เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โอกาส-ทางรอด เศรษฐกิจเมือง

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญต่อการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่รักษาต้นทุนทางศิลปะ วัฒนธรรม แต่คือโอกาสในการยกระดับมูลค่าทางการผลิต ในวันที่นิคมอุตสาหกรรมกำลังจะกลายเป็นเรื่องเชย The Active ชวนอ่านมุมมอง วิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และข้อเสนอเชิงนโยบายในช่วงใกล้เลือกตั้ง โดย 4 นักสร้างสรรค์ตัวจริง ผ่านบทสรุปจากเวทีสาธารณะ ‘ฟังเสียงเมืองสร้างสรรค์ ผ่านกรุงเทพมหานคร’ จัดโดย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว

มนฑิณี ยงวิกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ องค์การมหาชน (CEA) กล่าวว่า CEA มีบทบาทในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ คือการส่งเสริมให้เกิดการนำความคิดสร้างสรรค์ไปใช้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เรานิยามเมืองสร้างสรรค์ว่าเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่เอื้อให้นักสร้างสรรค์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทำงานต่อไปได้ ในส่วนของการส่งเสริม ก็ต้องทำเมืองเหมาะกับการเกิดงานสร้างสรรค์ ให้สามารถทำธุรกิจ การลงทุน และสร้างผลผลิตในเชิงธุรกิจต่อไป

หากจะยกตัวอย่างกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น Bangkok Design Week หรือ Unfolding Bangkok ซึ่งไม่ใช่แค่งานอิเว้นต์ แต่เป็นกิจกรรมที่ถูกคิดบนฐานความรู้แล้วว่า จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเมืองสร้างสรรค์ โดยเป็นแพลตฟอร์มให้นักสร้างสรรค์ทุกรุ่นได้ไปแสดงผลงาน สร้างประสบการณ์ในพื้นที่ของเมือง ก็จะช่วยพัฒนานักสร้างสรรค์ไปในตัวด้วย

“ความคิดสร้างสรรค์มันจึงอยู่ที่ว่าจะเป็นในแนวทางการสร้างคน สร้างประสบการณ์ หรือการสร้างธุรกิจ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะมีเป้าหมายเดียวกันก็คือการสร้างเมืองให้น่าอยู่ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้น”

อย่างตอนนี้กรุงเทพมหานคร มีทั้งหมด 9 ย่านสร้างสรรค์ ขยายเพิ่มจากเดิมที่มีอยู่แค่ 5 ย่าน โดยผู้คนเริ่มมองเห็นโอกาสในการพัฒนาย่านของตัวเองมากขึ้น CEA ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย และเครือข่ายภาคประชาชน เช่น ถ้าย่านเมืองเก่าก็มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฝั่งธนบุรี มีกลุ่มยังธน หรือกลุ่มเกสรลำพู ที่ย่านบางลำพู เวลาลงพื้นที่ก็ต้องไปแสวงหากลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์แบบนี้ เพื่อถามถึงโอกาสที่จะทำงานร่วมกัน จากนั้นก็จะมีการประเมินความพร้อมของแต่ละพื้นที่ และสนับสนุนตามความเหมาะสม ทั้งในรูปแบบของการเสนอโครงการ ผ่านคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อรับเงินสนับสนุน

แต่เนื่องจากว่า CEA ก็มีงบประมาณที่จำกัด (300 ล้านบาทต่อปี) เงินสนับสนุนก็มีตัวเลขทั้งหลักหมื่น หลักแสน อาจจะน้อยมากถ้าเทียบกับสิ่งที่คนอยากจะทำ แต่ก็หวังว่าโอกาสที่ทำงานร่วมกันนี้จะเป็น portfolio ทำให้คนทำงานได้เป็นที่รู้จักและช่วยสนับสนุนให้สามารถเข้าสู่ตลาดโดยทำงานร่วมกับเอกชนต่อไป

“ปัจจุบัน CEA มีการแบ่งหมวดงานสร้างสรรค์เป็น 15 หมวด เพื่อให้สามารถเก็บสถิติจากหน่วยงานต่าง ๆ มาคำนวนเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ แต่ในเชิงนโยบายไม่ใช่แค่ CEA แต่ละหมวดก็มีเจ้าภาพอยู่แล้ว เช่น เรื่องงานภาพยนตร์ก็จะมีหลายหน่วยงานดูแล ถ้าหากระดับนโยบายสามารถมองเห็นองค์รวมของการทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น ว่ามีหน่วยงานไหน มีงานอะไรต้องสนับสนุน ลงทุน เชื่อว่าทุกหน่วยงานที่ทำงานเรื่องนี้อยู่ก็สามารถแสดงผลประกอบการมาเป็นฐานข้อมูลได้ เพียงแต่ขาดแค่นโยบายที่จะรวมสิ่งเหล่านี้ ให้เกิดการทำงานเข้าด้วยกัน และถ้านโยบายในเชิงนี้มีความชัดเจน มันก็จะช่วยทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน จัดการเรื่องงบประมาณได้ดีขึ้น เป็นส่วนช่วยให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเมืองสร้างสรรค์เติบโตไปได้”

ปิยา ลิ้มปิติ รองผู้อำนวยการศูนย์เมืองมิตร (Urban Ally) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า Urban Ally เป็นหน่วยวิจัยการออกแบบชุมชนเมือง และสร้างประสบการณ์ในเมืองผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับบทในการเป็น Host ย่านพระนคร จัดงาน Bangkok Design Week และงาน Unfolding Bangkok เราก็ออกแบบงานสร้างสรรค์ให้เข้ากับธีมของงาน เช่น Bangkok Design Week ธีมหลักคือ ทำอย่างไรให้เมืองเป็นมิตรเราก็ตีโจทย์กลับมาในย่านพระนครว่า ความท้าทายในย่านพระนครอยู่ตรงไหน หาวิธีพลิกฟื้นเมืองเก่าให้กลับมามีชีวิต และมีความคึกคักอีกครั้ง จึงวางจุดการจัดแสดงงานให้เชื่อมต่อกัน ทั้งในพื้นที่ใจกลางเมืองและพื้นที่ชุมชนเมือง

ในธีม “มิตรบำรุงเมือง” หมายถึงการชวนมิตรทั้งหลายมาร่วมบำรุงเมือง พื้นที่ไฮไลต์ก็คือการเปิดตึกประปาแม้นศรีให้ทุกคนมามีประสบการณ์ชมศิลปะร่วมกัน โดยได้รับความร่วมมือจากทีมนักออกแบบแสง โปรเจคชันแมปปิง หรือคนที่เป็นศิลปินชุมชน หรืออย่างงาน Unfolding Bangkok ที่วัดภุมรินทร์ราชปักษี ก็มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อเปิดประสบการณ์เมือง มีทั้งตลาด หลังกลางแปลง การปั่นจักรยานสำรวจพื้นที่ ให้พวกเขาได้เรียนรู้ลักษณะทางกายภาพของเมืองด้วยตัวเอง และจะเกิดการจุดประกายใหม่ ๆ ในการพัฒนาขึ้นมา เช่น ไอเดียว่าหากมีทางเชื่อมตรงนี้จะดีกว่าเดิมไป ซึ่งกระบวนการนี้จะง่ายกว่าการไปกางผังเมืองแล้วนักออกแบบลงความเห็นเลย

แนวทางการทำงานของ Urban Ally เริ่มต้นจากการทำฐานข้อมูล open data เพื่อเสาะหาดูว่าประชากรอยู่ตรงไหนบ้าง หาโจทย์ ทำความเข้าใจพื้นที่ ดังนั้นการพัฒนาแต่ละพื้นที่ก็จะไม่เหมือนกัน โดยทำงานทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เราก็มีการเปิดรับความคิดเห็น สำรวจพื้นที่ เรียนรู้ผู้คน เพื่อดูว่าสินทรัพย์ในพื้นที่เป็นอย่างไร ใครมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง พวกเขามีความต้องการนำเสนอเรื่องอะไรเป็นสำคัญ อย่างที่ จ.ตรัง วัฒนธรรมอาหารที่ชัดเจน คือการเป็นเมืองอาหาร 9 มื้อ ที่พัทยา แม้ว่าจะเป็นเมืองท่องเที่ยว เมืองเทศกาล จุดหมายของชาวต่างชาติ แต่เรายังพบว่ายังมีการรักษาพื้นที่นาเกลือ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ของชาวบ้าน แม้ว่าจะถูกลืมไปจากการพัฒนาเมือง เราจึงตั้งโจทย์ว่า พัทยายังเป็นเมืองเทศกาลบันเทิงที่ยังคงรักษาความเป็นวิถีชุมชนอยู่ได้ไหม โดยเชื่อมโยงการทำงานกับผู้นำชุมชน หรือผู้ที่เป็นแกนหลักในการประสานงาน เน้นทำกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ชาวบ้าน และให้สามารถรองรับความสนใจที่หลากหลาย เปิดรับคนทุกกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่ได้มากที่สุด

“จากกรณีการศึกษาหลายประเทศ เขาส่งเสริมสนับสนุนการทำงานสร้างสรรค์ทั้งคนและพื้นที่ มีพื้นที่ให้คนทำงานสร้างสรรค์อยู่ในเมืองได้ เพราะเมืองเป็นแหล่งหลอมรวมวัฒนธรรมที่หลากหลาย ช่วยให้คนมีโอกาสพบปะกัน และทำให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ได้ จึงอยากให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมให้เกิดการสร้างพื้นที่ทำงานสร้างสรรค์ในเมือง อย่างน้อยคือการมีสตูดิโอเล็ก ๆ ให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ง่าย เพราะในปัจจุบันเป็นเรื่องยาก ต้องจ่ายแพง เลยคิดว่าถ้ามีใครทำเรื่องนี้ได้ก็ยกนิ้วให้เลย”

รศ.พีรดร แก้วลาย สาขาวิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์คือการสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งต่าง ๆ โดยใช้จินตนาการสรรค์สร้างมันออกมา ส่วนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็คือการนำความคิดสร้างสรรค์จินตนาการ งานวิจัยต่าง ๆ มาทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเมืองสร้างสรรค์ก็เป็นพื้นที่ของคนเหล่านี้ เพราะคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มาก ๆ เขาก็ต้องการอยู่ในเมืองที่มีศักยภาพให้การสนับสนุนทั้งในเรื่องของโอกาส และพื้นที่ ซึ่งหลายเมืองในโลกพยายามสร้างสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจตัวนักสร้างสรรค์ให้มาอยู่ในเมือง เช่น เบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ มีสิทธิสำหรับบัณฑิตจบใหม่ ไม่ต้องเสียภาษี จัดหาที่ทำงานให้

สำหรับโครงการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเมือง/ย่านสร้างสรรค์ โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินงานตั้งแต่ปี 2552-2563 เพื่อศึกษาศักยภาพของเมือง และโอกาสการพัฒนาย่านเมืองเก่า โดยพบว่าช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้เกิดย่านสร้างสรรค์ในกรุงเทพฯ คือช่วงที่ TCDC ย้ายไปอยู่ที่ไปรษณีย์บางรัก ถ.เจริญกรุง และได้มีการจัดวงคุยระดับพื้นที่กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อย่าง The Jam Factory และความเป็นเมืองสร้างสรรค์ก็ก่อร่างชัดเจนขึ้น มีคำว่า Co-Creation ที่ใช้กับเมืองขึ้นครั้งแรก ในลำดับต่อมา ก็สร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับย่านเมืองเก่า ประกอบกับการทำฐานข้อมูลเชิงสำรวจพื้นที่ เช่น การพบว่ามีพื้นที่ว่าง อาคารร้าง รวมถึงความเสี่ยงจากพื้นที่ลับตา ทั้งหมดก็เป็นโอกาสที่จะพัฒนาได้ จากนั้นก็ค่อย ๆ เกิดการเชื่อมต่อย่าน จนมาเป็นย่านเจริญกรุง และ เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของ UNESCO รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการสร้างเครือข่ายย่านสร้างสรรค์ ในพื้นที่อื่น ๆ ระดับประเทศ​ ซึ่งธรรมศาสตร์ได้มีโอกาสร่วมสร้างและส่งเสริมการเรียนรู้เมืองสร้างสรรค์ในเชิงวิชาการด้วย

“บางพื้นที่เดินทางผ่านแต่เราอาจไม่รู้ว่ามีคุณค่า สิ่งที่เราพยายามทำคือทำให้เห็นคุณค่าและโอกาสที่จะใส่มูลค่าลงไปในนั้นได้ คำถามสำคัญคือเราเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นหรือเปล่า แล้วเราจะทำอะไรกับมัน วันนี้การพัฒนาเศรษฐกิจของต่างประเทศไม่ใช่เรื่องนิคมอุตสาหกรรมแล้ว แต่อยู่ในย่านเมืองเก่าอยู่ในพื้นที่สร้างสรรค์ พวกเขาลงทุนกับสิ่งนี้”

ดังนั้นคือจะทำอย่างไรให้เกิดพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ แต่เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทำให้เด็กรุ่นใหม่มีโอกาสตรงนี้ เพราะว่าการลงทุนการจ้างงานในแบบเดิมเราถึงทางตันแล้ว รายได้ขั้นต่ำก็แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทว่าการพัฒนาจากภาครัฐตอนนี้ยังขาด ๆ หาย ๆ อย่างประเทศเกาหลีเขาก็มีหน่วยงานแบบ CEA แต่เขาเปิดสาขาทั่วประเทศเป็นยุทธศาสตร์ชาติด้านหนึ่ง ทำให้เกิดการขับเคลื่อนที่มีพลัง เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เกิดคนรุ่นใหม่ที่มีสร้างงานสร้างสรรค์ และในหลายประเทศเมืองของเขาก็มีแผนเศรษฐกิจเมือง ขณะที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดทั้งหมดไม่เคยมีแผนเศรษฐกิจเลย

เราไม่มีทิศทางและปล่อยทุกอย่างตามธรรมชาติ แต่ละเมืองต้องแข่งขันกันที่จะสร้างเศรษฐกิจ และดึงดูดผู้คนเข้าไปในเมือง โจทย์สำคัญคืออย่างไรให้เกิดขึ้น เพราะประเทศของเรายังไม่มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งที่เป็นโอกาสทางเลือกทางรอด จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องพยายามสื่อสาร สร้างความเข้าใจ ซึ่งตอนนี้คาดว่าเอกชนก็พร้อม แต่ยังขาดกลไกบางอย่างในการเชื่อมต่อและสนับสนุน

ดวงฤทธิ์ บุญนาค สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง บริษัท ดวงฤทธิ์ บุญนาค จำกัด เล่าว่า ในพื้นที่เจริญกรุง-คลองสาน มีกลุ่มนักสร้างสรรค์อยู่ในพื้นที่เป็นต้นทุนเดิม และรวมกลุ่มกันเป็นชุมชน จนก่อตั้งเป็นมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ (Creative District Foundation)ในปัจจุบัน โดยพยายามตีความหมายของย่านสร้างสรรค์ รวบรวมผู้คนที่เกี่ยวข้องร่วมออกแบบการพัฒนาย่านร่วมกัน ปัจจุบันมูลนิธิฯ ยังได้ทำโครงการศึกษาย่านตลาดน้อย เชื่อมโยงการพัฒนาย่าน กับการพัฒนาเศรษฐกิจ และธุรกิจในย่าน

ข้อเสนอสำคัญคือ โครงสร้างผังเมืองกรุงเทพมหานครในมุมมองใหม่ รื้อแนวคิดของผังเมืองเดิม สร้างใหม่ให้เชื่อมโยงกับเมืองสร้างสรรค์ เดิมผังเมืองกรุงเทพฯ จะถูกออกแบบตามพื้นที่ความหนาแน่นของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ประชากร แหล่งธุรกิจ ที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตร ทำให้มีพื้นที่ไข่แดงกระจุกตัวอยู่ในใจกลางเมือง แต่ในบริบทของเมืองกำลังเปลี่ยนไปแล้ว อย่างแรกคือประชากร อัตราการเพิ่มขึ้นผู้คนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ​ ตั้งแต่ยุคเบบี้บูมเมอร์ 1960 เป็นต้นมา ประชากรลดลง จนในปี 2020 ต่ำจนเกือบจะเท่าต้นศตวรรษที่แล้ว และในปี 2030 จำนวนประชากรจะติดลบ ซึ่งการติดลบตรงนี้หมายความว่าจำนวนประชากรโดยรวมจะลดลง และหลักคิดด้านเศรษฐศาสตร์เดิม อุปทาน-อุปสงค์จะเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรจำกัด และความต้องการที่ลดลง จึงยิ่งย้ำความสำคัญของการสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ของหนึ่งชิ้นต้องขายได้มูลค่ามากขึ้น กับความท้าทายที่คนซื้อน้อยลง

ในโลกเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ มีคำนิยามใหม่คือ TEMPORARY MONOPOLY หมายถึง การผูกขาดทางการค้าเพียงชั่วคราวหรือช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ด้วยการคาดการณ์ว่าจากนี้จะไม่มีสินค้าที่สามารถผูกขาดการขายทางการตลาดได้ตลอดกาล ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือสินค้าด้านพลังงาน ด้วยกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะเกิดการพัฒนาสินค้าต่อเนื่อง และไม่ผูกขาดการขายเหมือนในอดีต สำหรับหลักการของ TEMPORARY MONOPOLY คือมองว่าผลิตภัณฑ์หรือสินค้านั้น ๆ อาจจะสามารถเป็นที่ต้องการสูงสุดในทางการตลาดช่วงหนึ่ง แต่แล้วก็จะตกต่ำลงเป็นรูปแบบของคลื่น มีสินค้าใหม่มาทดแทนกันไปเรื่อย ๆ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นหัวใจของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพราะชี้ให้เห็นว่าความคิดสร้างสรรค์จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะพาธุรกิจไปถึงจุดที่เรียกว่าความมั่งคั่งได้ ดังนั้น Creative Economy กับ Creative Economic จึงเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน

เมืองสร้างสรรค์ควรส่งเสริมให้เกิด TEMPORARY MONOPOLY ให้ได้ ต้องสนับสนุนให้เกิดธุรกิจขนาดเล็กมากๆ ประกอบด้วยคนแค่ 3-5 คน หรือ micro enterprises เราอาจจะเคยพูดถึง SMEs แต่ในกลุ่มนี้ เป็นระดับ micro กว่า 80% กลุ่มนี้ เป็นคนจำนวนน้อยที่รวมกลุ่มกัน กู้แบงก์ก็ไม่ผ่าน แต่เราไม่มีนโยบายที่สนับสนุนเรื่องนี้เลย ตัวอย่างเช่น การจัดตลาดให้คนกลุ่มเล็ก ๆ ได้ค้าขายได้ หากทำให้ธุรกิจของกลุ่มเล็กระดับ micro นี้ตั้งตัวได้ เกิดความมั่งคั่ง หรือ TEMPORARY MONOPOLY และก็จะกลับไปเป็นวงจรว่าพอขายดีมีคนขายแข่ง แล้วก็ต้องพัฒนาเปิดตลาด สร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ และทำให้เกิดการรวยกระจาย คนตัวเล็ก ๆ รวยได้ ก็ได้รับสวัสดิการของเมือง กลายเป็นประโยชน์ที่เมืองจะได้รับต่อในด้านของภาษี นี่คือหน้าตาของเมืองสร้างสรรค์ ที่สนับสนุนให้เกิดงานสร้างสรรค์

“ดังนั้นเมื่อพูดถึงเรื่องของผังเมือง จึงควรที่จะปรับเปลี่ยนด้วยการกระจายความเป็นย่านสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นทั่วพื้นที่ และเชื่อมโยงเครือข่าย เชื่อมโยงย่านร่วมพัฒนาให้เกิดความแข็งแรง ให้เขตสามารถร่วมจัดการงบประมาณของตัวเองได้ เช่น ถ้า CEA ลงไปพัฒนาท้องถิ่นร่วมกับเขตแล้วก็สามารถจัดสรรงบประมาณได้ เกิดแรงขับเคลื่อนได้มากขึ้น มีการสนับสนุนความหลากหลาย ให้เป็นเมืองที่สร้างและจัดการตัวเองได้ และ CEA ควรที่จะต้องได้งบประมาณจัดสรรปีละ 2,000 ล้านบาท เพื่อมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง”

สำหรับแนวคิดเรื่อง เมืองสร้างสรรค์ส่งต่อองค์ความรู้อย่างสงบเงียบ หรือ the creative city transcends knowledge in silent คือ เดิมสิ่งที่เราเรียนกันในตำรา จดบันทึกได้ เรียกว่า articulated knowledge สิ่งนี้ถูกแปลงเป็นงานดิจิทัลได้ คัดลอกได้ และคุณค่าต่ำ เหมือนอย่างที่เด็กเดี๋ยวนี้ไม่อยากมีเรียนที่สถานบันการศึกษาเพราะว่าหาเอาที่อื่นก็ได้

สิ่งนี้ตรงข้ามกับ silent knowledge ที่หมายถึง องค์ความรู้ซึ่งไม่สามารถบันทึกได้ คัดลอกได้ แค่ส่งมอบได้โดยที่อยู่ด้วยกันเท่านั้น เช่น การเรียนดนตรีไม่สามารถสอนตามตำราอย่างเดียวได้ แต่ต้องทำให้ดู ไม่ว่าจะเป็นการทำเวิร์กช็อปก็ตาม เป็นการส่งมอบองค์ความรู้ที่ไม่สามารถถ่ายทอดได้ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่มีพลัง จำเป็นต้องใช้พื้นที่ ใช้เวลาอยู่รวมกันเพื่อเรียนรู้ กระบวนการส่งต่อ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กันได้

ทั้งเรื่องทักษะ ความชำนาญ ความเฉพาะตัว และเมืองจะเป็นหัวใจในการถ่ายทอดเรื่องนี้ เพราะความรู้ที่มีแบบเดิมอาจจไม่จำเป็นอีกต่อไป แต่เราจำเป็นต้องมีวิธีถ่ายทอดความรู้แบบนี้ให้กับผู้คน และเราต้องการจะส่งต่อความสามารถในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ในเชิงลึกให้กับผู้คน สร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับผู้คน สุดท้าย silent knowledge จะอยู่ในวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น art craft design food music film literature dance folk architecture ทั้งหมดคือองค์ความรู้เงียบที่ต้องอาศัยการถ่ายทอดแบบที่ต้องอยู่ด้วยกัน

ดังนั้นเมืองที่จะเป็นเมืองสร้างสรรค์จึงต้องมุ่งพัฒนาทั้งสองทาง คือ TEMPORARY MONOPOLY เพื่อให้เกิดความมั่งคั่ง และอีกทางอีก การส่งต่อความรู้เงียบหรือ Silent Knowledge เพื่อที่จะทำให้เกิดความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม ดังนั้นจึงต้องมีความมั่งคั่งทั้งสองทาง คือทั้งความมั่งคั่งในกระเป๋า และความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม

ถ้ารัฐเห็นความสำคัญมันต้องไม่ใช่อยู่แค่ตรงนี้ วันนี้ CEA ก็ยังต้องทำงานกับมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ยังขาดการเชื่อมต่อกับเอกชนด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เช่นเดียวกับเรื่องเมือง กรุงเทพมหานครก็ทำอะไรไม่ได้ จึงต้องผลักดันให้เป็นนโยบายระดับประเทศก่อน แล้วจึงจะย่อยลงมาเป็นแผนพัฒนาเมือง

ตอนนี้ใกล้เลือกตั้งแล้วหลายพรรคก็มีนโยบายเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ชัดเจน คิดว่าน่าจะช่วยขับเคลื่อนได้ ให้เด็กจบใหม่มีโอกาสกลับไปพัฒนาย่านสร้างสรรค์ในบ้านเกิดของตัวเองได้ และมีคนสนับสนุน มีโครงสร้างพัฒนาช่วยทำให้สำเร็จ

ย้ำว่าต้องเป็นนโยบายของรัฐที่จะลงมาเป็นองคาพยพ หากทำได้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แล้วไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเยอะด้วย หากว่ารัฐมีวิสัยทัศน์ ทุกอย่างจะง่ายขึ้น มีองค์ความรู้ต่าง ๆ มากมาย เกิดการกระตุ้นย่านทั่งประเทศ​ การเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาควิชาการและภาคธุรกิจ มีฐานข้อมูลที่ช่วยขับเคลื่อน ทั้งหมดนี้ไม่สามารถทำจากล่างขึ้นบนได้

“ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย และคนรุ่นใหม่ก็มีศักยภาพเต็มเปี่ยมในการทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สมมติว่าทุกคนเก่ง ก็แปลว่าเขาต้องการพื้นที่ เมืองต้องเป็นพื้นที่ให้สามารถทำงานสร้างสรรค์ได้ ผมคิดว่าในอนาคตผมอยากเห็นนโยบายที่มี รองนายกรัฐมนตรีดูแลกำกับงานด้านการสร้างสรรค์โดยตรง และเชื่อมโยงหน่วยงานของรัฐทั้งหมดเข้าด้วยกัน มีการจัดการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่อยู่ต่างกระทรวง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม ฯลฯ เชื่อมโยงการทำงานและกำกับดูแลร่วมกัน คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์จัดการได้ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องไปตั้งอีกหน่วยงานเพิ่มขึ้นมา เพราะหน่วยงานที่ทำงานสร้างสรรค์ของประเทศมีอยู่แล้ว และมีบทบาทในหลายกระทรวง เพียงแต่ต้องการการเชื่อมโยงในแนวระนาบ และมีเจ้าภาพหนึ่งคน ที่ดูแลภาพรวม”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้