รู้จัก CCS การฝังคาร์บอนไว้ในชั้นใต้ดิน

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพูดตรงกันว่า ‘โลกร้อนเร็วกว่าที่คิด วิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงว่าที่คาดการณ์’ แต่ในทางตรงกันข้าม การปรับตัวของมนุษย์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมช้ากว่าที่ควรจะเป็น นั่นคืออันตรายว่ามนุษยชาติอาจล้มเหลวจากเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ว่าจะรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส

ในขณะที่องคาพยพทุกมิติของสังคมพยายามหาวิธีลดค่าการผลิตคาร์บอน นักวิทยาศาสตร์ได้คิดค้นเทคโนโลยีหนึ่งที่ก้าวหน้ามาก ๆ ด้วยความคิดว่า ในเมื่อเราเลิกที่จะผลิตคาร์บอนได้ยาก ก็หาวิธีกักเก็บคาร์บอนเหล่านั้นเอาไว้ซะ ไม่ให้ลอยขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ เหมือนการซ่อนของบางอย่างไว้ในห้องแห่งความลับ

กระบวนการนั่นมีชื่อเล่นว่า CCS ชวนทำความรู้จักนิยาม ความหมาย และกระบวนการของสิ่งนี้กับ ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งเป้าหมายเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้วตั้งแต่การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญา Conference of the Parties หรือ COP ว่า ในปี 2050 ไทยจะเป็น Carbon neutral ความเป็นกลางทางคาร์บอนเป็นศูนย์ คือ การที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าหรือวิธีการอื่น ได้ทั้งหมด 100% และปี 2060 จะบรรลุเป้าหมาย Net zero emissions หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เมื่อมีเป้าหมายแล้วก็ต้องหาวิธีเดินหน้าไปให้ถึง

“ในเรื่องของการปลูกป่า หรือกระบวนการใด ๆ เพื่อลดคาร์บอน หรือกับเก็บคาร์บอน ก็เป็นแนวทางหนึ่ง แต่ต้องพิจารณาเรื่องวิธีการ เพราะต่อให้ปลูกป่าทั้งประเทศ ก็น่าจะช่วยได้ราว ๆ 200 กิ๊กกะตันคาร์บอน ขณะที่ไทยเราปล่อยคาร์บอน 300 กิ๊กกะตันคาร์บอน แปลว่าต่อให้ปลูกป่าแค่ไหน หรือช่วยทะเลแค่ไหนก็ไม่พอ ซึ่งลักษณะนี้เป็นเหมือนกันทั่วโลก ยากที่จะดูดคาร์บอนที่มนุษย์ปล่อยไปให้กลายเป็นศูนย์ได้ คำถามสำคัญคือแล้วเราจะต้องทำอย่างไร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด”

ในเรื่องอื่น ๆ ก็มีความพยายามให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ ที่เห็นอยู่ทั่วไป เช่น การเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาป มาใช้พลังงานไฟฟ้า หรือ EV แต่ก็ยังต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่าน รวมไปถึงการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจใหม่เพื่อหันมาใช้พลังงานทางเลือกและหาวิธีประหยัดพลังงานให้มากที่สุด แต่มันยังไม่เพียงพอ เพราะว่าปัจจุบันเราใช้ฟอซซิลจำนวนมาก ทั้งในโรงงานผลิตไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ จึงมีแนวคิดข้อเสนอเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแก้ปัญหา นั่นคือ Carbon capture and storage (CCS)

ภาพจาก Global CCS Institute

CCS ไพ่ใบสุดท้าย ฝ่าวิกฤตภาวะโลกร้อน?

ผศ.ธรณ์ มองว่า ถ้าเราสามารถทำให้คาร์บอนที่โรงงานต่าง ๆ ปล่อยออกมาสามารถกักเก็บไว้ได้ไม่ให้ลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ก็เท่ากับไม่ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก นั่นคือที่มาของเทคโนโลยี Carbon capture and storage (CCS) คือการจับเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์เอาไว้ กระบวนการคือเมื่อควันออกที่ออกมาจากโรงงานถูกดึงมาเก็บไว้ แล้วเอาคาร์บอนไดออกไซด์ไปอัดใส่ถังหรือใส่อะไรก็ได้ที่จะไม่มีวันลอยออกมาสู่อากาศอีกแล้ว นี่คือทางออก ที่มีการคุยกันทั่วโลกตั้งแต่เมื่อ 10-20 ปีมาแล้ว

ซึ่งประเทศออสเตรเลียได้มีการดำเนินงานจากต้นแบบแนวคิดนี้ ในโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่พบว่าปัญหาใหญ่คือต้นทุนราคาที่สูงมากจนไฟฟ้าที่ออกมาจากโรงผลิตนี้ไม่สามารถนำไปขายในราคาที่สู้กับโรงไฟฟ้าทั่วไปได้ ไฟจากโรงไฟ้า CCS กับไฟจากโรงไฟฟ้าถ่านหินต่างกันหลายเท่าตัว ช่วงแรกจึงล้มลุกคลุกคลานเพราะทำราคาไม่ได้ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามสนับสนุนแล้วก็ตาม แต่เงินก็ยังไม่พอ พอขายในราคาแพงประชาชนก็สู้ไม่ไหว

อย่างไรก็ตาม เมื่อภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นก็ต้องมาพิจารณาเช่นกันว่า ความเสียหายทางธรรมชาติก็สร้างความเสียหายเชิงมูลค่าทางการเงินที่สูงตามไปด้วย ภายหลังจึงมีเงินชดเชยจากรัฐบาลมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ออสเตรเลียสามารถตั้งโรงงาน CCS เป็นต้นแบบให้กับทั่วโลกได้ และตอนนี้ก็มีดำเนินการแล้วราว ๆ 200 แห่ง ส่วนใหญ่ริเริ่มจากการติดตั้งในโรงไฟฟ้าก่อน เมื่อภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ คนก็อาจจะยอมรับได้มากขึ้นว่า CCS อาจจะเป็นทางออกที่ควบคู่ไปกับ การใช้ไฟฟ้าทางเลือก หรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

“เมืองไทยเองมีความริเริ่มจะลองทำ แต่ถังเก็บคาร์บอนมีราคาแพงมาก ก็มีแนวความคิดว่าถ้าเอาคาร์บอนอัดกลับเข้าไปอยู่ในหลุมก๊าซธรรมชาติ เพราะเวลาเราดูดก๊าซธรรมชาติออกมาแล้ว หลุมก็กลวงปกติเราต้องอัดก๊าซเข้าไปในหลุมแทนเพื่อให้คงสภาพ แต่ถ้าเราเอาคาร์บอนมาทำให้เป็นน้ำแล้วอัดเข้าไปแทนก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง ปตท. ก็กำลังหาวิธีและศึกษาเรื่องนี้อยู่ แต่ปัญหาสำคัญคือต่อให้ทฤษฎีได้ การปฏิบัติก็ยาก เรื่องของเทคนิค เรื่ององค์ความรู้ที่ต้องรับมาจากต่างประเทศ กฎหมายก็ต้องเอื้อด้วย มีการตั้งเป้าจากองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก ตั้งเป้าว่าภายในปี 2040 หรือ อีก 10 กว่าปีข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องมี CCS ที่ใช้งานในเชิงพาณิชย์ให้ได้”

ถามว่าทำไมต้องใช้เวลานาน? ผศ.ธรณ์ ตอบว่า ในต่างประเทศก็ต้องใช้เวลาหลายสิบปีเช่นกัน และปัจจุบันต้นแบบที่จะบอกว่าประสบความสำเร็จเอามาใช้แทนวิธีการทั้งหมดได้ก็ยังไม่ใช้ ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องกักเก็บคาร์บอนขนาดเล็ก ๆ สำหรับโรงงานเล็ก ๆ มากกว่า ตอนนี้มีโอกาสที่เป็นไปได้สูงในการกำจัดคาร์บอน แต่ถ้าในอนาคตอีกสิบปีข้างหน้ามันไม่ใช่ทางเลือกที่ดี วันนี้จึงจำเป็นต้องเดินหน้าลดคาร์บอนแบบคู่ขนานไปกับการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน

ถ้าทำให้สำเร็จจริง ๆ มันไม่ยากนะ ก็คือซื้อเครื่องเขามาแบบยกพวงเลย แต่ว่าเครื่องนี้ราคาเป็นพันล้าน แล้วถ้าทำแล้วไม่ได้ผลอะไรเลย ได้แค่บอกว่าฉันช่วยโลกร้อนเป็นอย่างมาก ผู้ถือหุ้นในตลาดก็อาจจะตั้งคำถาม และถามถึงเงินปันผลมากกว่า ตอนนี้ที่ทำมากที่สุดคือการศึกษาความเป็นไปได้ คำนวนตัวเลขค่าใช้จ่ายออกมาให้เรียบร้อยก่อน ในทุกกระบวนการ แต่จู่ ๆ จะซื้อเครื่องจากเมืองนอกมาใช้เลยมันไม่ง่าย มันสำเร็จรูปมาได้ แต่มีเงินขนาดนั้นหรือเปล่านี่คือเรื่องใหญ่

“ต่อให้ถ้าซื้อมาใช้ในโรงงานผลิตไฟฟ้าช่วยกักคาร์บอนได้จริง แต่ค่าไฟเพิ่มขึ้นค่า ft ขึ้นอีกบาทนึงเอาไหม อย่างในยุโรปเขามีให้ระบุนะว่าถ้าอยากจะช่วยโลกร้อนเราจะจ่ายค่าไฟที่แพงกว่าเพื่อจุนเจือเรื่องนี้ได้ ไม่มีทางที่จะลดโลกร้อนโดยไม่ใช้เงิน ทุกวันนี้ที่ปวดหัวกันเรื่องโลกร้อน ก็คือถ้าอยากลดโลกร้อนก็ต้องยอมรับความเดือดร้อน เพียงแต่ว่าความเดือดร้อนในวันนี้จะน้อยกว่าความเดือดร้อนในวันหน้า แต่คนเราจะมองความเดือดร้อนในวันนี้”

ภาพจาก globalccsinstitute

“เราไม่ได้พูดถึง 5 ปีข้างหน้า เราพูดถึง 2030 ซึ่งตอนนั้นก็อาจจะมีความเป็นไปได้มากขึ้นสำหรับประเทศไทย สิ่งที่โลกกำลังให้ความสนใจก็คือว่า ถ้าไม่ใช่เครื่องนี้ก็ไม่มีอะไรให้เลือกแล้ว ไม่งั้นอีกทางหนึ่งก็ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากปรมาณูหรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่วนโรงไฟฟ้าจากแดดก็โอเค แต่ปัจจุบันไฟฟ้าจากแดดก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง เรื่องที่กังวลกันคือความมั่นคงทางพลังงาน โดยเฉพาะช่วงอากาศร้อนเราใช้ไฟกันเยอะจัด ปีนี้สถิติถล่มหลายหน ถ้าเรามาไฟฟ้าสีเขียว 100% ถ้าสภาพอากาศมันไม่เอื้อมันก็ไม่ง่ายขนาดนั้น ก็ต้องพยายามหาแนวทางอื่นช่วย ๆ กัน เช่น เขื่อน แบบไฮบริด โดยกระบวนการมันอาจจะมีการพัฒนาได้เรื่อยๆ แต่จะเปลี่ยนทั้งหมดน่าจะต้องใช้เวลา อย่างน้อย 40-50 ปี”

หมายเหตุ: กรมเชื้อเพลงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ให้ข้อมูลเชิงวิชาการว่า CCS (Carbon Capture and Storage) คือ เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากโรงไฟฟ้าประเภทถ่านหิน กระบวนการกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยจะถูกแยกออกจากก๊าซชนิดอื่น ผ่านกระบวนการทางเคมีด้วยสารละลายเอมีน (Amine) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้ทั่วไปในอุตสาหกรรมโรงกลั่นและการผลิตก๊าซธรรมชาติ จากนั้น จะถูกกักเก็บในรูปของ CO2 ที่มีความบริสุทธิ์สูง (มากกว่าร้อยละ 99) และฉีดอัดก๊าซฯ ลงสู่ใต้ดินที่ความลึกหลายกิโลเมตร ซึ่งจะถูกเก็บไว้ไม่รั่วไหลออกมาเป็นเวลาหลายล้านปีการใช้เทคโนโลยี CCS มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้มีการปล่อย CO2 ในปริมาณมากเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ คือหนึ่งในมาตรการที่จะลดการปล่อยก๊าซจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ป่าบก ป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล = CCS ธรรมชาติ ที่ต้องร่วมดูแล

ผศ.ธรณ์ กล่าวว่า โลกของเราก็มี CCS ธรรมชาติ คือ ป่าบก ป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล 3 สิ่งนี้ช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ดังนั้นขณะที่เรากำลังพูดถึง CCS ที่มนุษย์สร้างซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้เวลา ซึ่งมันนานจนกว่าจะถึงวันนั้นโลกอาจจะอุณหภูมิสูงขึ้นไปแล้ว ณ วันนี้เรายังมีธรรมชาติ มีหญ้าทะเล ป่าชายเลน ป่าบก ตามธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้นสำคัญที่สุดคือต้องทำให้ 3 สิ่งนี้ดำรงอยู่ได้ แต่สถานการณ์ทุกวันนี้ก็ไม่สู้ดีนัก

ปัญหาที่ไม่เคยคิดเมื่อหลายปีก่อนคือ เราไม่คิดว่าโลกจะร้อนเร็วขนาดนี้ และยิ่งไม่คิดใหญ่ว่าทะเลจะเปลี่ยนไปไวขนาดนี้ สิ่งที่ทำมาช่วง 4-5 ปีหลัง ๆ มานี้ อุณหภูมิสูงขึ้นมาทำสถิติทุกปี สมัยผมทำงานใหม่ ๆ ต่อให้เป็นหน้าร้อนอุณหภูมิน้ำทะเลสูงสุดเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ถึง 30 องศาก็ถือว่าสูงมากแล้ว แต่วันนี้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นทะลุ 32 องศา ติดต่อกันมา 4 ปีแล้ว ทำให้หญ้าทะเลฟอกขาว ปีนี้แทบจะไม่ออกเมล็ดเลย ดังนั้นแปลว่าภาวะโลกร้อนก็กลับมาโจมตี กระบวนการ CCS ธรรมชาติของเราด้วย

“การที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นก็ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะการที่จะไปลดอุณหภูมิน้ำทะเลเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้เลย สิ่งที่ซ้ำเติมปัญหาให้หนักขึ้นอีกก็คือการที่มีคนเอาเรือเข้าไปวิ่งในแหล่งที่มีหญ้าทะเล มีการขุดลอกตะกอนใต้ท้องน้ำ เรายังใช้ประโยชน์มากเกินไปกับระบบนิเวศพวกนี้ หรือแม้กระทั่งป่าเอง ยิ่งร้อนยิ่งแล้ง โลกร้อนทำให้ป่าแห้งแล้งมากขึ้นไฟป่าก็เกิดขึ้นเพิ่มขึ้น เผาป่าทำลาย CCS ธรรมชาติบนบกไปด้วย กลายเป็นว่าระบบนิเวศที่น่าจะเป็น CCS ธรรมชาติ โดนทั้งโลกร้อนที่สิ่งผลรุ่นแรงเกิดคาด และโดนทั้งการใช้ประโยชน์จากมนุษย์ซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีก”

ภาพจากกลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ผศ.ธรณ์ ย้ำว่า ตอนนี้เราลดโลกร้อนทางทฤษฎีกับนโยบาย เราประกาศว่าเราจะ net zero คาร์บอนเป็นศูนย์ตลาดหลักทรัพย์ก็ให้บริษัทต่าง ๆ รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพียงแต่ว่าทั้งหมดวันคือทฤษฎี ปัญหาสำคัญคือมันไม่ทัน การศึกษาเรื่องระบบนิเวศ ความเสียหาย ผลกระทบ กระบวนการกักเก็บคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากโลกร้อน มันไม่ค่อยมีใครทำ พอรายงานผลออกมาคนก็เสียใจเศร้าใจแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร มันจึงจำเป็นที่เราจะต้องเริ่มต้นกันใหม่ มีความหวังใหม่ ๆ อย่างถ้าตั้งรัฐบาลได้แล้ว ก็จะต้องตั้งประเด็นเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องสำคัญ ใน MOU ที่รัฐบาลแถลงเขียนไว้แล้ว แต่มันก็ต้องทำมากกว่านั้น

“ต้องทำให้จริงจัง ต้องพยายามตั้งศูนย์รวมขึ้นมาเพื่อดูผลกระทบหาทางแก้ไขให้ได้ ยกระดับความสำคัญของระบบนิเวศพวกนี้ คือป่าบก ป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล ไม่ใช่มองว่าเป็นแค่แหล่งอาหารของสัตว์ แต่มันมีความสำคัญสูงสุดในแง่ของการเป็น CCS ธรรมชาติ เช่น ตั้งกรมโลกร้อน ออก พ.ร.บ.ก๊าซเรือนกระจก ออกมาให้ชัดเจน ตอนนี้ไม่มี เพื่อให้ดำเนินการศึกษา ดึงข้อมูล รวมเป็นศูนย์กลาง ผลักดันให้ระบบนิเวศเมืองไทยกักเก็บคาร์บอน คาร์บอนเครดิต และทำรายงานเทียบกับต่างประเทศได้ด้วย เพราะตอนนี้ยังใช้เฉพาะประเทศไทยยังไม่เข้าระดับสากล แปลว่าต่อให้ไทยส่งสินค้าไปแล้วโดนภาษีคาร์บอน เราก็ยังต้องไปซื้อคาร์บอนเครดิตของเมืองนอก เพราะมาตรฐานของไทยยังไม่เป็นที่ยอมรับของมาตรฐานโลก”

มาตรฐานควรเป็นเรื่องแรกสุดที่เราควรจะเจรจาเรื่องมาตรฐานภาษีคาร์บอน คาร์บอนเครดิตบนเวทีโลก เพราะทุกวันนี้ต่อให้หน่วยงานภาครัฐปลูกต้นไม้กันเป็นแสนไร่ถ้ามาตรฐานสากลไม่ยอมรับเราก็เสียค่าใช้จ่ายมหาศาลในการส่งออกสินค้าเรา เพราะตอนนี้ยุโรปออกภาษีคาร์บอนกันโดยทั่วกันแล้ว ถ้าใช้กรมทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่งไปเจรจาก็ไม่ได้ จะต้องเป็นหน่วยงานระดับกระทรวง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ

โลกร้อนคือเรื่องปากท้อง ที่ต้องดูแลอย่างเร่งด่วน

ผศ.ธรณ์ อ้างอิงผลการประเมินว่า ทั่วโลกจะประสบปัญหาเอลนีโญอย่างรุนแรง บวกกับภาวะโลกร้อน คาดว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นตามมามีมูลค่ากว่า 6.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ จากความแห้งแล้ง รวมถึงการประมงที่ปลาในทะเลก็หนีหมด แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการประเมินเรื่องนี้อย่างจริงจัง ว่าจะเสียหายแค่ไหน

โลกร้อนยุคนี้ไม่ใช่เรื่องของนักวิทยาศาสตร์ แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องเศรษฐกิจปากท้องเงินทองในกระเป๋าประชาชน ไม่ใช่แค่เรื่องของภัยพิบัติ แต่เมื่อโลกยิ่งร้อนประเทศต่าง ๆ ยิ่งต้องออกมาตรการภาษีมาลงโทษผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ภาคการเกษตรก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะเช่นกัน อย่างการปศุสัตว์ ดังนั้นภาวะโลกร้อนจึงกระทบในหลายภาคส่วนไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว จึงต้องเร่งผลักดันเรื่องโลกร้อนให้เป็นนโยบาย จากนั้นต้องเดินหน้าให้ครบทุกมิติ สำคัญที่สุดคือเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบ

“ชาวประมงตอนนี้ไม่มีเงินแล้วเพราะน้ำมันร้อนไม่มีปลา หาปลายาก เดิมออกเรือไปหาปลาจ่ายค่าน้ำมันแค่ 150 บาท แต่ทุกวันนี้เพิ่มเป็น 200 บาท ใช้เวลาในการหาปลานานขึ้นเท่าตัว เพราะปลามันร้อนก็ออกไปในทะเลลึก ผลกระทบเหล่านี้เกิดขึ้นกับทุกคน ค่าไฟเพิ่มขึ้น น้ำท่วมมากขึ้น ก็เดือดร้อนถ้วนหน้า และโดยเฉพาะคนที่ปรับตัวไม่ได้ยิ่งลำบากหนัก นั่นคือเกษตรกรและชาวประมงจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้