว่าจะทุกข์ แต่การออกจากบ้านไปที่อื่นก็ยังถือว่ามีโอกาสมากกว่า 

สำหรับตัวละครของปราณีและแม่ อุเทน เล่าว่าสร้างขึ้นจากเรื่องจริงของหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งในอีสาน ที่ตนผ่านไปเห็นและเจอว่าในหมู่บ้านนั้นมีบ้านสไตล์โมเดิร์น หลังใหญ่โต เรียงรายกันเป็นทางยาว แล้วมีธงแต่ละประเทศปักอยู่หน้าบ้านเพื่อบ่งบอกถึงถิ่นฐานของสามี 

เมื่อ อุเทน ถามหาที่มาที่ไปจากคนในพื้นที่ ทำให้พบว่าเมื่อลูกเรียนจบระดับมัธยมแล้ว พ่อแม่จะส่งลูกไปที่ ๆ มีโอกาสเจอชาวต่างชาติ อย่างพัทยา เพื่อหวังจะให้ลูกได้ชาวต่างชาติเป็นแฟน และให้เขาสร้างบ้าน ซื้อรถ ยกฐานะของครอบครัวให้ดีขึ้น

บทหนัง และความเป็นจริง 

เวลาในหนังเรื่องนี้ผ่านไปเพียง 3 ปี แต่ในกระบวนการผลิตหนัง เวลาล่วงเลยมาเข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว ขณะที่ในตอนอวสานของเรื่องนี้ อุเทน ก็สร้างตัวละคร ที่ชื่อ ‘เพ็ญ’ ขึ้นมาอีกหนึ่งคน เพื่อสะท้อนสังคมอีสานยุคใหม่ อีกหนึ่งมิติ

ธัญญรัตน์ บุตริน หรือนัท สาวอีสานจากขอนแก่นผู้รับบทนี้ เล่าว่า โดยรวมของหนัง สะท้อนชีวิตวัยเด็กของเธอมาก ที่พ่อแม่จะต้องออกจากบ้านไปทำงานที่เมืองใหญ่ ณ ตอนนั้นเธอเพียงแต่ตั้งคำถามว่าทำไมพ่อแม่ต้องไป กระทั่งเธอโตขึ้น และเธอได้มีโอกาสเล่นหนังเรื่องนี้ คำถามที่มีมันถูกคลี่คลายและย้ำชัดเจนว่าการออกจากบ้านไปของพ่อแม่ ตอนนั้นคงไม่ได้ต่างอะไรกับปราณีมากนัก เพราะฐานะที่บ้านต้องดีขึ้น เพราะมีโอกาส เพราะอยู่ที่บ้านไม่มีงานที่ได้เงินเยอะ

ส่วนตัวละครของเพ็ญ ก็ยิ่งสะท้อนตัวเธอได้ชัดเจน เพราะเธอเคยเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ในระดับมหาวิทยาลัย และตนเชื่อว่า ถ้าเข้าเมืองการศึกษาดีกว่า โอกาสเยอะกว่า แต่อยู่ได้ไม่นาน ก็พบว่าการเข้ามาในเมืองมันก็มีความยากในแบบของมัน ห้องต้องเช่า ข้าวต้องซื้อ การแข่งขันสูง จนเธอรู้สึกเหนื่อยที่ต้องวิ่งให้ทันกับสังคมเมืองแบบนี้ สุดท้ายตัดสินใจกลับไปเริ่มต้นชีวิตมหาวิทยาลัยใหม่ที่อีสาน 

แม้ว่าตัวละครเพ็ญจะต่อต้าน และเก่งกล้ากับโครงสร้างแค่ไหน แต่เงื่อนไขของเขาก็มีครอบครัวเข้ามาเป็นหนึ่งในเหตุผลของทุกการตัดสินใจเสมอ ทั้งเรื่องเรียน เรื่องทำงาน เธอเข้าใจว่า หากอีสานย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทางเลือกของตัวละครก็อาจไม่ได้มีมากนักหากเทียบกับปัจจุบัน

แต่เธอเชื่อว่าถ้าสังคมมันเปลี่ยนทางเลือกของตัวละครอาจจะเยอะกว่านี้ และมีวิธีการจบของเรื่องนี้ที่ไม่พาดำดิ่งไปอย่างที่เป็นก็ได้ 

ถ้าทางเลือกในชีวิตจริง มีผลต่อตอนจบของหนัง ผู้บ่าวไทบ้านอาจจะไม่จบแบบนี้? 

บทหนังเกิดขึ้นจากประสบการณ์ในชีวิตจริง ถูกเรียบเรียงและสะท้อนออกมาในรูปแบบหนัง และหนังนี่แหละคือสิ่งที่จะเป็นตัวบันทึกสังคม ในช่วงเวลาต่าง ๆ ได้ จุดจบของหนังเรื่องนี้ ก็แน่นอนว่า สะท้อนสังคมในยุคนั้นออกมา

อุเทน บอกว่า สิ่งที่จะทำให้จุดจบหนังเรื่องนี้เปลี่ยน คือ ทองคำและชาวบ้านรวยขึ้น มีเงินเยอะขึ้น แต่อะไรจะเป็นเหตุที่สมผลหละ? ความเป็นผู้บ่าวไทบ้านสังคมไทย อนุญาตให้เขามีโอกาสทำอะไรได้บ้าง มายาคติมากมายยังคงมีเกิดขึ้นอยู่ในสังคม หนุ่มสาววัยแรงงานยังคงต้องออกจากชนบทตามกระแสแรงงาน และแรงดึงดูดทางเศรษฐกิจ มีคนจำนวนน้อยมากที่กำลังทวนกระแสทุนนิยมกลับไปตั้งหลักปักฐานที่บ้าน แต่ก็พบปัญหาคลาสสิกในชุมชนเรื่องโครงสร้างเหมือนเดิม จะมีหนุ่มสาวที่แข็งแกร่งสักกี่คนที่งอกเงยได้

ดูเหมือนว่าหนังเรื่องนี้จะไม่ใช่เพียงแค่บทที่แต่งขึ้นมาลอย ๆ  เมื่อเทียบช่วงเวลาที่ปรากฏในหนังและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงนั้นแล้ว น่าจะราว ๆ ปี 1960 หรือ พ.ศ. 2503 ซึ่งตรงกับสมัยที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารและได้เป็นรัฐบาลในยุคนั้น ได้มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก โดยพัฒนาไทยให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม สร้างสิ่งต่าง ๆ ไปยังชนบท พยายามพัฒนาฐานะประชาชนให้ดีขึ้น และมีความเป็นไปได้ว่าการปกครองประเทศไทยครั้งนั้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมชาวนาในชนบทอีสาน ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมในภาคอีสานที่โดดเด่น 2 เรื่อง คือ ผู้ประท้วง และคลื่นแรงงานอพยพได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ กระทั่งปัจจุบันเราก็ยังคงเห็นคนต่างจังหวัดเดินทางเข้ามาในเมืองใหญ่เพื่อทำงานอย่างต่อเนื่อง 

เราหยิบยกหนังเรื่องนี้มาเพราะมันทำหน้าที่ฉายภาพโครงสร้างของชนบทที่เกิดผลกระทบจากโครงสร้างใหญ่ของประเทศ อาจจะไม่ใช่หนังเพื่อคนอีสาน แต่อาจจะเป็นการฉายภาพของชนบทที่กำลังถูกระบบทุนดึงคนวัยหนุ่มสาวออกจากบ้านไปเป็นแรงงานต่างถิ่นในเมืองที่มีความเจริญมากกว่า

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์