“คือเรื่องมหัศจรรย์ ที่เราได้พบธรรม”… มุมคิด ‘พระโตน’ กับ วิชาชีวิตที่ค้นเจอ

หากเอ่ยชื่อ พระมหาจักรธร อตฺถธโร คงมีพุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยที่สงสัย และอาจไม่รู้ว่าท่านเป็นใคร แต่ถ้าบอกว่าเป็น พระโตน ซึ่งในอดีตเมื่อครั้งเป็นฆราวาส คือ จักรธร ขจรชัยกุล หรือ โตน โซฟา นักร้องนำ มือกีตาร์วงโซฟา (Sofa) และโปรดิวเซอร์ เจ้าของเพลงฮิต “เรื่องมหัศจรรย์” และ “จะเก็บเรื่องราวของเราเอาไว้” ที่โด่งดังคุ้นหูคอเพลงวัยรุ่นในยุค 90s 

9 ปี ที่ตัดสินใจหันหลังให้กับเรื่องราวทางโลก เปลี่ยนสถานะจากศิลปินชื่อดัง มุ่งสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ตลอดเวลาเกือบทศวรรษ พระโตน ได้เฝ้ามองความเป็นไปของสังคมด้วยสายตาที่ต่างออกไปจากผู้ที่เคยยืนท่ามกลางแสงสีของโลกเสมือนใบใหญ่

The Active ชวนมองหลักคิดบนเส้นทางธรรมะของ พระโตน เมื่อปัญหาแห่งยุคสมัยที่ทำร้ายจิตใจผู้คนอย่างไม่มีวันจบสิ้นในเวลานี้ แก้ไขได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า วิชาชีวิต

9 ปี ชีวิตในสมณะเพศ

แม้ 9 ปี ทางโลกจะแสนยาวนาน แต่สำหรับเส้นทางธรรมของพระโตน กลับมีเรื่องราวให้ค้นหาไม่รู้จบ ราวกับ โรงเรียนแห่งชีวิต

“ตอนแรกหลวงพี่ตั้งใจจะบวชแค่ 3 เดือนเท่านั้น แต่เอาเข้าจริงแล้ว แต่ละวันมีอะไรให้เรียนรู้มากมายจนไม่ได้นับวันเวลา รู้ตัวอีกที ก็ผ่านมา 9 ปีแล้ว”

“ก่อนหน้าที่จะบวช หลวงพี่ก็มีเป้าหมายในชีวิตคล้ายพวกเราหลายคน คือ อยากประสบความสำเร็จ จะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องวัดด้วยทรัพย์สิน ตัวเลขในบัญชี บางทีก็ต้องวัดด้วยตำแหน่งหน้าที่การงาน การนับหน้าถือตาของคนอื่น อย่างตอนนั้นหลวงพี่เป็นนักดนตรี เวลามีคนจ้างเราไปเล่นที่ไหน หรือชื่นชมเพลงที่เราทำ เราก็ดีใจ ยิ่งทำ ยิ่งอยากให้คนรู้จักเยอะ ๆ พอวันที่เจอคนไม่รู้จักเพลง ไม่รู้จักเรา เราก็ทุกข์ เชื่อไหมว่าตอนนั้นลึก ๆ แล้วอยากอยู่เงียบ ๆ มากกว่าเสียอีก”

พระโตน ย้อนเรื่องราวในวันวาน

พระโตน ตัดสินใจอุปสมบทเมื่อปี 2559 ที่วัดบวรนิเวศวิหาร จนถึงปัจจุบัน ในช่วงแรกนั้น ชีวิตปุถุชนทางโลกที่เข้าสู่ทางธรรมย่อมไม่ใช่เรื่อง่าย ไม่ว่ากับใคร รวมทั้งพระโตนด้วย

“มาบวชแรก ๆ หลวงพี่ต้องปรับตัวเยอะมาก ทั้งไม่มีระเบียบ เอาแต่ใจ รักอิสระ แต่การบวชทำให้เราต้องทำทุกอย่างตามกรอบ เมื่อต้องทำเช่นนั้นจึงเกิดการฝึกตน ช่วงแรกรู้สึกอึดอัดมาก แต่หลายปีผ่านไปกลับรู้สึกสบาย และได้พบกับการเปลี่ยนสำคัญ 5 เรื่องของตัวเอง”

พระโตน เล่า

คือเรื่องมหัศจรรย์…ของการเป็น ‘พระโตน’

หลังจากได้เริ่มบวชเรียนเพียรธรรม ไม่เพียงแต่การได้พบเจอกับความสงบแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ได้รู้จักตนเอง ผ่านการใช้ชีวิตอย่างประณีตลึกซึ้ง และหากเราจะเรียกว่าข้อค้นพบธรรมดา ๆ ง่าย ๆ เหล่านี้คือเรื่องมหัศจรรย์ของการมีชีวิตก็คงไม่เกินเลยไปนัก

“หลังจากเลิกร้องเพลง หลวงพี่ก็เดินเส้นทางโปรดิวเซอร์กว่า 10 ปี ต้องอยู่แต่ในห้องอัด กินดึก เข้านอนตอนเกือบเช้า นาฬิกาชีวิตปั่นป่วน ตอนนั้นพาให้น้ำหนักขึ้นจนเกือบ 90 กิโลกรัม แต่พอมาบวช กิจวัตรของสงฆ์ทำให้เกิดระเบียบวินัย ทั้งการกิน นอน เดิน และการใช้ชีวิต จนกลับมามีสุขภาพดีจนถึงตอนนี้ แต่นี่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงชัดเจนข้อแรกเท่านั้น”

พระมหาจักรธร อตฺถธโร (พระโตน)

ขณะที่ในความรู้สึกนึกคิด พระโตน ก็ยอมรับว่า รู้สึกเปลี่ยนแปลงจากภายในเป็นอย่างมาก เมื่อก่อนเป็นคนใช้ความรู้สึกเป็นที่ตั้ง ชอบใครก็คุย ไม่ชอบใครก็หลีกหนี แต่การบวชทำให้ต้องอยู่ในกติกา จะทำตามแต่ใจตัวเองไม่ได้แล้ว เวลามีปัญหาก็เลิกพยายามแก้ไขที่คนอื่น แต่แก้ไขที่ตัวเองก่อน เอาใจเขาใจเราเป็นที่ตั้ง

หลังจากนั้น จึงพบว่า คุณภาพของความสัมพันธ์ดีขึ้นอย่างชัดเจน จากข้อค้นพบนี้ ทำให้พระโตนบอกกับตัวเองเสมอว่า 

“สิ่งไหนดีแต่ไม่เคย ให้ฝึกทำ สิ่งไหนไม่ดีแต่เคยชิน ให้ตัดออก” 

อีกสิ่งหนึ่งคือเรื่อง การรู้จักตัวเอง รู้ตัวว่าอะไรคือคุณค่าในชีวิต ซึ่งอาจต่างจากคนอื่นก็ได้ เพราะการรู้เนื้อ รู้ตัว ว่า กำลังทำอะไรอยู่ และสิ่งใดมีความหมายกับเรากันแน่ เป็นสิ่งที่ต้องทำความรู้จักและกำหนดขึ้นมาเอง

สำหรับข้อค้นพบสุดท้าย ถือเป็นสิ่งที่ยากที่สุด แต่ก็สำคัญที่สุด คือ การปล่อยวาง ที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนเท่านั้น หาใช่การอ่าน การเขียน เรียนรู้ได้จากตำราเล่มไหน

พระมหาจักรธร อตฺถธโร (พระโตน)

นอกจากข้อค้นพบเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างละเอียดของตนเองแล้ว อีกหนึ่งคุณค่าสำคัญที่ทำให้ตลอด 9 ปีบนเส้นทางธรรมของพระโตน มีคุณค่า และความหมายอย่างลึกซึ้ง จนไม่อาจเทียบเคียงได้กับการอยู่ทางโลก คือ “การได้มองออกมานอกตนเอง” และเห็น กับ “นาทีสุดท้ายของลมหายใจ”

“ตลอด 9 ปี ที่หลวงพี่บวชเป็นพระ ได้เจอญาติโยมมากมายที่นิมนต์หลวงพี่ไปในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต การบวชทำให้เรามีโอกาสอยู่ในวินาทีสุดท้ายของลมหายใจผู้คนนับครั้งไม่ถ้วน หลวงพี่นั่งอยู่ที่เดิม เฝ้ามองคนเหล่านั้นครั้งแล้วครั้งเล่า มันเป็นช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้ชีวิตเยอะมาก ทำให้เรารู้จักอย่างถ่องแท้ว่า ชีวิตคนเราไม่ได้ยืนยาวเลย ไม่ว่าวันนี้เราจะทำอะไร หรือสร้างอะไรไว้ สุดท้ายมันเอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง”

พระโตน ย้ำความเข้าใจชีวิต

ความทุกข์แห่งยุคสมัย และ แก่นแท้ 5 ประการของชีวิต

เมื่อหมดลมหายใจ ก็ฝากไว้แต่ความทรงจำ การใช้ชีวิตใน ปัจจุบัน ให้มีความสุข และมีความหมาย จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ แต่ปัญหาของผู้คน คือ หาความสุขของตัวเองไม่เจอ

พระโตน บอกว่า ความสุขของมนุษย์มีได้มากมายหลายแบบ เฉกเช่นเดียวกับสิ่งของ และเรื่องราวมากมายที่พรากความสุขเราไปได้เช่นกัน ในวัยเด็ก ความทุกข์อาจเป็นเรื่องความฝัน และเป้าหมาย

แต่เมื่ออายุมากขึ้น มิติของชีวิตยิ่งซับซ้อนขึ้น หากพิจารณาให้ดี ชีวิตจะมีความสุขได้คงหนีไม่พ้นแก่นของชีวิต 5 ประการ ได้แก่

  • สุขภาพทางกาย

  • ความสัมพันธ์

  • ความรู้สึกนึกคิด จิตใจ

  • การพบเจอคุณค่า และความหมายของชีวิต

  • การปล่อยวาง หรือการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
พระมหาจักรธร อตฺถธโร (พระโตน)

“ปัญหาชีวิตคนเราอยู่ใน 5 เรื่องนี้แหละ จะเจอตอนไหนไม่รู้ แต่เจอแน่ ๆ ยิ่งการมีโซเชียลมีเดียทำให้เกิดปัญหาใหม่ ๆ ขึ้นทุกวันที่เดิมไม่เคยเป็นปัญหาของเรา นั่นเพราะเราเผลอเอาชีวิตตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น และยังต้องเหนื่อยกับการวิ่งตามเทรนด์ใหม่ ๆ ตลอดเวลา ในขณะที่เราก็ยังกังวลกับความไม่แน่นอนของชีวิต ทั้งปัญหาของวันนี้ พรุ่งนี้ หรือปีหน้า จนใจเราหวั่นไหว”

“เวลาเจอปัญหา หลวงพี่อยากให้ลองมองกว้าง ๆ ไว้ก่อน หลายปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่เรา แต่เกิดกับคนทุกเพศทุกวัย และเกิดไปทั่วโลก อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจ ให้ลองถอยออกมาก่อน แล้วตั้งสติ ศึกษาหาข้อมูล และอย่าลืมมองปัญหานั้นอย่างระมัดระวังรอบคอบ

เมื่อปัญหา แก้ได้ด้วย ‘วิชาชีวิต’     

ปัญหาทั้งหมดที่เช็กลิสต์มา พระโตน ย้ำว่า ต้องหาทางแก้กันไป โดยแนะนำ วิชาชีวิต 3 ขั้นตอน เมื่อเผชิญความทุกข์ นั่นคือ

  • กำหนดหัวเรื่อง

  • สำรวจชีวิต

  • ช่วยเหลือคนรอบตัว

หากเจอปัญหาอะไรในชีวิต ขั้นแรก พระโตน แนะนำ ให้ลอง กำหนดหัวเรื่อง ก่อนว่า สิ่งที่เจออยู่คือเรื่องอะไรกันแน่ ซึ่งก็คงหนีไม่พ้น 5 ประการ ที่บอกไปข้างต้น 

จากนั้นขอให้กลับมา สำรวจชีวิตตนเอง เพราะความเสียหายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขอให้พยายามหาทางรอดให้ได้ เมื่อเจอทางรอดแล้ว ก็ขอให้มองหาทางเลือก และหากเจอทางเลือกแล้ว ขอให้เลือกทางที่เป็นกุศลและรักษาเอาไว้ให้นาน

และเมื่อรอดแล้ว อย่าลืมเหลือบ มองคนรอบ ๆ ตัว เรามีความรู้ความชำนาญด้านไหน ขอให้ผสมเจตนาดีเข้าไป เผื่อแผ่ให้คนรอบข้าง และอย่าลืมว่า เจตนาที่ดีต้องมีวิธีการที่ดีด้วย ข้อนี้จะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่ว่า 2 ข้อแรกเราสร้างมาอย่างแข็งแรงไหม

“ท้ายที่สุดแล้ว ความทุกข์ทั้งหมดไม่มีใครไม่ประสบ แม้กระทั่งหลวงพี่เอง ขอให้คิดว่าแต่ละวันคือวิชาของชีวิตที่ต้องเรียนรู้ เรียนที่จะแก้ ตั้งแกนชีวิตกันใหม่แล้วทำมันให้ดีแล้วชีวิตจะมีความสุข…หลวงพี่เชื่อเช่นนั้น”

พระโตน ฝากทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

แนวคิดของ พระโตน – พระมหาจักรธร อตฺถธโร ในบทความนี้ ถูกถ่ายทอดไว้อย่างงดงามภายใน งาน “Mind day ภูมิคุ้มใจ” PRESENTED BY SHISEIDO