สิทธิพลเมือง บนสนามความขัดแย้ง

: เบญจรัตน์  แซ่ฉั่ว

89 ปี กับ “สิทธิพลเมือง” ในประเทศไทย รัฐไทยสมัยใหม่ที่เปลี่ยนความสัมพันธ์แบบ “ฐานันดร” สู่ “พลเมือง” ที่มีความเท่าเทียม แต่ความจริงแล้ว “พลเมืองไทย” ปกป้องสิทธิของตัวเองจากการควบคุมโดยรัฐได้มากน้อยแค่ไหน?

“2563 – 2564” เป็นอีกช่วงเวลาที่มีการใช้ “สิทธิพลเมือง – สิทธิทางการเมือง” อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการใช้เพื่อตั้งคำถามต่อสถาบันทางอำนาจของประเทศ สิ่งเหล่านี้ สะท้อนวิวัฒนาการประชาธิปไตยไทยได้เป็นอย่างดี

สิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราเรียกว่า “สิทธิมนุษยชน” เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยมองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่มีมาแต่กำเนิด และความเสมอภาคที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา เพศ สีผิว ภาษา เผ่าพันธุ์ หรือสถานะอื่นใด

แล้วขอบเขตของการใช้สันติวิธีเพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐอยู่ที่ตรงไหน?

The Active  คุยกับ เบญจรัตน์  แซ่ฉั่ว จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพ: Voice Online

สิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง

สิทธิทางการเมือง – สิทธิพลเมือง เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิมนุษยชน” หากอธิบายแบบง่าย “สิทธิ” เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำในการทำให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี

แนวคิดเรื่องสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ถูกพัฒนาขึ้นมาพร้อม ๆ กับการพัฒนาแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย ว่าในฐานะที่เป็นพลเมืองจะอยู่ในรัฐนี้ได้อย่างไร โดยที่ไม่ถูกรัฐเข้ามาแทรกแซง แล้วสามารถใช้สิ่งบางอย่าง เพื่อจะมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย ของรัฐนั้นได้อย่างเต็มที่

ในทางสากลเรื่องสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง จึงถูกรับรองว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ประชาชนทุกคนควรจะมีในรัฐ

ดังนั้น สิ่งที่เราเห็นในช่วงการเมือง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มันคือการใช้สิทธิมนุษยชนแบบหนึ่ง ใช้สิทธิพลเมืองที่จะบอกว่า เราควรจะมีสิทธิที่มีความเป็นส่วนตัว รัฐไม่ควรจะเข้ามาแทรกแซงความคิด ความเชื่อ ความเห็น หรือชีวิตความเป็นส่วนตัวของเรา

เราใช้สิทธิทางการเมืองเพื่อจะบอกว่า เราต้องการที่จะมีปาก มีเสียงในบ้านเมืองนี้ ในกระบวนการประชาธิปไตยของบ้านเมืองนี้

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายองค์ประกอบ เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานในการแสดงสิทธิในทางการเมือง แต่การจะมีสิทธิเลือกตั้งอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการรับข้อมูลข่าวสารด้วย รวมถึงสิทธิในการสมาคม รวมตัวในการชุมนุม เพราะหากให้คน ๆ เดียว ที่อาจจะไม่ได้มีสิทธิ มีเสียง มีที่ทางในสังคม ไปพูดอะไร รัฐบาลก็คงไม่ได้ฟัง แต่ถ้าเราสามารถรวมตัวกันได้ ก็จะมีอำนาจต่อรองได้มากขึ้น คือมันเป็นหลักการว่า ในรัฐหนึ่ง ๆ ในสังคมทางการเมืองหนึ่ง ๆ ควรจะมีการรับประกันสิทธิเหล่านี้ เพราะถ้าไม่มีการรับประกัน รัฐซึ่งมีอำนาจมากกว่าประชาชนอยู่แล้ว อยากจะทำอะไรก็ได้ เช่น เข้ามาในบ้านเรา มาเช็กอีเมลเรา หากไม่ได้รับประกันเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานหรืออาจมาสลายการชุมนุม เมื่อประชาชนออกมาเรียกร้องอะไรก็ได้ ซึ่งมันไม่ควรเป็นอย่างนั้น

การเรียนรู้เรื่อง “สิทธิ” ควรเริ่มตั้งแต่ตอนไหน

จริง ๆ มีได้หลายระดับในการเรียน ถ้าเป็นระดับเด็กเล็ก อาจจะพูดถึงเรื่องเนื้อตัวร่างกายของตัวเองว่า คนแปลกหน้าไม่ควรจะมาจับร่างกายของฉัน จับอวัยวะบางส่วน มันก็เรียนรู้ได้ ค่อย ๆ เรียนรู้กันขึ้นมา หรือการเรียนเรื่องง่าย ๆ เช่น การปฏิบัติต่อคนในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน มันเป็นเรื่องระบบคุณค่า ที่เราต้องสั่งสอนอยู่ในสังคม ซึ่งคิดว่าเรื่องพวกนี้ เราสามารถปลูกฝังได้ตั้งแต่เล็ก ซึ่งมันแตกต่างจากระบบคุณค่าที่เราปลูกฝังกันอยู่ในสังคมไทย หรือระบบการเรียนรู้ของโรงเรียนไทย ที่บอกว่ามีผู้ใหญ่ มีผู้น้อย มีครู มีนักเรียน มีสถานะที่แตกต่างกัน

การปรับเปลี่ยนระบบคุณค่าในสังคมใหม่ คงเป็นเรื่องของเราทุกคน คงต้องช่วยกัน ไม่ใช่ไปฝากความหวังแค่ในโรงเรียน ในฐานะการปฏิบัติต่อกันอย่างนี้ หรือระบบอำนาจในสถาบันทางสังคมที่มีหลากหลายมากมาย เราจะปรับมันยังไง ให้มันเป็นสถาบันทางสังคมที่อยู่บนคุณค่าเรื่องมนุษย์เท่ากัน

“แค่นี้ก็ยากแล้ว…”

สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง หยิบมาใช้อย่างไร

เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก ถ้าเราบอกว่า อะไรที่มากระทบความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่ง เราไม่ควรจะแสดงความคิดเห็น ถ้าอย่างนั้นสังคมนั้นก็คงจะอยู่ลำบาก เพราะว่าจะต้องมีความคิดเห็น ที่เป็นความคิดเห็นส่วนน้อยอยู่เสมอในสังคม ทีนี้ถ้าสังคมปล่อยให้คนส่วนใหญ่บอกว่า คนส่วนน้อยไม่ควรจะมีโอกาสแสดงความคิดเห็น อาจจะเวิร์ก ณ จุด ๆ หนึ่ง แต่เราต้องไม่ลืมว่า เราเองอาจจะเป็นเสียงส่วนน้อยในสังคมได้เสมอ ดังนั้น มันเลยบอกว่า เราต้องประกันหลักพื้นฐานให้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงส่วนน้อยหรือเสียงส่วนใหญ่ของสังคม สามารถพูดได้ สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ เพราะถ้าเราไม่สามารถพูดได้ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ก็จะมีบางคนที่เป็นคนที่มีอำนาจ ตัดสินใจต่าง ๆ ในสังคม

ทีนี้โจทย์มันไม่ควรจะเป็นว่า ถ้าอย่างนั้นเราก็อย่าให้คนแสดงความคิดเห็นสิ สังคมจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข แต่โจทย์มันควรจะเป็นว่า เราจะทำยังไง ให้สังคมสามารถแสดงความคิดเห็นได้ โดยที่ไม่ถูกด่า ไม่ถูกฆ่า ไม่ถูกทำร้าย แม้ว่าเป็นความคิดเห็น ที่เราไม่ถูกใจก็ตาม แต่ทำยังไง ที่เราจะสร้างสังคมตรงนั้น ให้อยู่ร่วมกันได้ รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างได้ ถกเถียงกันได้ด้วยเหตุผล

“ตรงนี้มันยังเป็นโจทย์ที่สังคมไทยไม่ค่อยคิด เราคิดกันแต่เพียงว่า ความคิดเห็นทางการเมืองของคุณ มันขัดกับความเชื่อที่ฉันยึดถือมานาน ดังนั้น คุณควรจะเงียบไปซะ”

ทุกคนมีสิทธิแสดงความเห็น เรียกร้อง ชุมนุมในสิ่งที่ต้องการได้ โดยไม่นำไปสู่การสร้างความเกลียดชัง

เป็นโจทย์ที่ยากจริง ๆ เพราะว่า คนส่วนหนึ่งในสังคม อาจจะรู้สึกว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ควรจะเป็นเรื่องที่แตะต้องไม่ได้ ถ้าเรามองว่าเป็นอย่างนั้น ถามว่าเราต้องการให้ทุกส่วนของสังคม สามารถตรวจสอบได้ไหม สามารถพูดถึงได้ไหม โดยที่เราไม่ต้องกลัวว่าจะติดคุก ซึ่งเราคงต้องยอมรับว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ มีอำนาจอยู่ในสังคม และต้องยอมรับด้วยว่ามีการใช้ทั้งกฎหมาย หรือมาตรการทางสังคมหลายอย่างมาปิดปากคนที่มีความเห็นต่าง

ทีนี้ พอไม่มีช่องทางที่จะแสดงความคิดเห็น อาจจะไปใช้บนอินเทอร์เน็ต สื่อออนไลน์ต่าง ๆ หรืออาจจะยิ่งแสดงความคิดเห็น ด้วยความโกรธเกรี้ยว ความโกรธแค้น

แต่ถ้ามันเป็นเรื่องที่เราสามารถคุยได้ปกติ คนก็คงไม่ออกมานั่งด่ากัน คนออกมาพูดคุยกันเป็นปกติ แต่พอมันพูดไม่ได้ หรือกลัว นั่นเป็นเรื่องที่สังคมเราคงต้องมาช่วยกันคุย ว่าเราจะสร้างพื้นที่ที่สามารถตรวจสอบทุกอำนาจในสังคมได้ยังไง พูดถึงได้ พูดแล้วไม่ต้องกลัวว่าจะถูกจับ

หลักของสิทธิทางการเมือง หรือสิทธิพลเมืองในระดับเล็ก

ต้องบอกว่า…วาทกรรมเรื่องสิทธิมนุษยชน มักจะเป็นวาทกรรมของคนที่ไม่มีอำนาจใช้ เพื่อต่อต้านกับอำนาจ เพราะเพียงแค่การยืนยันว่า ฉันเป็นมนุษย์เท่ากับคุณ ฟังดูเหมือนง่าย แต่จริง ๆ มันทรงอำนาจ  ที่จะบอกว่าทุกคนมีสถานะเท่ากัน ไม่ต้องไหว้ ไม่ต้องเรียกอาจารย์ ซึ่งพบว่าแค่นี้บางคนยังทำไม่ได้เลย เดี๋ยวรู้สึกว่าเป็นอาจารย์ เราต้องยกมือไหว้ เราต้องนอบน้อม

คราวนี้พอจิตสำนึกเรื่องสิทธิมนุษยชนมันมากขึ้น การจะบอกว่า ฉันเท่ากับคุณ มันเลยไปกระทบกับระบบอำนาจในสังคม

วิวัฒนาการของประชาธิปไตย ต้องก้าวเดิน?

หลายเรื่องเราเองก็ยอมรับกับระบบอำนาจนั้น โดยไม่ทันได้ตั้งคำถาม  แล้วเราก็คิดว่าอันนี้คือวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคม แล้วเราควรจะรักษาเอาไว้ เราบอกว่า ปล่อยให้มันเป็นวิวัฒนาการของประชาธิปไตย ก็อาจจะค่อยเป็นค่อยไป ก็อาจจะได้ แต่ก็รู้สึกว่า เราก็เห็นแล้วว่ามันมีปัญหา แล้วทำไมเราไม่มาร่วมกันสร้างวัฒนธรรมใหม่นี้ขึ้นมาร่วมกัน ระบบอำนาจบางเรื่องมันไม่เห็นชัด แล้วมันแฝงอยู่ในเนื้อตัวร่างกายเรา เรื่องบางเรื่องที่มันดูเหมือนเล็กนิดเดียว แต่จริง ๆ แล้วมันมีความเป็นอำนาจที่กดทับเราอยู่เยอะมาก เด็กที่ไปโรงเรียนที่จะต้องนอบน้อมกับครูมาก ๆ มันนำไปสู่การไม่กล้าตั้งคำถามกับครู อะไรพวกนี้ คิดว่าเราเห็นแล้ว เราตั้งคำถาม แต่ว่าตั้งคำถาม แบบที่ให้ช่วยกันหาทางออกไปด้วยกัน  คิดว่าน่าจะทำได้  การที่เด็ก ๆ นักเรียน นักศึกษาลุกขึ้นมาตั้งคำถาม กับระบบอำนาจ หรือพูดถึงปัญหาในโรงเรียน ที่หลาย ๆ เรื่องเราไม่ค่อยตั้งคำถามกับมัน ในช่วงปีที่ผ่านมา คิดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมาก ๆ

แล้วก็ถ้าเราจะบอกว่า รู้แล้วก็อย่าพูดเลย ปิดไปเถอะ เดี๋ยวมันจะวุ่นวาย เราจะอยู่อย่างนั้นจริง ๆ เหรอ ถามจริง ๆ ว่า เราจะอยู่กับสังคมที่เรารู้ว่า มันมีการละเมิด เรารู้ว่ามันมีการกดขี่ เรารู้มันมีปัญหา แต่เราจะยังอยู่กับมันอย่างนั้นเหรอ ?

ความกล้าแสดงออกของเด็กยุคนี้ เพราะรู้ว่า สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองของตนเองคืออะไร?

ใช่ คิดว่าด้วยกัน จริง ๆ มันอาจจะเริ่มจากแค่รู้ว่าตัวเอง อาจจะไม่ได้คิดเป็นคำว่า สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แต่รู้ว่านี่คือสิทธิที่ฉันควรจะมี ในฐานะที่เป็นมนุษย์ เดี๋ยวนี้แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องประชาธิปไตย มันเผยแพร่ไปทั่วมากขึ้น คิดว่าคนรุ่นใหม่ เดี๋ยวนี้เรียนรู้เรื่องพวกนี้เยอะขึ้น แล้วก็รวมถึงบทเรียนจากต่างประเทศอะไรพวกนี้ด้วย ทุกวันนี้ตัวเองมีปัญหามาก เวลาจะสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนกับคนรุ่นใหม่ รู้สึกเขารู้หมดแล้ว เราจะสอนอะไร คิดว่าเรากำลังเจอกับปรากฏการณ์แบบนี้มากขึ้น เพราะโลกเขาไม่ได้อยู่แค่สิ่งที่ครู หรือพ่อแม่ หรือรัฐบาลบอกอย่างเดียว เขามีอินเทอร์เน็ต เขามีการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ เยอะแยะมากมาย

การใช้อำนาจ หรือว่าการละเมิด เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้สังคมเปลี่ยน?

ยิ่งห้ามมันก็จะยิ่งแรง ปะทุ มันอาจจะห้ามได้สักระดับหนึ่ง แต่ถึงจุดหนึ่ง ถึงวันที่โลกนี้มันเปิดมาขนาดนี้แล้ว คุณไม่สามารถห้ามทุกอย่างได้หมด  หรืออย่างดูปรากฏการณ์การชุมนุมก็ได้ จากหลังจากการที่รัฐบาลใช้มาตรการรุนแรง หลังวันที่จับ คนจะยิ่งออกมาเยอะขึ้น เพราะคนจะรู้สึกว่า ทำอย่างนี้กับฉัน ทำอย่างนี้กับเพื่อนฉันไม่ได้ คนก็จะยิ่งออกมามากขึ้น

ทำอย่างไรให้เส้นของการใช้กฎหมาย มาควบคุมกับเส้นของสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง ได้ทำงานไปด้วยกัน?

เราก็ต้องยอมรับว่า ณ ตอนนี้ระบบรัฐ หรือว่าวิธีการใช้อำนาจของรัฐในตอนนี้ มันยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ ทุกคนต้องช่วยกันตรวจสอบเรื่องพวกนี้

การใช้กระบวนการทางกฎหมาย ทุกวันนี้ยังมีคนถูกจับ ถูกดำเนินคดีไปแบบที่มันไม่น่าจะเป็นธรรมสักเท่าไหร่อยู่ตลอดเวลา เราคงต้องตั้งคำถามกับรัฐมากขึ้น จับตาดูสถานการณ์เรื่องสิทธิมนุษย์ชน ตั้งคำถามกับรัฐมากขึ้น แล้วก็ผ่านทางการใช้สิทธิของเรา จะออกมาเรียกร้อง จะเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จะออกมาชุมนุม เราก็ต้องยืนยันว่า นี่คือสิทธิที่ประชาชนสามารถทำได้  ซึ่งแน่นอนในหลายสถานการณ์ รัฐอาจจะบอกว่า เราจะต้องจำกัดสิทธิ เพราะว่ามันกระทบต่อความสงบเรียบร้อย ผลประโยชน์ของชาติ หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คือในกฎหมายรวมถึงกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ก็อนุญาตให้มีการจำกัดได้ แต่มันยังจะต้องการจำกัด ที่อยู่ภายใต้กรอบหลักคิด เรื่องประชาธิปไตย แล้วไม่ใช่เป็นการอ้างเรื่อง ความสงบเรียบร้อยของชาติโดยลอย ๆ ประชาชนก็ต้องช่วยกันตรวจสอบ ข้ออ้างเหล่านี้ของรัฐด้วย

นั่นคือในแง่ว่าเราควรจะต้องทำไงกับรัฐ ก็คือเราจะต้องยืนหยัดเรื่องหลักการประชาธิปไตย ยืนหยัดเรื่องหลักการสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ยืนยันด้วยการใช้มัน เราก็เห็นการจับ การดำเนินคดี แต่ว่าเข้าใจว่า รัฐก็ระวังตัวเองมากขึ้น เพราะรู้ว่ามีประชาชนจับตาดูอยู่

สถาบันอื่น ๆ ทางสังคม จะมีบทบาทร่วมกันอย่างไร?

ระบบเรื่องตรวจสอบอำนาจ และการถ่วงดุลอำนาจ คงเป็นเรื่องที่เราจะต้องรักษา ถ่วงดุลเอาไว้อย่างนี้  รัฐบาลในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหาร  ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ จริง ๆ 3 อำนาจ ควรจะต้องคานอำนาจกันให้ได้ อย่างกรณีบางครั้งก็มีที่เราเห็น ตุลาการสั่งไม่ฟ้อง แต่มันก็ยังไม่ได้เสมอไป บางครั้งก็ยังฟ้อง หรือรับฟ้อง แล้วก็ดำเนินคดีกันไม่รู้กี่ปี กว่าจะสิ้นสุดอย่างนี้ เราก็ต้องไปช่วยกันเสริมอำนาจ ให้ทั้ง 3 ฝ่าย อย่างน้อย 3 ขานี้ ถ่วงดุลอำนาจกันได้จริง เพราะตอนนี้ฝ่ายนิติบัญญัติ เราอาจจะไม่ค่อยเห็นว่า เขาจะได้ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่สักเท่าไหร่ เพราะเขาก็ค่อนข้างอยู่ด้วยกัน อยู่ฝ่ายบริหารและตุลาการ บางทีก็มีความคิดเห็นในเชิงการเมืองของตัวเอง เข้าไปมีส่วนประกอบ ในการพิจารณาหลักการอะไรต่าง ๆ ด้วย เราจะทำยังไงให้ 3 ส่วนนี้ ถ่วงดุลกัน

แล้วก็แน่นอนมีหน่วยงานอื่น ๆ เช่น เป็นพวกองค์กรอิสระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งตอนนี้เราก็ยังเห็นว่า ไม่ได้ทำหน้าที่บทบาท ในการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเต็มที่สักเท่าไหร่ เราจะต้องช่วยกันเสริมอำนาจองค์กรพวกนี้ ให้ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น

วิธีการเสริมอำนาจ

ถ้าง่าย ๆ เลย คือการคอยติดตาม มีคนถูกจับ แล้วสื่อหรือไม่ต้องสื่อก็ได้ ช่วยกันตามว่า ไปถึงไหน        

ทำให้คนที่มีอำนาจ เขาก็จะรู้สึกว่า เขาจะทำอะไรก็ต้องระวัง  ฝ่ายตุลาการก็จะรู้เหมือนกันว่า เรื่องนี้มันอยู่ในความสนใจของประชาชน แล้วเขาจะต้องแสดงหน้าที่ ที่เป็นกลาง และรักษาความเป็นธรรม คิดว่าอันนี้เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่เราประชาชนทั่วไป แล้วก็สื่อมวลชนสามารถทำหน้าที่ได้ คือติดตามกรณีการละเมิด  แล้วก็มันจะเป็นการช่วยยืนยัน กับฝ่ายที่ต้องทำหน้าที่ ในการตรวจสอบด้วยว่า มันมีประชาชนที่เขาอยากให้ทำงาน สมมติ ยกตัวอย่าง กรรมการสิทธิฯ ถ้ากรรมการสิทธิฯ เขาสามารถทำงานโดยประชาชน ไม่มีสิทธิไปแสดงความคิดเห็นอะไรเลย เขาอยากจะทำอะไรก็ได้  แต่ถ้าประชาชนไปแสดงความคิดเห็นได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ เขาก็ต้องรู้สึกว่า เขาต้องรับผิดชอบต่อประชาชน แล้วก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่

คิดว่านี่เป็นเรื่องง่าย ๆ เลย ที่เราจะไปช่วยกันเสริมอำนาจ ให้คนที่ทำหน้าที่ถ่วงดุล ทำหน้าที่ของตัวเอง แล้วก็ถ้าจะใหญ่กว่านั้น อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง ให้เป็นระบบการเมือง ที่ยึดหลักประชาธิปไตย ยึดหลักสิทธิมนุษยชน อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาสักนิดนึง เพราะตอนนี้เหมือนที่ผ่านมา เราจะมีความรู้สึกว่า ทำให้เชื่อใจนักการเมือง นักการเมืองโกงกิน นักการเมืองคอร์รัปชัน จนเราไม่ช่วยกัน ทำให้สถาบันทางการเมือง เป็นสถาบันที่เข้มแข็ง พอที่จะทำหน้าที่ ในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างเต็มที่ อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันปรับวิธีคิดตรงนี้ ทำยังไงให้นักการเมือง Accountable มีความรับผิดชอบต่อประชาชน   ซึ่งตอนนี้มันอาจจะยังไม่ได้เห็นชัดเจนมาก  ดังนั้น คงต้องช่วยกันทำต่อไป

จะสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริงได้อย่างไร?

วัฒนธรรมที่เถียงกันได้ โดยที่ไม่ต้องเห็นด้วยกัน วัฒนธรรมที่คนอื่น จะวิจารณ์สิ่งที่เรารับได้ โดยที่ไม่ฆ่ากัน แค่นี้ก็คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ อันนี้อาจจะในระดับบุคคล แต่วัฒนธรรมที่ให้สถาบันทางการเมืองต่าง ๆ มีความรับผิดชอบต่อประชาชน และประชาชนคือ เจ้าของอำนาจในรัฐ อันนี้คือหัวใจสำคัญ ของเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ทำยังไงให้ประชาชน คือผู้ทรงอำนาจสูงสุด ในสังคมการเมือง 

ตามหลักสิทธิมนุษยชน ประชาชนมีสิทธิแสดงความเห็นและชุมนุมประท้วง การสร้างวัฒนธรรมถกเถียงได้แม้เห็นต่าง เราจะสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืนได้นั้น รัฐต้องมีหน้าที่ต้องช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้สิทธินี้ได้เต็มที่

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


Author

Alternative Text
AUTHOR

ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์

ผู้ประสาน 10 ทิศ ชอบการติดต่อ-สื่อสารเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยการ "ติ่ง"

Alternative Text
AUTHOR

อรุชิตา อุตมะโภคิน

ตามหาความเสมอภาคผ่านงานทั้งศาสตร์และศิลป์ พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์รอบตัว