‘ชอเดอ’ แห่งแม่ปอคี แบรนด์ชาติพันธุ์บนฐานความยั่งยืน

โอกาสและความท้าทายของพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
บ้านแม่ปอคี

บ้านแม่ปอคี ชุมชนปกาเกอะญอดั้งเดิมที่มีอายุราวกว่า 425 ปี มีประชากรทั้งหมด 276 คน 51 ครัวเรือน ในพื้นที่ 8,386 ไร่เป็นพื้นที่ของการดำรงวิถี ก่อเกิดวัฒนธรรม สรรค์สร้างภูมิปัญาในการอยู่กับป่า เป็นโอกาสในการต่อยอดและพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติสู่การสร้างเศรษฐกิจบนฐานของชุมชน ซึ่งเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในชุมชนและเป็นแรงบัลดาลใจให้เยาวชนที่จากบ้านไปทำงานในเมือง มีโอกาสกลับบ้านพร้อมกับการมีเศรฐกิจที่ตอบโจทย์วิถีชีวิต

บ้านแม่ปอคี (ขุนแม่เหว่ย) อ.ท่าสอง

นอกจากโอกาสที่ชุมชนจะได้รับแล้ว ยังเป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมเป็นฐานอีกด้วย ความหวังเหล่านี้เป็นโอกาสที่อาจจะตอบได้ยากว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ เกิดขึ้นช้าหรือเร็ว เพราะสถานการณ์ปัจจุบันที่ชุมชนเผชิญอยู่เต็มไปด้วยเงื่อนไขและข้อกัด ที่เป็นผลจากการพัฒนาแบบผิดทิศผิดทางในอดีต ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบทางเดียว หรือ TOP-DOWN ขาดการมีส่วนร่วม และนำมาซึ่งปัญหาใหม่ เช่น การจัดการทรัพยากรป่าไม้ โดยการประกาศป่าสงวนแห่งชาติท่าสองยางทับพื้นที่ชุมชน และการเตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแม่เงา ซึ่งทับที่ชุมชน

นำมาซึ่งการจำกัดสิทธิของชุมชนในการดำเนินตามวิถีวัฒนธรรม การจับกุม สร้างความหวาดกลัว อีกทั้งยังส่งผลให้ลูกหลานในชุมชนต้องจำนนออกมาทำงานในเมือง ซึ่งขาดทักษะในการทำงาน จึงต้องทำงานที่มีลักษณะการใช้แรงงาน และยังถูกขูดรีด กดขี่จากนายจ้าง ประกอบกับมายาคติชาติพันธุ์ที่กดทับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เหล่านี้เป็นการพัฒนายุคก่อนที่ส่งผลกระทบและยังคงร่องรอยและบาดแผลของผลลัพธ์การพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน

เปลี่ยนแว่น มองชาติพันธุ์มุมใหม่

จึงอยากชวนมองในมุมมองที่แตกต่าง มองจากฐานวัฒนธรรมขึ้นมา เพื่อมองหาจุดต่าง แสวงหาจุดร่วม เปลี่ยนแรงต้านเป็นแรงร่วมในการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน หลังจากที่สะท้อน เรื่องราวแม่ปอคี (บทความก่อนหน้านี้) ผ่านศักยภาพและพลังของชุมชนในการพยายามลุกขึ้นมาปกป้องดูแลทรัพยากรและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม แม้พวกเขามีโอกาส แต่ก็เต็มไปด้วยความท้าทายว่า ชุมชนแห่งนี้จะสามารถยืนหยัดและดำรงวิถีชาติพันธุ์ต่อไปได้หรือไม่ หรือรอเวลาของการล่มสลายทางวัฒนธรรม เป็นคำถามที่ยากเกินจะพรรณนา

เมื่อเต็มไปด้วยเงื่อนไขและข้อกำกัด โดยเฉพาะโครงสร้างทางกฏหมาย นโยบาย พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ การเตรียมประกาศเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่เงา ที่ชุมชนแห่งนี้ต้องเผชิญและอยู่กับความวิตกกังวลเรื่อยมา แต่หากเราลองปรับแว่น หรือมุมมองที่มองเข้ามาในชุมชนแห่งนี้ด้วยระดับเดียวกัน มองวัฒนธรรมคือความหลากหลาย มิใช่สูงต่ำ เราอาจพบศักยภาพและต้นทุนบางอย่างที่ประเทศกำลังแสวงหา โลกกำลังต้องการ นั่นคือองค์ความรู้ภูมิปัญญาในการจัดการวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

กำเนิด ‘แบรนด์ชอเดอ’ คนรุ่นใหม่
กับการสร้างโอกาส บนทุนวิถีวัฒนธรรมชุมชน

ชอเดอ คือ แบรนด์ชุมชนที่กลุ่มเยาวชนแม่ปอคีได้รวมตัวกัน เพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจชุมชนด้วยแนวคิด เติบโตอย่างมีราก และอาจเป็นหนทางสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในชุมชนในยุคของพวกเขา เยาวชนเริ่มต้นด้วยการเก็บข้อมูลและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม และพบต้นทุนสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ชอเดอ คือ พื้นที่ไร่หมุนเวียนและไร่เหล่า ซึ่งเป็นระบบการผลิตหลักของชุมชน

นอกจากนี้ยังมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ของเยาวชนเพื่อสื่อสารและเล่าเรื่องราวภูมิหลังและความสัมพันธ์กับชุมชนออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ปราโมทย์ เวียงจอมทอง ทำหน้าที่หลักคือ การเรียกร้องสิทธิ หรือสร้างเครือข่าย ร่วมขบวนกับเครือข่ายเพื่อเรียกร้องสิทธิชาติพันธุ์ กับ P-MOVE และภาคีอื่น ๆ

ขณะที่ ธีระ วงษ์จำเนียง หรือ ครูเล็ก ดูแลด้านการเชื่อมประสานกับหน่วยงานภายนอกเพื่อร่วมกับงานกับชุมชน เช่น โครงการการพัฒนาต่าง ๆ ที่ชุมชนเห็นว่าเหมาะสมจะต้องผ่านครูเล็ก ก่อนเข้าสู่ประชาคมชุมชนเพื่อลงมติพิจารณาร่วมกัน เช่นเดียวกับ อำนวย เสือแสงเสริม รับบทบาทการนำเสนอผลิตภัณฑ์ชุมชนต่อสาธารณะชนตามโอกาสต่าง ๆ พร้อมนำผลิตภัณฑ์ชุมชนภายใต้แบรนด์ชอเดอ ร่วมออกบูธ แสดงสินค้า เพื่อสื่อสารและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ชุมชน ส่วน ประหยัด เสือชูชีพ รับบทบาทด้านการสื่อสารเพื่อเสริมพลังชุมชน โดยใช้เครื่องดนตรี เตหน่ากู ในการสื่อสารและเล่าเรื่องวิถีชุมชน บ่อยครั้งที่เขาถูกเชิญไปร่วมเวที เล่าเรื่องราวของชุมชนแม่ปอคี เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องศักยภาพชุมชนชาติพันธุ์และสถานการณ์ที่ชุมชนต้องเผชิญ โดยเฉพาะการถูกคุกคามต่อการดำเนินวิถีโดยกฎหมายและนโนบายที่ไม่เป็นธรรมต่อชุมชน

เยาวชนทั้ง 4 คน เสมือนแกนหลักที่ผมเรียกเขาว่า “ลมหายใจบรรพชน” เพราะสิ่งที่พวกเขาทำนั้น เป็นการสานต่อและต่อยอดต้นทุนของชุมชน กล่าวคือ “สร้างชุมชนที่เติบโตบนฐานรากของนิเวศวัฒนธรรม” ในชื่อแบรนด์ชอเดอ

ประหยัด เล่าให้ฟังถึงที่มาและความหมายแบรนด์ว่า ชอเดอ เป็นแบรนด์ของชุมชน เป็นการผสมคำระหว่าง ชอ กับ เดอ ซึ่งทั้ง 2 คำมีความหมายอย่างละ 3 มิติ ได้แก่

มิติความหมายของคำว่า ชอ

  • ชอ ที่ 1 แปลว่า แตกต่าง หลากหลาย ชุมชนแม่ปอคีเป็นชุมชนปกาเกอะญอที่มีวิถีวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่ม แต่เป็นความแตกต่างที่งดงามและมีคุณค่าของสังคมไทยในฐานะทุนทางวัฒนธรรมของชาติ

  • ชอ ที่ 2 แปลว่า การตั้งถิ่นฐาน หมายถึง ชุมชนแม่ปอคี เป็นชุมชนดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานมายาวนานกว่า 425 ปี

  • ชอ ที่ 3 แปลว่า การทำงานหรือการเติบโตของชุมชนจะทำเป็นทีละขั้น ทีละขั้น ไม่เร่งรีบแต่หนักแน่น เพราะถ้าฐานแน่นการพัฒนาในอนาคตที่จะแข็งแรง คือ สอดรับกับวิถีชาติพันธุ์

มิติความหมายของคำว่า เดอ

  • เดอ ที่ 1 แปลว่า บ้าน หมายถึง แม่ปอคีคือบ้าน ที่อยู่อาศัยของบรรพชนในแผ่นดินนี้มายาวนาน

  • เดอ ที่ 2 แปลว่า การตั้งท้อง หมายถึงการตั้งท้องของพืชพันธุ์ และกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะงอกงามในอนาคต ซึ่งเปรียบเสมือนเยาวชนในวันนี้เราเป็นเมล็ดพันธุ์และอนาคตของเผ่าพันธ์ุ

  • เดอ ที่ 3 แปลว่า กลอง หมายถึง เครื่องดนตรีประเภทตีของชุมชน ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมชุมชน และกลองจะถูกบรรเลงในช่วงเทศกาลรื่นเริง หรือฤกษ์ยามงามดี เมื่อเสียงกลองดังขึ้น ความสนุกสนานรื่นรมณ์ และส่งเสียงดังสร้างความสุขสำราญไปทั่วทั้งหมดบ้าน

แบรนด์ชอเดอ จึงสะท้อนวิธีคิด และวิธีการที่จะนำพาชุมชนเติบโตไปข้างหน้าอย่างมีรากมีฐานและเป็นความหวังใหม่ของชุมชน

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ชอเดอ ได้แก่

  1. ชาน่อเก่อหว่อ หรือ ชาฮอวอ

  2. น้ำพริก มี 2 แบบคือ พริกตาดําและน้ำพริกข่า หรือตะไคร้

  3. งาขาว

  4. พริก

ประหยัด บอกว่า ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ชอเดอทั้งหมดนี้มีแหล่งวัตถดิบมาจากไร่หมุนเวียน ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มต้น ก่อรากสร้างฐานผลประกอบการยังไม่มาก ตอนนี้มีเงินจากการประกอบการทั้งหมดหมื่นกว่าบาท คุยกันว่าเงินที่ได้มานี้จะยังไม่หักค่าแรง ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมที่ทุกคนยอมรับ เพราะต้องการร่วมการสร้างให้กับโตและเมื่อถึงวันหนึ่งที่มันโตได้

นอกจากสมาชิกกลุ่มทั้ง 15 คนจะได้รับผลตอบแทนแล้ว ยังสร้างอาชีพให้คนอื่น ๆ ในชุมชนได้อีกด้วย เป็นความหวังที่ใหญ่ที่เราอยากให้เกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นตอนนี้เราอาจต้องลงแรงลงใจกันให้มาก เพื่อบ้านของเรา เพื่อชุมชนของเรา

เราหวังว่า วันหนึ่ง “ชอเดอ” จะเติบโตและโด่งดังสู่สาธารณะชน ให้ได้ยิน ได้เห็น ได้รู้ และได้เข้าใจวิถีชาติพันธุ์ของชุมชนบ้านแม่ปอคี

ประหยัด เสือชูชีพ

“มันเป็นความหวังของเยาวชนที่อยู่บ้าน ที่ไม่ได้เรียนต่อ อยู่บ้านมีความสุขได้อยู่กับพ่อกับแม่และได้ไปทำไร่ไถนาแล้วก็กลับบ้าน”

จันทร์เพ็ญ เสือชูชีพ สมาชิกวิสาหกิจชุมชนชอเดอ

ก่อร่างสร้างสรรค์ บนฐาน 3 หลัก
กับความหวังถึงความยั่งยืนของชุมชน

แบรนด์ชอเดอ ทำงานอยู่บนฐาน 3 หลัก คือ หลักวัฒนธรรม หลักสิ่งแวดล้อม และหลักเศรษฐกิจ ที่เป็นฐานในการสร้างผลิตภัณฑ์ โดยหลักวัฒนธรรม เป็นการผสานองค์ความรู้ภูมิปัญญา รุ่นก่อนกับรุ่นใหม่เข้าด้วยกัน ทั้งแนวคิด วิถีชีวิต ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ที่กล่าวได้ว่าเป็นหัวใจหลักของคนรุ่นก่อน ซึ่งวิธีคิดแบบนี้นำมาซึ่งการสร้างพื้นที่เชื่อมประสาน ระหว่างผู้เฒ่านักปราชญ์ พ่อบ้านแม่บ้าน กับคนรุ่นใหม่ เข้าด้วยกัน ผลผลิตของวัฒนธรรม คือ Story หรือเรื่องราวแบรนด์ชอเดอ หลักสิ่งแวดล้อม เป็นการต่อยอดจากการจัดการทรัพยากรของชุมชน บนพื้นที่ 8,386 ไร่ ออกเป็นโซน เพื่อกำกับและควบคุม ภายใต้ธรรมนูญชุมชน

วิธีการนี้เป็นวิธีสมัยใหม่ที่อยู่บนฐานของภูมิปัญญการจัดการทรัพยากร เช่น พื้นที่พิธีกรรม หรือพื้นที่จิตวิญญาณ ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมประจำปีเกี่ยวกับการสะเดาะเคราะห์ หรือการขอพร เพื่อให้ชุมชนสงบร่วมเย็น จัดอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ของชุมชน เป็นต้น และวิธีการเหล่านี้นำมาซิ่งการมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่กลายมาเป็นต้นทุนสำคัญให้กับเยาวชนกลุ่มชอเดอ มีโอกาสต่อยอดและสร้างแบรนด์ที่อยู่บนฐานทรัพยากรชุมชน หรือเรียกอีกชื่อว่า เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy

ด้านเศรษฐกิจ เป็นมิติใหม่ของชุมชนที่กำลังเรียนรู้และปรับใช้กับชุมชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการเข้าสู่กระแสทุนนิยม โจทย์คือทำอย่างไร ถ้าต้องสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ไม่กระทบต่อระบบความสัมพันธ์ของชุมชน หรือประเพณี วัฒนธรรม อันเป็นจิตวิญญาณที่ชุมชนยึดถือ การนำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย สร้างเศรษฐกิจ สร้างความหวัง เสมือนเป็นกลิ่นที่เย้ายวนชวนให้คนอยากมี อยากได้

ดังนั้นในมิติที่ 1 คือ วัฒนธรรม และมิติที่ 2 คือ สิ่งแวดล้อม จึงเป็นฐานสำคัญและเป็นกรอบแนวทางในระบบการผลิตที่อยู่บนฐานและความต้องการของชุมชนอย่างมีเงื่อนไข ที่ไม่ใช่การบังคับแต่เป็นการยอมรับที่มาจากการมีส่วนร่วมในการจัดการ เพราะเป้าหมายหลักคือ การสร้างฐานเศรษฐกิจทางเลือก สร้างรายได้ ไปพร้อมกับการดำรงวิถีการทำไร่หมุนเวียน และชุมชนสามารถปรับเปลี่ยนแผนเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับชุมชนได้ให้ร่วมสมัยแบบ พลวัติ ฐานเศรษฐกิจจึงมีนัยยะในการดึงเยาวชน ซึ่งเป็นกำลังหลักของการพัฒนาบ้านเกิด หันกลับมามอง และอาจจะตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านเมื่อมีพื้นที่และโอกาสในการอยู่และเติบโตในชุมชน

ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อสินค้าจากแบรนด์ชอเดอ ในทางตรงนอกจากจะได้รับสินค้าบริโภคแล้ว ในทางอ้อมเป็นการส่งเสริมและสร้างพลังร่วมของชุมชน ในการรักษาวัฒนธรรมการผลิตแบบไร่หมุนเวียน รักษาองค์ความรู้ภูมิปัญญา ส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อมของชุมชน เพราะแหล่งวัตถัตถุดิบทั้งหมดมาจากไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นระบบการผลิตที่ต้องอาศัยสมดุลของธรรมชาติ และเศรษฐกิจ เป็นการส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มเยาวชนได้แสดงออกและออกมาปกป้องบ้านของตนเอง และบ้านของทุกคนในฐานะพลเมืองของไทย

พื้นที่คุ้มครอง พื้นที่โอกาส และความท้าทาย

อย่างไรก็ตามแนวคิดเหล่านี้ยังมีเงื่อนไขและข้อจำกัดโครงสร้างของกฏหมาย นโยบาย เมื่อพื้นที่บ้านแม่ปอคี ถูกประกาศทับเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และเตรียมประกาศเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่เงา ซึ่งมีเงื่อนไขและข้อบังคับที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ทั้งสภาพจิตใจ เนื่องจากที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่มีการจับกุมชาวบ้านที่ทำไร่หมุนเวียนในฐานบุกรุกทำลายป่า หรือการบีบบังคับในการทำไร่หมุนเวียนจาก 7-10 ปี เหลือ 5 ปี ชุมชนได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในการดำรงวิถีชาติพันธุ์ แต่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นช้า และเสี่ยงต่อการสูญหายของวัฒนธรรมชาติพันธุ์ และด้วยเหตุผลนี้เอง แม่ปอคี จึงต้องยกระดับและเข้าสู่การสถาปนาเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ (อ.ชิ) อาจารย์วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  

“เราไม่ได้คุ้มครองเพราะเราอยากให้เขาอยู่เหนือกว่าคนอื่น แต่จะคุ้มครองเพราะว่าสิทธิหรือว่าสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ไม่เท่ากับคนทั่วไป เพราะฉะนั้นการคุ้มครองเพื่อที่จะเติมเต็มช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางสิทธิตรงนี้”

ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ คณะทำงานขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
บ้านแม่ปอคี (ขุนแม่เหว่ย) ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

อาจารย์ชิ ยังเล่าเพื่อฉายภาพให้เห็นว่า หากบ้านแม่ปอคี เป็นพื้นที่คุ้มครอง จะเกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศอย่างไร ?

“คุณูปการที่จะเกิดต่อสังคมไทย ประการแรกมันจะมีความมั่นคงทางมนุษย์ ประเด็นที่สองที่จะได้คือได้ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติแน่ ๆ ในด้านของเศรษฐกิจ ถ้าฐานเศรษฐกิจเหล่านี้มันได้รับการปกป้องคุ้มครองได้รับการหนุนเสริมแล้วมันแข็งแกร่ง มันจะกลายเป็นฐานเศรษฐกิจของประเทศ ความมั่นคงของชาติ สำนึกในความเป็นไทยและกลายเป็นพลเมืองตื่นรู้ กลายเป็นพลังในการสร้างความมั่นคงของชาติภายในตัวนะครับ ถ้ามีการคุ้มครองตรงนี้ในภาพพจน์ภาพลักษณ์คุณค่าของความเป็นประเทศประชาธิปไตย ความเป็นประเทศที่มีความเป็นธรรมมีความเสมอภาค ต่อสายตาชาวโลก จะได้รับการยอมรับที่เพิ่มขึ้นแน่ ๆ”

อาจารย์ชิ ยังเล่าถึงการสถาปนาเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์บ้านแม่ปอคีเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ว่า “ผมคิดว่าตอนนี้ชุมชนก็พร้อมที่จะขึ้นสู่เวทีพื้นที่คุ้มครอง สิ่งที่ยังไม่พร้อมและท้าทายมากที่สุด ก็คือหนึ่งความเข้าใจของสังคม สองก็คือเรื่องของระเบียบหรือกฎหมายที่จะรองรับพื้นที่เหล่านี้นะครับ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเป็นความท้าทายที่เราจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้มันเอื้อให้มันมีนะครับ ตอนนี้มันยังไม่มีแต่จะทำยังไงให้มันมีให้มันรองรับ”


การเดินทางสู่แม่ปอคีครั้งนี้ แตกต่างไปจากทุกครั้ง เพราะชุมชนนี้เบ่งบาน เพราะตลอดระยะเวลากว่า 425 ปี ที่ชุมชนแห่งนี้ดำรงเผ่าพันธุ์ควบคู่กับการใช้ และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ที่มักถูกกล่าวหาจากผู้ไม่ได้เรียนหรือหรือเข้าใจวิถีวัฒนธรรมอย่างแม้จริงว่าเป็นผู้ทำลายป่า เป็นภัยต่อความมั่นคง ล้าหลัง ในทางกลับกัน คนในวัฒนธรรมกลับสอนให้ลูกหลานรู้จักดำรงเผ่าพันธ์ รู้จักใช้ทรัพยากร และรู้จักรักษาให้สืบลูกสืบหลาน โดยถ่ายทอดผ่านบทธา

เอ่อทีเก่อต่อที เอ่อก่อเก่อตอก่อ แปลว่า ได้กินจากดินจงรักษาผืนดิน ได้กินจากน้ำให้รักษาลำห้วย เสมือนปรัชญาที่สอนให้คนรุ่นหลังนำไปใช้ว่า จงดูแลรักษาต้นธารของสรรพสิ่งเพราะสรรพสิ่งเหล่านี้คือชีวิต คือจิตวิญญาณ และคือกาลเวลาของเผ่าพันธุ์ เพราะหากปราศจากธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ไฟ แล้ว ชีวิตมนุษย์จะอยู่ได้อย่างไร

สิ่งเหล่านี้ปรากฏพยานชัดเจน นั่นคือ เสียงของชะนีในยามเช้า น้ำตกที่ยังคงไหล ผืนป่าที่ยังคงเติบโต

และนี่คือต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญของเยาวชนอย่างกลุ่ม ชอเดอ ได้ลุกขึ้นมาสืบสานต่อยอด ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่ผมได้เรียนรู้จากการเดินทางครั้งนี้ พบกันใหม่ในการเดินทางครั้งต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี

นักสื่อสารชาวปกาเกอะญอ เพจ โพควา โปรดักชั่น สนใจประเด็น ปรัชญาวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ มุ่งหวังสู่ สร้างกระบวนทัศน์ใหม่ทางชาติพันธุ์