บทบาทของศิลปิน คือเอาเสียงของชุมชน มาถ่ายทอดเป็นศิลปะ
ชวนทำความเข้าใจพื้นที่ทับซ้อนในดินแดนใต้สุดของประเทศไทยผ่านการใช้ศิลปะร่วมสมัย ที่ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม…
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยังคงดำเนินไป แต่ ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ หรือ อ.เจ๊ะ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และผู้ก่อตั้ง Patani Artspace พร้อมกลุ่มศิลปินในพื้นที่กำลังจะทำให้สังคม มองอีกมุมว่า ความเป็นปกติของมนุษย์โลก ที่ต้องการความรื่นเริง บันเทิง ความสุข ในการดำเนินชีวิต ยังคงดำเนินไปเช่นกัน ไม่ใช่เพียงแค่ความขัดแย้ง
อ.เจ๊ะ เริ่มต้นการสนทนา ด้วยการพูดถึง Kenduri Seni Nusantara เทศกาลศิลปะบนพื้นที่ทับซ้อนชายแดนใต้ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมืองปัตตานี ผลงานถูกติดตั้งบนทุ่ง นา ป่า และเมือง การทับซ้อนที่ว่านั้นรวมตั้งแต่ที่ดินหลังบ้าน ไปจนถึงการทับซ้อนกันของขอบเขตระหว่างดินแดน ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องไปจนถึงความทับซ้อนของเชิงชั้นทางสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ เพศสภาพ ศาสนา ชาติพันธุ์ ภายใต้การปกคลุมของรัฐชาติ
สิ่งที่กลุ่มศิลปินอยากสะท้อนคือความเป็นสังคมมันยังคงดำเนินต่อไป ไม่ใช่เพียงแค่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง 19 ปีที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่พยายามสร้างสังคม อย่างการจัดงานศิลปะเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าชุมชนยังสามารถรวมตัวกันจัดกิจกรรมร่วมกันได้
ตรงนี้กำลังจะบอกว่าพื้นที่ของ ปัตตานี หรือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะมีเรื่องของความหวาดระแวงไม่ใช่เฉพาะคนในพื้นที่เท่านั้น แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความหวาดระแวงระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคนในศาสนาเดียวกัน หรือว่าเป็นคนต่างศาสนา รวมถึงคนนอกพื้นที่ ที่มีความหวาดระแวงคนในพื้นที่ ไม่กล้าที่จะเดินทางมาหรือไม่กล้าที่จะพบปะ มองพื้นที่ได้อย่างปกติ เหมือนที่อื่น ๆ
“แน่นอนเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเหตุการณ์มันก็ยังคงดำเนินของมัน แต่อีกนัยหนึ่งผมอยากจะทำให้สังคมได้เห็นว่า ความเป็นปกติของมนุษย์ ที่ต้องการความรื่นเริง บันเทิง ความสุข ในการดำเนินชีวิต ยังคงดำเนินไปเช่นกันไม่ใช่เพียงแค่ความขัดแย้ง นั้นคือสิ่งแรก ๆ ที่เราอยากจะทำให้สังคมได้เห็น
ธงหลักของนิทรรศการคือการทำศิลปะร่วมสมัย เราพยายามจะนำเสนอการยกระดับของคนทำงานศิลปะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่ไม่มีองค์กรหรือแหล่งทุนสนับสนุนมากมายแต่เรายังคงดำเนินการต่อ ด้วยหัวใจและพลังของจิตวิญญานของทีมงาน คนทำงานศิลปะ ทั้งศิลปินที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดและ ศิลปินในต่างประเทศที่มาร่วมจัดแสดงงานในครั้งนี้ด้วย
เราต้องการยกระดับการเป็น ศิลปินในภูธร แต่ว่างานศิลปะไม่ได้ภูธร มันมีความเป็นสากล นานาชาติ เราอยากให้วงการศิลปะมองคนที่นี่ มองเห็นได้ยิน ไม่ใช่เพียงแค่คนจากส่วนกลางเท่านั้น และไม่ใช่คนที่อยู่ชั้นบนเท่านั้น ที่เขามีโอกาสในการสร้างงานศิลปะ เราก็ต้องมีโอกาสด้วยโอกาสของเราควรจะเท่ากันไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
อย่างวงการศิลปะที่เราเจอหากเราจะต้องทำกิจกรรมสักครั้งก็ต้องวิ่งเข้าไปที่กรุงเทพฯ เพราะโอกาสมันอยู่ตรงนั้น แต่อีกด้านการที่เราจะทำให้คนเหล่านั้นละสายตา แล้วหันมามองเรา เราก็ต้องทำงานหนักเช่นกัน โดยเฉพาะมิติของศิลปะร่วมสมัยของเรา
ศิลปิน ศิลปะ ทำงานร่วมกับชุมชนอย่างไร ?
เรากำลังใช้ศิลปะร่วมสมัย เชื่อมโยงกับความเป็นศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น ท้ายที่สุดศิลปะมันอยู่ในทุกอณูชีวิตของมนุษย์ สิ่งที่เราพยายามจะทำคือทำให้คนทั่วไปสามารถสัมผัสศิลปะได้อย่างง่ายดาย ศิลปะไม่ใช่ของสูงส่ง ผมอยากให้ศิลปะ เป็นเหมือนอาหารที่ทุกคนสามารถชิมได้ ส่วนจะถูกปากหรือไม่มันก็เป็นรสนิยมของแต่ละคน กินแล้วอร่อยไม่อร่อยขึ้นอยู่กับลิ้นของแต่ละคน
ศิลปะเป็นตัวกลางในการส่งสาร ที่เป็นสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แน่นอนชุมชนเขาอาจจะไม่สามารถแสดงออกอย่างเราได้ อย่างมากก็แค่พูด หรือบางทีอาจจะพูดไม่ได้เลย เพราะถูกห้ามไม่ให้พูดกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น
โมเดลรถถังขนาดใหญ่สีแดงตั้งอยู่ในศาลา สัดส่วนของรถถังเบียดเบียนและกินพื้นที่ศาลาแทบทะลัก คือชิ้นงานศิลปะของ อ.เจ๊ะ
อย่างงานผมเอง ผมแทบไม่ต้องอธิบายกับชาวบ้านเลย ชาวบ้านดูแล้วรู้เลยว่าผมต้องการจะสื่ออะไร ซึ่งมันตรงกับใจของเขาที่อยากจะสื่อสาร รถถังที่อยู่ในบ้านไม่มีแม้กระทั่งที่ที่จะให้เจ้าของบ้านอยู่ มันอึดอัดมาก ซึ่งนี่คือสภาวการณ์ กว่า 19 ปี ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ หรือหลายชิ้นงานก็อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรุนแรง แต่มันเกี่ยวข้องกับเรื่องของรากวัฒนธรรม เขาเห็นและภูมิใจว่ามันสามารถสะท้อนให้กับผู้คนในเรื่องของวัฒนธรรมได้
อันนี้คือสิ่งที่เราพยายามสื่อสารกลับไปให้กับคนในพื้นที่ งานศิลปะมันสามารถส่องทางให้กันได้ ศิลปะสามารถเป็นตัวแทนในการสื่อสาร มันอาจไม่ใช่ตัวแทนในการสร้างความมั่งคั่งในเรื่องของเศรษฐกิจให้กับเขา แต่มันเป็นตัวแทนในการสร้างความมั่งคั่งให้กับความรู้สึกเขา
ผมมองว่าความมั่งคั่งที่เป็นกายภาพและความมั่งคั่งทางจิตวิญญาณมันสำคัญพอ ๆ กัน
ความมั่งคั่งของความรู้สึก = ความมั่งคั่งทางเศษฐกิจ
ผมคิดว่า ทุกพื้นที่ ทุกชุมชนบนโลกใบนี้ลำดับแรกเขาก็ต้องการความมั่งคั่งทางความรู้สึกก่อน ทีนี้ความสุขจะนำไปสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ต่อให้เขามีเงินแต่เขาไม่มีความสุขเขาก็ใช้ชีวิตอย่างไม่ราบรื่น อย่างพื้นที่ตรงนี้มันเป็นสองเท่า คือทั้งความมั่งคั่งทางด้านเศรษฐกิจ และความรู้สึก
ถ้าเราดู GDP ในเรื่องของเศรษฐกิจที่นี่ คนที่นี่ยากจนติดอันดับต้น ๆ ของประเทศ ด้วยเรื่องของความเหลื่อมล้ำในการจัดการของโครงสร้างทางอำนาจที่ไม่สนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจเขาได้ แน่นอนวาทกรรมสนับสนุนได้แต่อย่าให้โต เป็นบาดแผลของคนที่นี่มาก ซึ่งมันครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจและความรู้สึกจริง ๆ
ถ้าจะสนับสนุนก็ต้องสนับสนุน 100 % เพราะว่าในพื้นที่มีคน และทรัพยากรธรรมชาติ แต่ไม่สามารถที่จะแปรรูป และต่อยอดทางด้านเศรษฐกิจและสภาวะจิตใจที่ดี ผมคิดว่าคนที่นี่ เขาถูกกระทำ ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี เหตุการณ์บ้านเมืองก็ไม่ดี มันก็ 2 เท่า ฉะนั้นการที่ผมจัดงานแบบนี้เพื่อที่จะสร้างความมั่งคั่งทางความรู้สึกให้กับเขา ทำให้เกิดการเปิดรับคนนอก และทำงานร่วมกับคนในพื้นที่
7 โมงเช้าของวันเปิดงานชาวบ้านทยอยเดินทางมาตัดหญ้า เตรียมเครื่องครัวตั้งแต่เช้าเป็นภาพที่เห็นแล้วเผลอยิ้ม และดีใจอย่างห้ามไม่ได้
อ.เจ๊ะ เล่าว่า การจัดงานพยายามดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมให้เขาสามารถต่อยอดความมั่นคงทางด้านเศษฐกิจได้ อย่างการนำอาหารพื้นถิ่นมาจัดให้คนในงานได้ชิม ได้ซื้อ โดยที่ไม่มีการเก็บค่าเช่าที่ บางคนเล่าว่า เขาขายได้แค่ 6 ชิ้นเขาก็ดีใจมาก เพราะมันสามารถเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวเขาได้หลายสัปดาห์ คนขายเขาต้องการพื้นที่ ที่ไม่กดทับเขา เขาขายเท่าไร เขาก็ได้เต็มจำนวน ไม่ใช่ว่าเขาจะต้องจ่ายภาษี หรือจ่ายค่าเช่าที่อีก ผมคิดว่าถ้ารัฐ เปิดพื้นที่ให้กับเขา 100 % แบบนี้ ไม่มีความยากจนเกิดขึ้นในพื้นที่แน่นอน ซึ่งที่ผมทำ ทำได้แค่ 2 -3 วัน กับงบประมาณที่มี แต่หากรัฐคิดประเด็นเหล่านี้โดยไม่ได้เอื้อให้กับนายทุน ก็จะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน ความเหลื่อมล้ำไม่เกิดแน่นอน
การพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมา เกิดขึ้นจากคนมีอำนาจทางการเมือง แต่ประชาชนผู้ไร้อำนาจ กลับไม่มีเสียงในการพูดคุยสันติ ทั้งที่เขาคือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง
ที่ผ่านมามีคนไม่กี่คนที่เขาคุยและร่วมกันตัดสินใจ มีเพียงไม่กี่เสียงที่ตัดสิน และชี้วัดว่าคนที่นี่เขาต้องการอะไร เขาอยากมีความรู้สึกอย่างไรผมมองว่า การที่เราได้ใช้กิจกรรมทางศิลปะเหล่านี้เป็นเครื่องมือ อย่างน้อยที่สุด มันสามารถส่งเสียงให้กับตัวแทนไม่กี่คนได้เห็นว่า จริง ๆ แล้วชุมชนต้องการความสุข ต้องการพื้นที่ปลอดภัยในการจัดกิจกรรม ต้องการพื้นที่เสรีภาพในการแสดงออก ต้องการความรื่นเริงไม่ใช่ ต้องมานั่งอยู่ในภวังค์ว่าจะถูกคุกคามไหม ทำกิจกรรมนี้แล้วมันจะมีความปลอดภัยไหม
เสียงที่เราพยายามจะสื่อสาร อาจไม่ได้ใหญ่โตมากมายอาจเป็นกลุ่มก้อนเล็ก ๆ แต่ผมคิดว่ากลุ่มก้อนเล็ก ๆ แบบนี้มีความหมาย อาจส่งผลให้กับชุมชนอื่นหมู่บ้านอื่น เราจึงพยายามที่จะจัดกิจกรรมแบบนี้ให้มากขึ้น มากขึ้น มันก็จะกระจายออกไปไม่ใช่แค่ที่เดียว หากทุกชุมชนมีกิจกรรมแบบนี้ ไม่ใช่แค่มิติทางศิลปะเท่านั้น ตรงนี้ต่างหากถึงจะเป็นตัวชี้วัดที่บอกว่าคนในพื้นที่ เขาต้องการความสุข กับการมีชีวิต
เสียงเล็กหนึ่งเสียง สามารถส่งออกไปให้อีกหลายเสียงได้ยิน เหมือนการทำศิลปะจากหนึ่งชุมชนก็ขยายไปให้กับหลายชุมชน และผมกำลังจะบอกว่าการจะส่งเสียงเล็กเสียงน้อยเหล่านี้ไปให้ถึงผู้มีอำนาจจะต้องผนึกกัน ในพื้นที่เราแทบไม่มีอำนาจทั้งที่เราเป็นคนหมู่มาก แต่ไม่มีบทบาท มีคนไม่กี่คนที่ตัดสินใจตรงนี้ ฉะนั้นการที่เราหยิบศิลปะมาใช้ขับเคลื่อน soft power ผมคิดว่ามันจำเป็นมากต่อสังคม
“ศิลปะไม่ทำร้ายใคร มีแต่สร้างสรรค์ มีแง่คิด และจิตสำนึก ผมคิดว่าอย่างน้อยสุดศิลปะไม่ได้ฆ่าใคร มันไม่ใช่อาวุธปืน แต่เป็นอาวุธทางปัญญา ฉะนั้นการต่อสู้ที่จะบ่งบอกถึงความมีอารยธรรม คือการใช้ปัญญา ในการต่อสู้”
ศิลปะจะนำไปสู่สันติภาพ?
ความหลากหลายในการแสดงออกของศิลปิน ทั้งเรื่องศาสนา เศรษฐกิจ การเมืองการปกครองอะไรต่าง ๆ แต่หากถามว่าจะนำไปสู่อะไร ผมคิดว่า มันเชื่อมโยงหลากหลาย อย่างน้อยที่สุด งานศิลปะแต่ละชิ้นมีเสียงของศิลปินที่เขาประสบพบเจอในแต่ละเรื่องราวต่าง ๆ ในความเป็นพื้นที่ มันสะท้อนออกมา การที่เราจะบอกว่านำไปสู่ความสงบสุขมันก็ดูลิเกเกินไป มันไม่มีทางที่จะบอกว่าศิลปะมาแล้วมันจะสงบสุขอยู่แล้ว เพราะองคาพยพทุกอย่างมันเกี่ยวข้องหมดเลย
ผมอยากให้ชุมชน ประชาชนแข็งแรง เพราะเมื่อไรที่เขาแข็งแรง เราสามารถที่จะต่อกรกับอำนาจที่ใหญ่กว่าเราได้ แน่นอนเรามองว่าเขากำลังทำให้เราอ่อนแอเพื่อไม่ให้ไปต่อกรกับเขา แต่เมื่อใดที่เป้าหมายของพวกเราเป็นอันเดียว นั้นแหละคือจุดเริ่มต้นการต่อรองที่แข็งแรง
งาน Kenduri Seni Nusantara เทศกาลศิลปะบนพื้นที่ทับซ้อนชายแดนใต้ ถูกจัดตั้งไว้ที่ Patani Artspace และบริเวณใกล้เคียงในจังหวัดปัตตานี ตั้งแต่ 13 ส.ค. – 30 พ.ย. 2565
ภาพจาก : Kenduri Seni Nusantara – Patani