เหรียญอีกด้านของความหวัง “การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน มีหลักฐานอย่างชัดเจนว่า สามารถลดความรุนแรงของโรค และลดการตายจากโรค แต่ยัง ไม่มีข้อมูล เพียงพอที่จะบอกว่า วัคซีนสามารถป้องกันการติดโรค โดยเฉพาะการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ”
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พยายามสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีนตัวนี้ ตลอดเวลา
แม้ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติก็ตาม แต่เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอยมากไปกว่านี้ และแรงกดดันทางการเมืองเป็นปัจจัยเร่งให้รัฐบาลไทยต้องจัดหาวัคซีนให้พลเมืองเร็วที่สุด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดหลักการให้วัคซีนเป็นไปตามเงื่อนไขปริมาณวัคซีนที่จะจัดหาได้ในระยะแรกที่มีจำกัด โดยกำหนด 2 เป้าหมายสำคัญ คือ
- เพื่อลดอัตราการป่วยและตาย: กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนจึงเป็นประชากรกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ได้แก่ ประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว
- เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ: กลุ่มเป้าหมาย คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ด่านหน้า เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ทั้งภาครัฐและเอกชน
โดยแผนการฉีดวัคซีนให้กับคนไทยของ สธ. แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
(1) ระยะที่วัคซีนมีจำกัด เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2564 ในกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับอันดับต้น คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19
(2) ระยะที่วัคซีนมีมากขึ้น เดือนพฤษภาคม – ธันวาคม 2564 กลุ่มเป้าหมาย จะเป็นกลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 และจะขยายพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศ รวมถึงพิจารณากลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศขับเคลื่อนได้ตามปกติ ตั้งเป้าให้ครอบคลุมมากกว่า 50 % ของประชากรทั้งประเทศภายในปี 2564 นับเป็นประวัติศาสตร์การฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปีของไทย
(3) ระยะที่วัคซีนมีเพียงพอ ตั้งแต่ มกราคม 2565 เป็นต้นไป จะเป็นกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชน
ปฏิทินการฉีดวัคซีนโควิด -19 ของรัฐบาลไทย ตามมติ ครม. 5 ม.ค. 2564
กุมภาพันธ์ | นำเข้าวัคซีน AZD1222 จาก บ.แอสตราเซเนกา 50,000 โดส, นำเข้าวัคซีน “โคโรนาแวค” จาก บ.ซิโนแวค ไบโอเทค ประเทศจีน 200,000 โดส | เริ่มฉีดวัคซีนให้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 5 จังหวัด: สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด จำนวน 2 หมื่นคน กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูงและกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ จำนวน 1.8 แสนคน |
มีนาคม | นำเข้าวัคซีน AZD1222 จาก บ.แอสตราเซเนกา 50,000 โดส, นำเข้าจาก บ.ซิโนแวค 800,000 โดส | เริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้กลุ่มแรก (2 แสนคน) และฉีดวัคซีนเข็มแรก ให้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าในพื้นที่ชายแดนตะวันตกและภาคใต้ จำนวน 6 หมื่นคนกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อและมีภาวะแทรกซ้อนสูงและกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ จำนวน 5.4 แสนคน |
เมษายน | นำเข้าวัคซีน AZD1222 จาก บ.แอสตราเซเนกา 50,000 โดส, นำเข้าจาก บ.ซิโนแวค 1 ล้านโดส | ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้แก่กลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเมื่อเดือนมีนาคม 6 แสนคนฉีดให้ประชาชน 4 แสนคน |
พฤษภาคม | ได้รับวัคซีน AZD1222 จาก บ.แอสตราเซเนกา ผ่าน บ.สยามไบโอไซเอนซ์ จำนวน 26 ล้านโดส | ฉีดให้ประชาชน 13 ล้านคน แต่ยังไม่ได้กำหนดรูปแบบการแจกจ่ายวัคซีนนอกจากนี้ ครม. มีมติอนุมัติให้ซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส |
“โควิด-19 วัคซีนมา คุณจะฉีดไหม ?”
คำถามสั้น ๆ ในแบบสอบถามออนไลน์ ของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ มีผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวนประมาณ 34,000 คน พบว่า กว่า 80 % มีแนวโน้มที่จะฉีดวัคซีน “ดังนั้น รัฐบาลสั่งวัคซีนเข้ามา ไม่ต้องกลัวว่าวัคซีนจะเหลือ กลัวว่าจะไม่พอฉีดมากกว่า”
อย่างไรก็ตาม ชนิดของวัคซีนที่ผลการวิจัยบอกว่าป้องกันโรคได้สูงสุด อาจ “ไม่เท่ากับ” วัคซีนที่ดีที่สุด นอกจากประสิทธิภาพในการสร้างภูมิต้านทานแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และระยะเวลาในการป้องกันโรคได้นานเท่าใดด้วย ซึ่งวัคซีนที่ประกาศว่าผ่านการทดลองในคนระยะสุดท้ายทุกบริษัทสร้างภูมิต้านทานในร่างกายได้น้อยกว่า 2 ปี
และยิ่งฉีดมากก็ยิ่งมีรายงานผลข้างเคียงร้ายแรง เช่น มีรายงานการฉีดวัคซีนของบริษัท Pfizer-BioNTech 2 ล้านโดสในสหรัฐอเมริกา มีคนแพ้รุนแรง ประมาณ 11 ราย : วัคซีนหนึ่งล้านโดส ประมาณการณ์ว่าอัตราการแพ้รุนแรงประมาณ 10 เท่าของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดกันประจำปี ข้อสังเกต คือ สถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง ทำให้อเมริกายอมรับผลข้างเคียงนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรที่เสียชีวิตจำนวนมาก
คำถามสำคัญ วัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตและออกสู่ตลาดขณะนี้ ไม่ได้ทำหน้าที่ ‘ป้องกันการติดเชื้อ’ เช่น วัคซีนโรคไข้เหลือง ดังที่ ศ.นพ.ยง กล่าวตอนต้น วัคซีนทำหน้าที่เพียงลดความรุนแรงของโรค และลดการตายจากโรคเท่านั้น ไม่ได้ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อลดลง ความรู้และงานระบาดวิทยาในการควบคุมโรคจึงยังจำเป็นในฐานะการ “ป้องกันการติดเชื้อ” ขณะที่วัคซีนทำหน้าที่ “ป้องกันโรค” ทั้งสองปัจจัยนี้ จึงต้องทำงานควบคู่กัน
จากการเก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 พบว่า ประมาณ 50 – 60 % ไม่มีอาการ, 15-20 % ที่แสดงอาการ และเพียง 5 % ที่อาการหนักต้องเข้ารักษาในห้อง ICU และอัตราการตายน้อย หากไม่มีโรคแทรกซ้อนมาก่อน (ของไทยอัตราการตายอยู่ที่ 1 %)
ทำไมไม่มีใครผลิตวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อ ?
คนกำหนดตลาดวัคซีน คือ บริษัทยาและวัคซีน ประเทศมหาอำนาจที่เป็นเจ้าของบริษัทวัคซีน และองค์การอนามัยโลกก็ตาม ให้ความสำคัญกับการรักษา คือ เมื่อคนติดเชื้อไม่ป่วยรุนแรงถึงเสียชีวิต มุ่งลดภาระระบบบริการทางการแพทย์เป็นหลัก ไม่ให้ระบบบริการสาธารณสุขล่ม องค์การอนามัยโลกจึงตั้งมาตรฐานวัคซีนให้มีประสิทธิผลมากกว่า 50 % ถือว่าปลอดภัยแล้ว
ประเด็นที่ท้าทายอย่างยิ่ง เมื่อฐานคิดการผลิตวัคซีนเป็นการ “ป้องกันโรค” ไม่ให้ป่วยเสียชีวิต และอายุของวัคซีนสร้างภูมิต้านโรคไม่เกิน 2 ปี แม้ทุกรายถูกฉีด 2 โดสแล้วก็ตาม นั่นหมายความว่า งานระบาดวิทยายังต้องทำการตรวจหาเชื้อเชิงรุก หรือ swab ทุก 2 ปี จนกว่าเชื้อโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เช่นเดียวกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งไม่มีใครรู้ระยะเวลานั้น ดังนั้น เราจึงไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งโรคนี้ เช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดตามฤดูกาลการเกิดโรคเป็นระยะ
วัคซีนทางสังคม คือ คำตอบสุดท้ายของโควิด-19
มาถึงตอนนี้ดูเหมือนวัคซีนโควิด-19 จะยังคงไม่ใช่คำตอบ การใช้ชีวิตต่อไปจากนี้ Social Vaccine หรือวัคซีนทางสังคม ซึ่งเป็นวัคซีนที่เราต่างมีกันอยู่แล้วคือคำตอบของอนาคต
นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP ย้ำว่า Social vaccine ง่าย ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวเรามี 3 วิธีด้วยกัน คือ การใส่หน้ากาก การล้างมือ และการเว้นระยะห่าง ที่ช่วยเราได้จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่บอกว่าหน้ากากทุกชนิดสามารถช่วยป้องกันโควิด-19 ได้ นักวิชาการได้ข้อสรุปร่วมกันว่า คนทั่วไปควรใช้หน้ากากผ้า กลุ่มที่ต้องใช้หน้ากากอนามัยคือแพทย์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนซึ่งมีความเสี่ยงสูง การเว้นระยะห่างควรเว้นตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไปจะมีส่วนช่วย ยิ่งห่างยิ่งช่วยได้มาก วัคซีนทางสังคมเหล่านี้ ช่วยลดการแพร่ระบาดได้แม้มีวัคซีนแล้ว เพราะสามารถช่วยทั้งกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและกลุ่มรับวัคซีนแล้วเวลาผ่านไปภูมิต้านทานลดลง
“การเผชิญหน้ากับโควิด-19 คือ หนทางยาวไกลอย่างมาราธอน การวิ่งกันต่อไปอย่างที่ผ่านมา คือระยะวัดใจที่ต้องใช้ความอดทนมากขึ้น การกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมมากขึ้นควบคู่ไปกับวิถีชีวิตแบบใหม่ “ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง” แม้มีกรณีติดเชื้อเกิดขึ้น โควิด-19 ก็จะไม่สามารถติดต่อไปได้ไกล และสามารถควบคุมได้ในท้ายที่สุด”
การระบาดของ โควิด-19 ทำให้โลกใบนี้เปลี่ยนไปตลอดกาล เช่นเดียวกับโรคระบาดใหญ่ครั้งก่อน ที่ทำให้เกิดวิถีชีวิตใหม่ อย่างเช่น “อหิวาตกโรค” ทำให้เกิดสุขอนามัยด้านการขับถ่าย เกิดเป็นห้องสุขาและ ช้อนส้อมในการรับประทานอาหาร จากวิถีใหม่ในอดีต กลายเป็นวิถีปกติในปัจจุบัน โควิด-19 ก็เช่นเดียวกัน
อ่านเพิ่มเนื้อหาชุด “นับถอยหลังวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก”
EP.1 ระบาดรอบใหม่ บีบ ‘ไทย’ ซื้อวัคซีน ‘จีน’