หมดยุคเถียง! เอา-ไม่เอา ‘แก่งเสือเต้น’… ขอแค่เดินต่อ ‘สะเอียบโมเดล’ แก้ขัดแย้ง แล้ง-ท่วม ให้จบ

สืบเนื่องจากกรณี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมพร้อม อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์, สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข พร้อมระบุถึงเวลาคุยสร้าง “เขื่อนแก่งเสือเต้น” แก้ปัญหาลำน้ำยม แม้ก่อนหน้านี้มีการศึกษาผลกระทบแล้วว่า แก้น้ำท่วมไม่ได้จริง แต่ จ.สุโขทัย ท่วมซ้ำซากทุกปี ทำให้ต้องหารือเรื่องแก่งเสือเต้นกันใหม่ พร้อมเตรียมชงเข้า ครม. พิจารณาร่วมกันอีกครั้ง

รองนายกฯ ภูมิธรรม ระบุว่า รัฐบาล ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง และแม่น้ำน่าน มีเขื่อนรองรับน้ำ แต่แม่น้ำยมไม่มี จึงต้องทบทวนเพื่อหาช่องทางดูดซับน้ำ และต้องเร่งสำรวจพื้นที่ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างทั่วถึง

ถึงเวลาที่ต้องมาคุยเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นกันอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาทําอะไรไม่ได้สร้างอะไรไม่ได้ เพราะยังมีความเห็นที่แตกต่าง สองฝ่าย เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็ขอให้เป็นประเด็นสาธารณะ ที่จะพิจารณาและคณะรัฐมนตรีก็จะพิจารณาอย่างเห็นถ่องแท้ ได้มีการประสานงานกับทางเวิลด์แบงก์ ให้ไปศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน

แน่นอนว่าทันทีที่คนในรัฐบาลออกมาโยนหินถามทางประเด็นแก่งเสือเต้นกันอีกครั้ง ทางฝั่งกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็ออกมาตอบโต้คัดค้านประเด็นนี้ทันที อย่าง เพจคนอนุรักษ์ สะท้อน “หากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ต้นไม้ใหญ่จะถูกทำลายกว่า 2 ล้านต้น ถ้ารวมต้นเล็ก ๆ จะมีมากถึง 60 ล้านต้น รณรงค์ปลูกอีก100 ปี ก็ไม่ได้ 60 ล้านต้น”

ณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา นายก อบต.สะเอียบ – ปธ.คณะกรรมการคัดค้านการสร้างเขื่อน

‘สะเอียบโมเดล’ ทางเลือก บนการมีส่วนร่วม โดยไม่ใช้วิธีการเมืองมาตัดสิน

ณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา นายก อบต.สะเอียบ ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดค้านการสร้างเขื่อน เปิดเผยกับ The Active ว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2523 แต่ก็ถูกต่อต้านของคนในพื้นที่มาโดยตลอด พอมาในปี 2555 รัฐบาลอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หยิบขึ้นมาทบทวน-ศึกษาอีกครั้ง ซึ่งภาคประชาชนในพื้นที่ก็ไม่เห็นด้วย พอเกิดเหตุยึดอำนาจรัฐประหาร ทำให้ต้องชะลอออกไปอีกครั้ง

การที่รัฐบาลปัจุบันในนามพรรคเพื่อไทย ที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ระบุอาจจะรื้อ “เขื่อนแก่งเสือเต้น” แก้ปัญหาลำน้ำยม เตรียมชง ครม.พิจารณาร่วมกันอีกครั้ง มองว่า ไม่ใช่เวลามาพูดถึงและควรต้องทำการบ้านใหม่ก่อนออกสื่อ เพราะปัจจุบันมีทางออกที่ทำอยู่แล้ว คือ ‘สะเอียบโมเดล’ จ.แพร่ แก้น้ำแล้ง-ท่วม ที่กำลังขับเคลื่อนพร้อมกับหน่วยงานราชการ และประชาชนที่ได้สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน ปราศจากการใช้วิธีการทางการเมืองมาตัดสิน

นายก อบต.สะเอียบ ยังระบุถึง ความลงตัวหลังจากมีการตกลงกันกับภาครัฐ และเมื่อมีการศึกษาสะเอียบโมเดลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาควิชาการ ก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง จากที่ชาวบ้านเคยขัดแย้งกับกรมชลประทาน ก็กลับกลายมาเป็นความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2 และอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า ซึ่งโครงการเหล่านี้ แค่ทำต่อให้เสร็จ ร่วมถึงพัฒนาแหล่งน้ำที่เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ ตามลำน้ำ สาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำ สาขา ของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่า หมดเวลารื้อฟื้น ให้สร้างความไม่เข้าใจและสูญเสียหลายประการ

‘สะเอียบโมเดล’ แก้ปัญหาความขัดแย้งแล้ง-ท่วม

ก่อนหน้านี้ The Active ลงพื้นที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ พร้อมพูดคุยกับกรมชลประทาน โดย พิเชษฐ์ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบและสถาปัตยกรรม กรมชลประทาน บอกกับเราว่า โครงการสะเอียบโมเดล จ.แพร่ ที่เตรียมนำร่องก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2 และอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า เพื่อรับมือปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วมจากภาวะโลกเดือด ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการสะเอียบโมเดล จึงเป็นโครงการที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ที่กรมชลประทานได้รับการร้องขอจากประชาชนมาอย่างยาวนาน

พิเชษฐ์ รัตนปราสาทกุล ผอ.สำนักออกแบบและสถาปัตยกรรม กรมชลประทาน 

ปัจจุบัน โครงการสะเอียบโมเดล ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2 มีความจุที่ระดับเก็บกักปกติ 19.67 ล้าน ลบ.ม. และ อ่างเก็บน้ำห้วยเป้า มีความจุที่ระดับเก็บกักปกติ 2.35 ล้าน ลบ.ม. สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกรวมทั้ง 2 โครงการ ประมาณ 10,250 ไร่ 

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการ จะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2567 และจะขอตั้งงบประมาณก่อสร้างต่อไป ซึ่งมีแผนจะก่อสร้างในปี 2569 สำหรับอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2 และปี 2570 สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า

สำหรับการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2 และระบบส่งน้ำ กรมชลประทาน ยืนยันไม่กระทบต่อบ้านเรือนราษฎร แต่กระทบกับพื้นที่ทำกินในอ่างเก็บน้ำจำนวน 30 ไร่ และแนวท่อผ่านพื้นที่ทำกินประมาณ 49.9 ไร่ ส่วนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า และระบบส่งน้ำ ไม่กระทบต่อบ้านเรือนราษฎร กระทบกับพื้นที่ทำกินในอ่างเก็บน้ำจำนวน 9 ไร่ แนวท่อจะวางไปตามเขตทางถนนจึงไม่กระทบกับพื้นที่ทำกิน โดยพื้นที่ทำกินที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ จะได้การชดเชยที่ดินและทรัพย์สินทั้งกรณีที่ดินมีเอกสารสิทธิ์และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2532 พร้อมทั้งการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนใกล้เคียง จะต้องปฎิบัติตามรายงานแผนปฎิบัติการป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) ที่กรมชลประทานได้จัดทำรายงานดังกล่าวและผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว

พรมงคล ชิดชอบ รองผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 2

เพื่อให้เกิดความมั่นใจ พรมงคล ชิดชอบ รองผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 2 บอกด้วยว่า แม้ตำเเหน่งที่จะสร้างเขื่อนจะไม่มีรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่าน เเต่ก็อยู่ใกล้ กรมชลประทานจึงทำการออกเเบบเขื่อนโดยพิจารณาขนาดเเผ่นดินไหว 0.58g จากรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้เขื่อนแม่สะกึ๋น 2 และพิจารณาขนาดเเผ่นดินไหว 0.51g จากรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้เขื่อนห้วยเป้า โดยได้ออกเเบบตามมาตรฐานการออกเเบบเเผ่นดินไหว ทั้งของกรมชลประทาน เเละมาตรฐานระดับโลก

เมื่อดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่งแล้วเสร็จ จะทำให้มีการส่งน้ำให้พื้นที่เกษตร สามารถเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง สำหรับอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น มีพื้นที่ชลประทาน 7,940 ไร่ และพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า 2,310 ไร่ รวมทั้งมีการส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค สำหรับอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋นส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและโรงงานกลั่นสุราชุมชน 1.05 ล้าน ลบ.ม./ปี

ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า ส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 147,383 ลบ.ม./ปี พร้อมกับช่วยพื้นที่ชลประทานฝายแม่ยมเฉพาะฤดูแล้ง 6,700 ไร่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของท้องถิ่นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของตำบลสะเอียบ และ รักษาสมดุลนิเวศท้ายน้ำ โดยระบายน้ำในฤดูแล้งลงลำน้ำเดิม

ขณะที่ อัสนี จารุชาต ผู้อำนวยการโครงการชลประทานแพร่ ระบุว่า จ.แพร่ มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 5 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำแม่สอง, อ่างเก็บน้ำแม่คำปอง, อ่างเก็บน้ำแม่ถาง, อ่างเก็บน้ำแม่สาย และอ่างเก็บน้ำแม่มาน มีความจุอ่างรวมทั้งหมด 132.43 ล้าน ลบ.ม. ตอนนี้สามารถเก็บน้ำได้ 64.289 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 48.54 % ของความจุอ่างรวมทั้งหมด ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 71 แห่ง ก็เก็บน้ำได้ประมาณ 27.69 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 52.43% ของความจุอ่างรวมทั้งหมด (52.765 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างทั้งหมดมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ ฝายแม่ยม ซึ่งมีปริมาณน้ำเก็บกัก 1.820 ล้าน ลบ.ม. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากหยุดระบายน้ำให้พื้นที่

ส่วนใหญ่ในพื้น จ.แพร่ มีความต้องใช้น้ำด้านการเกษตร 990.10 ล้าน ลบ.ม./ปี รองลงมาคือ อุปโภคบริโภค 24.50 ล้าน ลบ.ม./ปี อุตสาหกรรม 2.72 ล้าน ลบ.ม./ปี และรักษาระบบนิเวศ 10 ล้าน ลบ.ม./ปี รวมความต้องการใช้น้ำทั้งหมดประมาณ 1,027.32 ล้าน ลบ.ม./ปี แต่มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 186.54 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเก็บน้ำได้เพียงร้อยละ 10.43 ของปริมาณน้ำท่าเท่านั้น (ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 1,946.67 ลบ.ม./ปี)

อัสนี จารุชาต ผอ.โครงการชลประทานแพร่ 

ในช่วงฤดูฝนแต่ละปี จะมีฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและลำน้ำสาขา ทำให้ จ.แพร่ ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำยม และ น้ำจากลำน้ำสาขาที่ไหลมารวมกัน เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เกษตรและบ้านเรือนของราษฎรอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเขตอ.เมือง อ.สอง อ.สูงเม่น และอ.เด่นชัย 

ขณะที่ในฤดูแล้ง แม่น้ำและลำห้วยต่าง ๆ มีปริมาณน้ำลดลง บางแห่งไม่มีน้ำไหล ทำให้ราษฎรขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร พื้นที่ที่มักจะประสบปัญหาภัยแล้งบ่อยครั้ง คือ อ.สอง อ.ร้องกวาง และอ.ลอง หากมีการพัฒนาอ่างเก็บน้ำในลำน้ำสาขาเพิ่มมากขึ้น เช่น โครงการสะเอียบโมเดล จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งอุทกภัยที่จะเกิดในพื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำ

ส่วนในอนาคต กรมชลประทาน มีแผนพัฒนาโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลาง (พ.ศ. 2566-2570) จำนวน 15 โครงการ มีความจุรวมประมาณ 190.23 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะช่วยเก็บกักน้ำในฤดูฝนเพื่อไปใช้ในฤดูแล้งมากขึ้น และลดปัญหาอุทกภัย

กลุ่มราษฎรรักษ์ป่าแม่ยม สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ เคยสรุป เหตุผล 12 ประการที่ ไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

  1. เขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นเขื่อนในโครงการผันน้ำกก-อิง-ยม-น่าน และผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อยมาก เมื่อถูกคัดค้านอย่างหนัก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้โอนให้กรมชลประทานโดยให้เหตุผลว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นให้ผลประโยชน์ด้านชลประทานเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงยังคงเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเหมือนเดิม

  2. เขื่อนแก่งเสือเต้นแก้ภัยแล้งไม่ได้เขื่อนแก่งเสือเต้นเปรียบเสมือนการสร้างโอ่งขนาดใหญ่ที่มีก็อกสูงทำให้ หน้าแล้งไม่สามารถปล่อยน้ำ เพื่อการชลประทานได้ เพราะต้องเก็บน้ำไว้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและไม่ให้มีผลเสียต่อการบริหารน้ำในเขื่อนในปีต่อไป

  3. ป้องกันน้ำาท่วมลุ่มน้ำายมและกรุงเทพฯไม่ได้หน้าฝนเขื่อนแก่งเสือเต้นกันน้ำท่วมไม่ได้ เพราะเขื่อนมีน้ำามากกว่า 2 ใน 3 ของความจุอ่างอยู่แล้ว แต่ข้ออ้างนี้เป็นเพียงการฉวยโอกาสจากการเกิดอุทกภัย เพื่อเป็นข้ออ้างในการสร้างเขื่อนเท่านั้น

  4. พื้นที่ชลประทานไม่เป็นจริงพื้นที่ชลประทาน 385,400 ไร่ ของเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นพื้นที่ชลประทานเดิมเกือบทั้งหมด ซึ่งมีโครงการสูบน้ำาด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานอยู่แล้วส่วนพื้นที่ในเขตลุ่มน้ำาเจ้าพระยาตอนบนอยู่ห่างออกไปกว่า 300 กิโลเมตร ซึ่งไม่มีคลองส่งน้ำาจากโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นแต่อย่างใด และพื้นที่เหล่านี้ถูกควบคุมโดยเขื่อนเจ้าพระยาอยู่แล้ว จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับเขื่อนแก่งเสือเต้น

  5. ผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าไม้เขื่อนแก่งเสือเต้นจะทำให้น้ำท่วมบริเวณใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยมจำานวน 40,625 ไร่ ซึ่งเป็นป่าสักทองที่สมบูรณ์ที่สุด ใหญ่ที่สุดและหายากที่สุดในประเทศไทยจำานวน 24,000 ไร่ มูลค่า 10,000 ล้านบาท และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง

  6. ผลกระทบต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำายมตอนล่าง เขื่อนแก่งเสือเต้นจะดับเส้นชีวิตลุ่มน้ำายมตอนล่างการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะเป็นสาเหตุต่อการสูญเสียที่ราบลุ่มน้ำายม ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับบึงสีไฟจ.พิจิตร ภายหลังจากสร้างเขื่อนสิริกิติ์ เนื่องจากน้ำาที่ปล่อยออกจากเขื่อนจะถูกบังคับให้ไหลไปตามคลองชลประทานแทนแม่น้ำจะก่อให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ถ้าหากที่ราบลุ่มน้ำายมถูกทำลาย

  7. ความไม่ปลอดภัยของเขื่อนแก่งเสือเต้น

    7.1. มหันตภัยจากแผ่นดินไหวรอยเลื่อนแผ่นดินไหวมีความยาว 80 กิโลเมตร วางตัวขนานกับแม่น้ำยม ตั้งรับกับเขื่อนแก่งเสือเต้น และมีรอยเลื่อนของเปลือกโลกแยกออกพาดผ่านเขื่อนแก่งเสือเต้นพอดี พร้อมทั้งมีรอยเลื่อนที่มีพลัง ห่างจากที่ตั้งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกไป 31 กิโลเมตร เป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่มีนัยยะสำ คัญอัน อาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ขึ้นได้

    7.2.มหันตภัยจากดิน หินถล่มและคลื่นยักษ์ ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณีเมื่อ 6 พ.ย.2539 พบว่า ด้านตะวันออกห่างจากที่ตั้งเขื่อนแก่ง เสือเต้น 5.2 กิโลเมตร จะเกิดการพังทลายของดินและหินขึ้นได้ถ้าหากแผ่นดินไหวในบริเวณใกล้เคียงมีขนาด มากกว่า 6 ริกเตอร์ และอาจก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ ณ บริเวณที่ตั้งเขื่อนสูง 28 เมตร จากระดับกักเก็บปกติ (สูงประมาณตึก 10 ชั้น)

  8. ความไม่คุ้มค่า เนื่องจากราคาของเขื่อนที่สูงขึ้น

  9. อายุของเขื่อนที่สั้นจากตัวอย่างเขื่อนที่สร้างแล้ว คือ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนเขาแหลม เขื่อนบางลาง และเขื่อนปากมูล สาเหตุของบประมาณที่เพิ่มขึ้นมหาศาลของทั้ง 4 เขื่อน เกิดจากปัญหาทางธรณีวิทยาทั้งสิ้น จึงเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความไม่ปลอดภัยของตัวเขื่อนที่จะเกิดขึั้นในอนาคต หากเกิดภัยพิบัติขึ้น ราคาก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นใน ปี 2523 ใช้เงิน 4,000 ล้านบาท ปี 2528 ราคาก่อสร้างอยู่ที่ 3,593.8 ล้านบาท ปี 2539 เพิ่มเป็น 4,083 ล้านบาท ปี 2543 ใช้เงิน 6,300 ล้านบาท ปัจจุบันปี 2555 เพิ่มเป็น 13,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าราคาของเขื่อนเพิ่มขึ้นทุกปี หากเขื่อนถูกสร้างขึ้น ราคาของเขื่อนที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นภาระของใคร

  10. ผลกระทบต่อชาวบ้าน อ่างเก็บน้ำ หรือเขื่อนแก่งเสือเต้น จะท่วมพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวบ้าน 4 หมู่บ้าน จำนวนกว่า 1,000 ครอบครัว ใน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ และแอ่งเชียงม่วนในเขต อ.เชียงม่วน จ.พะเยา กว่า 2,500 ครอบครัว

  11. ความไม่เป็นธรรมในสังคม กรมชลประทานมักอ้างเสมอว่า “การสร้างเขื่อนเพื่อประโยชน์ของประชาชน”

  12. ทางเลือกอื่นในการจัดการลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่นฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาและพัฒนาป่าชุมชน พัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ ตามลำน้ำ สาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำ สาขา ของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่า

ในวันนี้ (3 ก.ย. 67) รองนายกฯ ภูมิธรรม ยังคงเรียก ครม. ถกตามปกติ แต่ยังไม่พบวาระแห่งชาติ เรื่องการผลักดันงบประมาณ 2 แสนล้านบาท ทบทวนโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะรัฐบาลอาจต้องดูทิศทางลมอีกทีไม่เช่นนั้น การโยนหินถามทางถึงการรื้อฟื้นโครงการแก่งเสือเต้นในทุกครั้งที่น้ำท่วมสุโขทัย และตรงกับรัฐบาลพรรคการเมืองเดิมอย่างพรรคเพื่อไทย อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

ปัจจุบัน โลกไปไกลกว่าที่คิด โครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ทำลายป่าสักทองที่หนาแน่นที่สุดในประเทศไทย อาจไม่ตอบโจทย์เสมอไป เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากโลกร้อน โลกเดือดอาจทำให้ฝนตกไม่เข้าเขื่อน

สร้างเขื่อนใหญ่เสียงบฯ มหาศาล แต่ไม่มีใครการันตีถึงประโยชน์ที่จะตามมา ถึงตรงนี้สู้หาทางออกตรงกลางร่วมกัน สร้างมิตรที่ดี และในเมื่อกระบวนการมีส่วนร่วมเกิดขึ้นแล้ว จนออกมาเป็น โครงการสะเอียบโมเดล ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าเป็นทางออก ทำให้ไม่ต้องวกกลับไปพูดถึงเขื่อนแก่งเสือเต้นอีก… จากนี้คงต้องวัดใจรัฐบาลว่า ความต้องการของคนในพื้นที่ซึ่งผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมมาแล้วนั้น จะเกิดขึ้นอย่างจริงจังแค่ไหน ?

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์