ปัญหาการศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย กลายประเด็นร้อนให้ถกเถียงในหลายมิติ ก่อนหน้านี้ไม่นาน ศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะบางกุ้ง จ.สุราษฎร์ธานี ต้องปิดตัวลงตามคำสั่งของศึกษาธิการจังหวัด เนื่องจากยังไม่ได้รับการรับรองเป็นศูนย์การเรียนอย่างถูกต้อง ประกอบกับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการร้องเพลงชาติเมียนมาภายในศูนย์ฯ
ผลกระทบจากคำสั่งนี้ ทำให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติกว่า 2,000 คนใน จ.สุราษฎร์ธานี ถูกลอยแพ สะเทือนถึงเด็กอีกกว่า 20,000 คน ที่เคลื่อนย้ายจากเมียนมา และกระจายตัวอยู่ในศูนย์ประสานงานการศึกษาเช่นนี้กว่า 60 แห่ง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการ ก็ออกมายืนยันว่า เด็กทุกคนไม่ว่าใครในเขตรัฐไทยต้องได้รับการศึกษา ตามหลัก Education for All หรือ หลักการศึกษาเพื่อปวงชน รวมถึงปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการจัดการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียน ซึ่งยืนยันว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานต้องเป็นข้อบังคับและต้องจัดให้ฟรีสำหรับทุกคน
ประเทศไทยมีนโยบายเพื่อดูแลคนกลุ่มนี้มาตั้งแต่ปี 2533 และการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้สำหรับลูกหลานแรงงานข้ามชาติก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ การปล่อยเด็กทิ้งไว้โดยไม่มอบการศึกษาให้ ไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ยังเป็นการเพิกเฉยระเบิดเวลาของปัญหาอาชญากรรม, ปัญหาสาธารณสุข และ ปัญหาแรงงาน รวมถึงเป็นช่องโหว่ของเจ้าหน้าที่รัฐในการเรียกเก็บส่วยเพื่อเป็น ค่าคุ้มครองกลุ่มแรงงานและลูกหลานไม่ให้เผชิญการผลักกลับประเทศต้นทางอีกด้วย
พรมแดนไทยติดกับเมียนมา กว่า 2,400 กิโลเมตร ติดกับ สปป.ลาว อีก 1,800 กิโลเมตร และกัมพูชา อีก 800 กิโลเมตร พรมแดนเหล่านี้มีไว้เพื่อย้ำว่า เราไม่ได้อยู่ในโลกนี้เพียงลำพัง เหตุความไม่สงบ และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศเพื่อนบ้าน บีบให้ครอบครัวแรงงานต้องเคลื่อนย้ายมาหาโอกาสใหม่ในประเทศไทย
นี่เป็นโจทย์สำคัญที่รัฐไทยต้องรับมือ โดยเฉพาะการศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติ จะเชื่อกันว่าจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงของปัญหาข้างต้น ที่หลายคนกังวล
เพื่อทำความเข้าใจเหตุผลของการศึกษาเพื่อทุกคนที่อยู่ในเขตแดนไทย The Active ชวนลงพื้นที่ โรงเรียนยานุสคอร์ซัคแห่งเอเชียอาคเนย์ เขตคลองเตย พื้นที่ให้การศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติใจกลางกรุงเทพมหานคร พร้อมร่วมกันสำรวจสถานการณ์ปัญหาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติ พูดคุยกับชุมชน โรงเรียน และกลไกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในสภาฯ ถึงโจทย์ที่รัฐไทยต้องแก้ปัญหา ที่ไม่ใช่แค่การแก้ไขระบบการขึ้นทะเบียนคนเข้าเมืองให้โปร่งใส แต่ต้องสร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นร่วมด้วย
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของคนชาติใดชาติหนึ่ง แต่เป็นโอกาสของเด็กที่จะได้รับการศึกษาและเป็นโอกาสพัฒนาประเทศไทยด้วยเช่นกัน
‘การศึกษา’ ลดความเป็นอื่น บนพื้นฐาน ‘สิทธิมนุษยชน’
ข้อมูลของกรมการจัดหางานปี 2565 ชี้ว่า ประเทศไทยมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับอนุญาตมากถึง 2.7 ล้านคน เป็นแรงงานจากกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ถึง 2.4 ล้านคน (ร้อยละ 90) ส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะต่ำ โดยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ไทยพึ่งพาแรงงานเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก หากไทยขาดแรงงานกลุ่มนี้ไป จะทำให้อุปทานแรงงานขาดแคลน และต้องแบกรับต้นทุนค่าจ้างแรงงานมากกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือ GDP ได้
ประไพ สานุสันต์ เจ้าหน้าที่ประสานงานชุมชนและสิทธิจากมูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล (ศูนย์เมอร์ซี่ คลองเตย) สะท้อนว่า แรงงานในตลาดคลองเตยกว่า 70% เป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาหาโอกาสเริ่มชีวิตใหม่ในประเทศไทย อันเนื่องจากเหตุไม่สงบจากประเทศต้นทาง โดยบางส่วนของแรงงานเหล่านี้มีลูกหลานที่ติดตามเข้ามาด้วย ซึ่งหลายคนยังไม่ได้รับการศึกษา ส่วนหนึ่งมีปัญหาทางด้านกฎหมาย และอีกส่วนหนึ่งไม่อยากปล่อยให้ลูกหลานออกสู่สังคม
เด็กเหล่านี้ไม่ได้เพียงแค่ขาดโอกาสทางการศึกษา แต่ยังประสบกับปัญหาด้านสุขภาพกายและจิตใจ เพราะต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมคับแคบในห้องเช่า เมื่อพ่อแม่ออกไปทำงาน เด็กบางคนต้องอยู่แต่ในบ้านเพราะความกลัวที่จะถูกจับกุมจากการเข้าประเทศผิดกฎหมาย แต่การไม่ได้รับการศึกษาทำให้พวกเขาขาดการพัฒนาทักษะการเข้าสังคม และปฏิสัมพันธ์กับเด็กในวัยเดียวกัน
“ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ศูนย์เมอร์ซี่เองก็มองเรื่องเด็กเป็นเรื่องสำคัญ จะเด็กเมียนมา เด็กกัมพูชา ไม่ว่าชาติไหน เด็กต่างชาติพอได้เรียนหนังสือ มันจะได้ประโยชน์กับเขาและสังคมเรา“
ประไพ สานุสันต์
เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือในการปลูกฝังความคิด และการวิเคราะห์ผิดชอบชั่วดี ทำให้เด็กเข้าใจว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และคำนึงถึงประโยชน์รอบข้าง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาอาชญากรรมในสังคมได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ประไพ มองว่า การจะพาเด็กเหล่านี้เข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับยังเป็นความท้าทาย เนื่องจากความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม เด็กไม่น้อยเมื่อเข้าระบบไปแล้วกลับถูกกลั่นแกล้ง หรือบางคนมีรูปร่างโตเกินวัยเรียน ทำให้พวกเขาปฏิเสธการศึกษาและขาดเรียนไป
การศึกษาที่ยืดหยุ่นเป็นเหตุผลที่จะช่วยให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ มีทักษะในการทำงาน และสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดีขึ้นโรงเรียนยานุสคอร์ซัคแห่งเอเชียอาคเนย์ ร่วมกับ ศูนย์เมอร์ซี่ จึงเริ่มมีบทบาทรับดูแลลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ให้พวกเขาได้มีพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน มากกว่าถูกปล่อยปละละเลยอยู่ตามซอกหลืบของชุมชน
“ถ้าเราสอนเขาพูดภาษาไทยได้บ้าง เราก็น่าจะเข้าใจกันและกันได้มากขึ้น”
อย่างน้อยที่คือเสียงสะท้อนที่บ่งบอกว่า ดาว นักเรียนสัญชาติกัมพูชา โรงเรียนยานุสฯ ให้ความสำคัญกับการศึกษามากแค่ไหน เธอต้องโยกย้ายตามพ่อแม่จากบ้านเกิดมาทำงานที่ไทย เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซามาตั้งแต่ช่วงแพร่ระบาดโรคโควิด-19
ดาว เคยเข้าเรียนในระบบอยู่ช่วงหนึ่ง แต่กลับถูกเพื่อนร่วมชั้นกลั่นแกล้งล้อเลียน ซึ่งเธอก็ไม่กล้าตอบโต้อะไร เพราะเข้าใจว่านี่ไม่ใช่บ้านเกิดของเธอ คิดเสียว่ามาอาศัยเขาอยู่ ปัจจุบันเธอย้ายมาเรียนโรงเรียนยานุสฯ สามารถพูดได้ 3 ภาษา ทั้งภาษาเขมร ไทย และอังกฤษ และเริ่มพูดภาษาเมียนมาได้บ้างเนื่องจากมีเพื่อนจากเมียนมาร่วมชั้นด้วย
เธอมีความฝันอยากเป็นช่างทำเล็บ อยากพูดให้ได้เก่ง ๆ แล้วทำเป็นธุรกิจออนไลน์ร่วมด้วย เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชั้นของเธอที่ต่างมีความฝันเล็ก ๆ บ้างอยากเป็นนักกีฬา เล่นวอลเลย์บอล แต่อีกไม่กี่ปีเธอก็ต้องเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด จึงตั้งใจว่าจะพยายามเรียนให้ได้เยอะ ๆ ก่อนจะทิ้งท้ายให้กำลังใจเพื่อน ๆ และขอบคุณคุณครูที่ให้ความรู้มาเสมอ
เป็นคำพูดที่ ครูซะ – สุกัลยา บัวด้วง ครูโรงเรียนยานุสคอร์ซัคแห่งเอเชียอาคเนย์ ยืนยันถึงความตั้งใจ และความจำเป็นของการศึกษาลุกหลานแรงงานข้ามชาติ เธอเล่าว่า เดิมทีโรงเรียนมุ่งเน้นรับนักเรียนที่เป็นลูกหลานแรงงานไทยในชุมชน แต่ภายหลังเริ่มมีจำนวนครอบครัวแรงงานข้ามชาติเพิ่มมากขึ้น จึงเริ่มรับเด็กข้ามชาติมาเรียนด้วย แต่พวกเขาไม่สามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่อง เมื่ออายุ 15 – 16 ปี ก็ต้องเดินทางต่อ เป็นอีกเหตุผลว่าทำไมการศึกษาในระบบที่ต้องอาศัยความต่อเนื่องของชั้นเรียนจึงไม่สามารถตอบโจทย์ได้
ในฐานะครูที่ให้ความรู้เด็กข้ามชาติมาหลายปี เธอไม่หวังอะไรมากไปกว่าการให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนหนังสือ ได้มีเพื่อน ๆ ได้วิ่งเล่นอย่างปลอดภัย โดยไม่จำกัดเชื้อชาติหรือศาสนา ที่นี่มุ่งเน้นการสร้างสัมพันธภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในชุมชน สอนภาษาไทย การสื่อสาร และวัฒนธรรมไทย รวมถึงทักษะชีวิต เช่น การทำอาหาร และงานบ้าน เชื่อว่าการที่เด็กมีภาษาติดตัวบ้าง อย่างน้อยพวกเขาจะสามารถบอกถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ และน่าจะทำให้ใครหลายคนในสังคมเข้าใจพวกเขามากขึ้น
“ในเมื่อเขามาอยู่ประเทศไทย เขาก็อยากเขียนภาษาไทยได้ สื่อสารกันให้รู้ว่าเขาต้องการอะไร มีความต้องการอะไร อย่างนี้ครูว่ามันดีกว่า เมื่อเราเข้าใจกันมากขึ้น มันก็จะลดความแตกต่างและการขัดแย้งในการอยู่ร่วมกัน”
สุกัลยา บัวด้วง
นอกจากนี้ การมาโรงเรียนช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ในสังคม ลดความเสี่ยงจากการถูกล่อลวงหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ความรุนแรง และอาชญากรรมทางเพศ โรงเรียนยังทำให้เด็กยังได้เรียนรู้ทักษะอาชีพควบคู่ไปกับภาษาไทยและภาษาของพวกเขา ซึ่งช่วยให้พวกเขามีทางเลือกในอนาคตหากต้องกลับประเทศ
พื้นที่การศึกษาสำหรับเด็กทุกคนอย่างโรงเรียนยานุสฯ จึงไม่ได้มีบทบาทแค่ให้การศึกษาแก่เยาวชน แต่ยังมีบทบาทในการเป็นพื้นที่เพื่อลดความเป็นอื่น ลดความขัดแย้งในชุมชน ชาวบ้านในชุมชนและเด็ก ๆ สามารถทักทายและมีสัมพันธไมตรีต่อกันได้ โดยไม่แบ่งแยกว่าเด็กคนนั้นจะมีสัญชาติใด การได้ใช้ชีวิตร่วมกันจะทำให้พวกเขาอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เหมือนกับการย่อโลกทั้งใบให้อยู่ในชุมชนเดียว
“ถึงเค้าจะเป็น เขมร เมียนมา หรืออะไรก็แล้วแต่ อย่างน้อยสัมพันธภาพกลุ่มเล็ก ๆ ในชุมชนอย่างอย่างนี้เขาก็ไม่ทะเลาะกัน ไม่ตีกัน มีอะไรก็แบ่งปันกัน ถึงเวลาเขาเจอกันข้างนอกเขาก็ยังมาพาโวยเป็นเพื่อนฝูงกัน มันเป็นจุดเล็ก ๆ ของการอยู่ร่วมกัน”
สุกัลยา บัวด้วง
ส่องอคติแรงงานข้ามชาติ:
เปลืองภาษี-แย่งที่งาน-ปล่อยไว้ไทยจะถูกยึดครอง ?
ผลสำรวจของ ILO และ UN Women เมื่อปี 2562 พบความเห็นของคนไทยราว 40% เชื่อว่า แรงงานข้ามชาติทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ และอีกกว่า 58% มองว่าเป็นภัยคุกคามประเทศ ขณะที่ 52% เชื่อว่าแรงงานข้ามชาติไม่ควรได้รับค่าแรง สิทธิ สวัสดิการที่เท่าเทียมกับคนในประเทศ สอดคล้องกับกระแสสังคมส่วนใหญ่ที่เป็นกังวลต่อกรณีการเปิดศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติในไทย
ปารมี ไวจงเจริญ สส.พรรคประชาชน และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการลงรหัส G กล่าวถึงประเด็นที่สังคมกังวลเกี่ยวกับการใช้ภาษี หลายคนตั้งคำถามว่าการให้การศึกษากับเด็กกลุ่มนี้จะคุ้มค่าหรือไม่ และคนไทยจะได้ประโยชน์อะไรกลับมา ซึ่ง ปารมี ย้ำว่า สิทธิในการศึกษา เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งครอบคลุมถึงเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศ โดยไม่คำนึงถึงสถานะทางกฎหมายของพวกเขา
นอกจากนี้ ปารมี ยังเผยแนวโน้มจำนวนแรงงานข้ามชาติที่มีเพิ่มมากขึ้นตามการไหลเวียนของแรงงานข้ามชาติในไทย เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องก็มีมากถึง 2.7 ล้านคน เหล่านี้เป็นแรงงานฐานรากที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง เกษตร และบริการ สอดคล้องกับข้อมูลของ OECD และ ILO ในปี 2561 ที่ชี้ว่าพบว่า สัดส่วน GDP ของไทยนั้นมาจากแรงงานข้ามชาติ ถึง 4.3 – 6.6%
“แม้เราจะไม่พูดเรื่องสิทธิเด็กเลย แต่ในแง่เศรษฐกิจประเทศไทยยังคงต้องการแรงงานเหล่านี้ ประกอบกับอัตราการเกิดเราลดต่ำลงทุกปี ฉะนั้น ถ้าลูกหลานเขาเกิดในแผ่นดินไทย รวมถึงพ่อแม่เขาด้วย ถ้าเราให้การศึกษาให้การอบรม ประโยชน์ย่อมตกกับประเทศเรา แม้ว่าเขาจะเป็นแรงงานฐานราก แต่ถ้าเขามีการศึกษาที่ดี เขาย่อมสร้างเนื้องานที่ดีขึ้นให้กับนายจ้าง ส่วนประโยชน์ทางอ้อมคือการกล่อมเกลาให้เขาอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปลอดภัย”
ปารมี ไวจงเจริญ
อย่างไรก็ตาม เรื่องการจัดเก็บรายได้จากแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องที่ออกแบบกันต่อได้ เพราะพวกเขามาอาศัยในประเทศ แน่นอนต้องเสียภาษีทางอ้อม คือ VAT และถ้าเขาขึ้นทะเบียนแรงงานกับกระทรวงแรงงานก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมด้วยอยู่แล้ว ซึ่งเราสามารถออกแบบให้จัดเก็บเพิ่มเติมได้ในรายละเอียด เพื่อนำค่าธรรมเนียมเหล่านั้นมาบริหารรัฐ กลับไปเป็นประโยชน์กับประเทศเราเอง
“จริง ๆ มันมีอีกปัญหาที่น่ากังวล คือ กระบวนการหาประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ ในไทยเรารู้กันอยู่แล้วเรื่องนี้ การเข้ามาของแรงงานข้ามชาติถูกลักลอบนำเข้าโดยเจ้าหน้าที่รัฐบางราย โดยอาศัยการเรียกส่วยเพื่อแลกกับการคุ้มครอง เราเปลี่ยนส่วยใต้ดินขึ้นมา ให้เขาเสียค่าธรรมเนียมให้กับรัฐอย่างนี้ดีกว่า”
ปารมี ไวจงเจริญ
อีกหนึ่งข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องแรงงานเพื่อนบ้านทะลักเข้าไทย ปารมี มองว่า คือกลไกทางกฎหมายของไทยยังกำหนดไว้อย่างหนาแน่น แน่นอนมีกรณีการลักลอบเข้ามาบางส่วนและไม่ได้ขึ้นทะเบียน นี่จึงเป็นโอกาสดีที่จะเร่งกวดขันนำมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง จะได้ทราบจำนวนแน่ชัด และติดตามควบคุมการเดินทางของแรงงานเหล่านี้ได้
หลายโรงเรียนตามจังหวัดติดชายแดนมีสัดส่วนนักเรียนลูกหลานแรงงานข้ามชาติค่อนข้างมาก โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่พบวิกฤตเด็กขาดแคลน ลูกหลานแรงงานข้ามชาติจึงช่วยเข้ามาเติมเต็มโรงเรียน ให้ได้งบฯ อุดหนุนรายหัวมากพอ ปารมี จึงย้ำว่า พวกเขาไม่มาแย่งทรัพยากรหรือแย่งที่นั่งในโรงเรียนแน่นอน เพราะจำนวนเด็กไทยลดลงค่อนข้างมาก อีกไม่กี่ปี โรงเรียนขนาดเล็กจะยิ่งวิกฤตหนักขึ้นไปอีก
ถึงเวลา ‘กรมส่งเสริมการเรียนรู้’ ออกโรง
ปลดล็อก ‘ศูนย์การเรียนรู้ประจำตำบล’ ให้คนทุกชาติเข้าเรียนได้
ศูนย์การเรียนรู้มิตตาเย๊ะ ที่ประสบปัญหาจดทะเบียนไม่ได้ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และปัญหานี้ไม่ใช่เพียงศูนย์แห่งนี้เท่านั้น ยังมี Home school และศูนย์การเรียนรู้อื่น ๆ ที่พบปัญหาเช่นกัน เพราะเจตนาของมาตรา 12 คือต้องการให้สิทธิในการจัดการศึกษาโดยไม่ยึดกรอบของหลักสูตรแกนกลาง เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ให้กับเยาวชนหรือครอบครัวที่มีเงื่อนไข แต่ที่ผ่านมาพบว่า ศึกษาธิการจังหวัดกลับเข้าไปตีกรอบแนวทางการเรียนรู้ของบรรดา Home School และศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ ทำให้หลายคนไม่ได้รับอนุญาตจดทะเบียน ซึ่งผิดไปจากหลักการของกฎหมาย
สำหรับกรณีเด็กข้ามชาติที่มีกำแพงภาษา และเงื่อนไขที่ต้องย้ายถิ่นฐานบ่อย การเข้าเรียนในระบบภาคบังคับจึงไม่ตอบโจทย์ ปารมีจึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ให้มีการจัดการศึกษาแบบยืดหยุ่น โดยนำศูนย์การเรียนรู้ประจำตำบลในชุมชนต่าง ๆ ที่สังกัด สกร. เป็นที่รองรับเด็กกลุ่มนี้ โดยเน้นการสอนภาษาไทยเบื้องต้นและการฝึกทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็ก เพื่อให้พวกเขาสามารถปรับตัวและมีโอกาสที่จะต่อยอดในระบบการศึกษาไทยได้ ทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระของโรงเรียนที่ต้องรับเด็กข้ามชาติเพิ่มมากขึ้น โดยไม่กระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอนของเด็กไทย
ปี 2566 ประเทศไทยมีงบประมาณสำหรับอุดหนุนการเรียนการสอนให้แก่เด็กนักเรียนนักศึกษาที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย (นักเรียนรหัส G) มากถึง 744 ล้านบาท เฉลี่ยได้งบฯ รายหัว 5,500 บาทต่อคน แต่จะพบว่า งบประมาณกระจุกตัวอยู่ในบางหน่วยงาน เช่น สพฐ. และ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ขณะที่กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ยังไม่ได้รับบทบาทในการอุดหนุนการศึกษาเด็กข้ามชาติเท่าที่ควร ปัญหาสำคัญ คือ หน่วยงานรัฐยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนเด็กเหล่านี้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนถิ่นที่อยู่ตลอดเวลาและการทำงานที่ไม่เป็นระบบ ทำให้การวางแผนการศึกษาและการจัดสรรทรัพยากรเป็นไปได้ยาก
อย่างศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ ปารมี มองว่า พ่อแม่นักเรียนหลายคนเป็นคนจ่ายเงินค่าเรียน และศูนย์การเรียนมิดตาเย๊ะไม่ได้ใช้ทรัพยากรไทยด้วยซ้ำ เพราะทางศูนย์ฯ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับรัฐ เพราะฉะนั้นคิดว่า พวกเขาไม่ได้มาแย่งที่เด็กไทย พร้อมเสนอให้ปรับเปลี่ยนอำนาจการจดทะเบียนศูนย์การเรียนรู้ให้เป็นของ สกร. แทน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต แล้วให้ชุมชนบริหารกันเองหรือจะบริหารร่วมกับ สกร. ก็ได้ แล้วเก็บค่าธรรมเนียมการเรียน เพื่ออุดหนุนและบริหารหมุนเวียนในศูนย์การเรียนรู้ประจำตำบล
แม้ว่าปัญหาการศึกษาเด็กข้ามชาติจะซับซ้อนและต้องการการจัดการที่ระมัดระวัง แต่ ปารมี ยังย้ำว่า หากไทยสามารถจัดการศึกษาให้เด็กเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศจะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะการให้การศึกษาแก่เด็กข้ามชาติจะช่วยพัฒนาทักษะและศักยภาพของพวกเขา ซึ่งจะเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญในอนาคต นอกจากนี้ การศึกษาเป็นกุญแจสำคัญในการลดความไม่เท่าเทียมในสังคมและส่งเสริมความมั่นคงในระยะยาว
“การแก้ปัญหาการศึกษาของเด็กข้ามชาติไม่ใช่เพียงแค่การมองจากมุมมองของการใช้ภาษีหรือทรัพยากร แต่ควรมองในเชิงยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ดังนั้น การให้การศึกษาแก่เด็กกลุ่มนี้ไม่เพียงแต่เป็นการปกป้องสิทธิของพวกเขา แต่ยังเป็นการสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับสังคมไทยทั้งหมด”
ปารมี ไวจงเจริญ