อย่ารอจนภัยพิบัติมาถึงตัว…

ชุมชนเสี่ยงปัตตานี ซ้อมแผนรับมือน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม

นับถอยหลังสู่เดือนพฤศจิกายน ภาคใต้ จะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ สถานการณ์ฝนที่ตกสะสมต่อเนื่องก่อนฤดู ดินที่ซับและอุ้มน้ำไว้มาก มีการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติในภาคใต้มากกว่า 600 ชุมชน

จังหวัดปัตตานี พื้นที่ท้ายน้ำ ซึ่งรับน้ำจากแม่น้ำสายหลัก 2 สาย คือ แม่น้ำปัตตานี ที่ไหลมาจากยะลา และ แม่น้ำสายบุรี ที่ไหลมาจากนราธิวาส ก่อนลงปากอ่าวปัตตานี ไหลลงสู่ทะเล และมีชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ชายฝั่งพื้นที่รับน้ำที่ได้รับผลกระทบกว่า 150 ชุมชน

ทำให้จังหวัดปัตตานีตื่นตัวในการเฝ้าระวังและป้องกัน ไปจนถึงการรับมือภัยพิบัติ โดยมีการตั้ง ศูนย์ป้องกันและยับยั้งภัยพิบัติ จ.ปัตตานี ควบคู่ไปกับความร่วมมือเครือข่ายจัดการภัยพิบัติ ซ้อมแผนป้องกันและรับมือสถานการณ์น้ำ ลดความสูญเสียและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากน้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่ม

เครือข่ายการจัดการภัยพิบัติ จังหวัดนครศรีธรรมราช นำโดย โกเมศร์ ทองบุญชู ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. และมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ตลอดจนหน่วยงานภาคี ทั้ง สำนักงานป้องกันและเทาธารณภัยจังหวัดปัตตานี และ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เดินหน้าซ้อมแผนรับมืออุทกภัยของตำบลเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่นในเขตจังหวัดปัตตานี

โดยเริ่มต้นที่ ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ที่มีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน ปีที่แล้ว (2566) เผชิญสถานการณ์น้ำท่วมหนัก ซึ่งจุดที่ท่วมสูงสุดกว่า 2 เมตร และท่วมยาวนานเกือบ 2 เดือน ถือว่ารุนแรงและหนักสุดในรอบ 50 ปี

“สถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมในพื้นที่ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว” คือสิ่งที่ ผู้ใหญ่โกเมศร์ บอก ซึ่งแม้ชาวบ้านจะเจอน้ำท่วมทุกปีและอยู่ร่วมกับน้ำมาได้โดยตลอด แต่จากประสบการณ์เมื่อปีที่แล้ว ที่น้ำท่วมหนักทั่วทั้งตำบล และมีระดับน้ำที่สูงจากปกติ บางจุดสูงกว่า 2 เมตร ทำให้ถูกตัดขาดจากภายนอก ส่งผลต่อการเข้าถึงการช่วยเหลือ ที่เป็นไปอย่างยากลำบาก

“ดังนั้น สิ่งสำคัญในการตั้งรับสถานการณ์ภัยพิบัติ เพื่อป้องกันและยับยั้งผลกระทบความเสียหาย และรับมือได้เมื่อภัยมาถึง จึงต้องติดอาวุธ ทั้ง การสร้างความเข้าใจ การเข้าถึงข้อมูล สร้างเครือข่าย องค์ความรู้และส่วนร่วมในการวางแผนรับมือ แผนอพยพ และการเผชิญเหตุภัยพิบัติให้กับชุมชน“

โดยแผนรับมืออุทกภัย เริ่มตั้งแต่การสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ให้รับรู้ถึงการวิเคราะห์การประเมินสถานการณ์ความรุนแรงภัยพิบัติ ช่องทางรับการแจ้งเตือน จากความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ปภ.จังหวัดปัตตานี ชลประทานและอุตุนิยมวิทยา จังหวัดปัตตานี

จากนั้นคือกระบวนการที่ให้ชุมชนร่วมทำแผนที่ทำมือ ซึ่งจะทำให้เห็นที่ตั้งชุมชน จำนวนประชากร จุดไหนมีกลุ่มคนเปราะบางที่ต้องช่วยเหลือเป็นลำดับแรก สถานที่สำคัญ ทั้ง โรงเรียน รพ.สต. มัสยิด ไปจนถึงพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่สูง ที่จะใช้เป็นศูนย์พักพิงหรืออพยพเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน เมื่อเกิดภัยพิบัติ จะได้รู้จุดว่าจะต้องอพยพมาที่ไหน ซึ่งตำบลนี้เลือกองค์การบริหารส่วนตำบลลิปะสะโง เป็นศูนย์พักพิง นี่จึงเป็นแผนที่ ที่ทุกคนในตำบลเห็นร่วม เข้าใจตรงกัน

“นี่คือกระบวนการสร้างการเรียนรู้ร่วม ให้ทุกคนในชุมชนเข้าถึงข้อมูลทุกเรื่อง ที่พอดูแล้วเข้าใจทันทีว่า น้ำต้องวิ่งไปไหน ต้องรีบเอาใครออกไปก่อน ซึ่งหลังจากนี้ชาวบ้านต้องมาทำประชาพิจารณ์มายอมรับข้อมูลร่วมกันว่าใช่หรือไม่ จากนั้นจะเขียนผังใหญ่ติดไว้ ที่ศูนย์การจัดการภัยพิบัติตำบลนั้น ๆ ที่มีการกำหนดจุดสำคัญไว้แล้ว”

ต่อด้วยเรื่องการสื่อสาร ให้อาสาสมัครและผู้นำหัดใช้วิทยุสื่อสารเป็น เพราะเวลาน้ำท่วมระบบการสื่อสารล่ม ไฟฟ้าตัด วิทยุสื่อสารจึงสำคัญมาก ไปพร้อมกับการวางระบบการติดตามข่าวสารข้อมูล หลัก ๆ อย่าง ไทยวอร์เตอร์ อุตุนิยมวิทยาจังหวัด และที่ ปภ.จังหวัด ที่ผู้นำชุมชนต้องมีการแจ้งสถานการณ์ต่อเนื่องและล่วงหน้าในกรณีที่ภัยพิบัติจะมาถึง ที่สำคัญคือการสร้างเครือข่ายชุมชนต่าง ๆ ในเส้นทางน้ำ เพื่อส่งต่อความคืบหน้าสถานการณ์ให้รับมือได้เท่าทัน

ส่วนการซ้อมแผนเผชิญเหตุ เป็นการฝึกสอนเบื้องต้นโดยสมมติสถานการณ์ เกิดน้ำท่วมฉับพลันรุนแรง มีคนติดอยู่ ทีมอาสาสมัครที่เคยฝึกก่อนหน้านี้ ต้องเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือ ขับเรือผ่านแม่น้ำปัตตานี เพื่อพาผู้ป่วย คนบาดเจ็บ ที่เราสมมติสถานการณ์ออกมาให้ได้ ตลอดจนการฝึกใช้เชือก อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และที่สำคัญ คือให้มีการฝึกในการบัญชาการเหตุการณ์ด้วย

“เราให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องบทบาทหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้วย ไม่ต้องรอให้นายอำเภอเข้ามาบัญชาการเหตุการณ์ กรณีฉุกเฉินเมื่อเกิดเหตุหนัก พื้นที่ถูกตัดขาด จากภายนอก ผู้นำชุมชน หรือชาวบ้านก็สามารถที่จะวางตน เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ได้เลย ไม่ต้องรอ เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาได้เลย ตรงนี้ต้องให้ชาวบ้านเข้าใจด้วย“

จากการฝึกซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติครั้งนี้ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มตื่นตัว ติดตามข้อมูลข่าวสารการแจ้งเตือน หลายคนบอกว่า สถานการณ์น้ำวันนี้ไม่เหมือนในอดีต หากมีการประกาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการประกาศแจ้งจากผู้นำให้อพยพ ก็พร้อมจะปฏิบัติตามทันที เพราะไม่อยากติดอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมสูง เช่นที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย

ผู้ใหญ่โกเมศร์ ยังย้ำว่า เราไม่สามารถห้ามภัยพิบัติได้ และเราก็สู้กับภัยพิบัติไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญจะทำอย่างไรให้เสียหายน้อยที่สุด นั่นคือต้องติดตามสถานการณ์ตลอด ชุมชนตั้งทีมวิเคราะห์สถานการณ์ให้ได้ แล้ววิเคราะห์เกินจากเดิม 100% และสิ่งสำคัญที่สุด คือ “อพยพก่อน ดีกว่าไม่มีโอกาสได้อพยพ“


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ