หาจุดตัดของความคิดต่าง จัดวางการอยู่ร่วมกันของความขัดแย้ง
เมื่อประชาชน “ไม่ปล่อยจอย” ยังติดตามการเมืองหลังตั้งรัฐบาลใหม่ พื้นที่เคลื่อนไหวการเมืองนอกสภาฯ ในปัจจุบันก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ท้องถนนอีกต่อไป มุมมองความคิดเห็นที่แตกต่าง คนรุ่นใหม่ – คนรุ่นเดิม ยังเป็นเส้นขนานที่สามารถหาจุดร่วมที่จะเดินหน้า ไปด้วยกันได้ เพียงแค่ลอง “ถอดหัวใจ” ฟังเสียงของคนคิดต่าง เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยที่อาจต้องกลับไปนับหนึ่งที่รัฐธรรมนูญ
.
The Active ชวน “มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล” หนึ่งในแกนนำคณะประชาชนปลดแอก และกลุ่มราษฎร อัปเดตชีวิตและมุมคิดทางการเมือง มองจังหวะก้าวของตัวเธอเอง จังหวะก้าวของมวลชนกับการเมืองนอกสภา รวมถึงจังหวะก้าว ของการเมืองและสังคมไทย ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญหลังปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ปรับพื้นที่สื่อสาร ยืนยัน “อำนาจประชาชน” จากท้องถนน สู่พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์
จากจุดเริ่มต้นของการตื่นตัว และสนใจการเมือง ตั้งแต่ ปี 2558 หลังเห็นภาพความรุนแรง จากการจัดกิจกรรมทางการเมือง ในช่วงครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร นำมาสู่การเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมทางการเมืองเรียกร้องประชาธิปไตยต่อเนื่อง จนมาถึงปี 2563 เมื่อเกิดเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ “มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล” ค่อย ๆ ขยับบทบาทมาสู่แกนนำการเคลื่อนไหวมวลชนร่วมกับคณะประชาชนปลดแอก และกลุ่มราษฏร
ปัจจุบันเธอยังอยู่ในขั้นตอนต่อสู้คดีที่เกิดจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง รวม 15 คดี ในจำนวนนั้น 3 คดี เป็นคดีในมาตรา 112
“จากปี 63 จนถึงตอนนี้ สถานการณ์การเมืองก็ยังไม่นิ่งอยู่ดี เมื่อเราเห็นปัญหาแล้ว จึงจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่าง เมื่อเราประเมินได้ว่า เงื่อนไขชีวิตเราเป็นอย่างไร เรารับมันได้แค่ไหน มายด์ก็เลยเคลื่อนไหวมาถึงตอนนี้ เพื่อส่วนหนึ่งเป็นจุดยืนยันว่าประชาชนอย่างเรามีอำนาจ และเราสามารถทำอะไรได้มากกว่าการเข้าไปกาเลือกตั้ง 4 วินาทีเท่านั้น“
แต่วันนี้ พื้นที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของมายด์ ปรับเปลี่ยนจากท้องถนน มาสู่การใช้พื้นที่ “สื่อ” ในการสื่อสารและพยายามขับเคลื่อนประเด็นทางการเมือง ผ่านการจัดรายการทางสื่อออนไลน์
“หลายคนบอกว่ามายด์ผันตัวมาเป็นสื่อ อาจเป็นพราะว่า มายด์ได้ทำรายการ และในช่วงเลือกตั้งก็ลงไปทำข่าว คิดอยู่นานว่าจะเรียกตัวเองว่าสื่อได้มั้ย แต่ตอนนี้ สรุปได้แล้วว่า มายด์ก็ยังเป็นประชาชนคนหนึ่ง ที่พยายามหาหลายวิธี หลายช่องทางในการทำงานขับเคลื่อน นำเสนอและเปิดพื้นที่ถกเถียงทางความคิด ให้สังคมได้สะท้อนปัญหาร่วมกัน หรือการหยิบยื่นประเด็นที่เราต้องการให้สังคมตระหนักรู้ร่วมกัน ช่องทางสื่อเองก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำได้ดี”
มายด์ ขยายความถึงวิธีการเคลื่อนไหวซึ่งเธอคิดว่ามีหลายรูปแบบ การเคลื่อนไหวบนท้องถนนเป็นเพียงหนึ่งยุทธวิธี แต่จุดหลักของการเคลื่อนไหวคือการทำงานทางความคิดที่ต้องมีน้ำหนักมากพอในการเชื่อถือหรือโต้แย้งด้วยเหตุผลได้ ดังนั้นหากต้องการให้ประชาชนเข้มแข็งไปพร้อม ๆ กัน ต้องพยามกระจายชุดข้อมูลให้รับรู้และทำความเข้าใจ ขยับมาพูดเชิงประเด็นมากขึ้น โดย “ใส่รายละเอียด” ลงไปในปัญหาในโครงสร้างการเมืองที่ได้เปิดไว้ตั้งแต่การเคลื่อนไหวเมื่อปี 2563 ทำให้เห็นว่าปัญหาการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว ส่งกระทบกับทุกส่วน รวมไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของทุกผู้คน
โดยสื่อสารมุ่งเน้นไปที่สามประเด็นหลัก คือ รัฐธรรมนูญ ทรัพยากร และ ปัญหาโครงสร้างอำนาจ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน และเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบกับคนหมู่มาก โดย มายด์ยกตัวอย่างให้เห็นว่า
- รัฐธรรมนูญ เป็นกติกาใหญ่ในการบริหารประเทศ แต่ที่ผ่านมาถูกร่างโดยชนชั้นปกครอง ไม่มีส่วนผสมหรือมีส่วนร่วมของประชาชนในการเขียนรัฐธรรมนูญมากนัก
- การจัดสรรทรัพยากร สะท้อนผ่านประเด็นในรัฐธรรมนูญ ปี 60 ที่มีการกำหนดการจัดสรรทรัพยากร เช่น การกำหนดสิทธิการเข้าถึงและการใช้ที่ดิน หรือการใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีการล็อกให้ต้องดำเนินตามนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งไปส่งผลกระทบกับการใช้ทรัพยากร ไม่เพียงกับประชาชนที่ต้องใช้ที่ดินในการทำกินเท่านั้น แต่การเข้าถึงที่ดินยากขึ้น จะส่งผลถึงต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าที่สูงขึ้น กระทบผู้บริโภคตามไปเป็นลูกโซ่
- ส่วนเรื่องโครงสร้างอำนาจ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 60 ประเด็นการให้ “อำนาจ สว.” ในการโหวตเลือกนายกฯ หรือเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนไม่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางประเทศ
มายด์ขยายความต่อ ว่าการจัดสรรอำนาจทั้งในทางกฎหมายและในทางวัฒนธรรม จะเป็นตัวยืนยันให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วประเทศนี้ปกครองด้วยใคร และสะท้อนถึงความเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน ดังนั้น โครงสร้างอำนาจที่ต้องเปิดให้ประชาชนเป็นผู้กำหนด รัฐธรรมนูญที่ประชาชนต้องเป็นผู้เขียน กำหนดเนื้อหาและออกแบบมาเพื่อประชาชน และการจัดสรรทรัพยากรที่ต้องเป็นธรรมกับประชาชน 3 เรื่องนี้เกี่ยวเนื่องกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักร่วมกัน
ถอดบทเรียน “ส่วนร่วมทางการเมือง” และพัฒนาการแบบก้าวกระโดด
เกือบหนึ่งทศวรรษ นับจากจุดเริ่มต้นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภาของประชาชน หลังเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มายด์ บอกว่า เธอเห็นพัฒนาการของการเคลื่อนไหวที่เข้มแข็ง เกิดพลวัต และการตื่นตัวของประชาชนที่เข้าใจการมีส่วนร่วมและรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจมากขึ้น
โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2563 ได้เห็นพัฒนาการแบบก้าวกระโดด ความตื่นตัวเพิ่มขึ้นแบบเท่าทวีคูณ ซึ่งเธอคิดว่าเกิดจากแรงกดทับต่อเนื่องยาวนานจากขั้วอำนาจเดิมที่พยายามทำให้ประชาชนหลงลืมอำนาจของตัวเอง จนนำมาสู่การระเบิดของความอดกลั้น ไม่ใช่เพราะแค่กรณียุบพรรคอนาคตใหม่ แต่ประชาชนรู้สึกไม่พอใจกับกติกาที่ไม่เป็นธรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ
ส่วนรูปแบบของการเคลื่อนไหว ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงไป จากรูปแบบการชุมนุมที่ค่อนข้างจำกัดและหาแกนนำได้ชัดเจน มาถึงการชุมนุม ในปี 2563 เป็นต้นมา ที่รูปแบบการชุมนุมมีความหลากหลาย และหาแกนนำยากมาก เป็นการปรับรูปการชุมนุมมาเป็นแบบ “ทุกคนเป็นแกนนำ”
พัฒนาการความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดที่เกิดขึ้น มายด์บอกว่า เธอเห็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองนอกสภาฯ คือ การประชาชนตั้งคำถามกับต้นตอของปัญหาได้จริง ซึ่งหากมองย้อนไปถึงชุมนุมทางการเมืองในห้วงเวลาก่อนหน้านี้ ทั้งในช่วง พฤษภาคม 2535 หรือช่วงปี 2553 บริบทของการชุมนุม ยังเป็นการพูดถึงเรื่อง “พฤติกรรม” นักการเมืองดี นักการเมืองเลว หรือเรื่องระบบสภาผัวเมีย แต่ไม่ได้พูดถึง และตั้งคำถามถึง “โครงสร้างการเมือง” เหมือนที่เกิดขึ้นในการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 ทำให้การเคลื่อนไหวในรอบใหม่ เป็นการจัดวางมาตรฐานทางสังคม โครงสร้างและ บรรทัดฐานทางวัฒนธรรมใหม่
การ ‘ชุมนุม’ เป็นเพียงแค่หนึ่งในวิธีการแสดงออกเท่านั้น
“มันเป็นการทบทวนวัฒนธรรมทางการเมืองอะไรบางอย่างด้วยว่า ประชาชนสามารถที่จะตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเคยสอนตลอดว่าเราไม่ควรแตะได้เลย เราเคยถูกสอนว่า ถ้าแตะจะบาป หรือแม้แต่คำว่า 112 เมื่อก่อนถ้าจะพูดต้องพูดคำว่าพิซซ่า ไม่สามารถพูดได้โดยตรง แต่เมื่อเราเกิดสภาวะร่วมกันว่า ตั้งคำถามได้ ตั้งคำถามสิ แค่สงสัยเอง มันเป็นการเพิ่มอำนาจในตนของประชาชนเองด้วย พอเราตั้งคำถามแล้ว แน่นอนว่าเราหลุดจากสภาวะคำถามโดยไม่มีคำตอบไม่ได้หรอก”
มายด์มองว่า โลกออนไลน์เป็นอีกปฏิกิริยาที่ค่อนข้างสำคัญ ทำให้เกิดพื้นที่ถกเถียงได้ตลอดเวลา เป็นการเปิดพื้นที่ในการโยนข้อมูล และโต้แย้งกันได้เต็มที่ เมื่อเกิดประเด็นทางการเมือง พื้นที่ออนไลน์จึงกลายเป็นพื้นที่สำคัญที่เป็นจุดขยายการถกถียงออกไปเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว เมื่อมี “แฮชแท็ก” เกิดขึ้นในทวิตเตอร์ มันจะเคลื่อนที่ไปอย่างต่อเนื่อง ประเด็นไม่ได้หยุดและจะมีข้อมูลใหม่ออกมามาโต้แย้ง ถกเถียงกันอยู่เสมอ
ขณะเดียวกัน เมื่อประชาชนเกิดความพยายามหาช่องทางและวิธีการในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น การชุมนุมจึงเป็นเพียงแค่หนึ่งยุทธวิธีในการแสดงออก แต่มีวิธีอื่น ๆ อีกมาก แม้แต่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ อย่างการติดสติกเกอร์ต่อต้าน หรือใส่ถุงเท้าล้อเลียนการเมือง ซึ่งเป็นการแสดงออกง่าย ๆ เพื่อร่วมยืนยันถึงอำนาจของตัวเอง
“สังคมเข้าใจและตื่นรู้ร่วมกัน ตาดูทุกช่วงจังหวะ เพราะถ้าไม่งั้นเราอาจจะพลาดโอกาสที่จะป้องกันผลกระทบบางอย่างที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และจะเป็นการปล่อยให้ความคาดหวังของเราไปทิ้งไว้ให้นักการเมืองจัดการกันเอง ซึ่งมันไม่ถูกต้องเท่าไหร่”
แรงกดทับ สู่ท่าทีการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่
แต่เมื่อถามความเห็นของมายด์ ต่อการ “แสดงออก” ผ่านการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่หลายสถานการณ์ถูกมองว่ามีความแข็งกร้าว ก้าวร้าว หรือเป็นผู้ก่อความรุนแรง อย่างกรณีของ “กลุ่มทะลุวัง” หรือ “ม๊อบทะลุแก๊ส” ก่อนหน้านี้ เรื่องนี้มายด์เห็นว่า เป็นเรื่องปกติ ที่เกิดขึ้นในทุกยุคสมัย ที่คนรุ่นเก่ามองคนรุ่นใหม่ใจร้อน หรือแข็งกร้าว ไม่อ่อนน้อม เพราะคนรุ่นเก่าเคยใช้การแสดงออกที่ละมุนละม่อมและมีประสบการณ์มากกว่า จึงเป็นฐานคิดที่ “ประเมินบนคนละชุดประสบการณ์”
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา มีสภาวะของอำนาจนิยมและ ระบบอาวุโส เป็นแรงกดทับที่เข้ามาเกี่ยวเนื่องด้วย จึงทำให้คนรุ่นเดิมมักจะตัดสินและปิดรับความคิดของคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็แสดงออก จากการสั่งสมความโกรธ และความไม่พอใจจากการถูกละเลย
“แล้วอะไรที่เป็นตัวกดทับ ทำให้เขาต้องแสดงออกแบบนั้น มันมีพัฒนาการก่อนหน้านั้นรึเปล่า เขาอาจเคยพูดดี ๆ เคยพูดคะขา อาจเคยเข้าไปยื่นหนังสือดี ๆ แบบเรียบร้อยมาแล้ว แต่อาจถูกเมินเฉยและถูกแปะป้ายว่าเป็นเด็กก้าวร้าวที่ไม่ควรให้ความสนใจหรือรับฟัง มันย่อมสร้างความโกรธ”
เรียกร้อง “คนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่” ถอดหัวใจมองแก่นการเคลื่อนไหว
อย่างกลุ่มทะลุแก๊ส หรือทีมดินแดงที่ออกมาเคลื่อนไหวช่วงปี 2564-65 มายด์เห็นว่าเป็นหนึ่งปรากฏการณ์ที่สะท้อนชัดว่า พวกที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่ได้มีวาระอะไรซับซ้อน นอกจากมาด้วยความรู้สึกถูกเอาเปรียบ เยาวชนบางคนที่เข้าร่วม เพราะสูญเสียพ่อแม่จากโควิด-19 ขาดรายได้ ไม่เหลือใครตกอยู่ในสภาะถูกบีบคั้นและเลือกไปแสดงออกที่ดินแดง เป็นการระบายความอัดอั้นของประชาชนต่อรัฐ มายด์คิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจและต้องกลับไปดูที่ต้นตอว่าอะไรทำให้เขาต้องออกมาทำอย่างนั้น
แต่เมื่อรูปแบบการเคลื่อนไหว ที่ดูแข็งกร้าว รุนแรง มักเกิดกระแสตีกลับจากสังคม มายด์เห็นว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวก็ต้องถอดบทเรียน และเรียนรู้ไปพร้อมกันด้วย หากเป้าหมายของการเคลื่อนไหวคือการทำให้สังคมได้ตระหนักรู้ เข้าใจและหาวาระร่วมในการถกเถียงถึงปัญหานั้น ๆ มากขึ้น วิธีการสื่อสารที่ทำให้คนรู้สึกสนใจในประเด็นนั้น ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ การใช้วาทศิลป์ การใช้วิธีการแสดงออกที่ทำให้คนรู้สึกร่วมกับประเด็นนั้น ๆ มากขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องมาถอดบทเรียน เพื่อปรับวิธีสื่อสาร และการเคลื่อนไหวไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเหตุผลที่นำมาประกอบใช้ในการเคลื่อนไหว หากมีความชัดเจนมากพอ ก็จะทำให้สังคมเห็นด้วยและสามารถเป็นหลักให้กับข้อเรียกร้องในระยะยาว
ขณะเดียวกัน นักเคลื่อนไหวการเมืองรุ่นใหม่เห็นว่า หากทั้ง “คนรุ่นก่อน” และ “คนรุ่นใหม่” ลองถอดหัวใจมามองให้เห็นถึงเนื้อหา เหตุผล และแก่นแท้ถึงความต้องการของแต่ละฝ่ายมากขึ้น ก็จะเป็นทางที่ทำให้ลดช่องว่างความขัดแย้งกันได้
“มายด์คิดว่า อย่าเพิ่งไปตัดสิน ลองมองถึงเหตุผลและแก่นแท้รวมถึงสภาวะที่เขาดำเนินมา ทำให้ต้องแสดงออกแบบนี้ดูก่อน เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ก็ต้องถอดหัวใจอีกมุมนึง แล้วมองดูด้วยเหมือนกันว่าอะไรที่ทำให้คนรุ่นเดิมคิดแบบนั้น และเหตุผลตรงไหนที่เขายังติดใจ และยังมีกำแพงอยู่ในการที่จะทำความเข้าใจเรา และเราต้องใช้เหตุผลไปทำลายกำแพงนั้นมั้ย
หาจุดตัดของความคิดต่าง จัดวางการอยู่ร่วมกันของความขัดแย้ง
คนรุ่นใหม่อาจจะต้องเข้าใจถึงความคุ้นชิน และประสบการณ์ที่ทำให้คนรุ่นเก่า คิด และแสดงออกแบบนั้นออกมา ชุดประสบการณ์ที่คนรุ่นเก่ามี อาจเต็มไปด้วยอุปสรรคเยอะแยะมากมายที่มันหล่อหลอมให้เขาเกิดความระวัง หรือความกลัวอะไรบางอย่างอยู่แล้ว ซึ่งถ้าหากเราเข้าใจตรงนี้ มันจะไม่มีสภาวะของการเหม็นหน้ากัน เกลียดกันด้วยอารมณ์เฉย ๆ แต่มันจะเป็นการแสดงออกด้วยความเข้าใจ แล้วถ้าหากเราไม่เห็นด้วย ก็ใช้เหตุผลไปคุยกับเขา มันอาจจะช่วยให้หาจุดตกลงตรงกลางที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายเห็นอะไรร่วมกันได้ บนชุดประสบการณ์ที่แตกต่างกัน
“แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ดีที่สุด คือเอาเรื่องช่วงวัยทิ้งไปเลย แล้วมองด้วยเหตุผลความเป็นมนุษย์ ถ้าเราวิเคราะห์บนฐานที่อีกฝ่ายเป็นมนุษย์โดยที่ไม่มองว่าเป็นเพศใด วัยใด ชนชั้นหรือฐานะใด แล้วใช้แค่เหตุผลในการถกเถียงและพูดคุยกัน ปัญหาระหว่างวัยจะไม่เกิดขึ้น”
หลังจากขยับบทบาทจากแกนนำเคลื่อนไหวการชุมนุม มาเป็นนักสื่อสารประเด็น มายด์บอกว่า เธอได้คุยกับคนมากขึ้น จึงได้เห็นความต่างของความคิด ทั้งกับผู้คนในฟากตรงข้าม ไม่เว้นแม้แต่กับแนวร่วมการเคลื่อนไหว ในฝั่งความคิดเดียวกัน ซึ่งแต่ละคน แต่ละกลุ่มก็มีมุมมอง จังหวะการเคลื่อนไหว รวมถึงเฉดและชุดวิเคราะห์ที่ต่างกัน ขณะเดียวกันก็เห็นจุดร่วมที่ทำให้ความต่างทางความคิด เดินต่อไปด้วยกันได้ คือการเปิดพื้นที่ ให้เกิดการถกเถียง พูดคุยกันให้มากขึ้น
“จุดที่จะลดความขัดแย้งของสังคม คือการเคารพความเห็นของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับเรา อยู่บนฐานความเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน จะเป็นการเซ็ตความคิดพื้นฐาน ว่าเราไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นความเห็นของเราเพียงคนเดียว แต่เราเปิดโอกาสให้พื้นที่ถกเถียง เป็นพื้นที่ที่ทุกความคิด ทุกความเห็นมีอำนาจอย่างเสมอหน้ากัน ถกเถียงบนจุดยืนที่ตัวเองเชื่อ
เมื่อให้เหตุผลกันอย่างเต็มที่ เอาเหตุผลทุกคนมากางดู อะไรที่เหมาะกับสถานการณ์ และเหมาะกับความต้องการร่วมของทุกคนมากที่สุด มายด์คิดว่าจะเป็นทางออก การไม่คุยกันไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่การแก้ปัญหาคือต้องหันหน้ามาคุยกันและวางทิฎฐิของแต่ละฝ่ายลง”
‘ประชาชน’ กลายเป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญในสมการการเมืองวันนี้
“จากนี้ การเมืองในสภาฯ จะดำเนินไปแบบไหน จะมีประชาชนเข้าไปกระทุ้งอยู่ตลอด ว่าแบบนี้เราไม่เอา เราอยากไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นต้องไปข้างหน้า จะกระทุ้งอย่างไร นอกจากใช้ลูกจ้าง คือ สส. ที่เลือกเข้าไปแล้ว การใช้ทุกยุทธวิธีในการส่งเสียงของภาคประชาชน รวมถึงยืนยันว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจตัวจริง คือส่วนสำคัญมากกว่า”
เมื่อชวนมองการเมืองภาพใหญ่หลังการเลือกตั้ง ถึงการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย มายด์เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงจากการตื่นตัวของภาคประชาชน ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของคนใส่สูท และเป็น “การเลือกตั้งที่เสร็จแล้วไม่แล้ว” ของนักการเมืองในสภาฯ เพราะถูกจับตาดูโดยประชาชนตลอดเวลา และการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อให้มีรัฐบาลใหม่เท่านั้น แต่เป็นการฝากความหวังและความฝันของประชาชนที่อยากได้สังคมดีกว่าเดิม อย่างน้อยก็ดีกว่าแปดปีที่เคยอยู่
ประชาชนจึงกลายเป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญในสมการการเมืองวันนี้ ทำให้วัฒนธรรมการเมืองแบบ “พี่ว่าไงครับ ผมว่างั้น” หรือการแลกเก้าอี้กันไม่เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ แบบเดิม เพราะประชาชนไม่ปล่อยจอย มีข้อสงสัยและจับจ้องกับการ “ดีล” ของนักการเมืองอยู่ตลอดเวลา
เปลี่ยนผ่านประเทศไทย ต้องกลับไปตั้งต้นที่ “รัฐธรรมนูญ”
ขณะที่สถานการณ์ความอีนุงตุงนังหลังเลือกตั้ง โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยกับขั้วรัฐบาลเดิม ที่หลายคนมองว่าเป็นการเมืองที่ “ถดถอย” แต่ในมุมมองของมายด์ เธอเห็นว่า ตัวแปรสำคัญที่จะชี้วัดจังหวะก้าวของการเมืองไทยจากนี้ จะอยู่ที่ “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ว่าจะคาดหวังการแก้ปัญหาไปถึงต้นตอ และเอาประชาชนเป็นที่ตั้งได้อย่างไร เพราะก่อนเลือกตั้ง หลายพรรคการเมืองรวมถึงพรรคเพื่อไทย มีจุดยืนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแต่เมื่อเกิดรัฐบาลใหม่ที่มีจุดยืนเปลี่ยนไป เงื่อนไขอาจเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื้อหาในรัฐธรรมนูญอาจกลายเป็นตัวแปรให้การเมืองถอยหลัง และอาจเดินไปถึงทางตันมากกว่าเดิม
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องจับตาดู เพราะโอกาสในการแก้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นไม่ง่าย และที่ผ่านมาประชาชนถูกกีดกันให้หล่นหายไปจากการมีส่วนร่วมในการจัดสรรอำนาจ กำหนดกรอบการใช้สิทธิด้านต่าง ๆ ผ่านการเขียนกติกาของประเทศ
จนถึงวันนี้ ไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ และรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างมากที่สุด มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง และก่อเกิดกลไกปกป้อง คุ้มครองสิทธิในหลายด้าน แต่มายด์ มองว่ายังมีอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้น คือ “กลไกป้องกันการรัฐประหาร” เพื่อปกป้องการฉีกรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า อยากให้การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เป็นอย่างไร นักเคลื่อนไหวทางการเมือง มองว่า ทั้งเนื้อหา และกระบวนการในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ต้องตอบโจทย์และสะท้อนความต้องการของประชาชนมากที่สุด เริ่มจากกระบวนการที่โปร่งใสและทำให้มั่นใจได้ว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญจะมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นการจัดทำใหม่ทั้งฉบับโดยไม่มีการล็อกหมวดไหนไว้เลย เพื่อให้อำนาจ สสร. ในการกำหนดเนื้อหาในรัฐธรรมนูญทั้งหมด โดยไม่มีการเซ็นเซอร์ตั้งแต่แรก เป็นการยืนยันตามหลักประชาธิปไตยว่าจะไม่มีการแทรกแซงกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน ตลอดกระบวนการ ต้องเปิดรับ และไม่กีดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
“ที่สำคัญคือ เนื้อหาในหมวดสิทธิเสรีภาพ อย่างเช่น ในรัฐธรรมนูญ ปี 60 มีคำว่า ‘แม้’ หรือคำว่า ‘แต่’ อยู่ในทุกช่วง เช่น ประชาชนมีสิทธิในการแสดงเสรีภาพ เว้นแต่จะไม่ไปกระทบกับความมั่นคงของรัฐ หรือศีลธรรมอันดีงาม เพราะฉะนั้นคำที่เขียนไว้ในเนื้อหา ต้องไม่ติดล็อก หรือต้องเปิดกว้างให้ประชาชนได้ใช้อำนาจ เป็นการตอกย้ำว่าคนที่มีอำนาจคือใคร ไม่ใช่บอกแค่ว่าประชาชนมีอำนาจ แต่ต้องถูกตรวจสอบจากรัฐอีกทีหนึ่ง”
ในบทบาทของแกนนำคนรุ่นใหม่ที่ออกมายืนแถวหน้า ขับเคลื่อนมวลชนเพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มายด์ยังเปิดใจถึงความรู้สึกในมุมที่เปราะบางอีกด้าน เมื่อเธอถูก “ทัวร์ลง” หรือถูก “แปะป้าย” อยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงปี 2563 ที่ออกมาพูดถึงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองไทย จนถูกมองว่าเป็นเด็กล้มเจ้า เป็นพวกชังชาติ หนักแผ่นดิน บางครั้งลุกลามไปถึงการถูกคุกคามทางเพศ
เธอบอกว่า แม้จะเข้าใจถึงความรู้สึกของคนที่เห็นต่าง แต่ก็ยอมรับว่าสร้างความเจ็บปวดและส่งผลกระทบต่อจิตใจไม่น้อย เมื่อเห็นการสะท้อนคาวามเกลียดชังมากกว่าการโต้แย้งด้วยเหตุผล และเป็นเหมือนการปิดทางการอธิบาย ทำความเข้าใจถึงความคิดและเหตุผลให้กับคนเห็นต่าง ซึ่งเธอเห็นว่า หากลดทอนวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง มาเป็นการใช้เหตุและผล ในการตอบและอธิบายกันให้เข้าใจ หรือแม้แต่โต้แย้งกันด้วยเหตุและผล จะส่งผลดีต่อการหาทางออกในการอยู่ร่วมกันของความแตกต่างทางความคิดในสังคมประชาธิปไตยได้มากขึ้น