ทำไมจึงไม่ควรเพิกเฉยต่อความรุนแรงในครอบครัว ?…แม้ไร้เสียงอ้อนวอน

ชีวิตคู่ในชีวิตจริง มีเงื่อนไขและเหตุผลมากมาย ที่ทำให้ รสรัก กลายเป็น รสขม หลายคู่ปลดเปลื้องอารมณ์ด้วยความรุนแรง จนกลายเป็นโศกนาฏกรรม

มีผู้หญิงมากถึงร้อยละ 84 กำลังตกอยู่ในวังวนของความรุนแรง พวกเธอถูกกระทำจากคนในครอบครัว ที่ได้ขึ้นชื่อว่า “คนรัก”

“ฝน” คือผู้หญิงหนึ่งในนั้น เธอเปิดเผยเรื่องราวชีวิตกับ The Active หวังให้พื้นที่แห่งนี้สื่อสารไปถึงผู้หญิงที่กำลังตกเป็นเหยื่อ ได้มองเห็นกลไกการช่วยเหลือที่มีอยู่

เค้าลางของความรุนแรง ก่อตัวขึ้นหลังจากที่เธอตัดสินใจเลิกรากับสามีทางพฤตินัย สามีขู่ฆ่าซ้ำ ๆ และมีพฤติกรรมตามรังควาน ทำให้เธอตกอยู่ในสภาพ หวาดระแวง เธอต้องพึ่งยานอนหลับเพื่อผ่อนคลายความเครียด แต่ยาไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะสามียังคงเดินเข้าออกบ้าน ที่เขาเชื่อว่ายังมีสิทธิ์อาศัยในฐานะเจ้าของบ้านคนหนึ่งเช่นกัน

ฝน บอกว่าเธอเองก็ไม่มีที่ไป ทำได้ดีที่สุดในเวลานั้น คือ โทรไปแจ้งตำรวจท้องที่ที่เธออาศัยอยู่ แม้จะแจ้งไปหลายครั้ง แต่ตำรวจก็ไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่าขอให้เธอกลับไปไกล่เกลี่ยกับสามี

ในเวลานั้น ไม่มีใครที่ฝนมองว่าจะช่วยเธอได้…

“เราอยู่ด้วยกันด้วยความระแวง พอเรากลับมาเราหลอน เราต้องรีบหนีไปหมกอยู่หอลูก อาบน้ำกินข้าวหรือเปล่าไม่รู้ แต่ลูกอยู่ตรงไหนฉันอยู่ตรงนั้น มันเป็นความกังวลมาเป็นปี ๆ แล้ว จนวินาที มึงเป็นหมาของกู เริ่มออกมาอาศัยอยู่กับเพื่อน ราวีตลอด จะเอากลับบ้าน มึงต้องกลับ ส่งรูปมา จะเอาป้ายมาประจานเรา ติดที่รถเรา พอไปแจ้งความ ตำรวจเขาก็ไม่อยากยุ่ง ทำไง นอนหอกับลูก ขู่ฆ่าเรา ไปไหนก็ไปไม่ได้ หมกอยู่แต่หอลูก ทำอะไรไม่ได้”

“มึงเป็นหมาของกู กูบอกให้มึงอยู่มึงก็ต้องอยู่ เหมือนสั่งเป็นสั่งตาย” นี่คือคำขู่สุดท้าย ที่ทำให้เพื่อนของฝน ที่รับรู้เรื่องราวมาตลอดต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง เพื่อช่วยเหลือเพื่อนของเธอ ตอนแรกเธอไม่กล้า เพราะอาย แต่เมื่อคิดว่า ไม่อาจทนอยู่ในสภาพนี้ตลอดไปได้ ความอายจึงกลายเป็นความกล้า

เพื่อนของเธอโทรไปที่ หมายเลขโทรศัพท์ 1300 ตามที่ค้นเจอในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นศูนย์ช่วยเหลือสังคม 24 ชั่วโมง มีบริการ 60 คู่สายทั่วประเทศ ให้บริการปัญหา 10 ประเด็นหลักของสังคม รวมถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว อยู่ภายใต้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ฝนได้รับการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ ภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนเพื่อนของเธอที่โทรร้องเรียน คือ พลเมืองดี ได้รับการคุ้มครอง และไม่เปิดเผยข้อมูลผู้แจ้ง ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550

กรณีของเธอ เจ้าหน้าที่ทำการไกล่เกลี่ยและเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ทุกฝ่ายยอมรับข้อตกลงซึ่งกันและกัน ตอนนี้เธอบอกว่า ทั้งคู่ยังพูดคุยและปรึกษากันในฐานะเพื่อนคนหนึ่ง

“เราต้องแข็งที่จะกล้า จะก้าว หากไม่กล้า กลัว อาย สุดท้ายคนที่ทุกข์คือตัวเราเอง”

ชัญญา ควรสุวรรณ เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เล่าถึงประสบการณ์ทำงานกับความรุนแรงในครอบครัวว่า หลายครั้งผู้ถูกกระทำ เมื่อถูกกระทำซ้ำ ๆ มีขีดจำกัด เหมือนภูเขาน้ำแข็ง วันหนึ่งมีโอกาสลุกขึ้นมาเป็นฝ่ายก่อความรุนแรงเสียเอง สังคมสามารถยุติและยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรงได้ โดยเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ไม่มองความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นปัญหาสังคมที่ทุกคนร่วมกันยุติได้ โดยการประสานหรือโทรแจ้ง 1300 กระบวนการช่วยเหลือฟื้นฟูจากศูนย์ฯ จะเข้ามามีบทบาทและทำให้ครอบครัวได้รับการเยียวยาโดยเร็วที่สุด

“ไม่ใช่แค่นักสังคมสงเคราะห์อย่างเดียว แต่ต้องใช้สหวิชาชีพเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ทีมแพทย์ พนักงานสืบสวน อัยการ กรณีที่รุนแรง ต้องปรึกษาทางกฎหมาย หรือผู้เชี่ยวชาญกรณีนั้น ๆ เข้ามาช่วยเหลือ เราก็ลงพื้นร่วมกัน สืบข้อเท็จจริง พูดจากันแบบประนีประนอม”

ชัญญา ควรสุวรรณ เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการฯ พบว่า ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงมากที่สุด ร้อยละ 22 มาจากบันดาลโทสะ, ร้อยละ 16 ยาเสพติด, ร้อยละ 10 สุรา, ร้อยละ 8 หึงหวง, ร้อยละ 7 สุขภาพจิต, ร้อยละ 3 เศรษฐกิจ, ร้อยละ 2 ล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงที่พบมากที่สุด คือ ร้อยละ 88 ร่างกาย ร้อยละ 9 จิตใจ ร้อยละ 3 เพศ

“ความเครียด สภาพเศรษฐกิจ สังคม มีส่วนให้เกิดความรุนแรงไม่ใช่ว่าเขาอยากทำร้าย แต่บางทีพอเป็นผู้สูงอายุ ประสิทธิภาพร่างกาย ถดถอยลง ความจำลดลง เขาก็ไม่กล้าปล่อยออกจากบ้าน บางทีการล่ามโซ่อาจจะมองว่าเป็นความรุนแรงเกินกว่าเหตุ แต่เขาไม่รู้จะจัดการอย่างไร เขาไม่มีคนแนะนำ ไม่มีใครบอกว่าเขาควรทำอย่างไร เขาก็ใช้วิธีที่เขาคิดได้ก็คือ ล่ามเอาไว้ อาหารวางไว้ให้กิน เพราะตัวเองต้องออกไปทำมาหากิน กลับมาเลี้ยงชีพต่อไป เพราะตัวเองเลี้ยงแม่ฝ่ายเดียวไม่มีใครเลี้ยงดู”

บทส่งท้าย

กระบวนการเยียวยา ฟื้นฟู ทำให้ครอบครัวกลายเป็นสถานที่ปลอดภัยอีกครั้ง ไม่สามารถใช้กฎหมายได้เพียงอย่างเดียว ศาสตร์และศิลป์ของการประนีประนอม จำเป็นต้องพึ่งพาความเข้าใจ และไม่ใช่แค่คนสองคน หรือคนในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสายตา ความเข้าอกเข้าใจ จากชุมชนคนรอบข้าง การไม่เพิกเฉย แม้ว่าจะไร้เสียงอ้อนวอนจากเหยื่อ นี่อาจเป็นสัญญาณเฝ้าระวังความรุนแรง ที่เราทุกคนร่วมกันยุติได้


ดูเพิ่ม

ปัญหาการเข้าถึงความช่วยเหลือ อดีตเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์