ชุมชนไร้ตัวตน ไร้สิทธิเข้าถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตใน กทม.

ปัญหาจากการเข้าไม่ถึงการจดทะเบียนจัดตั้งชุมชน

ชุมชนริมทางด่วนบางนา

“เมื่อก่อนสภาพชุมชนแย่กว่านี้นะ ที่เห็นทางเข้าและตามซอยต่าง ๆ เป็นถนนคอนกรีต พอให้เดินสะดวกขึ้น  ก็มาจากเงินที่ชาวบ้านเรี่ยไรกัน 100-200 บาท  แต่ก่อนลำบากมาก ตรงทางเดินเป็นน้ำ เละ เดินกันแทบไม่ได้“

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานชุมชนทางด่วนบางนา

ปัญหาแรกที่ จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานชุมชนทางด่วนบางนา ในฐานะที่ปรึกษาเครือข่ายสลัมสี่ภาค ชี้ให้เห็นว่าการที่ชุมชนทางด่วนบางนา ยังไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งชุมชน กทม. ทำให้ไม่ได้รับงบประมาณในการสนับสนุนรายเดือน เพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ   

ยิ่งในช่วงโควิดระบาดหนัก ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้กว่า 170 หลังคาเรือน ประชากรกว่า 600 คน ยังเข้าไม่ถึงการตรวจคัดกรองเชิงรุกของ กทม.  ทำให้เกิดการระบาดหนัก และมีผู้เสียชีวิตเกือบ 10 คน   แม้แต่การจะป้องกันโรคทั่วไป เช่น การฉีดกำจัดยุง ยังต้องร้องขอจากภายนอก  ซึ่งในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง ก็พอจะมีการตอบรับเข้ามาช่วยเหลือบ้าง แต่ถ้าหมดช่วงเลือกตั้งก็แทบไม่มีเลย  ชัดเจนว่าพวกเขาเข้าไม่ถึงสิทธิการพัฒนาใด ๆ เลย ทั้งที่พวกเขาเป็นประชากรของ กทม. มีสิทธิเลือกตั้ง เสียภาษี ทำอาชีพหลากหลาย ทั้งค้าขาย ก่อสร้าง รับจ้างทั่วไป เป็นฟันเฟืองการขับเคลื่อนเมือง 

ชาวชุมชนริมทางด่วนบางนา อาศัยอยู่ในที่ดินเอกชนขายทอดตลาดกันมานานตั้งแต่ปี 2519 พยายามต่อสู้เพื่อจัดซื้อที่ดินกับกรมบังคับคดี และเจรจาต่อรองเพื่อหาทางออกแก้ไขปัญหาที่ดินกับเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง  ไปพร้อม ๆ กับการเรียกร้องให้ กทม. จดทะเบียนรับรองชุมชนตั้งแต่ปี 2525   แต่ต่อสู้มานานกว่า 40 ปี กลับไม่มีความคืบหน้า และไม่ได้รับการจดทะเบียนเป็นชุมชนกันสักที

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานชุมชนทางด่วนบางนา

ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัมสี่ภาค เห็นว่า การจดทะเบียนรับรองชุมชนของ กทม. ควรจะต้องแยกส่วนเรื่อง ปัญหาข้อพิพาทที่ดินกับการเข้าถึงสิทธิในการดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ ของชุมชน เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติและความเหลื่อมล้ำ

“ถึงจะเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ข้อพิพาท ต้องแยกส่วนกัน การพัฒนาคุณภาพชีวิตก็ต้องทำไป เพราะว่าชาวบ้านที่อยู่ตรงนั้น เป็นคนจนที่ไม่สามารถจะไปอยู่ไหนได้ เขามาอยู่ในพื้นที่เขาไม่ต้องการที่จะยึดที่ดินตรงนั้นมาทำมาหากิน ประกอบอาชีพ เป็นฟันเฟืองร่วมขับเคลื่อนความเจริญให้เมืองใหญ่ ดังนั้น ต้องเข้าถึงสิทธิสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และทะเบียนชุมชน ทะเบียนบ้านก็ต้องได้รับเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นทะเบียนชั่วคราวเพราะฉะนั้นขอฝาก ผู้สมัครผู้ว่าทุกคน แก้ไขปัญหาสำคัญนี้ เพราะพวกเขาก็เป็นประชากรของ กทม. “ 

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานชุมชนทางด่วนบางนา
ชุมชนกระทุ่มเดี่ยว เขตสะพานสูง กทม.

ชุมชนกระทุ่มเดี่ยว เขตสะพานสูง เป็นอีกชุมชนที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งชุมชนจาก กทม.  เผชิญปัญหาไม่ต่างจากชุมชนทางด่วนบางนามายาวนานกว่า 15 ปี นอกจากปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิการป้องกันโรคระบาด  ยังต้องแบกรับค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เช่นค่าเก็บขยะ ค่ารักษาความปลอดภัย โดยเรี่ยไรเงินจ่ายกันเอง  เด็ก ๆ ไม่มีพื้นที่สร้างสรรค์ให้ทำกิจกรรม ใช้ถนนเป็นที่ออกกำลังกาย 

อีกทั้ง ตอนนี้คนในชุมชนหลายคนตกงาน ซ้ำบางคนต้องดูแลคนในครอบครัวที่ป่วยติดเตียง  ซึ่งจริงๆแล้วชุมชนมีแผนพัฒนา ที่อยากยกระดับคุณภาพชีวิตเพื่อสร้างอาชีพในชุมชน แต่เมื่อไม่ได้จดทะเบียนตั้งชุมชน จึงไม่ได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาจาก กทม. 

ข้อจำกัดสำคัญ ที่ยังเข้าไม่ถึงการจดทะเบียนจัดตั้งชุมชน เพราะชุมชนนี้เป็นชุมชนตามโครงการบ้านมั่นคง รวมตัวกันในนามสหกรณ์ถือเป็นนิติบุคคล ตามระเบียบกทม.ไม่สามารรถจดทะเบียนเป็นชุมชนได้ ทำให้สูญเสียโอกาส  พวกเขาจึงอยากให้มีการแก้ไขระเบียบ และรับรองชุมชนเพื่อเข้าถึงสิทธิการพัฒนาด้านต่างๆของ กทม.

“ตอนนี้ถ้าพูดถึงเรื่องการปลุกกรุงเทพฯ อย่างเมืองน่าอยู่ เมืองสร้างสรรค์ เมืองธรรมาภิบาล เมืองปลอดภัยเมืองที่พูดถึงทั้งหมดนี้ไม่เข้าถึงชุมชนเราเลยค่ะ จึงอยากให้นโยบายตรงนี้ ไม่ใช่แค่นโยบายที่ตั้งไว้รูปธรรมจริงต้องเกิดขึ้นด้วย การมีส่วนร่วมเข้าถึงก็ไม่มี จึงอยากขอให้มีการจัดตั้งชุมชนให้ถูกต้องตามกฎหมาย“ 

นงนุช  สิมลี ประธานสหกรณ์เคหะสถานกระทุ่มเดี่ยวจำกัด
นงนุช  สิมลี ประธานสหกรณ์เคหะสถานกระทุ่มเดี่ยวจำกัด

ชุมชนที่จดทะเบียนจัดตั้งชุมชน จะได้รับสิทธิอะไรบ้าง ?

ปัจจุบัน กทม. มีชุมชนที่จดทะเบียนแล้ว 2,016 ชุมชน ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนพัฒนา หลัก ๆ อย่างแรกที่ได้รับสนับสนุน คือ งบสนับสนุนการพัฒนาชุมชนในแต่ละเดือน ก็จะได้รับตามขนาดของชุมชน  ไม่เกิน 200 หลังคาเรือน ได้เดือนละ 5,000บาท / จำนวน 201-500 หลังคาเรือนได้รับ 7,500 บาท / และ 501 หลังคาเรือนขึ้นไปได้รับงบฯ 10,000บาท

นอกจากนี้ยังมีงบประมาณค่าตอบแทนประธานและเลขาชุมชน หรือผู้ได้รับมอบหมายที่เข้าประชุมคณะกรรมการชุมชนระดับเขต 2 คน คนละ 1,000 บาทต่อเดือน  งบประมาณในการสนับสนุนเงินสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนกรุงเทพมหานครปี 2565  รวมทุกชุมชน 23 ล้านบาท  และยังมีงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมทางศึกษา เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนตามระเบียบ กทม.ว่าด้วยการจัดสวัสดิการและสังคมสงเคราะห์ ปี2557-2565 ที่ให้การสนับสนุนไปแล้วรวมกว่า 5 ล้านบาท

แต่หากไม่ได้จดทะเบียนรับรองชุมชน ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนต่างๆที่ว่ามานี้ ที่สำคัญคือในระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยชุมชนและกรรมการชุมชน หมวด 5 ข้อ 10  เมื่อจดทะเบียนชุมชนแล้ว กรรมการชุมชนมีสิทธิและหน้าที่ในการเสนอความเห็น ข้อเสนอแนะในโครงการของรัฐที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตและสาธารณะ  แปลว่า ถ้าชุมชนไม่อยู่ในข่ายที่จดทะเบียน หรือชุมชนไม่ได้จดทะเบียน ก็ไม่สามารถเสนอความเห็นข้อเสนอแนะใด ๆ ได้เลย

ระเบียบการจัดตั้งชุมชนกทม. ล้าหลังกว่าต่างจังหวัด

สุรางค์รัตน์  จำเนียรพล นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ชวนมองปัญหานี้ตั้งแต่การหาคำตอบจำนวนของชุมชนที่ยังจดทะเบียน ซึ่งเห็นว่ามีเยอะ แต่ไม่รู้ว่ามีเท่าไหร่  ไม่อยู่ในฐานระบบข้อมูลใดของรัฐบางคนเรียกชุมชนเถื่อนบ้าง ชุมชนไร้ตัวตนบ้าง ทั้ง ๆ ที่พวกเขามีสิทธิเลือกตั้ง เสียภาษี และทำอาชีพหลากหลายขับเคลื่อนเมือง 

เมื่อดูระเบียบการจัดตั้งชุมชน กทม. ยังสะท้อนปัญหาหลายอย่าง  เรื่องแรกหากดูระเบียบว่าด้วยการจัดตั้งชุมชนและกรรมการชุมชน กทม. แก้ไขเมื่อปี 2564 ยอมรับการจัดตั้งชุมชนเมื่อมีครัวเรือนต่ำกว่า 100 ครัวเรือน ต่างกันกับระเบียบปี 2555 ที่หากชุมชนมีจำนวนต่ำกว่า 100 ครัวเรือน ไม่สามารถชุมชนจดทะเบียนได้ แต่ระเบียบล่าสุดถึงจะจดทะเบียนได้ แต่หากต่ำกว่า 100 หลังคาเรือน อยู่ในส่วนชุมชนรูปแบบพิเศษ  ไม่มีสิทธิได้รับงบประมาณใดๆ คือจดได้ แต่คือจดเฉยๆ 

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ข้อ10 เมื่อจดทะเบียนแล้ว กรรมการชุมชนมีสิทธิและหน้าที่ในการเสนอความเห็น ข้อเสนอแนะต่อโครงการของรัฐที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตและสาธารณะ  แปลว่า ถ้าชุมชนคุณไม่อยู่ในข่ายที่จดทะเบียน หรือชุมชนไม่ได้จดทะเบียน จะไม่สามารถเสนอความเห็นข้อเสนอแนะใด ๆ และพอจดทะเบียนแล้ว จะมีโครงการ กทม.เข้ามาในระเบียบล่าสุด พูดถึงการจัดทำศูนย์พัฒนาก่อนวัยเรียน แปลว่าจดทะเบียนแล้ว ชุมชนสามารถเสนอจัดทำและมีผู้ดูแลเด็ก แต่ไม่ได้จด คือจะไม่มีสิทธิ ไม่มีตัวตนเสนออะไรแบบนี้ให้ กทม. เราไม่มีโอกาสได้รับการพัฒนา ทั้งคุณภาพชีวิต สังคม ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจชุมชน 

“แปลว่า ถ้าไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้ง ชุมชนเหล่านี้จะอยู่นอกเลนส์ นอกสายตากทม. จึงขอเรียกรูปแบบการปกครองแบบนี้ว่ามันเป็นโครงสร้างการปกครองที่ไม่เห็นตัวคน คือไม่เห็นหัวคน ที่ไม่ได้จดทะเบียน เป็นรูปแบบการปกครองที่สร้างความเหลื่อมล้ำระดับพื้นที่โดยตัวมันเอง“

สุรางค์รัตน์  จำเนียรพล นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อดูระเบียบรวมถึงโครงสร้างกทม.ส่วนตัวคิดว่าล้าหลังกว่าต่างจังหวัด คือ กทม.ถ้าจะจัดตั้งชุมชน ชาวบ้านต้องรวมตัวกัน ไปขอจัดตั้งเอง  แต่ชุมชนต่างจังหวัดตามกฎหมายเลย ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยกรรมการชุมชนของเทศบาลล่าสุดปี 2564 เทศบาลสามารถแบ่งเขตและจัดตั้งชุมชนได้เอง คือไม่ต้องรอชาวบ้านมาร้องขอ  หากเห็นอยู่กันเป็นชุมชนก็จดทะเบียนแบ่งเขต ให้เขาไปจัดตั้งกรรมการของเขา 

“วิธีนี้ดูเหมือนลักษณะ Top Down  อยู่ ๆ ก็ชี้แบ่งเขตเขา แต่อย่างน้อยวิธีนี้มันเป็นโอกาสให้ชาวบ้าน  เขาสามาถสร้างองค์กรเขาเอง กระบวนการแบ่งเขตอาจจะมีข้อพิพาทแต่ก็คุยกันได้  และอย่างน้อยแบ่งเขตแล้ว เขามีกรรมการชุมชน มีตัวแทนของเขาซึ่งสามารถเสนอแผนพัฒนาชุมชนของตัวเองได้ แต่คนกทม.ไม่มีสิทธิ ถ้าไม่ได้จด และในระเบียบ กทม.ก็ไม่เคยพูดถึงเรื่องแผนพัฒนาชุมชนมาจากข้างล่าง“ 

สุรางค์รัตน์  จำเนียรพล นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข้อจำกัดในการจัดตั้งชุมชนของกทม. สร้างความเหลื่อมล้ำ

นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเห็นว่า วิธีคิดการจัดการเมืองแบบนี้  สะท้อนให้เห็นการแบ่งแยกระหว่างชุมชนที่ได้จดทะเบียนกับไม่ได้จด แต่หากจะย้อนกลับไปตั้งคำถาม เราจะเห็นว่าพวกเราเสียภาษี มีการแบ่งแยกหรือไม่ว่าเราอยู่ในชุมชนจดทะเบียนไม่จดทะเบียน  เรารับปัญหาฝุ่นพิษมลพิษแยกหรือไม่ว่าจะเข้าไม่เข้าชุมชนไหน  และโควิดมาเลือกหรือไม่ ว่าจะเข้ามาชุมชนจดทะเบียนเท่านั้น  แต่ทำไมต้องแค่ชาวบ้านในชุมชนจดทะเบียน จึงจะมีสิทธิเข้าถึงการพัฒนา นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญ ที่ต้องฝากไว้กับคนที่จะดูแล กทม.ในอนาคต 

“ข้อเสนอไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำไมเราต้องรอให้ชาวบ้านมาขอจดทะเบียนจัดตั้งชุมชน ง่ายที่สุด เป็นหน้าที่ของสำนักงานเขต ในการสำรวจจัดตั้งชุมชน จัดตั้งโครงสร้างการบริหารของชุมชนเอง ทำไมเทศบาลทำได้ กทม.มีแขนขามากกว่าเทศบาลตั้งเยอะแยะน่าจะทำได้ ขั้นแรกเลยต้องให้ทุกชุมชนชนมีตัวแทนของตัวเอง ในการมีสิทธิมีเสียงเข้าไปเสนอความเห็นกับกทม. “

สุรางค์รัตน์  จำเนียรพล  นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ ต้องแก้ไขระเบียบข้อจำกัดที่ไม่รวมชุมชนที่เป็นนิติบุคคล โดยเฉพาะชุมชนที่เป็นชุมชนคนจน อย่างบ้านเอื้ออาทร บ้านมั่นคง ที่รูปแบบโครงการต้องให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล  ซึ่งหากไม่แก้ไข แปลว่าเขาไม่มีสิทธิมีเสียงเป็นชุมชนของ กทม. แล้ว กทม. จะละเลยได้อย่างไร  เพราะโดยหลักการว่าด้วยสิทธิการพัฒนา ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการพัฒนา ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนชุมชนหรือไม่ก็ตาม 

กทม.เป็นเมืองใหญ่ แต่จะเน้นพัฒนาแต่ปัจเจกชุมชนที่จดทะเบียน แค่นี้พอหรือไม่ จึงต้องคิดโมเดลโครงสร้างการพัฒนาที่เห็นหัวคนทุกคน ไม่ใช่แค่บางคน เลือกแค่เสียงบางคน หรือชุมชนได้จดทะเบียนเป็นชุมชนเท่านั้น  ไม่ยุติธรรมและยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำมากขึ้น และอีกเรื่องที่สำคัญ ชุมชนที่ตั้งในพื้นที่ข้อพิพาท เรื่องนี้เชื่อมโยงชัดในเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่ดิน คนจนเขาเข้าถึงที่ดินไม่ได้ จึงเป็นคำถามการพัฒนาเมืองอย่างไรให้คนจนเขาได้มีโอกาสมากขึ้น ไม่ถูกซ้ำเติมตรงนี้

ทั้งนี้ เป็นสิ่งที่ต้องจับตาว่า ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานครให้ความสำคัญเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน และว่าที่ผู้ว่ากทม.ที่จะเข้ามาบริหารจะเดินหน้าทลายข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้หลายชุมชน ไม่ต้องอยู่อย่างไรตัวตน ไร้สิทธิเหมือนที่ผ่านมา

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ