ยุ้ย-โสภาวรรณ บุญนิมิตร และ เต้ย-พีรชัย เกิดสินธุ์
กระตุ้นสังคมปกป้องโลกของเด็กปฐมวัย ก่อนสายเกินไป
ชั้นหนึ่ง (First Grade) คือ ชื่อของภาพยนตร์ ที่หมายถึง ชั้น ป. 1 ซึ่งเด็กอายุ 6 ปี ต้องเข้าระบบการศึกษาภาคบังคับ เน้น “นักเรียน เขียนอ่าน” แต่จากข้อมูลทางวิชาการหลายชิ้นระบุชัด ช่วงวัย 0-6 ปี หรือ 0-8 ปี (ตามคำนิยามเด็กปฐมวัยของนานาประเทศ) กำหนดให้เด็กวัยนี้ต้อง “เล่นสนุก”
ช่วงปฐมวัยยังเป็นต้นทุนสำคัญที่เด็ก ๆ จะได้พัฒนา สมองส่วนหน้า หรือ EF: Executive Function ซึ่งมีผลต่อการเติบโตไปตลอดชีวิต ขณะที่ ระบบการศึกษาไทยแบบ #แพ้คัดออก #การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และค่านิยม #การเข้าโรงเรียนดีดี #อาชีพที่มีเกียรติ ฯลฯ และอื่น ๆ อีกมากมาย กลับกลายเป็นบาดแผลของเด็ก ๆ การทำลาย ธรรมชาติ และโลกของเด็กในช่วงวัยนี้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของระบบ สิ่งแวดล้อม วิธีการเลี้ยงดู อาจกลายเป็นผลกระทบระยะยาวต่ออนาคตของประเทศ
แต่ยังไม่สาย.. หากหัวข้อ ‘เด็กปฐมวัย’ จะถูกหยิบยกมาถกเถียงกันให้ดังขึ้น เพื่อการเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ระบบการศึกษาไทย และนี่เป็นความหวังของ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ที่ยอมรับว่านี่อาจจะเป็นภาพยนตร์เฉพาะกลุ่ม ที่มักจะมีแค่แวดวงการศึกษา ผู้ปกครอง ครู ที่สนใจจะดู แต่ในความจริงเป็นเรื่องสำคัญที่ คนทุกกลุ่มในสังคมควรหันมาให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก่อนจะสายเกินไป..
The Active สัมภาษณ์พิเศษ ผู้กำกับภาพยนตร์ 2 ท่าน คือ ผศ. โสภาวรรณ บุญนิมิตร และ พีรชัย เกิดสินธุ์ หรือ อ.ยุ้ย – อ.เต้ย ที่หวังจะใช้เครื่องมือนี้กระตุ้นให้สังคมลงมือปกป้องโลก และธรรมชาติของเด็ก ๆ อย่างจริงจัง
Q: Pain Point (ความเจ็บปวด) การสร้างหนัง “ปฐมวัย” เห็นเด็กไทยผ่านอะไรมา
อ.ยุ้ย และ อ.เต้ย เล่าว่า เขาเป็นคนทำหนังอิสระ เป็นครูสอนทำหนังด้วย อยู่ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถมยังอยู่ในฐานะของการเป็นคุณพ่อ-คุณแม่อีกด้วย ที่ผ่านมาทั้ง 2 คน เคยทำหนังเกี่ยวกับ ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ถ้ำหลวง และล่าสุด สารคดีชั้นหนึ่ง (First Grade) ซึ่งเกี่ยวกับเรื่อง “เด็กปฐมวัย” โดยสิ่งที่ทำให้เริ่มอยากจะทำหนังสารคดีแนวการศึกษาเพราะ เจอกับปัญหาใกล้ตัว เห็นเด็ก และนิสิตของตัวเองไม่มีความสุขกับการเรียน พอถึงช่วงมหาวิทยาลัยแรงบันดาลใจก็หายไปหมด อ.ยุ้ย จึงต้องการจะตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กๆ เหล่านี้ และย้อนไปศึกษาจุดเริ่มต้น ซึ่งพบว่า “ปฐมวัย” คือช่วงสำคัญที่สุดในการสร้างพัฒนาการของเด็ก ๆ จึงสนใจ และเริ่มสำรวจ พบว่าปัญหาเริ่มต้น คือ การศึกษาภาคบังคับ และการศึกษาภาคปฐมวัยของไทย
ขณะที่ อ.เต้ย เล่าให้ฟังถึงการเก็บข้อมูลช่วงททำหนังว่า พบข้อมูลที่น่าสนใจตรงรอยต่อระหว่าง “เด็กปฐมวัย กับ เด็กประถมศึกษา” เพราะนานาประเทศจะนับเด็กปฐมวัยอยู่ที่อายุ 0-8 ปี แต่ของไทยกลับโดนบล็อกด้วย พ.ร.บ.การศึกษา ที่นับเด็กประถมศึกษาเริ่มต้นที่ 6 ปี นั่นหมายความว่าที่เหลืออีก 2 ปี เด็กๆ ก็จะไม่ได้รับการคุ้มครอง เพราะถูกดูแลในรูปแบบของเด็กประถมศึกษา อ.เต้ย ยกตัวอย่าง เด็กปฐมวัย ที่ยังไม่สามารถนั่งโต๊ะเรียนได้อย่างถนัด แต่ถ้าไม่ใช่โรงเรียนทางเลือก เด็กๆ ก็มักถูกจับนั่งโต๊ะ และได้รับอิสระในการเล่นน้อยลง ขณะที่ครูเองก็ต้องรับคำสั่ง และทำตามมาตรการจากส่วนกลางทั้งที่ครูเองก็อาจจะยังไม่พร้อม ภาพยนตร์ เรื่องนี้ จึงเน้นปรับโฟกัสว่า อะไรคือ แนวทางที่จะเอาไปปรับใช้ ให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะตัวของเด็กปฐมวัย
‘สอบแข่งขัน’ สร้างบาดแผล ลดความมั่นใจเด็กปฐมวัย
อ.เต้ย ย้ำว่า เรื่องใหญ่ของการนำเสนอไม่ใช่แค่ประเด็นการสอบเท่านั้น แต่เป็นหัวใจสำคัญของการดูแลเด็กปฐมวัยหลังจากนี้ เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่จับเด็กมาแข่ง ก็คือ การสอบ ซึ่งผิดหลักการของเด็กปฐมวัย ซึ่งอาจจะเป็นการสร้างแผลในใจให้กับเด็กในระยะยาว “เราไม่มีวันรู้ เขาอาจจะแสดงความร่าเริง แต่การสอบเข้าได้ หรือไม่ได้ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ self esteem หรือ ความมั่นใจในตัวเองบางอย่างของเขา ถูกทำลายไป เราไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย ตอนนี้ก็สงสารผู้ปกครอง เราไม่ได้ตำหนิผู้ปกครอง ตอนนี้เรามองว่า ในเมื่อบริบทสังคมยังไม่ตระหนักเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทำให้เรื่องแบบนี้กลายเป็นเรื่องปกติ เรื่องที่ใครๆ ก็ทำ เมื่อไหร่ที่ยังคิดแบบนี้ก็ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง โรงเรียนก็ยังรู้สึกว่า ใช้การประเมินทุกอย่างก็จะเป็นวงจรไปเรื่อยๆ ในที่สุดแล้วก็จะสร้างเด็กที่มีปัญหาลึกๆ อยู่ข้างใน”
“เราเจอปัญหาใกล้ตัว เห็นนิสิตของตัวเอง ไม่มีความสุขกับการเรียน พอถึงช่วงมหาวิทยาลัยแรงบันดาลใจก็หายไปหมด ตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น ? และย้อนไปศึกษา ซึ่งพบว่าจุดเริ่มต้นสำคัญ คือ ช่วงปฐมวัย และ ปัญหาก็คือ การศึกษาภาคบังคับ และภาคปฐมวัยของไทย“
ผศ. โสภาวรรณ บุญนิมิตร ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ
“นานาประเทศนับเด็กปฐมวัย 0-8 ปี แต่ของไทย โดนบล็อกด้วย พ.ร.บ.การศึกษาฯ อยู่ที่ 0-6 ปี ช่วง 6-8 ปี เด็กก็ไม่ได้รับการคุ้มครองจาก พ.ร.บ.ปฐมวัย..
การสอบเข้าได้ หรือ ไม่ได้ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความมั่นใจในตัวเอง (self esteem) บางอย่างถูกทำลายไป เมื่อสังคมยังไม่ตระหนัก ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ ในที่สุดแล้วก็จะสร้างเด็กที่มีปัญหาลึกๆ อยู่ข้างใน…
อยากให้สังคมกลับมาถกเถียงเรื่องนี้ และควรเป็นเรื่องใหญ่ที่ถูกพูด..”
พีรชัย เกิดสินธุ์ ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ
Q: ไคลแมกซ์ (จุดสำคัญ) ของเรื่องที่อยากจะสื่อสารถึงคนดู
อ.เต้ย มองว่าสิ่งที่อยากจะให้ดูแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ
- การให้กรอบวิธีคิดให้ชัดว่า ปฐมวัย คืออะไร ผ่านมุมมองที่หลากหลาย จากทั้งผู้ปกครอง ครู แพทย์ นักวิชาการ ฯลฯ
- เปิดให้คนดูร่วมสังเกตการณ์ว่า เด็กๆ ในหลักสูตร-ภาคบังคับ โดยสำรวจผ่าน 8 โรงเรียน ในหลากหลายจังหวัด โดยกลุ่มเด็กที่เลือกมามีตั้งแต่ เด็กที่มีโอกาสมาเรียนใน กทม. ไปจนถึง เด็กที่มีโอกาสน้อย เป็นเด็กต่างจังหวัด ต่างศาสนา ทั้งเด็กดอยในภาคเหนือ/ ร.ร.ศาสนาที่ จ.ปัตตานี เพื่อให้คนดูเห็นเองว่าอะไรเป็นช่องว่างการศึกษาไทย ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็จะพยายามก้าวข้ามข้อจำกัดจากส่วนกลาง ซึ่งคนดูก็จะได้เห็นความพยายามที่จะแก้ปัญหา และจากนี้จะทำเป็น ภาคต่อ ซึ่งมีอีกหลายปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
สิ่งที่คิดว่าสำคัญที่สุด คือ การที่พยายามให้คนดูมีธรรมชาติที่น่ามหัศจรรย์ เป็นหลักการพัฒนาของเด็กปฐมวัย อ.เต้ย ย้ำว่า “เด็กไม่ต้องการให้ใครสักคนไปพัฒนา เด็กต้องการโอกาสในการพัฒนาตัวเอง” ดังนั้นการใช้มาตรฐานเดียวกันในการแก้ปัญหาเด็กปฐมวัยเหมือนกัน ไม่สามารถทำได้ แต่ไม่ว่านโยบายการศึกษาจะเปลี่ยน หรือจะมีพัฒนาอย่างไร หากตระหนักได้ว่า อะไรคือ ธรรมชาติที่แท้จริงของการพัฒนาเด็กปฐมวัย ก็จะสามารถดูแลเด็กอนุบาล-ป.1 ได้อย่างไม่หลงทาง.. อ.เต้ยกล่าว
Q: ภาพยนตร์จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าเครื่องมืออื่นอย่างไร
อ.ยุ้ย-โสภาวรรณ เชื่อในพลังของภาพยนตร์ ซึ่งคนดูจะได้ความรู้สึก และพร้อมที่จะลงมือทำ ที่ผ่านมาอาจจะมีงานวิชาการ ที่สร้างความเข้าใจให้สังคมได้ แต่ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ส่วนตัวเชื่อภาพยนตร์น่าจะสร้างความตื่นตัวทางความรู้สึกได้มากกว่า มีแรงบันดาลใจเพื่อที่จะไปลงมือทำต่อได้ ขณะที่วงเสวนาวิชาการ อาจจะจำกัดเฉพาะกลุ่ม ทั้งที่จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ควรมีแค่นักวิชาการที่เข้าใจ แต่ พ่อแม่ ปู่ยา ตายายทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ต้องเข้าใจสิ่งนี้
อ.เต้ย-พีรชัย มองว่า การทำภาพยนตร์จะต้องไม่ไปชี้แนะ ภาพยนตร์ จึงมีทั้งส่วนของ กรอบคิดจากนักวิชาการ และส่วนของการเปิดให้คนดูได้เข้าไปเห็นวิถีชีวิตของเด็กที่แตกต่างกัน สะท้อนผ่านโรงเรียนที่ต่างกัน ช่วยกระตุ้นให้คนดูหาคำตอบด้วยตัวเอง ภาพยนตร์จึงเป็นเหมือนการเปิดโอกาสให้มีพื้นที่อิสระ ได้เข้าใจ และใช้ความรู้สึกกับภาพยนตร์ โดยพยายามสร้างสมดุลระหว่างเนื้อหาสาระ กับสิ่งที่ผู้กำกับอยากนำเสนอ โดยย้ำว่าเรื่องนี้อาจจะไม่ได้มีข้อถกเถียงที่เข้มข้นเท่ากับสิ่งที่แวดวงการศึกษาคาดหวัง แต่ก็ยังมีส่วนของภาพยนตร์ที่เราอยากจะนำเสนอ เปิดโอกาสให้คนดูได้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย
Q: อะไรคือ ตัวชี้วัดความสำเร็จของการฉายภาพยนตร์
ตัวชี้วัดแรก คือ การเข้าถึงคนให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยหนังจะได้ทำหน้าที่กระตุ้น และโยนคำถาม แต่ต้องการให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นใบเบิกทางที่ทำให้หัวข้อ เด็กปฐมวัย ถูกพูดถึงอย่างจริงจัง เพราะจากผลการศึกษา นักวิชาการลงความเห็นตรงกันแล้วว่า 7-8 ปีแรก คือ ทุกอย่างของชีวิต โดยทั้ง อ.เต้ย-และ อ.ยุ้ย ฐานะหัวอกคนเป็นพ่อ-แม่ เปิดใจกับ The Active ว่าหลังจากมีลูกได้ลองกับมาทบทวนกับลูก และพบความมหัศจรรย์ของเด็กในช่วงวัยนี้ การปล่อยให้เด็กๆ ได้อยู่กับธรรมชาติ และได้เป็นธรรมชาติ นั่นคือ การเปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนาตัวของเขาเอง.. และอยากให้ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นกับ พ่อแม่ ทุกคน ที่อยากเห็นเด็กพัฒนาการอย่างเต็มที่และสมบูรณ์
คาดหวังจะเห็นสังคมไทย ตื่นตัวกับช่วงรอยต่อระหว่า ปฐมวัย-ประถมศึกษา และจัดการศึกษาได้อย่างเหมาะสม เช่น พ.ร.บ.ปฐมวัย ที่ผ่านการต่อสู้มาอย่างยากลำบาก จนถึงตอนนี้ก็ยังพบว่า มีอีกหลายข้อที่ยังไม่เป็นดั่งใจ เช่น การปรับเรื่องอายุ และนิยามของเด็กปฐมวัย หลายประเทศใช้ 0-8 ปี ขณะที่ไทยยังอยู่ที่ 0-6 ปี หรือ การมีแนวทางที่ควรจะชัดขึ้นกำหนด เช่น การมีบทลงโทษที่ชัดเจนถึงกรณีการจัดสอบแข่งขันในเด็กปฐมวัย
จุดเริ่มต้นที่เราอยากจะเห็นจากเด็กใน Gen ถัดไป ควรเริ่มจากการมี พ.ร.บ.ปฐมวัย ควรมีนิยามขอบเขต อายุ ข้อควรปฎิบัติและพึงระวังให้ครบถ้วน เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ควรอยู่บนหลักคิดที่ถูกต้อง โดยอยากให้ สังคมกลับมาถกเถียงเรื่องนี้กันอย่างจริงจังมากที่สุด และควรเป็นเรื่องใหญ่ที่ถูกพูดถึงในทุกๆ มิติของการศึกษาไทย.. ซึ่งควรรีบทำก่อนจะสายเกินไป เพราะเด็กเติบโต และจบการศึกษาออกมาทุกปี