คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) คาดว่า ตั้งแต่ ปี 2533 เป็นต้นมา น้ำแข็งในทวีปกรีนแลนด์ ละลายครั้งใหญ่ถึง 7 ครั้ง คุกคามหลายพันล้านชีวิตบนโลก และเร่งวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ขณะที่ ประเทศไทย อยู่อันดับ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ที่เสี่ยงผลกระทบจากโลกร้อน
ความถี่ของภัยแล้งรุนแรง และน้ำท่วมใหญ่ในไทย เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยล้วนมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปี 2563-2565 ที่ผ่านมา เป็นปีที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “ปีเปียก” จึงเกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ที่รุนแรงขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ
แต่วิกฤตจะไม่จบลงเพียงเท่านี้ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ยืนยันว่า สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว จะยิ่งทวีความรุนแรง และสร้างความเสียหายมากขึ้น ถ้าขาดการเตรียมการรับมือที่ดีพอ ภัยพิบัติจะยิ่งสร้างความวิบัติคร่าชีวิตผู้คนได้มากกว่าที่คนไทยจะคาดคิดในทุก ๆ ปีจากนี้ไป
นี่คือสิ่งที่ รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเป็นห่วง เพราะสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว อย่างคลื่นความร้อน ภัยแล้งรุนแรง และ วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ เกิดถี่ขึ้นทั่วโลก
“โลกใบนี้กำลังป่วย เราไม่มีประสบการณ์เจอกับความร้อนอย่างนี้ มันย่อมส่งผลกระทบในอนาคต นี่คือคำเตือนที่ส่งผ่าน รหัสแดง ทั้งเรื่อง ความร้อน ซึ่งเมื่อเกิดคลื่นความร้อนในฤดูแล้ง ก็จะแล้งหนัก ขณะเดียวกัน น้ำที่ระเหยไปจะส่งผลให้ฝนตกหนักในฤดูฝน ฝนตกหนักก็เกิดอุทกภัย”
รศ.เสรี ศุภราทิตย์
“รหัสแดง” คือสัญญาณที่ มวลมนุษยชาติต้องสำนึก และตระหนัก ต่อภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งตลอดช่วงที่ผ่านมาภัยคุกคามนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่
ในช่วงปี 2565 จ.เชียงราย ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ที่บ้านป่าห้าสันต้นขาม ตำบลนางแล ถูกน้ำท่วมซ้ำซาก ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง เช่นเดียวกับ พื้นที่ภาคกลาง ลุ่มเจ้าพระยา, ภาคอีสาน จ.อุบลราชธานี น้ำก็ท่วมสูงกว่าครั้งก่อน ๆ จนรับมือแทบไม่ทัน
ส่วนชะตากรรมของ ภาคใต้ ก็ไม่ต่างกันในปี 2565 นอกจากจะเกิดน้ำท่วมแล้ว ปรากฎการณ์ลานีญา หรือการที่น้ำทะเลรอบประเทศไทยร้อนขึ้นกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดฝนตกอย่างต่อเนื่องในภาคใต้ ตั้งแต่ต้นปีแทบไม่มีวันที่ฝนหยุดตกส่งผล กับการทำมาหากินของชาวบ้านอย่างหนักโดยเฉพาะสวนยางพารา
“เอลนีโญ” แผ่อิทธพล 5 ปี คาด เม.ย. 67 แล้งหนัก
สำหรับกลางปี 2566 โลกและประเทศไทย กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” ซึ่ง รศ.เสรี อธิบายว่า จะมีระดับความรุนแรงสูงสุดประมาณปลายปีนี้ ส่งผลให้ประเทศไทย มีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในแต่ละเดือน และอาจจะแตะระดับสูงสุดในเดือนเมษายน ปี 2567
นอกจากนี้ ปริมาณฝนในช่วงปลายฤดูฝน อาจลดลงน้อยกว่าปกติประมาณ 5-20% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับภาคการเกษตร โดยเฉพาะฤดูการทำนาปรังใน 6 เดือนแรกของปี 2567 แต่ในช่วงฤดูฝน ก็อาจจะเกิดน้ำท่วม จากฝนตกหนักในชุมชนจนทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมรอระบาย และอาจเกิดน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุจรซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้
การเข้าสู่ปรากฎการณ์เอลนีโญดังกล่าว ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ว่าจะยังคงระดับต่อเนื่องยาวนานไปอีกกี่ปี ในเบื้องต้นประเมินกันว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญ จะยังคงมีอิทธิพลต่อสภาพอากาศในช่วง ปี 2566-2571 ความรุนแรงจะยกระดับขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ปี 2569 และ ปี 2571
ปี 72 “ลานีญา” หวนคืน หวั่นท่วมใหญ่หนักกว่า ปี 54
ดังนั้นในช่วง 5 ปีนี้ โอกาสที่จะเกิดฝนตกหนักน้ำท่วมใหญ่จึงมีความเป็นไปได้น้อย แต่คาดว่า ปี 2572-2573 ปรากฎการณ์ “ลานีญา” หรือ ปีเปียก จะกลับมา และอาจจะมีความรุนแรงกว่า ปี 2554 ทำให้เกิดฝนตกหนัก และเกิดน้ำท่วมใหญ่ได้
แม้ผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสภาพอากาศแปรปรวนมีความสำคัญ แต่การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของพื้นที่ก็สำคัญเช่นกัน การลดลงของพื้นที่รับน้ำ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำจากการเติบโตของเมือง การสร้างคันกั้นน้ำในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ระดับน้ำยกตัวสูงขึ้น เช่น ในปี 2564 และ 2565 (แม้ว่าปริมาณน้ำในลุ่มน้ำต่าง ๆ จะน้อยกว่าปี 2554)
ดังนั้น การเตรียมพร้อมรับมือในช่วง 5 ปีจากนี้ไป จึงเป็นโอกาสดีที่ต้องประเมินผลกระทบจาก 3 ปัจจัย คือ 1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2. สภาพอากาศแปรปรวน และ 3. การเปลี่ยนสภาพกายภาพในพื้นที่ เพื่อเตรียมมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบน้ำท่วมใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกใน ปี 2572-2573
“ผมมองว่า ถ้าโลกและประเทศไทยสามารถมีแผนและนโยบายในการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยคุกคาม ก็จะสามารถทำให้โลกและประเทศไทย บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติได้”
รศ.เสรี ศุภราทิตย์
เมื่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาถึงจุดอันตรายแบบนี้ การร่วมกันศึกษา รหัสแดง ต่อมวลมนุษยชาติ ให้มากขึ้น จึงมีส่วนสำคัญ เพื่อสร้างความตระหนัก และการเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดียิ่งขึ้น
สอดรับกับ เรอโนล เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) ที่ย้ำว่า รหัสแดง คือระบบเตือนภัยขั้นสูงสุด และเรากำลังมาถึงจุดสูงสุดแล้ว เมื่อรู้ปัญหา มีหนทางแก้ปัญหามากมาย ที่ค้นพบแล้วในประชาคมโลก
“ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะทำตามที่พูด จะต้องนำมาตรการต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ อย่าเพียงคิดถึงแต่ผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยที่ได้รับในวันนี้เพื่อให้ร่ำรวยขึ้น เพียงเพราะว่านโยบายสาธารณะเอื้อประโยชน์ให้กับพวกเขา แต่ต้องเอื้อประโยชน์ต่อธรรมชาติ และชุมชนต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราจำเป็นต้องมีนโยบายสาธารณะ ที่จะลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น รหัสแดงจึงเป็นการยกระดับความสนใจของทุกคนว่านี่คือวาระเร่งด่วนจริง ๆ
เรอโนล เมแยร์
อีกหนึ่งในความพยายามสื่อสารผลกระทบและทางออกของปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถูกสะท้อนผ่าน สารคดีชุด “ภารกิจเปลี่ยนโลก” ที่ บจก.คราวน์ สตูดิโอ โปรดักชั่น ร่วมกับ ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นำเสนอการแก้ปัญหา และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศสิงคโปร์ โดยความร่วมมือจากหน่วยงานจัดการน้ำแห่งชาติสิงคโปร์ (Singapore’s National Water Agency) หรือ PUB
โดยพบบทเรียนสำคัญ ว่ารัฐบาลสิงคโปร์ วางแผนระยะยาว 10 ปี จัดสรรงบประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อรับมือกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น รวมทั้งมาตรการสร้างคันกั้นน้ำรอบเกาะสิงคโปร์ ป้องกันน้ำทะเลหนุนสูงในอีก 80 ปีข้างหน้า
รวมถึงการแก้ปัญหาโดยใช้ “วิถีธรรมชาติ” (Nature-based Solution) แทนการใช้โครงสร้างแข็ง (Gray Infrastructure) เพื่อลดผลกระทบ น้ำท่วมในชุมชนเมือง และการวางแผนลดผลกระทบจากภัยแล้ง หรือน้ำต้นทุนที่ลดลง
หลายฝ่ายจึงคาดหวังว่า หากการแก้ปัญหาของสิงคโปร์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้โดยตรง ทั้งการป้องกันน้ำทะเลหนุนสูง การป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง เช่น การก่อสร้างทางผันน้ำ การก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดิน และประตูปิดปากแม่น้ำ เพื่อควบคุมระดับจากน้ำทะเลที่สูงขึ้นได้ จะมีส่วนสำคัญกับการหาแนวทางรับมือภัยพิบัติที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กำลังคุกคามดังที่ได้นำเสนอในสารคดีชุด ภารกิจเปลี่ยนโลก