ไวรัสกลายพันธุ์ วัคซีนโควิด-19 คุมอยู่? | นับถอยหลังวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก EP.2

สายพันธุ์ดั้งเดิมของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ “โควิด-19” พบที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เรียกว่า สายพันธุ์ D614 ต่อมา กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ G614 เริ่มพบในสัดส่วนประมาณ 26 % ของเชื้อที่พบนอกประเทศจีน ในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

กระทั่งเดือนเมษายน พบมากถึง 65 % และในเดือนพฤษภาคม พบมากถึง 70 % แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแพร่ระบาดมากกว่าสายพันธุ์เดิมมาก

เดือนกันยายน เริ่มพบโควิด-19 สายพันธุ์ B1.1.7 ในประเทศอังกฤษ หรือที่เรียกว่า สายพันธุ์อังกฤษ โดยกลางเดือนพฤศจิกายน สายพันธุ์ดังกล่าว พบเพิ่มขึ้นเป็น 20-30 % ของโควิด-19 ที่ระบาดในอังกฤษ ต้นธันวาคม พบเพิ่มมากเป็น 60 % ทั้งนี้ สายพันธุ์ B1.1.7 แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ G614 แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏว่า รุนแรงกว่ากัน จึงอยู่ในศักยภาพวัคซีนที่ผลิตอยู่ ป้องกันได้

แต่อีกสายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง ก็คือสายพันธุ์ E484K ซึ่งมีต้นกำเนิดในแอฟริกาใต้ หรือที่เรียกว่า สายพันธุ์บราซิล วัคซีนที่วิจัยได้ตอนนี้ อาจไม่ครอบคลุม สามารถ​ทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ ปัจจุบัน​ จำนวนผู้​ติดเชื้อ​โควิด-19 สายพันธุ์​นี้ ยังมีไม่มาก

ทำไมไวรัสสายพันธุ์บราซิล ทำให้นักไวรัสวิทยากังวล?

ไวรัสสายพันธุ์บราซิลที่ถูกพบในผู้โดยสารที่สนามบินฮาเนดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หรือที่บางคนที่เรียกกันว่า “สายพันธุ์ P1” มีการเปลี่ยนแปลงบนโปรตีนสไปค์หลายตำแหน่ง

อนันต์ จงแก้ววัฒนา​ นักไวรัสวิทยา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช.​ ระบุว่า มี 3 ตำแหน่งที่นักไวรัสวิทยาสนใจเป็นพิเศษ คือ E484K, K417T, และ N501Y เพราะมีข้อมูลบ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว น่าจะเกี่ยวข้องกับลักษณะของไวรัสที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น แพร่กระจายจากคนสู่คนได้ไวขึ้น หรือ ต้านทานการจับของแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นมาจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติ หรือ จากการกระตุ้นโดยวัคซีน โดยเฉพาะประเด็นหลังจะสร้างความกังวลเป็นพิเศษ

ก่อนหน้านี้พบว่าช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2563 เมืองมาเนาส์ ประเทศบราซิล มีการระบาดของโควิด-19 ที่หนักมาก ๆ เนื่องจากนโยบายการป้องกันที่ไม่มีประสิทธิภาพ และจากการตรวจภูมิคุ้มกันของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นช่วงเดือนตุลาคมพบว่า ประมาณ 75 % ของประชากร มีแอนติบอดีต่อไวรัส SARS-CoV-2 แล้ว เมืองนี้จึงถูกมองว่าประชากรน่าจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ แต่การระบาดขึ้นอีกของสายพันธุ์ P1 ในเดือนธันวาคม สร้างความประหลาดใจว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร?

โดยหลัก ๆ คำอธิบายที่เป็นไปได้มีอยู่ 3 กรณี คือ 1. ประชากรที่มีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อมาก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งมีภูมิที่ตกไว ไม่สามารถป้องกันการระบาดของ P1ในรอบสองนี้ได้ หรือ 2. ไวรัสสายพันธุ์ P1 มีคุณสมบัติที่แพร่กระจายไว และอาจจะไปเจอกลุ่มประชากรที่เหลืออยู่อีก 25 % ที่ยังไม่มีภูมิ ตัวเลข 75% ยังอาจจะไม่พอสำหรับ Herd immunity

และ 3. ไวรัส P1 สามารถหลีกหนีภูมิคุ้มกันของประชากรในเมืองนี้ได้ในระดับที่เกิดการระบาดได้อีกครั้ง ซึ่งในความเป็นจริงคงมีปัจจัยร่วม ๆ กันของทั้ง 3 สถานการณ์ ตอนนี้ยังไม่มีใครสรุปออกมาได้

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา​ ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช.​

ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ บอกอีกว่า คงต้องเน้นประเด็นสำคัญว่าข้อมูลตอนนี้ ยังไม่มีการยืนยันว่าไวรัสสายพันธุ์ P1 จะสามารถติดคนที่มีภูมิซ้ำได้จริงหรือไม่ หรือ ไวรัสชนิดนี้จะหนีภูมิคุ้มกันของวัคซีนได้ แต่นักไวรัสหลายคนมองว่า อันนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า เราอาจจะต้องรีบ update วัคซีนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้และสร้างวัคซีนเวอร์ชันใหม่กันแล้ว เพื่อเป็นการตั้งรับการเปลี่ยนแปลงของไวรัส

นักไวรัสกลุ่มใหญ่จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในอังกฤษ ได้ร่วมมือกันศึกษาผลของการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของไวรัส (Genotype) ต่อลักษณะพฤติกรรมของไวรัสที่เปลี่ยนแปลงไป (Phenotype) เรียกว่า G2P-UK Consortium เพื่อเป็นการคอยตรวจสอบและยืนยันว่าไวรัสที่ระบาดอยู่มีการกลายพันธุ์ไปแล้วจริง ๆ และการกลายพันธุ์นั้นมีผลอย่างไรต่อความรุนแรงหรือต่อประสิทธิภาพของวัคซีน

“ความร่วมมือดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นทั้งโลกเพราะเป็นข้อมูลที่สำคัญมาก เพราะยิ่งรู้ไวก็จะสามารถแก้ไขได้ไว”

ส่วนประเทศไทย​ ซึ่งมีต้นทุนจากการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่เดิมอยู่แล้ว ต้องเริ่งสร้างทีมวิจัยวัคซีน​ต้นแบบ​ และสร้างโครงสร้างพื้นฐานในห่วงโซ่การผลิตวัคซีนให้ครบวงจร​ เพราะเชื่อว่าในอนาคตจะต้องมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นตามมาอีก​ หรือแม้แต่กระทั่งการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาที่อาจจะต้องมีการวิจัยวัคซีนต้นแบบ เพื่อให้ทันกับการกลายพันธุ์ของโควิด-19 หลังจากนี้ด้วย


ติดตาม “โควิด-19 โอกาสสร้างความมั่นคงทางยาและวัคซีน” ต่อใน นับถอยหลังวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก EP.3

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS