Life (ไร้) อิสระ

สำรวจ ชีวิต ความฝัน และ พันธนาการ ของคน GenZ

รู้สึกไหมว่าชีวิตที่เรากำลังเผชิญในวัย 20 กว่า มันถึงเจอปัญหาถาโถมเข้ามาไม่ลดละเลย เหมือนกลับว่าอะไรก็ตามที่เป็นปัญหาได้วิ่งพุ่งใส่เราอย่างไม่ใยดี  ทั้งปัญหาภายในที่กดดันตัวเอง ปัญหาจากสิ่งรอบตัวคนรัก ครอบครัว เพื่อน ที่ทำงาน และสังคมที่ใช้ชีวิตในทุก ๆ วัน แม้พยายามจะแก้ปัญหา และใช้ชีวิตมากแค่ไหนก็ยังรู้สึกว่าไม่มีคนเข้าใจ  ไร้ที่ยึดเหนี่ยว 

ยิ่งในโลกทุนนิยมเช่นนี้ หลายคนต้องยอมจำนน วางความเป็นตัวเองแล้วจำยอมให้ทุนนิยมกดหัว กลืนกินอุดมการณ์หนุ่มสาวเพื่อแลกมาด้วย สิ่งที่เรียกว่า ‘เงิน’ หวังเพื่อให้ตนได้อิ่มในแต่ละวัน บางคนต้องเจียดเงินที่พอมีกลับไปเลี้ยงปากท้องของคนที่บ้าน

ทางเลือกของคนเหล่านี้มีมากเสียที่ไหนล่ะ ถ้าอยากมีเงินให้เลี้ยงชีพได้เป็นเดือน ไม่เป็นข้าราชการที่รอกินบำนาญตอนเกษียณ  ก็ต้องเป็นแรงงาน หรือ พนักงานประจำ แต่ก็มีบางคนที่เลือกออกมาทำงานเป็นนายจ้างตัวเองเพื่อที่จะได้มีชีวิตที่ ‘อิสระ’ และหวังว่าจะมี ‘ความสุข’ 

แต่ในสังคมที่แวดล้อมไปด้วยความคาดหวังเช่นนี้ การตัดสินใจสร้างทางเลือกให้ตัวเองบนเงื่อนไขประเทศที่ยังมีมายาคติ และไม่ได้มีครรลองที่แข็งแรงเพียงพอ สำหรับการจะสร้างตัว สร้างความมั่นคง ‘อิสระ’ ในการชีวิต จึงถูกตั้งคำถามว่ามีอยู่มากน้อยแค่ไหน

“รู้สึกว่าชีวิตมีอิสระเท่าที่ประเทศนี้จะให้ได้แล้ว ประเทศนี้สามารถให้อิสระได้ประมาณนี้ มันอาจจะมีคนที่ไม่สามารถใช้ชีวิตอิสระได้เท่าเรา แต่เราก็อยู่ในระดับที่ประเทศไทย พอจะให้ได้รู้สึกว่าเราก็คงใช้ชีวิตได้ในระดับนี้แหละที่ประเทศนี้จะสามารถให้ได้”

แป้ง-พนิตนันท์ สุวรรณรัตน์ หญิงสาวผมหยิกยาว ตัวเล็ก ตาโต ผู้นิยามตัวเองว่าเป็น ดีไซเนอร์ ซึ่งตอนนี้ได้ลาออกจากงานที่เคยทำประจำ มาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัวในวัย 26 ปี  

“หลายคนอาจคิดว่าเราเรียนจบแล้วน่าจะแยกออกมามีชีวิตเป็นของตัวเอง แต่เรารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีอิสระทางการเงินมากพอที่จะ มีที่พักเป็นของตัวเองขนาดนั้น อยู่กับน้องมันก็มีทะเลาะกันบ้าง… ผมต้องพยายามมีความสุขในเงื่อนไขชีวิตตรงนี้ให้ได้ ”

คือความเห็นของเจ้าของรองเท้าผ้าใบสีขาว เสื้อกันหนาวน้ำตาลรับกับสีกางเกงอย่าลงตัว และท่าทีของเขากับการตอบค่อนข้างที่จะชัดเจนและมั่นใจ วอร์ม-สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ  First jobber ที่ก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงานในตำแหน่ง Content Creator  วัย 24 ปี

ชายหนุ่มหน้าคม แววตานิ่ง สวมรองเท้าหนังเก่า ๆ สีน้ำตาล หมวกและเสื้อที่ถูกทักทอขึ้นมาด้วยการทำมือ กางเกงขายาวสีดำหลวม ๆ บวกกับหนวดเคราและผมยาวที่ถูกมัดรวบเก็บไว้ในหมวก  เอ่ยว่า 

“ชีวิตมีอิสระมากแค่ไหน? มากครับ รู้สึกว่ามีอิสระมาก อาจจะด้วยหลาย ๆ อย่างในชีวิต อาชีพทุกอย่างในชีวิตมันก็ไม่ได้อยู่ภายใต้องค์กรเราก็เลยรู้สึกว่าอิสระ” 

คำตอบของ ปัน-พุทธิพฤกษ์ พุ่มมาก หนุ่มนักดนตรีอิสระ ตอบแบบสรุปรวมตลอดช่วงชีวิต 27 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนความคิดเห็นที่ตรงกันข้ามกับ 2 คนแรกอย่างสิ้นเชิง 

แม้จะมีความต่างในคำตอบ แต่มีจุดร่วมเดียวกัน คือคำถาม คิดว่าชีวิตตัวเองมีอิสระมากแค่ไหน? 

แล้วคนเราต้องพยายามมากแค่ไหนกันเชียวเพื่อจะมีชีวิตที่ดี มีชีวิตอิสระ อิสระในการกิน อิสระในการนอน อิสระในการพูด อิสระในการร้องเพลง รวมถึงอิสระในการทำงาน  ภายใต้เงื่อนไขของชีวิตที่มีอยู่ในประเทศนี้ อ่านไม่ผิดประเทศนี้ที่ว่า คือ ประเทศไทยนี่แหละ  

นอกจากคำถาม เรื่องความอิสระในชีวิต เราตั้งต้นในการพูดคุยกับ 3 คนนี้ด้วยการตั้งข้อสันนิฐานว่าคนช่วงวัยนี้ ถือว่าเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อหลังจบการศึกษา เคยได้ยินไหมว่า เมื่อคุณเรียนจบจากระบบการศึกษา ต่อไปคุณจะได้มีชีวิตที่อิสระจากการถูกบังคับและกดขี่ของระบบ มันเป็นเช่นนั้น จริง ๆ หรือ?

เราเริ่มการสนทนาด้วยการสำรวจความคิด และสภาวะของหนุ่มสาววัยที่กำลังจะเบ่งบานเหล่านี้

โจทย์มีอยู่ว่า มีคะแนนชีวิตเต็ม 100 คะแนน ที่ผ่านมา ให้ตัวเองกี่คะแนน 

     “คิดว่ายังไม่ถึง 50 ด้วยซ้ำ อาจจะ 30 – 40 มีความรู้สึกว่าชีวิตพึ่งเริ่มทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ หมายถึงว่าเราต้องเดินทางอีกไกล แต่ว่าถ้าเต็ม 100 มันกำลังเดินทาง มันเป็น process ที่เรากำลังจะไป ถามว่าถึงครึ่งทางไหมก็ยังไม่ถึง ก็เลยคิดว่าคะแนนชีวิตอยู่ประมาณ 30 – 40” 

แป้ง พนิตนันท์

ก่อนหน้านี้แป้งเล่าว่า เธอจบการศึกษาสาขาออกแบบมาหลังจากเรียนจบ เธอได้งานทำทันที และได้ทำงานตรงสายที่เรียนมา  แต่กลับไม่สำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น เธอมีปัญหาในที่ทำงานทำให้ต้องออกจากที่ทำงานนั้น และพยายามค้นหาตัวเองด้วยการทำงานอื่น ๆ แต่รู้สึกว่าไม่เป็นตัวเองอึดอัดกับสิ่งที่ทำจนถึงขั้นเธอก็ตัดสินใจลาออกจากงานอีกครั้ง บวกกับช่วงที่ปัญหาครอบครัว ปัญหาความรัก ถ่าโถมเข้ามาที่ตัวเธอ 

“เราไม่อยากให้มองว่าความรักไม่สำคัญกับชีวต แล้วบอกว่า เธอจะไปอะไรกับความรัก เราว่าการที่เรายอมรับว่าความรักมันอยู่รอบตัวเอง และความรักมันมีผลกับชีวิตจริง ๆ แล้วเราถือความรักโดยปลอดภัย   เราเลยคิดว่าเป็นส่วนสำคัญ  ไม่ว่าจะเป็นคนรัก หรือครอบครัวมันก็เป็นความรักทั้งหมด คิดว่ามีส่วนสำคัญกับชีวิต” 

ชีวิตไปอยู่ในจุดสุญญากาศ หัวใจที่เคยเต้นไหว กลับค่อย ๆ ช้าลงและไม่ร่าเริงเหมือนเดิม  เหมือนการมีชีวิตอยู่ตอนนั้นล่องลอยและตัวตนเธอได้หายไป 

“ผมให้ 60 อาจเพราะแฮปปี้กับชีวิต ณ ปัจจุบัน ประมาณหนึ่ง ส่วนที่หายไป 40 % อาจจะเป็นโอกาส โอกาสของงาน หมายถึงว่า เราอยู่ในประเทศที่ไม่ได้สนับสนุนงานประเภทนี้อะไรขนาดนั้น” 

ปัน-พุทธิพฤกษ์ 

หนุ่มนักดนตรีผู้นี้ เป็นหนุ่มใต้ เดินทางเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุประมาณ 15 ปี และอาศัยอยู่วัดจนเรียนมหาลัย ปัน เล่าว่าแม้ว่า เขาจะเป็นนักดนตรีอิสระจากองค์กรที่ครอบไว้ มีอิสระในการทำงาน และสิ่งที่ชอบก็ทำเงินให้เขาได้ด้วย แต่มันก็มีความเสี่ยงตลอดเวลา ยิ่งในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ตอนนั้นงานกำลังไปได้สวย ใน 1 เดือนเขารับงาน 13 งาน แต่ท้ายสุดกลับโดนยกเลิกทุกงาน โควิดรอบแรกยังไม่เท่าไหร่เพราะ ยังมีเงินเก็บอยู่บ้างแต่พอรอบสองมาซ้ำเติมยิ่งหนัก โดยเฉพาะกับการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงที่ค่าครองชีพสูง จนทำให้ทุกอย่างมันพังไปหมด 

“ตัดสินใจโทรกลับไปปรึกษาที่บ้าน  ขอโทษนะ ช่วงนี้ เรื่องเงินและปัญหามากมาย เลยร้องไห้ เขาก็ให้อภัยเราแล้วบอกว่า ไม่เป็นไรนะ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เขาเข้าใจเรา ณ ตอนนั้นก็เลยร้องไห้”

ปันเล่าต่อว่า สิ่งเดียวที่รักและทำมันได้ดีคือการเล่นดนตรี แต่ ณ ตอนนั้นเขากลับทำอะไรไม่ได้เลยกับสิ่งที่เขามี หากจำได้ในช่วงการระบาด ดนตรีแทบจะเป็นอาชีพแรก ๆ ที่ถูกสั่งให้หยุด และเกือบเป็นลำดับสุดท้ายที่อนุญาตให้กลับมาเล่นได้ ช่วงเวลาที่หยุดไป ทำให้โอกาสที่เขาจะเติบโตไปในสายงานต้องถูกแช่แข็งไว้ 

“ช่วงนี้ลดเหลือสัก 70 แล้วกันครับกันเพราะรู้สึกว่าช่วงเด็ก ๆ  ชีวิตไม่ได้ยากขนาดนี้ ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ เรารู้สึกว่าใช้ชีวิตได้ดีเสมอมา พอเริ่ม เรียนจบมีเรื่องต้องคิดมากขึ้น ต้องทำงานอะไร จะใช้ชีวิตที่ไหนต่อ ต้องเช่าคอนโดฯ ที่ไหน ยังไง มันรู้สึกว่าเราใช้ชีวิตได้ดีน้อยลง”

วอร์ม-สิรวิชญ์

วอร์ม เป็นนักสะสมความเครียดก็ว่าได้ เขานิยามตัวเองว่าเป็น perfectionist เพราะเขาเชื่อว่าชีวิตเกิดมาแค่ครั้งเดียว ทำให้ตั้งแต่เด็กจนโตเขาจะใช้ชีวิตเต็มที่และอยากให้หลาย ๆ อย่างที่ทำออกมาดีที่สุดเพราะชีวิตเกิดมาแค่ครั้งเดียว แต่พอมันไม่ดี อาจมีข้อบกพร่องนิดหน่อย มันยังดีไม่พอ มันยังดีได้กว่านี้ อันนี้มันยังแก้ได้ แต่นั่นมันทำให้เขากลายเป็นคนเครียดได้ง่าย 

“ตอนเด็ก ๆ เราอาจจะยังไม่เข้าใจว่าความเครียด ที่เรามีคืออะไรกันแน่ แต่พอช่วงโตขึ้นก็ยอมรับว่ามันมีช่วงที่เราจัดการมันไม่ได้ ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ประมาณ ปี 2 ช่วงนั้นมันประดังประเดไปหมด จนเราไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง  ทั้งเรื่องเรียน เรื่องความสัมพันธ์ ยิ่งเราเองเป็นคนที่ perfectionist อย่างที่บอก พอมันจัดการไม่ด้มันมีภาวะของการย้ำคิดย้ำทำ อยากแก้มันเรื่อย ๆ”

และสิ่งที่เขาเป็นนั้น เขาเล่าว่าจัดการไม่ได้ จนท้ายที่สุดถึงจุดที่มีการปรึกษากับจิตแพทย์ แล้วมีการกินยา 

จาก 100 คะแนน ชีวิตมากกว่า 20 % ของพวกเขาถูกกัดกินและหายไป ด้วยสิ่งที่เรียกกันว่า ‘ปัญหา’ ในบทสนทนามีสิ่งที่ชวนเราตั้งคำถามต่ออย่างไม่รู้จบ เพราะเราพบกับบาดแผลของพวกเขาที่ถูกเฆี่ยนตี และพันธนาการจากโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ครอบเขาไว้

ช่วงชีวิตที่ผ่านมาของเขาทั้ง 3 คน ต่างก็เคยผ่านช่วงเวลาที่เจ็บปวดมาไม่ต่างกับคนรุ่นราว คราวเดียวกันมากนัก แป้งเคยลาออกจากงาน หาทางไปไม่เจอ อกหักจากความรักแบบหนุ่มสาว  ปันงานโดนยกเลิกเงินเก็บแทบไม่เหลือ วอร์มเครียดกับทุกเรื่องและตั้งความหวังว่าทุกอย่างจะดี แต่สุดท้ายมันก็พัง ประสบการณ์นี้เรียกว่าเป็นความเจ็บปวดร่วมของคนรุ่นเดียวกันก็เห็นจะได้ 

ในช่วงเวลาที่หลายคนต่างก็มองหาสิ่งที่เรียกว่า  พื้นที่ปลอดภัย เจ้าของธุรกิจผ้าขนาดเล็ก ที่พึ่งมีแฟนคลับหลักสิบหลักร้อย อย่างแป้ง-พนิตนันท์ เล่าว่าพื้นที่ปลอดภัยในชีวิตของเธอพึ่งจะเจอเมื่อตอนที่ชีวิตอยุ่ในจุดสูญกาศ คือบนกี่ บนกี่ที่เราทอผ้า  ของแม่ ๆ ยาย ๆ  โดยบอกว่าทุกครั้งที่ขึ้นไปทอผ้าบนนั้นทุกอย่างมันสงบ ตัดทุกความเศร้า ตัดทุกความคิดมาก ตัดทุกอย่างเลย 

“เราอยู่บนนั้นใจเราฟูมาก ใจเขาสงบ ใจเขาบอกว่านี่แหละ เธออยู่ตรงนี้แหละถูกแล้ว ฉันรู้สึกโอเค และยินดีมาก ๆ ที่จริงการที่แป้งไปทอผ้า แป้งไป healing (การรักษา)ใจตะโกนออกมาว่าฉันกลับมาแล้ว มันดีมากจริง ๆ”

ส่วนหนุ่มศิลปิน อย่าง ปัน-พุทธิพฤกษ์ เล่าว่าพื้นที่ปลอดภัยของเขาคือบนเตียงนอน

“มันได้อยู่กับตัวเอง ได้มาวิเคราะห์ ได้สังเคราะห์ตัวเอง มันได้ทบทวนตัวเอง บ้านก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ปลอดภัยและได้ไออุ่นจากครอบครัว”

จริง ๆ แล้วพื้นที่ปลอดภัยที่ว่าไม่ใช่เพียงสถานที่ แต่เป็นกิจกรรม เพลง หมา แมว แล้วได้ทั้งหมดแต่รู้สึกว่า สิ่งนี้แหละปลอดภัย เพราะ วอร์มเอง กลับมองว่าพื้นที่ปลอยภัย หรือพื้นที่ความสุขของเขา คือ การออกกำลังกาย 

“พื้นที่ปลอดภัยของผมง่ายมาก แต่รู้สึกว่ามันเกิดขึ้นยากจริง ๆ  เพราะในชีวิตแต่ละวันเราต้องไปเจียดเวลาให้กับอะไรหลายอย่างที่กินเวลาชีวิต จนไม่ได้เหลือไว้ให้ทำสิ่งที่เราชอบเลย อย่างการที่เราต้องนั่งรถติดบนถนน ถ้าตัดสิ่งนี้ออกไปชีวิตน่าจะมีความสุขมากขึ้น”

แม้ชีวิตจะพบกับอุปสรรค และปาดน้ำตาอยู่หลายครั้ง บางคนเจอความมืดบอด แต่ท้ายสุด ตอนนี้พวกเขาทั้งหลายกำลังจะเบ่งบานใหม่อีกครั้ง ด้วยสารอาหารที่เรียกว่า ‘ความผิดพลาด’ และ ‘บทเรียน’ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วราพร อัมภารัตน์

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

ชาลี คงเปี่ยม