ย่านสร้างสรรค์ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว

เพิ่งจบกันไปสำหรับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพ Bangkok Design Week 2023 วันที่ 4-12 กุมภาพันธ์ หลายคนอาจจะได้เห็นบรรยากาศกันไปบ้างแล้ว แต่บทความนี้จะช่วยสรุปให้อ่าน ว่ามีกิจกรรมอะไรน่าสนใจบ้าง และทั้งหมดนั้นจะช่วยสร้างการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างไร…

พื้นที่จัดงานทั้งหมด 9 ย่านสำคัญ คือ ย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย ย่านพระนคร-ปากคลองตลาด-นางเลิ้ง ย่านเยาวราช ย่านวงเวียนใหญ่-ตลาดพลู-คลองสาน ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ ย่านสามย่าน-สยาม ย่านพร้อมพงษ์ ย่านบางโพ และย่านเกษตรฯ กับหมุดกิจกรรมกว่า 500 พื้นที่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA ประเมินว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนึ่งที่ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากถึง 1,368 ล้านบาท มูลค่าสื่อ 315 ล้านบาท ผู้เข้าชมงาน 1.75 ล้านคน และผู้จัดงาน 5.1 พันคน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นทุนทางสังคมในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป

ภายใต้ธีมงานปีนี้ที่มีชื่อว่า Urban ‘NICE’ zation หรือ เมือง – มิตร – ดี” นำเสนอแนวคิดการออกแบบที่ “ทำเมืองให้ดีขึ้น” ประกอบด้วย

  1. Nice for Environment เป็นมิตรที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการฟื้นฟูและสร้างเมืองที่มีสีเขียวเพิ่มขึ้น
  2. Nice for Culture เป็นมิตรที่ดีต่อวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้ผู้คนในเมืองสามารถแสดงออกทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง
  3. Nice for Diversity ยอมรับ และเข้าใจเพื่อเป็นมิตรที่ดีต่อทุกความหลากหลายทางสังคม
  4. Nice for Mobility เป็นมิตรที่ดีต่อคนเดินทาง ให้ได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยจากการสร้างสรรค์ไอเดียหรือนวัตกรรม
  5. Nice for Business เป็นมิตรที่ดีต่อธุรกิจ โดยสร้างสรรค์บรรยากาศของเมืองให้ส่งเสริมธุรกิจสร้างสรรค์
  6. Nice for Community เป็นมิตรที่ดีต่อชุมชน ให้ชุมชนมีความสุขและแข็งแกร่ง

การออกแบบกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ที่งานเกษตรแฟร์ โดย ม.เกษตรศาสตร์ ประกาศตัวว่าเป็นพื้นที่อิเวนต์แห่งแรกที่ใช้มาตรฐาน Carbon neutral หรือค่าความเป็นกลางทางคาร์บอน หลักการคือเขาจะมีกระบวนการประเมินพื้นที่ว่า ตลอดการจัดตลาดนั้นปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศเท่าไหร่ แล้วจะไปหาวิธีการชดใช้ความผิดนั้นด้วยการหาวิธีชดเชยคาร์บอนรูปแบบต่าง ๆ เช่น การทำกิจกรรมปลูกป่า การซื้อคาร์บอนเครดิต ว่าง่าย ๆ คือหาวิธีดูดซับคาร์บอนให้เท่า ๆ กับที่ได้ปล่อยออกไป

และยังมีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการลดปริมาณขยะ ด้วยการคัดแยกขยะทั้งหมดในงานเกษตรแฟร์ ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี ให้กับตลาดอมรพันธ์ที่อยู่ใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัย มีการจัดเวิร์กช็อปการซ่อมผ้า เพื่อทำให้ชุดเสื้อผ้าตัวเก่ากลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่ต้องทิ้งเป็น

อีกจุดคือ การพัฒนาพื้นที่ริมคลองย่านเอกมัย-ทองหล่อ นี่คือคลองเป้ง พื้นที่โครงการ เจ๋งเป้ง เป็นความพยายามของกลุ่ม we!park จะต้องการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะ เข้าถึงได้ใน 15 นาที ที่สำคัญจุดนี้ยังกลายเป็นเส้นทางเชื่อมต่อพื้นที่สำคัญของย่าน สามารถใช้เป็นทางลัดไปในที่ต่าง ๆ ได้สะดวกโดยไม่ต้องใช้รถยนต์ แต่เดิมทางมันเปลี่ยว ภูมิสถาปนิกและน้องนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปร่วมกันออกแบบนิทรรศการคลองเป้งขึ้นมา สร้างบรรยากาศให้ดูรื่นรมย์ชวนมอง มีการติดตั้งจุดนั่งพักคอย ทางข้ามคลอง ต่อยอดกับสวนขนาดย่อมของสำนักงานเขตวัฒนาที่ไปทำเอาไว้

ส่วนแนวคิดการเป็นมิตรที่ดีต่อชุมชน ยังสะท้อนผ่านการปรับปรุงพื้นที่สนามเด็กเล่นในโรงเรียนกุหลาบวิทยา ให้ตอบโจทย์การใช้งาน และเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชุมชนสามารถเข้ามาใช้งานได้ตามเวลาที่กำหนดด้วย

อารีย์ Around กับแนวคิดการพัฒนาย่านด้วยความโอบอ้อมอารีย์

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือความสร้างสรรค์ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ ย่านนี้มีกิจกรรม 14 แห่งด้วยกัน จัดการโดย กลุ่ม ari around กลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ละแวกย่านที่รวมตัวกันเพื่อยกระดับการพัฒนาย่านหลายมิติทั้งเรื่องการเดินทาง ความหลากหลายทางวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ เพื่อชุมชนมีสุขและแข็งแกร่ง กระบวนการดังนี้

เริ่มตั้งแต่การเดินทางเข้ามาในย่านนี้ สามารถเข้าถึงได้ด้วยขนส่งมวลชน อย่างรถไฟฟ้า แล้วต่อด้วยตุ๊ก ๆ พลังงานไฟฟ้าคาร์บอนเป็นศูนย์ คนขับที่เชี่ยวชาญพื้นที่ในย่านพาไปส่งได้ในทุกพื้นที่ แค่เพียงดาว์นโหลดแอปพลิเคชัน Muvmi ก็ได้เงินสนับสนุนการเดินทางแล้ว 30 บาท

สำหรับใครที่ต้องการร่วมกิจกรรมในย่านอารีย์ สามารถดาว์นโหลดแอปพลิเคชัน Ari Around โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายในแอปฯ ให้ข้อมูลประกอบโลเคชันให้สามารถเลือกกิจกรรมและเดินทางไปได้สะดวก ที่น่าสนใจคือการสะสม Ari coin ภายในแอปฯ เหมือนเป็นแต้มบุญที่จะนำไปแลกสิ่งต่าง ๆ ได้ เช่น จ่ายเป็นค่าผ่านประตูสำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมบางอย่าง หรือไปแลกขนมฟรีในร้านที่ร่วมรายการ

แล้ว Ari coin จะได้มาอย่างไร มีที่มาจากหลายทาง ตั้งแต่การไปอุดหนุนร้านค้าที่ร่วมรายการ จะได้โค้ดมากรอกแลกเหรียญอารีย์ 1 order ได้ 50 coin หรือจะเอาขยะรีไซเคิลมาแลกเพื่อให้ใช้ประโยชน์ต่อ ไม่ว่าจะเป็นขวดพลาสติกแบบ PET กระป๋องอลูมิเนียม หนังสือที่ไม่อ่านแล้ว ก็จะได้ปริมาณเหรียญต่างกันไป หรือหากอยากจะจัดกิจกรรมแชร์ประสบการณ์ความสามารถต่าง ๆ ก็จะได้เหรียญด้วยเช่นกัน เป็นการให้มูลค่าจากสิ่งรอบตัว อรุณี อธิภาพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง AriAround บอกว่า Ari coin จึงอาจไม่ใช่มูลค่าที่วัดด้วยเงิน แต่เป็นคุณค่าทางสังคมอย่างหนึ่ง

“Ari coin สามารถใช้เป็นส่วนลดในการชำระสินค้าและบริการต่าง ๆ แต่เราไม่อยากให้ตีค่าเป็นเงิน เพราะคุณค่าบางอย่างตีเป็นเงินไม่ได้ แต่เป็นเหมือนโพรโมชัน เพื่อเชิญชวนให้คนเข้าไปทำความรู้จักพื้นที่และกิจกรรมต่าง ๆ ของย่านมากกว่า ยังไม่สามารถตีเป็นเงินได้แต่เงินใช้เป็นไกด์ไลน์เฉย ๆ”

ในโอกาสเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ย่านอารีย์ยังมีกิจกรรมหลากหลายที่น่าสนใจ เช่น การเก็บดอกไม้มาปรุงเมนูข้าวยำ โดย ร้านสุขใจ พาผู้ร่วมกิจกรรมไปลงพื้นที่เดินเท้าย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ เพื่อเสาะหาพื้นที่ทางอาหาร และเก็บดอกไม้ ผลผลิตที่ได้จากในย่านมาทำเมนูข้าวยำฉบับอารีย์ สุวิศิษฎ์ รักประยูร เจ้าของร้านสุขใจ ผู้จัดงานระบุว่า แม้ข้าวยำจะเป็นเมนูพื้นถิ่นของภาคใต้ แต่แนวคิดที่นำพืชผักรอบรั้วมายำกิน เป็นหลักคิดที่นำไปใช้ได้กับทุกพื้นที่ที่มีแหล่งอาหาร เมนูข้าวยำที่นี่จึงเรียกอีกอย่างว่า ข้าวยำอารีย์ แต่ในส่วนของน้ำบูดู ส่งตรงมาจากสงขลา เพื่อชวนให้คนใต้มารับประทาน และยังรู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน แม้ตัวจะอยู่ที่กรุงเทพฯ

“วันนี้เราได้ดอกไม้ผักและผลผลิตทางอาหารรวมกว่า 20 ชนิดที่นำมาเป็นข้าวยำอารีย์ นอกเหนือจากที่เก็บได้ในวันนี้ ยังมีส่วนที่เพิ่มเติมมาจากบ้านต่าง ๆ ที่ตั้งใจนำผักมาให้เรา อย่างแรกเลยเราไม่คิดว่ามีความหลากหลายขนาดนี้ เพราะภาพของอารีย์ในมุมมองของทุกคนจะคิดว่าที่นี่เป็นย่านเขตเมือง มีความเป็นเมืองสูง เป็นที่ที่คนมากินข้าวมาคาเฟ่ แต่พอเราพูดถึงเรื่องการกินผัก ทุกคนจะงงมากและสงสัยว่ามันจะมีเหรอ แต่เมื่อเราตั้งใจทำเรื่องนี้ ประกาศลงไปในเพจ ก็มีหลายคนที่ร่วมเสนอว่าตัวเองมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ เราจึงพบว่ามีคนปลูกผักเยอะมาก และทำให้เราเห็นว่านี่แหละคือความหลากหลายในย่านนี้ วันนี้ 20 กว่าอย่างผมว่ามันยังน้อย เพราะเพิ่งผ่านหน้าแล้งมา ผักบางชนิดยังไม่เติบโต แต่ถ้าช่วงหน้าฝนน่าจะเยอะกว่านี้มาก และความพิเศษของอารีย์อีกอย่างคือพืชผักที่ขึ้นริมทางในย่านเราสามารถเก็บมากินได้เลย เพียงแค่เหลือไว้ให้คนอื่นได้มาเก็บบ้าง และในบ้านแถวย่านนี้ก็ปลูกผักสวนครัวเยอะมาก เป็นการแบ่งปันกันด้วยความเป็นมิตรมาก”

อีกจุดหมายของอารีย์ที่กำลังก่อร่างสร้างขึ้นเร็ว ๆ นี้คือ Food Bank ในซอยประดิพัทธ์ 11 โดยเจ้าของที่ดินยังคงรักษาพื้นที่เดิมของบ้านเก่าเอาไว้ ส่วนหนึ่งเป็นร้านอาหาร อีกส่วนทำเป็นแปลงปลูกผัก ซึ่งในช่วงเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ยังได้เปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้เข้ามาทำความรู้จัก และร่วมออกแบบผ่านกิจกรรมวาดฝันอนาคตของอารีย์

ธัญธร สินธวานุชิต ผู้พัฒนาพื้นที่ บอกว่าอยากให้ที่นี่เป็นธนาคารอาหารที่ปลอยภัยของชุมชน เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาการอย่างหนึ่ง

“ถ้าเราซื้อผักจากข้างนอกมันอาจจะมีราคาแพง และยังสิ้นเปลืองทรัพยากรในเรื่องการขนส่ง การแพ็กสินค้า ซึ่งอาจเป็นการทำลายธรรมชาติในหลายขั้นตอน แต่ถ้าเราปลูกเองได้ เท่ากับว่าเราสร้างพื้นที่อาหารเองได้ และไม่ต้องเสียต้นทุนทางทรัพยากรไปโดยสิ้นเปลือง”

สำหรับย่านอารีย์ ไม่ได้มีกิจกรรมดี ๆ สร้างสรรค์แบบนี้แค่ในช่วงเทศกาลเท่านั้น แต่หลาย ๆ พื้นที่ของย่านยังมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง ด้วยเห็นความสำคัญว่าการสร้างย่านต้องอาศัยความต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเช่นกัน หากคุณผู้อ่านสนใจ สามารถดูรายละเอียดได้ที่แฟนเพจ facebook : Ari Around

ศักยภาพสร้างย่านสร้างสรรค์ระดับประเทศ

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่ได้มีอยู่แค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ที่ผ่านมาขยายไปยังเมืองใหญ่และเมืองรองอื่น ๆ ทั่วประเทศด้วย รวม 33 แห่ง ตามโรดแม็ปแผนระยะ 3 ปี (ปี 2563-2565) ของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA ที่จะพัฒนา Soft Power เป็นพื้นที่นำร่องยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ เช่น ย่านช้างม่อย จ.เชียงใหม่ ย่านศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น และย่านเมืองเก่า จ.สงขลา

สิ่งสำคัญคือ ย่านสร้างสรรค์จะต้องไม่จบไปกับกิจกรรมที่เลิกรา ต้องขับเคลื่อนต่อเนื่องได้ด้วยตัวเอง โดยหลักการแล้ว ต้องมีองค์ประกอบหลายส่วน ทั้งทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย เรื่องนี้ที่จริงไม่น่าห่วงเลย เพราะประเทศไทยมีเยอะมาก ยิ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมความแตกต่างของพื้นที่ยิ่งเป็นต่อ แต่ต้องเอามารวมกับความคิดสร้างสรรค์ และระบบนิเวศสร้างสรรค์ ที่จะเข้ามาส่งเสริม ประกอบกับการเล่าเรื่องและความรู้ทางการตลาด จึงจะทำให้เกิดภาพลักษณ์ไทยแบบใหม่

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ให้ความเห็นว่า นิยามเมืองสร้างสรรค์จะต้องให้แนวคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาสังคม มีแนวคิดการพัฒนาและฟื้นฟูเมือง ทั้งกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ประกอบด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ creative industry และต้องมีกิจกรรมสร้างสรรค์ creative activity และมีการกระตุ้นกิจกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยเมืองสร้างสรรค์จะต้องพัฒนาทุนมนุษย์ในระดับพื้นที่ ออกแบบความท้าทายในเมือง ทั้งนี้กายภาพของเมืองก็ต้องส่งเสริมกัน ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายการเดินเท้า จักรยาน ภูมิทัศน์ โครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของผู้คน และธุรกิจ ดังนั้นจึงต้องคำนึงเรื่องการใช้ที่ดิน อาคารที่ส่งเสริมให้เกิดย่านสร้างสรรค์ด้วย เมืองสร้างสรรค์ยังจำเป็นต้องมีการสร้างย่านนวัตกรรม innovation distric เช่น กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อย เครือข่ายธุรกิจภาคประชาชน

“แม้ว่าปัจจุบันมีเมืองอยู่ในภาคีเครือข่ายจำนวนมาก แต่เราต้องมององค์ประกอบให้ครบ การจัดกิจกรรมปีละครั้งไม่ใช่ย่านสร้างสรรค์ แต่ต้องมีกระบวนการส่งเสริมเศรษฐกิจที่เติบโตได้ ต้องมี network/body คอยขับเคลื่อน ทั้งเครือข่ายการสนับสนุนนโยบายเมือง การมุ่งมั่นของคนในเมืองในการมีนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจนวัตกรรม เดิม CEA ทำหน้าที่ในการเป็นพี่เลี้ยงได้ดี แต่ภาครัฐท้องถิ่นต้องรับเอานโยบายนี้มาขับเคลื่อนด้วย เช่น เรื่องต้นทุนทางกายภาพ ถนนทางเท้า ระบบขนส่ง กายภาพเมืองดึงดูดการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ท้องถิ่นต้องทำความเข้าใจว่าต้องขับเคลื่อนต่อเนื่องไม่ใช่แค่ทำตามนโยบายหรือจัดกิจกรรมเป็นครั้งคราว”

รองผู้อำนวย UddC ยังใหความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า ต้นทุนทางการปรับเปลี่ยนให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ อาจมีการแทนที่ของคนอยู่เดิม มีคนกลุ่มใหม่เข้ามาแทน เรื่องนี้ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับความคิดใหม่ ๆ ในการใช้ต้นทุนเดิม หยิบมาเติมความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งปัจจุบันยังมีหน่วยงานที่ทำงานเรื่องนี้น้อย และยังไม่เห็นผลในวงกว้าง ดังนั้นเศรษฐกิจใหม่-เก่า ต้องเติมเต็มซึ่งกันและกัน เชียงใหม่มีย่านช้างม่อย ขอนแก่นย่านศรีจันทร์ ดึงดูดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง ต้องมีความพร้อมกายภาพ ส่งเสริมให้เติบโต การเกิดใหม่

สำหรับ ‘ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ในนิยามของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ พื้นที่ที่กําหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมธุรกิจและบริการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเชื่อมโยงเรื่องราวของย่าน ผู้คน ธุรกิจดั้งเดิม เข้ากับมาตรการส่งเสริมธุรกิจสร้างสรรค์และการกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมธุรกิจสร้างสรรค์และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อกระบวนการคิด การผลิต และการตลาดในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พร้อมทั้งเกื้อกูลให้ธุรกิจดั้งเดิมในพื้นที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนา ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะดึงดูดให้มีการลงทุนใหม่ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ สร้างความเคลื่อนไหวของกลุ่มธุรกิจและบุคลากรสร้างสรรค์ และการเกิดศูนย์รวมของบุคลากรในอุตสาหกรรม เพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนเกิดผลงานและโอกาสในการพัฒนาธุรกิจและบุคลากรของไทยต่อไป

แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มักถูกมองข้ามว่าไม่สำคัญเท่าเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง แต่การพัฒนาประเทศโดยให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากการพึ่งพิงปัจจัยการผลิตที่มีราคาถูก มีโอกาสที่จะส่งผลเสียต่อประเทศในด้านของการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง และถ้าประเทศไทยจะหลุดพ้นจากการเป็นเพียงลูกจ้างทำการผลิตของโลก การมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงเป็นทางเลือกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นคำตอบที่จะนำประเทศไปสู่การเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ เพื่อความเจริญเติบโตและความอยู่ดีกินดีของคนในประเทศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

วิฑิตา โอชวิช

มนุษย์นอนน้อยแต่นอนนะ มีอีกชื่อคือแฮปปี้เพราะคนต่างชาติเรียกชื่อปลื้มไม่ได้ ผู้ปกครองประชาชนชาวก้อน เชื่อว่าการส่งต่อความสุขให้ผู้อื่นจะทำให้เรามีความสุขด้วยเช่นกัน แต่อย่าลืมให้ความสุขกับตัวเองด้วยนะ