เราไม่เคยถามเด็กจริง ๆ ว่าเขาเติบโตไปแล้วอยากเป็นอะไร หรือว่าเขาอยากจะมีอนาคตแบบไหน
ตามมติที่ 836(IX) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2497 ที่ประชุมองค์การสหประชาชาติเห็นพ้องให้มี ‘วันเด็กสากล’ โดยถือให้วันดังกล่าวเป็นวันที่ส่งเสริมวัตถุประสงค์ของกฎบัตรสหประชาชาติว่าด้วยสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของเด็กทั่วโลก นอกจากนี้ที่ประชุมยังเสนอให้รัฐบาลแต่ละประเทศ จัดหาวันหรือโอกาสพิเศษเพื่อสนับสนุนให้เด็กเป็นวาระสำคัญในการพัฒนาชาติอีกด้วย
ในปีต่อมา ประเทศไทยมีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2498 ตามคำแนะนำของ วี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม และตระหนักว่าตนเองจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต
นับแต่นั้นมา รัฐบาลจึงจัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ตลอดจนกำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อพัฒนาการของเด็กโดยถ้วนหน้าตาม ‘อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก’
อย่างไรก็ดี การมีอยู่ของวันเด็กยังคงถูกตั้งคำถามว่ามีไว้เพื่อจุดประสงค์ใด กิจกรรมภายในวันเด็กที่ถูกคิดขึ้นและจัดวางโดย ‘ผู้ใหญ่’ นั้นตอบโจทย์ความต้องการของเยาวชนหรือไม่
และสังคมไทยได้สนับสนุนโอกาสในการพัฒนาเด็กมากเพียงพอหรือยัง เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันมีเด็กไทยจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การศึกษา และไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย สติปัญญา สังคม อารมณ์ และจิตใจอย่างเพียงพอ
การปฏิบัติตนให้สมกับคำขวัญวันเด็กในทุก ๆ ปีจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับเด็กไทย ที่นอกจากจะต้องเอาตัวรอดจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย แต่ยังต้องหาหนทางในการผลักดันตัวเอง เพื่อให้ได้ชื่อว่าตนเป็น ‘เด็กดี’ หรือ ‘เด็กเก่ง’ ตามแบบที่ผู้ใหญ่ต้องการ
The Active ชักชวนผู้อ่านร่วมสำรวจการให้ความสำคัญของเด็กและเยาวชนไปกับผู้ใหญ่ผู้เฝ้ามองการเติบโตของเด็ก จากมุมมองของทั้ง นักประชากรศาสตร์ คุณแม่นักการศึกษา และนักจิตวิทยาเยาวชน บทความนี้จะพาผู้อ่านย้อนกลับไปมองตัวเองในวัยเด็ก และร่วมกันออกแบบงานวันเด็กที่มีไว้เพื่อเด็ก ของเด็ก โดยเด็กและผู้ใหญ่ไปด้วยกัน
ก่อนถึงวันเด็กปี 2566 เด็กไทยแทบไม่ได้วิ่งเล่นเป็น ‘เด็ก’
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากิจกรรมวันเด็กในประเทศไทยถูกงด หรือเปลี่ยนไปจัดในรูปแบบออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งไม่เพียงแต่กิจกรรมวันเด็กที่ถูกงดเท่านั้น การละเล่นภายในโรงเรียนและในสวนสาธารณะต่าง ๆ ก็ถูกงดไปด้วยเนื่องจากปัจจัยด้านความปลอดภัยของเด็ก ทำให้พัฒนาการของเด็กในหลาย ๆ ด้านเสื่อมถอย และอาจส่งผลต่อสุขภาพของเด็กรุ่นนี้ในระยะยาว
ผศ.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ผลสำรวจในปี 2563 ที่ผ่านมาพบว่ามีเด็กไทยเพียง 1 ใน 5 คนที่มีได้มีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ โดยคาดการณ์ว่าหลังจากผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 เด็กไทยอาจจะได้กลับมาวิ่งเล่นมากขึ้น แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการสำรวจในปี 2565 พบว่าระดับกิจกรรมทางกายของเด็กไทยลดลงกว่าเดิมมาก
TPAK พบว่าเด็กมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตค่อนข้างมาก เพราะเด็กไม่ได้ออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ บนโลกแห่งความจริง ใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์มากเกินไป ทำให้ระบบการเชื่อมต่อในระบบสมองทำงานอย่างไม่สมบูรณ์ เพราะเหมือนเด็กแทบไม่ได้ตอบโต้กับคนทางอารมณ์เลย จนทำให้เด็กรุ่นนี้รับรู้ความรู้สึกได้น้อยลง
“งานวิจัยทั่วโลกเจอเหมือนกันว่า เด็กมีพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้ที่ช้ากว่าช่วงวัยของตัวเองประมาณหนึ่งปีครึ่ง ยกตัวอย่างให้เห็นชัดว่า สมมติเด็กอายุเก้าขวบ เขาต้องรู้เรื่องเศษส่วน คิดเป็นเหตุเป็นผลประกอบการตัดสินใจได้ แต่ตอนนี้ระดับการเรียนรู้เขาถอยไปอยู่ระดับประมาณเจ็ดขวบครึ่ง”
แม้การสำรวจจะพบว่า มีร้อยละ 70 ของเด็กไทยมีพื้นที่วิ่งเล่นใกล้เคียงละแวกบ้านอยู่ในระดับ ‘ดี’ แต่ รศ.ปิยวัฒน์ ชี้ว่า การมีพื้นที่จำนวนมาก แต่โอกาสที่เด็กจะออกไปวิ่งเล่นกลับมีน้อยมาก หากแบ่งเวลาชีวิตของเด็กไทยใน 1 วัน จะพบว่า กว่า 14 ชั่วโมงเด็กต้องติดอยู่กับห้องเรียนและหลักสูตรการศึกษาที่ผูกเด็กติดไว้กับเก้าอี้ มีชั่วโมงอิสระหรือชั่วโมงพละค่อนข้างน้อย ในขณะที่ต่างประเทศ เด็กนักเรียนจะได้เรียนครึ่งวันและเล่นอีกครึ่งวัน หรือเรียน 3 วัน และอีก 2 วันปล่อยให้เด็กได้ทำกิจกรรมทางกายตามอิสระ
“ปลายทางของชีวิตเด็กที่ไม่ได้มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ หนึ่ง เขามีโอกาสเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน มะเร็ง โรคอ้วน ฯลฯ สอง โอกาสประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและชีวิตเขาจะน้อยลงเพราะความเฉื่อยชา ไม่กระตือรือล้นในวัยผู้ใหญ่ และสาม พฤติกรรมทางสุขภาพและบุคลิกต่าง ๆ จะมีปัญหา และอาจปิดตัวจากสังคม”
การวิ่งเล่นที่ดูเป็นเด็ก กลับไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ที่ผู้ใหญ่จะมองข้ามได้อีกต่อไป เด็กในแต่ละช่วงวัยก็มีความต้องการกิจกรรมทางกายที่แตกต่างกัน อาทิ เด็ก ป.1 – ป.3 ต้องการพื้นที่ที่สามารถวิ่งเล่นได้สนุก รวมกลุ่มกับเพื่อน เด็ก ป.4 – ป.6 ต้องการอุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์การละเล่นที่เพียงพอ ขณะที่วัยมัธยมฯ เป็นต้นไป ต้องการกิจกรรมที่ได้แสดงทักษะอันนอกเหนือไปจากการเรียนรู้ในห้องเรียน เช่น การแสดง การเต้น กิจกรรมกีฬา เป็นต้น
จากสถิติของ TPAK ระบุว่า หากนักเรียนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพออย่างต่อเนื่องจะมีระดับพัฒนาการที่ดีกว่าทั้ง 5 มิติเมื่อเทียบกับนักเรียนที่วิ่งเล่นไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในมิติของการคิดวิเคราะห์ และวิชาการที่มีคะแนนพัฒนาการมากกว่าร้อยละ 6 นอกจากนี้ นักเรียนที่วิ่งเล่นอย่างเพียงพอจะมีความสุขในห้องเรียน และมีสมาธิในการเรียนมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน
ในวันเด็กปี 2566 นี้ รศ.ปิยวัฒน์ ชวนให้ทุกคนหันมาฟังความต้องการของเด็ก ๆ แม้จะเล็กน้อยแต่หากมองข้าม อาจส่งผลเสียอย่างคาดไม่ถึง ระหว่างการวิจัย พบว่ามีเด็กผู้หญิงจำนวนมากประสบปัญหากับชุดนักเรียนที่ไม่เอื้ออำนวยให้ออกกำลังได้อย่างสมวัย ใน 1 สัปดาห์ มีเพียง 1 วันที่นักเรียนหญิงจะมีโอกาสได้วิ่งเล่นอย่างเต็มที่ นั่นคือวันที่มีชั่วโมงพละ จึงต้องใส่กางเกงวอร์มไปโรงเรียน ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกเพื่อนรอบข้างล้อเลียน หรือถูกคุณครูตักเตือนว่าวิ่งเล่นจนกระโปรงเปิด
พื้นที่ในการเรียนรู้ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยให้เด็กได้มีโอกาสเล่าปัญหาที่ตนเผชิญให้ผู้ใหญ่ได้ทราบและแก้ไข ปัจจุบันในทุกโรงเรียนมีเครื่องมือสร้างพื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว ได้แก่ การประชุมผู้ปกครอง แต่ รศ.ปิยวัฒน์ ชี้ว่า การประชุมดังกล่าวยังไม่มีการสะท้อนเสียงและความต้องการของเด็กที่เพียงพอ จึงควรมีตัวกลางสักคนมาช่วยสื่อสารให้กับเด็กและนำการประชุมให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และตื่นตัว (creative & active) มากขึ้น
แม้พัฒนาการของเด็กไทยจะอยู่ในระดับที่น่ากังวล แต่ทางภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเสียทีเดียว หลายหน่วยงานได้มีการส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสวิ่งเล่นมากขึ้น นอกเหนือไปจากงานวันเด็กยังมี โครงการ ‘เล่นเปลี่ยนโลก’ โดยกระทรวงสาธารณสุข ที่ส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู และสถานศึกษาเป็นผู้นำการละเล่น (Playmaker) เพื่อสร้างค่านิยมการละเล่นที่ดีในสังคม รวมถึงโครงการใหม่ของทางผู้ว่ากรุงเทพฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ส่งเสริมให้มีการเปิดโรงเรียนในวันหยุดเพื่อให้เป็นพื้นที่กิจกรรมของเยาวชน อย่างไรก็ดี รศ. รศ.ปิยวัฒน์ ระบุว่าโครงการเหล่านี้ยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง และมันจะดำเนินโครงการได้ยากหากผู้ปกครองและสถานศึกษายังขาดความเข้าใจในปัญหานี้ ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ภาครัฐต้องแก้ไขโดยเร็ว
“รัฐต้องจริงใจและให้ความสำคัญกับเรื่องเด็ก ต้องตระหนักว่าตอนนี้เด็กและเยาวชนไทยต้องการอะไรบ้าง เช่น ถ้าอยากให้เขาเป็นนักคิดที่เก่ง รัฐต้องเปิดโอกาสให้เค้าคิด ถ้าอยากให้เขาเป็นเด็กที่แข็งแรงและมีพัฒนาการที่ดี รัฐต้องมีสภาพแวดล้อม มีโอกาสที่จะช่วยสนับสนุนให้เขาได้เป็นคนที่แข็งแรงจริง ๆ”
“ผมคาดหวังการปูพื้นฐานที่ดีตั้งแต่ระดับปฐมวัย ให้ความสำคัญของเด็กอย่างจริงจังและจริงใจโดยเริ่มจากนโยบายกลางของรัฐบาลก่อนเพื่อให้นโยบายท้องถิ่นต่าง ๆ ขานรับ แล้วเริ่มลงมือทำอย่างชัดเจน”
‘คำขวัญวันเด็ก’ ผู้ใหญ่ทำได้หรือยัง?
“รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี”
คำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566 โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคำขวัญวันเด็กปีที่ 8 แล้วที่ พลเอก ประยุทธ์ มอบให้กับเด็กไทย หากมองในมุมของผู้ใหญ่ที่แต่งคำขวัญให้กับเด็ก อาจสะท้อนกรอบความคิดที่อยากให้เด็กเป็นอย่างที่ผู้ใหญ่ต้องการ ทุกคำสะท้อนถึงความหวังที่ฝากไว้ให้กับเด็กที่เรียกว่า ‘อนาคตของชาติ’
แต่ถ้ามองกลับกัน “ผู้ใหญ่” ในสังคมทุกวันนี้สามารถทำตามคำขวัญวันเด็ก หรือพอจะเป็นต้นแบบได้มากน้อยแค่ไหน
2558 – “ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต”
2559 – “เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต”
2560 – “เด็กไทยใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง”
2561 – “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี”
2562 – “เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ”
2563 – “เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทย”
2564 – “เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดีมีคุณธรรม”
2565 – “รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม”
2566 – “รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี”
“ความรู้” “พัฒนาชาติ” “คุณธรรม” “สู่อนาคต” “รู้หน้าที่”
จากการสำรวจมี 5 คำ ที่ถูกนำมาใช้เป็นคำขวัญวันเด็กบ่อยครั้ง ทั้ง ความรู้ พัฒนาชาติ คุณธรรม สู่อนาคต รู้หน้าที่ แต่จนถึงปัจจุบันถ้อยคำเหล่านี้ ยังดูห่างไกลจากความเป็นจริง ที่สำคัญอาจหา “ต้นแบบ” จากผู้ใหญ่ได้ไม่ง่ายนัก
มากกว่า ‘คำขวัญ’ คือ ‘ความฝัน’ ของเด็กไทยต้องได้รับการรับฟัง
มิรา เวฬุภาค หรือ ‘แม่บี’ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Mappa ผู้ส่งเสริมพื้นที่การเรียนรู้ในครอบครัว ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง The Active ว่า วันเด็กจะเป็นวันสำคัญได้ ผู้ใหญ่ในสังคมต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ‘เด็ก’ มีความสำคัญอย่างไรต่อประเทศชาติ แต่สังคมไทยไม่เคยถามความต้องการของเด็ก เยาวชนถูกคาดหวังให้ปฏิบัติตามคำขวัญที่คิดจากมุมมองของผู้ใหญ่ งานวันเด็กที่มีเพียง 1 วันใน 1 ปี กลับเป็นโอกาสเดียวที่เสียงของเยาวชนจะถูกรับฟัง ในขณะที่สิทธิเด็กขั้นพื้นฐานถูกละเมิดอยู่ตลอดเวลา
“เราใส่ความคาดหวังต่อเด็กลงไปในคำขวัญ แต่ความต้องการของเด็ก เรากลับไม่เคยถามเด็กจริง ๆ ว่าเขาเติบโตไปแล้วอยากเป็นอะไร หรือว่าเขาอยากจะมีอนาคตแบบไหน… สิ่งแรกที่คิดว่าเราควรจะต้องมานั่งคุยกันจริง ๆ คือเราให้ความสำคัญต่อเด็กแล้วหรือยัง ในฐานะผู้ใหญ่เราได้ทำอะไรบ้างเพื่อให้เด็กได้สิทธิขั้นพื้นฐานของเขา”
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กโดยองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เป็นข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับการรับรองมากที่สุดในโลกถึง 196 ประเทศ โดยมีเนื้อหารับรองสิทธิของเด็ก 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม มิราตั้งคำถามว่า สิทธิเด็กทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมาสังคมไทยสอบผ่านบ้างหรือไม่ และผู้ใหญ่เคยทำอะไรเพื่อเด็กบ้างหรือยัง
สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองของเด็กไทยส่วนใหญ่ยังคงถูกละเมิด จากผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 โดย UNICEF ระบุว่า เด็กจำนวนมากพบอุปสรรคในการเข้าถึงการคุ้มครอง โดยเฉพาะเด็กพิการ เด็กข้ามชาติ และเด็กไร้สัญชาติ นอกจากนี้ เกือบ 3 ใน 5 (ร้อยละ 58) ของพ่อแม่ผู้ปกครองยังใช้วิธีการลงโทษด้วยความรุนแรงต่อเด็ก และเชื่อว่าการใช้ความรุนแรงนั้นจำเป็นต่อการเลี้ยงดูลูก
เด็กไทยมีสิทธิที่จะได้รับการพัฒนาไม่เท่าเทียมกัน เพราะยิ่งเรียนสูงขึ้นเท่าไหร่ เด็กไทยยิ่งหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นเท่านั้น ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 96 ของเด็กไทยมีโอกาสเข้าเรียนในระดับประถม แต่เมื่อเข้าสู่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะเหลือเพียงร้อยละ 70 เท่านั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับฐานะทางครอบครัวจะเห็นโดยชัดเจนว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยมีสูงมาก ร้อยละ 32 ของเด็กที่อาศัยอยู่กับครอบครัวที่ยากจนมาก ไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ขณะที่เด็กที่อาศัยอยู่กับครอบครัวที่ร่ำรวยมาก มีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่ไม่ได้เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากตัวเลขทางสถิตินี้จึงสะท้อนคำถามว่า สิทธิที่จะได้รับการพัฒนาของเด็กนั้น รัฐบาลไทยสามารถบรรลุเป้าประสงค์นั้นได้สมบูรณ์ดีหรือไม่
ระดับการมีส่วนร่วมของเยาวชนไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะสิทธิในการร่วมสร้างสรรค์สังคมผ่านการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง รายงานจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ตั้งแต่ปี 2563 – 2565 เผยว่า ประเทศไทยมีเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมืองแล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 283 ราย ใน 210 คดี ซ้ำร้าย ยังพบเห็นการดำเนินคดีที่ละเมิดการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน ทำให้เยาวชนบางรายถูกควบคุมตัวรวมกับผู้จับกุมที่เป็นผู้ใหญ่ ถูกใช้เครื่องพันธนาการแบบเดียวกับผู้ใหญ่ และอาจถึงขั้นได้รับบาดเจ็บขณะถูกจับกุม
มิรา ระบุว่า หากสิทธิเด็กขั้นพื้นฐานข้างต้นยังไม่สามารถครอบคลุมเด็กทุกคนได้ การที่เยาวชนไทยไม่สามารถทำตามคำขวัญได้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเยาวชนรู้สึกว่าคำขวัญไม่เกี่ยวโยงกับพวกเขา และไม่รู้สึกว่าผู้ใหญ่ในสังคมได้ให้ความสำคัญต่อเด็กอย่างจริงจัง หากวันเด็กจะยังมีคำขวัญต่อไป ก็สามารถมีได้ แต่ผู้ใหญ่ควรตระหนักว่าคำพูดเหล่านี้มีความหมายและสื่อสารไปยังเยาวชนอย่างจริงจังจริงใจ ในขณะที่ผู้ใหญ่เองถ้าทำตามคำขวัญนั้นไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร แต่ให้ยอมรับเสีย เพราะถ้าเด็กเห็นว่าการกระทำของคุณมันย้อนแย้งกับคำขวัญที่ชี้สั่งเด็ก มันจะเป็นการโกหกและทำร้ายเด็กไปโดยไม่รู้ตัว
“การที่เราพูดคำขวัญขึ้นมา บอกให้เด็กทำตาม แต่กลายเป็นว่าเรากลับทำไม่ได้เสียเอง มันก็เหมือนไปสอนเด็กว่า เราไม่ต้องไปรักษาคำพูดก็ได้ พอเด็กโตขึ้นเขาก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่พูดอย่างทำอย่าง สุดท้ายแล้วคำขวัญที่ผู้ใหญ่เองก็ทำไม่ได้ มันกลายเป็นการทำร้ายเด็กมากกว่า”
ปฏิเสธไม่ได้ว่างานวันเด็กและนโยบายวันเด็กยังคงมีจุดบกพร่องบางประการ แต่นั่นยิ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าทั้งภาครัฐและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาทบทวนตัวเองและปรับปรุงแก้ไขเสียใหม่ มิรา ชักชวนให้ลองมองหาข้อดีของวันเด็ก ในทัศนะของแม่คนหนึ่ง เธอมองว่า อย่างน้อยมันทำให้ผู้ใหญ่พยายามสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้เยาวชนเท่าที่หน่วยงานของเขาทำได้ นั่นยิ่งพิสูจน์ว่าสังคมไทยสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้ถ้ามีความตั้งใจจริง แต่เนื่องด้วยการเรียนรู้ของเด็กไม่จบลงในวันเดียว ‘วาระโอกาสที่มีเพื่อเด็ก’ จึงควรมีในทุก ๆ วันเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อให้เยาวชนได้เข้าไปสัมผัสประสบการณ์และมีส่วนร่วม ท้ายที่สุด ผู้ใหญ่เองก็ต้องลดตัวเองลงมาหาเด็ก วางอำนาจลง และตั้งคำถามทบทวนว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรในวันเด็กบ้าง
“วันเด็ก ควรเป็นวันที่ผู้ใหญ่ควรกลับมาทบทวนอย่างจริงจังว่า เราทำพื้นฐานชีวิตที่มันเหมาะสมกับการเติบโตของเด็กแล้วหรือยัง มากกว่าการจะมานั่งคิดว่าคำขวัญวันเด็กปีนี้คืออะไร มันควรจะเปิดพื้นที่ให้เด็กและผู้ใหญ่มาจินตนาการร่วมกัน ว่าเขาอยากจะมีชีวิตยังไง แล้วผู้ใหญ่มีหน้าที่ทำให้ให้จินตนาการเหล่านั้นเป็นภาพที่มันเป็นจริงมากขึ้น”
สอดคล้องกับความเห็นของรศ.ดร. ปิยวัฒน์ เกตุวงศา มิรา ระบุว่า พื้นที่เรียนรู้ของเด็กและผู้ใหญ่ในสังคมไทยไม่ได้มีน้อย แต่สิ่งที่สังคมไทยขาดไปคือการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ร่วมกัน โดยการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออำนาจของสองฝ่ายเท่ากัน แต่สังคมไทยเป็นสังคมอำนาจนิยม ผู้ใหญ่มักมองเห็นเด็กเป็นผู้น้อย ไม่เปิดพื้นที่ให้เด็กได้ถกเถียงหรือเสนอความคิดเห็น เด็กไทยต้องทำตามที่ผู้ใหญ่กำหนดไว้ ถึงเวลาแล้วที่วันเด็กปี 2566 จะเป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงอันดีที่เด็กกับผู้ใหญ่จะเริ่มร่วมออกแบบสังคมที่ต้องการไปพร้อมกัน มิราให้ความเห็นว่า กุญแจสำคัญที่จะทำให้เกิดวัฒนธรรมที่ดีได้คือต้องเริ่มจากการแก้ไขระบบราชการไทย ภาครัฐต้องรับฟังเสียงของพ่อแม่ ผู้ดูแล และครู อย่าปล่อยให้คนใกล้ชิดเด็กเหล่านี้ต้องแบกรับโจทย์การพัฒนาเด็กเพียงลำพัง
“นโยบายการพัฒนาเด็ก เป็นนโยบายที่ทุกรัฐบาลต้องทำอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือรัฐบาลชุดนั้นมีแนวทางในการรับฟังคนให้มากขึ้นได้อย่างไร เมื่อก่อนพ่อแม่จะถูกลืมจากนโยบายการศึกษาอยู่เสมอ ทั้งที่พวกเขาคือผู้ดูแลเด็กโดยตรง และเพิ่งมามีการรับฟังเสียงพวกเขาเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง”
“ส่วนการเปลี่ยนนโยบายเด็กและการศึกษาไม่ใช่แค่เรื่องรัฐบาล แต่มันต้องเปลี่ยนระบบราชการ ด้วย ไม่งั้นเราจะไม่มีวันเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น เราจะเห็นวันเด็กแบบเดิม แล้วก็จะเห็นวิธีการที่ผู้ใหญ่คิดกับเด็กแบบเดิม เพราะฉะนั้นระบบราชการก็ควรปฏิรูปให้เหมาะสมและใช้ได้จริงกับเยาวชนในปัจจุบัน”
ชวนฟังเสียงสะท้อนของเด็กถึงผู้ใหญ่ ความเข้าใจระหว่างวัย…เริ่มได้ที่ ‘ครอบครัว’
จากแบบสำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับวันเด็กจัดทำโดย The Active กระจายกลุ่มช่วงวัยตั้งแต่ 13 – 18 ปี จำนวน 102 คน พบว่า ร้อยละ 92.2 ของเยาวชนผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่างานวันเด็กยังคงมีความจำเป็นอยู่ โดยเหตุผลอันดับ 1 (ร้อยละ 52.9) คือ เป็นวันที่เด็กจะได้มีความสุข สนุกกับกิจกรรม ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ รองลงมา (ร้อยละ 17.6) คือ เป็นวันที่เด็กจะได้รับการเอาใจใส่จากครอบครัว คนรอบข้าง และสังคม
เบญญา ซูซูมิ นักจิตวิทยา หน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ความเห็นต่อผลการตอบกลับของแบบสอบถามว่า เนื่องจากเด็กเป็นวัยที่ขับเคลื่อนด้วยความสนุก ควบคู่ไปกับการได้เคลื่อนไหวออกกำลังกาย ทำให้เขามองเห็นความสุขเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในงานวันเด็ก ซึ่งจะส่งผลดีต่อพัฒนาการทางด้านจิตใจของเด็ก แต่ ณ ปัจจุบันสังคมไทยอาจให้เวลากับเด็กไม่เพียงพอเท่าที่ควร จะด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจก็ดี ทำให้ผู้ปกครองบางส่วนไม่มีเวลาอยู่กับลูก และส่งผลให้เด็กต้องแก้ไขปัญหาที่เขาเผชิญเพียงลำพัง
“เราเห็นจากข่าวว่าเด็กมีความเครียดขึ้นเยอะ เด็กมีการจัดการปัญหาที่อาจจะดูรุนแรงขึ้น อาจมีการใช้ความรุนแรงหรือทำร้ายร่างกายตัวเอง ซึ่งมันก็มาจากหลายปัจจัยทั้งเทคโนโลยีที่เด็กใช้ สภาพสังคมหรือความกดดันที่มาจากพ่อแม่ผู้ปกครองเองด้วย บ้านไหนที่พ่อแม่พยายามช่วยเหลือลูก อยู่กับลูกตลอด เด็กก็จะมีจิตใจที่เข้มแข็ง ตรงกันข้ามถ้าเด็กถูกปล่อยให้โดดเดี่ยว ไม่มีคนช่วยเหลือก็อาจทำให้พวกเขามีสภาวะจิตใจที่ไม่มั่นคง หรือมีสภาวะเครียดได้”
‘คำขวัญ’ เป็นอีกหนึ่งความคาดหวังจากผู้ใหญ่ในสังคมที่แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม และมีส่วนในการสร้างชุดวาทกรรม ‘เด็กดี’ และ ‘เด็กเก่ง’ เช่นเดียวกันกับที่พ่อแม่หลายคนมีความคาดหวังต่อลูกของตน ในมุมมองของนักจิตวิทยา เบญญาเห็นว่า การคาดหวังของผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่การความหวังที่มากเกินความสามารถของเด็ก จะเป็นแรงกดดันทำให้เด็กเครียดมากขึ้นและอาจนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (toxic relationship) ในครอบครัวได้
ข้อมูลในแบบสำรวจความคิดเห็นข้างต้น เมื่อถามว่ามีอะไรอยากฝากถึงผู้ใหญ่บ้าง พบว่าเกินกว่า 1 ใน 4 (ร้อยละ 26.4) อยากให้ผู้ใหญ่รับฟังหรือใส่ใจความคิดเห็นของเด็กบ้าง อย่ากดดันหรือยัดเยียดความคาดหวังให้เด็ก เชื่อใจและปล่อยให้เด็กเป็นอิสระบ้าง ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงแรงกดดันที่เยาวชนต้องเผชิญ เบญญาเผยว่าเด็กและเยาวชนในสมัยนี้มีศักยภาพในการพัฒนาและมีความสามารถในการค้นคว้าสิ่งที่เขาชื่นชอบได้ บางทีเด็กเข้าถึงแหล่งความรู้และโอกาสได้มากกว่าผู้ใหญ่เสียอีก ผู้ปกครอง โรงเรียน และภาครัฐควรส่งเสริมเด็กให้เขาได้ลองทำในสิ่งที่เขาชื่นชอบ ไม่เพียงแต่วันเด็ก แต่ควรให้พวกเขาได้ออกไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ตามวาระโอกาสที่เป็นไปได้
“จริง ๆ ความคาดหวังอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีเสมอไป มันอาจจะเป็นเป้าหมายที่ทำให้เด็กพัฒนาเติบโตได้ในทางที่เหมาะสม แต่ถ้าเกิดว่าพ่อแม่มีความกดดันหรือความคาดหวังที่มันเกินกว่าที่เด็กจะทำได้ เช่น บังคับลูกเรียนพิเศษตั้งแต่อนุบาล ซึ่งจริง ๆ เด็กเป็นวัยที่ต้องได้เล่น แต่กลายเป็นว่าเขาต้องอยู่กับหนังสือเรียน มันก็กลายเป็นความคาดหวังที่ไปยับยั้งพัฒนาการบางส่วนของเขา และเป็นการทำร้ายจิตใจเด็กไปด้วย”
ท้ายที่สุด ปัญหาความขัดแย้งระหว่างวัยยังคงเป็นเรื่องที่สังคมไทยยังคงเผชิญหน้าอยู่เสมอ ทั้งในประเด็นขัดแย้งเล็ก ๆ ในครอบครัว จนถึงความเห็นต่างในระดับการเมือง เบญญาเสนอว่า คำขอของเยาวชนที่ต้องการให้ผู้ใหญ่ในสังคมเปลี่ยนแปลง ล้วนเป็นเสียงที่จำเป็นต้องรับฟัง แน่นอนว่าผู้ใหญ่อาจแก้ไขไม่ได้ทั้งหมดในทันที แต่กุญแจสำคัญคือการสื่อสารสองทางระหว่างเด็ก-ผู้ใหญ่ สิ่งใดทำได้ สิ่งใดยังทำไม่ได้ให้เปิดใจคุยกัน เพื่อสร้างความเข้าใจในความแตกต่างของช่วงวัย ‘ครอบครัว’ เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคม แต่มีความสำคัญมาก ครอบครัวควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก พ่อแม่รับฟังและให้โอกาสลูกแสดงความคิดเห็น จากนั้นเด็กจะเริ่มปฏิบัติเช่นนั้นต่อผู้อื่น และขยายวงกว้างสู่สังคมต่อไป
“ครอบครัวเป็นจุดเล็ก ๆ ที่จะสร้างพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงสังคมรอบข้างได้ ถ้าเกิดว่าในแต่ละบ้านใช้ความเห็นอกเห็นใจในการสื่อสาร เวลาเด็กไปโรงเรียนก็จะเข้าอกเข้าใจคนอื่น รับฟังเพื่อน จากนั้นพฤติกรรมที่ดีเหล่านี้มันก็จะขยายไปสู่ผู้อื่น และสังคมต่อไป”
อ้างอิง
- https://www.unicef.org/thailand/th/what-is-crc
- https://www.unicef.org/thailand/media/6731/file/Addressing%20the%20Gap%20(MICS6)%20TH.pdf
- https://www.unicef.org/thailand/reports/convention-right-child
- https://tlhr2014.com/archives/24941
- https://tlhr2014.com/archives/30409
- https://www.un.org/en/observances/world-childrens-day/background
- https://documents-dds-ny.un.org/doc/RESOLUTION/GEN/NR0/547/84/IMG/NR054784.pdf?OpenElement
- https://www.chadchart.com/policy/62163b584e43cd8b4760bc31
- https://humanrights.mfa.go.th/upload/pdf/crc.pdf
- https://www.thaihealth.or.th/%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81-%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7/