ผ่าทางรอด รับมือ ‘เอลนีโญ’ ระงับความเสี่ยงขั้นสุดขั้ว

การบริหารจัดการความเสี่ยงสุดขั้วเพื่อระงับเหตุภาวะฉุกเฉิน จากสถานการณ์ที่มีความผันผวนขั้นรุนแรงของสภาพอากาศในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจเพราะต่อจากนี้ไปไทยจะเผชิญวิกฤตรุนแรงจากภัยแล้ง ทำให้ยากต่อการบริหารจัดการน้ำ และมีความเสี่ยงที่อาจเกิดผลกระทบรุนแรงเพิ่มมากขึ้นกับประชาชน  

นักวิชาการประเมินว่า ปี 2568 ประเทศไทยจะเผชิญกับภัยแล้งหนักที่สุด ก่อนเข้าสู่ภาวะน้ำมาก ในปี 2570

ดังนั้น 1-2 ปีข้างหน้าจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเตรียมพร้อมกักเก็บน้ำ โดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ควรมีปริมาณน้ำใช้รวมกันร้อยละ 60 ถึงจะรอดวิกฤตแล้งท่ามกลางปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้น

ศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ร่วมกับ จังหวัดนครสวรรค์ และ DHI ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแบบจำลองคณิตศาสตร์ รวมถึงการพยากรณ์น้ำจากประเทศเดนมาร์ก และหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้อง และ The Active จัดงานสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ  “แนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงสุดขั้วเพื่อระงับเหตุภาวะฉุกเฉินจากสถานการณ์ที่มีความผันผวนขั้นรุนแรงของสภาพภูมิอากาศ”

หลังจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศของประเทศไทย ซึ่งทำให้สถานการณ์น้ำในแต่ละปีมีความผันผวนอย่างรุนแรงทั้งในเชิงปริมาณและเชิงพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน การสูญเสียรายได้ในภาคเกษตรกรรม การสูญเสียงบประมาณไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการชดเชยเยียวยาในพื้นที่น้ำท่วมและภัยแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซากเป็นประจำทุกปี ซึ่งล้วนแต่เป็นการเสียโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับจังหวัดและระดับประเทศ

จากผลการคาดการณ์น้ำล่วงหน้า 5 ปี โดยศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มจพ. สามารถเป็นแนวทางในการรับมือและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดภัยน้ำท่วมหรือภัยแล้งรุนแรง เพื่อจัดการกับความผันผวนอย่างสุดขั้ว ซึ่งในภาวะเอลนิโญของปีนี้ ได้ส่งผลให้เกิดฝนทิ้งช่วงในเดือน มิ.ย. และ ก.ค. ถึงแม้พื้นที่เกษตรกรรมในเขตชลประทานยังคงมีน้ำสนับสนุนการเกษตรในปีนี้ เนื่องจากปีที่ผ่านมา 2565 เป็นปีน้ำมาก แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีพื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตชลประทานที่เสี่ยงจะเสียหาย โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกล่าช้าและไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนสำรอง

ผศ.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

แนวโน้มอีก 5 ปีข้างหน้า ไทยจะแล้งที่สุดปีไหน

ผศ.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า จากแนวโน้มในอีก 5 ปีข้างหน้า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเผชิญกับความผันผวนของปริมาณน้ำ ที่มีโอกาสจะแล้งต่อเนื่องและเกิดภัยแล้งหนักในปี 2568 ก่อนที่จะสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติและน้ำมากอีกครั้งในปี 2569 และ 2570 ซึ่ง หากมีการเพาะปลูกข้าวในเขตชลประทานนาปีเฉลี่ย 6.4 ล้านไร่ และนาปรังเฉลี่ย 3.1 ล้านไร่ คาดการณ์ว่าจะเหลือปริมาณน้ำใช้การรวม 4 เขื่อนในต้นฤดูแล้ง 1 พ.ย. เพียงร้อยละ 32

สำหรับปีนี้ 2566 เมื่อเทียบกับน้ำปีที่แล้ว ฝนจะน้อยกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 35 ในขณะที่ฤดูฝนปีหน้า 2567 มีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีนี้ โดยความผันผวนของปริมาณน้ำจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2568 ซึ่งจะเป็นปีที่ไทยจะประสบปัญหาน้ำแล้งหนักมาก มีปริมาณคาดการณ์ 833 มม. ซึ่งอาจเป็นสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าที่เคยเกิดขึ้นในปี 2558 ก่อนที่สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติถึงน้ำมากอีกครั้งในปี 2569-2570

“การเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ เอลนีโญในปีนี้ ถึง ปี 2568 คือการรักษาน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาให้เพียงพอ ต่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ อุตสาหกรรม เกษตรกรรมและพืชสวน และหากมีการปรับลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวในเขตชลประทานนาปีเฉลี่ย 5.8 ล้านไร่ และนาปรังเฉลี่ย 2.3 ล้านไร่ จะทำให้มีปริมาณใช้การรวม ร้อยละ 60 หรือ 10,917 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งทำให้เรารอดพ้นวิกฤติท่ามกลางภัยแล้งนี้ได้”


จากสถานการณ์ดังกล่าว การปรับตัวเพื่อเตรียมการรับมือภายใต้ความเสี่ยงของสถานการณ์น้ำท่วมน้ำแล้งโดยการใช้ข้อมูลน้ำคาดการณ์ สู่การขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงานปฏิบัติสู่ประชาชน ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ และการผลักดันภาคการเกษตรตามแนวทาง BCG Model เพื่อกระจายนโยบายให้เกิดการปฏิบัติจริงในระดับพื้นที่ รวมทั้งการสนับสนุนการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีเพื่อสร้างความตระหนักรู้และตื่นตัว นำไปสู่การเตรียมความพร้อมรับมือและการปรับตัวเพื่อระงับเหตุภาวะฉุกเฉินจากสถานการณ์น้ำในสภาพปัจจุบันและความผันผวนที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นต่อจากนี้

แนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงสุดขั้วเพื่อระงับเหตุภาวะฉุกเฉิน จากสถานการณ์ที่มีความผันผวนขั้นรุนแรงของสภาพอากาศ

  1. สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน 1 พ.ค. ถึง 25 มิ.ย.66
  • สถานการณ์เอลนีโญในปี 2566 ที่คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกในฤดูฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 35  ปัจจุบัน มีปริมาณฝนตกสะสมรวม 2 เดือนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (พ.ค. ถึง มิ.ย.) ปริมาณ 114 มม. ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 55 เป็นฝนที่ตกสะสมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน 119 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 2 เดือน อยู่ 52% และฝนที่ตกในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 74 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 2 เดือน อยู่ 70%
  • สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งตอนนี้ มีน้ำไหลเข้าอ่างสะสม ตั้งแต่ พ.ค. ถึง  มิ.ย. เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของน้ำ ไหลเข้าอ่างเดือน พ.ค ถึง มิ.ย. พบว่า เขื่อนภูมิพลน้อยกว่าปกติ 76% เขื่อนสิริกิติ์น้อยกว่าปกติ 66% เขื่อนแควน้อยฯ น้อยกว่าปกติ 84% เขื่อนป่าสักฯ 27 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปกติ 78%
  • แต่เนื่องจากปีที่ผ่านมา 2565 เป็นปีน้ำมาก จึงทำให้ปีนี้มีปริมาณน้ำสำรองในอ่างเก็บน้ำต้นฤดูแล้งอยู่ถึง 77% ของ น้ำใช้การรวม 4 เขื่อน และคงเหลือน้ำต้นทุนใช้การต้นฤดูฝนอยู่ 6,495 ล้าน ลบ.ม. หรือ 35% ทำให้ตอนนี้มีการเพาะปลูกในลุ่มน้ำ เจ้าพระยาไปแล้ว 5.75 ล้านไร่ หรือ 71% ของพื้นที่เพาะปลูกคาดการณ์โดยกรมชลประทาน (8.05 ล้านไร่)

2.สถานการณ์ล่วงหน้า 5 ปี

การคาดหมายของหน่วยงาน IRI จากอุณหภูมิผิวน้ำทะเล ซึ่งปัจจุบันพบว่าอยู่ในภาวะ เอลนีโญ ในเดือน ก.ค. ถึง ต.ค. 2566 แล้วจะเริ่มลดลง มีแนวโน้มกลับเข้าสู่ภาวะปกติในปีหน้า 2567

เพื่อแนวทางในการรับมือและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดภัยน้ำท่วมหรือภัยแล้งรุนแรง หรือสุดขั้ว Extreme event โดยการบริหารจัดการน้ำที่สามารถรับมือกับความผันผวนขั้นรุนแรง จึงได้มีการคาดการณ์น้ำในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยใช้ ดัชนีที่บ่งชี้สภาวะภูมิอากาศของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เทียบกับปริมาณฝนและรอบการเกิดที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ ปี 2547 เป็นต้นมา ตามห้วงการเกิด ของปีน้ำมาก น้ำปกติ และน้ำน้อย จึงสรุปการคาดการณ์ในปี 5 ปีข้างหน้าได้ว่า

ปี 2566

สถานการณ์ฝนของปี 2566 คาดการณ์เป็นปีน้ำน้อย มีฝนคาดการณ์เฉลี่ย 900 มม. ซึ่งฝนได้ตกสะสมไปแล้ว 2 เดือนแรกเพียง 13% เหลือปริมาณฝนที่จะตกในอีก 4 เดือนหลังของฤดูฝน 786 มม. และด้วยภาวการณ์เอลนีโญ คาดการณ์ว่าจะเกิดฝนทิ้งช่วง มิ.ย. ถึง ก.ค. ทำให้มีแนวโน้มว่าฝนจะตกในปริมาณที่เพิ่มขึ้นช่วงสิ้นฤดูฝน 2566

ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในปีนี้ ต้องเฝ้าระวังทั้งพื้นที่เกษตรกรรมขาดแคลนน้ำจากฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่เพาะปลูกรอฝน และไม่มีเหล่งน้ำต้นทุนสำรอง มีแนวโน้มที่ผลผลิตจะเสียหายในช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูก และในพื้นที่ลุ่มต่ำประสบน้ำท่วมเป็นประจำ หากเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกล่าช้า หากเก็บเกี่ยวไม่ทัน มีโอกาสจะเกิดน้ำท่วมในช่วงปลายฤดูฝน

ปี 2567

  • แนวโน้มสถานการณ์ฝนของปี 2567 จะกลับเข้าสู่ปีปกติ คาดการณ์ฝนไว้ปริมาณ 1,021 มม. (ใกล้เคียงปี 2561) แต่จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ จากการคาดการณ์ในปี 2567 ลดลงจากปีนี้ มีน้ำไหลเข้ารวม 10,446 ล้าน ลบ.ม.
  • ซึ่งตามแผนการบริหารจัดการน้ำ ถ้าฤดูฝน 2566 นี้ระบายไม่เกิน 5,250 ล้าน ลบ.ม. รวม 4 เขื่อน คาดว่าจะมีน้ำ ต้นทุนในอ่างฯ 1 พ.ย. 11,942 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 66% ของน้ำใช้การ ลดลงจากปี 2566 ไปอีก 10%

ปี 2568

  • แนวโน้มสถานการณ์ฝนของปี 2568 จะเป็นปีที่แล้งที่สุด ตั้งแต่ในอดีต 20 ปีที่เคยมีมา โดยคาดการณ์ว่าจะมีฝน ตก 833 มม. และมีน้ำไหลเข้าอ่างฯ เพียง 7,038 ล้าน ลบ.ม. (ใกล้เคียงกับ 2558)

ปี 2569

  • แนวโน้มสถานการณ์ฝนของปี 2569 จะกลับเข้าสู่ปีปกติอีกครั้ง มีฝนคาดการณ์ปริมาณ 961 มม. แต่ยังมีฝน น้อยกว่า 2567 และมีน้ำไหลเข้าอ่างฯ 11,007 ล้าน ลบ.ม.

ปี 2570

  • แนวโน้มสถานการณ์ฝนของปี 2570 จะเริ่มกลับเข้าสู่ปีปกติที่ค่อนข้างน้ำมาก มีฝนคาดการณ์ปริมาณ 1,078 มม. (ใกล้เคียงปี 2560) และมีน้ำไหลเข้าอ่างฯ 14,271 ล้าน ลบ.ม. ใกล้เคียงปี 2561

3. การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ

จากผลการคาดการณ(น้ำล่วงหน้า 5 ปี ที่เห็นว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มที่เกิดสถานการณ์ภัยแล้งต่อเนื่องและมีความ เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว จึงได้จำลองสถานการณ์เพื่อแนวทางในการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ดังนี้

การจำลองสถานการณ์ใช้น้ำตั้งต้น 15 มิ.ย. 2566 และใช้ผลคาดการณน้ำไหลเข้าอ่างฯ 5 ปีต่อเนื่อง มาวางแผนการ ระบายน้ำ และการคาดการณ์พื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อประเมินความเสี่ยงของน้ำต้นทุนใน อ่างฯ และการลดลงของพื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทาน

เทียบกับพื้นที่เพาะปลูกนาปี ในปีฐาน 2565 ที่มีการเพาะปลูกไป 8.65 ล้านไร่ และนาปรัง 2565/2566 ที่ปลูก 4.48 ล้านไร่ สรุปผลการจำลองได้ 4 สถานการณ์ ดังนี้

กรณี Worst Case ส่งน้ำเกษตรกรรม เต็มพื้นที่เพาะปลูก

  • ในฤดูฝนจะสามารถระบายน้ำอยู่ที่ 5,000 – 6,500 ล้าน ลบ.ม.
  • พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีจะเพาะปลูกได้เต็มพื้นที่ 8.65 ล้านไร่ ในปี 2566 นี้ พื้นที่นาปีจะคงปริมาณเฉลี่ยที่ 6.4 ล้านไร่ และต่ำสุด 5.4 ล้านไร่ ในฤดูนาปี 2568
  • แต่จะมีปริมาณน้ำกักเก็บใช้การ 4 เขื่อนในต้นฤดูฝนเฉลี่ย 30% และจะเหลือต่ำสุด 10% ในสิ้นฤดูแล้ง 2569/2570
  • ในฤดูแล้ง จะสามารถระบายน้ำอยู่ที่ 4,300 – 7,300 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังเต็มพื้นที่ 4.48 ล้านไร่ เฉลี่ย 3.1 ล้านไร่ และต่ำสุด 2.3 ล้านไร่ ในนาปรัง 2568/2569
  • แต่จะมีปริมาณน้ำกักเก็บใช้การ 4 เขื่อนในต้นฤดูแล้งเฉลี่ย 56% และต่ำสุดในปี 2568 32%

กรณี Best Case ส่งน้ำเกษตรกรรม เพื่อรักษาปริมาณน้ำใช้การรวม 4 เขื่อน 60% ในปี 2568

  • ในฤดูฝนจะสามารถระบายน้ำอยู่ที่ 4,000-5,200 ล้าน ลบ.ม.  
  • พื้นที่เพาะปลูกนาปีจะเพาะปลูกได้เฉลี่ย 5.8 ล้านไร่ โดยจะลดลง ในปี 2567 และ 2568 ก่อนจะเริ่มเพิ่มขึ้นและกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ ในปี 2570 ซึ่งในฤดูฝน 68 ที่เป็นปีภัยแล้งหนักสุด และจะมีพื้นที่เพาะปลูก
    นาปีต่ำสุด 4.7 ล้านไร่ หรือลดลงไป 45% เมื่อเทียบกับปี 2565
  • ในฤดูแล้ง จะสามารถระบายน้ำอยู่ที่ 3,900-6,000 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เพาะปลูกนาปรัง จะสามารถเพาะปลูกได้เฉลี่ย 2.3 ล้านไร่ สูงสุด 3.1 ล้านไร่ ในนาปรัง 2566/2567 และต่ำสุด 1.99 ล้านไร่ ในนาปรัง 2567/2568

ทางรอดให้พ้นวิกฤตสู่การจัดการเชิงนโยบาย

1. พัฒนาระบบคาดการณ์น้ำเพื่อเชื่อมโยงทุกมิติในด้านการป้องกันภัยพิบัติ การรักษาสิ่งแวดล้อม การอุปโภคบริโภค ด้านการผลิตทางเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม 

2. พัฒนา Platform เขื่อมโยงข้อมูล Real-time และการคาดการณ์ สู่ระบบการตัดสินใจวางนโยบาย และบริหารจัดการน้ำ  ร่วมกับระบบปฏิบัติการน้ำ และระบบเครือข่ายการใช้น้ำอย่างสมดุลใหม่ New Balance สอดรับภาคการพัฒนาผลผลิต

3. ปรับเปลี่ยนแผนยุทธศาสตร์น้ำ ด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มุ่งผลสัมฤทธิ์ให้ทำได้จริงและทันต่อสถานการณ์น้ำที่มีความผันผวน

4. จัดตั้งศูนย์พัฒนาความมั่นคงทางน้ำภาคกลางเพื่อเป็นต้นแบบความสำเร็จสู่ภูมิภาคอื่น

5. จัดตั้งกองทุนเพื่อการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและบริหารการใช้งบประมาณให้บรรลุเป้าหมาย

จังหวัดตัวอย่างที่ใช้ผลการคาดการณ์ล่วงหน้าก่อนนำไปสู่การบริหารจัดการ

เมื่อปี 2565 ถือว่าเป็นปีที่หลายจังหวัดในลุ่มน้ำภาคกลางเผชิญกับอุทกภัยใกล้เคียงกับ ปี 2554 แต่ขณะนั้นทางจังหวัดนครสวรรค์ได้ ใช้ผลการคาดการณ์จากศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พบว่าสามารถลดปัญหาน้ำท่วมไปได้มาก ขณะที่ปีนี้เมื่อเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ จึงปรับตัววางแผนเพื่อรับสถานการณ์เพื่อลดความเสียหายล่วงหน้าแล้ว

ชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์

ชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า หลังมีการชี้เป้าและเห็นถึงสถานการณ์น้ำปีนี้ ทางจังหวัดนครสวรรค์ ได้วางแผนและใช้ข้อมูลจากการคาดการณ์ พร้อมทั้งส่งต่อข้อมูล ไปยังเกษตรกร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้มีการสำรวจพื้นที่เกษตรพื้นที่ไดขาดน้ำแล้ว และมีการการประชุมแผนแก้ไขปัญหาฝนทิ้งช่วง และจะจัดตั้งศูฯย์ช่วยเหลือประชาชน รวบรวมเครื่องสูบน้ำและหน่วยงานต่าง ๆ สำรวจแหล่งน้ำหาน้ำมาช่วยเกษตร ซึ่งเชื่อว่าถ้าผ่านพ้นช่วงกรกฎาคม เข้าสิงหาคม สถานการณ์น่าจะดีขึ้น

“เนื่องจากผลคาดการณ์ล่วงหน้าทำให้ปีนี้ฝนจะลด 15-20 % แล้วในพื้นที่ แต่เราก็ถือเป็นโอกาสทอง จึงวางแผนเก็บน้ำไว้ และได้ทำการหน่วงน้ำไว้ อย่างโครงการสี่แควโมเดล เดิมคิดว่าเป็นโครงการหน่วงน้ำช่วยอุทกภัย ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา แต่พอรู้ว่าปีนี้เป็นเอลนีโญ เราก็วางแผน ทำขุดลอก จัดทำแก้มลิงทำคนกั้นน้ำเราจะเก็บน้ำในพื้นที่พอสมควร นอกจากนี้ยังมีการเร่งรัดแผนแหล่งน้ำในปีงบประมาณ 2567 เช่นของกรมชลประทานขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ท้องถิ่น ปภ. เราก็สำรวจ น้ำหลากเราก็สูบเก็บเข้า เราขุดลอกรอไว้ ในนอกเขตชลประทาน ในปี 2567”

ขณะนี้จังหวัดนครสวรรค์ ก็กำลังจะผลักดันเรื่องอ้อยให้เป็นผลิตภันฑ์ที่มีรายได้สูง เราลงทุน 5 หมื่นล้าน เพื่อทำอ้อยให้เป็นผลิตภัณฑ์ ราคาสูงเช่น ไบโอพลาสติก (Biodegradable Plastic) เรามีแผนจะเพิ่มอ้อย เดิมมี 5 ล้านตัน ภายใน 5 ปีต้องเพิ่ม 10 ล้านตัน การเพิ่มอ้อยต้องมากขึ้น เราก็กังวลน้ำจะลดลง จึงพยายามหากลไก ทุกด้าน ทั้งการน้ำใต้ดิน บ่อจิ๋ว บ่อ ระบบน้ำหยดรวมใช้เทคโนโลยีเพื่อการประหยัดน้ำ  

ทางจังหวัดนครสวรรค์จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาฐานชีวภาพตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ พศ. 2561 เร่งเรื่องการใช้เทคโนโลยี เช่น ระบบน้ำหยดประหยัดน้ำ โดย 1 ไร่ ลงทุน 5 พันบาท รวมถึงพยายามทำความเข้าใจเกษตรกรและส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เลือกใช้เทคโนโลยี และมีหลายประเทศเป็นต้นแบบ เช่น เนเธอร์แลนด์ ประเทศอิสราเอล ใช้ทักษะจากงานวิจัย และ และขยับปรับตัว ให้รอดจากวิกฤต

ข้อกังวลกับการบริหารจัดการ

ช่วงนี้ถือเป็นรอยต่อของการเข้าสู่ปี งบประมาณปี 2567 ก็ยังไม่มีสภาฯ การใช้งบประมาณที่เป็นเรื่องข้อนข้างยาก แต่เชื่อว่าในส่วนเงินในระบบก็พอมีก็งบประมาณเชิงป้องกัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยซึ่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการใช้ 10 ล้านบาท อาจไม่เยอะ แต่ในการทำแผนทั้งฝนทิ้งช่วง อุทกภัย หรือภัยแล้ง  ก็จะมีระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการใช้งบประมาณเชิงป้องกันคือภัยยังไม่เกิดแต่คิดว่าภัยจะเกิดจะมีเงิน ประมาณ 10 ล้าน ถ้าให้ทางจังหวัดจัดทำแผนโดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันคิดหาทางออก ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. ก็มีงบ อยู่รวมทั้งทหาร ก็มีเครื่องจักรกล ก็อาจบูรณาการเรื่องท้องถิ่นค่าน้ำมัน ถ้าร่วมแรงรวมใจกันก็น่าจะพ้นวิกฤตได้ แต่อย่างน้อย ผลการคาดการณ์เชิงวิชาการถือว่ามีความสำคัญกับการเตรียมพร้อมมาก

“ขณะที่ก่อนหน้านี้ ผลการคากากรณ์ศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ก็ชี้ว่า จังหวัดนครสวรรค์ ปี 2568 อำเภอบรรพตพิสัยจะเป็นอำเภอเดียวที่จะวิกฤตด้านน้ำขาดแคลนที่สุด นั้นหมายความว่า ฝนในปี นี้ 2566 จะน้อยกว่า ปี 2565 ถึง 35% ส่วนปี 2567 ก็เช่นกัน ส่วนปี 2568 ฝนจะน้อยกว่าปีที่แล้ว 50 % นั้นแสดงว่าใน 3 ปีนี้อำเภอบรรพตพิสัย ฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 35-50 % ดังนั้นทำนาปรัง ในอำเภอบรรพตพิสัย เป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งเกษตรกรก็ต้องเตรียมตัว เตรียมพร้อมรื่องนี้ โดยขณะนี้บัญชาการและก็เตรียมการเรื่องนี้แล้ว เพื่อช่วยชาวอำเภอบรรพตพิสัย ปรับเปลี่ยนจากการทำนาปรัง ไปปลูกพืชอย่างอื่น เช่นข้าวโพด ปศุสัตว์ หรือแปรปรูปอาหาร เพื่อให้เกษตรมีอาชีพและรายได้มีเท่าเดิมเหมือนที่เคยทำนาใช้น้ำมาก”

การบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง

ทองเปลว กองจันทร์ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทองเปลว กองจันทร์ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การบริหารนโยบายสู่การปฎิบัติขั้นสุดเพื่อการบรรลุเป้าหมาย เพื่อพลิกโฉมประเทศ ไปสู่สังคมก้าวหน้า เศษฐกิจ สร้างมูลค่า อย่างยั่งยืน ต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ก้าวทันพลวัตโลก ซึ่งคนไทยก็ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ขณะที่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืน

“การเปลี่ยงแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ไม่ใหม่แล้ว เพราะที่ผ่านมา จากสถานการณ์ 10 ปีย้อนหลังมีแต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เป็น บางครั้งเป็น นิว นอร์มอล” (New Normal ) หรือเป็นค่าปกติคนเคยชิน ฝนตกเพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ย แม้ขณะนี้ฝนจะทิ้งช่วง ตกไม่กระจาย แต่กลายเป็นจะตกแบบกระจุกตัวแทน”

3 ปีที่ผ่านมา โรคระบาดมาไว สิ่งที่เปลี่ยนไปคือจะรีรอไม่ได้สังคม สิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจมีความเกี่ยวเนื่องกันหมด ยกตัวอย่างสงครามที่ต่างประเทศเกิดขึ้นก็มีผลกับไทย 1-2 ปีที่ผ่านมา ปุ๋ยราคาแพง ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ย 5.5 ล้านตันต่อปี ตลาดที่เราสั่งมีปัญหา ก็ต้องมาปรับตัวกันค่อนข้างมาก ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมันไม่ได้มีมิติเดียว เพราะจะมี “Mega trend” เมกะเทรนด์ ที่เป็นรูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อวิธีการใช้ชีวิตในประจำวันและการทำงานของเรา 

  1. ต่อไปในสังคมเมืองคนจะอยู่ในเมืองมากขึ้น ทั้งการเป็น กรีนซิตี้ สมาร์ทซิตี้ (Smart City) กำลังเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในปัจจุบัน ชุมชนเมืองต้องเป็นแหล่งอาหารด้วย กังนั้นการบริหารจัดการต้องมีทิศทางด้วย
  2. ต่อจากนี้ กระแสของ เฮลตี้ เรื่องสุขภาพ จะเริ่มเข้ามา ทั้งคนสูงวัย คนทั่วไปจะใส่ใจรักษาสุขภาพมากขึ้น การบริโภคมันก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง
  3. พลังงานทางเลือกจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ พลังงานลมและแหล่งอื่น ๆ เพราะมันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การก้าวไปสู่ทิศทางการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศเป็นประเด็นที่เร่งด่วนในยุคของเรา ทั้งรัฐบาล เมือง และบริษัทต่าง ๆ ต่างตั้งเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) อนาคต จะเห้นรถไฟฟ้า การติดตั้งโซล่าเซลล์ นอกจากนี้ยังมีการใช้ไอทีในการบริหารจัดการน้ำด้วย

การก้าวกระโดดอย่างมั่นคงที่จะพลิกโฉมประเทศไทยไปสู่สังคมก้าวหน้าเศษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน

1.งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ในการตอบโจทย์แก้ปัญหาสังคมทั้งปัจจุบันและอนาคต เช่นเรื่องเพาะพันธุ์ข้าว ที่ต้องพัฒนา ให้พันธุ์ข้าวทนแล้ง ทนทาน ซึ่งงานวิจัยจะเป็นประโยชน์อย่างสูงที่ไทยต้องสนับสนุนด้านนี้

2.การสร้างเครือข่ายบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ราชการ ประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องทั่วถึงทั้งระดับ ตำบล อำเภอ จังหวัด มีความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมและเข้าถึงการแก้ปัญหาได้ตรงจุด

3. ต้องพัฒนาให้ทันกับการเปลี่ยนแหลง ยกตัวอย่าง เกษตรกรไทย มีกว่า 10 ล้านครัวเรือน หรือมี ประมาณ 35 ล้านคน ส่วนใหญ่อายุมาก 60 ปีก็เยอะ แต่การยกระดับเรื่องนี้ต้องร่วมกันต่อยอด และพยายามเพิ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Smart Farmer คือเกษตรกรที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัล นวัตกรรม รวมถึงข้อมูล หรือแนวคิดทางธุรกิจแบบใหม่ เพื่อผลักดันประสิทธิภาพการ

4.เรื่องแผนงานต้องเกิดความยั่งยืน แผนงานที่ดีควรมีพื้นที่เล็กๆ เป็นต้นแบบและจัดการตรงเป้าหมายพื้นที่ ไม่ใช่ ใช้การบริหารจัดการแผนงานภาพใหญ่ทั้งประเทศ เพระแต่ละพื้นที่มีบริบทต่างกัน ไม่ใช้ตัดเสื้อสำเร็จรูปแล้วใช้ทั้งประเทศ เพราะหากจะพลิกโฉมไปสู่ความยั่งยืนต้องเข้าใจบริบทอย่างแท้จริง

ภัยน้ำประเทศไทยมีอะไรบ้าง

ภัยจากน้ำประเทศไทย มาจากน้ำท่วม น้ำขาดแคลน และน้ำเสีย ขณะที่การเชื่อมโยงของนโยบายภาครัฐ ต้องบริหารจัดการให้ครบทุกด้าน ทั้งความมั่นคง สังคม เศษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ ซึ่งต้องมองถึงความมั่นคง และความยั่งยืน

มาตรการเตรียมการรับมือปัญหาเรื่องน้ำ

กำหนดพื้นที่ วิเคราะห์ความเสี่ยงน้ำท่วมซ่ำซากพื้นที่เกษตรเสี่ยงท่วม

  • ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่าง
  • ปริมาณน้ำในลำน้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ
  • พื้นที่เกษตรกรรม ชุมชนเสี่ยงเกิดอุทกภัย

กำหนดคน กำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆที่จะได้รับผลกระทย รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่

  • ติดตามสถานการณ์น้ำ
  • วิเคราะห์คาดการณ์น้ำในลำน้ำ

กำหนดทรัพยากร เช่นเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกล รถขุด รถแทร็คเตอร์ หรือเครื่องมอต่าง ๆ

ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ให้เพียงพอ โดยเฉพาะจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วม ขอให้เตรียมพร้อมใช้งานตลอดเวลา ตามแผนที่วางไว้ และสำรองไว้ที่ส่วนกลาง

การปฎิบัติในการจัดการน้ำ

  1. คาดการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ
  2. เตรียมตรวจสอบความเสียหายชดเชย
  3. สนับสนุนฟื้นฟูพื้นที่ ชุมชน โครงสร้างพื้นฐาน
  4. จัดทำแผนเตรียมการในแต่ละระยะ
  5. ดำเนินการ

สำหรับการจัดการน้ำเพื่อความเป็นธรรม

การศึกษาและวางโครงการ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อกำหนดรูปแบบโครงการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการ

การพัฒนาแหล่งน้ำ จะดำเนินไปภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน

การจัดสรรน้ำ ให้กับทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรมตามความต้องการ โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดสรรน้ำร่วมกันอย่างชัดเจน เป็นระบบ จัดตั้ง คณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ทำหน้าที่กำหนดและวางแผนจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นธรรม

การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน

การบริหารจัดการน้ำทุกภาคส่วน รู้คุณค่าของน้ำ ใช้น้ำอย่างพอประมาณมีเหตุผล เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างทัี่วถึง เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีความสนดุลทั้งปริมาณและคุณภาพ ควบคู่กับการอนุรักษ์ปละฟื้นฟูให้มีความยั่งยืน

การบริหารจัดการเพื่อความมั่นคง

พัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพของลุ่มน้ำ จำเป็นต้องเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนและวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือการสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นให้พอเพียงรวมทั้งการปรับปรุง ซ่อมแซม บำรุงรักษาเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ หรือพื้นที่ชลประทานให้สามารถเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นหรือลดการสูญเสียน้ำในระบบ

แต่อย่างน้อย ๆ การรู้ข้อมูลล่วงหน้าจากผลการคาดการณ์ จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการน้ำอย่างมาก เพราะเมื่อนโยบายถูกออกแบบเพื่อเตรียมพร้อม ก็จะสามารถ ปรับตัว รับมือ กับความเปลี่ยนแปลงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม และยังลดการสูญเสียและเสียหายมากกว่าไม่ได้เตรียมพร้อม

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์