เมื่อการศึกษาในระบบ ไม่ใช่โอกาสหนึ่งเดียวของนักเรียนไทย

ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นคลื่นใต้น้ำในสังคมไทยที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ถ้าเรามองจำนวนนักเรียนไทยย่นย่อเหลือ 1 ห้องเรียน เราจะพบว่า ในห้องเรียนชั้น ป.1 ปี 2553 ที่มีนักเรียนอยู่ครบ 100% เมื่อเดินทางจนถึงชั้น ม.6 ปี 2564 แล้ว จะมีจำนวนนักเรียนเหลืออยู่ไม่ถึง 80% ซ้ำร้าย สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ยิ่งเปิดแผลปัญหาความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย หลายครอบครัวตกอยู่ในภาวะยากจนเฉียบพลัน โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยว่าในปี 2564 มีเด็กอาศัยอยู่ในครอบครัวยากจนพิเศษถึง 1.2 ล้านคน เพิ่มมาอีกเท่าตัวจากปี 2560 ที่มีอยู่ 5.6 แสนคน

จากที่ยากจนอยู่แล้วก็ยิ่งจนมากเข้าไปอีก เป็นเหตุให้ “การศึกษา” กลายเป็นภาระ มากกว่าเป็น “โอกาส” ที่จะสร้างรายได้ให้ครอบครัว เยาวชนส่วนหนึ่งจึงเลือกที่จะออกจากห้องเรียน เพื่อไปหางานทำ ในขณะที่ครูและโรงเรียนก็ยากที่จะติดตามได้ เพราะการเรียนออนไลน์ทำให้เด็กไม่อยู่ในสายตาครูได้อย่างเคย

ในปี 2566 ดูเหมือนสถานการณ์จะคลี่คลายมากขึ้น มีความพยายามจากหน่วยงานรัฐ ที่จะพาเด็กที่หลุดกลับเข้าระบบ ด้านกระทรวงศึกษาธิการรายงานตัวเลขว่า สามารถค้นหาติดตามเด็กตกหล่นและออกกลางคันกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาถึง 121,050 คน แต่เสียงสะท้อนของนักเรียนบางส่วนกลับรู้สึกว่า การศึกษาภาคบังคับไม่ได้เข้าใจพวกเขาอย่างแท้จริง 

เนตรดาว ยั่งยุบล อาจารย์ศูนย์นวัตกรรมทางสังคม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระบุว่า เพราะเด็กไทยมีเงื่อนไขในการเข้าถึงห้องเรียนไม่เหมือนกัน บ้างมีต้นทุน บ้างขาดแคลน บ้างก็อยู่ที่ห่างไกล บ้างก็มีบาดแผลทางใจจากห้องเรียน ครั้นจะนำเด็กที่หลุด จับใส่กล่องห้องเรียนแบบเดิมคงไม่เพียงพอ แต่โจทย์ต่อไปของการศึกษาไทย คือ ทำอย่างไรให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าเรียนได้อย่างไม่เป็นภาระ และ ตอบโจทย์ทุกเงื่อนไขในชีวิต เพื่อให้โรงเรียนเป็นพื้นที่แห่งโอกาสของพวกเยาวชน – ผู้เป็นอนาคตของชาติอีกครั้ง

เนตรดาว ยั่งยุบล

The Active เชิญชวนผู้อ่านสำรวจการก่อร่างสร้างตัวของ ‘ราชบุรีโมเดล’ ที่ออกแบบให้ 1 โรงเรียน มีถึง 3 รูปแบบการศึกษา ไปกับคุณครู โรงเรียน และครอบครัวที่ร่วมมือกัน ที่โรงเรียนมหาราช 7 จังหวัดราชบุรี เพื่อท้าทายและพิสูจน์ว่า ไม่ว่าเด็กหนึ่งคนจะขาดแคลนแค่ไหน โรงเรียนย่อมมีพื้นที่ให้เขา ‘ได้’ เรียนดี มีความสุข อย่างที่กระทรวงศึกษาธิการต้องการ

ส่อง 3 รูปแบบการศึกษาการศึกษาในระบบ นอกระบบ และ ตามอัธยาศัย

หนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา คือ การออกแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นกับชีวิตของผู้เรียนมากขึ้น เราจึงต้องกลับไปทบทวน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ซึ่งระบุว่า สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้ 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย แต่ที่ผ่านมา ร.ร. ส่วนใหญ่เลือกจัดแค่รูปแบบเดียว คือการศึกษาในระบบที่มีการประเมินวัดผลและการตัดเกรดที่เคร่งครัด

เราจึงมักเห็นว่ารัฐไทยมีความพยายามในการพาเด็กกลับมา แต่ก็ยังมีสถิติรายงานว่ามีเด็กหลุดจากห้องเรียนทุกปีเช่นกัน เพราะเมื่อเด็กกลับมาเรียนแล้ว ก็พบว่าห้องเรียนนั้นไม่ได้ทำความเข้าใจกับปูมหลังปัญหาของเด็กคนนั้นอย่างแท้จริง 

อย่างกรณี บีม และ เปา นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนมหาราช 7 เคยหลุดออกจากระบบไปครั้งหนึ่งเนื่องจากช่วงแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เขาสะท้อนว่า เมื่อกลับเข้ามาเรียนใหม่ เขารู้สึกว่าตัวเองตามเพื่อนไม่ทัน ทั้งยังรู้สึกแปลกแยก และเขินอาย โรงเรียนจึงได้ปรับแนวทางรูปแบบการศึกษาในระบบให้มีความยืดหยุ่นขึ้น หากบีมและเพื่อนเข้าเรียนครบตามชั่วโมงที่กำหนดและส่งงานครบก็ถือว่าผ่านประเมินตัวชี้วัดได้ ซึ่งทำให้บีมไม่ต้องกดดันกับการสอบไล่ชั้นมากจนเกินไป นอกจากนี้ ยังตัดวิชาเรียนที่บีมเคยผ่านไปแล้ว ทำให้ตารางเรียนของบีมไม่เข้มงวดมากจนเกินไป

ในขณะที่บีมสามารถเดินทางมาเรียนหนังสือได้ตามปกติ ในรูปแบบ ‘การศึกษาในระบบ’ แต่ยังมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเดินทางมาโรงเรียนได้ในหลายสาเหตุ อาทิ ไม่มีค่าเดินทาง บ้านอยู่ห่างไกล หรือมีบาดแผลทางใจกับห้องเรียน เป็นต้น ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้โรงเรียนมหาราช 7 ไม่นิ่งดูดายให้เด็กถูกลืมอยู่ที่บ้าน จึงได้จัด ‘การศึกษานอกระบบ’ ผ่านรูปแบบการเรียนออนไลน์ โดย ‘พ็อต’ เองก็เป็นหนึ่งในนักเรียนที่เลือกเข้าศึกษาในระบบดังกล่าว

หากให้อธิบายโดยง่าย การศึกษานอกระบบนี้มีเนื้อหาและหลักสูตรไม่แตกต่างไปจากการศึกษาในระบบพ็อตสามารถจัดตารางสอนด้วยตัวเองหรือเลือกวันเรียนเองได้ เพราะเรียนในรูปแบบออนไลน์ โดยโรงเรียนได้สร้างศูนย์การเรียนรู้ไว้ข้างหลังโรงเรียน หากมีวันที่พ็อตพอจะสะดวก ก็สามารถมาเรียนออนไลน์ที่ศูนย์ฯ นี้ได้ และครูก็จะมาช่วยแนะแนวเป็นครั้งคราวไปหากมีปัญหาติดขัด นอกจากนี้ นักเรียนในระบบนี้ สามารถได้แต่งตัวตามสะดวก และสามารถเข้าทำแบบทดสอบกี่ครั้งก็ได้จนกว่าจะผ่าน

พ็อต นักเรียนในการศึกษานอกระบบของโรงเรียนมหาราช 7 กำลังเรียนออนไลน์ในศูนย์การเรียนรู้ของโรงเรียน

รูปแบบสุดท้ายคือการศึกษาตามอัธยาศัย นักเรียนกลุ่มนี้จะมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนกว่าคนอื่น  เช่น บางคนต้องทำงานเลี้ยงชีพ บางคนต้องอยู่ดูแลครอบครัว บางคนกำลังตั้งครรภ์ ดังนั้นพวกเขาจะมาเรียนหนังสือที่ โรงเรียนไม่ได้เลย ยกตัวอย่างกรณีของ ‘เอ็ม’ ที่เลือกจะออกจากโรงเรียนมาช่วยเหลือที่บ้านปลูกพืชและเลี้ยงวัว ทางโรงเรียนจึงคิดหาทางแบ่งเบาภาระทางการเรียนของนักเรียน โดยนำกิจวัตรงานที่เอ็มได้ทำในแต่ละวัน มาเทียบโอนตัวชี้วัดดังตารางข้างล่าง

เด็ก ม.3 ต้องแบกรับเนื้อหาการเรียนที่หนักกว่าช่วงชั้นอื่น ๆ เพราะเป็นปีสุดท้ายของการศึกษาภาคบังคับ เนื้อหาแต่ละวิชาจะเป็นการเตรียมพร้อมไปสู่ทักษะขั้นสูง เด็กนักเรียนต้องผ่านการวัดผลทั้งหมด 240 ตัวชี้วัดทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชา ซึ่งหลังจากที่ครูประจำวิชาลองเทียบเคียงงานวิชาชีพของเอ็มแล้ว ก็ได้ออกมาเป็นรูปแบบการประเมินตัวชี้วัดที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของเอ็มมากขึ้น

ด้วยความร่วมมือระหว่างครู-ผู้ปกครอง-นักเรียน ช่วยกันออกแบบหลักสูตร ทำให้สามารถลดภาระตัวชี้วัดที่ต้องผ่านไปได้ราว 12% ซึ่งที่เหลือที่เป็นเนื้อหาเชิงวิชาการ เช่น วิชาสังคมศึกษา หรือวิชาที่มีความเฉพาะตัวอย่างศิลปะ ก็จะใช้วิธีการเรียนผ่านมือถือจากที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาเรียน (คล้ายกับรูปแบบที่ 2 การศึกษานอกระบบ) ด้านคุณครูก็จะหมั่นมาเยี่ยมบ้าน เพื่อติดตามชีวิตและประเมินผล ซึ่งการศึกษาตามอัธยาศัยนี้จะทำให้เอ็มได้ทำงานและได้เรียนหนังสือจนจบวุฒิ ม.3 ได้โดยไม่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา

เอ็ม และ แม่ ช่วยกันเก็บเกี่ยวผลผลิตในวันเสาร์ก่อนเข้าเรียนออนไลน์

หลักสูตรที่หลากหลาย กลายเป็นโจทย์ท้าทายของครู

โมเดลจัดการศึกษา  3 รูปแบบของโรงเรียนมหาราช 7 ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองและศึกษาผลลัพธ์ที่ได้ หากในเทอม 2 ได้ผลการศึกษาที่น่าพอใจตามเป้า โรงเรียนจะเสนอแผนจัดการศึกษาดังกล่าวขยายผลต่อสำนักงานเขตการศึกษา และต่อยอดในระดับพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป ซึ่งตอนนี้มีนักเรียนร่วมอยู่ในโครงการดังกล่าว 10 คน แบ่งเป็นการศึกษาในระบบ 3 คน การศึกษานอกระบบ 1 คน และการศึกษาตามอัธยาศัย (โรงเรียนมือถือ) 6 คน ซึ่งหลายคนจะได้เรียนจบวุฒิชั้น ม. 3 ในปีการศึกษานี้

เอ็ม แม่ของเอ็ม กำลังฟังครูพีชอธิบายเกี่ยวกับการเรียนผ่านช่องทางออนไลน์

แน่นอนว่าการจัดการศึกษา 3 รูปแบบ ก็เป็นโจทย์ท้าทายใหม่ของครูผู้สอน เสมือนครู 1 คนต้องมีทักษะการสอนและรับมือเด็กที่ต่างกันถึง 3 รูปแบบ ด้านครูพีช-จรรยวรรธน์ ผิวเกลี้ยง ครูและผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนมหาราช 7 เผยว่า ครูส่วนใหญ่อาจจะคุ้นชินกับห้องเรียนในระบบที่เป็นมา เพื่อนครูและตัวครูพีชเองต้องมานับหนึ่งในกับระบบการศึกษาทั้ง 3 รูปแบบ แต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าที่ใจครูคนหนึ่งจะทำได้ ส่วนตัวหวังอยากให้ศิษย์ตัวเองได้เรียนจบ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

“ที่สำคัญคือครูต้องปรับใจ เห็นใจเด็กมากขึ้น ต้องยอมรับสภาพของเด็ก ครูจะยึดประเมินตามเกณฑ์อย่างเดียวไม่ได้ ด้วยภาระงานของเราห่วงอยากให้เด็กได้เรียนจบ ถ้าเราทำสำเร็จ สิ่งที่เราได้คือความภูมิใจ เด็กได้มีชีวิตที่เสมอภาค ได้ใช้ชีวิตในชุมชนได้อย่างเป็นสุข เป็นพลเมืองดี ไม่เป็นภาระสังคม ถ้าเขาเข้าหาเราขอความช่วยเหลือ เราภูมิใจที่มีโอกาสได้ช่วยเหลือเขา”

ครูพีช-จรรยวรรธน์ ผิวเกลี้ยง


ครูพีช ย้ำว่า สิ่งสำคัญคือการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน ลำพังแรงครูคนเดียวไม่อาจยื้อเด็กไว้ได้ ทั้งครอบครัว ชุมชน สำนักงานเขต ภาครัฐ ตลอดจนความช่วยเหลือจากเอกชน ล้วนมีส่วนช่วยทำให้เด็กคนหนึ่งได้มีโอกาสทางการศึกษา ปัญหาเด็กยากจนหลุดจากห้องเรียน ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการนำเงินมาโยนแล้วไป แต่ต้องทุกคนต้องใส่ใจชีวิตความเป็นอยู่ของเขาอย่างจริงจัง

ครูพีช-จรรยวรรธน์ ผิวเกลี้ยง ครูและผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนมหาราช 7

ด้าน วงษ์สัน คูหามณีโชติ ผู้อำนวยการโรงเรียนมหาราช 7 เชื่อว่า มีหลายโรงเรียนอยากจัดการศึกษาที่หลากหลาย แต่การจัดสรรงบประมาณรายหัว ทำให้โรงเรียนที่ยิ่งเล็ก ยิ่งได้งบน้อยลง แต่การจัดการศึกษา 3 รูปแบบต้องใช้งบประมาณด้านอุปกรณ์จำนวนมาก ทั้งคอมพิวเตอร์เรียนออนไลน์ การเพิ่มงบอุดหนุนนักเรียนขาดแคลน ปฏิเสธไม่ได้ว่า งบประมาณนั้นสำคัญมากต่อการออกแบบการเรียนการสอนรายบุคคล

ข้อมูลจาก กสศ. เปิดเผยว่า โรงเรียนสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ 29,117 แห่ง นับเป็นโรงเรียนขนาดเล็กไปแล้ว 14,660 แห่ง (50.35%) แต่กลับได้งบประมาณที่ไม่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ได้งบต่อหัวมากกว่า ทำให้เด็กนักเรียนราว 8 แสนคนในโรงเรียนขนาดเล็กต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำด้านงบประมาณ และเสียโอกาสในการพัฒนาทักษะเมื่อเทียบกับโรงเรียนขนาดใหญ่

“ผมก็คุยกับครูว่าถ้าเราปล่อยเขา และเอาแค่เฉพาะเด็กที่อยู ปล่อยให้เด็กตามยถากรรม ผมก็อยากให้ครูเขาตระหนักว่าเราเห็นเขามาตั้ง 12 ปี ตั้งแต่อนุบาลจนถึง ม.3 แล้วเราจะทิ้งเขาเหรอถ้าเราเห็นเขากำลังแย่ในเมื่อโอกาสมันมาหาเราแล้ว ถามว่าเหนื่อยไหม ครูเหนื่อยแน่ เราเอาเขาขึ้นมาพ้นน้ำไม่พอ เราต้องเอาเข้าฝั่งด้วย เพราะฉะนั้นหัวใจคือเขาจบการศึกษาภาคบังคับ จบแล้วเขามีทางเลือก ไปเรียนต่อก็ได้ ถ้าไม่เรียนต่อเขาก็มีวุฒิสมัครงาน นี่คืออนาคต เราถึงใช้คำว่า ‘สร้างโอกาส'”

วงษ์สัน คูหามณีโชติ
วงษ์สัน คูหามณีโชติ ผู้อำนวยการโรงเรียนมหาราช 7

เอกชน รัฐบาล: โอกาสของการสร้างห้องเรียนแห่งโอกาส

การจัดสรรงบประมาณและเงินอุดหนุนช่วยเหลือเพื่อโอกาสทางการศึกษา ส่วนหนึ่งก็ต้องรอการจัดสรรและทิศทางนโยบายของรัฐบาลว่าจะมีจุดมุ่งเน้นอย่างไร แต่ทั้งนี้ ภาคเอกชนเองก็สามารถมีส่วนร่วมได้เช่นเดียวกัน ทาง แสนสิริ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา จัดโครงการ Zero Dropout 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ นี้ขึ้น ด้านสมัชชา พรหมศิริ ประธานผู้บริหารฝ่ายการตลาดดิจิตอลและสื่อสารการตลาดองค์กร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หวังให้ภาคเอกชนส่วนอื่นร่วมลงทุนกับการศึกษา ซึ่งอาจไม่ได้ผลตอบแทนในเชิงตัวเลขกำไร แต่โอกาสของชีวิตเด็กคนหนึ่ง จะช่วยให้แรงงานและเศรษฐกิจขยายตัวขึ้น และจะเป็นผลประโยชน์ทางอ้อมมาสู่ภาคเอกชนอยู่แล้ว

“ภาคเอกชนมีส่วนสำคัญกับการเข้ามาช่วยทำให้กลไกการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสามารถสร้างโอกาสให้กับเด็กเยาวชนได้มองเห็นอนาคตของตัวเอง เพราะการจัดการงบฯ ของเอกชนที่ยืดหยุ่นมากกว่า ทำให้สามารถเติมเต็มในสิ่งที่โรงเรียน และพื้นที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงอยากเห็นภาคเอกชนในแต่ละพื้นที่ ยื่นมือเข้ามาสนับสนุนโอกาสให้กับเด็ก เยาวชนให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนการแก้ปัญหาทางการศึกษาของประเทศ”  

สมัชชา พรหมศิริ

สมัชชา พรหมศิริ ประธานผู้บริหารฝ่ายการตลาดดิจิตอลและสื่อสารการตลาดองค์กร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

เสียงสะท้อนจากองค์กรที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็กขาดแคลนมาตลอด อย่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้มีโอกาสเข้าพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี โดย กสศ. เปิดเผยกับทางทีมข่าวว่า งบฯ ของ กสศ. ถูกหั่นลงเรื่อย ๆ สวนทางกับจำนวนเด็กด้อยโอกาสที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ระบุว่า การศึกษาเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า หากเราทำให้เด็กไม่หลุดออกจากระบบเลย จะทำให้ GDP ของไทยโตขึ้น 3% และฐานภาษีที่จัดเก็บได้จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นจากระดับรายได้แรงงานที่สูงขึ้นอีกด้วย ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศโดยรวม

“ถ้าเราสามารถทำให้เด็กจบการศึกษาในระดับสูงขึ้นได้ เช่น ปวช. ปวส. ปริญญาตรี พวกเขาจะมีโอกาสยกระดับรายได้มากขึ้น นำไปสู่การจัดเก็บภาษีเข้ารัฐได้มากกว่าเดิม เพราะมีจำนวนประชากรที่มีรายได้อยู่ในเกณฑ์ขั้นต่ำของการจัดเก็บภาษี [บุคคลธรรมดา] เพิ่มมากขึ้น และภาษีนี้ก็จะเข้าหนุนระบบการศึกษาอีกครั้ง เป็นวัฏจักรที่ทำให้สังคมไทยก้าวหน้าต่อไปได้ด้วยคำว่า “โอกาสทางการศึกษาถ้วนหน้า”

ไกรยส ภัทราวาท
ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

นี่เป็นเพียงหนึ่งโมเดลของการศึกษาที่ไม่ได้จำกัดแค่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยม เน้นเข้าใจความต้องการของผู้เรียน และออกแบบให้ตรงจุด ก็จะช่วยให้เด็กหลุดออกจากระบบน้อยลง แต่การสร้างรูปแบบการศึกษาที่มีความหลากหลายนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากขาดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การจะเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งต้องอาศัยความใส่ใจตั้งแต่สถาบันเล็กสุดอย่างครอบครัว จนถึงระดับรัฐบาล เพราะการพัฒนาทุนมนุษย์เป็นวาระเร่งด่วนที่รอไม่ได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

บัณฑิตจบใหม่คณะสื่อสารฯ ผู้เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง