รู้ไหม?…คนพิการไทย (เคย) มีแผนรับมือภัยพิบัติ

“ในสถานการณ์ภัยพิบัติ คนพิการมักประสบปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การแจ้งเตือนภัย การอพยพเคลื่อนย้าย การช่วยเหลือตลอดจนการเยียวยาฟื้นฟู และมักเป็นคนสุดท้ายในบ้าน หรือในชุมชนที่ “ติดอยู่ในบ้าน” และเป็นคนสุดท้ายที่ได้รับการช่วยเหลือ”

คำอธิบายบางส่วนจากรายงานสถานการณ์คนพิการในประเทศไทย ที่ถูกอ้างอิงใน แผนการจัดการภัยพิบัติสำหรับคนพิการ พ.ศ.2560-2564 โดยกำหนดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการตามแนวทาง และมาตรการที่กำหนดไว้ในแผนฯ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ

แผนการจัดการภัยพิบัติสำหรับคนพิการ พ.ศ.2560-2564 ยังได้กําหนดวิสัยทัศน์ “คนพิการและผู้ดูแลคนพิการมีความปลอดภัยในสถานการณ์ภัยพิบัติ” ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่

  • พัฒนามาตรการ ลดความเสี่ยงและเตรียมความพร้อมให้คนพิการ และผู้ดูแลคนพิการ จากสถานการณ์ภัยพิบัติ
  • พัฒนาระบบการจัดการภัยพิบัติ และบูรณาการดำเนินงานในสถานการณ์ภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
  • เพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูเยียวยาคนพิการ และผู้ดูแลคนพิการอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

ข้อมูลจาก ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) พม. หรือ HuSEC รายงานเรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติ พบว่า จ.เชียงราย มีคนพิการได้รับผลกระทบ 353 คน ผู้ป่วยติดเตียง 54 คน

โดยเหตุการณ์น้ำท่วมบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะที่ จ.เชียงราย ในช่วงวันที่ 9 – 14 ก.ย. 67 ที่ผ่านมา ประชาชนต้องระดมขอความช่วยเหลือในโลกออนไลน์ ว่า มีคนพิการติดอยู่ในบ้านเป็นจำนวนมาก ซึ่งความช่วยเหลือก็ยังเป็นไปด้วยความทุลักทุเล และล้าช้า ทำให้บางรายเสียชีวิตก่อนที่อาสาสมัครจะเข้าไปถึง

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนี้ จึงเป็นคำถามว่าแผนการจัดการภัยพิบัติสำหรับคนพิการ พ.ศ.2560-2564 ยังคงมีผลในทางปฎิบัติอยู่หรือไม่ ? และอนาคตเราจำเป็นต้องมีการวางแผน เตรียมการรับมือ แจ้งเหตุ ช่วยเหลือ เยียวยาคนพิการ อย่างเป็นระบบอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไร ?

The Active ชวนหาคำตอบเรื่องนี้กับ ชูศักดิ์ จันทยานนท์ เลขาธิการสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย หนึ่งในภาคประชาชนที่ได้นั่งเก้าอี้คณะกรรมการแผนการจัดการภัยพิบัติสำหรับคนพิการ พ.ศ.2560-2564 ที่ย้ำว่า ของดีมีอยู่แล้ว ขอแค่นำมาปัดฝุ่นใหม่”

แผนอพยพคนพิการมีอยู่จริง…แต่ยังไม่ถูกนำมาใช้

ความพิการแต่ละประเภท มีความต้องการสัญญาณแจ้งอพยพเมื่อเกิดภัยพิบัติที่ไม่เท่ากัน ชูศักดิ์ อธิบายว่า ในแผนการจัดการภัยพิบัติสำหรับคนพิการ พ.ศ.2560-2564 เขียนไว้ครบหมดแล้ว ตั้งแต่ระบบฐานข้อมูลที่เรียกว่าระบบการทำบัตรคนพิการ ที่จะรู้ว่าคนพิการอยู่ในชุมชนไหน โดยอาศัยการปักหมุด GPS ซึ่งได้รับการยินยอมจากคนพิการ ซึ่งในแผนฯ ที่หมดวาระไปแล้วในปี 2564 นั้น เขียนเอาไว้ชัดเจน

แต่หน่วยงานยังไม่ได้เริ่มทำทั้งหมดเพราะเข้าใจว่า เป็นเรื่องของการต้องบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ต้องคุยกับ กสทช. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ระบบแจ้งเตือนเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากขาดเจ้าภาพที่จะดูแล ที่ผ่านมาจึงทำได้แค่อบรมให้ความรู้กับอาสาสมัครชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ช่วยแจ้งเตือนคนพิการ หรือเจ้าหน้าเพื่อความสะดวกต่อการอพยพ

“ที่ผ่านมาเราแจ้งเตือนกันแบบ analog อาจจะดีขึ้น แต่ยังไม่สามารถไปถึงจุดที่ต้องการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยกู้ภัยจากภายนอก ไม่คุ้นกับพื้นที่ไม่รู้ว่าใครอยู่ตรงไหน เพราะมันเกิดภาวะที่เรียกว่ามันไปทั่วแล้ว ฉะนั้นระบบพวกนี้อาจจะต้องพัฒนาแล้วจริง ๆ เนื่องจากในแผนที่แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวที่ยังไม่ได้ทำ”

ชูศักดิ์ จันทยานนท์

ปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการในระบบ 2.2 ล้านคน กว่าครึ่งเป็นคนพิการทางกาย และสูงอายุ ระบบเข้าไปช่วยคนพิการที่เคลื่อนไหวลำบาก พบว่า ยังขาดเครื่องมือ อุปกรณ์เฉพาะด้าน ซึ่งตามแผนฯ ได้เขียนไว้แล้วเรียกว่า “กองทุนสุขภาพคนพิการ” เพื่อเป็นการป้องกันภัยธรรมชาติ

ชูศักดิ์ จึงเสนอว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำข้อตกลงร่วมกัน แล้วกระจายเครื่องมือไปไว้ตามชุมชนที่เป็นจุดเสี่ยง เพื่อเตรียมการไว้ เช่นเดียวกับ จุดพักคอยคนพิการ เหมือนในช่วงโควิด-19 ซึ่งการทำงานของกระทรวง พม. เขามองว่า ทำได้ดีที่เปิดพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวง พม. คือ ศูนย์ สถาน บ้าน นิคม ต่างๆ เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัย สามารถเข้ามาพักพิงที่ศูนย์แห่งนี้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงพื้นที่ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว จำนวน 34 แห่ง ใน 13 จังหวัด ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

น้ำลด แต่การฟื้นฟูสำหรับคนพิการ…ไม่ได้มีแค่บ้าน ที่อยู่อาศัย

สำหรับการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประสบภัยของกระทรวง พม. ในส่วนคนพิการ ประกอบด้วย เงินสงเคราะห์ และฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ช่วยเหลือเป็นเงินหรือสิ่งของ 3,000 บาทต่อครอบครัว กรณีเป็นผู้สูงอายุประสบภาวะยากลำบากร่วมด้วย ช่วยเหลือเป็นเงินหรือสิ่งของ 3,000 บาทต่อครอบครัว

นอกจากนั้นยังต้องปรับสภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการหลังละไม่เกิน 40,000 บาท โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราว กรณีภัยพิบัติของ พอช. ช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสไม่เกิน 18,000 บาทต่อครัวเรือน

ชูศักดิ์ จันทยานนท์ เลขาธิการสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ชูศักดิ์ ยังมองว่า คนพิการแต่ละประเภทมีการติดตั้งอุปกรณ์ เครื่องช่วยเหลือภายในบ้านที่ไม่เท่ากัน บางรายเสียหายไปกับน้ำและโคลน จึงกังวลว่าเงินเพื่อปรับสภาพแวดล้อมคนพิการหลังละไม่เกิน 40,000 บาท อาจไม่เพียงพอ บางคนก็ต้องเลือกเอาชิ้นใดชิ้นหนึ่ง หรือวัสดุที่ถูกแต่คุณภาพไม่ค่อยดีเพราะไม่มีเงินมาเติม

คิดว่าจะต้องสำรวจรายครัวเรือนว่าถ้าบ้านไหนจำเป็นที่จะต้องใช้งบฯ ในการปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อความปลอดภัย และความอยู่รอดของคนพิการ ให้คณะกรรมการจังหวัดพิจารณาเป็นรายกรณี

“ในหนึ่งปี งบฯ ฟื้นฟูคนพิการของรัฐ รวมกับงบฯ ก็กองทุนคนพิการ ตั้งไว้ประมาณ 2,000 คน คิดว่าก็ยังใช้ไม่หมด แต่ถ้ามีภาวะอย่างนี้กรรมการฯ ให้อำนาจให้จัดเพิ่มได้ เพราะฉะนั้นถ้ารอบนี้มีการช่วยเหลือฟื้นฟู ปรับปรุงสภาพบ้าน คิดว่าความจำเป็นคือหน่วยงานต้นทางอาจจะต้องรีบสำรวจ วางแผนการใช้จ่ายให้มันตรงกับความเป็นจริง”

ชูศักดิ์ จันทยานนท์

เสนอรัฐ ปัดฝุ่นแผนการจัดการภัยพิบัติสำหรับคนพิการให้ทันสถานการณ์

เมื่อถามว่าแผนฯ ที่หมดวาระไปแล้วในปี 2564 ส่งผลต่อสถานการณ์เวลานี้หรือไม่ ชูศักดิ์ ยอมรับว่ามีผล อย่างน้อยก็ในเรื่องของการ บูรณาการการทำงาน และงบประมาณ

อย่างไรก็ตาม วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ได้สั่งวางแผนการช่วยเหลือในกลุ่มจังหวัดที่พื้นที่ที่ยังไม่เกิดภัย เพราะไม่อยากที่จะช่วยผู้ประสบภัยตามไล่หลังเมื่อเกิดภัย ย้ำว่า จากนี้รัฐต้องการให้กลุ่มเปราะบางรู้พิกัดล่วงหน้า เพื่อที่จะให้หน่วยปฏิบัติการได้ลงพื้นที่เจ้าไปช่วยเหลือ เช่น ทราบพิกัดว่าผู้สูงอายุ คนพิการ เด็กเล็กในครอบครัวอยู่ที่ไหนบ้างในพื้นที่ที่เกิดภัย เมื่อเราทราบล่วงหน้าจะสามารถวางแผนช่วยเหลือ ให้สามารถที่จะผ่านสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ชูศักดิ์ จึงเสนอว่า รัฐไม่จำเป็นต้องนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด แต่นำแผนฯ ที่เคยระบุเป็นแผนถึงระดับที่ 5 ที่ย้ำชัดเรื่องการป้องกัน และประกันสิทธิ์คนพิการให้ปลอดภัยมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง

“เขาบอกว่าต้องทำแผนปี 65-69 อะไรไม่รู้ผมก็ไม่เข้าใจ แต่คุณจะนับภาษาอะไรก็ทำไปเถอะ ขอแค่เอาแผนกลับมาพิจารณาหน่อยได้ไหม อาจจะไม่ต้องเยอะ ไปโฟกัสในเรื่องภัยพิบัติแต่ละด้านให้ชัด และกระบวนการกับอำนาจหน้าที่ อย่าง SMS แจ้งเหตุควรจะมีได้แล้ว คนอื่นก็จะได้ประโยชน์ด้วย”

ชูศักดิ์ จันทยานนท์

การปัดฝุ่นแผนการจัดการภัยพิบัติสำหรับคนพิการจะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่นั้น จำเป็นต้องอาศัยเจตจำนงค์ทางการเมือง ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตและคนพิการแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กลับไม่ได้เข้าร่วมมา 2 ปีแล้ว

สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย จึงคาดหวังว่าเห็นแผนฯ ดังกล่าวในรัฐบาลชุดนี้ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดการบูร ณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อทำให้ช่วงเวลาแห่งภัยพิบัติ ที่สร้างความยากลำบากให้กับผู้คนทั่วไป ได้เหลียวมองและให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือ ยกระดับคุณภาพชีวิต และความปลอดภัยให้กับคนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน