จะเป็น ความละเลย หรือ การนิ่งดูดาย ก็ตาม แต่มุมมองของ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก็กำลังสะท้อนความเป็นจริง และสิ่งที่เป็นไปในสังคมไทย
เมื่อการตื่นตัว และความตระหนักถึงภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของเด็ก เยาวชน ถูกจุดขึ้นแทบทุกครั้ง เฉพาะแค่ในช่วงเวลาที่ล่วงเลยเหตุการณ์ความสูญเสียมาไม่นาน และดูเหมือนว่าจาก โศกนาฏกรรมรถบัสไฟไหม้ เราอาจกลับไปสู่วังวนเดิมอีกก็ได้
กรณีนี้เป็นครั้งสุดท้าย… ไม่มีจริง
บทเรียนจากหลายเหตุการณ์ทำให้เข้าใจกับคำว่า “ขอให้กรณีนี้เป็นครั้งสุดท้าย”… ไม่มีอยู่จริง!!! สิ่งที่ควรตั้งคำถามกลับไปนอกเหนือจากมาตรการที่ถูกงัดขึ้นมาเพื่อหวังใช้ปกป้องดูแลความปลอดภัยหลังเกิดเหตุ คือ คำถามที่ ผู้ใหญ่ ต้องตอบ ว่า เรากำลังนิ่งดูดาย หรือ ละเลย เด็ก ๆ กันอยู่หรือไม่ ?
ถ้าย้อนกลับไป สังคมไทยมีเหตุสูญเสียให้ถอดบทเรียนอยู่เสมอ รายงานจาก ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101PUB) เปิดเผยข้อมูลจากศูนย์ติดตามข้อมูลเหตุรุนแรงช่วงปี 2557 – 2565 พบเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีเด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อ รวม 948 เหตุการณ์ คิดเป็น 1 ใน 3 ของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ทั้งหมด
สาเหตุที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุดในเด็ก เยาวชน คือ การล่วงละเมิดทางเพศ (35.7%) และ ความรุนแรงจากกลุ่มวัยรุ่น (20.1%)
หากพิจารณาเฉพาะกรณีเสียชีวิต พบว่า ความรุนแรงจากกลุ่มวัยรุ่น (28.8%) และกลุ่มอาชญากร (26.3%) ขณะที่เหตุกราดยิงที่เกิดในศูนย์เด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู เมื่อปี 2565 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเพียง 9.4% นั่นหมายความว่า ยังมีอีกหลายความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเด็ก เยาวชน ซึ่งไม่ปรากฎบนหน้าสื่ออีกจำนวนมาก
ในช่วงเวลาเดียวกันที่สังคมไทยกำลังพุ่งเป้าไปที่การถอดบทเรียนเหตุสูญเสียจากกรณีรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ ก็มีความสูญเสียอีกไม่น้อย ที่เป็นการสูญเสียโอกาสได้รับปกป้องด้วยกลไกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีของสภาฯ เพิ่งตีตกกฎหมายห้ามตีเด็ก
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า หลายโรงเรียนกำลังบังคับเยาวชนให้เข้าค่ายปรับพฤติกรรมที่ค่ายทหาร และถูกลงโทษด้วยความรุนแรงจนสาหัส เหล่านี้เป็นความรุนแรงเชิงประจักษ์ ที่ยังไม่นับความรุนแรงซ่อนเร้น ที่แวดล้อมเยาวชนไทยอีกมากมาย ทั้งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา, สุขภาพ, การถูกทอดทิ้ง และความยากจน
ทำให้เด็กไทยหลายคนถูก ‘ตัดตอน’ โอกาสในการเติบโตอย่างมีคุณภาพ
เพราะการ ป้องกัน ย่อมมีราคาถูกกว่าการ เยียวยา The Active จึงชวนตั้งคำถามตรง ๆ ไปยังผู้ใหญ่ทุกคน ว่า อะไรที่ทำให้เรามองข้ามความรุนแรงบางอย่างไป นั่นเป็นความรุนแรงที่มองไม่เห็น หรือเป็นเพราะเราละเลยมันไปกันแน่
และแค่ไหนที่เราถึงจะตระหนักว่า นั่นคือ การละเมิดสิทธิเด็ก ในเมื่อความรุนแรงเกิดขึ้นกับเยาวชนในทุกหย่อมหญ้า ซึ่งล้วนเกิดมาจากรากปัญหาเดียวกันแทบทั้งสิ้น สังคมที่ออกแบบบนพื้นฐานของหลักการสิทธิมนุษยชน จะยังเป็นไปได้ในสังคมนี้หรือไม่ ?
ผู้ใหญ่ ตั้งแต่ครัวเรือน ถึง คนกำหนดนโยบาย ละเลย ‘วัฒนธรรมคุ้มครองเด็ก’
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ได้ร่วมวิเคราะห์ปัจจัยความไม่ปลอดภัยในเด็ก ผ่านรายการ ตรงประเด็น ไทยพีบีเอส โดยเล่าถึงสถิติการเสียชีวิตของเด็ก เยาวชนจากอุบัติเหตุทางถนน ปัจจุบันกลายเป็นสาเหตุอันดับหนึ่ง แซงหน้าการเสียชีวิตจากการจมน้ำ ซึ่งเคยเป็นสาเหตุหลักในอดีต
โดยเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าสาเหตุอื่น ๆ ทั้ง โรคภัยไข้เจ็บ การถูกทำร้ายร่างกาย หรืออุบัติเหตุในบ้าน ซึ่งเหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า ความเสี่ยงจากการเดินทางในสังคมไทยยังคงสูงมาก และความละเลยในมาตรการป้องกันความปลอดภัยยังคงเป็นปัญหาสำคัญ
มาตรการที่เสนอเพื่อแก้ไขปัญหานี้มี 4 ข้อ ได้แก่
- การจัดตั้งหน่วยงานกลางประเมินความปลอดภัยของรถโดยสาร
- การใช้เทคโนโลยีในการจัดการความปลอดภัย เช่น ระบบ GPS
- การตรวจสภาพรถก่อนออกบริการ การกำหนดอายุรถโดยสารให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
- การจัดตั้ง ทีมดูแลกรณีการพิเคราะห์เหตุการตายในเด็ก
เพราะการ ‘สูญเสีย’ เด็กหนึ่งคนจาก ‘ความไม่ปลอดภัย’ ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ
โมเดลของทีมดูแลฯ ดังกล่าว ในหลายประเทศ ทีมเหล่านี้มักประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา เช่น แพทย์, ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย, ผู้แทนจากหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่ด้านการศึกษา ซึ่งทำงานร่วมกันเพื่อให้มุมมองที่ครอบคลุมทุกแง่มุม เช่น
- สหราชอาณาจักร: มีการจัดตั้งทีม Child Death Overview Panel (CDOP) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ทำหน้าที่พิจารณาการเสียชีวิตของเด็กทุกกรณี เพื่อระบุสาเหตุและหาวิธีป้องกันการเสียชีวิตในอนาคต การทำงานของ CDOP ยังมีเป้าหมายในการลดความเสี่ยงและปัจจัยที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตของเด็กในอนาคต
- สหรัฐอเมริกา: ระบบ Child Fatality Review Teams (CFRTs) ในแต่ละรัฐทำงานเพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเด็ก ระบบนี้มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาสาธารณสุข เช่น การลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำ, อุบัติเหตุทางถนน และ การทารุณกรรมเด็ก ทีมนี้ยังสามารถเสนอแนะให้มีการปรับปรุงนโยบายของรัฐและประเทศในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของเด็ก
อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.อดิศักดิ์ ยอมรับว่า ประเทศไทยไม่มี รายงานคุ้มครองเด็กของจังหวัด และไม่มีรายงานการพิเคราะห์เหตุการตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำในงานด้านคุ้มครองเด็ก และไม่มีรายงานจากทุกจังหวัด มารวมเป็นรายงานส่วนกลางของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ทำให้มีแต่งานเฉพาะพื้นที่ หรือวิเคราะห์ทางวิชาการเป็นเรื่อง ๆ ไปเท่านั้น
“สังคมไทยไม่มีการที่กำหนดให้เป็นการปฏิบัติเพื่อยกระดับวัฒนธรรมของการคุ้มครองเด็ก นี่เป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิเด็กและเป็นจุดอ่อนของผู้ใหญ่ในหลายระดับ ตั้งแต่ครัวเรือน ยันไปจนถึงผู้กำหนดนโยบายในระดับรัฐบาล”
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
การพิเคราะห์เหตุสูญเสียต้องไม่มองกันแค่เรื่องปลายเหตุ คือสิ่งที่ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ย้ำและต้องพูดถึงรากวัฒนธรรม เพราะเป็นรากฐานของการคิด การออกแบบของระบบความปลอดภัยในสังคม ทุกวันนี้คุณภาพชีวิตของเด็กไทยตกต่ำ เด็กไทยไม่สามารถวิ่งเล่นได้อย่างปลอดภัย เพราะเรายังเชื่อในหลักสิทธิเด็กไม่มากพอ
เฉพาะแค่เรื่องอุบัติเหตุรถบัสทัศนศึกษา ก็สะท้อนให้เห็นความไม่รัดกุมของผู้ดูแล การละเมิดกฎหมายคมนาคม การจ่ายส่วย คอร์รัปชัน การขาดการบ่มเพาะทักษะเอาชีวิตรอด เหล่านี้เป็นปัญหาเชิงระบบ ทั้งในระดับโรงเรียน และนโยบายสาธารณะ ที่ไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาความปลอดภัยของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ถ้าเรามองว่าการตายของเด็กอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ใหญ่ และเด็กมีสิทธิที่จะอยู่รอดปลอดภัย เราจะเห็นว่าจุดอ่อนเกือบทุกจุดของการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี มีจุดอ่อน คือ การละเมิดสิทธิเด็ก“
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
อย่าโยน ‘ภาระ’ ดูแลเด็กให้เป็น…ภาระของคนอื่น
อีกปัจจัยที่ฉายภาพให้เห็นเหตุผลของการถูกละเลยเรื่องความปลอดภัยในเด็ก คือ การไม่ได้มองว่า เป็นภาระ หรือ ธุระไม่ใช่ นี่คือสิ่งที่ ครูหยุย – วัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เชื่อว่าทำให้เด็กไม่ปลอดภัย และผู้ใหญ่ไม่เคยทบทวนตัวเอง
ครูหยุย อธิบายเพิ่มเติมว่า เวลานี้สังคมเปลี่ยนไปมาก ผู้ใหญ่ล้วนใช้วิธี โยนภาระให้คนอื่น ดูแลลูกหลานของตัวเอง เช่น ผู้ปกครองก็คาดหวัง และโยนภาระให้โรงเรียนดูแล ปกป้องบุตรหลาน พร้อมเชื่อมั่นว่าเมื่ออยู่ในรั้วโรงเรียนแล้วทุกอย่างหมดห่วง ปลอดภัยได้ ขณะที่เด็ก ๆ ที่มีปัญหา ก็ถูกโยนให้เป็นภาระของสังคม สิ่งนี้บ่งชี้ว่า เด็ก ๆ ถูกโยนไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีใครต้องการรู้สึกว่าต้องแบกรับมาเป็นภาระ หลาย ๆ ปัญหาก็เลยเกิดขึ้น
“ต้องยอมรับความจริง เมื่อลูกเข้าโรงเรียนแล้ว พ่อ แม่ ก็แทบไม่ได้สนใจถึงความปลอดภัย เคยมีพ่อ แม่สักกี่คนที่ไม่ปล่อยให้การภาระการดูแลเด็กตกอยู่กับโรงเรียนเท่านั้น จะมีสักกี่คนที่ตามไปดู ไปตั้งคำถามกับความเสี่ยงต่าง ๆ ในโรงเรียน ว่า สนามเด็กเล่น เครื่องเล่นของลูก ๆ เป็นสนิม ผุพัง เล่นแล้วจะปลอดภัยไหม มีใครเคยไปติดตามมาตรฐานของรถรับส่งนักเรียน ช่วยตรวจตรา หรือบอกกับโรงเรียนเมื่อพบความผิดปกติต่าง ๆ บ้าง นี่คือการยอมรับเอาภาระการดูแลเด็ก ๆ มาไว้ที่ตัวเองบ้าง เพื่อให้รู้สึกว่าเราไม่ได้ละเลยลูกหลานของเรา”
วัลลภ ตังคณานุรักษ์
ครูหยุย ยังอธิบายให้เห็นภาพเพิ่มเติมด้วยว่า บางเรื่องคือสิ่งที่ผู้ใหญ่ละเลย และคาดไม่ถึงว่าสิ่งที่ได้สนับสนุนเด็ก ๆ ไป อาจก่อความอันตราย ความไม่ปลอดภัยให้กับเด็ก ๆ ได้ในอนาคต ที่กำลังพูดถึงคือ การปล่อยให้เด็กอยู่กับมือถือ อยู่กับโซเซียลฯ เพราะทำให้ลูกอยู่นิ่ง ๆ ไม่ต้องออกไปวิ่งเล่นซุกซน ง่ายต่อการดูแล แต่ปัญหาใหญ่ที่อาจละเลย คือ การเข้าถึงสื่อที่ไม่ปลอดภัย มีความรุนแรง สะท้อนผ่านพฤติกรรมของเด็ก สิ่งเหล่านี้ผู้ใหญ่ก็โยนภาระการดูแลเด็กไปให้กับมือถืออีกเช่นกัน
“ถ้าหากผู้ใหญ่ทุกคนแทนที่จะโยนภาระ แต่เปลี่ยนมาเป็นการมีส่วนร่วมดูแลปัญหา หลายเรื่องความเสี่ยงจะลดลง เคยมีตำรวจจราจรคนหนึ่ง เห็นถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ก็เลยเอายางมะตอยมาถมไว้ เพราะไม่อยากให้รถตกหลุม จนเกิดความเสี่ยงอุบัติเหตุ ถ้าทุกคนเห็นเรื่องบางเรื่องเป็นภาระของตัวเอง ความปลอดภัยจะเกิดขึ้น เพราะต่างคนต่างไม่โยนภาระให้ใคร ไม่ละเลย ปัญหาตรงหน้าของตัวเอง กับเด็ก ๆ ก็เช่นกัน หรือแม้แต่เราเดินอยู่สวนสาธารณะ เห็นเครื่องเล่นสนามเด็กเล่นไม่ปลอดภัย ก็อย่าปล่อยผ่าน แค่บอก หรือยกหูแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มาแก้ปัญหา ถ้าทุกคนถือเป็นภาระของตัวเอง ความปลอดภัยก็จะเกิดขึ้น หรือแม้แต่เห็นรถรับนักเรียนผิดปกติ ก็ต้องแจ้งโรงเรียน ต้องเอ๊ะ!! ให้มาก ๆ ไว้ก่อน ต้องดู ต้องตรวจสอบทุกอย่าง ก็น่าจะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงความไม่ปลอดภัยในเด็ก ๆ ได้”
วัลลภ ตังคณานุรักษ์
ครูหยุย ยังชี้ให้เห็นภาพความเป็นจริง ว่า สังคมเวลานี้ไม่มีใครอยากยุ่งเรื่องคนอื่น เพราะกลัวว่ายุ่งแล้วจะเป็นภาระของตัวเอง ทุกเรื่องเป็นภาระหมด ซึ่งเราก็ได้เห็นว่าอย่างกรณีน้ำท่วม คนที่อาสาไปช่วยก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เอาปัญหาของคนอื่นมาเป็นภาระของตัวเอง ทำเท่าที่ทำได้ แค่นี้ก็มีส่วนอย่างมากที่ช่วยให้ปัญหาเบาลงได้
แต่สำหรับกรณีความไม่ปลอดภัยในเด็ก ถึงตรงนี้ ครูหยุย ก็ยังมองว่ามืดมนสำหรับการหาแนวทางป้องกัน และน่าจะเป็นเหมือนที่แล้ว ๆ มา คือตื่นตัวกันแค่หลังเกิดเหตุเท่านั้น ไม่ได้แก้ปัญหากันอย่างยั่งยืน เรื่องแบบนี้ทุกส่วนต้องมาว่าเป็นภาระของตัวเองก่อน
นั่นเป็นบางส่วนจากมุมมองของผู้ที่คลุกคลีอยู่กับสถานการณ์เด็ก เยาวชน ทั้งประเด็นที่ชี้ชัดว่า สังคมไทย ไร้วัฒนธรรมปกป้องคุ้มครองเด็ก ไปจนถึงการปล่อยปละละเลย ไม่มองว่าปัญหาความไม่ปลอดภัยในเด็กเป็นภาระที่ผู้ใหญ่ต้องช่วยกันรับผิดชอบ สิ่งนี้ยังสอดคล้องกับสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองของเด็กไทยส่วนใหญ่
‘ผู้ใหญ่’ กับ ทักษะการแก้ไขปัญหา
เมื่ออ้างอิงผลสำรวจ สถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2562 โดย UNICEF พบว่า เด็กจำนวนมากพบอุปสรรคการเข้าถึงการคุ้มครอง ถึง 58% พ่อแม่ ผู้ปกครองยังใช้วิธีการลงโทษด้วยความรุนแรงต่อเด็ก และเชื่อว่าการใช้ความรุนแรงนั้น จำเป็นต่อการเลี้ยงดูลูก และความรุนแรงอื่น ๆ ยังเข้าถึงกลุ่มเปราะได้ง่ายกว่า เช่น เด็กพิการ เด็กข้ามชาติ และเด็กไร้สัญชาติ
นั่นเป็นคำจำกัดความที่ มิรา เวฬุภาค นักวิจัยอิสระด้านการศึกษาทางเลือก และ CEO ผู้ก่อตั้ง Flock Learning สะท้อนว่า ทุกครั้งที่เกิดเหตุสูญเสียในประเทศไทย ผู้ใหญ่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มักเลือกแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการแก้ที่ปลายเหตุ จนอาจต้องมาทบทวนถึง ทักษะการแก้ไขปัญหา ของผู้ใหญ่ในบ้านเราอย่างเร่งด่วน
ที่ชัดเจนอย่างกรณีล่าสุด ก็ยกเลิกการทัศนศึกษา ทั้งที่ปัญหาของเรื่องคือระบบความปลอดภัยในที่สาธารณะ และการยกระดับการคมนาคมในไทยให้มีคุณภาพ เพราะไม่อย่างนั้นก็จะต้องยกเลิกทุก ๆ การเดินทางของเด็ก เยาวชนในประเทศนี้ เพื่อเลี่ยงเหตุสูญเสียจากการเดินทาง
มิรา ยังเชื่อด้วยว่า สังคมไทยคุ้นชินอยู่กับการแก้ไขปัญหาผ่านกฎระเบียบ ผ่านการใช้อำนาจนิยม เช่น ถ้าตีเด็กเพื่ออบรมไม่ได้ ก็ไปตีตุ๊กตาให้เด็กดูแทน, การออกกฎเครื่องแต่งกายให้ทุกคนแต่งเหมือน ๆ กันเพื่อป้องกันการอวดฐานะ, การออกกฎห้ามพกเครื่องสำอางเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเสียการเรียน แต่กลับไม่คิดที่จะแก้ไขปัญหาด้วยการปลูกฝังความคิดที่ถูกต้อง
ผู้ใหญ่จึงยังต้องวิ่งไล่ออกกฎกันไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับประเด็นรถบัสไฟไหม้ ทำให้ต้องไปมองที่การยกเลิกการทัศนศึกษา มากกว่าการยกระดับการเดินทางที่ปลอดภัย ส่งต่อสังคมที่ดีพร้อมกว่านี้ให้กับลูกหลานรุ่นต่อไป
ละเลยสิทธิเด็ก ย้อนภาพความไม่ปลอดภัยซ้ำซาก
ในฐานะคนเป็นแม่ มิรา เชื่อสุดใจว่า ไม่มีใครอยากให้อุบัติเหตุนี้เกิดขึ้น แต่การที่อุบัติเหตุเกิดขึ้นซ้ำซากในลักษณะเดิม มันชัดเจนว่า นี่คือการละเลยสิทธิเด็กของผู้ใหญ่ในสังคม เพราะถ้าเราเชื่อกันมากพอว่า เด็กทุกคนต้องปลอดภัย ต้องได้รับการคุ้มครอง ก็ต้องใส่ใจต่อการแก้ไขปัญหามากกว่านี้
รวมถึงผู้ใหญ่ในสังคมก็ขาดจินตนาการในการแก้ไขปัญหา และยังไม่หันหน้ามาคุยกันอย่างจริงจัง ไม่เคยมองว่าปัญหาความปลอดภัยในเด็ก เป็นเรื่องที่ต้องบูรณาการทุกภาคส่วน มองปัญหาที่เกิดเป็นเนื้อร้ายที่ต้องตัดมากกว่าช่วยกันรักษาให้ดีขึ้น
อย่างปัญหาพ่อแม่ตีเด็ก ไม่ใช่แก้ด้วยการบอกให้หยุดตี แต่ปัญหาคือความเครียดของผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับสภาพเศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับระบบสวัสดิการ หากจะหยุดวงจรความรุนแรงนี้ ต้องมองให้เห็นถึงระบบนิเวศรอบตัวเด็ก ทั้งครู พ่อแม่ คนในชุมชน พวกเขามีสุขภาวะความเป็นอยู่ที่ดีพอแล้วหรือยัง ?
“ไม่มีใครอยากให้อุบัติเหตุเกิดขึ้น แต่ถ้ามันเกิดขึ้นแล้วอุบัติเหตุควรก่อให้เกิดการเรียนรู้ แต่สังคมที่ไม่มีการเรียนรู้จากอุบัติเหตุเลย คือความละเลยต่อสิทธิเด็กของผู้ใหญ่ เราไม่ควรต้องรอให้มีเหตุกราดยิง หรือไฟไหม้ แล้วถึงจะเริ่มคิดแก้ไขปัญหาให้สังคมดีขึ้น”
มิรา เวฬุภาค ทิ้งท้าย
ทำอย่างไร ? ให้ วัฒนธรรมการคุ้มครองเด็ก ถูกให้ความสำคัญ…
อะไร ? จะทำให้ ผู้ใหญ่ไม่นิ่งดูดาย ไม่ละเลย ความปลอดภัยในเด็ก
แล้วจะเป็นไปได้ไหม ? ที่การปกป้องดูแลเด็ก จะไม่ถูกโยนให้เป็น ภาระ ของคนอื่น
แม้ยังไร้ทางออกในบรรทัดนี้ แต่ทุกคำถาม…มีคำตอบอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ใหญ่ จะมองเห็นมันหรือไม่ ?