รศ.อนุชาติ พวงสำลี
หลายคนเชื่อว่า “การเปลี่ยนชื่อ” จะหนุนนำให้หลายอย่างเปลี่ยนในทางดีขึ้น แม้แต่ “Facebook” ยังเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “Meta” เพื่อยกระดับบริการที่ให้ความสำคัญกับโลกเสมือนจริง
ทว่าการเปลี่ยนชื่อหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จาก “หลักสูตรแกนกลาง” เป็น “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” จะหนุนนำนักเรียนเราให้ดีขึ้นเหมือนกันไหม เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไทย ประกาศกับสังคมว่ากำลังพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยหลักสูตรที่สนับสนุนความถนัดและความสนใจผู้เรียนเป็นรายคน
The Active สนทนากับ ‘รศ.อนุชาติ พวงสำลี’ คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ไม่ใช่สายมูเตลู แต่นับเวลาที่อยู่ในแวดวงการเรียนรู้ ก็พอพยากรณ์ได้ว่าอนาคตนักเรียนไทยจะเป็นแบบไหนในวันที่ “หลักสูตรการศึกษาเปลี่ยนชื่อเรียก”
1. เปลี่ยนชื่ออย่างเดียวไม่ปัง ต้องเปลี่ยนความเชื่อเรื่องการศึกษา
หากเปรียบการเปลี่ยนหลักสูตรกับความเชื่อ วันนี้กระทรวงศึกษาธิการเชื่อว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบเดิมที่ให้ความรู้ตามมาตรฐาน 8 สาระวิชา ไม่ทันสมัยกับความสนใจใคร่รู้ของผู้เรียนอีกต่อไปแล้ว และการแก้เคล็ดคือเปลี่ยนไปเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะที่เน้นเรียนรู้แบบสร้างทักษะเพื่อทำให้ภาพการศึกษาไทยเปลี่ยนในทางที่ดีกว่าเดิม
เรื่องนี้ ‘รศ.อนุชาติ’ มองว่าแก้ปัญหาถูกทาง แต่ยังไม่ครบเครื่อง
“การเปลี่ยนหลักสูตรต้องไปให้ลึกซึ้งถึงมุมมองการจัดการศึกษาใหม่ อย่าเปลี่ยนแค่ชื่อเรียก แล้วใช้คำศัพท์ใหม่ ๆ แต่ทำแบบเดิม ๆ ที่เด็กคนหนึ่งต้องเรียนเยอะ ๆ สาระเยอะ ๆ แต่ว่าเอาตัวไม่รอด”
‘รศ.อนุชาติ’ มองว่าสถานการณ์โลกปัจจุบัน ตอกย้ำว่าการเปลี่ยนไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด แต่มิใช่เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยเท่านั้น จะต้องลึกซึ้งไปถึงคุณค่าของการศึกษาที่ให้ความหมายและวิธีคิดที่เปลี่ยนแปลงไป กระทรวงศึกษาฯ ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์การจัดการศึกษาใหม่อย่างจริงจัง
“เราจำเป็นต้องกล้าแหวกออกจากกรอบคิดแบบเดิม ๆ ที่เด็กคนหนึ่งต้องเรียนสาระเยอะ ๆ แต่ว่าเอาตัวไม่รอด มาสู่สิ่งที่เราเรียกว่าการศึกษาเพื่อต่อยอดอาชีพ ต่อยอดความสามารถของเด็ก หรือที่ใช้คำว่าสมรรถนะนั่นเอง อันนี้คือเปลี่ยน Paradigm ของการคิด”
2. ฟันธง! ปฏิรูปการศึกษา ไม่ใช่การเรียนออนไลน์
เข้าสู่โค้งแรกฟื้นวิกฤตการเรียนรู้จากความถดถอยช่วงโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งให้ต้องเอ่ยถึงคำว่า ปฏิรูปการศึกษา อีกครั้ง ‘รศ.อนุชาติ’ เล่าให้ฟังถึงข้อค้นพบในแวดวงนักการศึกษาที่ฟันธงว่าการเรียนรู้ของเด็กยุคนี้ต้องเปลี่ยนระบบการจัดการศึกษาให้ทะลุกรอบเดิมอย่างจริงจัง
“ในช่วงโควิด-19 ที่เด็กต้องถูกกักตัวอยู่บ้านให้เรียนออนไลน์ พบปัญหาและอุปสรรคเยอะมาก นักการศึกษาหลายคนพูดไปแล้ว สิ่งที่เราค้นพบมากไปกว่านั้น คือ ความเข้าใจผิดของสังคมที่นึกว่าการปฏิรูปการศึกษา คือฝากความหวังไว้กับการเรียนออนไลน์ การศึกษาที่ดีในอนาคต คือต้องผลักเด็กไปเรียนออนไลน์มากขึ้น”
‘รศ.อนุชาติ’ ชวนเข้าใจปรากฏการณ์จากข้อสังเกตและข้อค้นพบด้านการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน ที่ ‘ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์’ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการศึกษา ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า การที่เด็กเรียนออนไลน์ด้วยความไม่พร้อมหลายด้านตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 จนถึงปีนี้ ได้สร้างความสูญเสียด้านการเรียนรู้ที่เรียกว่า Learning Loss คิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 30% ของ GDP
อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยกว่ากัน คือในกลุ่มนักขับเคลื่อนการเรียนรู้ พบความสูญเสียที่ไม่ใช่แค่เรื่องวิชาการ หรือ Academic Learning Loss เท่านั้น การที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน หรือถูกมอบหมายให้ทำงานเป็นทีม เหล่านี้สร้างความสูญเสียทักษะและพัฒนาการที่จะติดตัวเด็กแต่ละคน เรียกว่า Social Learning Loss
“หากเราต้องการพัฒนาเด็กและเยาวชนไปเผชิญโลก เผชิญกับความเปลี่ยนแปลง เราพบว่าทักษะแห่งอนาคต หรืออาจจะเรียกว่าเป็นทักษะในศตวรรษที่ 21 จะประกอบไปด้วยเรื่องภาวะผู้นำ การทำงานเป็นทีม ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันในสังคมที่ดี การเรียนออนไลน์สร้างความสูญเสียโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเลย”
3. หลักสูตรความรู้ตามมาตรฐานทำให้เด็กมัธยมเสียโอกาสมากที่สุด
เด็กมัธยม ช่วงวัยที่กำลังเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจที่จะทำตามฝัน พร้อมมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และสร้างทักษะที่จะนำไปสู่การเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ‘รศ.อนุชาติ’ พบว่าเด็กวัยนี้มีความอัดอั้นกับสิ่งที่ตัวเขาอยากทำ และอยากแสดงออก น่าสนใจว่าผู้เรียนในโลกยุคนี้ มีความสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน หลายคนพบว่าขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำงานศิลปะหรือสิ่งประดิษฐ์ที่เขาสนใจ มีความพยายามจะทำ Startup ที่เป็นเรื่องการลงทุน หรือไปส่งเสริมกิจการครอบครัว
“ผมเชื่อว่าเด็กคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาทำตลาดออนไลน์ ต้องอาศัยทักษะ ความสามารถ การทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสาร การบริหารจัดการเงิน และทักษะในเรื่องอื่น ๆ เต็มไปหมดเลย ชีวิตในยุคดิจิทัลทำให้เด็กยุคนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว ผมคิดว่าอันนี้คือโจทย์ที่หลาย ๆ สถาบันน่าจะให้ความสำคัญ และให้ความสนใจกับสิ่งที่เราเรียกว่า Social Learning Loss”
‘รศ.อนุชาติ’ สะท้อนต่อไปว่า ในระบบการศึกษาที่ชะงักงัน ในส่วนของแรงบันดาลใจเด็กนักเรียนไม่ได้หายไปไหน ความมุ่งมั่นตั้งใจ Passion ของหลาย ๆ คนยังคงอยู่ หากแต่ระบบการศึกษายังไม่สามารถสนับสนุนให้เป็นเครดิตการเรียนรู้ เพื่อพลิกโฉมวงการศึกษาไทยให้แหวกออกไปจากกรอบขนบเดิมได้มากนัก
4. ทำโรงเรียนให้เป็นธนาคาร มีระบบฝากทักษะ จ่ายดอกเบี้ยเป็นความสามารถ
‘รศ.อนุชาติ’ มีความเชื่อว่า ถ้าระบบการศึกษาอำนวยความสะดวกให้นักเรียนได้เก็บเกี่ยวเติมเต็มความรู้และทักษะตามความสนใจได้เต็มที่ “โรงเรียน ยังจำเป็นต้องมีอยู่ไหม” จะไม่ถูกถามในวิกฤตที่เกิดขึ้น
“ในระบบที่เราเรียกว่า Schooling หรือระบบโรงเรียนปกติก็คงยังต้องมีอยู่ แต่แน่นอนภายในระบบ Schooling ที่ยังต้องมีอยู่ก็จำเป็นต้องปรับหลักสูตร ปรับวิธีการจัดการศึกษาใหม่ ปรับวิธีการประเมิน วิธีการสอนแบบใหม่ ๆ”
เมื่อถามต่อไปว่าระบบ Schooling หรือระบบสถานศึกษาที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันนั้นเพียงพอที่จะรองรับความต้องการของผู้เรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานมากแค่ไหน ‘รศ.อนุชาติ’ มองว่าระบบ Schooling อาจเป็นเพียง 1 ระบบ จากหลาย ๆ ระบบของการศึกษาที่ควรเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ โดยมองไปถึงการพัฒนาระบบ Academic Credit Bank ที่หมายความถึงระบบธนาคารสะสมความรู้ หรือสะสมทักษะ ที่กระทรวงศึกษาธิการควรพัฒนาให้เกิดการใช้งานเพื่อบอกให้ได้ว่า เด็กคนใดมีความสามารถ มีสมรรถนะระดับไหน เทียบเท่าความรู้ในระดับมัธยมต้น มัธยมปลาย หรือปริญญาตรี เป็นต้น
“ในอนาคตเราอาจจะให้สถานประกอบการกลายเป็นโรงเรียนอีกชนิดหนึ่งในความหมายเดิมได้ เพราะเด็กบางคนต้องการเติบโตเพื่อไปประกอบสัมมาชีพเลย ทำงานได้ทันที อยากได้รับการพัฒนาที่เรียกว่าเป็น Multi skill มีทักษะหลาย ๆ แบบ มีสมรรถนะหลาย ๆ ด้านประกอบกันไป ฉะนั้นโอกาสการเรียนรู้ของเด็กก็จำเป็นที่จะต้องหลากหลาย เพราะจะ Go beyond classroom Go Beyond รั้วโรงเรียนออกไป แปลว่าการศึกษาไทยจำเป็นต้องวางกรอบนโยบายทำให้ทุกพื้นที่ ทุกองคาพยพสามารถเป็นโรงเรียนได้”
5. ได้เรียนตามฝัน หลักสูตรสุดต๊าซของการศึกษายุคนี้
การจะทำให้ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” หนุนนำนักเรียนเราให้ดีขึ้นหลังเปลี่ยนชื่อเรียก ‘รศ.อนุชาติ’ ฟันธงว่าในระดับนโยบาย ทั้งของกระทรวงศึกษาธิการและของรัฐบาล ต้องเล็งไปที่คุณค่าความสำคัญของความฝัน จินตนาการ และ Passion เด็กรุ่นนี้ว่าพวกเขาไม่ได้เป็นแก้วน้ำที่ว่างเปล่า แต่เป็นผู้เรียนที่พร้อมจะเปล่งแสง แสดงศักยภาพ โดยอยากเห็นนโยบายที่สนับสนุน ทั้งเรื่องการเงิน เทคโนโลยี วิธีเชื่อมโยงเครือข่าย ให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน
“ในยามนี้ไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไรที่จะให้เด็กมาเรียนคณิตศาสตร์แบบไม่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง การเรียนคณิตศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงคือเด็กสามารถจัดทำระบบบัญชีได้ เข้าใจวิเคราะห์ทางการเงินได้ เป็นต้น เรื่องนี้เป็นวาระทางสังคมที่สำคัญ รัฐบาลจะต้องมีนโยบายกับเรื่องนี้”
‘รศ.อนุชาติ’ แสดงความเห็นช่วงท้ายก่อนจบการสนทนาว่าวิกฤตการเรียนรู้ ณ เวลานี้ ในมุมมองนักการศึกษา มองเป็นวาระสำคัญของการเดินหน้าประเทศไทย สิ่งไหนที่เป็นอุปสรรค เพิ่มข้อจำกัดครู ก็อยากเห็นรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการให้ความใส่ใจ จัดลำดับความสำคัญให้มากกว่านี้